<<<              >>>

บทที่ ๑

อักขรวิธี  วิธีการเรียกชื่ออักษร

 

        อักขระ คืออักษรภาษาบาลี ๔๑ ตัว  ท่านเรียกว่า "อักขระ" เพราะไม่หมดสิ้นไป ดังมีวิเคราะห์ศัพท์ว่า

        น ขรนฺตีติ อกฺขรา.
        วัณณะที่ไม่หมดสิ้นไป ชื่อว่า อักขระ

        ขรนฺติ วินสฺสนฺตีติ ขรา, น ขรา อกฺขรา.
        วัณณะที่หมดสิ้นไป ชื่อว่า ขระ วัณณะที่ไม่หมดสิ้นไป ชื่อว่าอักขระ

 

อักษรภาษาบาลี แบ่งเป็น

        สระ คืออักษรที่ออกเสียงเองได้และช่วยให้พยัญชนะออกเสียงได้ มี ๘ ตัว คือ  อ อา  อิ อี  อุ อู  เอ โอ
        พยัญชนะ คืออักษรที่ทำให้เนื้อความปรากฏ มี ๓๓ ตัว คือ
                  ก ข ค ฆ ง,   จ ฉ ช ฌ ญ,   ฏ ฐ ฑ ฒ ณ,   ต ถ ท ธ น,   ป ผ พ ภ ม,   ย ร ล ว ส ห ฬ อํ

สระ ๘ ตัว แบ่งเป็น

        รัสสระ   ออกเสียงสั้น ๓ ตัว คือ   อ อิ อุ
        ทีฆสระ   ออกเสียงยาว ๕ ตัว คือ   อา อี อู เอ โอ 

พยัญชนะ ๓๓ ตัว แบ่งเป็น

        พยัญชนะวรรค จัดเข้าไว้ในพวกเดียวกันได้ มี ๒๕ ตัว แบ่งเป็น ๕ วรรค  วรรคละ ๕ ตัว ดังนี้

        ก ข ค ฆ ง   เรียกว่า กวรรค เพราะมี อักษรเป็นตัวแรก
        จ ฉ ช ฌ ญ เรียกว่า จวรรค เพราะมี อักษรเป็นตัวแรก
        ฏ ฐ ฑ ฒ ณ เรียกว่า ฏวรรค เพราะมี อักษรเป็นตัวแรก
        ต ถ ท ธ น   เรียกว่า ตวรรค เพราะมี อักษรเป็นตัวแรก
        ป ผ พ ภ ม   เรียกว่า ปวรรค เพราะมี อักษรเป็นตัวแรก

        การจัดพยัญชนะไว้เป็นวรรคละ ๕ ตัวเช่นนี้ เพราะอักษรทุกตัวในวรรคนั้น ๆ มีการออกเสียงโดยอาศัยฐาน กรณ์ ปยตนะ อย่างเดียวกัน ซึ่งจะกล่าวต่อไปในบทที่ ๒

        พยัญชนะอวรรค มี ๘ ตัว คือ ย ร ล ว ส ห ฬ อํ (นิคหิต) จัดเข้าไว้ในพวกเดียวกันไม่ได้ เพราะมีการออกเสียงโดยอาศัยฐานและกรณ์ต่างกัน

 

บทที่ ๒

 

ฐาน กรณ์ ปยตนะ

 

        อักษรภาษาบาลีทั้ง ๔๑ ตัวเหล่านั้น  จะเปล่งออกเสียงได้ ต้องอาศัย ฐาน กรณ์ และปยตนะ ดุจเสียงระฆัง  จะดังขึ้นได้ต้องอาศัยฐานคือตัวระฆัง กรณ์คือลูกตุ้มสำหรับตี และปยตนะคือความพยายามของผู้ตี

ฐาน

 

        ฐาน คือที่ตั้งของเสียงอักษร วิเคราะห์ว่า "ติฏฺฐนฺติ เอตฺถาติ ฐานํ กณฺฐาทิ ที่ตั้งของเสียงอักษร ชื่อว่าฐาน ได้แก่ กัณฐะ เป็นต้น" มี ๖ อย่าง คือ
        ๑. กัณฐฐาน   หลอดลำคอ   เป็นที่ตั้งที่เกิดของเสียง
        ๒. ตาลุฐาน    เพดานปาก    เป็นที่ตั้งที่เกิดของเสียง
        ๓. มุทธฐาน    ปุ่มเหงือกบน  เป็นที่ตั้งที่เกิดของเสียง
        ๔. ทันตฐาน    ฟัน               เป็นที่ตั้งที่เกิดของเสียง
        ๕. โอฏฐฐาน   ริมฝีปาก       เป็นที่ตั้งที่เกิดของเสียง
        ๖. นาสิกาฐาน โพรงจมูก      เป็นที่ตั้งที่เกิดของเสียง

 

จำแนกอักษร ๔๑ ตัว โดยฐาน ๖

 

อ อา ก ข ค ฆ ง ห  เกิดที่กัณฐฐาน (หลอดลำคอ)
อิ อี จ ฉ ช ฌ ญ ย  เกิดที่ตาลุฐาน (เพดานปาก)
ฏ ฐ ฑ ฒ ณ ร ฬ     เกิดที่มุทธฐาน (ปุ่มเหงือกบน)
อุ อู ป ผ พ ภ ม       เกิดที่โอฏฐฐาน (ริมฝีปาก)
เอ                          เกิดที่กัณฐ+ตาลุฐาน (คอและเพดานปาก)
โอ                          เกิดที่กัณฐ+โอฏฐฐาน (คอและริมฝีปาก)
                            เกิดที่ทันต+โอฏฐฐาน (ฟันและริมฝีปาก)
อํ                            เกิดที่นาสิกาฐาน (โพรงจมูก)
ง ญ ณ น ม             เกิดที่สก+นาสิกาฐาน (ฐานเดิมและโพรงจมูก)

        อักษรบางตัวเกิดจากฐานเดียว เรียกว่า เอกชะ, บางตัวเกิดจาก ๒ ฐาน เรียกว่า ทวิชะ

กรณ์ ๔

 

        กรณ์ คืออวัยวะที่ไปกระทบกับฐานทำให้เสียงเกิดขึ้น วิเคราะห์ว่า "กรียนฺเต อุจฺจารียนฺเต เอเตนาติ กรณํ อวัยวะที่ทำให้สวดออกเสียงอักษรได้ ชื่อว่ากรณ์" มี ๔ อย่าง คือ
        ๑. ชิวหามัชฌกรณ์   กลางลิ้น         ไปกระทบกับตาลุฐานทำให้เสียงเกิดขึ้น
        ๒. ชิวโหปัคคกรณ์    ใกล้ปลายลิ้น   ไปกระทบกับมุทธฐานทำให้เสียงเกิดขึ้น
        ๓. ชิวหัคคกรณ์        ปลายลิ้น         ไปกระทบกับทันตฐานทำให้เสียงเกิดขึ้น
        ๔. สกฐานกรณ์         ฐานของตน      ไปกระทบกับฐานของตนทำให้เสียงเกิดขึ้น
 

จำแนกอักษร ๔๑ ตัว โดยกรณ์ ๔

 

        ๑. กลางลิ้น         ทำให้เกิดเสียง   อิ อี เอ จ ฉ ช ฌ ญ ย
        ๒. ใกล้ปลายลิ้น  ทำให้เกิดเสียง   ฏ ฐ ฏ ฑ ฒ ณ ร ฬ
        ๓. ปลายลิ้น        ทำให้เกิดเสียง   ต ถ ท ธ น ล ว ส
        ๔. ฐานของตน    ทำให้เกิดเสียง   อ อา อุ อู เอ โอ ก ข ค ฆ
                                                           ง ป ผ พ ภ ม ว ห อํ
        นักศึกษาควรฝึกออกเสียงอักษรทุกตัว โดยพยายามให้กรณ์ไปกระทบกับฐานของอักษรตัวนั้น ๆ ตามที่จำแนกไว้นี้ให้ถูกต้องหรือใกล้เคียงมากที่สุด

ปยตนะ ๔

 

        ปยตนะ คือความพยายามในการเปล่งออกเสียง วิเคราะห์ว่า "อุจฺจารณตฺถํ ปยตียเต ปยตนํ ความพยายามเพื่อการออกเสียงชื่อว่า ปยตนะ" มี ๔ อย่าง คือ
        ๑. สังวุตปยตนะ    ความพยายามปิดฐานเปล่งเสียง
        ๒. วิวฏปยตนะ      ความพยายามเปิดฐานเปล่งเสียง
        ๓. ผุฏฐปยตนะ     ความพยายามกระทบฐานหนักเปล่งเสียง
        ๔. อีสังผุฏฐปยตนะ  ความพยายามกระทบฐานเบาเปล่งเสียง

จำแนกอักษร ๔๑ ตัว โดยปยตนะ ๔

 

        ๑. ความพยายามปิดฐานเปล่งเสียง  อ  ํ  (อํ)
        ๒. ความพยายามเปิดฐานเปล่งเสียง  อา อิ อี อุ อู เอ โอ ส ห ํ (อึ อุํ)
        ๓. ความพยายามกระทบฐานหนักเปล่งเสียงพยัญชนะวรรคทั้ง ๒๕ ตัว คือ ก ข ค ฆ ง, จ ฉ ช ฌ ญ, ฏ ฐ ฑ ฒ ณ, ต ถ ท ธ น, ป ผ พ ภ ม
        ๔. ความพยายามกระทบฐานเบาเปล่งเสียง ย ร ล ว ฬ

 

บทที่ ๓


สิถิละ ธนิตะ โฆสะ อโฆสะ วิมุตตะ

 

        อักษรบาลี ๔๑ ตัวนั้น เฉพาะพยัญชนะ ๓๓ ตัว มีการออกเสียงที่แตกต่างกัน บางตัวออกเสียงอ่อน บางตัวออกเสียงแข็ง บางตัวออกเสียงก้องกังวาล บางตัวออกเสียงไม่ก้องกังวาล บางตัวออกเสียงทั้งอ่อนทั้งกังวาล เป็นต้น จำแนกได้ดังนี้

         จำแนกพยัญชนะ ๓๓ ตัว โดยสิถิละ ธนิตะ วิมุตตะ
        ๑. สิถิละ พยัญชนะที่ออกเสียงอ่อน ได้แก่ พยัญชนะตัวที่ ๑ และ ๓ ของวรรคทั้ง ๕ คือ ก ค, จ ช, ฏ ฑ, ต ท, ป พ
        ๒. ธนิตะ พยัญชนะที่ออกเสียงแข็ง ได้แก่ พยัญชนะตัวที่ ๒ และ ๔ ของวรรคทั้ง ๕ คือ ข ฆ, ฉ ฌ, ฐ ฒ, ถ ธ, ผ ภ ญ
        ๓. วิมุตตะ พยัญชนะที่ออกเสียงพ้นจากความเป็นสิถิละและธนิตะ ได้แก่ พยัญชนะตัวที่ ๕ ของวรรคทั้ง ๕ และพยัญชนะอวรรค
ทั้งหมด คือ ง ญ ณ น ม, ย ร ล ว ส ห ฬ อํ 

        จำแนกพยัญชนะ ๓๓ ตัว โดยโฆสะ อโฆสะ วิมุตตะ
        ๑. โฆสะ พยัญชนะที่ออกเสียงกังวาล ได้แก่ พยัญชนะตัวที่ ๓, ๔ และ ๕ ของวรรคทั้ง ๕ คือ ค ฆ ง, ช ฌ ญ , ฑ ฒ ณ, ท ธ น, พ ภ ม และพยัญชนะอวรรค ๖ ตัว คือ  ย ร ล ว ห ฬ
        ๒. อโฆสะ พยัญชนะที่ออกเสียงไม่กังวาล ได้แก่ พยัญชนะตัวที่ ๑ และ ๒ ของวรรคทั้ง ๕ คือ ก ข, จ ฉ, ฏ ฐ, ต ถ, ป ผ และ พยัญชนะอวรรค ๑ ตัว คือ
        ๓. วิมุตตะ พยัญชนะที่ออกเสียงพ้นจากความเป็นโฆสะและอโฆสะ ได้แก่ อํ (นิคหิต)

 

บทที่ ๔

 

การอ่าน การเขียน

 

        การอ่าน อักษรบาลี ๔๑ ตัวนั้น  สระ ๘ ตัว  อ่านออกเสียงเองได้เลยว่า อ อา อิ อี อุ อู เอ โอ, ส่วนพยัญชนะ ๓๓ ตัว อ่านออกเสียงเองไม่ได้ ต้องอาศัยสระจึงอ่านออกเสียงได้ว่า ก กา กิ กี กุ กู เก โก เป็นต้น, เฉพาะ ํ (นิคหิค) นั้น อาศัยรัสสระ อ อิ อุ   ๓ ตัวเท่านั้น จึงอ่านออกเสียงได้ว่า อํ อึ อุํ, ถ้าพยัญชนะไม่มีสระจะมีจุดอยู่ข้างล่าง ให้อ่านเป็นสะกด กล้ำ หรือสะกดควบกล้ำ ตามหลักพยัญชนะสังโยคในบทที่ ๕ เช่น จกฺกํ (จักกัง) ภิกฺขุ (ภิกขุ) พฺรหฺมา (พฺระ-หฺมา) ตสฺมา (ตัสฺมา)

        การเขียน ภาษา บาลีเป็นภาษาที่เข้าได้กับทุกภาษา ประเทศใดรับเอาภาษาบาลีไปก็จะใช้อักษรของตนเขียนแทน โดยให้ออกเสียงเหมือนหรือใกล้เคียงภาษาบาลีมากที่สุด แม้ประเทศไทยเราก็เช่นกัน เมื่อรับเอาภาษาบาลีมา ก็ใช้อักษรไทยเขียนแทนอักษรบาลี จึงจำแนกการเขียนได้ดังนี้

สระเขียนได้ ๒ อย่างคือ


        ๑. สระลอย สระล้วน ๆ ที่ยังไม่มีพยัญชนะประกอบ คือ อ อา อิ อี อุ อู เอ โอ
        ๒. สระจม   สระที่ใช้ประกอบกับพยัญชนะ คือ -  -า    ี  ุ  ู  เ-  โ-

พยัญชนะเขียนได้ ๒ อย่าง คือ


        ๑. พยัญชนะล้วน ๆ ที่ยังไม่ได้ประกอบดับสระ ให้เติมจุด (ฺ) ข้างล่าง เขียนดังนี้ กฺ ขฺ คฺ ฆฺ งฺ เป็นต้น
        ๒. พยัญชนะที่ประกอบกับสระ เขียนดังนี้ ก กา กิ กี กุ กู เก โก เป็นต้น

 

บทที่ ๕

 

สัญโญคะ พยัญชนะสังโยคหรือซ้อน


        พยัญชนะสังโยค เรียกอีกนัยหนึ่งว่า ตัวสะกด กล้ำ และสะกดควบกล้ำ หมายถึง พยัญชนะ ๒ หรือ ๓ ตัว ซ้อนกันโดยไม่มีสระคั่นระหว่างกลาง มีวิเคราะห์ว่า "สํยุชฺชตีติ สญฺโญโค พยัญชนะที่ถูกประกอบเข้ากัน ชื่อว่าสัญโญคะ" เช่น กฺก กฺข จฺจ จฺฉ งฺขฺย นฺทฺร (จกฺกํ ภิกฺขุ ปจฺจโย มจฺฉา สงฺขฺยา อินฺทฺริยํ)

มีหลักการซ้อนดังนี้
        พยัญชนะตัวที่ ๑ ในวรรคทั้ง ๕ ซ้อนหน้าพยัญชนะตัวที่ ๑, ๒ ในวรรคของตน (๑ ซ้อน ๑ ซ้อน ๒)
        พยัญชนะตัวที่ ๓ ในวรรคทั้ง ๕ ซ้อนหน้าพยัญชนะตัวที่ ๓, ๔ ในวรรคของตน (๓ ซ้อน ๓ ซ้อน ๔)
        พยัญชนะตัวที่ ๕ ในวรรคทั้ง ๕ เว้น ง ซ้อนหน้าพยัญชนะตัวที่ ๑, ๒, ๓, ๔, ๕ ในวรรคของตน (๕ ซ้อน ๑, ๒, ๓, ๔, ๕ เว้น ง)

        ส่วนพยัญชนะอวรรคนั้น ซ้อนตัวเองและตัวอื่นได้มี ๔ ตัว คือ ย ล ว ส ที่เหลือซ้อนกับตัวอื่นได้ทั่วไป เช่น อยฺโย มลฺโล นิพฺพานํ (นิวฺวานํ) อสฺส มยฺหํ กลฺยาณํ ชิวฺหา อสฺมิ

<<<              >>>