<<<                >>>

บทที่ ๖

 

สนธิ การต่ออักษรของบท


        สนธิ คือการต่ออักษรของศัพท์ให้เนื่องกัน เพื่อย่ออักษรให้น้อยลง เป็นประโยชน์ต่อการแต่งฉันท์ และทำคำพูดให้สละสลวย มีวิเคราะห์ว่า "ทฺวินฺนํ ปทานํ อนฺตรํ อทสฺเสตฺวา สมฺมา ธียตีติ สนฺธิ บทที่ท่านทำให้ไม่เห็นช่องว่างระหว่างบททั้ง ๒ แล้วต่อเข้ากันอย่างดี ชื่อว่าสนธิ"

 

  สนธิ ๒

 

        การนำศัพท์มาต่อกัน มี ๒ อย่าง คือ
        ๑. ต่อศัพท์ที่มีวิภัตติกับศัพท์ที่มีวิภัตติ
                เช่น จตฺตาโร อิเม    ต่อเป็น    จตฺตาโรเม
                      เทฺว อิเม         ต่อเป็น    เทฺวเม
        ๒. ต่อในศัพท์สมาส
                เช่น นีล อุปฺปลํ       ต่อเป็น นีลุปฺปลํ
                เช่น โสต อาปนฺโน   ต่อเป็น โสตาปนฺโน

อักษรสนธิ ๓

 

        อักษรของศัพท์ที่นำมาต่อกันมี ๓ อย่าง คือ
        ๑. สรสนธิ          การต่อระหว่างสระกับสระ
        ๒. พยัญชนสนธิ  การต่อระหว่างพยัญชนะกับสระหรือพยัญชนะ
        ๓. นิคคหีตสนธิ   การต่อระหว่างนิคหิตกับสระหรือพยัญชนะ

 

สนธิวิธาน ๘

 

        โลปาเทโส จ อาคโม        วิกาโร ปกตีปิ จ
        ทีโฆ รสฺโส สญฺโญโคติ      สนฺธิเภทา ปกาสิตา


        สนธิวิธาน คือ วิธีการทำสนธิมี ๘ คือ (โล อา อา วิ ป ที ร สํ)
            ๑. โลปะ      ลบอักษร
            ๒. อาเทสะ  อาเทศ หรือแปลงอักษร
            ๓. อาคมะ   ลงอาคม หรือลงอักษรใหม่
            ๔. วิการะ    การวิการ หรือวิปริต หรือทำให้ต่างจากอักษรเดิม
            ๕. ปกติ      ปรกติอักษรไว้ ไม่เปลี่ยนแปลง
            ๖. ทีฆะ      ทำสระเสียงสั้นให้ยาว
            ๗. รัสสะ     ทำสระเสียงยาวให้สั้น
            ๘. สัญฺโญคะ ซ้อนพยัญชนะ (ตามหลักสัญโญคะ)

 

๑. สรสนธิ

 

        สรสนธิ มีวิธีการต่อ ๗ อย่าง คือ โลปะ อาเทสะ อาคมะ วิการะ ปกติ ทีฆะ รัสสะ
        
        โลปะ ลบสระ มี ๒ วิธี คือ
        ๑. ลบสระหน้า  เช่น  ยสฺส อินฺทฺริยานิ เป็น ยสฺสินฺทฺริยานิ
                                  มาตุ อุปฏฺฐานํ  เป็น มาตุปฏฺฐานํ
                                  ปญฺญา อินฺทริยํ เป็น ปญฺญินฺทฺริยํ
        ๒. ลบสระหลัง เช่น  อิติ อปิ โส  เป็น  อิติปิ โส
                                 จกฺขุ อินฺทฺริยํ เป็น จกฺขุนฺทฺริยํ
                                 จตฺตาโร อิเม เป็น จตฺตาโรเม
                                 ภควา อิติ เป็น ภควาติ

        อาเทสะ แปลงสระ มี ๒ วิธี คือ
        ๑. อาเทศสระหน้า คือเพราะสระข้างหลัง อาเทศ อิ เอ เป็น ย, อุ โอ เป็น ว
             เช่น วุตฺติ อสฺส  เป็น วุตฺยสฺส  (อิ เป็น ย)
                   เต อสฺส    เป็น ตฺยสฺส    (เอ เป็น ย)
                   พหุ อาพาโธ เป็น พหฺวาพาโธ  (อุ เป็น ว)
                   อถ โข อสฺส เป็น อถ ขฺวสฺส  (โอ เป็น ว)
        ๒. วิการสระหลัง คือเมื่อลบสระข้างหน้าแล้ว วิการสระ อิ ข้างหลัง เป็น เอ, อุ เป็น โอ
             เช่น พนฺธุสฺส อิว เป็น พนฺธุสฺเสว
                   ยถา อุทเก  เป็น ยโถทเก

        ปกติ ปรกติสระไว้ตามเดิมไม่เปลี่ยนแปลง
             เช่น โก อิมํ คงเป็น โก อิมํ

        ทีฆะ ทำสระเสียงสั้นให้ยาว มี ๒ วิธี คือ
        ๑. ทีฆะสระหน้า คือเมื่อลบสระหลังแล้ว ทำทีฆะสระหน้าบ้าง
             เช่น โลกสฺส อิติ  เป็น โลกสฺสาติ
                   สาธุ อิติ  เป็น สาธูติ
        ๒. ทีฆะสระหลัง คือเมื่อลบสระหน้าแล้ว ทำทีฆะสระหลังบ้าง
             เช่น พุทฺธ อนุสฺสติ เป็น พุทฺธานุสฺสติ
                   อติ อิโต เป็น อตีโต

        รัสสะ ทำสระเสียงยาวให้สั้น
        มีหลักดังนี้ ถ้ามีพยัญชนะหรือ เอว ศัพท์อยู่หลัง ให้รัสสะสระหน้าบ้าง
             เช่น โภวาที นาม เป็น  โภวาทินาม
                   ยถา เอว เป็น ยถริว

๒. พยัญชนะสนธิ

 

        พยัญชนสนธิ มีวิธีการต่อ ๕ อย่าง คือ โลปะ อาเทสะ อาคมะ ปกติ สัญโญคะ

        โลปะ ลบพยัญชนะ คือ
        เมื่อลบสระหลังจากนิคหิตแล้ว ถ้ามีพยัญชนะเหมือนกันซ้อนกัน ๒ ตัว ให้ลบ ๑ ตัว
            เช่น เอวํ อสฺส  เป็น เอวํส
                  ปุปฺผํ อสฺสา เป็น ปุปฺผํสา

        อาเทสะ อาเทศพยัญชนะ มี ๔ วิธี คือ
        ๑. เพราะสระข้างหลัง อาเทศ ติ เป็น จ แล้วซ้อน จฺ
            เช่น อิติ เอวํ  เป็น  อิจฺเจวํ
                  อิติ อาทิ เป็น อิจฺจาทิ

            อาเทศ อภิ เป็น อพฺภ
            เช่น อภิ อุคฺคจฺฉติ  เป็น  อพฺภุคฺคจฺฉติ
                  อภิ อกฺขานํ  เป็น   อพฺภกฺขานํ

            อาเทศ อธิ เป็น อชฺฌ
            เช่น อธิ อคมา  เป็น  อชฺฌคมา
                  อธิ โอกาโส  เป็น  อชฺโฌกาโส

       ๒. อาเทศ ธ ของ อิธ ที่อยู่หลังจาก เอกํ เป็น ท
            เช่น เอกํ อิธ อหํ  เป็น  เอกมิทาหํ

       ๓. เพราะสระหรือพยัญชนะข้างหลัง อาเทศพยัญชนะได้ไม่จำกัด
            เช่น สาธุ ทสฺสนํ  เป็น  สาหุ ทสฺสนํ (ธ เป็น ห)
                  ทุกฺกตํ  เป็น  ทุกฺกฏํ (ต เป็น ฏ)
                  ปนีตํ  เป็น  ปณีตํ (น เป็น ณ)

        ๔. เพราะพยัญชนะข้างหลัง อาเทศ อว เป็น โอ
            เช่น อวนทฺธา  เป็น  โอนทฺธา
                  อวกาโส  เป็น  โอกาโส

        อาคมะ ลงพยัญชนะใหม่ ๙ ตัว คือ คฺ ยฺ วฺ มฺ ทฺ นฺ ตฺ รฺ ฬฺ (หรือ ลฺ)
        คฺ อาคม  เช่น  ปา เอว     เป็น  ปเคว
        ยฺ อาคม  เช่น  ยถา อิทํ   เป็น  ยถยิทํ
        วฺ อาคม  เช่น  ติองฺคุลํ    เป็น  ติวงฺคุลํ
        มฺ อาคม  เช่น  ลหุ เอสฺสติ  เป็น  ลหุเมสฺสติ
        ทฺ อาคม  เช่น  อุ อคฺโค   เป็น  อุทคฺโค
        นฺ อาคม  เช่น  อิโต อายติ  เป็น  อิโตนายติ
        ตฺ อาคม  เช่น  ยสฺมา อิห  เป็น  ยสฺมาติห
        รฺ อาคม  เช่น  นิ อนฺตรํ  เป็น  นิรนฺตรํ
        ฬฺ อาคม  เช่น  ฉ อภิญฺญา  เป็น  ฉฬภิญฺญา

        ปกติ ปรกติพยัญชนะไว้ตามเดิมไม่เปลี่ยนแปลง
             เช่น สาธุ คงเป็น สาธุ

        สัญโญคะ ซ้อนพยัญชนะใหม่ มี ๒ วิธี คือ
        ๑. ซ้อนพยัญชนะเหมือนกันตามหลักพยัญชนะสังโยค (บทที่ ๕)
            เช่น อิธ ปโมทติ  เป็น  อิธปฺปโมทติ
                  อปมาโท    เป็น  อปฺปมาโท
                  วิปยุตโต    เป็น  วิปฺปยุตฺโต
        ๒. ซ้อนพยัญชนะต่างกันตามหลักพยัญชนะสังโยค (บทที่ ๕)
            เช่น ปฆรติ      เป็น  ปคฺฆรติ
                  ปฐมฌานํ เป็น  ปฐมชฺฌานํ
                  ทุภิกฺขํ     เป็น  ทุพฺภิกฺขํ

๓. นิคคหีตสนธิ

 

        นิคคหีตสนธิ มีวิธีการต่อ ๔ อย่าง คือ โลปะ อาเทสะ อาคมะ ปกติ

        โลปะ ลบนิคหิต
        เพราะสระหรือพยัญชนะข้างหลัง ให้ลบนิคหิตข้างหน้าบ้าง
            เช่น ตาสํ อหํ  เป็น  ตาสาหํ
                  อริยสจฺจานํ ทสฺสนํ  เป็น  อริยสจฺจาน ทสฺสนํ
                  เอตํ พุทฺธานํ สาสนํ  เป็น  เอตํ พุทฺธาน สาสนํ

        อาเทสะ อาเทศนิคหิต มี ๕ อย่าง คือ
        ๑. เพราะพยัญชนะวรรคข้างหลัง อาเทศนิคหิตเป็นพยัญชนะที่สุดวรรคบ้าง
            เช่น เอวํ โข  เป็น  เอวงฺโข
                  ตํ ชาตํ  เป็น  ตญฺชาตํ
                  ตํ ฐานํ  เป็น  ตณฺฐานํ
                  ตํ ตโนติ  เป็น  ตนฺตโนติ
                  ตํ ผลํ  เป็น  ตมฺผลํ
        ๒. เพราะ เอ หรือ ห ข้างหลัง อาเทศนิคหิตเป็น ญฺ
            เข่น  ตํ เอว  เป็น  ตญฺเญว
                   ตํ หิ  เป็น  ตญฺหิ
        ๓. เพราะ ย ข้างหลัง อาเทศนิคหิตกับ ย เป็น ญฺ แล้วซ้อน ญฺ
            เช่น  สํโยโค  เป็น  สญฺโญโค
                   สํโยชนํ  เป็น  สญฺโญชนํ
        ๔. เพราะ ล ข้างหลัง อาเทศนิคหิตเป็น ลฺ
            เช่น  ปุํลิงฺคํ  เป็น  ปุลฺลิงฺคํ
        ๕. เพราะสระข้างหลัง อาเทศนิคหิตเป็น มฺ และ ทฺ
            เช่น ตํ อหํ  เป็น  ตมหํ
                  ยํ อนิจฺจํ เป็น ยทนิจฺจํ

        อาคมะ ลงนิคหิตใหม่
        เพราะสระหรือพยัญชนะข้างหลัง ลงนิคหิตอาคมได้บ้าง
            เช่น จกฺขุ อุทปาทิ เป็น  จกฺขุํ อุทปาทิ
                   อวสิโร  เป็น  อวํสิโร

        ปกติ ปรกตินิคหิตไว้ตามเดิมไม่เปลี่ยนแปลง
            เช่น  ธมฺมํ จเร  คงเป็น  ธมฺมํ จเร

 

บทที่ ๗


นาม บทที่น้อมไปสู่ความหมาย


     นาม คือบทที่น้อมไปสู่ความหมาย ใช้เรียกชื่อคน สัตว์ วัตถุ สิ่งของ สถานที่ ต้นไม้ แม่น้ำ ภูเขา สภาวธรรม เป็นต้น วิเคราะห์ว่า "อตฺถํ นมตีติ นามํ บทที่น้อมไปสู่ความหมาย ชื่อว่านาม, อตฺตนิ อตฺถํ นาเมตีติ วา นามํ หรือบทที่น้อมความหมายมาไว้ในตน ชื่อว่านาม" แบ่งเป็น ๓ ประเภท คือ สุทธนาม คุณนาม และสัพพนาม

 

สุทธนาม

 

    สุทธนาม คือนามล้วน ๆ เป็นชื่อของคน สัตว์ วัตถุสิ่งของ สถานที่ เป็นต้น แบ่งออกเป็น ๒ อย่าง

๑. สาธารณนาม ชื่อทั่วไปไม่เจาะจงถึงคนใด สิ่งใด หรือสถานที่ใด

เช่น มนุสฺโส มนุษย์, ธนํ ทรัพย์, นครํ เมือง, นที แม่น้ำ

๒. อสาธารณนาม ชื่อเฉพาะเจาะจงไม่ทั่วไปแก่คน สิ่งของ หรือสถานที่อื่น

เช่น สาริปุตฺโต พระสารีบุตร, สุวณฺณํ ทองคำ, สาวตฺถี เมืองสาวัตถี

 

คุณนาม


     คุณนาม หรือ วิเสสนาม คือคำที่แสดงลักษณะพิเศษของสุทธนามว่า ดี ชั่ว สูง ต่ำ ดำ ขาว ยาว สั้นใหญ่ เล็ก เป็นต้น แบ่งออกเป็น ๓ ระดับ

 

๑. คุณนามปกติ คือคุณนามระดับธรรมดาไม่มีความพิเศษอะไร

เช่น สุนฺทโร   ดี งาม อร่อย

       ปาโป   บาป ชั่ว เลว ทราม

 

      ๒. คุณนามวิเศษ คือ คุณนามระดับพิเศษขึ้นกว่าปกติ จะมี ตร อิย อิยิสฺสิก-ปัจจัย หรือมี อติ-อุปสัค เป็นเครื่องหมายของคุณนามนั้น

เช่น สุนฺทรตโร, อติสุนฺทโร   ดียิ่ง งามยิ่ง อร่อยยิ่ง

      ปาปตโร, อติปาโป    บาปยิ่ง ชั่วยิ่ง เลวยิ่ง

 

       ๓. คุณนามอติวิเศษ คือ คุณนามระดับพิเศษที่สุด จะมี ตม อิฏฺฐ -ปัจจัย หรือมี อติวิย-ศัพท์ เป็นเครื่องหมายของคุณนามนั้น

เช่น สุนฺทรตโม, อติวิย สุนฺทโร ดี งาม อร่อยที่สุด

       ปาปตโม, อติวิย ปาโป บาป ชั่ว เลวที่สุด

 

สัพพนาม

 

     สัพพนาม คือคำที่ใช้แทนนามที่เป็นชื่อคน สัตว์ สิ่งของ สถานที่ เป็นต้น มีวิเคราะห์ศัพท์ว่า "สพฺเพสํ อิตฺถิปุมนปุํสกานํ นามานิ สพฺสนามานิ คำนามที่ใช้แทน ของนามที่เป็นอิตถีลิงค์ ปุงลิงค์ และนปุงสกลิงค์ ชื่อว่าสัพพนาม" มี ๒๗ ตัว คือ สพฺพ กตร กตม อุภย อิตร อญฺ อญฺตร อญฺตม ปุพฺพ ปร อปร ทกฺขิณ อุตฺตร อธร ย ต เอต อิม อมุ กึ เอก อุภ ทฺวิ ติ จตุ ตุมฺห อมฺห แบ่งเป็น ๓ กลุ่ม คือ ปุริสสัพพนาม วิเสสนสัพพนาม และสังขยาสัพพนาม

 

ปุริสสัพพนาม

 

    ปุริสสัพพนาม คือสัพพนามที่เอ่ยถึงบุรุษในการสนทนา มี ๓ บุรุษ คือ

๑. ปฐมบุรุษ ใช้ สัพพนามแปลว่า เขา มัน เป็นต้น แทนชื่อคนหรือสิ่งที่เราเอ่ยถึง

เช่น โส คามํ คจฺฉติ เขาไปบ้าน

๒. มัชฌิมบุรุษ ใช้ ตุมฺห ศัพท์แปลว่า ท่าน เธอ คุณ เจ้า เป็นต้น แทนชื่อคนที่เราพูดด้วย

เช่น ตุมฺเห กุสลํ กโรธ พวกท่านจงพากันทำกุศล

๓. อุตตมบุรุษ ใช้ อมฺห ศัพท์แปลว่า ข้าพเจ้า ผม ดิฉัน เรา เป็นต้น แทนชื่อเราเอง

เช่น อหํ ปญฺจ สีลานิ สมาทิยามิ ข้าพเจ้าสมาทานศีล ๕

 

วิเสสนสัพพนาม

 

     วิเสสนสัพพนาม คือสัพพนามที่ใช้แทนและขยายนามคล้ายคุณนาม มี ๒ อย่าง คือ

๑. อนิยมวิเสสนสัพพนาม คือวิเสสนสัพพนามที่บอกความไม่แน่นอน มี ๑๓ ศัพท์ คือ

สพฺพ ทั้งปวง, กตร กตม คนไหน อะไรบ้าง, อุภย ทั้งสอง, อิตร นอกจากนี้, อญฺ อื่น, อญฺตร อญฺตม คนใดคนหนึ่ง, ปร อื่น, อปร อื่นอีก, ใด, เอก หนึ่ง พวกหนึ่ง, กึ ไหน ไร

๒. นิยมวิเสสนสัพพนาม คือวิเสสนสัพพนามที่บอกความแน่นอน มี ๘ ศัพท์ คือ

ปุพฺพ ข้างหน้า, ทกฺขิณ ด้านขวา, อุตฺตร ด้านซ้าย ด้านเหนือ, อธร ด้านล่าง ภายใต้, นั้น, เอต นั่น, อิม นี้, อมุ โน้น

 

สังขยาสัพพนาม

 

     สังขยาสัพพนาม คือสัพพนามที่ใช้นับจำนวนสุทธนาม มี ๕ ตัว คือ เอก หนึ่ง, อุภ ทั้งสอง, ทฺวิ สอง, ติ สาม, จตุ สี่

     สุทธนาม คุณนาม และสัพพนาม ทั้ง ๓ นี้ ต้องประกอบด้วยลิงค์ วจนะ และวิภัตติ จึงสามารถนำไปประกอบในประโยคต่าง ๆ ได้ เช่น มนุสฺโส, สาริปุตฺโต, สุนฺทโร, โส, ตฺวํ, อหํ, สพฺโพ, โย เป็นต้น ซึ่งจะได้กล่าวรายละเอียดเรื่องลิงค์ การันต์ วจนะ และวิภัตติ ต่อไป

 

บทที่ ๘

 

ลิงค์ การันต์ วจนะ วิภัตติ

 

    ลิงค์ การันต์ วจนะ และวิภัตติ ทั้ง ๔ นี้ ประกอบรวมอยู่ในสุทธนาม คุณนาม และสัพพนาม

 

ลิงค์

 

    ลิงค์ คือ เพศของนาม มีวิเคราะห์ว่า "ลิงฺคติ อิตฺถี ปุริโสติ วิภาคํ คจฺฉติ เอเตนาติ ลิงฺคํ เพศที่ใช้จำแนกนามว่าเป็นหญิงหรือ ชาย ชื่อว่าลิงค์" มี ๓ อย่าง คือ ปุงลิงค์ เพศชาย, อิตถีลิงค์ เพศหญิง, นปุงสกลิงค์ ไม่ใช่เพศชายเพศหญิง หรือไม่มีเพศ

 

ลิงค์ ๒ พวก คือ

 

    ๑. ลิงค์โดยกำเนิด คือ นามศัพท์ที่มีเพศตามกำเนิดของตัวจริง

        เช่น ปุริโส ชาย เป็นปุงลิงค์

               อิตฺถี  หญิง เป็นอิตถีลิงค์

               จิตฺตํ  จิต   เป็นนปุงสกลิงค์

 

    ๒. ลิงค์โดยสมมติ คือนามศัพท์ที่มีเพศตามสมมุติขึ้น ไม่ตรงตามตัวจริง

         เช่น ทาโร ภรรยา  เป็นปุงลิงค์

                ปฐวี  แผ่นดิน  เป็นอิตถีลิงค์

 

จำแนกนาม ๓ โดยลิงค์

 

    ๑. สุทธนาม บางศัพท์เป็นปุงลิงค์ อิตถีลิงค์ หรือนปุงสกลิงค์อย่างเดียว

         เช่น ปุริโส ชาย  เป็นปุงลิงค์อย่างเดียว

                อิตฺถี หญิง  เป็นอิตถีลิงค์อย่างเดียว

                จิตฺตํ จิต     เป็นนปุงสกลิงค์อย่างเดียว

 

    ๒. สุทธนาม บางศัพท์เป็นได้ ๒ ลิงค์

        เช่น ราชา พระราชา  เป็นปุงลิงค์

               ราชินี พระราชินี  เป็นอิตถีลิงค์

               โพธิ  โพธิกุมาร   เป็นปุงลิงค์

               โพธิ  โพธิญาณ   เป็นอิตถีลิงค์

               ทิวโส ทิวสํ  วัน   เป็นปุงลิงค์และนปุงสกลิงค์

 

    ๓. คุณนามและสัพพนาม เป็นได้ทั้ง ๓ ลิงค์ เพราะต้องเปลี่ยนลิงค์ไปตามสุทธนามที่ตนขยายและใช้แทน

        เช่น กลฺยาโณ ปุริโส ชายดี    เป็นปุงลิงค์

               กลฺยาณี อิตฺถี หญิงดี    เป็นอิตถีลิงค์

               กลฺยาณํ จิตฺตํ จิตดี     เป็นนปุงสกลิงค์

               โส ปุริโส ชายคนนั้น   เป็นปุงลิงค์

               สา อตฺถี หญิงคนนั้น   เป็นอิตถีลิงค์

               ตํ จิตฺตํ จิตดวงนั้น    เป็นนปุงสกลิงค์

 

การันต์

 

    การันต์ คืออักษรสุดท้ายของลิงค์ วิเคราะห์ว่า "การานํ อนฺตํ การนฺตํ อักษรสุดท้าย ชื่อว่าการันตะ" มี ๗ คือ อ อา อิ อี อุ อู โอ

 

จำแนกลิงค์ ๓ โดยการันต์ ๗

 

    ๑. ปุงลิงค์ มีการันต์ ๗ คือ  อ อา อิ อี อุ อู โอ

        เช่น ปุริส   ชาย      เป็นอการันต์

               สา     สุนัข      เป็นอาการันต์

               อคฺคิ  ไฟ        เป็นอิการันต์

               ทณฺฑี ผู้มีไม้เท้า  เป็นอีการันต์

               ภิกฺขุ  ภิกษุ     เป็นอุการันต์

               อภิภู  ผู้เป็นใหญ่   เป็นอูการันต์

               โค     วัว          เป็นโอการันต์

 

     ๒. อิตถีลิงค์ มีการันต์ ๕ คือ  อา อิ อี อุ อู

         เช่น กญฺญา สาวน้อย  เป็นอาการันต์

               รตฺติ   กลางคืน     เป็นอิการันต์

               อิตฺถี  หญิง           เป็นอีการันต์

               ยาคุ   ข้าวยาคู      เป็นอุการันต์

               ชมฺพู  ต้นหว้า       เป็นอูการันต์

 

    ๓. นปุงสกลิงค์ มีการันต์ ๗ คือ อ อา อิ อี อุ อู โอ

        เช่น จิตฺต        จิต               เป็นอการันต์

               อสฺสทฺทา ไม่มีศรัทธา   เป็นอาการันต์

               อฏฺฐิ         กระดูก         เป็นอิการันต์

               สุขการี     ทำให้มีสุข    เป็นอีการันต์

               อายุ         อายุ             เป็นอุการันต์

               โคตฺรภู    ข้ามโคตร      เป็นอูการันต์

               จิตฺตโค    วัวด่าง          เป็นโอการันต์

 

วจนะหรือพจน์

 

    วจนะหรือพจน์ คือคำที่บอกจำนวนของนามให้รู้ว่ามีน้อยหรือมาก วิเคราะห์ว่า "เอกตฺตํ วา พหุตฺตํ วาติ วจติ เอเตนาติ วจนํ คำที่ใช้บอกจำนวนว่าหนึ่ง หรือมากกว่าหนึ่ง ชื่อว่า วจนะ"  มี ๒ คือ

    ๑. เอกวจนะหรือเอกพจน์ คำบอกจำนวนของนามว่ามีหนึ่ง

       เช่น ปุริโส ชายหนึ่งคน

              อิตฺถี  หญิงหนึ่งคน

              จิตฺตํ  จิตหนึ่งดวง

    ๒. พหุวจนะหรือพหูพจน์ คำบอกจำนวนของนามว่ามีมาก

        เช่น ปุริสา  ชายหลายคน (หญิงทั้งหลาย)

               อิตฺถิโย  หญิงหลายคน (หญิงทั้งหลาย)

               จิตฺตานิ  จิตหลายดวง (หญิงทั้งหลาย)

    วจนะทั้ง ๒ นี้ อยู่ที่วิภัตติ มีวิตติเป็นเครื่องหมายให้รู้ว่าเป็นเอกวจนะหรือพหุวจนะ

 

วิภัตติ

 

    วิภัตติ คือศัพท์สำหรับประกอบหลังคำนาม จำแนกคำนามให้มีรูปและอรรถต่างกัน เพื่อให้มีเนื้อความสัมพันธ์กับบทอื่นในประโยคได้ วิเคราะห์ว่า "กมฺมาทิวเสน เอกตฺตาทิวเสน จ ลิงฺคตถํ วิภชนฺตีติ วิภตฺติโย ศัพท์ที่จำแนกอรรถของลิงค์ โดยกรรมและเอกพจน์เป็นต้น ชื่อว่าวิภัตติ" มี ๑๔ ตัว เป็นเอกพจน์ ๗ พหูพจน์ ๗ ดังนี้

 

นามวิภัตติ ๑๔ ตัว พร้อมคำแปล

ลำดับ เอก. พหุ. คำแปล
ปฐมา (ที่ ๑)      
 สิ       
 โย     
อันว่า (หรือไม่แปลวิภัตติ)        
อาลปนะ  สิ  โย แน่ะ ดูก่อน ข้าแต่ นี่ (หรือไม่แปลวิภัตติ)
ทุติยา (ที่ ๒)  อํ  โย ซึ่ง สู่ ยัง สิ้น ตลอด กะ เฉพาะ
ตติยา (ที่ ๓)  นา  หิ ด้วย โดย อัน ตาม เพราะ มี ด้วยทั้ง
จตุตถี (ที่ ๔)    นํ แก่ เพื่อ ต่อ สำหรับ
ปัญจมี (ที่ ๕)
 สฺมา 
 หิ
แต่ จาก กว่า เหตุ เพราะ
ฉัฏฐี (ที่ ๖)  ส  นํ แห่ง ของ เมื่อ
สัตตมี (ที่ ๗)  สฺมึ  สุ ใน ใกล้ ที่ ครั้นเมื่อ ในเพราะ เหนือ บน

 

    นามวิภัตติเหล่านี้มีความสำคัญเป็นอันดับหนึ่ง ควรจำให้ขึ้นใจ, ปฐมากับอาลปนะ ใช้วิภัตติตัวเดียวกัน, วิภัตติฝ่ายพหุพจน์ เพิ่มคำว่า "ทั้งหลาย" ในคำแปลด้วย

 

<<<                   >>>