<<     

คู่มือพระอภิธัมมัตถสังคหะ ปริจเฉทที่ ๙

กัมมัฏฐานสังคหวิภาค

หน้า ๑

คู่มือการศึกษา

กัมมัฏฐานสังคหวิภาค

พระอภิธัมมัตถสังคหะ

ปริจเฉทที่ ๙

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส


ความเบื้องต้น


คู่มือการศึกษาเล่มนี้ รวบรวมคำสอนพระอภิธัมมัตถสังคหะ ปริจเฉทที่ ๙ ที่ชื่อว่า กัมมัฏฐานสังคหวิภาค อันเป็นปริจเฉทสุดท้ายแห่งพระอภิธัมมัตถสังคหะ ที่พระอนุรุทธาจารย์ เป็นผู้รจนา

กัมมัฏฐาน แปลตามพยัญชนะ ตามตัวอักษรว่า ที่ตั้งแห่งการงาน แต่ตามอรรถ ตามความหมายในที่นี้หมายถึง ที่ตั้งแห่งการงานทางใจที่จะให้ถึงฌานและถึงมัคคถึงผล ไม่ได้หมายถึงการงานอื่นใดที่นอกจากนี้เลย

สังคหะ แปลว่า รวบรวมโดยย่อ

วิภาค แปลว่า ส่วน

กัมมัฏฐานสังคหวิภาค จึงรวมแปลตามความหมายว่า เป็นส่วนที่รวบรวมโดยย่อซึ่งที่ตั้งแห่ง
การงานทางใจ อันจะให้ถึงฌานและถึงมัคคถึงผล ดังปรากฏตามนัย มูลฎีกา แสดงวจนัตถะ ของคำกัมมัฏฐานว่า


กมฺมเมว จิเสสาธิคมสฺส ฐานนฺติ กมฺมฏฺฐานํ

การกระทำที่เป็นเหตุแห่งการได้บรรลุ ฌาน มัคค ผล นิพพาน ที่เป็นธรรมพิเศษนั่นเทียว จึงชื่อว่า กัมมัฏฐาน


กมฺเม ภาวนา รพฺโพ ฐานนฺติ กมฺมฏฺฐานํ

การเจริญภาวนาทั้ง ๒ อย่าง เป็นเหตุแห่งการได้บรรลุ ฌาน มัคค ผล นิพพาน จึงชื่อว่า กัมมัฏฐาน


หน้า ๒

กัมมัฏฐานมี ๒ ประการ


ภาเวตพฺพา ปุนปฺปุนํ วฑฺเฒตพฺพาติ ภาวนา

ธรรมชาติใดอันบุคคลพึงอบรมให้เจริญ ธรรมชาตินั้นชื่อว่า ภาวนา


กิเลเส สเมตีติ สมโถ

อันว่า เอกัคคตาเจตสิก สมาธิใด ยังกิเลสทั้งหลายให้สงบ เพราะเหตุดังนั้น อันว่าเอกัคคตาเจตสิกสมาธินั้น ชื่อว่า สมถะ


ขนฺธาทิสงฺขตธมฺเม อนิจฺจาทิวิวิธากาเรน ปสฺสตีติ วิปสฺสนา

อันว่า ปัญญา รู้ด้วยประการใด ย่อมเห็นสังขตธรรม มีขันธ์เป็นต้น ด้วยอาการต่าง ๆ มีความ
ไม่เที่ยงเป็นต้น อันว่า ปัญญานั้น ชื่อว่า วิปัสสนา


มีคาถาสังคหะ อันเป็นคาถาที่ ๑ แห่งปริจเฉทนี้แสดงว่า


๑. สมถวิปสฺสนานํ ภาวนานมิโต ปรํ
กมฺมฏฺฐานํ ปวกฺขามิ ทุวิธมฺปิ ยถากฺกมํ ฯ


เบื้องหน้าแต่ ปัจจยนิเทสนี้ จักแสดงกัมมัฏฐาน แม้ทั้ง ๒ อย่างแห่งภาวนา คือ สมถะ และ วิปัสสนา ต่อไปตามลำดับ

มีความหมายว่า เมื่อพระอนุรุทธาจารย์ได้แสดง ปัจจยสังคหวิภาคอันเป็นปริจเฉทที่ ๘ จบไปแล้ว ต่อไปข้างหน้านี้ จักได้แสดง ภาวนา ๒ ประการ คือ สมถกัมมัฏฐาน และ วิปัสสนากัมมัฏฐาน ตามลำดับ


สมถกัมมัฏฐาน


๒. เยนเยนุปเกฺลสาปิ สมนฺติ วูปสมนฺติ หิ
โส โส วูปสโมปาโย สมโถติ ปวุจฺจติ ฯ


แม้อุปกิเลสทั้งหลาย ย่อมสงบระงับด้วยอุบายใด ๆ อุบายอันเป็นเครื่องสงบระงับนั้น ๆ ท่านเรียกว่า สมถะ มีความหมายว่า ถ้ามีอุบายหรือวิธีการใด ๆ ที่ทำให้อุปกิเลส อันเป็นเครื่องเศร้าหมองและเร่าร้อนซึ่งมีแต่จะให้โทษนั้น สงบระงับลงไปได้ อุบายหรือวิธีการอย่างนั้น ๆ แหละเรียกว่า สมถะ


หน้า ๓

กล่าวอีกนัยหนึ่งก็ว่า สมถะ คือ การทำให้จิตสงบระงับจากกิเลสเครื่องเศร้าหมองเร่าร้อนทั้งหลาย จนจิตใจไม่มีอาการดิ้นรน ไม่กระสับกระส่ายตลอดเวลาที่กิเลสเหล่านั้นสงบระงับอยู่

อุบายหรือวิธีการนั้นก็ได้แก่ การเจริญกัมมัฏฐาน การเพ่งกัมมัฏฐาน คือ หน่วงเอากัมมัฏฐานมาเป็นอารมณ์สำหรับเพ่ง ซึ่งสมถกัมมัฏฐานนั้น มีจำนวนถึง ๔๐ จัดได้เป็น ๗ หมวด ดังคาถาที่ ๓ ที่ ๔ แสดงว่า


๓. กสิณาสุภานุสฺสติ ทสธา ทสธา ฐิตา
จตสฺโส อปฺปมญฺญาโย สญฺเญกาหาร นิสฺสิตา ฯ


กสิณ อสุภะ อนุสสติ ตั้งอยู่แล้วโดยประเภทอย่างละ ๑๐ อย่างละ ๑๐, อัปปมัญญา ๔, สัญญาที่อาศัยอาหารเป็นอารมณ์ ๑


๔. เอกญฺจ ววตฺถานมฺปิ อรูปา จตุโร อิติ
สตฺตธา สมถกมฺมฏฺ ฐานสฺส ตาว สงฺคโห ฯ


แม้การเพ่งธาตุ ๑, อรูป ๔ นั้น (ก็นับ)ด้วย รวมสมถกัมมัฏฐานเป็น ๗ หมวด (จำนวน ๔๐) ดังกล่าวมาฉะนี้

มีความหมายว่า ในการเจริญสมถภาวนานั้น มีอารมณ์สำหรับเพ่ง ที่เรียกว่า สมถกัมมัฏฐาน รวม ๗ หมวด เป็นกัมมัฏฐาน ๔๐ คือ

หมวดที่ ๑ กสิณ ๑๐ กัมมัฏฐานว่าด้วย ทั้งปวง

หมวดที่ ๒ อสุภะ ๑๐ กัมมัฏฐานว่าด้วย ไม่งาม

หมวดที่ ๓ อนุสสติ ๑๐ กัมมัฏฐานว่าด้วย ตามระลึก

หมวดที่ ๔ อัปปมัญญา ๔ กัมมัฏฐานว่าด้วย แผ่ไปไม่มีประมาณ

หมวดที่ ๕ อาหาเรปฏิกูลสัญญา ๑ กัมมัฏฐานว่าด้วย หมายรู้ความปฏิกูลในอาหาร

หมวดที่ ๖ จตุธาตุววัตถานะ ๑ กัมมัฏฐานว่าด้วย กำหนดธาตุทั้ง ๔

หมวดที่ ๗ อรูป ๔ กัมมัฏฐานว่าด้วย อรูปกัมมัฏฐาน


หมวดที่ ๑ กสิณ ๑๐


กสิณ คือกัมมัฏฐานที่ว่าด้วย ทั้งปวง หมายความว่า เช่น เพ่งปฐวีกสิณ ก็เหมือนกับว่าเพ่งดินทั้งปวง หรือว่าดินทั้งปวงก็เหมือนกับดินที่ดวงกสิณนี้เอง


หน้า ๔

อีกนัยหนึ่ง หมายว่า ทั่วไป ทั้งหมด คือการเพ่งดวงกสิณ จะต้องเพ่งให้ทั่วทั้งดวงกสิณ เพ่งให้ตลอดทั่วถึงหมดทั้งดวงกสิณ เพ่งให้ทั่วถึงทุกกระเบียดนิ้ว

กสิณมี ๑๐ อย่าง แม้จะเพ่งอย่างใดอย่างหนึ่งอย่างแน่แน่ว ก็จะทำให้จิตไม่ดิ้นรน ไม่กระสับกระส่าย ทำให้กิเลสเครื่องเศร้าหมองเร่าร้อนต่าง ๆ สงบระงับ สามารถทำให้เกิดฌานจิตตั้งแต่ปฐมฌาน ขึ้นไปตามลำดับจนถึงปัญจมฌานได้ กสิณ ๑๐ คือ


๑. ปฐวีกสิณ คือเพ่ง ดิน

๒. อาโปกสิณ คือเพ่ง น้ำ

๓. เตโชกสิณ คือเพ่ง ไฟ

๔. วาโยกสิณ คือเพ่ง ลม

กสิณทั้ง ๔ นี้ เนื่องด้วยมหาภูตรูปทั้ง ๔
จึงรวมเรียกว่า ภูตกสิณ

๕. นีลกสิณ คือเพ่ง สีเขียว

๖. ปีตกสิณ คือเพ่ง สีเหลือง

๗. โลหิตกสิณ คือเพ่ง สีแดง

๘. โอทาตกสิณ คือเพ่ง สีขาว

กสิณทั้ง ๔ นี้เนื่องมาจากสี
จึงรวมเรียกว่า วัณณกสิณ

๙. อากาสกสิณ คือเพ่ง ที่ว่างเปล่า

๑๐. อาโลกกสิณ คือเพ่ง แสงสว่าง


 

๑. ปฐวีกสิณ

การทำดวงปฐวีกสิณนั้น ใช้ดินสีแดงเหมือนแสงอาทิตย์เมื่อแรกขึ้น มาตำให้ละเอียด ร่อนหรือกรองอย่าให้มีเม็ดกรวดเม็ดทราย ใบไม้ ใบหญ้า หรือเศษผงอย่างใด ๆ ติดอยู่ด้วยเลย เอาดินนั้นผสมน้ำ ละเลงบนสะดึงให้เป็นแผ่นกลม หนาพอประมาณ โตประมาณ ๑ คืบ ๔ นิ้ว ทำให้เรียบเสมอกัน อย่าให้สูง ๆ ต่ำ ๆ หรือเป็นหลุมเป็นบ่อ แล้วขัดด้วยไม้ให้เกลี้ยงดังหน้ากลอง อย่าให้มีแม้แต่รอยขีดรอยข่วน เสร็จแล้วตั้งไว้เฉพาะหน้า ห่างประมาณสัก ๒ ศอก สูงพอดีสายตาดูได้ถนัด ไม่ต้องก้มไม่ต้องเงย

ชั้นต้นให้ลืมตาเพ่งพร้อมกับบริกรรมในใจว่า ปฐวี ปฐวี หรือ ดิน ดิน ตามความถนัด เพ่งไปจนกว่าจะเกิด อุคคหนิมิต ปฏิภาคนิมิต และจนกว่าจะเป็นอุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ

เรื่อง นิมิต และสมาธิ จะได้กล่าวต่อไปข้างหน้า


หน้า ๕

 

๒. อาโปกสิณ

ให้ตักน้ำใส่บาตร หรือจะใส่หม้อน้ำ อ่างน้ำ ขันน้ำ ก็ได้ ที่ปากกว้างคืบเศษ ใส่น้ำให้เสมอปากภาชนะนั้น พอเต็มพอดี วางให้ห่างสักศอกคืบ พอเพ่งได้ถนัด ให้เพ่งพร้อมกับบริกรรมในใจว่า อาโป อาโป หรือ น้ำ น้ำ

๓. เตโชกสิณ

ก่อไฟให้ลุกเป็นเปลว ใช้เสื่อลำแพน หนังสัตว์ ผ้า หรือสิ่งใดก็ได้ เจาะให้เป็นช่องกลมโตสัก ๑ คืบ ๔ นิ้ว เอาตั้งบังไฟเข้าเฉพาะหน้า แล้วเพ่งเปลวไฟตามช่องนั้น พร้อมกับบริกรรมว่า เตโช เตโช หรือ ไฟ ไฟ

๔. วาโยกสิณ

ให้เพ่งดูลม โดยอาศัยความไหวของใบไม้ ยอดหญ้า เส้นผม หรือสิ่งใดก็ได้ เป็นเครื่องกำหนด คือเอาความไหวของวัตถุนั้น ๆ เป็นอารมณ์ พร้อมกับบริกรรมว่า วาโย วาโย หรือ ลม ลม

๕. นีลกสิณ

ให้หาดอกไม้ที่มีกลีบสีเขียว เช่นดอกอัญชัน (สีครามแก่) เป็นต้น มาประดับในขัน โอ ชาม หรือภาชนะอะไรก็ได้ ปากกว้างสัก ๑ คืบ ๔ นิ้ว ให้เรียบเสมอปากภาชนะนั้น อย่าให้เห็นก้านและเกษร เพราะก้านคงเป็นสีเขียวใบไม้ เกษรโดยมากสีเหลือง ซึ่งไม่ใช่สีเดียวกับกลีบที่เป็นสีเขียวครามแก่ นำมาตั้งไว้เฉพาะหน้าห่างสักศอกคืบ ให้เพ่งสีเขียวนั้นเป็นอารมณ์ พร้อมกับบริกรรมว่า นีลํ นีลํ หรือ เขียว เขียว ก็ได้

นอกจากใช้ดอกไม้สีเขียวแล้ว จะใช้ผ้าหรือกระดาษสีเขียว ตัดเป็นแผ่นกลมโตคืบเศษสำหรับเพ่งก็ได้เหมือนกัน

๖. ปีตกสิณ ๗. โลหิตกสิณ ๘. โอทาตกสิณ

ทั้ง ๓ กสิณนี้ มีวิธีทำเช่นเดียวกับนีลกสิณนั่นเอง ต่างกันแต่ว่านีลกสิณที่กล่าวแล้วนั้นใช้ ดอกไม้ ผ้า กระดาษ ที่เป็นสีเขียว


หน้า ๖

ส่วน ปีตกสิณ ใช้ดอกไม้ ผ้า กระดาษสีเหลืองเป็นอารมณ์สำหรับเพ่ง พร้อมกับบริกรรมว่า ปิตํ ปิตํ หรือ เหลือง เหลือง

โลหิตกสิณ ใช้ดอกไม้ ผ้า หรือกระดาษสีแดง เป็นอารมณ์สำหรับเพ่งพร้อมกับบริกรรมว่า โลหิตํ โลหิตํ หรือ แดง แดง

โอทาตกสิณ ใช้ดอกไม้ ผ้า หรือ กระดาษสีขาว เป็นอารมณ์สำหรับเพ่งพร้อมกับบริกรรมว่า โอทาตํ โอทาตํ หรือ ขาว ขาว

โดยเฉพาะ โอทาตกสิณนี้เป็นกสิณที่ประเสริฐ เพราะสามารถทำให้จิตใจของโยคีที่เจริญภาวนาอยู่นั้น ผ่องใสปราศจาก ถีนะ มิทธะ เป็นพิเศษ

๙. อากาสกสิณ

ให้ตัด ลำแพน แผ่นหนัง หรือ ผ้า ให้เป็นช่องกลมโตสัก ๑ คืบ ๔ นิ้ว แล้วเพ่งความว่างเปล่าที่ช่องนั้น พร้อมกับบริกรรมว่า อากาโส อากาโส หรือ ว่างเปล่า ว่างเปล่า

มีข้อที่ควรทราบอยู่ว่า อากาสกสิณนี้เพ่งความว่างเปล่าภายในช่องนั้น อันเป็นความว่างเปล่าที่มีขอบเขตโดยจำกัด ไม่ใช่ว่างเปล่าเวิ้งว้างทั่วไปที่ไม่มีขอบเขตขีดคั่นนั้นเลย

๑๐. อาโลกกสิณ

ใช้ความว่างเปล่าเป็นอารมณ์ หมายถึง แสงอาทิตย์ แสงจันทร์ แสงไฟที่ส่องลอดเข้ามาตามช่องฝา เป็นวงกลม ให้เพ่งความสว่างที่เป็นวงกลมนั้น ถ้าไม่มีอย่างนี้ก็ให้ทำขึ้นโดยใช้ปีบมาเจาะที่ข้างหนึ่งให้เป็นวงกลม เอาไฟ เช่น ตะเกียงใส่ลงไปในปีบนั้น ปิดฝาปีบเสีย หันปีบด้านที่เจาะเข้าข้างฝา ให้เพ่งแสงสว่างที่ส่องออกมาจากปีบเป็นดวงกลมที่ติดอยู่ที่ข้างฝานั้น พร้อมกับบริกรรมว่า โอภาโส โอภาโส หรือ อาโลโก อาโลโก หรือ สว่าง สว่าง


หมวดที่ ๒ อสุภะ ๑๐

อสุภะ หมายถึง เพ่งของ ไม่งาม เป็นกัมมัฏฐาน ซึ่งจะปรากฏ อุคคหนิมิต ปฏิภาคนิมิต อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ ตามควรแก่การเพ่งนั้น


หน้า ๗

อสุภะ มี ๑๐ อย่าง จะเพ่งอย่างใดอย่างหนึ่งก็แล้วแต่จะพึงมี อสุภะ สามารถให้เกิดฌานจิตได้แค่ปฐมฌานเท่านั้นเอง อสุภะ ๑๐ คือ

๑. อุทธุมาตกอสุภะ ศพที่น่าเกลียด โดยมีอาการขึ้นพอง

๒. วินีลกอสุภะ ศพที่น่าเกลียด เน่า ขึ้นเขียว

๓. วิปุพพกอสุภะ ศพที่น่าเกลียด มีน้ำเหลือง น้ำหนองไหลออกมา

๔. วิฉิททกอสุภะ ศพที่น่าเกลียด โดยถูกตัดขาดเป็นท่อน ๆ

๕. วิกขายิตกอสุภะ ศพที่น่าเกลียด ถูกสัตว์แทะกัดกิน เหวอะหวะ

๖. วิกขิตตกอสุภะ ศพที่น่าเกลียด มือ เท้า ศีรษะอยู่คนละทางสองทาง

๗. หตวิกขิตตกอสุภะ ศพที่น่าเกลียด โดยถูกสับฟันยับเยิน

๘. โลหิตกอสุภะ ศพที่น่าเกลียด มีโลหิตไหลอาบ

๙. ปุฬุวกอสุภะ ศพที่น่าเกลียด มีหนอนไชทั่วร่างกาย

๑๐. อัฏฐิกอสุภะ ศพที่น่าเกลียด เหลือแต่กระดูกกระจัดกระจายไป


หมวดที่ ๓ อนุสสติ ๑๐

อนุสสติ แปลว่า ตามระลึก หรือระลึกถึงเนือง ๆ มีความหมายว่า เอาความที่ตามระลึกถึงเนือง ๆ นั้นมาเป็นอารมณ์กัมมัฏฐาน ซึ่งมีจำนวน ๑๐ ประการ คือ

๑. พุทธานุสสติ ระลึกเนือง ๆ ถึงคุณของ พระพุทธเจ้า

๒. ธัมมานุสสติ ระลึกเนือง ๆ ถึงคุณของ พระธรรม

๓. สังฆานุสสติ ระลึกเนือง ๆ ถึงคุณของ พระอริยสงฆ์

๔. สีลานุสสติ ระลึกเนือง ๆ ถึงคุณของ สีล

๕. จาคานุสสติ ระลึกเนือง ๆ ถึงคุณของ การบริจาค

๖. เทวตานุสสติ ระลึกเนือง ๆ ถึงคุณของ การเป็นเทวดา

๗. อุปสมานุสสติ ระลึกเนือง ๆ ถึงคุณของ พระนิพพาน

๘. มรณานุสสติ ระลึกถึงบ่อย ๆ ถึงความที่จะต้องตาย

๙. กายคตาสติ ระลึกเนือง ๆ ถึง กายโกฏฐาส มีเกสา โลมา เป็นต้น

๑๐. อานาปาณสติ ระลึกถึงลมหายใจเข้า ลมหายใจออก


อนุสสติ ๑๐ ประการนี้ ใช้เพ่งให้เกิดฌานจิตได้เพียง ๒ ประการเท่านั้น คือ กายคตาสติ เจริญได้เพียงปฐมฌานเท่านั้นเอง ส่วน อานาปาณสติ เจริญได้ตั้งแต่ปฐมฌานขึ้นไปตามลำดับจนถึงปัญจมฌาน

อนุสสติ ๑๐ มีรายละเอียดดังนี้


หน้า ๘

 

๑. พุทธานุสสติ

พระคุณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นมีเป็นเอนกประการ สุดที่จะพรรณนา แต่เมื่อรวบรัดกล่าวโดยย่อแล้วก็มี ๙ ประการ คือ

๑. อรหํ เป็นผู้ไกลจากข้าศึก คือ กิเลส อีกนัยหนึ่งว่า เป็นผู้ที่ไม่มีที่รโหฐาน หมายความว่า แม้แต่ในที่ลับก็ไม่กระทำบาป

๒. สมฺมาสมฺพุทฺโธ เป็นผู้ที่ตรัสรู้โดยชอบด้วยพระองค์เอง

๓. วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน เป็นผู้ที่ถึงพร้อมด้วยวิชาและจรณะ วิชาและจรณะนี้ได้แสดงแล้วใน
ปริจเฉทที่ ๗ ตอน สัพพสังคหะ ตรงมัคคอริยสัจจ ขอให้ดูที่นั่นด้วย

๔. สุคโต แปลว่า ทรงไปแล้วด้วยดี ซึ่งในที่นี้มีความหมายถึง ๔ นัย คือ

ก. เสด็จไปงาม คือไปสู่ที่บริสุทธิ์ อันเป็นที่ที่ปราศจากโทษภัยทั้งปวง ซึ่งหมายถึง อริยสัจจทั้ง ๔

ข. เสด็จไปสู่ฐานะอันประเสริฐ คือ อมตธรรม อันเป็นธรรมที่สงบระงับจากกิเลสและกองทุกข์ทั้งปวง

ค. เสด็จไปในที่ถูกที่ควร คือพ้นจากวัฏฏะ ไม่ต้องกลับมาเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป

ง. ทรงตรัสไปในทางที่ถูกที่ชอบ คือทรงเทสนาในสิ่งที่เป็นความจริงและเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขแก่ผู้ฟัง ประมวลลักษณะแห่งพระพุทธดำรัสได้เป็น ๖ ลักษณะ ดังจะแสดงโดยย่อที่สุด ดังนี้

(๑) ไม่จริง ไม่กอปร์ด้วยประโยชน์ ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของผู้อื่น ไม่ตรัส

(๒) ไม่จริง ไม่กอปร์ด้วยประโยชน์ แม้จะเป็นที่รักที่ชอบใจของผู้อื่น ก็ไม่ตรัส

(๓) จริง แต่ไม่กอปร์ด้วยประโยชน์ ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของผู้อื่น ไม่ตรัส

(๔) จริง แต่ไม่กอปร์ด้วยประโยชน์ แม้จะเป็นที่รักที่ชอบใจของผู้อื่น ก็ไม่ตรัส

(๕) จริงและกอปร์ด้วยประโยชน์ถึงจะไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของผู้อื่นก็รู้กาลที่จะตรัส

(๖) จริงและกอปร์ด้วยประโยชน์และเป็นที่รักที่ชอบใจของผู้อื่นด้วยก็รู้กาลที่จะตรัส


หน้า ๙

๕. โลกวิทู พระพุทธองค์ทรงรู้โลกอย่างแจ่มแจ้งด้วยประการทั้งปวง คือ ทรงรู้จักโลก รู้จักเหตุเกิดของโลก รู้จักธรรมที่ดับของโลก และรู้จักทางปฏิบัติให้ถึงธรรมที่ดับของโลก

อีกนัยหนึ่ง หมายถึงการแจ้งโลกทั้ง ๓ คือ สังขารโลก สัตวโลก และโอกาสโลก

ก. สังขารโลก หมายถึง สังขารธรรม คือ รูปนาม ได้แก่ จิต เจตสิก รูปทั้งหมด ซึ่งเกิดขึ้นด้วย
เหตุปัจจัย ด้วยการปรุงแต่ง ทำให้หมุนเวียนไปในสังสารวัฏฏ จำแนกโลกได้เป็นหลายนัย เช่น

โลกนับว่ามี ๑ ได้แก่ สพฺเพ สตฺตา อาหารฏฺฐิกา สัตว์ทั้งหลายย่อมอยู่ได้ด้วยต้องอาศัยอาหารเหมือนกันหมด

โลกนับว่ามี ๒ ได้แก่ นาเม จ รูเป จ คือ นาม ๑ รูป ๑ หรืออีกนัยหนึ่ง ว่าได้แก่ อุปาทินนกสังขาร ๑ อนุปาทินนกสังขาร ๑

โลกนับว่ามี ๓ ได้แก่ ตีสุ เวทนาสุ คือ เวทนา ๓ มี สุขเวทนา ทุกขเวทนา และ อทุกขมสุขเวทนา

โลกนับว่ามี ๔ ได้แก่ จตูสุ อาหาเรสุ คือ อาหาร ๔ มี กพฬีการาหาร ผัสสาหาร มโนสัญเจตนาหาร และวิญญาณาหาร อีกนัยหนึ่งว่าได้แก่ สติปัฏฐาน ๔

โลกนับว่ามี ๕ ได้แก่ ปญฺจสุ อุปาทานกฺขนฺเธสุ คือ อุปาทานขันธ์ ๕ อีกนัยหนึ่งว่าได้แก่ อินทรีย ๕

โลกนับว่ามี ๖ ได้แก่ ฉสุ อชฺฌตฺติเกสุ อายตเนสุ คืออายตนะภายใน ๖ อีกนัยหนึ่งว่าได้แก่ นิสสรณียธาตุ ๖

โลกนับว่ามี ๗ ได้แก่ สตฺตสุ วิญฺญาณฏฺฐิตีสุ คือวิญญาณฐีติ ๗ อีกนัยหนึ่งว่าได้แก่ โพชฌงค์ ๗

โลกนับว่ามี ๘ ได้แก่ อฏฺฐสุ โลกธมฺเมสุ คือ โลกธรรม ๘ อีกนัยหนึ่งว่าได้แก่ อริยอัฏฐังคิกมัคค ๘

โลกนับว่ามี ๙ ได้แก่ นวสุ สตฺตาวาเสสุ คือ สัตตาวาส ๙ อีกนัยหนึ่งว่าได้แก่ โลกุตตรธรรม ๙

โลกนับว่ามี ๑๐ ได้แก่ ทสสุ อกุสลกมฺมปเถสุ คือ อกุสลกรรมบถ ๑๐ อีกนัยหนึ่งว่าได้แก่ กุสลกรรมบถ ๑๐

โลกนับว่ามี ๑๒ ได้แก่ อายตนะ ๑๒

โลกนับว่ามี ๑๘ ได้แก่ ธาตุ ๑๘

ข. สัตวโลก บาลีเป็น สัตตโลก หมายถึง บุคคล คือสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง ซึ่งทรงแจ้ง ประเภท (บุคคล ๑๒), เหตุให้เกิด, นิสัย, จริต, บารมี แห่งสัตว์เหล่านั้นทั้งสิ้น

ค. โอกาสโลก หมายถึง ภูมิ อันเป็นที่ตั้งแห่งสังขารธรรม คือ เป็นที่อาศัยเกิด อาศัยอยู่ของสัตว์ทั้งหลาย ซึ่งมีจำนวนรวม ๓๑ ภูมิ


หน้า ๑

๖. อนุตฺตโร ปุริสทมฺมสารถิ ทรงสามารถฝึกอบรมสั่งสอนแนะนำผู้ที่สมควรฝึกได้เป็นอย่างเลิศไม่มีใครเสมอเหมือน ทั้งนี้เพราะทรงทราบอัธยาศัยของสัตว์นั้น ๆ

๗. สตฺถา เทวมนุสฺสานํ ทรงเป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ซึ่งไม่มีศาสดาใดจะเทียมเท่า เพราะทรงนำสัตว์ทั้งหลายให้พ้นจากกองทุกข์ได้

๘. พุทฺโธ ทรงเห็นทุกอย่าง (สพฺพทสฺสาวี), ทรงรู้ทุกสิ่ง (สพฺพญฺญู) ทรงตื่น , ทรงเบิกบานด้วยธรรม

๙. ภควา ทรงเป็นผู้ที่มีบุญที่ประเสริฐสุด ทรงสามารถจำแนกธรรมสั่งสอนสัตว์ตามควรแก่อัตตภาพของสัตว์นั้น ๆ


๒. ธัมมานุสสติ

พระธรรมในที่นี้หมายถึง มัคค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ และพระปริยัติธรรม รวมนับเป็น ๑ จึงเป็นธรรม ๑๐
ประการด้วยกัน คุณของธรรม ๑๐ ประการนี้ เมื่อกล่าวรวบยอด โดยย่อแล้ว ก็มี ๖ อย่าง คือ

๑. สวากฺขาโต เป็นธรรมที่ทรงตรัสไว้ดีแล้ว สมบูรณ์ทั้งอรรถและพยัญชนะ ดีพร้อมทั้งเบื้องต้น ท่ามกลางและในที่สุด คุณธรรมข้อนี้หมายถึง พระปริยัติธรรม

๒. สนฺทิฏฺฐิโก เป็นธรรมที่ผู้ศึกษาและปฏิบัติพึงเห็นได้ด้วยตนเอง คุณธรรมข้อนี้หมายถึงโลกุตตรธรรมทั้ง ๙

๓. อกาลิโก เป็นธรรมที่พึงปฏิบัติได้และให้ผลทันทีในลำดับนั้นเลยทีเดียว โดยไม่ต้องรอเวลา หรือมีระหว่างคั่นแต่อย่างใด คุณธรรมข้อนี้หมายถึง มัคคจิต ๔

๔. เอหิปสฺสิโก เป็นธรรมที่ให้ผลได้อย่างแท้จริง จนสามารถที่จะทำให้พิสูจน์ได้ คุณธรรมข้อนี้หมายถึงโลกุตตรธรรมทั้ง ๙

๕. โอปนยิโก เป็นธรรมที่ควรน้อมนำมาให้บังเกิดแก่ตน และทำให้แจ้งแก่ตน หมายความว่า ควรบำเพ็ญเพียรให้เกิดมัคคจิต ผลจิต ก็จะแจ้งซึ่งพระนิพพาน คุณธรรมข้อนี้หมายถึง โลกุตตรธรรมทั้ง ๙ เหมือนกัน

๖. ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญฺญูหิ เป็นธรรมที่ผู้รู้ก็รู้ได้เฉพาะตนเอง ผู้อื่นหารู้ด้วยไม่ว่า มัคคเราเจริญ ผลเราบรรลุ นิโรธเราได้แจ้งแล้ว เป็นการรู้ด้วยการประจักษ์แจ้งอย่างที่เรียกว่า ประจักขสิทธิ


หน้า ๑๑

๓. สังฆานุสสติ

สงฆ์ในที่นี้ หมายถึง พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า ที่เรียกว่า พระอริยสงฆ์ คือผู้ที่บรรลุมัคคผล คุณของพระอริยสงฆ์ มี ๙ ประการ คือ

๑. สุปฏิปนฺโน เป็นสาวกที่ปฏิบัติดีแล้วชอบแล้ว

๒. อุชุปฏิปนฺโน เป็นสาวกที่ปฏิบัติตรงแล้ว

๓. ญายปฏิปนฺโน เป็นสาวกที่ปฏิบัติธรรมอันเป็นเครื่องออกจากทุกข์

๔. สามีจิปฏิปนฺโน เป็นสาวกที่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม

๕. อาหุเนยฺโย เป็นสาวกที่ควรแก่สักการที่เขานำมาบูชา

๖. ปาหุเนยฺโย เป็นสาวกที่ควรแก่สักการที่เขาจัดไว้ต้อนรับ

๗. ทกฺขิเนยฺโย เป็นสาวกที่ควรรับทักษิณาทาน

๘. อญฺชลีกรณีโย เป็นสาวกที่ควรแก่การกราบไหว้

๙. อนุตฺตรํ ปุญฺญกฺเขตฺตํ โลกสฺส เป็นเนื้อนาบุญอย่างยอดเยี่ยมของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า


๔. สีลานุสสติ

การระลึกถึงความบริสุทธิ์ของสีลที่ได้สมาทานหรือรักษาอยู่นั้น ว่าได้รักษาไว้โดยปราศจากโทษ ๔ อย่าง คือ อขณฺฑ ไม่ขาด ไม่เป็นท่อน, อฉิทฺท ไม่ทะลุ, อสพล ไม่ด่าง, อกมฺมาส ไม่พร้อย และยิ่งเป็น อนิสสิตสีล คือไม่เจือปนด้วยตัณหาหรือทิฏฐิด้วยแล้ว ก็ยิ่งทรงคุณอันประเสริฐ ให้ผลใหญ่หลวงยิ่งนัก


หน้า ๑๒

สีลที่เจือปนระคนด้วยตัณหา หรือทิฏฐินั้น ชื่อว่า นิสสิตสีล ได้แก่

ตัณหานิสสิตสีล เป็นสีลที่เจือปนด้วยตัณหา คือ มีความปรารถนาในโภคสมบัติ และภวสมบัติ
จึงรักษาสีล

ทิฏฐินิสสิตสีล เป็นสีลที่เจือปนด้วยทิฏฐิ คือ มีความเห็นว่าจะพ้นจากสังสารวัฏฏด้วยอานิสงส์ของสีล จึงรักษาสีล

ส่วน อนิสสิตสีล นั้น เป็นการรักษาสีลโดยไม่ได้หวังว่าตนจะได้รับผลตอบแทนแต่อย่างใด แต่รักษาสีลเพื่อมิให้มีการเบียดเบียนผู้อื่น เพื่อมิให้เกิดเป็นทุกข์โทษภัยแก่ผู้อื่น และเพื่อให้มีความปกติสุขโดยทั่วหน้ากัน

เมื่อได้นึกถึงความบริสุทธิ์ของสีลที่ตนรักษาแล้ว จงระลึกว่า สีลนี้เป็นคุณที่ยังให้สมาธิทั้งหลายได้เกิดขึ้น ถ้าปราศจากสีลเสียแล้ว สมาธิก็จะไม่เกิดขึ้น


๕. จาคานุสสติ

ระลึกถึงการบริจาคทานของตน ที่เต็มไปด้วยความบริสุทธิ์ เกิดความอิ่มเอิบใจในการเสียสละปราศจากการนึกหวงแหน ไม่หวังชื่อเสียง ไม่หมายได้หน้า และไม่มีการโอ้อวด

การบริจาคทานเป็นบาทเบื้องต้นที่ทำให้ผู้ทรงสีล และสีลเป็นบาทให้เกิดสมาธิอีกต่อหนึ่ง


๖. เทวตานุสสติ

การระลึกถึงกุสลธรรมของตนมีสัทธาเป็นต้นอยู่เนือง ๆ โดยนึกถึงเทวดา นึกถึงพรหมทั้งหลาย เป็นตัวอย่างหรือเป็นองค์พยานว่า ผู้บริบูรณ์ด้วยสัปปุริสธรรม ๗ ประการ มี สัทธา หิริ โอตตัปปะ พหุสัจจะ วิริยะ สติ ปัญญานี้ เมื่อจุติจากโลกนี้ไปแล้ว ย่อมไปบังเกิดในเทวโลก ในพรหมโลกนั้น กุสลธรรมเหล่านี้ในจิตใจของเราก็มีอยู่ คงจะส่งผลให้ไปสู่สุคติได้เช่นเดียวกัน

เมื่อระลึกอยู่เช่นนี้ จิตใจก็จะไม่ดิ้นรน ไม่กระสับกระส่าย ไม่ฟุ้งซ่าน มีแต่จะสงบระงับ ซึ่งเป็นทางให้เกิดสมาธิได้ง่าย


หน้า ๑๓

๗. อุปสมานุสสติ

การระลึกถึงคุณของพระนิพพาน ที่มีสภาพเป็นสันติสุข สงบจากกิเลสทั้งหลาย และหมดสิ้นจากความทุกข์ทั้งปวง เป็นธรรมที่คลายความกำหนัด กำจัดความมัวเมา ดับความกระหาย คลายความอาลัย สิ้นตัณหา ตัดวัฏฏะ พ้นจากเครื่องร้อยรัด ดับสนิท พ้นจากการปรุงแต่ง

เมื่อระลึกถึงคุณของพระนิพพานอยู่เนือง ๆ จิตใจก็สงบ ไม่กระสับกระส่าย อย่างแน่นอน


๘. มรณานุสสติ

การระลึกถึงความตายว่า ตนจะต้องตายแน่นอน แม้ผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นพรหม เป็นเทวดา เป็นพระมหากษัตริย์ เป็นเศรษฐีคหบดี นักปราชญ์ราชบัณฑิต คนโง่เขลาเบาปัญญา กระยาจกเข็ญใจ สัตว์ใหญ่ สัตว์น้อย ทั้งหลาย จะต้องตายด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น เมื่อได้เกิดมาแล้ว ที่จะไม่ตายเป็นไม่มี นึกเช่นนี้บ่อย ๆ ก็จะเกิดความสลดใจ คลายความทะยานอยากลงได้ไม่ใช่น้อย ทำให้มีความสงบระงับมากขึ้น สมาธิก็เกิดได้ง่ายเข้า


๙. กายคตาสติ

การระลึกถึงอาการ ๓๒ ของตนอยู่เนือง ๆ ว่าล้วนแต่เป็นสิ่งปฏิกูลทั้งนั้น จึงไม่เป็นที่น่าปรารถนาของบัณฑิต

ระลึกได้เช่นนี้ ย่อมจะคลายความมีทิฏฐิมานะ ถือตัวถือตนลงได้มากทีเดียว ทิฏฐิมานะน้อยลง สมาธิก็ย่อมดีมากขึ้น กายคตาสตินี้สามารถเจริญได้เพียงปฐมฌานเท่านั้นเอง ไม่สูงไปกว่านั้น


๑๐. อานาปาณสติ

การระลึกถึงลมหายใจเข้าลมหายใจออก ถ้าจิตใจจดจ่ออยู่แต่ที่ลมหายใจอย่างแน่วแน่ ไม่เผลอไปคว้าอารมณ์อย่างอื่นแล้ว เป็นการเจริญสมาธิได้เป็นอย่างดี

อานาปาณสตินี้ สามารถเจริญให้ถึงได้ ตั้งแต่ปฐมฌานขึ้นไปตามลำดับจนถึงปัญจมฌาน


หน้า ๑๔

 

หมวดที่ ๔ อัปปมัญญา ๔

อัปปมัญญา หมายความว่า แผ่ไปไม่มีประมาณ แผ่ไปในสัตว์ทั้งหลายจนประมาณไม่ได้ โดยไม่เลือกที่รักที่ชังเลย บ้างก็เรียกว่า พรหมวิหาร หมายความว่า ธรรมอันเป็นเครื่องสำราญอยู่ของพรหม
อัปปมัญญามี ๔ คือ

๑. เมตตา การแผ่ความรักใคร่ ความปรารถนาดีต่อสัตว์ทั้งหลายให้มีความสบายความสุขโดยทั่วกัน ไม่เลือกชาติ ชั้น วัณณะ

๒. กรุณา การแผ่ความสงสารต่อสัตว์ทั้งหลายที่กำลังได้รับความทุกข์อยู่หรือที่จะได้รับความทุกข์ต่อไปในภายหน้า โดยไม่เลือก ชาติ ชั้น วัณณะ

๓. มุทิตา การแผ่ความชื่นชมยินดีต่อสัตว์ทั้งหลายที่กำลังได้รับความสุขอยู่ หรือที่จะได้รับความสุขต่อไปในภายหน้า โดยไม่เลือก ชาติ ชั้น วัณณะ

๔. อุเบกขา การวางเฉยต่อสัตว์ทั้งหลาย ด้วยอาการวางตนเป็นกลาง ไม่รักใคร่ ไม่สงสาร ไม่ชื่นชมยินดี ไม่มีอคติแต่ประการใดๆ โดยไม่เลือกชาติ ชั้น วัณณะ

อัปปมัญญา ๓ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา นั้น สามารถเจริญให้ถึงได้ ตั้งแต่ ปฐมฌานขึ้นไปตามลำดับจนถึงจตุตถฌาน ส่วนอุเบกขานั้น เจริญได้โดยเฉพาะเพื่อให้เกิดปัญจมฌาน อย่างเดียวเท่านั้น

หมวดที่ ๕ อาหาเรปฏิกูลสัญญา ๑

การพิจารณาอาหารที่บริโภคเข้าไปนั้น ว่าเป็นของที่น่าเกลียด จนมีความรู้สึกเป็นไปตามที่พิจารณาเห็นนั้น

การพิจารณาความปฏิกูลของอาหารนี้ ไม่สามารถที่จะให้เกิดฌานจิตได้ แต่ว่าทำให้จิตแน่แน่วเป็นสมาธิได้ไม่ใช่น้อยเหมือนกัน


หมวดที่ ๖ จตุธาตุววัตถาน ๑

การพิจารณาธาตุทั้ง ๔ มี ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ ที่ปรากฏอยู่ในร่างกาย เพื่อให้เห็นว่าร่างกายนี้ก็คือ ธาตุต่าง ๆ ที่มาประชุมคุมกันอยู่เท่านั้น ไม่ใช่ตัวตนเราเขาแต่อย่างใด

การกำหนดพิจารณาธาตุทั้ง ๔ นี้ ก็ไม่สามารถที่จะถึงฌานจิตได้ เพียงแต่เป็นสมาธิที่เฉียดฌานเข้าไปแล้วเหมือนกัน


หน้า ๑๕

 

หมวดที่ ๗ อรูปกัมมัฏฐาน ๔

อรูปกัมมัฏฐาน หมายความว่า กัมมัฏฐานที่ไม่ใช่รูป ที่ไม่มีรูป ซึ่งเป็นกัมมัฏฐาน ที่เป็นวิสัยของผู้ที่ได้ถึงรูปาวจรปัญจมฌานแล้ว จึงจะพึงกระทำให้เป็นอารมณ์ เพื่อเจริญให้ถึงอรูปฌานต่อไป อรูปกัมมัฏฐาน ๔ นั้น ได้แก่

๑. อรูปกัมมัฏฐานเบื้องต้น ชื่อ กสิณุคฆาฏิมากาสบัญญัติ คือ เพ่งอากาศความว่างเปล่าเวิ้งว้างไม่มีที่สิ้นสุดนั้นเป็นอารมณ์ โดยบริกรรมว่า อากาโส อนนฺโต ความว่างไม่มีที่สุด ซึ่งสามารถให้เกิด อากาสานัญจายตนฌานจิตได้

๒. อรูปกัมมัฏฐานที่ ๒ ชื่อ อากาสานัญจายตนฌาน คือเพ่งวิญญาณความรู้ที่รู้ว่าอากาศไม่มีที่สิ้นสุดนั้นเป็นอารมณ์ โดยบริกรรมว่า วิญฺญานํ อนนฺตํ วิญญาณไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งสามารถให้เกิด วิญญาณัญจายตนฌานจิตได้

๓. อรูปกัมมัฏฐานที่ ๓ ชื่อ นัตถิภาวบัญญัติ คือเพ่งความไม่มีอะไรเป็นอารมณ์ โดยบริกรรมว่า นตฺถิ กิญฺจิ นิดหนึ่งก็ไม่มี หน่อยหนึ่งก็ไม่มี ซึ่งสามารถให้เกิด อากิญจัญญายตนฌานจิตได้

๔. อรูปกัมมัฏฐานที่ ๔ ชื่อ อากิญจัญญายตนฌาน คือเพ่งความรู้ที่รู้ว่านิดหนึ่งก็ไม่มี หน่อยหนึ่งก็ไม่มีนั้นเป็นอารมณ์ ความรู้ถึงขั้นนี้เป็นความรู้ที่ละเอียดอ่อนมากเหลือเกิน จึงบริกรรมว่า เอตํ สนฺตํ เอตํ ปณีตํ สงบหนอ ประณีตหนอ ซึ่งสามารถให้เกิด เนวสัญญานาสัญญายตนฌานจิตได้


จริต หรือ จริยะ

จริต เรียกว่า จริยะ ก็ได้นั้น คือความประพฤติจนชินเป็นนิสัย ซึ่งมีต่าง ๆ กัน ๖ อย่าง ดังคาถาที่ ๕ แสดงว่า


๕. ราโค โทโส จ โมโห จ สทฺธา วิตกฺก พุทฺธิโย
อิเมสํ ฉนฺนํ ธมฺมานํ วสา จริต สงฺคโห ฯ


สงเคราะห์จริต ตามอำนาจแห่งธรรมนั้น มี ๖ คือ ราคจริต โทสจริต โมหจริต วิตกจริต สัทธาจริต
และพุทธิจริต

มีอธิบายว่า ที่มนุษย์มีจริตต่าง ๆ กัน ก็เนื่องมาจากการบำเพ็ญบุญกุสลแต่ชาติปางก่อนนั้น ได้กระทำไปไม่เหมือนกัน จึงได้รับผลไม่เหมือนกัน กล่าวคือ


หน้า ๑๖

๑. ในขณะที่กำลังบริจาคทาน รักษาสีล หรือเจริญภาวนาอยู่นั้น จิตใจปรารภไปในการมีหน้ามีตา ได้ชื่อเสียง ได้เสวยมนุษย์สมบัติ ทิพยสมบัติเหล่านี้เป็นต้น อันเป็นตัวตัณหาราคะ ครุ่นคิดไปในการถือเนื้อถือตัวว่าเป็นนั่นเป็นนี่ อันเป็นตัวมานะหรือน้อมใจไปในการถือว่าเป็นตัวตน เราเขา อันเป็นตัวทิฏฐิ กุสลที่เจือปนด้วย ตัณหา มานะ ทิฏฐิ เช่นนี้ ย่อมเป็นเหตุให้ผู้ที่เกิดมานั้นมีราคจริต

อีกนัยหนึ่งแสดงว่า ผู้ที่จุติมาจากสวรรค์ หรือ จุติมาจากเปรต จากอสุรกายนั้น โดยมากเป็นผู้ที่มีราคจริต ผู้ที่มีราคจริตนั้น ธาตุทั้ง ๔ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ และวาโยธาตุ นั้นมีกำลังเสมอทัดเทียมกัน


๒. ถ้าในขณะที่บำเพ็ญบุญกุสลนั้นเกิดมีความขุ่นเคือง เสียใจ เสียดาย อิสสา ริษยา รำคาญ เกิดขึ้นในจิตใจด้วยกุสลที่เจือปนกับ โทสะ อิสสา มัจฉริยะ กุกกุจจะ เช่นนี้ ย่อมเป็นเหตุให้ผู้ที่เกิดมานั้น มีโทสจริต

อีกนัยหนึ่งแสดงว่า ผู้ที่มีพฤติกรรมมากไปด้วยการฆ่า การทำลาย การจองจำมาในชาติก่อน หรือว่า จุติมาจากนรกนั้น โดยมากเป็นผู้ที่มีโทสจริต

ผู้ที่มีโทสจริตนั้น เตโชธาตุและวาโยธาตุ มีกำลังมาก


๓. ถ้าในขณะที่บำเพ็ญบุญกุสลนั้น ทำไปโดยไม่ได้คำนึงถึงเหตุผลในการกระทำ เพียงแต่ทำไปตามธรรมเนียมที่เคยทำกันมา ทำไปตามสมัยนิยม หรือเกิดสงสัยในผลของกุสลนั้นขึ้นมา บางทีก็คิดฟุ้งไปในเรื่องอื่น จิตใจไม่ได้ตั้งมั่นอยู่ในการกุสลที่กำลังทำนั้นเลย กุสลที่เจือปนด้วยโมหะ วิจิกิจฉา อุทธัจจะ เช่นนี้ ย่อมเป็นเหตุให้ผู้ที่เกิดมานั้นมี โมหจริต

อีกนัยหนึ่งแสดงว่า ผู้ที่ชาติก่อนเพลิดเพลินในการดื่มน้ำเมาเป็นนิจ ไม่ชอบศึกษา ไม่ไต่ถามสนทนากับบัณฑิต หรือจุติมาจากสัตว์ดิรัจฉานนั้น โดยมากมักเป็นผู้ที่มี โมหจริต

ผู้ที่มีโมหจริตนั้น ปฐวีธาตุและอาโปธาตุ มีกำลังมาก


๔. ถ้าในขณะที่บำเพ็ญบุญกุสลนั้น มัวแต่ไปนึกถึงความสนุกสนานเพลิด เพลินในเรื่องกามคุณอารมณ์อันเป็นกามวิตก, คิดไปในการเกลียดชัง ปองร้ายผู้อื่น อันเป็น พยาบาทวิตก หรือ คิดไปในทางเบียดเบียนทำลายความสุขผู้อื่นให้ได้รับความเดือดเนื้อร้อนใจ อันเป็น วิหิงสาวิตก กุสลที่เจือปนด้วยอาการอย่างนี้ ย่อมเป็นเหตุให้ผู้ที่เกิดมานั้นมี วิตกจริต


หน้า ๑๗

๕. ในขณะที่บำเพ็ญบุญกุสลนั้น ยิ่งด้วยความเลื่อมใสในพระรัตนตรัย ตลอดจนความเลื่อมใสที่เกิดจาก เพราะเห็นรูปสมบัติสวยงาม (รูปปมาณ), เพราะเห็นความประพฤติเรียบร้อย เคร่งในธรรมวินัย (ลูขปฺปมาณ), เพราะได้ยินกิตติศัพท์ว่าดีอย่างนั้นอย่างนี้ (โฆสปฺปมาณ), เพราะได้สดับตรับฟังธรรมที่ฉลาดในการแสดง (ธมฺมปฺปมาณ) เหล่านี้เป็นต้น ซึ่งล้วนแต่เป็นสัทธาทั้งนั้น กุสลที่มั่นในสัทธาเช่นนี้ ย่อมเป็นเหตุให้ผู้ที่เกิดมานั้นมีสัทธาจริต


๖. ถ้าในขณะที่บำเพ็ญบุญกุสลอยู่นั้น ได้ระลึกนึกคิดด้วยว่า การทำดีย่อมได้รับผลดี การทำชั่วย่อมได้รับผลชั่ว สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตัว จะต้องได้รับผลไปตามกรรมนั้น ๆ อันเป็น กัมมัสสกตาปัญญา, สัตว์ทั้งหลายตลอดจนตัวเราเอง สักแต่ว่าเป็นรูปเป็นนาม มีความไม่เที่ยง ทนอยู่ไม่ได้ต้องแตกดับไป ไม่มีตัวมีตนที่จะบังคับบัญชาว่ากล่าวให้เป็นไปตามใจนั้นได้ อันเป็นวิปัสสนาปัญญา หรือแม้แต่เพียงตั้งใจปรารถนาว่า ด้วยอำนาจแห่งกุสลผลบุญนี้ ขอจงได้เป็นปัจจัยให้ได้เกิดเป็นคนมีปัญญาต่อไป เหล่านี้เป็นต้น ย่อมเป็นเหตุให้ผู้ที่เกิดมานั้นมี พุทธิจริต

พุทธิจริตนี้บ้างก็เรียกว่า ปัญญาจริต


๗. ด้วยเหตุดังกล่าวนี้ จริตของมนุษย์แต่ละคนจึงไม่เหมือนกัน และแต่ละบุคคลก็อาจมีจริตได้หลายอย่างคลุกเคล้าปะปนกันมา แต่ว่าจริตใดจะมีมากออกหน้า เป็นประธาน เป็นประจำ เป็นตัวนำ เป็นเด่นกว่าจริตอื่น ก็เรียกว่าเป็นผู้มีจริตนั้น


๘. ในจริตทั้ง ๖ อย่างท่านสงเคราะห์ด้วยความเสมอภาคกันได้เป็น ๓ คู่ คือ

ราคจริต กับ สัทธาจริต

โทสจริต กับ ปัญญาจริต

โมหจริต กับ วิตกจริต


๙. ราคจริต กับสัทธาจริต ที่จัดว่ามีความเสมอภาคกันนั้น คือ ราคะ เป็นหัวหน้าในฝ่ายอกุสล สัทธา ก็เป็นหัวหน้าเหมือนกัน แต่เป็นหัวหน้าทางฝ่ายกุสล

ราคะ ย่อมแสวงหากามในกามคุณ สัทธา ก็แสวงหาเหมือนกัน แต่แสวงหาบุญ คือ กุสลธรรม มีสีล เป็นต้น

ราคะ นั้นติดใจในสิ่งที่ไร้สาระไร้ประโยชน์ฉันใด สัทธาก็เลื่อมใสในสิ่งที่เป็นสาระเป็นประโยชน์ฉันนั้น


หน้า ๑๘

๑๐. โทสจริตกับพุทธิจริต (หรือปัญญาจริต) ที่จัดว่ามีความเสมอภาคกันนั้น คือ

โทสะ มีการเบื่อหน่าย แต่เป็นการเบื่อหน่ายในสิ่งที่ไม่ชอบ ถ้าสิ่งใดยังชอบอยู่ก็ไม่เบื่อหน่ายในสิ่งนั้น ส่วน ปัญญาก็มีการเบื่อหน่ายเหมือนกัน คือเบื่อหน่ายในสังขารธรรมทั้งปวง ไม่ใช่ว่าเลือกเบื่อหน่ายบ้างไม่เบื่อหน่ายบ้าง เหมือนอย่างโทสะ

หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า โทสจริตนั้นเบื่อหน่ายด้วยอำนาจแห่งโมหะ ซึ่งเป็นทางให้ถึงอบาย ส่วนพุทธิจริตนั้นก็เบื่อหน่ายเหมือนกัน แต่ว่าเบื่อหน่ายด้วยอำนาจแห่งปัญญา ซึ่งเป็นทางให้ถึงสวรรค์ ตลอดจนถึงพระนิพพานก็ได้ นี่เป็นประการหนึ่ง

อีกประการหนึ่ง โทสะเป็นธรรมที่เกิดเร็ว ดุจไฟไหม้ฟางลุกโพลงขึ้นในทันใด ฝ่ายปัญญาก็เป็นธรรมที่เกิดเร็วเหมือนโทสะ คือเกิดสว่างจ้ารู้แจ้งขึ้นมาในทันใดนั้นเหมือนกัน


๑๑. โมหจริต กับ วิตกจริต ที่จัดว่ามีความเสมอภาคกันนั้น คือ โมหะมีอาการสงสัยลังเลใจอยู่ ส่วนวิตกก็คิดแล้วคิดอีก อันเป็นอาการที่คล้ายกับลังเลไม่แน่ใจเช่นเดียวกัน

อีกประการหนึ่ง โมหะ มีอาการฟุ้งซ่านไปในอารมณ์ต่าง ๆ ส่วน วิตกก็คิดอย่างนี้ คิดอย่างนั้น แล้วก็คิดอย่างโน้น อันเป็นอาการคิดพล่านไปเช่นเดียวกัน ดังนี้จึงว่า มีความเสมอภาคกัน


๑๒. ผู้ใดมีจริตอย่างใด มีลักษณะที่พอจะอาศัยใช้เป็นเครื่องสังเกตอยู่ ๕ ประการ คือ

อิริยาบถ ได้แก่ การเดิน ยืน นั่ง นอน และอาการที่เคลื่อนไหวทำกิจการงานต่าง ๆ

กิจจะ ได้แก่ การงานที่ทำ

โภชนะ ได้แก่ อาหารที่บริโภค

ทัสสนะ ได้แก่ การดู การฟัง การดม การกิน การลูบไล้แต่งเนื้อแต่งตัว

ธัมมปวัตติ ได้แก่ ความเป็นไปต่าง ๆ เป็นต้นว่า ความประพฤติดีหรือเลว

ได้เขียนเป็นแบบบัญชีดังต่อไปนี้ เป็นการเปรียบเทียบกันไปในตัว เพื่อให้เห็นความแตกต่างกันได้ชัดกว่าเขียนอย่างธรรมดา และได้แสดงกัมมัฏฐานที่เหมาะแก่จริตนั้น ๆ ไว้ในช่องสุดท้ายด้วย


หน้า ๑๙

จริต

จริต

อิริยาบถ

กิจจะ

โภชนะ

ทัสสนะ

ธัมมปวัตติ

กัมมัฏฐานที่เหมาะ

ราคจริต

เรียบร้อย นุ่มนวล ไม่รีบร้อน

งานสะอาด
สวยงาม
เป็นระเบียบ

ชอบรสหวาน
มัน อร่อย สีสรรน่ากิน

ชอบของสวยงาม ไพเราะ ตลก ขบขัน

เจ้าเล่ห์ โอ้อวด
ถือตัว แง่งอน
พิถีพิถัน ชอบยอ

อสุภะ ๑๐
กายคตาสติ ๑

โทสจริต

ไปพรวด ๆ รีบร้อนกระด้าง

งานสะอาด
แต่ไม่เรียบร้อย ไม่สำรวยมุ่งแต่ใน
สิ่งที่ปรารถนา

ชอบเปรี้ยว เค็ม
ขม ฝาดจัด
รับประทานเร็ว คำโต

ชอบดูชกต่อย

มักโกรธ ผูกโกรธ ลบหลู่บุญคุณ
ตีเสมอ มักริษยา

วัณณกสิณ ๔
พรหมวิหาร ๔

โมหจริต

เซื่อง ๆ
ซึม ๆ
เหม่อๆ
ลอย ๆ

งานหยาบ
ไม่ถี่ถ้วน
คั่งค้าง
เอาดีไม่ได้

ไม่เลือกอาหาร
อย่างไหนก็เอา
หมด มูมมามด้วย

เห็นดีก็ว่าดีด้วย
เห็นไม่ดี ก็ไม่ดี ตามไปด้วย

มีแต่ง่วงเหงา
หาวนอน ไม่เป็นเรื่องเป็นราว ช่างสงสัย เข้าใจอะไรยาก

อานาปาณสติ

วิตกจริต

เชื่องช้า คล้ายโมหจริต

งานไม่เป็นส่ำ
จับจด
แต่พูดเก่ง

ไม่แน่นอน อย่างไหนก็ได้

เห็นตามหมู่มาก

ฟุ้งซ่าน โลเล
เดี๋ยวรัก
เดี๋ยวเกลียด
ชอบคลุกคลีกับ
หมู่คณะ

อานาปาณสติ

สัทธาจริต

แช่มช้อย
ละมุน
ละม่อม

เรียบร้อย
สวยงาม
เป็นระเบียบ

หวาน
มัน
หอม

ชอบสวยงาม
อย่างเรียบๆ
ไม่โลดโผน

เบิกบานใน
การบุญ (ส่วนราคจริต
นั้นเบิก
บานต่อการ
ได้หน้า)

อนุสติ ๖

พุทธิจริต

ว่องไว และเรียบร้อย

งานเรียบร้อย เป็นระเบียบ และ
เป็นประโยชน์ด้วย

เปรี้ยว เค็ม เผ็ด ขม พอกลมกล่อม ไม่จัดนัก

ดูด้วยความพินิจ
พิเคราะห์

ว่าง่าย ไม่ดื้อ มีสติสัมปชัญญะ มีความเพียร
รู้เร็ว เข้าใจง่าย

มรณานุสสติ
อุปสมานุสสติ อาหาเรปฏิกูลสัญญา จตุธาตุววัตถาน

 

ราคจริต น้ำเลี้ยงหัวใจย่อมมีสี แดง

โทสจริต น้ำเลี้ยงหัวใจย่อมมีสี ดำ

โมหจริต น้ำเลี้ยงหัวใจย่อมมีสี หม่นเหมือนน้ำล้างเนื้อ

วิตกจริต น้ำเลี้ยงหัวใจย่อมมีสี เหมือนน้ำเยื่อถั่วพู

สัทธาจริต น้ำเลี้ยงหัวใจย่อมมีสี เหลืองอ่อน คล้ายสีดอกกัณณิกา

พุทธิจริต น้ำเลี้ยงหัวใจย่อมมีสี ขาว เหมือนสีแก้วเจียรนัย


หน้า ๒0

อนึ่ง ในวิสุทธิมัคค ได้แสดงลักษณะแห่งจริตต่าง ๆ ดังนี้


ลักษณะของผู้ที่หนักในราคจริต

๑. มายา มายา เจ้าเล่ห์

๒. สาเถยฺยํ โอ้อวด

๓. มาโน ถือตัว

๔. ปาปิจฺฉตา ปรารถนาลามก

๕. มหิจฺฉตา ปรารถนามาก มีความอยากใหญ่

๖. อสนฺตุฏฺฐิตา ไม่สันโดษ

๗. สิงฺคํ แง่งอน

๘. จาปลฺยํ ขี้โอ่

ลักษณะของผู้ที่หนักในโทสจริต

๑. โกโธ มักโกรธ

๒. อุปนาโห ผูกโกรธ

๓. มกฺโข ลบหลู่คุณท่าน

๔. ปลาโส ตีตนเสมอท่าน

๕. อิสฺสา ริษยา

๖. มจฺฉริยํ ตระหนี่

ลักษณะของผู้ที่หนักในโมหจริต

๑. ถีนํ หดหู่

๒. มิทฺธํ เคลิบเคลิ้ม

๓. อุทฺธจฺจํ ฟุ้งซ่าน

๔. กุกฺกุจจํ รำคาญ

๕. วิจิกิจฺฉา เคลือบแคลง

๖. อาทานคฺคาหิตา ถือมั่นในสิ่งที่ยึดถือ ถืองมงาย

๗. ทุปฺปฏินิสฺสคฺคิตา สละ (สิ่งที่ยึดถือ เช่น อุปาทาน) ได้ยาก


หน้า ๒๑

ลักษณะของผู้ที่หนักในสัทธาจริต

๑. มตฺตจาคตา บริจาคทรัพย์เป็นนิจ

๒. อริยานํ ทสฺสนกามตา ใคร่เห็นพระอริยะ

๓. สทฺธมฺมํ โสตุกามตา ใคร่ฟังพระสัทธรรม

๔. ปาโมชฺชพหุลตา มากด้วยความปราโมทย์

๕. อสฐตา ไม่โอ้อวด

๖. อมายาวิตา ไม่มีมารยา

๗. ปสาทนีเยสุ ฐาเนสุ ปสาโท เลื่อมใสในสิ่งที่ควรเลื่อมใส

ลักษณะของผู้ที่หนักในพุทธิจริต

๑. โสวจสฺสตา ว่าง่าย

๒. กลฺยาณมิตฺตตา มีมิตรดีงาม

๓. โภชเน มตฺตญฺญุตา รู้ประมาณในโภชนะ

๔. สติสมฺปชญฺญํ ระลึกและรู้สึกตัว

๕. ชาคริยานุโยโค ประกอบความเพียร

๖. สํเวชนีเยสุ ฐาเนสุ สํเวโค สลดใจในสิ่งที่ควรสลด

๗. สํวิคฺคสฺส โยนิโส ปธานํ เริ่มตั้งความที่ใจสลดไว้โดยแยบคาย

ลักษณะของผู้ที่หนักในวิตกจริต

๑. ภสฺสพหุลตา พูดมาก

๒. คณารามตา ยินดีคลุกคลีในหมู่คณะ

๓. กุสลานุโยเค อรติ ไม่ยินดีในการประกอบกุสล

๔. อนวฏฺฐิกิจฺจตา มีกิจไม่มั่นคง จับจด

๕. รตฺติธูมายนา กลางคืนเป็นควัน

๖. ทิวาปชฺชลมา กลางวันเป็นเปลว

๗. หุราหุรํ ธาวนา คิดพล่านไปต่าง ๆ นานา


หน้า ๒๒

อัชฌาสัย

นอกจากจริต ๖ ที่กล่าวแล้ว ยังมีคำว่า อัชฌาสัย อีกคำหนึ่ง ซึ่งมีความคล้ายคลึงกัน คือ จริต หรือ จริยะ เป็นความประพฤติที่เคยชินจนเป็นนิสัย ซึ่งมีทั้งดีและชั่ว, ส่วน อัชฌาสัย เป็นความประสงค์ เป็นความนิยมเป็นความมุ่งหมาย ที่จะให้เป็นไปเช่นนั้น อันหมายความว่าเป็นนิสัย หรือความมุ่งหมายในทางที่ดีงาม ซึ่งเกิดมาจากจิตใจโดยตรง ไม่เกี่ยวไปในทางไม่ดีไม่งามหรือในทางชั่วเลย อัชฌาสัย ก็มี ๖ เหมือนกัน ได้แก่

๑. อโลภชฺฌาสโย มีความไม่โลภเป็นนิสัย มีความพอใจในการจำแนกแจกจ่ายทาน

๒. อโทสชฺฌาสโย มีความไม่โกรธ ไม่ประทุษร้ายเป็นนิสัย มีความพอใจแผ่เมตตาแก่สัตว์ทั้งปวง

๓. อโมหชฺฌาสโย มีความไม่หลง ไม่มัวเมาเป็นนิสัย มีความพอใจพินิจถึงคุณ โทษ กุสล อกุสล และพอใจเจริญอัปปมาทธรรม

๔. เนกฺขมฺมชฺฌาสโย มีนิสัยไม่ติดในกาม ไม่ติดในความพยาบาท ไม่ติดในความเบียดเบียน มีความพอใจออกบวช

๕. ปวิเวกชฺฌาสโย มีนิสัยชอบสงบ มีความพอใจออกจากหมู่คณะ แล้วและอยู่ในที่สงัด

๖. นิสฺสรณชฺฌาสโย มีความยินดียิ่งในพระนิพพาน อันเป็นธรรมที่หลุดพ้นจากทุกข์เลยมีความพอใจที่จะให้พ้นจากภพทั้ง ๓


กัมมัฏฐานที่เหมาะแก่จริต

ผู้เจริญภาวนา จะต้องเลือกกัมมัฏฐานให้ถูกแก่จริตของตน จึงจะเป็นที่สบาย รู้ง่าย ได้ผลเร็ว ใน
คัมภีร์วิสุทธิมัคค แสดงไว้ว่า

เริ่มต้นก็กล่าวถึง เสนาสนะที่อยู่อาศัยในการเจริญกัมมัฏฐานของผู้ที่มีราคจริตว่า เตียงตั่งที่นั่งที่นอน ต้องไม่สวย ไม่น่าดู ไม่เป็นที่สบาย ให้รกรุงรังสักหน่อยก็ได้ เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ควรใช้ของเก่า ๆ สีซีด ๆ มีขาดมีปะบ้างก็ยิ่งดี อาหารการกินก็จัดให้อย่างชนิดที่สีสรรไม่ชวนดู กลิ่นและรสก็เป็นอย่างที่ไม่นิยมยินดี สักแต่ว่าให้กินพอให้หนักท้องไปเท่านั้นเอง กัมมัฏฐานก็ต้องเป็นชนิดที่ไม่ให้เกิดความเพลิด เพลินยินดี ทั้งนี้เพราะเหตุว่าผู้ที่มีราคจริตย่อมชอบสิ่งที่สวยงามเป็นที่เจริญตาเจริญใจ เมื่อได้พบเห็นสิ่งที่สวยสิ่งที่งาม อันเป็นที่ตั้งแห่งความยินดีเพลิดเพลินแล้ว ราคะย่อมไหลไปตามอารมณ์นั้น ๆ ได้โดยง่าย จึงต้องให้ได้เห็นสิ่งที่ไม่ดีไม่งาม กามฉันทะจะได้ไม่เกิดมาทำให้เป็นเครื่องขัดขวางแก่การเจริญภาวนา


หน้า ๒๓

เสนาสนะของผู้เจริญกัมมัฏฐานที่มีโทสจริต ต้องเรียบร้อย สะอาด สวยงาม ประดับด้วยดอกไม้ของหอมด้วยก็ยิ่งดี ทุกสิ่งทุกอย่างต้องล้วนแล้วแต่สิ่งที่น่าดู น่าฟัง น่าสูดดม น่ารับประทาน น่าสัมผัสถูกต้อง จะได้ข่มไม่ให้โทสะเกิดขึ้นมาทำลายสมาธิเสีย


เสนาสนะของผู้ที่มีโมหจริต ควรให้เป็นสถานที่กว้างขวาง มีอากาศโปร่ง ได้รับแสงสว่างมาก ถ้าสถานที่แคบ อากาศทึบ แสงสว่างน้อย ก็จะทำให้ซึมเซา เหงาง่วง ไม่อยากพินิจพิจารณาอะไร ทำให้ขาดวิจารในการประหาณวิจิกิจฉา


เสนาสนะของผู้ที่มีวิตกจริต ไม่ต้องกว้างขวางใหญ่โต แม้จะกระเดียดไปข้างเล็กสักหน่อย ก็ไม่เป็นไร และให้เรียบๆ ไม่ต้องตกแต่งให้มีสิ่งที่ชวนชมชวนพิศ มิฉะนั้นวิตกจะพล่านหนักขึ้น เมื่อไม่พล่านไปอื่น ก็จะวิตกอยู่แต่ในอารมณ์กัมมัฏฐาน


เสนาสนะของผู้ที่มีสัทธาจริต ก็เพียงขนาดกลาง ไม่ต้องกว้างใหญ่นัก แต่ก็อย่าให้เล็กจนเกินไป ทุกอย่างให้เป็นแต่เพียงกลาง ๆ แม้จะไม่น่าดู แต่ก็อย่าให้ถึงกับน่าเกลียด แม้จะไม่น่าฟัง แต่ก็อย่าให้ถึงกับหยาบคายร้ายกาจจนฟังไม่ได้ แม้แต่จะไม่หอม แต่ก็อย่าให้ถึงกับเหม็น เหล่านี้เป็นต้น ก็จะไม่ทำให้ถึงกับฟุ้งซ่านหรือก่อให้เกิดความรำคาญ คงมีสุขสบายพอควรแก่การเจริญภาวนาไปได้


โดยเฉพาะผู้ที่มีพุทธิจริตหรือปัญญาจริตนั้น มิได้เป็นที่ติดใจหรือห่วงใยในเสนาสนะใด ๆ ทั้งสิ้น นอกจากป่าและโคนไม้ อันเป็นธรรมดาตามธรรมชาติ


ส่วนกัมมัฏฐานที่เหมาะแก่จริตนั้น เป็นดังนี้

๑. อสุภะ ๑๐ และโกฏฐาส คืออาการ ๓๒ ที่เรียกว่า กายคตาสติ ๑ รวมกัมมัฏฐาน ๑๑ นี้เหมาะสมแก่บุคคลผู้ที่มี ราคจริต

๒. วัณณกสิณ ๔ และ อัปปมัญญา ๔ รวมกัมมัฏฐาน ๘ นี้ เหมาะสมแก่ผู้มี โทสจริต

๓. อานาปาณสติ ๑ ย่อมเหมาะสมแก่ผู้ที่มี โมหจริต และ วิตกจริต

๔. อนุสติ ๖ มี พุทธานุสติ เป็นต้นจนถึง เทวตานุสติ เหมาะสมแก่ผู้ที่มี สัทธาจริต


หน้า ๒๔

๕. มรณานุสสติ ๑ อุปสมานุสสติ ๑ อาหาเรปฏิกูลสัญญา ๑ และ จตุธาตุววัตถาน ๑ รวมกัมมัฏฐาน ๔ นี้ เหมาะสมแก่ผู้ที่มี พุทธิจริต

๖. ส่วนกัมมัฏฐานที่เหลือทั้งหมด ได้แก่ ภูตกสิณ ๔ อากาสกสิณ ๑ อโลก กสิณ ๑ และอรูปกัมมัฏฐาน ๔ รวมกัมมัฏฐาน ๑๐ อย่างนี้ ย่อมเหมาะสมแก่บุคคลทั่วไป และแก่ทุกจริต

ในบรรดาสมถกัมมัฏฐานทั้ง ๔๐ นั้น เฉพาะกสิณ ๑๐ องค์กสิณ คือ ดวงกสิณสำหรับผู้ที่มีโมหจริต ต้องมีขนาดกว้างประมาณเท่าลานข้าว แต่สำหรับผู้ที่มีวิตกจริตมีขนาดเล็กเพียงเท่ากระด้งก็พอ


อนึ่ง ใน อภิธัมมาวตารอรรถกถา แสดงว่า


อสุภานิ ทสาหาร สญฺญา กายคตาสติ
เทเวสุ นปวตฺตนฺติ ทฺวาทเสตานิ สพฺพทาฯ


กัมมัฏฐาน ๑๒ คือ อสุภะ ๑๐ อาหาเรปฏิกูลสัญญา ๑ กายคตาสติ ๑ ย่อมเจริญไม่ได้โดยประการใด ๆ ในเทวภูมิ ๖ ชั้น

หมายความว่า เทวดาทั้ง ๖ ชั้น เจริญกัมมัฏฐานได้เพียง ๒๘ เว้นอสุภะ ๑๐ กายคตาสติ ๑ และ
อาหาเรปฏิกูลสัญญา ๑ ทั้งนี้เพราะเทวดาเป็นส่วนมาก เมื่อจุติแล้วไม่มีซากศพเหลืออยู่ ร่างกายสูญหายไปเหมือนหนึ่งดับไฟ

เทวดาที่ยังไม่จุติ ส่วนของร่างกาย เช่น ผม ขน เล็บ เป็นต้น ก็สวยสดงดงาม ไม่เป็นปฏิกูล

อาหารก็เป็นทิพย์ เป็นสุทธาโภชน์ บริโภคแล้วก็ไม่มีกาก

กัมมัฏฐาน ๒๘ ที่เทวดาพึงเจริญภาวนาได้นั้น คือ กสิณ ๑๐, อนุสสติ ๙ (เว้นกายคตาสติ),
จตุธาตุววัตถานะ ๑, อัปปมัญญา ๔, และอรูปกัมมัฏฐาน ๔


ตานิ ทฺวาทสเจตานิ อานาปาณสฺสติ ปิจ
เตรส จ ปเนตานิ พฺรหฺมโลเก นวิชฺชาเร ฯ


กัมมัฏฐาน ๑๓ คือ กัมมัฏฐาน ๑๒ ที่เจริญไม่ได้ในเทวภูมิ และอานาปาณสติ ๑ ย่อมไม่มีในรูปภูมิมีความหมายว่า ในรูปพรหม ๑๕ ชั้น (เว้นอสัญญสัตตา) เจริญกัมมัฏฐานได้เพียง ๒๗ เพราะอสุภะ ๑๐ กายคตาสติ ๑ อาหาเรปฏิกูลสัญญา ๑ และ อานาปาณสติ ๑ รวม ๑๓ อย่างนี้ ไม่มีในรูปพรหม ๑๕ ชั้นนั้น ด้วยเหตุว่าส่วนของร่างกายแห่งพรหมทั้งหลายนั้น ไม่เป็นปฏิกูล และเมื่อจุติแล้วก็ไม่มีซากศพเหลืออยู่เช่นเดียวกับเทวดา นอกจากนั้น พรหมก็มีชีวิตอยู่ได้โดยไม่ต้องบริโภคข้าวปลาอาหาร และไม่มีลมหายใจด้วย


ฐเปตฺวา จตุรารุปฺเป นตฺถิ กิญฺจิ อรูปิสุ
มนุสฺสโลเก สพฺพานิ ปวตฺตนฺติ น สํสโย ฯ


ในอรูปภูมินั้น นอกจากอรูปกัมมัฏฐาน ๔ แล้ว กัมมัฏฐานอื่น ๆ อย่างหนึ่งอย่างใด ย่อมไม่มีทั้งนั้น ส่วนในมนุษย์ภูมิ ย่อมเจริญกัมมัฏฐาน ๔๐ ได้ โดยไม่ต้องสงสัยเลย


หน้า ๒๕


ภาวนา และ นิมิต


๖. ปริกมฺม ภาวนา จ อุปจารปฺปนา ตถา
ปริกมฺม อุคฺคหญฺจ นิมิตฺตํ ปฏิภาคิยํ ฯ


๗. ภาวนญฺจ นิมิตฺตญฺจ ติธา ติธา วิภาวเย
ตาฬีส กมฺมฏฺฐาเนสุ นโยยํ ปริทีปิโต ฯ


บริกรรมภาวนา อุปจารภาวนา อัปปนาภาวนา บริกรรมนิมิต อุคคหนิมิต ปฏิภาคนิมิต

พระโยคาวจรพึงยังภาวนาและนิมิตให้เกิด โดยประเภทอย่างละ ๓ อย่างละ ๓ นี้ ท่านแสดงไว้ในกัมมัฏฐาน ๔๐ มีความหมายดังจะกล่าวต่อไปนี้


๑. บริกรรมนิมิต คำว่า บริกรรมแปลว่า การบำเพ็ญ ท่องบ่น หรือ กำหนดใจ นิมิต แปลว่า เครื่องหมาย บริกรรมนิมิตจึงรวมแปลว่า เครื่องหมายที่กำหนด เครื่องหมายที่เพ่ง ในที่นี้ก็ได้แก่ กัมมัฏฐาน ๔๐ มี กสิณ เป็นต้นนั่นเอง

หรือจะกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า เพ่งกัมมัฏฐานใด กัมมัฏฐานนั้นแหละเป็นบริกรรมนิมิต เช่น เพ่งปฐวีกสิณ ก็ปฐวีกสิณที่เพ่งนั้นแหละ คือ บริกรรมนิมิต

๒. อุคคหนิมิต แปลว่า นิมิตติดตา หมายความว่า เมื่อเพ่งปฐวีกสิณจนดวงกสิณนั้นติดตา ไม่ว่าจะลืมตาอยู่หรือแม้จะหลับตา ก็เห็นดวงกสิณนั้นแจ่มแจ้งชัดเจนทุกกระเบียดนิ้ว จนกระทั่งว่าถ้ามีอะไรติดอยู่หรือมีรอยขีดอยู่ที่ดวงกสิณนั้นสักนิดเดียว ก็เห็นได้แจ่มชัด เหมือนหนึ่งว่า ลืมตามองเห็นอยู่ฉะนั้น

๓. ปฏิภาคนิมิต มีความหมายว่า นิมิตคือ ดวงปฐวีกสิณนั้นติดตาอยู่เหมือน กัน แต่ว่าสีแห่งกสิณตลอดจนริ้วรอยหรือตำหนิอย่างใด ๆ ที่ดวงกสิณนั้นจะไม่ปรากฏเลย คงปรากฏว่าดวงกสิณนั้นใส สะอาด บริสุทธิ์ ดุจดวงแก้วมณี ตลอดจนจะขยายปฏิภาคนิมิตนั้นให้ใหญ่ขึ้นหรือย่อให้เล็กลง ก็ได้ตามความปรารถนา


หน้า ๒๖

๔. นิมิตทั้ง ๓ ที่กล่าวมาข้างต้น กล่าวโดยอาศัยกัมมัฏฐานที่มีรูปพรรณสัณฐาน สีสรร วัณณะนั้นเป็นหลัก เช่น กสิณ และอสุภะ เป็นต้น อันจะต้องเริ่มต้นเพ่งด้วยนัยน์ตา ที่เรียกว่า บริกรรมนิมิต จึงจะเห็นติดตาที่เรียกว่า อุคคหนิมิต ส่วนกัมมัฏฐานที่ไม่มีรูปร่าง เช่น อนุสสติ เป็นต้น ไม่ได้เริ่มต้นเพ่งด้วยนัยน์ตา แต่เพ่งด้วยใจ คือ กำหนดใจให้ระลึกนึกถึงคุณของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นต้น คุณของพระพุทธเป็นต้นที่เพ่งด้วยใจนี้ ก็เรียกว่า บริกรรมนิมิต ครั้นจิตใจซาบซึ้งถึงพระคุณนั้นอย่างชัดเจนแน่แน่วจนกระชับจับใจเช่นนี้ ก็เรียกว่าอุคคหนิมิต เหมือนกัน แต่เป็นอุคคหนิมิตติดใจ ไม่ใช่อุคคหนิมิตติดตาเหมือนอย่างก่อน


๕. สมถกัมมัฏฐานทั้ง ๔๐ เป็นบริกรรมนิมิต และอุคคหนิมิตทั้ง ๔๐

ส่วนปฏิภาคนิมิตนั้น มีได้ในกัมมัฏฐาน ๒๒ เท่านั้นคือ กสิณ ๑๐ อสุภะ ๑๐ กายคตาสติ ๑ อานาปาณสติ ๑ แม้แต่ อัปปมัญญา ๔ และอรูปกัมมัฏฐาน ๔ ที่ถึง อัปปนาภาวนา (คือถึงฌาน) ก็ไม่ถึง ปฏิภาคนิมิต เป็นได้เพียง อุคคหนิมิต เท่านั้น


๖. บริกรรมภาวนา คำว่า ภาวนา แปลว่า อบรมให้มีขึ้น อบรมให้เกิดขึ้น และให้เจริญยิ่งขึ้นด้วย ดังนั้น บริกรรมภาวนา จึงรวมแปลว่า อบรมให้มีการกำหนดใจขึ้น อบรมให้เกิดการท่องบ่นในใจขึ้น การบำเพ็ญให้มีขึ้น

กัมมัฏฐานที่กำลังเพ่งอยู่นั้นเรียกว่า บริกรรมนิมิต ภาวนาจิตที่มีบริกรรมนิมิตเป็นอารมณ์นั่นแหละ ได้ชื่อว่า บริกรรมภาวนา และเมื่อกล่าวโดยอำนาจแห่งสมาธิ ก็ได้ชื่อว่า บริกรรมสมาธิ

นิมิตที่ถึงกับติดตาติดใจนั้น เรียกว่า อุคคหนิมิต แต่ภาวนาจิตที่มีอุคคหนิมิตเป็นอารมณ์ ก็ยังคงเรียกว่า บริกรรมภาวนา (บริกรรมสมาธิ) อยู่อย่างเดิม


๗. อุปจารภาวนา คำว่า อุปจาระ แปลว่า ใกล้ บริเวณรอบ ๆ ดังนั้น อุปจารภาวนา จึงรวมแปลว่า อบรมใกล้เข้าไปแล้ว หมายความว่าใกล้จะได้ฌานแล้ว ใกล้จะถึงอัปปนาภาวนาแล้ว

การเพ่งกัมมัฏฐานจนถึงปฏิภาคนิมิตเมื่อใด เมื่อนั้นแหละได้ชื่อว่า อุปจารภาวนา และเมื่อกล่าวโดยอำนาจแห่งสมาธิ ก็มีชื่อว่า อุปจารสมาธิ


หน้า ๒๗

๘. อัปปนาภาวนา คำว่า อัปปนา แปลว่า แนบแน่น หมายความว่า แนบอยู่กับอารมณ์นั้นจนแน่นแฟ้น ไม่โยกคลอน หรือแส่ไปในอารมณ์อื่น อีกนัยหนึ่งแปลว่า ทำลายกิเลสมีนิวรณ์ เป็นต้น ดังนั้น อัปปนาภาวนา จึงรวมมีความหมายว่า อบรมจนแนบแน่นในอารมณ์ที่เพ่ง กิเลสไม่สามารถมารบกวนได้

ต่อจากนี้ อุปจารภาวนา เกิดขึ้นแล้ว ก็เพ่งปฏิภาคนิมิตนั้นโดย อุปจารสมาธิให้เป็นไปอย่างสมบูรณ์ พยายามรักษาจนปฏิภาคนิมิตนั้นแนบแน่น ไม่ให้หายไปได้แล้ว ฌานจิตก็ย่อมจะเกิดขึ้น ตรงนี้แหละที่ได้ชื่อว่า อัปปนาภาวนา เมื่อกล่าวโดยอำนาจแห่งสมาธิ ก็มีชื่อว่า อัปปนาสมาธิ

๙. กัมมัฏฐานทั้ง ๔๐ เป็นอารมณ์ของบริกรรมภาวนา ได้ทั้งหมด

ในกัมมัฏฐาน ๑๐ ได้แก่ อนุสสติ ๘ (เว้นกายคตาสติ ๑ อานาปาณสติ ๑) อาหาเรปฏิกูลสัญญา ๑ และจตุธาตุววัตถานะ ๑ ย่อมได้เพียงอุปจารภาวนาเท่านั้น อัปปนาภาวนา คือ ฌาน ไม่เกิด

ส่วนกัมมัฏฐานที่เหลืออีก ๓๐ อันได้แก่ กสิณ ๑๐ อสุภะ ๑๐ กายคตาสติ ๑ อานาปาณสติ ๑ อัปปมัญญา ๔ และอรูป ๔ ย่อมสำเร็จได้ถึงอัปปนาภาวนา คือ ฌาน


ปลิโพธ

ผู้ปรารถนาที่จะเจริญกัมมัฏฐาน จะเป็น สมถกัมมัฏฐานหรือวิปัสสนากัมมัฏฐาน ก็ตาม เบื้องต้นจะต้องตัด ปลิโพธ คือเครื่องกังวลใจต่าง ๆ อันเป็นสิ่งที่ทำให้ ห่วงใย เป็นกังวล ไม่สงบระงับ ไม่สามารถที่จะตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์กัมมัฏฐานนั้น ๆ ได้ ปลิโพธ มี ๑๐ ประการ คือ

๑. อาวาสปลิโพธ ห่วงที่อยู่ที่อาศัย เช่น เป็นภิกษุก็ห่วงไปว่า ถ้าไปเจริญกัมมัฏฐานเสีย ก็จะมีภิกษุอื่นมาอยู่กุฏิแทน เมื่อกลับไปก็จะไม่มีที่อยู่ มิฉะนั้นก็เกรงไปว่า ฝนจะรั่ว ปลวกจะขึ้น

๒. กุลปลิโพธ ห่วงบริวารว่านเครือ ตลอดจนผู้อุปถัมภ์ ผู้อุปัฏฐาก เกรงว่าจะห่างเหินขาดตอนกันไปเสีย


หน้า ๒๘

๓. ลาภปลิโพธ ห่วงรายได้ เกรงว่าลาภผลที่ตนเคยได้อยู่ จะลดน้อยหรือเลื่อนลอยไปเลย

๔. คณปลิโพธ ห่วงพวกพ้อง ลูกน้อง ลูกศิษย์ และมิตรสหายที่เคยสั่งสอน ช่วยเหลือ พึ่งพาอาศัยกันอยู่

๕. กัมมปลิโพธ ห่วงการงานที่กำลังทำค้างอยู่ หรือที่จะลงมือทำในเร็ววันนี้ เช่น ปลูกบ้าน ปลูกเรือน ขุดบ่อ ก่อศาลา สร้างโบสถ์ วิหาร การเปรียญ เป็นต้น

๖. อัทธานปลิโพธ ห่วงการเดินทางไกล กะไว้ว่าจะไปโน่นไปนี่ ต้องมีเวลาเตรียมตัว เตรียมข้าวของทองเงินต่าง ๆ

๗. ญาติปลิโพธ ห่วงพ่อแม่ ลูกเมีย พี่น้อง ครูบาอาจาารย์ จะขาดผู้ปรนนิบัติ หรือผู้ปกครองดูแลอุ้มชู

๘. อาพาธปลิโพธ ห่วงว่ากำลังไม่สบายอยู่ หรือฤดูนี้เคยไม่สบาย เกรงว่าจะเกิดเจ็บป่วยขึ้น กลัวจะเป็นลมเป็นไข้ต่าง ๆ นานา

๙. คันถปลิโพธ ห่วงการศึกษาเล่าเรียน ถ้าไปเจริญกัมมัฏฐานเสียเกรงว่าจะเรียนไม่ทันเขา สู้เขาไม่ได้ ถ้าเป็นครูอาจารย์ ก็ห่วงการสอนศิษย์

๑๐. อิทธิปลิโพธ ห่วงการแสดงอิทธิฤทธิต่าง ๆ อันการแสดงฤทธิหรืออภินิหารต่าง ๆ นั้นจำเป็นต้องบริหารอยู่เนือง ๆ ต้องหมั่นอบรมสมาธิให้มั่นคงอยู่เสมอ ถ้าละทิ้งไปนานนัก อาจเสื่อมไปจนไม่สามารถแสดงฤทธิ์ได้

เฉพาะอิทธิปลิโพธนี้ เป็นเครื่องกังวลแก่การวิปัสสนาแต่ฝ่ายเดียวเท่านั้น หาได้เป็นเครื่องกีดขวางทางสมถะไม่ เพราะการทำสมาธิยิ่งมากเท่าใดก็ยิ่งเป็นประโยชน์แก่สมถะมากเท่านั้น ส่วนการเจริญวิปัสสนา ถ้าสมาธิแก่กล้าเกินไป ก็ทำให้อินทรียไม่เสมอกัน วิปัสสนาไม่สามารถจะเกิดได้ เมื่อมีความตั้งใจเจริญภาวนา คือ เจริญกัมมัฏฐาน จนถึงกับตัดเครื่องกังวลใจดังที่ได้กล่าวนี้ได้แล้ว ยังจะต้องพิจารณาธรรมอีกหลายประการที่เรียกว่า สปายะ เสียก่อน ดังจะกล่าวต่อไปนี้


สัปปายะ

สัปปายะ แผลงมาเป็น สปายะ คือ สบาย นั่นเอง หมายถึงธรรมอันเป็นที่สบายที่เหมาะสมแก่การเจริญกัมมัฏฐาน อันเป็นส่วนหนึ่งซึ่งอุปการะให้มีความสงบระงับ ทำให้เกิดสมาธิได้ง่าย สปายธรรมมีหลายประการ
จำแนกเป็น ๔ บ้าง เป็น ๕ บ้าง ในที่นี้ขอกล่าวว่ามี ๗ ประการ คือ


หน้า ๒๙

๑. ที่อยู่อันเป็นที่สบาย ไม่ใกล้ทางสัญจรไปมา ไม่ใกล้บ่อน้ำ อันจะเกิดความรำคาญจากผู้คน
ไปมาจอแจพูดจากันจ้อกแจ้กไม่ขาดสาย แต่ควรเป็นสถานที่ที่วิเวก สงัดจากสิ่งที่รบกวนความสงบ และมีรั้วรอบขอบชิด ไม่ต้องห่วงเรื่องคนร้าย

๒. ทางเดินอันเป็นที่สบาย หมายถึงทางที่จะเดินจงกรม ก็สะดวกสบาย ไม่ถูกแดดมากนัก ทางไปบิณฑบาตทั้งเที่ยวไปและเที่ยวกลับ ก็ไม่ต้องเดินทวนตะวันให้แดดส่องหน้าแสงเข้าตา เพราะการถูกแดดมาก ก็จะทำให้เกิดทุกขเวทนา อันเป็นปฏิปักษ์กับสมาธิ

๓. การฟังการพูดอันเป็นที่สบาย หมายความว่า ควรฟังหรือควรพูดในเรื่องที่จะโน้มน้าวจิตใจให้เกิด สัทธา วิริยะ และความสงบระงับ อันจะเป็นคุณแก่การเจริญกัมมัฏฐาน ให้เว้นการฟังการพูดที่ไม่เป็นสปายะนั้นเสีย

๔. บุคคลเป็นผู้ที่สบาย หมายถึงบุคคลที่จะติดต่อคบหา ควรเป็นผู้ที่มั่นในสีลธรรมชักจูงแนะนำไปในทางที่ให้เกิดความมักน้อย ความเพียร ความสงบระงับ ยิ่งเป็นผู้ที่เคยเจริญกัมมัฏฐานมาแล้ว ก็ยิ่งจะเป็นคุณมาก ให้เว้นจากบุคคลที่ฟุ้งซ่านและมากไปในทางกามารมณ์ ในทางโลกียสุข

๕. ฤดูอันเป็นที่สบาย หมายถึง ความร้อนความเย็นของอากาศตามฤดูกาล เช่น บางฤดูก็ร้อนจัดมาก บางฤดูก็หนาวเสียเหลือเกิน หรือ กลางวันร้อนจัด แต่กลางคืนก็เย็นมากจนถึงกับหนาว อย่างนี้คงไม่สบายแน่ อาจเกิดเจ็บป่วยได้ง่าย จำต้องเลือกให้เหมาะสมแก่ความเคยชินของตนที่พอจะทนได้

๖. อาหารอันเป็นที่สบาย หมายถึงว่า ควรบริโภคแต่อาหารที่จะเป็นคุณเป็นประโยชน์แก่ร่างกายเป็นประมาณโดยไม่ต้องคำนึงถึงรสของอาหาร แม้รสจะดีแต่ว่าเสาะท้องหรือทำให้ท้องขึ้นท้องเฟ้อ ก็ควรงดเสีย เฉพาะภิกษุควรพิจารณาด้วยว่าตำบลนั้น อัตคัดขาดแคลนจนถึงกับบิณฑบาตได้ไม่พอขบฉันหรือไม่ด้วย ส่วนผู้ที่มีผู้ส่งเสียอาหาร ก็ให้ทำความเข้าใจว่าอาหาร ที่เป็นชิ้นใหญ่ก็ให้หั่นให้เล็กพอควร ที่เป็นผักก็ตัดหรือม้วนให้พอดีคำที่มีกระดูกหรือก้างก็ให้จัดการเอาออกเสียให้หมดด้วย

๗. อิริยาบถอันเป็นที่สบาย หมายถึง อิริยาบถ ๔ เดิน ยืน นั่ง นอน อิริยาบถใดทำให้จิตคิดพล่านไป ไม่สงบ ก็แสดงว่าอิริยาบถนั้นไม่เป็นที่สบาย จึงไม่ควรใช้อิริยาบถนั้น แต่เมื่อจำเป็นก็ให้ใช้แต่น้อย มีข้อที่ควรระวังในอิริยาบถนอนอยู่ว่า นอนเพื่อกำหนด หรือเพราะร่างกายต้องการพักผ่อนอย่างแท้จริง ไม่ใช่นอนด้วยอำนาจแห่งโกสัชชะ เพราะหน่ายจากความเพียร


หน้า ๓0

กัลยาณมิตร

กัลยาณมิตร ในที่นี้หมายถึง อาจาริยบุคคล ผู้เจริญกัมมัฏฐานไม่ว่าจะเป็นทาง สมถะ หรือ วิปัสสนา ควรมีอาจารย์เป็นผู้แนะนำชี้ทางผิดและทางถูกให้ เพราะอาจารย์ก็นับเป็นจำนวน ๑ ใน ๓ ที่โยคีบุคคลจะละเสียมิได้ คือ

อุปนิสฺสย อยู่ในสำนักอาจารย์ผู้สามารถ

อารกฺข รักษาอินทรียให้สมบูรณ์

อุปนิพทฺธ ผูกจิตไว้ในอารมณ์กัมมัฏฐาน

เหตุนี้จึงนับว่า อาจารย์เป็นบุคคลที่สำคัญยิ่ง ผู้ที่จะเข้าเป็นศิษย์ต้องพินิจพิจารณาให้จงหนัก แต่ไม่ควรวิพากย์วิจารณ์ไปในทางที่เป็นโทษ เพราะอาจารย์ทุกท่านย่อมพากเพียรเกื้อกูล ให้เป็นคุณแก่ศิษย์ด้วยความเมตตากรุณา ในวิสุทธิมัคค แสดงองค์คุณของอาจารย์ไว้ว่า

๑. ปิโย เป็นผู้มีสีล เป็นที่รัก น่าเลื่อมใส เป็นที่รักใคร่ของสรรพสัตว์ เพราะความสมบูรณ์แห่งสีล

๒. ครุ เป็นผู้มีใจคอหนักแน่น น่าเคารพยำเกรง

๓. ภาวนีโย เป็นผู้ได้ฝึกฝนอบรมตนมาแล้วด้วยดีทั้งการเรียนและการปฏิบัติ มีสีลาจารวัตรอันดีงามควรแก่การยกย่องสรรเสริญ

๔. วตฺตา เป็นผู้ที่สามารถแนะนำ ชี้แจงแสดงแนวทางแห่งการปฏิบัติได้ดี และถูกต้องด้วย

๕. วจนกฺขโม เป็นผู้ที่มีขันติอดทนพร่ำสอนศิษย์ไม่เข้าใจก็พยายามให้เข้าใจตามแนวทางแห่งการปฏิบัติ และอดทนต่อการกล่าวล่วงเกินของศิษย์และผู้อื่น ไม่หวั่นไหวต่ออิฏฐารมณ์ และอนิฏฐารมณ์นั้น ๆ

๖. คมฺภีรญฺจ กถํ กตฺตา สามารถแสดงวิปัสสนาภูมิให้ผู้ปฏิบัติเข้าใจได้ด้วยวิธีการที่ สอนน้อยแต่ให้ทำมาก

๗. โน ฐฏฺฐาเน นิโยชเย บอกทางที่ถูกให้

นอกจากนี้แล้วในมหาฏีกา ยังแสดงคุณสมบัติของผู้ที่ควรเป็นอาจารย์ไว้อีกดังนี้ คือ

๑. สทฺธาสมฺปนฺโน โหติ เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยสัทธา เชื่อต่อพระปัญญาตรัสรู้ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เชื่อกรรม เชื่อผลของกรรม ตั้งใจบำเพ็ญประโยชน์ต่อสรรพสัตว์

๒. สีลสมฺปนฺโน ถึงพร้อมด้วยสีล คือมีมารยาทอันดีงาม

๓. สุตสมฺปนฺโน ถึงพร้อมด้วยการศึกษา สามารถแสดงแนวทางแห่งการปฏิบัติได้ดี

๔. จาคสมฺปนฺโน ถึงพร้อมด้วยการบริจาค ยอมเสียสละ มักน้อย สันโดษ ชอบสงัด ไม่คลุกคลีด้วยหมู่คณะ

๕. วิริยสมฺปนฺโน ถึงพร้อมด้วยความขยันหมั่นเพียร ได้เคยเจริญกัมมัฏฐานมาแล้ว

๖. สติสมฺปนฺโน ถึงพร้อมแล้วด้วยสติ ไม่เผลอ ไม่ประมาท

๗. สมาธิสมฺปนฺโน ถึงพร้อมด้วยสมาธิ มีจิตตั้งมั่น ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่กระสับ กระส่าย

๘. ปญฺญาสมฺปนฺโน ถึงพร้อมด้วยปัญญา


หน้า ๓๑

ข้อที่ควรเว้นในการเจริญกัมมัฏฐาน

๑. กมฺมารามตา ประกอบกิจอื่นเสีย เช่น เขียนหนังสือ อ่านหนังสือ สวดมนต์ เป็นต้น อันไม่ใช่กิจในการเจริญกัมมัฏฐาน

๒. ภสฺสรามตา มัวแต่คุยกันเสีย ไม่ตั้งใจกำหนด

๓. นิทฺทารามตา มัวแต่เห็นแก่นอน นอนมากทำความเพียรน้อย โยคีบุคคลนอนแต่น้อยเพียงคืนละ ๔ ชั่วโมง ตั้งแต่ ๒ นาฬิกา ถึง ๖ นาฬิกาก็พอ กลางวันห้ามนอน จงนึกถึงคำเก่าที่กล่าวไว้ว่า
คชาพี ฤาษีผอม นั้นเป็นเครื่องเตือนใจ

๔. สงฺคาณิการามตา พอใจคลุกคลีอยู่กับหมู่คณะ ไม่ชอบอยู่ตามลำพังโดยเฉพาะ

๕. อคุตฺตทฺวารตา ไม่สำรวมทวารทั้ง ๖ ด้วยดี

๖. โภชเน อมตฺตตญฺญุตา ไม่รู้จักประมาณในการบริโภค คือกินอิ่มเกินไป คะเนว่าอีก ๕ คำจะอิ่ม ให้หยุด เป็นพอดี

๗. ยถาวิมุตฺตํ จิตฺตํ น ปจฺจเวกฺขติ จิตจับอารมณ์ใด ไม่กำหนดอารมณ์นั้น หรือจิตตกไปโดยอาการใด ไม่กำหนดรู้โดยอาการนั้น


ข้อที่ควรปฏิบัติในการเจริญกัมมัฏฐาน

นอกจากต้องปฏิบัติตามนัยที่ตรงกันข้ามกับข้อที่ควรเว้น เช่น ประกอบแต่กิจที่เพ่งกัมมัฏฐานโดยไม่ประกอบกิจอื่น ตั้งใจกำหนดโดยไม่คุยกับผู้อื่น เป็นต้น ทั้ง ๗ ข้อนั้นแล้ว ยังมีข้อที่ควรปฏิบัติอยู่อีกมากมายหลายประการ ที่สำคัญอันควรยกขึ้นมากล่าวในที่นี้นั้น ได้แก่


หน้า ๓๒

๑. ต้องมีขันติ มีความอดทนพร้อมทั้ง ๓ ประการ คือ

ก. อดทนต่อความยากลำบาก

ข. อดทนต่อทุกขเวทนา

ค. อดทนต่อความเย้ายวนของกิเลส


๒. เพื่อให้ขันติธรรมนั้นสมบูรณ์ จะต้องตั้งใจอย่างแน่วแน่ในการเจริญกัมมัฏฐานว่า แม้เนื้อจะเหือด เลือดจะแห้ง คงเหลือแต่ หนัง เอ็น กระดูก ก็จะไม่ท้อถอยละเลิกไป จนกว่าจะบรรลุถึงธรรมที่กำลังบำเพ็ญเพียรอยู่นี้

๓. เพื่อให้สมประสงค์ตามข้อ ๒ จะต้องกระทำอินทรียให้เสมอกัน คือ สัทธากับปัญญาจะต้องเสมอกันคู่หนึ่ง วิริยะกับสมาธิอีกคู่หนึ่งนี้ก็จะต้องให้เสมอกันด้วย ทั้งนี้เพราะ

ถ้าสัทธา กล้า ก็ทำให้เชื่ออย่างงมงาย ไม่คำนึงถึงเหตุผล

สัทธา อ่อน ก็ทำให้ความเลื่อมใสน้อยเกินควร ชวนจะให้เลิกปฏิบัติ

ปัญญา กล้า ทำให้คิดออกนอกลู่นอกทาง

ปัญญา อ่อน ทำให้ไม่เข้าถึงเหตุผลตามความเป็นจริง

วิริยะ กล้า ทำให้คิดพล่าน ฟุ้งซ่านไป

วิริยะ อ่อน ทำให้เกียจคร้าน

สมาธิ กล้า ทำให้ติดในความสุขนั้นเสีย

สมาธิ อ่อน ทำให้ไม่ถึงอุปจารภาวนา อัปปนาภาวนา

ส่วน สติไม่มีเกิน มีแต่ขาดอยู่ร่ำไป

เมื่อได้กล่าวมาถึงเพียงนี้ นับว่ามีพื้นพอที่จะลงมือเริ่มปฏิบัติได้แล้ว ในชั้นต้นนี้ จะกล่าวถึง วิธีเจริญสมถกัมมัฏฐาน แต่โดยย่อพอเป็นสังเขปต่อไป


การเจริญกสิณกัมมัฏฐาน

จะได้กล่าวถึง การเจริญปฐวีกสิณพอเป็นตัวอย่างโดยย่อ ๆ แต่อย่างเดียว กสิณที่เหลืออื่น ๆ อีก ๙ กสิณ ก็เจริญในทำนองเดียวกัน

๑. เมื่อทำดวงปฐวีกสิณเสร็จเรียบร้อยแล้ว ให้นำมาตั้งเฉพาะหน้า ให้ห่างสัก ๒ ศอก พอมองเห็นได้ถนัด แล้วจงนั่งขัดสมาธิ เท้าขวาทับเท้าซ้าย มือขวาทับมือซ้าย ตั้งตัวให้ตรง จึงจะนั่งได้ทน นั่งได้นาน แล้วลืมตาดูดวงกสิณ ให้ใจจดจ่ออยู่ที่อารมณ์ คือ ที่ดวงกสิณที่เพ่งนั้น อาการเช่นนี้เรียกว่า วิตก คือ ยกจิต ขึ้นสู่อารมณ์
และจง ประคองจิต ไว้ไม่ให้แส่คิดไปอย่างอื่น ให้คงคิดและเพ่งอยู่แต่ในอารมณ์ คือ ดวงกสิณนั้นแต่อย่างเดียว อาการเช่นนี้เรียกว่า วิจาร ดวงกสิณที่เพ่งนั้นเรียกว่า บริกรรมนิมิต จิตที่เพ่งบริกรรมนิมิตนี้เรียกว่า บริกรรมภาวนา บริกรรมภาวนานี้เป็นไปได้ด้วยอำนาจ บริกรรมสมาธิ

ข้อนี้เป็นการเห็นด้วยนัยน์ตา เป็นการเห็นทางจักขุทวาร


หน้า ๓๓

๒. ลืมตาเพ่งดวงกสิณให้ทั่วทั้งดวงกสิณ ให้เห็นชัดเจนแจ่มแจ้งทุกกระเบียดนิ้ว ว่าตรงไหนเป็นอย่างไร เช่นว่ามีเศษผงนิดหนึ่งติดอยู่ตรงนี้ มีรอยบุ๋มตรงนั้น เป็นรอยขีดตรงโน้น ให้จิตแน่วแน่ในดวงกสิณนั้น ในอารมณ์นั้น ประคองไว้ไม่ให้จิตตกไปจากอารมณ์นั้น

๓. ลืมตาเพ่งจนเห็นว่าจำได้ทั่วทุกส่วนในดวงกสิณนั้นแล้ว ก็ให้ลองหลับตาดู จะติดตา คือ เห็นดวงกสิณเหมือนดังลืมตาเห็นนั้นหรือไม่ ถ้ายังเห็นไม่ชัดก็ให้ลืมตาดูใหม่ ทำเช่นนี้แล้วเช่นนี้อีก จนเมื่อหลับตาก็เห็นดวงกสิณนั้นชัดเจนทุกส่วนทั่วทั้งดวงกสิณ แม้จนกระทั่งเศษผง รอยบุ๋ม รอยขีดอยู่ตรงไหนบ้าง ก็เห็นชัดหมดทุกสิ่งทุกอย่าง นิมิตที่เห็นติดตาเช่นนี้เรียกว่า อุคคหนิมิต จิตที่นึกเห็นอุคคหนิมิตนี้ยังคงเรียกว่า บริกรรมภาวนา บริกรรมภาวนานี้เป็นไปได้ด้วยอำนาจแห่งบริกรรมสมาธิ ตอนนี้เป็นการเห็นโดยทางมโนทวาร คือ ทางใจ


๔. หลับตาเพ่งเช่นนั้น หรือลืมตาโดยไม่ได้มองดวงกสิณ ก็ติดตาเห็นดวงกสิณชัดเจนอยู่อย่างนั้น นิมิตก็ไม่คลาดคลายหายไป เพ่งหนักเข้า อุคคหนิมิตนั้นจะชัดเจนจนกระทั่งใส สะอาดประดุจดวงแก้วมณี เศษผง รอยบุ๋ม รอยขีด ที่เคยเห็นก็ค่อยจางหายไป ดวงกสิณจึงใสบริสุทธิ์ยิ่งนัก นิมิตที่เห็นเช่นนี้เรียกว่า ปฏิภาคนิมิต และปฏิภาคนิมิตนี้อาจขยายให้ใหญ่ หรือย่อให้เล็กลงได้ตามความปรารถนาด้วย จิตที่นึกเห็นปฏิภาคนิมิต
นี้เรียกว่า อุปจารภาวนา เป็นไปด้วยอำนาจแห่งอุปจารสมาธิ คือใกล้จะได้ฌานแล้วละ เป็นการเห็นทางใจ ทางมโนทวารเช่นเดียวกับข้อ ๓

ถึงขั้นนี้ก็สามารถประหาณนิวรณ์ทั้ง ๕ ที่เป็นปฏิปักษ์กับสมาธินั้นได้แล้ว แต่ยังเป็นแค่กามาวจรสมาธิ มีกำลังยังไม่มาก ยังไม่แน่นอน ยังไม่แนบแน่นมั่นคงถึงอัปปนาสมาธิ


๕. เพ่งปฏิภาคนิมิต ด้วยอุปจารภาวนาเช่นนั้น ให้เป็นไปโดยสมบูรณ์จนอารมณ์ คือ ปฏิภาคนิมิตนั้นไม่หายไป แต่แนบแน่นในจิตประทับติดอยู่ในใจยิ่งนัก รูปาวจรปฐมฌาน ก็ย่อมเกิดขึ้น ที่รูปาวจรปฐมฌานเกิดขึ้นนี้โดยอาศัยปฏิภาคนิมิต ด้วยอำนาจแห่ง อัปปนาภาวนา อันเรียกตามอำนาจแห่งสมาธิว่าเป็น อัปปนาสมาธิ

ฌานจิตนี้สามารถข่มนิวรณ์ทั้ง ๕ ไว้ได้นานตราบเท่าที่ฌานยังไม่เสื่อม การข่มนิวรณ์ได้ด้วยอำนาจแห่งฌานนี้แหละที่เรียกว่า วิกขัมภนปหาน


๖. ปฐมฌาน มีองค์ ๕ และองค์ฌานทั้ง ๕ ที่ทำหน้าที่ข่มนิวรณ์ทั้ง ๕ องค์ฌานใด ข่มนิวรณ์อะไร อย่างไรนั้น ได้กล่าวแล้วในปริจเฉทที่ ๑ ตอนรูปาวจรจิต ตรงนิวรณ์ของฌานและการเผานิวรณ์ (วิตก เผา ถีนมิทธนิวรณ์, วิจาร เผาวิจิกิจฉานิวรณ์, ปีติ เผาพยาปาทนิวรณ์, สุข เผาอุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์, เอกัคคตา เผา กามฉันทนิวรณ์)


หน้า ๓๔

วสิตา หรือ วสีภาวะ

๗. วสี คือความชำนาญ ความแคล่วคล่องว่องไว

ผู้ที่ได้รูปาวจรฌานดังที่ได้กล่าวแล้ว จะเข้าฌานสมาบัติก็ดีจะเจริญสมถภาวนาต่อเพื่อให้ได้ทุติยฌานก็ดี จะต้องมี วสี ในปฐมฌานนั้นเสียก่อน คือต้องหมั่นเข้าปฐมฌานจนชำนาญ มีความแคล่วคล่องว่องไวถึง ๕ ประการ ได้แก่

(๑) อาวชฺชนวสิตา ชำนาญในการนึกเข้าฌาน อีกนัยหนึ่งว่า ชำนาญในการกำหนดพิจารณาองค์ฌานแต่ละองค์ โดยวิถีจิตที่ติดต่อกันไปตามลำดับ โดยมีภวังคจิตคั่นไม่มากนัก

(๒) สมาปชฺชนวสิตา ชำนาญในการเข้าฌานได้โดยรวดเร็ว

(๓) อธิฏฺฐานวสิตา ชำนาญในการหยุดอยู่ในฌานเป็นเวลาช้าเร็วกี่ชั่วโมง กี่วัน ก็จะอยู่ในฌานสมาบัติได้ตามกำหนดที่ได้ตั้งความปรารถนาอย่างแรงกล้าไว้นั้น

(๔) วุฏฺฐานวสิตา ชำนาญในการออกจากฌานได้โดยว่องไว ไม่ให้เกินเวลาที่ตนได้อธิษฐานไว้

(๕) ปจฺจเวกฺขณวสิตาชำนาญในการพิจารณาองค์ฌานด้วยชวนจิตอันเกิดในลำดับแห่งมโนทวาราวัชชนะ ติดต่อกันเป็นลำดับไป โดยมีภวังคคั่นไม่มากนัก

อาวัชชนวสี กับปัจจเวกขณวสี ทั้ง ๒ อย่างนี้ ต้องเกิดด้วยกันเสมอ เพราะที่เรียกว่า อาวัชชนวสีนั้นยกเอามโนทวาราวัชชนจิตเป็นประธาน ส่วนปัจจเวกขณวสีนั้น ยกเอาชวนจิตเป็นประธาน ซึ่งก็อยู่ในวิถีจิตเดียวกันนั่นเอง

เมื่อปฐมฌานลาภีบุคคล มีวสีในปฐมฌานแคล่วคล่องว่องไวเป็นอย่างดีแล้ว ก็สามารถจะเข้าฌานสมาบัติ หรือเจริญภาวนาต่อไปเพื่อให้ถึงทุติยฌานได้


๘. ปฐมฌานลาภีบุคคล จะต้องเข้าปฐมฌานบ่อย ๆ จนชำนาญในวสีภาวะทั้ง ๕ ก็จะเห็นโทษของวิตก จึงประสงค์จะละวิตกอันเป็นสิ่งที่หยาบนั้นเสีย เพื่อให้ถึงทุติยฌานซึ่งประณีตกว่า ต้อง เริ่มเพ่งปฏิภาคนิมิต ที่ตนเคยได้นั้นแล้ว กระทำให้เป็นอารมณ์อย่างแนบแน่นแน่วแน่ในดวงใจ จนกระทั่งทุติยฌานจิตเกิดขึ้น


๙. ฌานลาภีบุคคล ปรารถนาจะเจริญให้ถึง ตติยฌาน จตุตถฌาน และปัญจมฌาน ก็จะต้องปฏิบัติให้เป็นไปในทำนองเดียวกันนี้ ตามลำดับแห่งฌาน จะข้ามไปลัดไม่ได้


๑๐. กสิณ ๑๐ นี้ใช้เป็นกัมมัฏฐานในการเจริญสมถภาวนาได้ตั้งแต่ ปฐมฌาน ตลอดไปตามลำดับจนถึงปัญจมฌาน คือถึงรูปฌานได้ทั้ง ๕ ฌาน


หน้า ๓๕

 

การเจริญอสุภกัมมัฏฐาน

การเจริญอสุภกัมมัฏฐาน มีรายละเอียดในวิธีการอยู่ไม่น้อย เช่น เบื้องต้นจะต้องรู้ว่า ศพอยู่ที่ไหน ทิศใด ตายเมื่อไร เพราะถ้าตายใหม่ ๆ ก็ไม่ให้พิจารณา ด้วยว่าอาจเกิดราคะขึ้นมาได้ ก่อนไปก็ให้บอกเล่าเก้าสิบกับสหธัมมิกด้วยกันเพื่อเป็นหลักฐาน ให้ไปคนเดียว จดจำทางและเครื่องหมายระหว่างทางให้แม่นยำ ไปถึงก็ให้สังเกตว่า ศพอยู่ตรงไหน ใกล้อะไรที่พอเป็นที่สังเกตได้ ให้ไปยืนที่เหนือลม ประมาณกึ่งกลางศพ อย่าใกล้นัก แล้วพิจารณากำหนดโดยสี(เป็นศพคนขาว คนดำ), โดยวัย(แก่ หนุ่ม), โดยสัณฐาน(ให้รู้ว่านี่ศีรษะ นี่ท้อง นี่เท้า), โดยทิศ(แต่สะดือขึ้นมาเป็นทิศเบื้องบน แต่สะดือลงไป เป็นทิศเบื้องล่าง), โดยที่ตั้ง(เราอยู่ตรงไหน ศพอยู่ตรงไหน),
โดยส่วนต่าง ๆ (ศีรษะ แขน ขา ลำตัว), โดยที่ต่อ(ต่อที่แขน ขา เอว), โดยช่อง(ช่องปาก จมูก หู), โดยที่ลุ่ม (บ่อตา บ่อคอ บ่อท้อง), โดยที่ดอน(หน้าผาก หน้าอก ตะโพก), โดยรอบ ๆ ด้าน (ทั่วตัว), จนนิมิตเกิดขึ้น, นิมิตกลับเสื่อมหายไป และจำแนกอสุภะที่ควรแก่จริต เหล่านี้เป็นต้น

เนื่องจากสภาพของบ้านเมืองและสิ่งแวดล้อมทั้งหลาย แตกต่างจากความเป็นอยู่ในสมัยก่อนโน้นมากมาย แม้แต่ในชนบทก็เห็นจะหาอสุภะสำหรับเพ่งได้ยากเต็มที ดังนั้นจึงของดไม่อธิบายรายละเอียดและวิธีการตามที่กล่าวไว้ข้างบนนั้น ถ้าต้อง การทราบรายละเอียด ขอให้ดูในหนังสือวิสุทธิมัคค ตอนสมาธินิเทส

ในที่นี้จึงขอรวบรัดกล่าวว่า การเจริญอสุภกัมมัฏฐานก็เป็นไปในทำนองเดียวกันกับกสิณกัมมัฏฐานนั่นแหละ

อสุภกัมมัฏฐานนี้เจริญภาวนาได้เพียง ปฐมฌาน เท่านั้นเอง เพราะเหตุว่า อสุภะเป็นอารมณ์ที่ไม่สวย ไม่งาม น่าเกลียด น่ากลัว และเป็นอารมณ์ที่หยาบอีกด้วย ภาวนาจิตของผู้เจริญกัมมัฏฐานเช่นนี้จะตั้งมั่นอยู่ได้ ก็ต้องอาศัยวิตกเป็นหลัก ซึ่งเป็นของธรรมดาเหลือเกินที่สิ่งที่น่าเกลียดน่ากลัว เช่น ศพคนเช่นนี้ ใคร ๆ ก็ไม่อยากคิดอยากนึกอยากเห็น ถ้าไม่มีวิตกเป็นหลักคอยค้ำจุนยกจิตขึ้นสู่อารมณ์อสุภะแล้ว ภาวนาจิตนั้น ก็ไม่สามารถตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์นั้นได้ เหตุนี้อสุภะจึงเป็นกัมมัฏฐานให้ได้เพียงปฐมฌานที่มีวิตกประกอบอยู่ด้วย แต่ไม่สามารถที่จะให้ได้ถึงทุติยฌานขึ้นไป เพราะฌานเหล่านั้นเป็นฌานที่ปราศจากวิตก


หน้า ๓๖

การเจริญอนุสสติกัมมัฏฐาน

อนุสสติ ๑๐ เจริญให้ถึงฌานได้เพียง ๒ คือ กายคตาสติ ๑ และ อานาปาณสติ ๑ ดังได้กล่าวแต่ตอนต้นมาครั้งหนึ่งแล้ว

๑. การเจริญ กายคตาสติ เป็นการกำหนดพิจารณากาย ซึ่งหมายถึงสิ่งที่ประชุมกันด้วยโกฏฐาส ๓๒ หรือ อาการ ๓๒ มี ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นต้น

โกฏฐาสะ ๓๒ คือ อาการ ๓๒ นั้น แบ่งเป็น ๖ หมวด แต่ละหมวดได้แก่อะไรบ้าง มีรายละเอียดแจ้งใน คู่มือปริจเฉทที่ ๖ ตอนมหาภูตรูป ตรงปฐวีธาตุ มี ๔ หมวดเป็นอาการ ๒๐, ตรงอาโปธาตุ มี ๒ หมวด เป็น อาการ ๑๒ นั้นแล้ว ขอให้ดูที่นั่นด้วย (อาการ ๒๐ มี ผม, ขน, เล็บ, ฟัน, หนัง, เนื้อ, เอ็น, กระดูก, เยื่อในกระดูก, ม้าม, หัวใจ, ตับ, พังผืด, ไต, ปอด, ใส้ใหญ่, ใส้น้อย, อาหารใหม่, อาหารเก่า, มันสมอง
อาการ ๑๒ มี ดี, เสมหะ, หนอง, เลือด, เหงื่อ, มันข้น, น้ำตา, มันเหลว, น้ำลาย, น้ำมูก, ไขข้อ, น้ำมูตร)

๒. โกฏฐาสะ ๓๒ นี้ ถ้าพิจารณาโดยความเป็นธาตุ ก็เป็นวิปัสสนากัมมัฏฐาน วิปัสสนาภาวนา แต่ถ้าพิจารณาโดยความเป็นบัญญัติ โดยความเป็นสิ่งปฏิกูล ก็เป็นสมถกัมมัฏฐาน สมถภาวนา ในที่นี้จะกล่าวเฉพาะสมถภาวนาเท่านั้น

๓. ในชั้นต้นให้พึงท่องจำโกฏฐาสะ ๓๒ นี้เป็นหมวด ๆ ไป และแต่ละหมวดก็ให้คล่องทั้งโดยอนุโลมและปฏิโลม กลับไปกลับมาจนขึ้นใจ แล้วจึงพิจารณาในอาการ ๓๒ นั้นเป็น ๕ นัย คือ

ก. พิจารณาโดย สี ว่าเป็นของปฏิกูล

ข. พิจารณาโดย สัณฐาน ว่าเป็นของปฏิกูล

ค. พิจารณาโดย ทิศ ว่าตั้งอยู่เบื้องสูงหรือเบื้องต่ำ

ง. พิจารณาโดย โอกาส ว่าตั้งอยู่ตรงไหน

จ. พิจารณาโดย ปริจเฉท ว่าไม่ปะปนกับส่วนอื่น


๔. พิจารณาอาการ ๓๒ แต่ละอาการโดยนัยทั้ง ๕ นั้น ตามลำดับไปทุกอาการ บางอาการก็จะเห็นได้ชัด บางอาการก็จะเห็นไม่ชัด ที่ไม่ชัดก็ให้ละไป จนเหลืออาการที่ชัดที่สุดแต่อาการเดียว ให้กำหนดอาการที่ชัดนี้ เป็นบริกรรมนิมิต บริกรรมภาวนาไปจนกว่า อุคคหนิมิต ปฏิภาคนิมิตจะปรากฏขึ้น ซึ่งเป็น อุปจารภาวนา และอัปปนาภาวนา คือถึง ปฐมฌาน

๕. กายคตาสตินี้ เป็นกัมมัฏฐานในการเจริญสมถภาวนาได้เพียงปฐมฌานเท่านั้นเพราะโกฏฐาสต่าง ๆ ในร่างกายมนุษย์ ล้วนแต่เป็นสิ่งปฏิกูล น่าเกลียด จึงต้องอาศัยวิตกเป็นหลักคอยค้ำจุนหนุนจิตให้ยกขึ้นสู่อารมณ์นั้น ๆ ทำนองเดียวกับ อสุภกัมมัฏฐานที่กล่าวแล้วข้างต้น ขอให้ทบทวนดูที่นั่นด้วย


หน้า ๓๗

๖. การเจริญอานาปาณสติ คือการกำหนดลมหายใจเข้าและลมหายใจออก ซึ่งดู ๆ ก็ไม่น่าจะยากเย็นอะไรเลย แต่ก็ไม่ใช่สิ่งที่ทำได้สะดวกสบายนัก เพราะอาจเผลอตัว ไม่มีความรู้สึกตัว คือขาดสติสัมปชัญญะได้ง่าย จริงอยู่การเจริญภาวนาไม่ว่าจะอาศัยกัมมัฏฐานใดๆ จะต้องมีสติสัมปชัญญะอยู่ตลอดเวลา ขาดสติสัมปชัญญะ คือ เผลอตัวเมื่อใดเมื่อนั้นก็ขาดจากการเจริญภาวนา จะเรียกว่าเป็นการเจริญภาวนาหาได้ไม่ โดยเฉพาะการกำหนดลมหายใจนี้ ลมหายใจยิ่งละเอียดสุขุมมากเท่าใด ก็ยิ่งเผลอตัวได้ง่ายมากขึ้นเท่านั้น เผลอตัวได้ง่ายกว่ากัมมัฏฐาน
อย่างอื่น เหตุนี้ในวิสุทธิมัคคจึงกล่าวว่า การเจริญอานาปาณสตินี้ เหมาะสมแก่ผู้ที่มีปัญญากล้า และเฉียบแหลม หาควรแก่ผู้ที่มีปัญญาน้อยไม่


๗. สถานที่ที่จะเจริญอานาปาณสติกัมมัฏฐานนั้น ถ้าเลือกได้สถานที่ดังจะกล่าวต่อไปนี้ก็จะเป็นที่สะดวกดีมาก คือ

ก. เสนาสนะในป่าที่สงัด เหมาะแก่ฤดูร้อน เหมาะแก่ผู้ที่มีโมหจริต เหมาะแก่ผู้ที่เป็นโรคเกี่ยวแก่ เสมหะ

ข. เสนาสนะที่อยู่โคนต้นไม้ หมายถึงใต้ร่มไม้ใหญ่ที่เงียบเชียบ เหมาะแก่ฤดูหนาว เหมาะแก่ผู้ที่มีโทสจริต เหมาะแก่ผู้ที่เป็นโรคเกี่ยวแก่น้ำดี

ค. เสนาสนะที่เป็นเรือนว่าง ที่ไม่มีคนอยู่อาศัย อยู่ในที่วิเวก เหมาะแก่ฤดูฝน เหมาะแก่ผู้ที่มีราคจริต เหมาะแก่ผู้ที่เป็นโรคเกี่ยวแก่ธาตุ


๘. การกำหนดลมหายใจนี้ จำแนกไว้เป็น ๔ หมวด แต่ละหมวดก็มี ๔ นัย จึงรวมเป็น ๑๖ นัยด้วยกัน

หมวดที่ ๑

ก. กำหนดให้รู้ว่าขณะนั้น หายใจออกยาวและเข้ายาว

ข. กำหนดให้รู้ว่าขณะนั้น หายใจออกสั้นและเข้าสั้น

ค. กำหนดให้รู้ในกองลมทั้งปวงในเวลาหายใจออกและเข้า คือให้รู้ว่าเบื้องต้น ของลมหายใจออกนั้นอยู่เหนือสะดือ เบื้องกลางอยู่ที่หน้าอก เบื้องปลายอยู่ที่ช่องจมูก และเบื้องต้นของลมหายใจเข้านั้นอยู่ที่ช่องจมูก เบื้องกลางอยู่ที่หน้าอก เบื้องปลายอยู่ที่เหนือสะดือ จะรู้ได้ต่อเมื่อตั้งใจกำหนดอย่างแน่แน่ว ( การระลึกรู้ ต้นลมหายใจ กลางลมหายใจ ปลายลมหายใจ ใน พระไตรปิฎก ปฏิสัมภิทามรรค ท่านให้ใช้สติระลึกรู้ที่ปลายจมูกตรงจุดที่ลมกระทบเพียง แห่งเดียวเท่านั้น ก็จะสามารถระลึกรู้ทั้ง ต้นลมหายใจ กลางลมหายใจ และปลายลมหายใจ ได้ทั้งหมดอยู่แล้ว ใน พระไตรปิฎก ปฏิสัมภิทามรรค ท่านห้ามการระลึกรู้ตามลมหายใจ จากจมูกไปยังหน้าอก และไปถึงสะดือหรือท้อง เพราะจะทำให้จิตแกว่งไม่ตั้งมั่น ในอารมณ์เดียว จิตจะฟุ้งซ่าน ไม่เป็นสมาธิ )


ง. ให้รู้ในกายสังขาร คือ ลมหายใจออก ลมหายใจเข้าที่สงบ คือการหายใจนั้นแผ่ว เบา ละเอียด
ยิ่งขึ้นทุกที ถ้าไม่ตั้งใจกำหนดอย่างจริงจังก็จะเผลอไม่รู้สึกตัว


หน้า ๓๘

หมวดที่ ๒

ก. กำหนดให้รู้แจ้ง ปีติในเวลาหายใจออกและเข้า หมายความว่า กำหนดตามหมวดที่ ๑ จนได้ฌานแล้ว มีวสีภาวะทั้ง ๕ แล้ว ก็ให้ยกองค์ฌาน คือ ปีตินั้นเพ่งโดยวิปัสสนาภาวนาจนเห็นปีติในลักษณะ ๓ คือ ไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

ที่ให้เพ่ง ปีติ เพราะผู้ที่ได้ฌานต้น ๆ นั้น ปีติ มักจะปรากฏเด่นชัดกว่าองค์ฌานอื่น

ข. กำหนดให้รู้แจ้ง สุขเวทนา ในเวลาหายใจออกและเข้า มีความหมายว่า ผู้ที่ได้ทุติยฌาน ตติยฌาน หรือ จตุตถฌานนั้น ความสุขในองค์ฌานย่อมปรากฏชัด จึงกำหนดให้รู้แจ้ง สุขเวทนา ในเวลาหายใจออกและเข้าได้สะดวก

ค. กำหนดให้แจ้งใน จิตตสังขาร คือ เวทนา สัญญา ในเวลาหายใจออกและเข้า

ง. กำหนดให้แจ้งในการยังจิตตสังขารให้สงบ ในเวลาหายใจออกและเข้า ซึ่งผู้ที่ได้ฌานใด ๆ ก็สามารถกำหนดรู้ได้

หมวดที่ ๓

ก. กำหนดให้แจ้งในจิต ในเวลาหายใจออกและเข้า คือให้รู้จิตที่เป็นไปด้วยรูปฌานทั้ง ๕

ข. กำหนดให้แจ้งในความบันเทิงของจิต ในเวลาหายใจออกและเข้า หมายถึง ปีติ ที่ประกอบด้วยฌานนั้น ๆ

ค. กำหนดให้แจ้งในจิตที่เป็นสมาธิ ในเวลาหายใจออกและเข้า หมายทั้ง ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ และอัปปนาสมาธิ

ง. กำหนดให้แจ้งในความพ้นของจิต ในเวลาหายใจออกและเข้า หมายถึงความพ้นทั้ง ๒ อย่าง คือพ้นด้วยสมาธิ ก็พ้นจากนิวรณ์ ๕ หรือพ้นจาก วิตก วิจาร ปีติตามลำดับขององค์ฌาน ถ้าพ้นด้วยวิปัสสนาก็พ้นจากวิปัลลาสธรรม มีนิจจสัญญา เป็นต้น


หน้า ๓๙

หมวดที่ ๔

ก. กำหนดตามเห็นอนิจจัง ในเวลาหายใจออกและเข้า หมายถึงตามเห็นความไม่เที่ยงในรูปขันธ์
ในเวทนาขันธ์ ในสัญญาขันธ์ ในสังขารขันธ์ และในวิญญาณขันธ์

ข. กำหนดตามเห็นวิราคะ ในเวลาหายใจออกและเข้า หมายถึงพ้นจากราคะด้วยอำนาจของวิปัสสนา หรือด้วยมัคคจิต ๔ ความพ้นทั้ง ๒ นี้เรียกว่า วิราคานุปัสสนา

ค. กำหนดตามเห็นความดับ ในเวลาหายใจออกและเข้า หมายถึงความดับของทุกข์ สมุทัย หรือความดับของ วยะ ขยะ คือ ความดับสิ้นไปของสังขารนั้น

ง. กำหนดตามเห็น ความสละในการยึดมั่น ในเวลาหายใจออกและเข้า หมายถึง ละการยึดถือด้วยอุปาทาน มีอัตตวาทุปาทาน เป็นต้น ด้วยอำนาจของวิปัสสนา

ในอานาปาณสติ ๑๖ นัยนี้ตั้งแต่หมวดที่ ๑ ถึง ๓ รวม ๑๒ นัยนั้นกล่าวรวมทั้งสมถะและวิปัสสนาด้วย
ส่วนในหมวดที่ ๔ นั้น กล่าวเฉพาะวิปัสสนาอย่างเดียว

หมวดที่ ๑ สงเคราะห์ด้วยปฐมฌาน และสงเคราะห์ในกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน

หมวดที่ ๒ สงเคราะห์ด้วยปฐมฌานถึงจตุตถฌาน และสงเคราะห์ในเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน

หมวดที่ ๓ สงเคราะห์ด้วยฌานทั้ง ๕ และสงเคราะห์ในจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน

หมวดที่ ๔ กล่าวเฉพาะ วิปัสสนา

๙. อานาปาณสตินี้ เป็นกัมมัฏฐานที่สามารถเจริญสมถภาวนา ให้ถึงได้ตั้งแต่ปฐมฌานขึ้นไปตามลำดับจนถึงปัญจมฌาน

๑๐. อนุสสติ ๑๐ นั้นได้กล่าวมาแล้ว ๒ เพราะที่สามารถเข้าถึงฌานได้ คือ กายคตาสติ ๑ และอานาปาณสติ ๑ ส่วนที่เหลืออีก ๘ ไม่สามารถเข้าถึงฌานได้

ก. พุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ สีลานุสสติ จาคานุสสติ เทวตานุสสติ และอุปสมานุสสติ รวมอนุสสติ ๗ นี้ไม่สามารถเข้าถึงฌานได้ เพราะเหตุว่า เป็นอารมณ์ที่ละเอียดลึกซึ้งมาก และเป็นอารมณ์ที่กว้างขวางมาก

ข. มรณานุสสติอีก ๑ นั้น นอกจากเป็นอารมณ์ที่ลึกซึ้งมากแล้ว ยังเป็นอารมณ์ปรมัตถอีกด้วย สมถภาวนาไม่สามารถจับอารมณ์ปรมัตถได้ เว้นแต่อากาสานัญจายตนกุสล ๑ กิริยา ๑ และอากิญจัญญายตนกุสล ๑ กิริยา ๑
รวมจิต ๔ ดวงนี้เท่านั้น จึงจะเป็นอารมณ์ที่สามารถให้ถึงฌานได้ นอกจากนี้ต้องเป็นอารมณ์บัญญัติจึงจะถึงฌาน

อนึ่ง มรณานุสสติ การระลึกถึงความตายที่จะพึงมาถึงตนนั้น ก็เพื่อให้เกิดความสลดใจ แต่ว่าถ้าไม่มีความแยบคายในการระลึกแล้วอาจเป็นโทษ เช่นนึกถึงความตายของผู้ที่เรารักใคร่ ย่อมเกิดความโศกเศร้า นึกถึงความตายของผู้ที่เราเกลียด ย่อมเกิดความชอบใจ ครั้นมานึกถึงความตายของตนเอง ก็จะเกิดความกลัว ทำให้จิตใจหวาดหวั่นไป


หน้า ๔0

เหตุนี้จึงมีข้อแสดงว่า การระลึกถึงความตาย ต้องนึกด้วยความแยบคาย โดยอาการ ๘ นัย คือ

(๑) ความตายนี้เปรียบดังเพชฌฆาตที่จ้องจะประหารอยู่เป็นนิจ แม้ตัวเราก็ถูกจ้อง อยู่ตลอดเวลา

(๒) ความตายนี้ย่อมเข้าถึง ความฉิบหาย วิบัติ พลัดพราก จากทรัพย์สมบัติ ลาภยศ ญาติพี่น้อง ซึ่งเราก็จะเป็นเช่นนี้เข้าสักวันหนึ่ง

(๓) ความตายนี้ไม่เห็นแก่หน้าไม่เลือกบุคคล ไม่ว่าจะเป็นผู้มีบุญ มีอำนาจ มีทรัพย์ มียศ มีปัญญา ก็ตายไปแล้วมากกว่ามาก เราเองก็จะต้องตายแน่

(๔) ความตายมีอยู่ทั่วกายในอวัยวะทุกส่วน แม้หมู่สัตว์ที่อยู่ภายนอก และที่อาศัยเบียดเบียนอยู่ภายในร่างกาย ก็สามารถทำให้ตายได้ทุกเมื่อ เราก็ไม่พ้นอย่างนี้ไปได้

(๕) อายุนี้เป็นสิ่งที่ไม่ถาวรแข็งแรง เป็นของทุพพลภาพ ที่ยังคงดำรงอยู่ได้ ก็อาศัยอยู่ได้ด้วยธรรมทั้ง ๔ คือ ลมหายใจ, อิริยาบถทั้ง ๔, ความร้อนความเย็น และอาหาร หากธรรมทั้ง ๔ นี้แม้แต่เพียงอย่างเดียวไม่เป็นไปตามปกติ เราก็จะตายเป็นแน่นอน

(๖) ระลึกว่า ความตายนี้ไม่มีนิมิต ไม่มีเครื่องหมายแต่อย่างใดเลย นิมิตนั้นมี ๕ อย่าง คือ

ก. ชีวิตํ ไม่มีนิมิตให้รู้ว่า ชีวิตนี้จะอยู่นานสักปานใดจึงจะตาย

ข. พยาธิ ไม่มีนิมิตให้รู้ว่า จะตายด้วยโรคอะไร

ค. กาโล ไม่มีนิมิตให้รู้ว่า จะตายเวลาไหน

ง. เทหนิกฺเขปนํ ไม่มีนิมิตให้รู้ว่า จะตายที่ตรงไหน

จ. คติ ไม่มีนิมิตให้รู้ว่า เมื่อตายแล้วจะไปเกิดเป็นอะไรที่ไหน

(๗) ระลึกว่าอายุของมนุษย์นี้น้อยนัก อย่างมากไม่ใคร่ถึง ๑๐๐ ปี ก็จะต้องตายไปแล้ว จึงควรทำความดีประกอบการกุสล ประพฤติพรหมจรรย์ ไม่ตั้งอยู่ในความประมาท เพราะความตายจักมาถึงเราในบัดนี้ก็ได้

(๘) ระลึกว่า ชีวิตนี้ เป็นอยู่ มีอยู่ คงอยู่ ชั่วขณะนิดเดียว กล่าวโดยทางปรมัตถ ก็ปรากฏอยู่ชั่วขณะจิตเดียวเท่านั้นเอง เมื่อจิตเกิดขึ้นก็ได้ชื่อว่า สัตว์เกิดแล้ว จิตตั้งอยู่ ก็ได้ชื่อว่าสัตว์นั้นเป็นอยู่ และเมื่อจิตดับไป จิตไม่เกิดสืบต่อไปอีกในภพนี้ ก็ได้ชื่อว่า สัตว์นั้นตายเสียแล้ว

พึงระลึกถึงความตาย โดยความแยบคายตามนัยแห่งอาการ ๘ อย่างนี้ อย่างใดอย่างหนึ่งก็ตาม ก็จะเป็นที่ตั้งแห่งความสลด เป็นเหตุให้เบื่อหน่าย ไม่ยินดีในภพ ปราศจากความตระหนี่ เบิกบานในการบริจาคทาน มีการขวนขวายน้อย มีความเป็นอยู่โดยความไม่ประมาทตั้งหน้าบำเพ็ญเพียรในกุสลกรรม ไม่หวาดหวั่นต่อความตาย และไม่งมงายในเวลาตายด้วย


หน้า ๔๑

การเจริญอัปปมัญญากัมมัฏฐาน


อัปปมัญญากัมมัฏฐาน ซึ่งมีจำนวน ๔ นั้น แต่ละกัมมัฏฐาน มีอารมณ์ มีองค์ธรรม และสิ่งที่ประหาณ ดังนี้

๑. เมตตา มี ปิยมนาปสัตตบัญญัติ คือ สัตว์อันเป็นที่รักเป็นอารมณ์ในการแผ่เมตตาจิต องค์ธรรมของเมตตาได้แก่ อโทสเจตสิก ซึ่งประหาณโทสะ ความโกรธ ความพยาบาท ความมุ่งร้าย ความทำลาย

๒. กรุณา มี ทุกขิตสัตตบัญญัติ คือสัตว์ที่กำลังได้รับความทุกข์เป็นอารมณ์ในการแผ่ความกรุณา องค์ธรรมของกรุณา ได้แก่ กรุณาเจตสิก ซึ่งประหาณวิหิงสา ความเบียดเบียน ความซ้ำเติม

๓. มุทิตา มี สุขิตสัตตบัญญัติ คือสัตว์ที่กำลังมีความสุขความสบายอยู่นั้น เป็นอารมณ์ในการที่พลอยชื่นชมยินดีไปด้วย องค์ธรรมของมุทิตา ได้แก่ มุทิตาเจตสิก ซึ่งประหาณอิสสา ความริษยา เห็นเขาได้ดีก็ทนอยู่ไม่ได้ อรติความไม่ยินดีด้วย

๔. อุเบกขา มี มัชฌัตตสัตตบัญญัติ คือสัตว์ที่ไม่มีทุกข์ แต่ก็ไม่ถึงกับเป็นสุขนั้น เป็นอารมณ์ในการที่วางเฉยต่อสัตว์นั้น ๆ องค์ธรรมของอุเบกขา ได้แก่ ตัตรมัชฌัตตตาเจตสิก ซึ่งประหาณอคติ ความลำเอียงเพราะชอบกัน(ฉันทาคติ), เพราะชังกัน(โทสาคติ), เพราะลุ่มหลงเมามัว(โมหาคติ), หรือเพราะกลัว (ภยาคติ)


หน้า ๔๒

เมตตากัมมัฏฐาน


หิตาการปฺปวตฺติลกฺขณา  

มีความเป็นไปแห่งกาย วาจา ใจในอันที่จะเป็นประโยชน์แก่สัตว์ทั้งหลาย เป็นลักษณะ

หิตูปสํหารรสา  

มีการทำประโยชน์ให้แก่สัตว์ทั้งหลาย อย่างใกล้ชิด เป็นกิจ

อาฆาตวิยนปจฺจุปฏฺฐานา  

มีการบำบัดความแค้น เป็นอาการปรากฏแก่ผู้ที่ทำการพิจารณาเมตตา

มนาปภาวทสฺสนปทฏฺฐานา  

การพิจารณาแต่ความดีที่น่าพึงพอใจของสัตว์ทั้งหลาย โดยไม่มีการนึกถึงสิ่งที่ไม่ดี ไม่งาม เป็นเหตุใกล้

พฺยาปาทูปสโม สมฺปตฺติ  

สงบความพยาบาทลงได้เป็นเวลานาน เป็นความสมบูรณ์ของเมตตา

สิเนหสมฺภโว วิปตฺติ

การเกิดขึ้นแห่งตัณหาที่เหนียวแน่น เป็นความเสื่อมเสียของเมตตา

ราโค อาสนฺนปจฺจตฺถิโก

ราคะ เป็นข้าศึกใกล้ของเมตตา

พยฺาปาโท ทูรปจฺจตฺถิโก

พยาบาท เป็นข้าศึกไกลของเมตตา


๑. เมตตามีอานิสงส์ ถึง ๑๑ ประการ คือ


(๑) สุขํ สุปฺปติ สบายในเวลาหลับ

(๒) สุขํ ปฏิพุชฺฌติ สบายในเวลาตื่น

(๓) น ปาปกํ สุปินํ ปสฺสติ ไม่ฝันเห็นเรื่องที่ลามก

(๔) มนุสฺสานํ ปิ โย โหติ เป็นที่รักของมนุษย์ทั่วไป

(๕) อมนุสฺสานํ ปิโย โหติ เป็นที่รักของอมนุษย์

(๖) เทวตา รกฺขนฺติ เทวดาย่อมคุ้มกันรักษา

(๗) นาสฺส อคฺคิ วา วิสํ วา สตฺถํ วา กมติ ไฟ ยาพิษ ศัสตรา ก็ดีย่อมไม่กล้ำกรายต่อผู้นั้น

(๘) ตุวฏํ จิตฺตํ สมาธิยติ จิตผู้นั้นย่อมเป็นสมาธิ คือตั้งมั่นได้เร็ว

(๙) มุขวณฺโณ วิปฺปสีทติ สีหน้าผู้นั้นย่อมผ่องใส

(๑๐) อสมฺมุฬฺโห กาลํ กโรติ ในเวลาใกล้มรณะ ย่อมเป็นผู้มีสติ

(๑๑) อุตฺตริ อปฺปฏิวิชฺฌนฺโต เมื่อมรณะ ย่อมเป็นผู้เข้าถึงสุคติอย่างสูงสุด ถึงพรหมโลกได้


หน้า ๔๓

๒. เมตตา ที่ว่าองค์ธรรมได้แก่ อโทสเจตสิก นั้น พึงเข้าใจว่า อโทสเจตสิกทั้งหมดจะเป็นเมตตาไปทุกครั้งก็หาไม่ อโทสะเป็นเจตสิกที่ประกอบกับโสภณจิตทั่วไปได้อยู่แล้ว เพียงแต่สวดมนต์ ไหว้พระ ใส่บาตร รักษาสีล อ่านหนังสือธรรม เหล่านี้อันเป็นจิตมหากุสล อโทสเจตสิกก็เข้าประกอบอยู่ทุกขณะ แต่ว่าขณะนั้น เมตตาไม่มีไม่ประกอบ เพราะเมตตานั้น นอกจากไม่โกรธ ไม่เกลียดชังแล้ว ยังประสงค์ให้สัตว์ทั้งหลายมีความสุขอีกด้วย
ยกตัวอย่าง เช่น มีผู้ลอบตีนาย ก. เมื่อนาย ก. ถูกตีแล้ว อาจไม่โกรธ เพราะคิดว่าเป็นกรรมของตัวจึงได้ถูกตี แค่นี้เป็น อโทสะ แต่ถ้านาย ก. ไม่โกรธแล้วยังแผ่เมตตาให้แก่ผู้ที่ลอบตีว่า จงหมดเวรหมดกรรมกันเสียที ขออย่าให้ถูกจับและได้รับโทษเลย จงปลอดภัยและมีความสุขต่อไปเถิด คิดได้ดังนี้เป็นเมตตา มีอานิสงส์สูงกว่าอโทสะมากนัก แต่ว่าผู้ที่จะถึงขั้นนี้ก็หาได้ยากมาก นอกจากจะได้ฝึกฝนอบรมมาเป็นอย่างดีแล้ว


๓. ก่อนฝึกแผ่เมตตา พึงทราบว่า เมตตานี้ทำลาย โทสะ และเมตตานี้เป็นที่ตั้งมั่นแห่งขันติ

โทษของโทสะ ทำให้ใจขุ่นมัว กลัดกลุ้ม เร่าร้อน กินไม่ได้ นอนไม่หลับ ถ้าไม่มีความยับยั้งใจแล้ว
ก็ถึงขั้นทำลาย ทำลายผู้อื่น ตลอดจนทำลายตนเอง ทำลายทั้งทรัพย์สมบัติ ชีวิตและคุณงามความดี คุณของขันติ ทำให้มีความอดทน อดทนต่อความยากลำบากตรากตรำ อดทนต่อความเจ็บใจ อดทน
ต่อความทุกข์เวทนา อดทนต่อความยั่วเย้าของกิเลส

เมื่อเห็นโทษของโทสะ และเห็นคุณของขันติแล้ว ก็ฝึกแผ่เมตตาโดยมี ข้อที่พึงกำหนดดังต่อไปนี้ จะเป็นข้อหนึ่งข้อใดแต่เพียงข้อเดียวก็ได้ คือ

ก. อเวรา จงเป็นผู้ไม่มีเวรแก่กันและกัน

ข. อพฺยาปชฺชา จงเป็นผู้ไม่พยาบาทต่อกัน

ค. อนีฆา จงเป็นผู้ที่ปราศจากทุกข์

ง. สุขี อตฺตานํ ปริหรนฺตุ จงมีแต่ความสุข รักษาตนให้พ้นจากทุกข์ภัยทั้งปวง


๔. ผู้ที่มีเมตตาและแผ่เมตตาได้อย่างสะดวกใจนั้น จะต้องหมั่นฝึกอยู่เสมอ ในขั้นต้นต้องฝึกแผ่เมตตาให้แก่ตนเองก่อน เพื่อจะได้เป็นสักขีพยานว่าตนเองปรารถนาสุข เกลียดทุกข์ ต้องการมีอายุยืน กลัวตายฉันใด ผู้อื่นก็ฉันนั้น ฝึกดังนี้บ่อย ๆ หนักเข้า เมตตาจิตก็จะเกิดขึ้นได้โดยง่าย


หน้า ๔๔

๕. เมื่อแผ่เมตตาให้แก่ตนเองได้คล่องด้วยความสะดวกใจแล้ว ก็ขยายการแผ่ให้เป็นวงกว้างออกไปตามลำดับ คือ

ก. อัตตะ แผ่ให้แก่ตนเอง

ข. ปิยะ แผ่ให้แก่ผู้ที่รักใคร่

ค. มัชฌัตตะ แผ่ให้แก่ผู้ที่ไม่รักไม่ชัง

ง. เวรี แผ่ให้แก่ผู้ที่เป็นศัตรู


๖. บุคคลที่จะแผ่เมตตาให้ก่อนไม่ได้นั้น มี ๔ จำพวก คือ

ก. อปิยบุคคล ผู้ที่เราไม่รักใคร่ เมตตาจะไม่เกิด เกิดแต่ความไม่พอใจ เพราะเราไม่มีความรักใคร่ชอบพอนั่นเอง

ข. อติปิยบุคคล ผู้ที่เรารักใคร่มาก เมตตาก็จะไม่เกิด เกิดแต่ความวิตกกังวลและโสกะ เพราะเรามีความรักใคร่มากนั่นเอง

ค. มัชฌัตตบุคคล ผู้ที่เราไม่รักและก็ไม่ชัง เมตตาจะไม่เกิด เพราะสิ่งที่ชวนจะให้เกิดความเคารพรักใคร่นั้นไม่มี ด้วยว่าไม่มีทั้งความยินดีและยินร้าย

ง. เวรีบุคคล ผู้ที่เป็นศัตรูแก่เรา เมตตาจะไม่เกิด เกิดแต่ความโกรธ ความเกลียด เพราะผู้นั้นเป็นศัตรูต่อเรา


๗. บุคคลที่จะแผ่เมตตาให้ไม่ได้นั้น มี ๒ จำพวก คือ

ก. ผู้ที่ตายไปแล้ว เพราะถ้าจะแผ่ให้แก่บุคคลจำพวกนี้ก็จะไม่ถึงอุปจารสมาธิ และอัปปนาสมาธิ

ข. แผ่เจาะจงให้แก่ผู้ที่มีเพศตรงกันข้ามกับตนก็ไม่ได้ เพราะจะทำให้ ฉันทะ ราคะ เกิดขึ้น แต่เมตตาจิตไม่เกิด

ราคะ กับ เมตตา ต่างกันตรงที่ ราคะนั้นเพ่งเล็งถึงความ สวยงามแห่งร่างกาย ของผู้อื่นเป็นฐานที่เกิด ส่วนเมตตานั้นเพ่งเล็งถึงความ งดงามแห่งจิตใจ ของผู้อื่น เป็นฐานที่เกิด


๘. เมื่อแผ่ให้แก่ตนเอง แผ่ให้แก่ผู้อื่นตามลำดับดังกล่าว จนสะดวกใจแล้ว ก็ขยายให้กว้างออกไปอีกเป็น ๓ นัยดังที่มีชื่อเรียกว่า อโนทิโสผรณา ๑ โอทิโสผรณา ๑ และทิสาผรณา ๑


หน้า ๔๕

การแผ่เมตตาที่เรียกว่า อโนทิโสผรณา นั้นเป็นการแผ่ไปโดยไม่จำกัดบุคคล ๕ จำพวก คือ

ก. สพฺเพสตฺตา สัตว์ทั่วไปทั้งหลาย

ข. สพฺเพปาณา สัตว์ที่มีลมปราณ (มีชีวิต) ทั้งหลาย

ค. สพฺเพภูตา สัตว์ที่ปรากฏทั้งหลาย

ง. สพฺเพปุคฺคลา สัตว์ที่เป็นบุคคลทั้งหลาย

จ. สพฺเพอตฺตภาวปริยาปนฺนา สัตว์ที่ครองอัตตภาพทั้งหลาย

การแผ่เมตตา ที่เรียกว่า โอทิโสผรณา นั้นเป็นการแผ่ไปโดยจำกัดบุคคล ๗ จำพวก คือ

ก. สพฺพาอิตฺถิโย เพศหญิงทั้งหลาย

ข. สพฺเพปุริส เพศชายทั้งหลาย

โดย ลิงฺค

ค. สพฺเพอริยา พระอริยทั้งหลาย

ง. สพฺเพอนริยา ผู้ไม่ใช่อริยทั้งหลาย

โดย ปุคฺคล

จ. สพฺเพเทวา เทวดาทั้งหลาย

ฉ. สพฺเพมนุสฺสา มนุษย์ทั้งหลาย

ช. สพฺเพวีนิปาติกา อบายสัตว์ทั้งหลาย

โดย ปฏิสนฺธิ

การแผ่เมตตา ที่เรียกว่า ทิสาผรณา นั้น เป็นการแผ่ให้แก่สัตว์ทั่วไปทั้ง ๑๐ ทิศ โดยไม่คำนึงไม่จำกัดถึงสัตว์ถึงบุคคลเป็นที่ตั้ง ว่าจะเป็นสัตว์เป็นบุคคลชนิดไหนประเภทใด


๙. อโนทิโสผรณา แผ่ไปโดยไม่จำกัด บุคคลมี ๕ จำพวก เรียกว่ามี ๕ ฐาน แต่ละฐานมีข้อที่พึงกำหนดได้ ๔ ข้อคือ อเวรา อัพยาปัชชา อนีฆา และสุขีอัตตานัง เรียกเสียว่า ๔ กระแส ดังนั้น ๕ ฐานแต่ละฐานมี ๔ กระแสจึงเป็น ๒๐ กระแส

โอทิโสผรณา แผ่ไปโดยจำกัดบุคคล มี ๗ จำพวก เรียกว่า มี ๗ ฐาน แต่ละฐานมี ๔ กระแส จึงเป็น ๒๘ กระแส

ทิสาผรณา แผ่ไป ๑๐ ทิศ มีบุคคลทั้งที่ไม่จำกัด ๕ จำพวก และที่จำกัด ๗ จำพวก รวมมี ๑๒ ฐาน แต่ละฐานมี ๔ กระแส ก็เป็น ๔๘ ใน ๔๘ นี้ มีทุกทิศทั้ง ๑๐ ทิศ จึงเป็น ๔๘๐ กระแส

รวม อโนทิโสผรณา ๒๐ กระแส โอทิโสผรณา ๒๘ กระแส และทิสาผรณา ๔๘๐ กระแสเข้าด้วยกัน จึงเป็นอันว่า การแผ่เมตตาจิตทั้งหมดนั้นมีได้ถึง ๕๒๘ กระแส

ที่ว่า ทิสาผรณา แผ่ไป ๑๐ ทิศนั้น นับดังนี้ สัตว์ทั้งหลายที่มีจิตก็ดี ไม่มีจิตก็ดี บรรดาที่มีชีวิต อันมีอยู่ใน ทิศเบื้องบน จนถึง อกนิฏฐพรหมนั้น ๑ ทิศ ที่มีอยู่ใน ทิศเบื้องต่ำ ถึงอวีจิมหานรก นั้น ๑ ทิศ และที่มีอยู่ใน ทิศเบื้องขวาง นั้นอีก ๘ ทิศ จึงรวมเป็น ๑๐ ทิศด้วยกัน


หน้า ๔๖

๑๐. ผู้อบรมการแผ่เมตตาที่ปรารถนาให้ถึงฌาน จะต้องแผ่เมตตาจนให้สำเร็จถึง สีมสัมเภท ด้วย เพราะสีมสัมเภทนี้ สงเคราะห์ประหนึ่งว่า เป็นปฏิภาคนิมิตแห่งเมตตากัมมัฏฐาน

สีมสัมเภท แปลว่า ทำลายขอบเขตของเมตตา หมายความว่าผู้สำเร็จในสีมสัมเภทนั้น ถึงซึ่งความเป็นผู้มีจิตเสมอภาค ไม่เอนเอียงไปใน ๔ บุคคล คือ อัตตะ ตนเอง, ปิยะ ผู้ที่รักใคร่, มัชฌัตตะ ผู้ที่ไม่รักและก็ไม่ชัง, เวรี ผู้ที่เป็นศัตรู

มีตัวอย่างแสดงไว้ว่า มีพวกโจรมาล้อมบุคคลทั้ง ๔ ที่ว่ามานี้ จะจับไปฆ่าบูชายัญคนหนึ่ง โดยถามว่า จะให้จับใครไป ถ้าจะบอกให้จับศัตรูหรือจับผู้ที่ไม่รักไม่ชังไป ก็แน่ชัดว่าผู้นั้นยังไม่ถึงสีมสัมเภท แม้ตนเองจะยอมให้จับโดยรับกรรมนี้เสีย เอง อย่างนี้ก็นับว่าไม่ถึงซึ่งสีมสัมเภทอยู่นั่นเอง เพราะเมตตานั้นยังมีขอบเขตอยู่ ต่อเมื่อมีจิตเสมอภาค จนชี้ไม่ได้ว่าจะให้จับใคร เช่นนี้จึงจะกล่าวได้ว่าถึงสีมสัมเภทอัน สงเคราะห์หรือนับเนื่อง เข้าในปฏิภาคนิมิตแล้ว


๑๑. สรุปการเจริญเมตตากัมมัฏฐาน ตามลำดับแต่ต้นจนกระทั่งได้ฌานนั้นดังนี้ คือ

ก. แผ่เมตตาให้แก่ตนเองก่อน แล้วแผ่ให้แก่ปิยบุคคล แก่มัชฌัตตบุคคล และแก่เวรีบุคคล ตามลำดับ ระหว่างที่แผ่เมตตาเช่นนี้เป็น บริกรรมนิมิต บริกรรมภาวนา บริกรรมสมาธิ

ข. เมื่อมีเมตตาจิต ในบุคคลทั้ง ๔ ที่เป็นนิมิตแก่การภาวนานั้นแล้ว (แต่ยังไม่ถึง สีมสัมเภท) เมื่อนั้นก็ได้ชื่อว่าเป็น อุคคหนิมิต แต่ยังเป็น บริกรรมภาวนา บริกรรมสมาธิอยู่

ค. ครั้นจิตของโยคีนั้นสำเร็จถึงสีมสัมเภทแล้ว ก็ ถือเหมือนว่า เป็นปฏิภาคนิมิต และเป็นอุปจารภาวนา เป็นอุปจารสมาธิ

ง. พยายามเจริญเมตตาภาวนาต่อไปโดย อโนทิโสผรณาเมตตา ๕ , โอทิโส ผรณาเมตตา ๗,
ทิสาผรณาเมตตา ๑๐ จนกระทั่งได้ฌาน ถึง อัปปนาสมาธิ

๑๒. เมตตากัมมัฏฐาน เจริญสมถภาวนาได้ถึงปฐมฌาน เป็นต้นไปตามลำดับจนถึงแค่ จตุตถฌานเท่านั้น


หน้า ๔๗

 

กรุณากัมมัฏฐาน

       ปรทุกฺขาปนยนาการปฺปวตฺติลกฺขณา  

        มีความเป็นไปแห่งกายวาจาใจในอันที่จะบำบัดทุกข์ของผู้อื่นให้ปราศไป เป็นลักษณะ

ปรทุกฺขาสหนรสา มีการอดกลั้นนิ่งดูดายอยู่ไม่ได้ต่อทุกข์ของผู้อื่นและอยากช่วยเหลือ เป็นกิจ

อวิหิสาปจฺจุปฏฺฐานา มีการไม่เบียดเบียนผู้อื่น เป็นอาการปรากฏแก่ผู้ที่ทำการพิจารณากรุณา

ทุกฺขาภิภูตานํ อนาถภาวทสฺสนปทฏฺฐานา การพิจารณาเห็นบุคคลที่ตกอยู่ในความทุกข์ไร้ที่พึ่งเป็นเหตุใกล้

วิหิสูปสโม สมฺปตฺติ ความสงบลงแห่งโทสจิตตุปปาท ในอันที่จะทำการเบียดเบียนสัตว์ เป็นความสมบูรณ์แห่งกรุณา

โสกสมฺภโว วิปตฺติ การเกิดขึ้นแห่งความเศร้าโศก เป็นความเสื่อมเสียของกรุณา

เคหสิตํ โทมนสฺสํ อาสนฺน ปจฺจตฺถิกํ ความเสียใจที่เนื่องด้วยกามคุณ อารมณ์เป็นศัตรูใกล้

วิหิสา ทูรปจฺจตฺถิกํ ความเบียดเบียนสัตว์ เป็นศัตรูไกลฃ


๑. กรุณา มีอานิสงส์ ๑๑ ประการ เช่นเดียวกันและเหมือนกันกับอานิสงส์ของเมตตา

๒. ในการแผ่กรุณานั้น ชั้นต้นให้กำหนดถึงผู้ที่ได้รับความลำบากอยู่ว่า ถ้าพ้นจากความลำบากนี้เสียได้ก็จะดีมาก แล้วก็บริกรรมว่า อยํ สตฺโต ทุกฺขา มุจฺจตุ ขอให้ผู้นี้จงพ้นจากความทุกข์เถิด ถ้าไม่มีผู้ที่กำลังได้รับความทุกข์อยู่ ก็ต้องแผ่ให้แก่ผู้ที่จะได้รับความทุกข์ในวันข้างหน้า โดยบริกรรมเช่นเดียวกันกับที่กล่าวไว้ข้างบนนี้

๓. ลำดับต่อไปให้แผ่ให้แก่ ปิยบุคคล โดยบริกรรมว่า มม ปิยปุคฺคลา ทุกฺขา มุจฺจตุ ขอบุคคลทั้งหลาย อันเป็นที่รักของข้าพเจ้าจงพ้นจากความทุกข์ทั้งปวงเถิด

๔. ต่อไปให้แผ่ให้แก่ มัชฌัตตบุคคล โดยบริกรรมว่า มม มชฺฌตฺต ปุคฺคลา ทุกฺขา มุจฺจตุ ขอบุคคลทั้งหลายที่ข้าพเจ้ามิได้รักมิได้ชัง จงพ้นจากความทุกข์ทั้งปวงเถิด


หน้า ๔๘

๕. ครั้นแล้วให้แผ่ให้แก่ เวรีบุคคล โดยบริกรรมว่า มม เวรีปุคฺคลา ทุกฺขา มุจฺจตุ ขอบุคคลทั้งหลายที่เป็นศัตรูแก่ข้าพเจ้า จงพ้นจากความทุกข์ทั้งปวงเถิด

๖. การแผ่เมตตา มีหัวข้อที่พึงกำหนด ๔ อย่าง แต่การแผ่ความกรุณามีหัวข้อที่พึงกำหนดอย่างเดียวว่า จงพ้นจากความทุกข์ เท่านั้น และแผ่ขยายให้กว้างออกได้เป็น ๓ นัย คือ อโนทิโสผรณากรุณา ๑ โอทิโสผรณากรุณา ๑ และ ทิสาผรณากรุณา ๑ ทำนองเดียวกับเมตตา

อโนทิโสผรณากรุณา แผ่กรุณาไปโดยไม่จำกัดบุคคล มี ๕ ฐาน แต่ละฐานมีกระแสเดียวจึงคงเป็น ๕ กระแส

โอทิโสผรณากรุณา แผ่กรุณาไปโดยจำกัดบุคคล มี ๗ ฐาน แต่ละฐานมีกระแสเดียว จึงคงเป็น ๗ กระแส

ทิสาผรณากรุณา แผ่กรุณาไปทั้งจำกัดบุคคล ๗ และไม่จำกัดบุคคล ๕ รวมเป็น ๑๒ ฐาน แผ่ไป ๑๐ ทิศ จึงเป็น ๑๒๐ กระแส

รวมทั้ง ๓ นับได้ ๑๓๒ กระแส จึงเป็นอันว่าการแผ่กรุณาทั้งหมดนั้นมีได้ ๑๓๒ กระแส

๗. การแผ่ความกรุณา ก็ต้องแผ่จนให้สำเร็จถึง สีมสัมเภท เช่นเดียวกันทำนองเดียวกับเมตตา

๘. ผู้ที่เราปรารถนาแผ่ความกรุณาให้นั้น เป็นอารมณ์ คือ เป็นนิมิต จึงเรียกว่า บริกรรมนิมิต คือเอาเป็นอารมณ์พร่ำบ่นในใจ จิตที่หน่วงเอาบริกรรมนิมิตมาพร่ำบ่นนั้นเรียกว่า บริกรรมภาวนา และที่เป็นบริกรรมภาวนาขึ้นมาได้ ก็ด้วยอำนาจแห่งบริกรรมสมาธิ

๙. บริกรรมตามนัยแห่งข้อ ๒ ถึงข้อ ๕ ตามที่กล่าวมาแล้วนี้ จนจิตใจแน่วแน่ในการแผ่ความกรุณาแก่บุคคลเหล่านั้นแล้ว แม้จะยังไม่ถึง สีมสัมเภทก็ตาม นิมิตนั้นก็ได้ชื่อว่าเป็น อุคคหนิมิตแล้ว แต่ทางฝ่ายจิตยังเป็นบริกรรมภาวนา บริกรรมสมาธิ อยู่

๑๐. ครั้นจิตของโยคีบุคคลนั้นสำเร็จถึง สีมสัมเภทกรุณาแล้ว ก็ถือเสมือนว่านิมิตนั้นเป็นปฏิภาคนิมิต ส่วนภาวนานั้นเป็นอุปจารภาวนา สมาธินั้นเป็นอุปจารสมาธิ


หน้า ๔๙

๑๑. พยายามเจริญกรุณาภาวนาต่อไปโดย อโนทิโสผรณากรุณา ๕, โอทิโส ผรณากรุณา ๗ และ
ทิสาผรณากรุณา ๑๐ จนกระทั่งได้ฌาน นิมิตนั้น คงเรียกว่า อุคคหนิมิต ภาวนานั้นเรียกว่า อัปปนาภาวนา และสมาธินั้นก็เรียกว่า อัปปนาสมาธิ

๑๒. กรุณากัมมัฏฐาน เจริญสมถภาวนาได้ถึง ปฐมฌาน เป็นต้นไปตามลำดับ จนถึงแค่จตุตถฌาน เท่านั้น


มุทิตากัมมัฏฐาน

ปโมทนลกฺขณา มีการบันเทิงใจในคุณความดี ทรัพย์ บริวาร ความสุข ของผู้อื่น เป็นลักษณะ

อนิสฺสายนรสา มีการไม่ริษยาในคุณความดี ทรัพย์ บริวาร ความสุข ของผู้อื่น เป็นกิจ

อรติวิฆาตปจฺจุปฏฺฐานา ทำลาย ความริษยา เป็นอาการปรากฏแก่ผู้ที่ทำการพิจารณามุทิตา

ปรสมฺปตฺติทสฺสนปทฏฺฐานา มีการรู้เห็นความเจริญด้วยคุณความดี ทรัพย์ บริวาร ความสุขของผู้อื่นเป็นเหตุใกล้

อรติวูปสโม สมฺปตฺติ มีความสงบจากความไม่พอใจในสมบัติของผู้อื่น เป็นความสมบูรณ์แห่งมุทิตา

ปหาสสมฺภโว วิปตฺติ ความสุข รื่นเริง โอ้อวด กำหนัด เกิดขึ้นเป็นความเสื่อมเสียของมุทิตา

เคหสิตํ โสมนสฺสํ อาสนฺน ปจฺจตฺถิกํ มีความดีใจที่เนื่องด้วยกามคุณอารมณ์ เป็นศัตรูใกล้

อรติ ทูรปจฺจตุถิกา ความไม่ยินดี ไม่สบายใจ ในความเจริญของผู้อื่น เป็นศัตรูไกล

๑. มุทิตา มีอานิสงส์ ๑๑ ประการ เช่นเดียวกัน และเหมือนกันกับอานิสงส์ของเมตตา

(๑) สุขํ สุปฺปติ สบายในเวลาหลับ

(๒) สุขํ ปฏิพุชฺฌติ สบายในเวลาตื่น

(๓) น ปาปกํ สุปินํ ปสฺสติ ไม่ฝันเห็นเรื่องที่ลามก

(๔) มนุสฺสานํ ปิ โย โหติ เป็นที่รักของมนุษย์ทั่วไป

(๕) อมนุสฺสานํ ปิโย โหติ เป็นที่รักของอมนุษย์

(๖) เทวตา รกฺขนฺติ เทวดาย่อมคุ้มกันรักษา

(๗) นาสฺส อคฺคิ วา วิสํ วา สตฺถํ วา กมติ ไฟ ยาพิษ ศัสตรา ก็ดีย่อมไม่กล้ำกรายต่อผู้นั้น

(๘) ตุวฏํ จิตฺตํ สมาธิยติ จิตผู้นั้นย่อมเป็นสมาธิ คือตั้งมั่นได้เร็ว

(๙) มุขวณฺโณ วิปฺปสีทติ สีหน้าผู้นั้นย่อมผ่องใส

(๑๐) อสมฺมุฬฺโห กาลํ กโรติ ในเวลาใกล้มรณะ ย่อมเป็นผู้มีสติ

(๑๑) อุตฺตริ อปฺปฏิวิชฺฌนฺโต เมื่อมรณะแล้ว ย่อมเป็นผู้เข้าถึงสุคติอย่างสูงสุด ถึงพรหมโลกได้

๒. ในการแผ่มุทิตาจิตนั้น ชั้นต้นให้แผ่แก่สุขิตสัตว์ ที่เป็นสหายรักใคร่ชอบพอเป็นอันมาก อติปิยบุคคลก่อน โดยบริกรรมว่า อยํ มม สหายโก ยถาลทฺธ สมฺปตฺติโต มา วิคจฺฉนฺตุ ขอผู้ที่เป็นสหายที่รัก จงอย่าสูญเสียความสุขทั้งปวงที่กำลังได้รับอยู่นั้นเลย


หน้า ๕

๓. ต่อไปก็แผ่ให้แก่ ปิยบุคคล โดยบริกรรมว่า มม ปิยปุคฺคลา ยถาลทฺธ สมฺปตฺติโต มา วิคจฺฉนฺตุ ขอให้บุคคลทั้งหลายอันเป็นที่รักของข้าพเจ้า จงอย่าสูญเสียความสุขทั้งปวงที่กำลังได้รับอยู่นั้นเลย

๔. จากนั้นแผ่ให้แก่ มัชฌัตตบุคคล โดยบริกรรมว่า มม มชฺฌตฺต ปุคฺคลา ยถาลทฺธ สมฺปตฺติโต มา วิคจฺฉนฺตุ ขอบุคคลทั้งหลายที่ไม่ใช่ที่รักที่ชังของข้าพเจ้า จงอย่าสูญเสียความสุขทั้งปวงที่กำลังได้รับอยู่นั้นเลย

๕. ลำดับนั้นแผ่ให้แก่ เวรีบุคคล โดยบริกรรมว่า มม เวรีปุคฺคลา ยถาลทฺธ สมฺปตฺติโต มา วิคจฺฉนฺตุ ขอให้ผู้ที่เป็นศัตรูต่อข้าพเจ้าทั้งหลายจงอย่าสูญเสียความสุขทั้งปวงที่กำลังได้รับอยู่นั้นเลย

๖. การแผ่มุทิตา มีหัวข้อที่พึงกำหนดแต่อย่างเดียวว่า จงอย่าให้สูญเสียความสุขที่กำลังได้รับอยู่ และแผ่ขยายให้กว้างออกไปได้เป็น ๓ นัยอย่างเดียวกับกรุณา ดังนั้น มุทิตา นี้ จึงมีการแผ่ได้ ๑๓๒ กระแสเท่ากันกับ กรุณา อโนทิโสผรณามุทิตา แผ่มุทิตาไปโดยไม่จำกัดบุคคลมี ๕ ฐาน แต่ละฐานมีกระแสเดียว จึงคงเป็น ๕ กระแส โอทิโสผรณามุทิตา แผ่มุทิตาไปโดยจำกัดบุคคลมี ๗ ฐาน แต่ละฐานมีกระแสเดียว จึงคงเป็น ๗ กระแส ทิสาผรณามุทิตา แผ่มุทิตาไปทั้งจำกัดบุคคล ๗ และไม่จำกัดบุคคล ๕ รวมเป็น ๑๒ ฐาน แผ่ไป ๑๐ ทิศ จึงเป็น ๑๒๐ กระแส รวมทั้ง ๓ นัยได้ ๑๓๒ กระแส จึงเป็นอันว่าการแผ่มุทิตาทั้งหมดนั้นมีได้ ๑๓๒ กระแส

๗. การแผ่มุทิตาจิต ก็ต้องแผ่จนให้ถึง สีมสัมเภท เช่นเดียวกัน ทำนองเดียวกับ กรุณา และเมตตา

๘. การเจริญมุทิตาจนถึงอัปปนาภาวนา อัปปนาสมาธิ คือเกิดฌานจิตนั้น ก็เป็นไปทำนองเดียวกับกรุณากัมมัฏฐาน

๙. มุทิตา เจริญได้เพียง จตุตถฌาน เช่นเดียวกับ เมตตา และกรุณา ดังที่ได้กล่าวแล้วนั้นอีกเหมือนกัน


อุเบกขากัมมัฏฐาน

สตฺเตสุมชฺฌตฺตาการปฺปวตฺติลกฺขณา มีอาการเป็นไปอย่างกลาง ในสัตว์ทั้งหลาย เป็นลักษณะ

สตฺเตสุสมภาวทสฺสนรสา มีการมองดูสัตว์ทั้งหลายด้วยความเสมอกัน เป็นกิจ

ปฏิฆานุนยวูปสมปจฺจุปฏฺฐานา มีความสงบจากความเกลียด และไม่มีความรักในสัตว์ทั้งหลาย เป็นอาการปรากฏแก่ผู้ที่ทำการพิจารณาอุเบกขา


หน้า ๕๑

กมฺมสฺสกา สตฺตา เต กมฺมสฺส รุจิยา สุขิตา วา ภิวสฺ สนฺติ ทุกฺขโต วา มุจฺจิสฺสนฺติ
ปตฺตสมฺปตฺติโต วา น ปริหายิสฺสนฺตีติ เอวํ ปวตฺตกมฺมสฺสกตาทสฺสนปทฏฺฐานา
ปัญญาที่พิจารณา เห็นการกระทำของตนเป็นของตนเองเป็นไปอย่างนี้ว่า "สัตว์ทั้งหลายมีการกระทำของตนเป็นของตนเอง สัตว์ทั้งหลายเหล่านั้น จะมีความสุขหรือพ้นจากความทุกข์ หรือจักไม่เสื่อมจากโภคสมบัติของตนที่มีอยู่เหล่านี้ ด้วยความประสงค์ของผู้ใดผู้หนึ่งนั้น ย่อมเป็นไปไม่ได้เลย" เป็นเหตุใกล้

ปฏิฆานุนยวูปสโม สมฺปตฺติ การสงบจากความเกลียด และไม่มีความรัก เป็นความสมบูรณ์ของอุเบกขา

เคหสิตาย อญฺญาณุเปกฺขาย สมฺภโว วิปตฺติ การเกิดขึ้นแห่งอญาณุเบก-ขา โดยอาศัยกามคุณอารมณ์ เป็นความเสื่อมเสียแก่อุเบกขา

อญาณุเปกฺขา อาสนฺน ปจฺจตฺถิกา การวางเฉยด้วยอำนาจแห่งโมหะ เป็นศัตรูใกล้

ราคปฏิฆา ทูรปจฺจตฺถิกา ราคะ และโทสะ เป็นศัตรูไกล

๑. โยคีผู้เจริญ อุเบกขากัมมัฏฐาน จะต้องเป็นผู้ที่ได้ถึงรูปาวจรจตุตถฌาน โดยอาศัย เมตตา กรุณา มุทิตา กัมมัฏฐาน อย่างหนึ่งอย่างใดมาเสียก่อน จึงจะเจริญอุเบกขากัมมัฏฐานต่อไปได้

๒. เริ่มต้นแผ่ให้แก่ มัชฌัตตบุคคลก่อน โดยบริกรรมว่า อิเม ปุคฺคลา กมฺมสฺสกา บุคคลทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน ความสุขก็ดี ความทุกข์ก็ดี ความไม่สูญเสียจากความสุขก็ดี ย่อมแล้วแต่กรรมของตน อาศัยผู้อื่นทำให้เป็นไปนั้นไม่ได้

๓. ต่อมาให้แผ่ให้แก่ ปิยบุคคล โดยบริกรรมว่า มม ปิยปุคฺคลา กมฺมสฺสกา บุคคลทั้งหลายอันเป็นที่รัก ย่อมมีกรรมเป็นของของตน ความสุขก็ดี ความทุกข์ก็ดี ความไม่สูญเสียจากความสุขก็ดี ย่อมแล้วแต่กรรมของตน อาศัยผู้อื่นทำให้เป็นไปนั้นไม่ได้

๔. จากนั้นแผ่ให้แก่ อติปิยบุคคล โดยบริกรรมว่า มม อติ ปิยปุคฺคลา กมฺมสฺสกา บุคคลที่เป็นที่รักใคร่เป็นอย่างมาก ย่อมมีกรรมเป็นของของตน อาศัยผู้อื่นทำให้เป็นไปนั้นไม่ได้

๕. ลำดับนั้นแผ่ให้แก่ เวรีบุคคล โดยบริกรรมว่า มม เวรีปุคฺคลา กมฺมสฺสกา บุคคลทั้งหลายที่เป็นศัตรูต่อข้าพเจ้า ย่อมมีกรรมเป็นของของตน อาศัยผู้อื่นทำให้เป็นไปนั้นไม่ได้

๖. การแผ่อุเบกขา มีหัวข้อที่พึงกำหนดแต่อย่างเดียว ดังกล่าวแล้วและแผ่ขยายให้กว้างออกไปได้เป็น ๓ นัยอย่างเดียวกับ กรุณา และมุทิตา ดังนั้นอุเบกขา จึงแผ่ไปได้ ๑๓๒ กระแสเท่านั้น อโนทิโสผรณาอุเบกขา แผ่อุเบกขาไปโดยไม่จำกัดบุคคล มี ๕ ฐาน แต่ละฐานมีกระแสเดียวจึงคงเป็น ๕ กระแส โอทิโสผรณาอุเบกขา แผ่อุเบกขาไปโดยจำกัดบุคคล มี ๗ ฐาน แต่ละฐานมีกระแสเดียวจึงคงเป็น ๗ กระแส ทิสาผรณาอุเบกขา แผ่อุเบกขาไปทั้งจำกัดบุคคล ๗ และไม่จำกัดบุคคล ๕ รวมเป็น ๑๒ ฐาน แผ่ไป ๑๐ ทิศ จึงเป็น ๑๒๐ กระแส
รวมทั้ง ๓ นัย ได้ ๑๓๒ กระแส จึงเป็นอันว่า การแผ่อุเบกขาทั้งหมดนั้นมีได้ ๑๓๒ กระแส


หน้า ๕๒

๗. การแผ่อุเบกขา ก็ต้องแผ่จนให้ถึง สีมสัมเภท เช่นเดียวกันทำนองเดียวกับเมตตา กรุณา มุทิตา นั้น

๘. การเจริญ อุเบกขา จนถึง อัปปนาภาวนา อัปปนาสมาธิ คือเกิดปัญจมฌานจิตนั้น ก็เป็นไปในทำนองเดียวกับ เมตตา กรุณา มุทิตา ดังที่กล่าวแล้วข้างต้นนี้อีกเหมือนกัน

๙. อุเบกขากัมมัฏฐาน เป็นการเจริญสมถภาวนาโดยเฉพาะ เพื่อให้เกิดปัญจมฌาน ฌานเดียวเท่านั้นเอง


อัปปมัญญากัมมัฏฐานถึงฌานไม่เท่ากัน

ผู้เจริญ เมตตา กรุณา มุทิตา กัมมัฏฐาน ๓ อย่างนี้ สำเร็จอย่างสูงได้เพียงรูปฌานเบื้องต่ำ ๔ คือแค่จตุตถฌาน เท่านั้นเอง ทั้งนี้เพราะ


เมตฺตาทโย ตโต ปุพฺพา โทมนสฺส ช นิสฺสท
โสมนสฺสา วิปฺปโยคา เหฏฺฐา จตุกฺกฌานิกา ฯ


พรหมวิหารเบื้องต้นทั้ง ๓ มี เมตตาเป็นต้น เหล่านี้เป็นเหตุให้พ้นจากโทสะอันเกิดจากโทมนัส จึงประกอบด้วยโสมนัสอยู่เสมอ แยกกันไม่ได้ ฉะนั้นจึงสำเร็จได้แต่รูปฌานเบื้องต่ำ ๔

มีความหมายว่า

เมตตากัมมัฏฐาน เป็นเหตุให้พ้นจาก การพยาบาทปองร้าย

กรุณากัมมัฏฐาน เป็นเหตุให้พ้นจาก วิหิงสาความเบียดเบียน

มุทิตากัมมัฏฐาน เป็นเหตุให้พ้นจาก อนภิรติ ความไม่ชื่นชมยินดีต่อความสุขความดีของผู้อื่น

อันการพยาบาทปองร้ายก็ดี ความเบียดเบียนซึ่งกันและกันก็ดี ความไม่ชื่นชมยินดีต่อความสุขหรือความดีของผู้อื่นก็ดี ธรรมเหล่านี้ก็ได้แก่ โทสะ อันเกิดจากโทมนัสเวทนา เมื่อได้เจริญกัมมัฏฐานอันเป็นเหตุให้พ้นจากโทสะ พ้นจากโทมนัสแล้ว จิตใจผู้นั้นย่อมจะต้องเกิดโสมนัส ด้วยเหตุนี้ ฌานที่เกิดจาก เมตตา กรุณา มุทิตา ภาวนาทั้ง ๓ นี้ จึงได้แต่เพียงรูปฌานเบื้องต่ำ ๔ ซึ่งเป็นฌานที่เกิดพร้อมด้วยโสมนัสเวทนา

ส่วนผู้ที่เจริญอุเบกขากัมมัฏฐาน สำเร็จได้เฉพาะรูปาวจรปัญจมฌานอย่างเดียว เพราะอุเบกขาพรหมวิหารนี้ มีการวางเฉยต่อสัตว์ทั้งหลาย แม้สัตว์นั้นจะกระทำสักการะบูชาตน ตนก็ไม่มีความยินดี จะกระทำร้ายตน ตนก็ไม่มีความยินร้าย ดังนี้ แม้ว่าในขณะเจริญอุเบกขากัมมัฏฐานนี้ เบื้องต้นที่ยังอยู่ในกามชวนะนั้นอาจจะเกิดพร้อมกับโสมนัสบ้าง อุเบกขาบ้างก็ตาม แต่เมื่อเข้าถึงอัปปนาชวนะแล้ว จะต้องเกิดพร้อมด้วยอุเบกขาเวทนา ด้วยเหตุนี้ อุเบกขาพรหมวิหาร จึงสามารถถึงรูปาวจรปัญจมฌานโดยเฉพาะอย่างเดียว


หน้า ๕๓

 

การเจริญอาหาเรปฏิกูลสัญญากัมมัฏฐาน

๑. กัมมัฏฐานบทนี้เป็นการพิจารณาอาหารด้วยความเป็นปฏิกูล พิจารณาโดยอาการ ๙ นัย คือ

(๑) โดยการไปหา ก็ต้องเหยียบย่ำไปในสิ่งปฏิกูล บางทีถึงกับต้องท่องน้ำย่ำโคลนเลอะเทอะน่าเกลียด

(๒) โดยการบริโภค ต้องเจือปนกับน้ำลายและมูลฟัน ถ้าเคี้ยวอาหารนั้นแล้วคายออกมาดูก็จะเห็นว่าน่าเกลียดมาก

(๓) โดยที่อยู่ เมื่อกลืนอาหารล่วงลำคอไปแล้ว ก็ไปอยู่ปนกับน้ำลาย น้ำเหลือง น้ำดี น้ำเลือด ล้วนเป็นสิ่งปฏิกูลด้วยกันทั้งนั้น

(๔) โดยเป็นของหมักหมม เพราะบริโภคเพิ่มเติมอยู่ทุกวันตลอดอายุ และไม่มีการชำระล้างลำไส้หรือกระเพาะแต่อย่างใด ๆ เลย ปล่อยให้หมักหมมอยู่ไม่รู้ว่ากี่ปี

(๕) โดยยังไม่ทันย่อย เมื่ออาหารที่กลืนกินเข้าไปนั้นยังไม่ทันย่อย อาจบูดเหม็น เพราะปะปนกันจนไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร

(๖) โดยย่อยแล้ว ก็เหลือแต่กาก ที่จะถ่ายออกมา แต่เมื่อยังไม่ทันถ่ายออก ถ้ามองแลเห็นคงจะขยะแขยงไม่น้อย

(๗) โดยผลของอาหาร อาหารส่วนมากย่อมสำเร็จผลมาจากเนื้อสัตว์ ซึ่งเท่ากับว่าบริโภคทรากอสุภะ อันเป็นสิ่งปฏิกูลทั้งนั้น

(๘) โดยการหลั่งใหล ขณะบริโภคเข้าไป กระทำโดยเปิดเผย มีความชื่นชมยินดี ร่าเริง และบริโภคทางปากช่องเดียว แต่เมื่อเวลาไหลออกมา ไหลออกมาเป็นหลายทาง เป็นขี้ไคล ขี้ตา ขี้หู เป็นอุจจาระ ปัสสาวะ ล้วนเป็นสิ่งปฏิกูล จึงต้องกระมิดกระเมี้ยน และมีความสะอิดสะเอียนมาก


หน้า ๕๔

(๙) โดยความเปรอะเปื้อน ในเวลาบริโภคก็เปรอะเปื้อน อย่างน้อยก็เปื้อนปาก เปื้อนมือ และในเวลาไหลออก ยิ่งเปื้อนเปรอะเลอะเทอะใหญ่ ล้วนแต่ปฏิกูลทั้งเข้าทั้งออก


๒. เมื่อได้กำหนดพิจารณาดังนี้ จะเห็นได้ว่า กพฬีการาหาร คือ อาหารที่กลืนกินเข้าไปล้วนแต่ปฏิกูล ยิ่งเห็นความปฏิกูลปรากฏชัดเท่าใด ก็จะคลายความกำหนัดยินดีในการบริโภค ไม่บริโภคด้วยความอยาก ด้วยหวังความเอร็ดอร่อย แต่บริโภคเพื่อบรรเทาความทุกข์เวทนาที่เกิดจากความหิว ดังที่ว่ากันเพื่อเป็นเครื่องเตือนใจว่า อยากอย่ากิน หิวจึงกิน

๓. การเจริญอาหาเรปฏิกูลสัญญากัมมัฏฐานนี้ อย่างมากก็ได้เพียงอุปจารภาวนาเท่านั้น ไม่สามารถที่จะถึงอัปปนาภาวนา คือถึงฌานได้


การเจริญจตุธาตุววัตถานกัมมัฏฐาน

๑. กัมมัฏฐานบทนี้ได้แก่ การกำหนดพิจารณาธาตุ ๔ อันได้แก่ ปฐวี อาโป เตโช วาโย บางทีก็เรียกว่า ธาตุกัมมัฏฐาน หรือเรียก ธาตุมนสิการะ (การใฝ่ใจในธาตุ) ก็มี ซึ่งมีความหมายเป็นอย่างเดียวกันทั้ง ๓ ชื่อ

๒. ถ้ากำหนดพิจารณาธาตุทั้ง ๔ ถึงลักษณะของธาตุนั้น ๆ อย่างที่เรียกว่าพิจารณาโดยความเป็นปรมัตถว่า ปฐวีมีลักษณะแข็งและอ่อน อาโปมีลักษณะเกาะกุมและไหล เตโชมีลักษณะเย็นและร้อน วาโยมีลักษณะเคร่งตึงและไหว อย่างนี้เป็นวิปัสสนาภาวนา

๓. ถ้ากำหนดพิจารณาธาตุทั้ง ๔ ถึง สสัมภาระ คือ ที่มีสะสมอยู่ภายในร่างกายก็ดี ภายนอกก็ดี พิจารณาโดยความเป็นบัญญัติ หน่วงมาเป็นอารมณ์ มาเป็นนิมิต มีบริกรรมนิมิต อุคคหนิมิต ปฏิภาคนิมิต อย่างนี้ก็เป็นสมถภาวนา สมถกัมมัฏฐาน

๔. ในการกำหนดธาตุนี้ มีความพิสดารมาก ในที่นี้จะขอกล่าวแต่โดยย่อ พอเป็นตัวอย่างเท่านั้น คือ

(๑) พิจารณาโดยเนื้อความ คือ ให้รู้ชื่อ รู้ความหมาย รู้ความทรงไว้ของธาตุนั้น ๆ

(๒) พิจารณาโดยเป็นหมวด ๆ คือ ในร่างกายคนเรานี้ หมวดธาตุดิน มี ๒๐, ธาตุน้ำ ๑๒, ธาตุไฟมี ๔, ธาตุลมมี ๖, รายละเอียดแจ้งในปริจเฉทที่ ๖ ตอนมหาภูตรูป ๔ นั้นแล้ว ธาตุดิน ๒๐ มี ผม, ขน, เล็บ, ฟัน, หนัง, เนื้อ, เอ็น, กระดูก, เยื่อในกระดูก, ม้าม, หัวใจ, ตับ, พังผืด, ไต, ปอด, ไส้ใหญ่, ไส้น้อย, อาหารใหม่, อาหารเก่า, มันสมอง ธาตุน้ำ ๑๒ มี ดี, เสมหะ, หนอง, เลือด, เหงื่อ, มันข้น, น้ำตา, มันเหลว, น้ำลาย, น้ำมูก, ไขข้อ, น้ำมูตร ธาตุไฟ ๔ มี อุสมาเตโช ไฟที่ทำให้ร่างกายอบอุ่นพอสบาย, ปาจกเตโช ไฟที่ย่อยอาหาร, ชิรณเตโช ไฟที่บ่มให้ร่างกายทรุดโทรมเหี่ยวแห้ง, สันตาปนเตโช ไฟที่ทำให้ร้อนเป็นไข้ได้ป่วย ธาตุลม ๖ มี ลมที่พัดขึ้นเบื้องบน, ลมที่พัดลงสู่เบื้องต่ำ, ลมที่อยู่ในช่องท้อง, ลมที่อยู่ในลำไส้, ลมที่พัดอยู่ทั่วร่างกาย, ลมหายใจเข้าออก

(๓) พิจารณาโดยความที่อาศัยกัน คือ ปฐวีธาตุเป็นที่รองรับไว้ให้ตั้งอยู่ได้ อาโปธาตุเกาะกุมยึดไว้ไม่ให้กระจัดกระจาย เตโชรักษาไว้ไม่ให้เน่าเปื่อยไป วาโยทำให้ทรงอยู่และเคลื่อนไหวไปมาได้


หน้า ๕๕

(๔) พิจารณาโดยลักขณาทิจตุกะ คือ ลักษณะ หน้าที่การงาน ผลปรากฏ และเหตุใกล้ที่ให้เกิดธาตุนั้น ๆ

(๕) พิจารณาโดยสมุฏฐาน ว่าอาการ ๓๒ ของมนุษย์นั้น อาการใดเกิดจากอะไรเป็นสมุฏฐาน

(๖) พิจารณาโดยความต่างกันและเหมือนกัน ต่างกันเพราะ ลักขณาทิจตุกะต่างกัน สมุฏฐานก็ต่างกัน เหมือนกันเพราะเป็นรูปเหมือนกัน แตกดับด้วยความเย็นความร้อนเหมือนกัน

(๗) พิจารณาโดยความเกิดร่วมกัน ธาตุทั้ง ๔ นี้จะต้องเกิดร่วมกันเสมอในที่ทุกสถานในกาลทุกเมื่อ

(๘) พิจารณาโดยความเป็นภายในและภายนอก เหล่านี้เป็นต้น

ความละเอียดนั้นหาดูได้ในวิสุทธิมัคค ตอนสมาธินิเทศ


๕. การเจริญจตุธาตุววัตถานกัมมัฏฐาน โดยความเป็นสมถภาวนานี้ สามารถให้ถึงได้เพียงอุปจารภาวนาเท่านั้น ไม่สามารถเจริญได้ถึงอัปปนาภาวนา คือถึงฌานได้


การเจริญอรูปกัมมัฏฐาน

๑. อรูปกัมมัฏฐาน หมายถึง เอาอารมณ์ที่ไม่มีรูปเป็นที่ตั้งแห่งการงานทางใจ ที่เจาะจงเอาอารมณ์ที่ไม่มีรูปนั้น ก็เพราะปรารถนาจะไปเกิดในภูมิที่ไม่มีรูป ให้มีแต่เพียงนามเท่านั้น ที่ปรารถนาเช่นนี้ด้วยเหตุผลของบุคคล ๒ พวก

๒. พวกหนึ่งมีความสำคัญว่า บุคคลที่จะทุกข์ก็เพราะมีรูปกายเป็นสื่อนำทุกข์มาให้ เช่น การตีรันฟันแทงกันก็ดี เป็นโรคภัยไข้เจ็บก็ดี เกิดความหิว ความกระหายก็ดี ตลอดจนการกำหนัดรักใคร่ซึ่งกันและกันก็ดี ล้วนแต่เกิดเนื่องมาจากรูปร่างกายทั้งสิ้น ถ้าปราศจากรูปร่างกายแล้ว สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ ก็จะไม่เกิด เพราะไม่มีที่อาศัยให้เกิด ก็เกิดเบื่อหน่ายในรูปร่างกาย จึงปรารถนาจะเป็นบุคคลที่ไม่มีรูป มีแต่จิตใจเท่านั้น

๓. อีกพวกหนึ่งไม่ได้ปรารภถึงโทษของรูปร่างกายอย่างที่กล่าว แต่เห็นว่าฌานที่ต้องอาศัยรูปเป็นอารมณ์นั้น หยาบกว่าฌานที่ไม่ใช้รูปเป็นอารมณ์ สมาธิที่เกิดจากรูปก็ต้องหยาบกว่าสมาธิที่เกิดจากสิ่งที่ไม่ใช่รูป ดังนั้น สมาธิที่เกิดจากอรูปฌานต้องมีกำลังมั่นคงและประณีตมาก ปรารถนาจะได้ฌานที่ประณีตยิ่ง และมีกำลังมั่นคง จึงเจริญอรูปกัมมัฏฐาน


หน้า ๕๖

๔. ผู้ที่จะเจริญอรูปกัมมัฏฐาน จะต้องเป็น รูปาวจรปัญจมฌานลาภีบุคคล คือบุคคลที่ได้รูปฌาน ๕ มาแล้ว และมีวสีภาวะในฌานทั้ง ๕ นั้นโดยสมบูรณ์เป็นอย่างดีด้วย จึงจะเจริญอรูปกัมมัฏฐานได้ อรูปกัมมัฏฐานมี ๔ ได้แก่

ก. กสิณุคฆาฏิมากาสบัญญัติ เป็นอรูปกัมมัฏฐานให้ถึง อากาสานัญจายตนฌาน

ข. อากาสานัญจายตนฌาน เป็นอรูปกัมมัฏฐานให้ถึง วิญญาณัญจายตนฌาน

ค. นัตถิภาวบัญญัติ เป็นอรูปกัมมัฏฐานให้ถึง อากิญจัญญายตนฌาน

ง. อากิญจัญญายตนฌาน เป็นอรูปกัมมัฏฐานให้ถึง เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน


๕. ผู้ต้องการถึง อากาสานัญจายตนฌาน ต้องกระทำอากาสบัญญัติที่ได้มาจากการเพิกกสิณทั้ง ๙ (เว้นอากาสกสิณ) ให้เป็นอารมณ์ อากาสบัญญัติที่ได้มาจากเพิกกสิณแล้วนั้น มีชื่อว่า กสิณุคฆาฏิมากาสบัญญัติ ซึ่งบางทีก็เรียกกันสั้น ๆ ว่า อากาสบัญญัติ เท่านั้นก็ได้ หน่วงเอากสิณุคฆาฏิมากาสบัญญัติเป็นอารมณ์ โดยบริกรรมในใจว่า อากาโส อนนฺโต อากาโส อนนฺโต อากาสไม่มีที่สิ้นสุด

คำว่า อากาสไม่มีที่สิ้นสุดนี้ มีความหมายว่า ธรรมดาอากาสนั้นเป็นบัญญัติ ไม่ใช่ปรมัตถ ฉะนั้นจึงไม่มีเบื้องต้น คือ การอุบัติขึ้น และไม่มีเบื้องปลาย คือการดับไป นี่แหละที่เรียกว่า อนนฺโต ส่วนการบริกรรมนั้น
จะใช้แต่เพียง อากาโส อากาโส หรือ อากาสํ อากาสํ เท่านี้ก็ได้

อนึ่ง ใน มิลินทปัญหา นิพพานปัญหา ได้แสดงคุณของอากาสไว้ ๑๐ ประการ ดังนี้

(๑) น ชียติ ไม่แก่

(๒) น มียติ ไม่ตาย

(๓) น จวติ ไม่จุติ

(๔) น อุปฺปชฺชติ ไม่เกิด

(๕) อปฺปสยฺหํ ไม่มีใครข่มเหง

(๖) อโคจรคหณียํ ไม่มีโจรลัก

(๗) อนิสฺสิตํ ไม่มีที่พึ่งอาศัย

(๘) วิหงฺคคมนํ เป็นทางไปของเหล่าวิหงค์(สัตว์ที่ไปในอากาศเวหา)

(๙) นิราวรณํ ไม่มีอะไรกั้น

(๑๐) อนฺนตํ ไม่มีแดนที่สุด


หน้า ๕๗

๖. เมื่อบริกรรมว่า อากาสไม่มีที่สิ้นสุด โดยไม่พะวงถึงนิมิตของกสิณที่จะเพิก แต่มาใฝ่ใจในความว่างเปล่าของอากาสบัญญัติ การใฝ่ใจย่อมทวีกำลังมากขึ้น สติก็จะตั้งมั่นด้วยอุปจารสมาธิ ครั้นสติตั้งมั่นแน่แน่วจนสามารถเพิกปฏิภาคนิมิตแห่งกสิณ ซึ่งเป็นนิมิตกัมมัฏฐานที่ติดแนบแน่นใจอยู่นั้นเสียได้โดยเด็ดขาดในเวลาใด อากาสบัญญัติก็ปรากฏขึ้นในเวลานั้น อากาสานัญจายตนฌานก็เกิดขึ้นพร้อมกันในทันทีนั้นด้วย เป็นอันว่าโยคีผู้นั้นถึงซึ่งอัปปนาสมาธิ สำเร็จเป็นอากาสานัญจายตนฌานลาภีบุคคล

๗. อากาสานัญจายตนฌานนี้ มีชื่อเรียกได้เป็น ๓ อย่าง คือ อรูปฌาน ๑ อากาสานัญจายตนฌาน ๑ และ ปฐมารุปปฌาน ๑

ที่เรียกว่า อรูปฌาน เพราะว่า ปัญจมฌานลาภีบุคคลนี้มิได้สนใจเพ่งปฏิภาคนิมิตที่เป็นรูปเป็นอารมณ์แต่ประการใดเลย เมื่อฌานจิตเกิดขึ้น ฌานจิตนี้ก็ปราศจากรูปเป็นอารมณ์ ดังนั้นจึงเรียกว่า อรูปฌาน

ที่เรียกว่า อากาสานัญจายตน เพราะว่าฌานจิตนี้มีความมั่นคง ตั้งอยู่โดยไม่หวั่นไหว เกิดขึ้นโดยอาศัยากาสบัญญัติ ซึ่งไม่ปรากฏเบื้องต้น คือ ความเกิด เบื้องปลายคือความดับนั้นอยู่ที่ไหน ดังนั้นจึงเรียกว่า อากาสานัญจายตนฌาน

ที่เรียกว่า ปฐมารุปปฌาน เพราะว่าภายหลังที่ได้เว้นจากบัญญัติกัมมัฏฐานที่เกี่ยวกับรูปได้แล้ว หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า ได้ก้าวล่วงอารมณ์ที่เป็นรูปกัมมัฏฐานได้แล้ว และมาถึงฌานที่มีอารมณ์อันไม่ใช่รูปเป็นอันดับแรก เป็นอันดับที่ ๑ จึงได้ชื่อว่า ปฐมารุปปฌาน

๘. อากาสานัญจายตนฌานลาภีบุคคล ผู้มีวสีภาวะทั้ง ๕ ในอากาสานัญจายตนฌาน คล่องแคล่วเป็นอย่างดีแล้ว จึงจะสามารถเจริญสมถภาวนา เพื่อให้ถึงวิญญาณัญจายตนฌานได้

๙. ในการเจริญให้ถึง วิญญาณัญจายตนฌาน ก็มีนัยเป็นทำนองเดียวกับ อากาสานัญจายตนฌาน คือ ชั้นต้นต้องไม่พะวง กสิณุคฆาฏิมากาสบัญญัติ คือ อากาสบัญญัติ แต่ให้ไปใส่ใจในอากาสานัญจายตนฌาน ที่ตนถึงแล้วและดับไปแล้วนั้น โดยการพยายามพรากใจออกจากอากาสบัญญัตินั้นเสีย พากเพียรยึดหน่วงให้อากาสานัญจายตนฌานมาปรากฏแทน โดยบริกรรมว่า วิญฺญาณํ อนนฺตํ วิญฺญาณํ อนนฺตํ หรือ วิญฺญาณํ วิญฺญาณํ มีความหมายว่า หน่วงเอาวิญญาณ คือตัวที่รู้ว่าอากาศไม่มีที่สิ้นสุดนั้นมาเป็นอารมณ์


หน้า ๕๘

๑๐. เมื่อพยายามเจริญอยู่อย่างนี้เรื่อย ๆ ไป จนจิตใจปราศจากนิกันติตัณหาในกสิณุคฆาฏิมากาสบัญญัติ คือ อากาสบัญญัติ ก็ได้ชื่อว่า ภาวนาจิตนั้นขึ้นสู่ขั้น อุปจาระ แล้ว

๑๑. เจริญภาวนาต่อไป จนอากาสบัญญัติที่เป็นนิมิตกัมมัฏฐานสูญหายไปจากใจ ก้าวล่วงอารมณ์ที่เป็นอากาสบัญญัติ ซึ่งแนบแน่นในจิตใจเสียได้ในเวลาใดแล้ว เวลานั้นแหละ อากาสานัญจายตนฌานก็ปรากฏเป็นอารมณ์ขึ้นแทน จิตที่มีอากาสานัญจายตนฌานเป็นอารมณ์นี่แหละ มีชื่อว่า วิญญาณัญจายตนฌานจิต บุคคลที่ได้ที่ถึงวิญญาณัญจายตนฌานจิตนั้น เรียกว่า วิญญาณัญจายตนฌานลาภีบุคคล

๑๒. วิญญาณัญจายตนฌาน เรียกว่า ทุติยารุปปฌาน ก็ได้ อันมีความหมายว่า เป็นการได้การถึงฌานที่มีอารมณ์อันไม่ใช่รูป คือ อรูปฌาน เป็นอันดับที่ ๒ เป็นขั้นที่ ๒

๑๓. ผู้ต้องการเจริญสมถภาวนา เพื่อให้ถึง อากิญจัญญายตนฌาน จะต้องเป็น วิญญาณัญจายตนฌานลาภีบุคคล ผู้มีวสีในวิญญาณัญจายตนฌานนั้นจนชำนาญคล่องแคล่วทั้ง ๕ ประการ

๑๔. การเจริญให้ถึง อากิญจัญญายตนฌาน ก็มีนัยเป็นทำนองเดียวกับ วิญญาณัญจายตนฌาน กล่าวคือชั้นต้นต้องเลิกพะวงถึงการเอาอากาสานัญจายตนฌานมาเป็นอารมณ์ พยายาม พรากอารมณ์ที่เป็นอากาสานัญจายตนฌานนั้นให้ได้ ด้วยการหน่วงเอา นัตถิภาวบัญญัติ หรือ อภาวบัญญัติ คือ ความไม่มีอะไรมาเป็นอารมณ์ โดยบริกรรมว่า นตฺถิ กิญฺจิ นตฺถิ กิญฺจิ นิดหนึ่งก็ไม่มี หน่อยหนึ่งก็ไม่มี ถือเอาความไม่มีมาเป็นอารมณ์ มีความหมายว่า ไม่มีอากาสานัญจายตนฌานมาเป็นอารมณ์ แม้แต่สักนิดเดียวหน่อยเดียวก็ไม่มี อันเป็นการพยายามก้าวล่วงอารมณ์ของทุติยารุปปฌาน ซึ่งเป็น ธมฺมนิยม คือ เป็นธรรมเนียม เป็นภาวะตามธรรมชาติของอรูปฌานชั้นที่สูงกว่า ย่อมก้าวล่วงอารมณ์ของอรูปฌานชั้นที่ต่ำกว่า ตามลำดับไป

๑๕. เมื่อได้พยายามบริกรรมนัตถิ กิญจิ อยู่เรื่อยๆ ไปจนจิตใจปราศจากความติดใจยินดีใน
อากาสานัญจายตนฌาน ก็ได้ชื่อว่า ภาวนาจิตนั้นขึ้นสู่ขั้นอุปจาระแล้ว

๑๖. ครั้นเจริญภาวนาต่อไปจนอากาสานัญจายตนฌาน ที่เป็นนิมิตกัมมัฏฐาน สูญหายไปจากใจ ก้าวล่วงอารมณ์ที่เป็นอากาสานัญจายตนฌาน ซึ่งแนบแน่นในจิตใจเสียได้แล้วในเวลาใดเวลานั้นแหละนัตถิกิญจิ ก็ปรากฏเป็นอารมณ์ขึ้นมาแทน จิตที่มีนัตถิกิญจิเป็นอารมณ์นี้ก็คือ อากิญจัญญายตนฌาน เป็นฌานที่มีความไม่มีเป็นอารมณ์ โยคีที่ได้ที่ถึง อากิญจัญญายตนฌานนี้เรียกว่า อากิญจัญญายตนฌานลาภีบุคคล


หน้า ๕๙

๑๗. อากิญจัญญายตนฌาน เรียกว่า ตติยารุปปฌาน ก็ได้ ซึ่งมีความหมายว่า เป็นการได้การถึงฌานที่มีอารมณ์อันมิใช่รูป คือ อรูปฌาน เป็นอันดับที่ ๓ เป็นขั้นที่ ๓

๑๘. อากิญจัญญายตนฌานลาภีบุคคล ผู้ที่ได้ฝึกฝนตนเองจนชำนิชำนาญในวสีภาวะทั้ง ๕ แห่ง อากิญจัญญายตนฌานโดยสมบูรณ์เป็นอย่างดีแล้ว จึงจะสามารถเจริญสมถภาวนาให้ถึง
เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน ได้

๑๙. ต้องเริ่มเจริญโดยการพยายามพรากใจออกมาจาก หรือให้ก้าวล่วงจาก นัตถิภาวบัญญัติ แต่ให้หน่วงเอาอากิญจัญญายตนฌานเป็นอารมณ์ กล่าวอีกนัยหนึ่งว่า ให้ทิ้งอารมณ์ของอากิญจัญญายตนฌาน คือนัตถิภาวบัญญัติเสีย และให้จับจิตที่มีอารมณ์ นัตถิภาวบัญญัติ คือ อากิญจัญญายตนฌานจิตนั้นมาเป็นอารมณ์ในการบริกรรม โดยบริกรรมว่า เอตํ สนฺตํ เอตํ ปณีตํ สงบหนอ ประณีตหนอ หรือ สนฺตํ สนฺตํ ปณีตํ ปณีตํ เท่านี้ก็ได้

ที่บริกรรมว่า สงบหนอ ประณีตหนอ เพราะอากิญจัญญายตนฌาน จิตที่หน่วงเอาความไม่มีมาเป็นอารมณ์นั้น เป็นจิตที่มีสัญญาที่ละเอียดมาก ประณีตมาก และสงบมากด้วย สัญญานั้นสงบและประณีตมากจนแทบจะไม่รู้สึกว่ามี

๒๐. เมื่อบริกรรมดังกล่าวนี้ ด้วยความพยายามเรื่อยไปไม่ทอดทิ้ง จนจิตใจปราศจากความยินดีหมดความติดใจใน นัตถิภาวบัญญัติ ก็ได้ชื่อว่า ภาวนาจิตนั้นขึ้นสู่ขั้น อุปจาระแล้ว

๒๑. ครั้นเจริญภาวนาต่อไป จนนัตถิภาวบัญญัติ ที่เป็นนิมิตกัมมัฏฐานแก่อากิญจัญญายตนฌานนั้น ปราศจากไปจากจิตใจแล้ว ก้าวล่วงนัตถิภาวบัญญัติอารมณ์ ซึ่งแนบแน่นในจิตใจเสียได้ในเวลาใดแล้ว เวลานั้นแหละ อากิญจัญญายตนฌาน ก็จะปรากฏเป็นอารมณ์ขึ้นมาแทน นัตถิภาวบัญญัติจิตที่มี อากิญจัญญายตนฌานเป็นอารมณ์นี้เอง ที่เรียกว่า เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน บุคคลที่ได้ที่ถึงเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน นี่แหละที่มีชื่อว่า เนวสัญญานาสัญญายตนฌานลาภีบุคคล

๒๒. ที่เรียกว่า เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน นั้นมีความหมายว่า เป็นฌานที่ไม่มีสัญญาหยาบ มีแต่สัญญาที่ละเอียดที่ประณีต สมกับที่บริกรรมว่า สงบหนอ ประณีตหนอ อีกนัยหนึ่งมีความหมายว่า เป็นฌานที่จะว่าไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่ จะว่ามีสัญญาก็ไม่เชิง


หน้า ๖0

๒๓. เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน เรียกว่า จตุตถารุปปฌาน ก็ได้ ซึ่งมีความหมายว่าเป็นอรูปฌานอันดับที่ ๔ ขั้นที่ ๔ อันเป็นอันดับที่สูงสุดแห่งอรูปฌาน และสูงสุดในบรรดาฌานสมาบัติทั้ง ๙

๒๔. ขอกล่าวย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า การเจริญอรูปกัมมัฏฐานนี้ แม้ว่าจะเจริญให้ถึงฌานได้ก็ดี แต่เมื่อกล่าวโดยนิมิตแล้ว มีเพียง อุคคหนิมิตเท่านั้น ไม่ถึงปฏิภาคนิมิต กล่าวโดยภาวนา ถึงอัปปนาภาวนา กล่าวโดยสมาธิก็ถึงอัปปนาสมาธิ


อภิญญา


๘. ฐิตา ภิญฺญาปาท กนฺตุ ฌานํ รูโป จรนฺติมํ
ตญฺจ ฌานา วุฏฺฐายาธิฏฺ เฐยฺยาทิกํ วิจินฺติย ฯ


๙. ตํ ลาภาย ปริกมฺมํ กุพฺพโต ฌานลาภิโน
รูปาทิสฺวาลมฺพเนสุ สมปฺเปติ ยถารหํ ฯ


ก็ฌาน มีรูปาวจรเป็นที่สุด มีอภิญญาเป็นบาทที่ตั้ง ย่อมแนบแน่นด้วยดีในอารมณ์ มีรูปารมณ์เป็นต้น ตามควรแก่พระโยคาวจรผู้มีปกติได้ฌาน ผู้ออกจากฌานนั้นแล้วพิจารณา ซึ่งอารมณ์อันตนพึง อธิฏฐาน เป็นต้น ทำบริกรรมอยู่เพื่อให้ได้ซึ่งอภิญญานั้นมีความหมายว่า เมื่อผู้ได้ฌานสมาบัติปรารถนาทำอภิญญา ต้องเข้ารูปาวจร ปัญจมฌาน อันเป็นที่สุดแห่งรูปาวจรก่อน ออกจากรูปาวจรปัญจมฌานแล้วจึงอธิฏฐาน ตั้งความปรารถนาที่ตนประสงค์ให้เกิดอภิญญา
เพื่อแสดงฤทธิอย่างนั้น ๆ อธิฏฐานแล้วก็เข้ารูปาวจรปัญจมฌานอีก เพื่อเป็นบาทให้เกิดอภิญญา ลำดับนั้นอภิญญาจิตก็จะเกิดและสำแดงฤทธิได้ตามประสงค์ จนสุดกำลังแห่งอภิญญา

ถ้าอภิญญาจิตยังไม่เกิด ให้ตั้งต้นเข้ารูปาวจรปัญจมฌานใหม่ ทำการอธิฏฐานอีก แล้วเข้ารูปาวจรปัญจมฌาน เพื่อเป็นบาทให้เกิดอภิญญา ทำอย่างนี้จนกว่าอภิญญาจะเกิด ด้วยเหตุนี้จึงกล่าวว่ามีรูปาวจรเป็นที่สุด คือต้องอาศัยรูปาวจรปัญจมฌาน จึงจะเกิดอภิญญาได้

วิถีจิตที่ให้เกิดอภิญญานั้น ได้กล่าวแล้วในคู่มือปริจเฉทที่ ๔ ที่แสดงวิถีจิต ตอนอภิญญาวิถี


๑. ต้องเข้ารูปาวจรปัญจมฌานก่อน เพื่อเป็นบาทให้จิตมีกำลังกล้าแข็ง ซึ่งเรียกว่า ปาทกฌานวิถี วิถีจิตเป็นดังนี้

ภ น ท มโน ปริ อุป อนุ โค ฌ ฌ ฌ ฌ ฌ ภ


๒. แล้วก็อธิฏฐาน คือ ตั้งความปรารถนา ความมุ่งมั่นอันแน่วแน่มั่นคงอย่างแรงกล้า ว่าประสงค์อภิญญาอย่างใด ซึ่งเรียกชื่อว่า อธิฏฐานวิถี เป็นกามวิถี ดังนี้

ภ น ท มโน ช ช ช ช ช ช ช ภ


๓. ต่อจากนั้นก็เข้ารูปาวจรปัญจมฌานอีก เรียก ปาทกฌานวิถีเหมือนกัน วิถีจิตเป็นดังนี้

ภ น ท มโน ปริ อุป อนุ โค ฌ ฌ ฌ ฌ ฌ ภ


๔. ลำดับสุดท้าย อภิญญาจิตก็จะเกิดขึ้นตามความปรารถนาที่ได้อธิฏฐานนั้น วิถีนี้จะเกิดอภิญญาจิตขณะเดียวเท่านั้น ดังนี้

ภ น ท มโน ปริ อุป อนุ โค อภิญญา ภ


การอบรมสมาธิเพื่ออภิญญา

๑. ผู้ที่มีอภิญญาได้นั้น ตามปกติต้องเป็นผู้ที่ได้ฌานและมีวสีภาวะจนสามารถเข้าฌานสมาบัติได้ทั้งรูปฌานและอรูปฌาน ครบถ้วนทั้ง ๙ ฌาน มีบ้างเป็นส่วนน้อยที่ได้เพียง รูปฌานสมาบัติ ๕ ก็มีอภิญญาได้ แต่ว่า ฌานลาภี ที่ได้ไม่ถึงรูปฌานทั้ง ๕ นั้น ยังไม่ปรากฏว่ามีอภิญญา


หน้า ๖๑

๒. แม้แต่ ฌานลาภีบุคคลที่ได้ฌานสมาบัติทั้ง ๙ แล้ว จะมีอภิญญาโดยทั่วหน้าก็หาไม่ จะมีอภิญญาได้ก็ต่อเมื่อได้ฝึกฝนอบรมกันเป็นพิเศษอีกถึง ๑๔ นัยก่อน ดังต่อไปนี้

(๑) กสิณานุโลมโต เข้าฌานตามลำดับกสิณ ชั้นแรกเข้าฌานใดฌานหนึ่งด้วยปฐวีกสิณ ออกแล้วเข้าฌานนั้นด้วยอาโปกสิณ แล้วเตโช วาโย ต่อ ๆ ไปตามลำดับ จนกระทั่งถึงโอทาตกสิณ ฝึกอย่างนี้ตั้ง ๑๐๐ ครั้ง ๑๐๐๐ ครั้ง จนกว่าจะเป็น วสี (ดิน น้ำ ไฟ ลม สีเขียว สีเหลือง สีแดง สีขาว)

(๒) กสิณปฏิโลมโต เข้าฌานย้อนกสิณ เริ่มต้นเข้าฌานใดฌานหนึ่งด้วย โอทาตกสิณ ออกแล้ว ย้อนมาเข้าด้วยโลหิตกสิณ ย้อนมาปีตกสิณ ย้อนมานีลกสิณ ย้อนมาต้นเรื่อยไปจนถึงปฐวีกสิณ ฝึกจนให้ชำนิชำนาญเป็นอย่างดียิ่ง

(๓) กสิณานุโลมปฏิโลมโต เข้าฌานใดฌานหนึ่งตามลำดับกสิณและย้อนกสิณ คือ ทำอย่าง (๑) หนึ่งเที่ยว แล้วทำอย่าง (๒) หนึ่งเที่ยว แล้วทำ (๑), (๒), (๑), (๒), สลับกันเช่นนี้ไปจนกว่าจะเป็นวสี

(๔) ฌานานุโลมโต เข้าตามลำดับฌาน โดยเริ่มแต่ปฐมฌาน แล้วทุติยฌาน ตติยฌาน เรื่อยไปจนถึงเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน ฝึกอย่างนี้จนเป็นวสี

(๕) ฌานปฏิโลมโต เข้าย้อนลำดับของฌาน ตั้งต้นที่เนวสัญญานาสัญญายตนฌานแล้วย้อนทวนมา อากิญจัญญายตนฌาน วิญญาณัญจายตนฌาน ทวนมาถึงต้นจนถึง ปฐมฌาน จนกว่าจะเป็นวสี

(๖) ฌานานุโลมปฏิโลมโต เข้าตามลำดับฌาน และย้อนลำดับฌาน คือ ทำอย่าง (๔) หนึ่งเที่ยว จบแล้วทำอย่าง (๕) หนึ่งเที่ยว แล้วทำ (๔), (๕), (๔), (๕), อย่างละเที่ยวสลับกันไป จนกว่าจะเป็นวสี

(๗) ฌานุกฺกนฺติกโต เข้าฌานโดยข้ามลำดับของฌาน คือ

เข้าปฐมฌาน โดยเพ่งปฐวีกสิณ

ข้ามทุติยฌานไปเข้า ตติยฌาน โดยเพ่งปฐวีกสิณ

ข้ามจตุตถฌานไปเข้า ปัญจมฌาน โดยเพ่งปฐวีกสิณ

ข้ามอากาสานัญจายตนฌานไปเข้า วิญญาณัญจายตนฌาน โดยเพ่ง วิญฺญาณํ อนนฺตํ

ข้ามอากิญจัญญายตนฌานไปเข้า เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน โดยเพ่ง เอตํ สนฺตํ เอตํ ปณีตํ ต้องฝึกอบรมอย่างนี้จนกว่าจะเป็นวสี


หน้า ๖๒

(๘) กสิณุกฺกนฺติกโต เข้าฌานโดยข้ามลำดับกสิณ คือ

เพ่งปฐวีกสิณ เข้าปฐมฌาน

ข้ามอาโปกสิณ เลยไปเพ่งเตโชกสิณ เข้าปฐมฌาน

ข้ามวาโยกสิณ เลยไปเพ่ง นีลกสิณ เข้าปฐมฌาน

ข้ามปีตกสิณ เลยไปเพ่ง โลหิตกสิณ เข้าปฐมฌาน ฝึกอย่างนี้จนเป็นวสี

(๙) ฌานกสิณุกฺกนฺติกโต ข้ามทั้งกสิณและข้ามทั้งฌานด้วย คือ

เพ่ง ปฐวีกสิณ เข้า ปฐมฌาน

เพ่ง เตโชกสิณ เข้า ตติยฌาน

เพ่ง นีลกสิณ เข้า ปัญจมฌาน

เพ่ง วิญฺญาณํ อนฺนตํ เข้า วิญญาณัญจายตนฌาน

เพ่ง เอตํ สนฺตํ เอตํ ปณีตํ เข้า เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน อบรมจนเป็นวสี

(๑๐) องฺคสงฺกนฺติโต เข้ารูปฌาน ๕ โดยก้าวล่วงองค์ฌานไปตามลำดับ คือ

เพ่งกสิณเป็นอารมณ์ เข้าปฐมฌาน ซึ่งมีองค์ฌาน ๕

เพ่งกสิณเป็นอารมณ์ เข้าทุติยฌาน ซึ่งมีองค์ฌาน ๔ โดยก้าวล่วงวิตก

เพ่งกสิณเป็นอารมณ์ เข้าตติยฌาน ซึ่งมีองค์ฌาน ๓ โดยก้าวล่วงวิจาร ได้อีก

เพ่งกสิณเป็นอารมณ์ เข้าจตุตถฌาน ซึ่งมีองค์ฌาน ๒ โดยก้าวล่วงปีติ ได้อีก

เพ่งกสิณเป็นอารมณ์ เข้าปัญจมฌาน ซึ่งมีองค์ฌาน ๒ โดยก้าวล่วงสุข ได้อีก

ฝึกจนเป็นวสี

(๑๑) อารมฺมณสงฺกนฺติโต เข้าฌานโดยเปลี่ยนอารมณ์กัมมัฏฐาน คือ เพ่ง ปฐวีกสิณเป็นอารมณ์กัมมัฏฐาน
เข้าปฐมฌาน

แล้วเปลี่ยนเป็นเพ่ง อาโปกสิณ เป็นอารมณ์กัมมัฏฐาน เข้าปฐมฌาน

แล้วเปลี่ยนเป็นเพ่ง เตโชกสิณ เป็นอารมณ์กัมมัฏฐาน เข้าปฐมฌาน

แล้วเปลี่ยนเป็นเพ่ง วาโยกสิณ เป็นอารมณ์กัมมัฏฐาน เข้าปฐมฌาน

แล้วเปลี่ยนเป็นเพ่ง นีลกสิณ เป็นอารมณ์กัมมัฏฐาน เข้าปฐมฌาน

แล้วเปลี่ยนเป็นเพ่ง ปีตกสิณ เป็นอารมณ์กัมมัฏฐาน เข้าปฐมฌาน

แล้วเปลี่ยนเป็นเพ่ง โลหิตกสิณ เป็นอารมณ์กัมมัฏฐาน เข้าปฐมฌาน

แล้วเปลี่ยนเป็นเพ่ง โอทาตกสิณ เป็นอารมณ์กัมมัฏฐาน เข้าปฐมฌาน

ฝึกจนเป็นวสี


หน้า ๖๓

(๑๒) องฺคารมฺมณสงฺกนฺติโต เข้าตามลำดับฌานและตามลำดับกสิณด้วยคือ

เพ่ง ปฐวีกสิณ เข้า ปฐมฌาน

เพ่ง อาโปกสิณ เข้า ทุติยฌาน

เพ่ง เตโชกสิณ เข้า ตติยฌาน

เพ่ง วาโยกสิณ เข้า จตุตถฌาน

เพ่ง นีลกสิณ เข้า ปัญจมฌาน

เพ่ง ปีตกสิณ เพิกปีตกสิณ มีอากาสที่ว่างเปล่า ที่ชื่อว่า อากาสบัญญัติ เพ่งอากาสบัญญัตินี้จนเป็น อากาสานัญจายตนฌาน

เพ่ง โลหิตกสิณ เพิกโลหิตกสิณ มีอากาสที่ว่างเปล่า แต่ไม่สนใจในอากาสบัญญัตินี้ กลับไปสนใจในอากาสานัญจายตนฌานที่เกิดในสันดานของตน ด้วยการพิจารณาว่า วิญฺญาณํ อนนฺตํ จนเป็นวิญญาณัญจายตนฌาน

เพ่ง โอทาตกสิณ เพิกโอทาตกสิณ คงมีแต่อากาสบัญญัติ แต่ไม่สนใจในอากาสบัญญัติกลับไปสนใจในนัตถิภาวบัญญัติด้วยการพิจารณาว่า นตฺถิ กิญฺจิ จนเป็นอากิญจัญญายตนฌาน

เพ่ง อาโลกกสิณ เพิกอาโลกกสิณ คงมีแต่อากาสบัญญัติ แต่ไม่สนใจในอากาสบัญญัติ กลับไปสนใจในอากิญจัญญายตนฌานที่เกิดในสันดานของตน ด้วยการพิจารณาว่า เอตํ สนฺตํ เอตํ ปณีตํ จนเป็น เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน ฝึกอบรมจนเป็นวสี

หมายเหตุ มีข้อสังเกตที่ควรกล่าวตรงนี้ว่า ในการอบรมสมาธินี้ ตั้งแต่ข้อ ๑ ถึงข้อ ๑๑ ได้กล่าวถึงองค์กสิณแต่เพียง ๘ มี ปฐวีกสิณ อาโปกสิณ เตโชกสิณ วาโยกสิณ นีลกสิณ ปีตกสิณ โลหิตกสิณ โอทาตกสิณครั้นถึงข้อ ๑๒ นี้กล่าวเลยไปถึง อาโลกกสิณด้วย ทั้งนี้เพราะ

ก. กสิณทั้ง ๑๐ นั้น อาโลกกสิณนี้สงเคราะห์เข้าใน โอทาตกสิณอยู่แล้ว และอากาสกสิณก็ไม่สามารถที่จะช่วยอุดหนุนแก่การเข้าอรูปฌานได้ ดังนั้นจึงไม่ต้องกล่าวถึงกสิณทั้ง ๒ คือ อากาสกสิณ และอาโลกกสิณนี้ด้วย


หน้า ๖๔

ข. ในข้อ ๑๒ นี้ แสดงรูปฌานโดยปัญจกนัย จึงมี ๕ ฌาน อรูปฌานอีก ๔ ฌาน รวมเป็น ๙ ฌานด้วยกัน กสิณเพียง ๘ จึงไม่พอ ก็ต้องยกอาโลกกสิณ มา กล่าวด้วย เพื่อให้มีจำนวนพอดีกัน แต่ถ้าจะแสดงรูปฌานโดย จตุกนัย ก็ไม่ต้องกล่าวถึงอาโลกกสิณด้วย

ค. แม้ว่าอากาสกสิณ ไม่สามารถที่จะอุดหนุนแก่การเข้าอรูปฌาน แต่ก็เป็นกัมมัฏฐานให้เกิดรูปฌานได้ทั้ง ๕ ฌาน และใช้เพ่งเพื่อประโยชน์ในอันที่จะเนรมิตอากาศให้เกิดขึ้นในแผ่นดิน หรือในน้ำ จนสามารถดำดินและอยู่ในน้ำได้

(๑๓) องฺคววฏฺฐาปนโต กำหนดรู้องค์ฌานไปตามลำดับ คือ

พิจารณารู้ว่า ปฐมฌาน มีองค์ฌาน ๕ ได้แก่ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา

พิจารณารู้ว่า ทุติยฌาน มีองค์ฌาน ๔ ได้แก่ วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา

พิจารณารู้ว่า ตติยฌาน มีองค์ฌาน ๓ ได้แก่ ปีติ สุข เอกัคคตา

พิจารณารู้ว่า จตุตถฌาน มีองค์ฌาน ๒ ได้แก่ สุข เอกัคคตา

พิจารณารู้ว่า ปัญจมฌาน มีองค์ฌาน ๒ ได้แก่ อุเบกขา เอกัคคตา

พิจารณารู้ว่า อากาสานัญจายตนฌาน มีองค์ฌาน ๒ ได้แก่ อุเบกขา เอกัคคตา

พิจารณารู้ว่า วิญญาณัญจายตนฌาน มีองค์ฌาน ๒ ได้แก่ อุเบกขา เอกัคคตา

พิจารณารู้ว่า อากิญจัญญายตนฌาน มีองค์ฌาน ๒ ได้แก่ อุเบกขา เอกัคคตา

พิจารณารู้ว่า เนวสัญญานาสัญญายตนฌานมีองค์ฌาน ๒ ได้แก่ อุเบกขา เอกัคคตา

ทั้งนี้จนกว่าจะเป็นวสี

(๑๔) อารมฺมณววฏฺฐาปนโต กำหนดรู้อารมณ์กัมมัฏฐาน คือ

เมื่อเข้าปฐมฌาน โดยมีปฐวีกสิณเป็นกัมมัฏฐาน ก็พิจารณารู้ว่า ปฐวีกสิณ นี่แหละเป็นอารมณ์ของปฐมฌาน

เมื่อเข้าปฐมฌาน โดยมีอาโปกสิณ เตโชกสิณ วาโยกสิณ นีลกสิณ ปีตกสิณ โลหิตกสิณ หรือ โอทาตกสิณ เป็นกัมมัฏฐาน ก็พิจารณารู้ว่า กสิณนั้น ๆ แหละเป็นอารมณ์ของปฐมฌาน

เมื่อเข้า ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน หรือ ปัญจมฌาน โดยมีกสิณใดเป็นกัมมัฏฐาน ก็พิจารณาว่า กสิณนั้น ๆ เป็นอารมณ์ของฌานนั้น ๆ ตามนัยที่ได้กล่าวแล้วข้างต้นนี้

เมื่ออากาสานัญจายตนฌานเกิดขึ้น ก็พิจารณารู้ว่ามีอากาสบัญญัติเป็นอารมณ์


หน้า ๖๕

เมื่อวิญญาณัญจายตนฌานเกิดขึ้น ก็พิจารณารู้ว่ามี อากาสานัญจายตนฌานเป็นอารมณ์

เมื่ออากิญจัญญายตนฌานเกิดขึ้น ก็พิจารณารู้ว่ามีนัตถิภาวบัญญัติเป็นอารมณ์

เมื่อเนวสัญญานาสัญญายตนฌานเกิดขึ้น ก็พิจารณารู้ว่ามีอากิญจัญญายตนฌาน เป็นอารมณ์

ทั้งนี้ต้องฝึกฝนอบรมจนเป็นวสี

สรุปความว่า การอบรมสมาธิเพื่อให้สามารถทำอภิญญาได้ดังที่กล่าวมาแล้วรวม ๑๔ นัยนี้ ก็ประสงค์จะให้ฌานลาภีบุคคลนั้น มีความชำนิชำนาญในกระบวนการเพ่งอารมณ์กัมมัฏฐาน ให้เข้าฌานได้แคล่วคล่องว่องไว ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญยิ่งที่จะก่อให้จิตมีสมาธิเข้มแข็งเป็นพิเศษ เป็นเหตุให้มีอำนาจจนสามารถให้รูปาวจรปัญจมฌานอภิญญาเกิดขึ้นตามความปรารถนา การฝึกฝนอบรมสมาธิให้กล้าแข็งนี้ ฌานลาภีบุคคล จะมีวิธีอื่นใดเพิ่มขึ้นอีกก็ได้


กสิณใดแสดงฤทธิอะไรได้

เมื่อได้ฝึกฝนอบรมตามนัยทั้ง ๑๔ นั้น จนเป็นวสีภาวะ คือ มีความชำนิชำนาญยิ่ง พอควรแก่การที่จะสำแดงอิทธิฤทธิ์ได้แล้ว ก็ยังจะต้องเลือกกสิณที่จะใช้เป็นอารมณ์สำหรับเข้ารูปาวจรปัญจมฌานที่เป็นบาทให้เกิดอภิญญานั้น ให้ถูกต้องเหมาะสมกับฤทธิที่จะแสดงนั้น ๆ ด้วย คือ

๑. ปฐวีกสิณ สามารถที่จะให้เกิดความแข็งในอากาศหรือในน้ำ จน เดิน ยืน นั่ง นอน ในอากาศ ในน้ำได้ ทำทางที่ยาวไกลให้สั้นและใกล้ ทำทางที่สั้นใกล้ให้ยาวให้ไกล เนรมิตให้เป็นวัตถุต่าง ๆ เช่น ภูเขา ป่าไม้ บ้านเรือน ตลอดจนเนรมิตคน ๆ เดียวให้เป็นหลายคนได้

๒. อาโปกสิณ สามารถทำให้ดินเหลว จนดำดินและโผล่ขึ้นมาจากดินได้ ทำให้ฝนตก ทำให้เป็นคลอง หนองบึง แม่น้ำ ทะเล ตลอดจนทำให้เป็นน้ำพวยพุ่งออกจากร่างกายได้

๓. เตโชกสิณ สามารถทำให้เกิดควัน เกิดไฟไหม้อะไร ๆ ก็ได้ ทำให้เกิดแสงสว่างเห็นอะไร ๆ ได้
ทำให้ผู้อื่นร้อน เมื่อตายก็ทำให้เกิดไฟเผาศพตนเองได้ ตลอดจนทำให้เป็นไฟพุ่งพ่นออกจากร่างกายได้


หน้า ๖๖

๔. วาโยกสิณ สามารถทำให้เกิดความหวั่นไหว เช่น แผ่นดินไหว ทำให้เกิดลม เกิดพายุ ทำให้ลมหยุด ทำให้ตัวเบา เหาะลอยไปได้ ทำให้เร็วเหมือนลม ตลอดจนทำให้ของหนักเป็นของเบา และของเบาทำให้หนักก็ได้

๕. นีลกสิณ สามารถทำให้รัศมีสีเขียว ออกจากกายได้ ทำให้เกิดมืดคลุ้มเหมือนเวลากลางคืน เนรมิตวัตถุต่าง ๆ ให้เป็นสีเขียว สีมรกตได้

๖. ปีตกสิณ สามารถทำให้รัศมีสีเหลืองออกจากกายดุจทองคำ ทำให้วัตถุ ุต่าง ๆ เป็นสีเหลือง ตลอดจนเนรมิตให้เป็นทองคำก็ได้

๗. โลหิตกสิณ สามารถทำให้รัศมีสีแดงออกจากกาย ทำวัตถุต่าง ๆ ให้เป็นสีแดง เป็นแก้วมณีสีแดงได้

๘. โอทาตกสิณ สามารถทำให้รัศมีสีขาวออกจากกาย ทำให้วัตถุต่าง ๆ เป็นสีขาว ทำให้เกิดเป็นเงิน ทำให้เกิดแสงสว่าง กำจัดความมืดได้

อนึ่ง ขอกล่าวย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า การเจริญโอทาตกสิณนี้ย่อมห้ามเสียซึ่งถีนมิทธะ ที่จะมาทำให้เกิดความหดหู่ท้อถอยต่ออารมณ์ที่เพ่งนั้นได้ด้วย

๙. อากาสกสิณ สามารถทำให้เกิดเป็นช่องว่าง เช่น ในน้ำ ในดิน ในภูเขา ในกำแพง เป็นต้น จนสามารถเดินผ่านไป หรือ ยืน นั่ง นอน ในที่นั้น ๆ ได้ โดยไม่ติดขัดอย่างใด ๆ เลย

๑๐. อาโลกกสิณ สามารถทำให้เกิดความสว่างในที่ที่ต้องการได้ ทำให้เห็นสิ่งต่าง ๆ ในที่ที่มีสิ่งปกปิด เช่น ในภูเขา ใต้ดิน ในห้อง ในหีบ เหมือนกับตาทิพย์

เมื่อมีวสีภาวะและเลือกกสิณได้ถูกต้องแล้ว ก็สามาถให้เกิดอภิญญาสำแดง ฤทธิได้สมตามความปรารถนา


อภิญญา ๕

อภิญญา ที่ต้องอาศัยรูปาวจรปัญจมฌานเป็นบาทให้เกิด นั้นมี ๕ ประการ ดังปรากฏในคาถาสังคหะ คาถาที่ ๑๐ ว่า


๑๐. อิทฺธิวิธํ ทิพฺพโสตํ ปรจิตฺตวิชฺชานนา
ปุพฺเพนิวาสานุสฺสติ ทิพฺพจกฺขูติ ปญฺจธา ฯ

อภิญญา ๕ คือ อิทธิวิธ ทิพพโสต ปรจิตตวิชชานน ปุพเพนิวาสานุสสติ ทิพพจักขุ


หน้า ๖๗

อธิบาย

อภิญญา แปลว่า รู้ยิ่ง รู้พิเศษ ซึ่งมีความหมายในที่นี้ว่า เป็นญาณที่ประกอบด้วยรูปาวจรปัญจมฌาน สามารถให้เกิดความรู้อันยิ่งใหญ่ เกิดความรู้พิเศษ ถึงกับบันดาลให้เกิดสิ่งที่ตนปรารถนาได้อภิญญา มี ๒ ประเภท คือ

โลกุตตรอภิญญา และ โลกียอภิญญา โลกุตตรอภิญญา มีอย่างเดียว คือ อาสวักขยญาณ รู้วิชาที่ทำให้สิ้นกิเลส อาสวะ องค์ธรรมได้แก่ ปัญญาเจตสิกที่ในอรหัตตมัคคจิตโดยเฉพาะเท่านั้น เป็นอภิญญาที่ไม่ต้องอาศัยรูปาวจรปัญจมฌานเป็นบาท

ส่วน โลกียอภิญญา เป็นอภิญญาที่ ต้องอาศัย โลกียจิตคือ รูปาวจรปัญจมฌานเป็นบาท มี
๕ อย่าง มีชื่อว่า อิทธิวิธะ ทิพพโสต ปรจิตตวิชชานน ปุพเพนิวาสานุสสติ ทิพพจักขุ และมีรายละเอียดแต่ละอย่าง คือ

๑. อิทธิวิธอภิญญา หรือ อิทธิวิธญาณ เป็นความรู้ที่แสดงฤทธิได้ (ฤทธิ=ความสำเร็จ)
ซึ่งจำแนกออกได้เป็น ๑๐ คือ

(๑) อธิฏฐานอิทธิ ความสำเร็จที่เกิดจากการอธิฏฐาน การตั้งความปรารถนาอย่างแรงกล้า เช่น คนเดียวเนรมิตให้เป็นหลายคน ตัวอย่าง พระจุฬปัณถกเถระเจ้า อธิฏฐานให้เป็นพระหลายรูปจนเต็มไปทั้งวัด

(๒) วิกัพพนอิทธิ ความสำเร็จด้วยการจำแลงกายให้เป็นคนแก่ ให้เป็นเด็ก ให้เป็นเสือ เป็นช้าง
เช่น พระโมคคัลลาน์ แปลงกายเข้าไปทางปากไปเดินอยู่ในท้องของ นันโทปนันทพยานาค แม้พยานาคนั้นจะมีฤทธิและมีพิษมากเพียงใด ก็ไม่สามารถทำอันตรายได้

(๓) มโนมยอิทธิ ความสำเร็จด้วยอำนาจกำลังใจที่ยิ่งใหญ่เป็นพิเศษ เช่น พระพุทธองค์ทรงบันดาลให้พระสรีระใหญ่โตมาก เป็นการสำแดงให้อสุรินทรยักษ์ผู้ตำหนิพระองค์ว่าทรงมีรูปร่างเล็ก เพราะเป็นมนุษย์นั้นได้เห็น ที่พระพุทธองค์ทรงกระทำได้ดังนี้ ก็เพราะทรงมีอิทธิทางมโนสูงยิ่ง อิทธิทั้ง ๓ ข้อนี้เป็นอิทธิวิธญาณโดยตรง อันจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยอำนาจแห่งอภิญญา ที่มี
รูปาวจรปัญจมฌานเป็นบาท


หน้า ๖๘

(๔) ญาณวิปผารอิทธิ ความสำเร็จที่ป้องกันอันตรายต่าง ๆ ได้ เช่น พวกโจรจับสามเณรสังกิจจะไป เพื่อจะฆ่าทำเครื่องเซ่นสังเวย ขณะที่โจรจะฆ่า สังกิจจะสามเณรได้เข้านิโรธสมาบัติ โจรจึงฆ่าไม่ตาย ทั้งไม่เป็นอันตรายอย่างใด ๆ ด้วย พวกโจรเลยยอมเป็นศิษย์

(๕) สมาธิวิปผารอิทธิ ความสำเร็จที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจสมาธิ เช่น นันท ยักษ์ตีพระสารีบุตรด้วยกระบองเพ็ชร แต่พระสารีบุตรไม่เป็นอันตราย แม้แต่จะรู้สึกเจ็บก็ไม่มี ส่วนนันทยักษ์เมื่อตีแล้วก็ถูกธรณีสูบไปเลย

(๖) อริยอิทธิ ความสำเร็จที่เกิดจากความไม่หวั่นไหวต่อกิเลส เช่น พระอริย บุคคลที่สามารถวางเฉยต่ออิฏฐารมณ์ อารมณ์อันเป็นที่ชอบใจและอนิฏฐารมณ์ อารมณ์อันไม่เป็นที่ชอบใจ

(๗) กัมมชอิทธิ บ้างก็เรียกว่า กัมมวิปากชอิทธิ ความสำเร็จที่เกิดจากกรรม เช่น เทวดาวินิปาติกบางพวก และนก ไปมาในอากาศได้โดยไม่ต้องมีฌานมีอภิญญา เป็นความสำเร็จด้วยอำนาจกรรมในปฏิสนธิ

(๘) บุญญวโตอิทธิ บ้างก็เรียกว่า บุญญอิทธิ ความสำเร็จที่เกิดจากบุญของเขา เช่นการเป็น
พระเจ้าจักรพรรดิเป็นต้น เป็นความสำเร็จด้วยอำนาจกรรมในปวัตติ

(๙) วิชชามยอิทธิ ความสำเร็จที่เกิดขึ้นด้วยวิชา มีคาถาอาคมต่าง ๆ ตลอดจนมีเข้าเจ้าทรง

(๑๐) ตัตถตัตถสมาปโยคปัจจยอิทธิ บ้างก็เรียกว่า อิชฌนัฏเฐนอิทธิ ความสำเร็จที่เกิดจากความพากเพียรอย่างจริงจัง เป็นความสำเร็จที่เกิดจากการ กระทำ เช่น พากเพียรเจริญสมถภาวนา ก็สำเร็จถึงฌาน เมื่อถึงฌานแล้วก็ให้สำเร็จไปเกิดเป็นพรหม

ได้กล่าวแล้วว่า อิทธิข้อ (๑) ถึงข้อ (๓) รวม ๓ ข้อ เป็น อิทธิวิธญาณโดยตรง คือ เป็นอิทธิฤทธิที่
เกิดขึ้นเพราะอภิญญา เป็นอานิสงส์ของสมาธิ ส่วนอิทธิ ข้อ (๔) ถึงข้อ (๑๐) รวม ๗ ข้อนั้น สำเร็จด้วยการกระทำอย่างอื่นที่ไม่ใช่ฌาน ไม่ใช่อภิญญา ไม่ใช่อิทธิวิธญาณอันเกิดขึ้นด้วยอำนาจแห่งอภิญญาที่มีรูปาวจรปัญจมฌานเป็นบาท แต่ที่นำมากล่าวไว้ด้วยก็เพื่อจะได้ทราบครบจำนวนของอิทธิ

๒. ทิพพโสตญาณ คือ หูทิพย์ ที่สามารถได้ยินเสียงที่ไกลมาก หรือเสียงที่เบาที่สุดได้ ซึ่งตามปกติแล้ว หูอย่างธรรมดาสามัญไม่สามารถที่จะได้ยินเสียงเช่นนั้นได้เลย

หูทิพย์จำแนกได้เป็น ๒ จำพวก คือ เป็นทิพย์โดยกำเนิดด้วยอำนาจของสุจริตกรรม เช่น เป็นเทวดา เป็นพรหม นั้นเป็นผู้ที่มีหูทิพย์ ได้ยินเสียงที่ไกลมากนั้นได้นี่พวกหนึ่ง อีกพวกหนึ่งเป็นทิพย์ด้วยอำนาจแห่งภาวนาที่กำลังกล่าวถึงอยู่นี้

วิธีบำเพ็ญให้เกิดทิพพโสตญาณนี้ ชั้นต้นให้นึกถึงเสียงที่ไกล ๆ หยาบ ๆ เช่น เสียงฆ้อง กลอง ระฆัง เหล่านี้เป็นต้นก่อน ต่อไปก็ให้ใส่ใจในเสียงทั้งที่หยาบและที่ละเอียด ไกลมากขึ้น ละเอียดยิ่งขึ้นทุกที จนทิพพโสตเกิดขึ้นทางมโนทวาร คือได้ยินเสียงนั้นทางใจชัดเจน เหมือนหนึ่งว่าได้ยินกับหู ได้ยินทั้งเสียงที่ใกล้ เสียงที่เบาจนกระซิบ เสียงที่ไกล ทั้งเสียงธรรมดา และเสียงทิพย์ทุกอย่างที่ปรารถนาจะได้ยิน


หน้า ๖๙

๓. ปรจิตตวิชานนญาณ หรือ เจโตปริยญาณ ญาณที่รู้จิตใจผู้อื่น ซึ่งเกิดขึ้นได้ด้วยอาศัย
ทิพพจักขุอีกต่อหนึ่ง และทิพพจักขุก็เกิดขึ้นจากการเจริญเตโชกสิณ โอทาตกสิณ อากาสกสิณ หรืออาโลกกสิณ กสิณใดกสิณหนึ่งใน ๔ กสิณนี้เป็นบาทมาก่อน เมื่อมีทิพพจักขุแล้วจึงจะทำให้เกิด เจโตปริยญาณได้

วิธีบำเพ็ญให้เกิด เจโตปริยญาณ ต้องอาศัยเช่น อาโลกกสิณ เป็นต้น เป็นบาท ก็จะเกิดทิพพจักขุ เห็นสีของน้ำ คือ หทยวัตถุอันเป็นที่อาศัยให้เกิดจิต ถ้าเห็นน้ำนั้นเป็นสีแดงขณะนั้นจิตใจของผู้นั้นเป็นโสมนัส น้ำเป็นสีดำจิตเป็นโทมนัส น้ำเป็นสีน้ำมันงาจิตเป็นอุเบกขา เมื่อรู้สมุฏฐานดังนี้แล้ว ก็พึงกระทำเพื่อให้รู้แจ้งโดยเจโตปริยญาณ ในอาการของจิต ๑๖ อย่าง มีจิตที่มีราคะ จิตที่ไม่มีราคะ จิตที่มีโทสะ จิตที่ไม่มีโทสะ เหล่านี้เป็นต้น เช่นเดียวกับใน จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ดังที่กล่าวไว้ในคู่มือ ปริจเฉทที่ ๗ นั้นแล้ว

(จิต ๑๖ อย่าง มี ๑.จิตที่มีราคะ ๒.จิตที่ไม่มีราคะ ๓.จิตที่มีโทสะ ๔.จิตที่ไม่มีโทสะ ๕.จิตที่มีโมหะ ๖.จิตที่ไม่มีโมหะ ๗.จิตที่มีถีนมิทธะ ๘.จิตที่ฟุ้งซ่าน ๙.จิตที่เป็นรูปาวจร อรูปาวจร ๑๐.จิตที่ไม่ใช่รูปาวจร อรูปาวจร (หมายถึง กามาวจร) ๑๑.จิตที่เป็นกามาวจร ๑๒.จิตที่ไม่ใช่โลกุตตร(หมายถึง รูปาวจร และอรูปาวจร) ๑๓.จิตที่เป็นสมาธิ ๑๔.จิตที่ไม่เป็นสมาธิ ๑๕.จิตที่ประหารกิเลส พ้นกิเลส ๑๖.จิตที่ไม่ได้ประหารกิเลส ไม่พ้นกิเลส)

๔. บุพเพนิวาสานุสสติญาณ การระลึกชาติแต่ปางก่อนได้ ว่าชาตินั้น ๆ ได้เกิดเป็นอะไรมาแล้ว มีการจำแนกตามความสามารถในการระลึกชาติได้นั้น ไว้เป็น ๖ อย่างได้แก่

พวกเดียรถีย์ คือ นักบวชภายนอกพระพุทธศาสนา ระลึกชาติได้ ๔๐ กัปป์

ปกติสาวก คือ พระอริยบุคคลสามัญทั่วๆไประลึกชาติได้ ๑๐๐ถึง๑๐๐๐ กัปป์

มหาสาวก คือ พระอรหันต์ที่มีวุฒิเป็นเลิศในทางใดทางหนึ่ง (ซึ่งมีรวมจำนวน ๘๐ องค์) ระลึกชาติได้ ๑ แสนกัปป์

อัครสาวก คือ พระโมคคัลลาน์และพระสารีบุตร อัครสาวกซ้ายขวา ระลึกชาติได้ ๑ อสงขัยกับ ๑ แสนกัปป์

พระปัจเจกพุทธเจ้า ระลึกชาติได้ ๒ อสงขัยกับ ๑ แสนกัปป์

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ระลึกชาติได้ โดยไม่มีกำหนดขีดขั้น

การระลึกชาติได้ของพวกเดียรถีย์นั้น ระลึกได้ตามลำดับของขันธ์ติดกันไป ข้ามลำดับไม่ได้คือระลึกได้ตามลำดับชาติ จะระลึกข้ามไปชาติโน้นชาตินี้ตามชอบใจ ที่ไม่เรียงตามลำดับนั้นไม่ได้

วิธีบำเพ็ญให้เกิดบุพเพนิวาสานุสสติญาณ ในขั้นแรกให้นึกถึงอิริยาบถนั่งครั้งสุดท้ายในวันนั้นก่อน ต่อจากนั้นก็ให้นึกถึงการงานที่ได้กระทำไปแล้วนั้นย้อนถอยหลังไป ตั้งแต่วันหนึ่ง สัปดาห์หนึ่ง เดือนหนึ่ง ปีหนึ่ง ต่อ ๆ ขึ้นไป จนกระทั่งถึงปฏิสนธิ ต่อไปอีกถึงรูปนามที่เป็นไปในขณะจุติในภพก่อน ดังนี้ ตลอดจนร้อยชาติพันชาติ ถ้าหากตอนไหนระลึกไม่ได้หรือไม่ชัด ก็ต้องเข้าฌานบ่อย ๆ ออกจากฌานแล้วก็ระลึกอีก จนกว่าจะชัดแจ้งตลอดไปตามกำลังของปัญญา


หน้า ๗0

๕. ทิพพจักขุญาณ ตาเป็นทิพย์ สามารถเห็นสิ่งที่อยู่ไกลมากหรืออยู่ในที่กำบังต่าง ๆ นั้นได้ ซึ่งตามปกติแล้วนัยน์ตาอย่างธรรมดาสามัญไม่สามารถที่จะเห็นเช่นนั้นได้เลย เป็นการเห็นทาง
มโนทวารโดยชัดเจนเหมือนกับว่าเห็นด้วยนัยน์ตาจริง ๆ (อย่างฝันก็ไม่ได้เห็นด้วยนัยน์ตา แต่ก็ชัดเจนแจ่มแจ้งเหมือนกัน) ทิพพจักขุจะเกิดได้ด้วยกสิณ ๔ คือ เตโชกสิณ โอทาตกสิณ อากาสกสิณ อาโลกกสิณ อย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้

จุตูปปาตญาณ เป็นอภิญญาที่สามารถรู้จุติและปฏิสนธิของสัตว์ทั้งหลายใน ๓๑ ภูมิ อภิญญานี้เกิดขึ้นโดยทิพพจักขุเป็นบาท และไม่ต้องมีการบริกรรมเป็นพิเศษอีกต่างหากแต่อย่างใดเลย เมื่อทิพพจักขุเกิดขึ้นแล้ว ก็เป็นแต่เพียงตั้งอธิฏฐานน้อมใจไปในการจุติและปฏิสนธิของสัตว์ทั้งหลายนั้น ๆ ก็จะรู้ได้

ด้วยเหตุนี้ จึงถือว่า ทิพพจักขุญาณและจุตูปปาตญาณนี้เป็นอภิญญาเดียวกัน จะเรียกชื่อใดชื่อ
เดียวก็พึงเข้าใจว่ามีความหมายทั้ง ๒ อย่าง คือ ตาทิพย์ และรู้จุติปฏิสนธิของสัตว์ทั้งหลายด้วย

อนึ่ง ทิพพจักขุญาณ หรือจุตูปปาตญาณ นี้ยังมีญาณอื่นที่อาศัยเป็นบาทให้เกิดอีก ๒ ญาณ คือ

ก. ยถากัมมุปคญาณ เป็นญาณที่รู้ว่าสัตว์ที่เข้าถึงความสุขและความทุกข์นั้น เพราะได้ทำกรรมอะไรมา

ข. อนาคตังสญาณ เป็นญาณที่รู้ในกาลต่อไปทั้งของตนเองและของผู้อื่นว่า จะเป็นไปอย่างนั้น ๆ นับตั้งแต่ล่วงหน้าไปอีก ๗ วัน จนถึงไม่มีที่สุด แล้วแต่กำลังของสมาธิว่าจะมีความสามารถเพียงใด


หน้า ๗๑

อภิญญา ญาณ วิชา

คำว่า อภิญญา นี้บางทีก็ใช้ว่า ญาณ หรือ วิชา แทนกันได้เพราะเป็นไวพจน์แก่กันและกัน เช่นกล่าวว่า ญาณ ๓ หรือ วิชา ๓ ซึ่งเป็นองค์แห่งพระสัมมาสัมโพธิญาณ ก็ได้แก่

๑. บุพเพนิวาสานุสสติญาณ ระลึกชาติได้

๒. ทิพพจักขุญาณ หรือ จุตูปปาตญาณ ตาทิพย์ และรู้จุติปฏิสนธิของสัตว์ทั้งหลาย

๓. อาสวักขยญาณ รู้วิชาที่ทำให้สิ้นกิเลสและอาสวะ

ถ้ากล่าวถึง อภิญญา ๖ ญาณ ๖ หรือ วิชา ๖ ก็ให้เพิ่มอีก ๓ คือ

๔. ปรจิตตวิชานน หรือ เจโตปริยญาณ รู้จิตใจผู้อื่น

๕. ทิพพโสตญาณ หูทิพย์

๖. อิทธิวิธญาณ สำแดงฤทธิได้

เฉพาะหมายเลข ๓ อาสวักขยญาณ เป็นอภิญญาที่ไม่ได้อาศัยรูปาวจรปัญจมฌานเป็นบาทให้เกิด แต่เป็นอภิญญาที่อาศัยเกิดจาก อรหัตตมัคคจิต จึงเรียกว่า โลกุตตรอภิญญา ส่วนที่เหลืออีก ๕ เป็นอภิญญาที่ต้องอาศัยรูปาวจรปัญจมฌาน อันเป็นโลกียจิตเป็นบาทให้เกิด จึงเรียกว่า โลกียอภิญญา

อย่าว่าแต่จะได้ถึงซึ่งอภิญญาเลย แม้การเจริญสมถกัมมัฏฐาน จนกว่าจะได้ฌานนั้น ก็มิใช่ว่าจะกระทำได้โดยง่ายดายนัก ต้องมีใจรักอย่างที่เรียกว่า มีฉันทะมีความพอใจเป็นอย่างมาก มีความพากเพียรเป็นอย่างยิ่ง ประกอบด้วยเอาใจจิตใจจ่ออย่างจริงจัง ทั้งต้องประกอบด้วยปัญญารู้ว่าฌานนี้ก็เป็นส่วนหนึ่ง ซึ่งเป็นบาทที่ก้าวขึ้นไปสู่ความหลุดพ้น แล้วจึงตั้งหน้าเจริญภาวนาตามวิธีการจนเกิดฌานจิต ฌานจิตที่เกิดจากการปฏิบัติเช่นที่ได้กล่าวแล้วทั้งหมดนี้ มีชื่อเรียกว่า ปฏิปทาสิทธิฌาน เป็นการได้ฌานด้วยการประพฤติปฏิบัติ ได้ฌานด้วยการเจริญสมถภาวนา

ยังมีบุคคลอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งไม่ได้เจริญสมถภาวนามาก่อน แต่ว่า เมื่อได้เจริญวิปัสสนาภาวนาแต่อย่างเดียวมาตามลำดับ จนบรรลุอรหัตตมัคค อรหัตตผล ก็ถึงพร้อมซึ่งฌานด้วยก็มี อย่างนี้เรียกว่า มัคคสิทธิฌาน เป็นการได้ฌานด้วยอำนาจแห่งมัคค บางองค์ก็ได้ถึงอภิญญาด้วย เช่น พระจุฬปัณถกเถรเจ้า เมื่อสำเร็จเป็นพระอรหันต์ ก็มีอภิญญาด้วย คือมีอิทธิฤทธิถึงสำแดงปาฏิหาริย์เป็นพระภิกษุหลายรูปจนเต็มพระเชตวันวิหาร


หน้า ๗๒

สรุปอารมณ์ของอภิญญา

โลกียอภิญญา ๕ ซึ่งรวมนับ ยถากัมมุปคญาณ ๑ และอนาคตังสญาณ ๑ ด้วย ก็เป็น ๗ ย่อม
เป็นไปในอารมณ์ ๑๐ คือ

๑. ปริตตารมณ์ อารมณ์เล็กน้อย, หมายว่าเป็นกามอารมณ์

๒. มหัคคตารมณ์ อารมณ์ที่ถึงซึ่งความเป็นใหญ่ หมายถึงอารมณ์ที่เป็นมหัคคตะ

๓. อัปปมาณารมณ์ อารมณ์ที่เป็นนิพพาน หมายถึงผลอารมณ์

๔. มัคคารมณ์ อารมณ์ที่เป็นมัคค

๕. ปัจจุบันอารมณ์ อารมณ์ที่กำลังมีอยู่

๖. อตีตารมณ์ อารมณ์ที่ล่วงไปแล้ว

๗. อนาคตารมณ์ อารมณ์ที่จะมีมาภายหน้า

๘. อัชฌัตตารมณ์ อารมณ์ที่เป็นภายใน

๙. พหิทธารมณ์ อารมณ์ที่เป็นภายนอก

๑๐. นวัตตัพพารมณ์ อารมณ์ที่เป็นบัญญัติ


หน้า ๗๓

อานิสงส์ของสมาธิ

อานิสงส์ของสมาธินั้นมี ๕ ประการ คือ

๑. ทำให้เข้าสมาบัติได้ เพื่อเป็นสุขในภพปัจจุบัน

๒. ทำให้เกิดวิปัสสนา

๓. ทำให้เกิดโลกียอภิญญา ๕ ประการ

๔. ทำให้เกิดเป็นพรหม

๕. ทำให้เข้านิโรธสมาบัติได้


๑๑. สมาสิโต จ สมถ กมฺมฏฺฐานนโย อยํ ฯ

นี่เป็นนัยแห่งสมถกัมมัฏฐาน อันแสดงแล้วโดยย่อแล


วิปัสสนากัมมัฏฐาน

วิปัสสนากัมมัฏฐาน แปลว่า อารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งการงานทางใจที่จะให้เห็นแจ้ง ซึ่งมีความหมายว่า ให้เห็นแจ้ง รูปนาม ให้เห็นแจ้ง ไตรลักษณ์ ให้เห็นแจ้ง อริยสัจจ ให้เห็นแจ้ง มัคค ผล นิพพาน

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าต่างกับ สมถกัมมัฏฐาน ที่ได้กล่าวมาข้างต้นนั้น เพราะสมถกัมมัฏฐานเป็นเพียงอารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งการงานทางใจ ที่จะให้เกิดความสงบ แต่อย่างเดียวเท่านั้น ไม่ถึงกับให้เกิดปัญญาเห็นแจ้ง ดังที่กล่าวนี้ด้วย

บ้างก็กล่าวสั้น ๆ ว่า สมถะเป็นอุบายสงบใจ วิปัสสนาเป็นอุบายเรืองปัญญา

มีคาถาที่ ๑๒ ที่ ๑๓ ที่ ๑๔ เริ่มต้นกล่าวถึง วิปัสสนากัมมัฏฐานว่า


๑๒. วิปสฺสนา กมฺมฏฺฐาเน นโย ปน วิชฺชานโย
อาทิมฺหิ สีลวิสุทฺธิ ตโต จิตฺตวิสุทฺธิ จ ฯ


๑๓. ตโต ตุ ทิฏฺฐิวิสุทฺธิ กงฺขาวิตรณาปิ จ
ตโต ปรํ มคฺคามคฺค ญาณทสฺสนนามิกา ฯ


๑๔. ตถา ปฏิปทาญาณ ทสฺสนา ญาณทสฺสนา
อิจฺจานุกฺกมโต วุตฺตา สตฺต โหนฺติ วิสุทฺธิโย ฯ


ตามนัยแห่งวิปัสสนากัมมัฏฐาน เพื่อให้เกิดปัญญาเห็นแจ้งนั้น พึงทราบว่า ในเบื้องต้นตรัส สีลวิสุทธิ ต่อนั้นตรัส จิตตวิสุทธิ ทิฏฐิวิสุทธิ กังขาวิตรณวิสุทธิ มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิและญาณทัสสนวิสุทธิ รวมวิสุทธิ ๗ ประการ ที่สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้วโดยลำดับฉะนี้


หน้า ๗๔

อธิบาย


องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ได้เสด็จอุบัติขึ้นแล้วในโลก ทรงแสดงวิปัสสนากัมมัฏฐานญาณอันสูงสุด รู้เห็นตามทัสสนะที่เป็นจริง ประดุจดวงอาทิตย์อุทัย ยังโลกให้สว่างฉะนั้น บรรดาสาวกของพระพุทธองค์ได้น้อมรับฐานที่ตั้งของการงานที่ให้เกิดความรู้แจ้งเห็นจริงด้วยประการต่างๆ มาศึกษาปฏิบัติ จนประทับใจมนุษย์และเทวดาทั้งหลายเป็นอันมาก ยากที่จะหาสิ่งใดมาเปรียบปานได้ สิ่งนั้น คือ วิปัสสนากัมมัฏฐาน อันเป็นไปเพื่อความบริสุทธิหมดจดโดยส่วนเดียว ซึ่งเรียกว่า วิสุทธิมัคค คือทางบริสุทธิ ผู้ใดเดินทางนี้จนถึงที่สุดแล้ว ย่อมบรรลุจุด
หมายปลายทาง อมตะมหานิพพาน อันเป็นที่บริสุทธิ สิ้นกิเลสและพ้นจากกองทุกข์ทั้งปวง

อันคำว่า มัคค หรือ ทาง มีความหมาย ๒ อย่าง คือ ปกติมคฺโค ทางปกติ ได้แก่ ทางน้ำ ทางบก เป็นต้น สำหรับคนและสัตว์เดิน และ ปฏิปทามคฺโค ทางปฏิบัติ ได้แก่ บาปบุญที่บุคคลทำ อันเป็นทางสำหรับ กาย วาจา ใจ เดิน

ปฏิปทามัคค คือทางปฏิบัตินั้น จำแนกได้เป็นหลายนัย แต่ในที่นี้ขอจำแนกว่ามี ๕ สาย คือ

๑. ทางสายไปอบายภูมิ ได้แก่ ความทุสีล หรืออกุสลกรรมบถ ๑๐ มี โลภะ โทสะ โมหะ เป็นมูล

๒. ทางสายไปมนุษยภูมิ ได้แก่ มนุษย์ธรรม คือ รักษาสีล ๕ สีล ๘ หรือ กุสลกรรมบถ ๑๐

๓. ทางสายไปกามาวจรสวรรค์ ได้แก่ มหากุสลจิต ๘ ดวง ที่มีหิริและโอตตัปปะ เป็นหัวหน้า เช่น ให้ทาน ฟังธรรม แสดงธรรม เป็นต้น

๔. ทางสายไปพรหมโลก ได้แก่ การเจริญสมถภาวนาจนเกิดฌาน

๕. ทางสายไปพระนิพพาน ได้แก่ การเจริญวิปัสสนาภาวนา จนบรรลุ มัคค ผล นิพพาน

ในทาง ๕ สายนี้ สายที่ ๕ เป็นทางแห่งสันติ เป็นทางที่ให้ถึงซึ่งความ บริสุทธิหมดจด อันเรียกว่า วิสุทธิมัคค ที่จะกล่าวต่อไปนี้ ทางสายที่ ๕ นี้เรียกอีกนัยหนึ่งว่า เอกายนมัคค เพราะอรรถว่า

ก. เป็นทางสายเดียว ที่จะให้ถึงความหมดจดได้ ไม่มีทางสายอื่นใดอีกเลย

ข. เป็นทางไปคนเดียว คือ ต้องละจากหมู่ไปสู่ที่สงัด ปฏิบัติแต่ผู้เดียว ใครจะมาช่วยทำให้ไม่ได้ และบรรลุแต่ผู้เดียว จะขอใครให้บรรลุตามไปด้วยไม่ได้

ค. เป็นทางที่ผู้เดียวค้นพบ คือ เป็นทางที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงค้นพบด้วยพระองค์เองแต่ผู้เดียว ไม่ใช่มีใครมาช่วยค้นหาด้วยจึงได้พบ

ง. เป็นทางแห่งเดียว คือ มีอยู่ในพระพุทธศาสนาแต่แห่งเดียวเท่านั้น มิได้มีในศาสนาอื่นใดอีกเลย

จ. เป็นทางไปสู่จุดหมายเดียว คือ ไปสู่พระนิพพานจุดเดียวเท่านั้น ไม่ไปสู่จุดอื่นใดอีกเลย


หน้า ๗๕

วิสุทธิ ๗

วิสุทธิมัคค คือ ทางบริสุทธิ ที่นำไปสู่ความหมดจดจากกิเลสและกองทุกข์ทั้งปวง ซึ่งจัดเป็น ๗ ระยะ หรือ ๗ ขั้น อันเรียกว่า วิสุทธิ ๗ ประการนั้นเปรียบเหมือนรถ ๗ ผลัด หรือบรรได ๗ ขั้น จึงจะถึงซึ่งความบริสุทธิ วิสุทธิ ๗ ได้แก่

๑. สีลวิสุทธิ ความบริสุทธิแห่งสีล บุคคลที่สมบูรณ์ด้วย จาตุปาริสุทธิสีลนั้นชื่อว่า ถึงพร้อมด้วยสีล เป็นสีลวิสุทธิ จาตุปาริสุทธิสีล ได้แก่ ปาฏิโมกขสังวรสีล อินทรียสังวรสีล อาชีวปาริสุทธิสีล และปัจจยนิสสิตสีล

๒. จิตตวิสุทธิ ความบริสุทธิแห่งจิต คือ จิตที่บริสุทธิจากนิวรณ์ทั้งหลาย ขณะใดที่จิตเป็นขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ หรือ อัปปนาสมาธิ ขณะนั้นเป็นจิตที่ปราศจากนิวรณ์ จึงได้ชื่อว่า เป็นจิตตวิสุทธิ

๓. ทิฏฐิวิสุทธิ ความบริสุทธิแห่งทิฏฐิ ปัญญาที่รู้แจ้ง รูปนามตามความเป็นจริง ได้ชื่อว่า ทิฏฐิวิสุทธิ กล่าวโดย โสฬสญาณ คือ ญาณ ๑๖ ก็เห็นแจ้งญาณที่ ๑ คือ นามรูปปริจเฉทญาณแล้ว (โสฬสญาณจะได้กล่าวต่อไปข้างหน้า)

๔. กังขาวิตรณวิสุทธิ ความบริสุทธิแห่งการข้ามพ้นจากความสงสัย เพราะเกิดปัญญาที่รู้แจ้งปัจจัยที่ให้เกิดรูปนาม คือ รูปเกิดจาก กรรม จิต อุตุ อาหาร, นามเกิดจาก อารมณ์ วัตถุ มนสิการ กล่าวโดยโสฬสญาณ ก็เห็นแจ้งญาณที่ ๒ ที่ชื่อว่า ปัจจยปริคคหญาณแล้ว

๕. มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ ความบริสุทธิแห่งญาณที่รู้ว่าทาง หรือ มิใช่ทาง กล่าวโดยโสฬสญาณ ก็เห็นแจ้งญาณที่ ๓ ที่ชื่อว่า สัมมสนญาณแล้ว และถึงญาณที่ ๔ ที่ชื่อว่า อุทยัพพยญาณ เพียง ตรุณะ คือ เพียงอย่างอ่อนเท่านั้น ยังไม่ถึง อุทยัพพยญาณ ที่เรียกว่า พลวะ คือ อย่างกล้า(ตรุณอุทยัพพยญาณ นี่แหละที่จะเกิด วิปัสสนูปกิเลส ซึ่งจะได้กล่าวต่อไปข้างหน้า)

๖. ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ ความบริสุทธิแห่งญาณที่รู้เห็นว่า นี่แหละเป็นทางที่ชอบแล้ว กล่าวโดยโสฬสญาณก็เห็นแล้ว พลวอุทยัพพยญาณ (อย่างกล้า)นั้นแล้ว เป็นต้นไปถึง อนุโลมญาณ และนับโคตรภูญาณ รวมด้วยโดยปริยายโดยอ้อม


หน้า ๗๖

๗. ญาณทัสสนวิสุทธิ ความบริสุทธิแห่งญาณที่รู้เห็น พระนิพพาน คือ มัคคญาณ และนับผลญาณ ปัจจเวกขณญาณ รวมด้วยโดยอนุโลม


อานุภาพแห่งญาณทัสสนวิสุทธิ ๕ ประการ

๑. ปริปุณฺณโพธิปกฺขิยภาว บริบูรณ์ด้วยโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ

๒. วุฏฺฐาน พ้นจากสังขารนิมิตอารมณ์

๓. ผลสมาโยค ประกอบด้วยสมาธิพละ และปัญญาพละ

๔. เตสํปหาน ละสังโยชน์เป็นต้นได้

๕. ปริญฺญาทีนิ บรรลุซึ่งกิจอันมีปริญญากิจเป็นต้น


ปริญญากิจ ๓ ประการ

๑. ญาตปริญฺญา รู้ซึ่งรูปนาม คือ นามรูปปริจเฉทญาณ, ปัจจยปริคคหญาณ และสัมมสนญาณ

๒. ตีรณปริญฺญา รู้ไตรลักษณ์ หมายถึง อุทยัพพยญาณ ญาณเดียวเท่านั้น

๓. ปหานปริญฺญา รู้ละกิเลส นับตั้งแต่ ภังคญาณถึงมัคคญาณ


ปหานกิจ ๓ ประการ

๑. วิกฺขมฺภนปหาน ละนิวรณ์ด้วยโลกียฌาน อุปมา หินทับหญ้า

๒. ตทงฺคปหาน ละกิเลสด้วยวิปัสสนาญาณ อุปมา ฟ้าแลบ

โลกียปัญญา

๓. สมุจฺเฉทปหาน ละกิเลสด้วยมัคคญาณ อุปมา ฟ้าผ่า

โลกุตตรปัญญา

 

ภาวนากิจ ๒ ประการ

โลกียภาวนา

สีล สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ
สมาธิ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ
ปัญญา สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ

อารมณ์ต่างๆกัน

โลกุตตรภาวนา

สีล สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ
สมาธิ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ
ปัญญา สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ

มีนิพพานเป็น
อารมณ์แต่อย่าง
เดียวเท่านั้น


หน้า ๗๗

สัจฉิกิริยกิจ ๓ ประการ

๑. โลกียสจฺฉิกิริยกิจฺจ น้อมเข้าหาโลกียฌาน (ฌานในวิปัสสนาภาวนา)

๒. ทสฺสนสจฺฉิกิริยกิจฺจ น้อมเข้าหาพระนิพพาน ด้วยโสดาปัตติมัคคญาณ

๓. ภาวนาสจฺฉิกิริยกิจฺจ น้อมเข้าหาพระนิพพาน ด้วยมัคคญาณเบื้องบน ๓

 

ผังวิสุทธิ ๗

วิสุทธิ ๗

สีล


สีลวิสุทธิ

สมาธิ


จิตตวิสุทธิ

ปัญญา

โลกียะ

ทิฏฐิวิสุทธิ
กังขาวิตรณวิสุทธิ
มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ
ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ

โลกุตตระ

ญาณทัสสนวิสุทธิ

 

โสฬสญาณ

เพื่อให้สะดวกแก่การศึกษา จึงขอกล่าวถึงโสฬสญาณ คือ ญาณ ๑๖ พร้อมทั้งความหมายโดยย่อ เสียในที่นี้เลยทีเดียว

๑. นามรูปปริจเฉทญาณ ปัญญาที่กำหนดจนรู้เห็นรูปเห็นนามว่าเป็นคนละสิ่งคนละส่วน ซึ่งไม่ได้ระคนปนกันจนแยกกันไม่ได้

๒. ปัจจยปริคคหญาณ ปัญญาที่กำหนดจนรู้เห็นถึงปัจจัยที่ให้เกิดรูป เกิดนาม คือ รูปเกิดจาก กรรม จิต อุตุ อาหาร ส่วนนามเกิดจาก อารมณ์ วัตถุ มนสิการ

๓. สัมมสนญาณ ปัญญาที่กำหนดจนรู้เห็นไตรลักษณ์ คือ ความเกิดดับของรูปนาม แต่ที่รู้ว่ารูปนามดับไปก็เพราะ เห็นรูปนามใหม่เกิดสืบต่อแทนขึ้นมาแล้ว เห็นอย่างนี้เรียกว่า สันตติยังไม่ขาดและยังอาศัยจินตามยปัญญาอยู่ อีกนัยหนึ่งว่า สัมมสนญาณ เป็นญาณที่ยกรูปนามขึ้นสู่ไตรลักษณ์

๔. อุทยัพพยญาณ ปัญญาที่กำหนดจนรู้เห็นไตรลักษณ์ชัดเจน โดยสันตติขาด คือ เห็นรูปนามดับไปในทันทีที่ดับ และเห็นรูปนามเกิดขึ้นในขณะที่เกิด หมายความว่า เห็นทันทั้งในขณะที่เกิดและขณะที่ดับ อุทยัพพยญาณนี้ยังจำแนกได้เป็น ๒ คือ ตรุณอุทยัพพยญาณ เป็นญาณที่ยังอ่อนอยู่ และพลวอุทยัพพยญาณ เป็นญาณที่แก่กล้าแล้ว


หน้า ๗๘

๕. ภังคญาณ ปัญญาที่กำหนดจนรู้เห็นความดับแต่อย่างเดียว เพราะความดับของรูปนามเป็นสิ่งที่ตื่นเต้นกว่าความเกิด

๖. ภยญาณ บ้างก็เรียกว่า ภยตูปัฏฐานญาณ ปัญญาที่กำหนดจนรู้เห็นว่ารูปนามนี้เป็นภัย เป็นที่น่ากลัว เหมือนคนกลัวสัตว์ร้าย เช่น เสือ เป็นต้น

๗. อาทีนวญาณ ปัญญาที่กำหนดจนรู้เห็นว่ารูปนามนี้เป็นโทษ เหมือนผู้ที่เห็นไฟกำลังไหม้เรือนตนอยู่ จึงคิดหนีจากเรือนนั้น

๘. นิพพิทาญาณ ปัญญาที่กำหนดจนรู้เห็นว่า เกิดเบื่อหน่ายในรูปนาม เบื่อหน่ายในปัญจขันธ์

๙. มุญจิตุกมยตาญาณ ปัญญาที่กำหนดจนรู้เห็นว่าใคร่จะหนีจากรูปนาม ใคร่จะพ้นจากปัญจขันธ์ เปรียบดังปลาเป็น ๆ ที่ใคร่จะพ้นจากที่ดอนที่แห้ง

๑๐. ปฏิสังขาญาณ ปัญญาที่กำหนดจนรู้เห็นเพื่อหาทางที่จะหนี หาอุบายที่จะเปลื้องตนให้พ้นจากปัญจขันธ์

๑๑. สังขารุเบกขาญาณ ปัญญาที่กำหนดจนรู้เห็นว่า จะหนีไม่พ้นจึงเฉยอยู่ไม่ยินดียินร้าย ดุจบุรุษอันเพิกเฉยในภริยาที่ทิ้งขว้างหย่าร้างกันแล้ว

๑๒. อนุโลมญาณ ปัญญาที่กำหนดจนรู้เห็นให้คล้อยไปตามอริยสัจจญาณนี้เรียกว่า สัจจานุโลมิกญาณ ก็ได้

๑๓. โคตรภูญาณ ปัญญาที่กำหนดจนรู้เห็นพระนิพพาน ตัดขาดจากโคตรปุถุชนเป็นโคตรอริยชน

๑๔. มัคคญาณ ปัญญาที่กำหนดจนรู้เห็นพระนิพพาน และตัดขาดจากกิเลสเป็นสมุจเฉทประหาณ

๑๕. ผลญาณ ปัญญาที่กำหนดจนรู้เห็นพระนิพพานโดยเสวยผลแห่งสันติสุข

๑๖. ปัจจเวกขณญาณ ปัญญาที่กำหนดจนรู้เห็นใน มัคคจิต,ผลจิต,นิพพาน, กิเลสที่ละแล้ว และกิเลสที่ยังคงเหลืออยู่

ตั้งแต่ญาณที่ ๓ สัมมสนญาณ จนถึงญาณที่ ๑๒ อนุโลมญาณ รวม ๑๐ ญาณ นี้เรียกว่า วิปัสสนาญาณ เพราะสัมมสนญาณนั้น เริ่มเห็นไตรลักษณ์แล้ว

บางแห่งก็จัดว่า วิปัสสนาญาณ มีเพียง ๙ คือ นับตั้งแต่ญาณที่ ๔ อุทยัพพยญาณ จนถึงญาณที่
๑๒ อนุโลมญาณ เพราะอุทยัพพยญาณเป็นญาณแรกที่รู้เห็นไตรลักษณ์ ด้วยปัญญาชนิดที่เรียกว่าภาวนามยปัญญา โดยตรงโดยไม่ต้องอาศัย จินตามยปัญญาเข้ามาช่วย

วิปัสสนาญาณ หมายถึง ปัญญาที่กำหนดจนรู้เห็นว่าขันธ์ ๕ เป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา คือ
เห็นประจักษ์แจ้งซึ่ง ไตรลักษณ์ แห่งรูปนาม


หน้า ๗๙

ไตรลักษณ์

ไตรลักษณ์ คือลักษณะ ๓ ประการที่บรรดารูปธรรมนามธรรมที่เป็นสังขารทั้งหลาย จะต้องมี ต้องเป็นไปเหมือนกันหมด ไม่มียกเว้น เหตุนี้จึงเรียกว่า สามัญญ ลักษณะก็ได้ เพราะเป็นลักษณะที่เป็นธรรมดาตามธรรมชาติแห่งสังขารทั้งหลายที่จะต้องมีอันเป็นไปอย่างนี้ มีอาการอย่างนี้ มีคาถาที่ ๑๕ แสดงว่า


๑๕. อนิจฺจลกฺขณํ ทุกข ลกฺขณํ กมโต ฐิตํ
อนตฺตลกฺขณญฺเจติ ตีเณว ลกฺขณานิ จ ฯ


ก็อนิจจลักษณะ ทุกขลักษณะ อนัตตลักษณะ พึงตั้งอยู่แล้วโดยลำดับแห่งลักษณะ ๓ ดังที่กล่าวนี้นั่นเทียว

มีความหมายว่า อนิจจลักษณะ มีลักษณะหรือมีอาการที่ไม่เที่ยง ไม่มั่นคง ไม่ยั่งยืน ไม่ตั้งอยู่ได้ตลอดกาล โดยมีความเกิดขึ้นแล้วก็เสื่อมไปในที่สุด (อุปฺปาทวย ปวตฺตน), โดยความแปรปรวน (วิปริณาม), โดยเป็นของชั่วคราว (ตาวกาลิก), โดยต้านกับความเที่ยง (นิจฺจปฏิกฺเขป)

ทุกขลักษณะ มีลักษณะหรือมีอาการที่ทนอยู่ไม่ได้ จำต้องเสื่อมสลายสิ้นไป, โดยความบีบคั้นอยู่เสมอ (อภิญฺหสมฺปฏิปฬน), โดยความทนได้ยาก (ทุกฺขม), โดยเป็นที่ตั้งแห่งความทุกข์ (ทุกฺขวตฺถุ), โดยต้านกับความสุข (สุขปฏิกฺเขป)

อนัตตลักษณะ มีลักษณะหรือมีอาการที่ว่างเปล่าจากตัวตน ที่ไม่ใช่ตัวตน จึงบังคับบัญชาไม่ได้ จะให้เป็นไปตามที่ใจปรารถนาก็ไม่ได้ โดยความเป็นของสูญ (ว่างเปล่า สุญฺญต), โดยความไม่มีเจ้าของ (อสฺสามิก), โดยไม่มีสิ่งอะไรที่จะพึงทำตาม (อวสวตฺตน), โดยค้านกับอัตตา (อตฺตปฏิกฺเขป)

ไตรลักษณ์นี้เป็นลักษณะสามัญตามธรรมดาที่ธรรมชาติแห่งรูปนามที่เป็นสังขารทั้งหลายจะต้องเป็นไปอย่างนี้นั่นเทียว ถ้ากล่าวโดยพิสดารแล้ว อนิจจะมีลักษณะ ๑๐ ประการ ทุกขะมีลักษณะ ๒๕ ประการ อนัตตะ
มีลักษณะ ๕ ประการ รวมเป็น ๔๐ ประการ เมื่อปรับเข้ากับขันธ์ ๕ ก็เป็นไตรลักษณ์ ถึง ๒๐๐ ประการ คือ รูปขันธ์ ๔๐ ประการ เวทนาขันธ์ ๔๐ ประการ สัญญาขันธ์ ๔๐ ประการ สังขารขันธ์ ๔๐ ประการ และวิญญาณขันธ์ ๔๐ ประการ รวมเป็น ๒๐๐ ประการ ดังรายละเอียดต่อไปนี้


หน้า ๘0

อนิจจลักษณะ ๑๐

๑. อนิจฺจโต ไม่เที่ยง

๒. อทฺธุวโต ไม่ยั่งยืน

๓. อสารกโต ไม่เป็นแก่นสาร

๔. จลโต เป็นของหวั่นไหว ยุ่งยาก

๕. ปโลกโต แตกดับ

๖. วิปริณามธมฺมโต เปลี่ยนแปลง กลับกลอก

๗. มรณธมฺมโต เป็นธรรมเพื่อความตาย

๘. วิภวโต เป็นของฉิบหาย

๙. สงฺขตโต เป็นของที่ต้องปรุงแต่งเนือง ๆ

๑๐. ปภงฺคุโต ต้องทำลาย ผุพัง แตกกระจัดกระจายไป

รวม ๑๐ ประการ ๕ ขันธ์ ก็เป็น ๕๐

 

ทุกขลักษณะ ๒๕

๑. ทุกฺขมโต เป็นทุกข์

๒. ภยโต เป็นของน่ากลัว

๓. อีติโต เป็นเสนียดจัญไร

๔. อุปทฺทวโต เป็นอันตราย ระทมทุกข์ อุบาทว์

๕. อุปสคฺคโต เป็นความขัดข้อง

๖. โรคโต เป็นสิ่งเสียดแทง

๗. อาพาธโต เป็นสภาพที่ป่วยไข้

๘. คณฺฑโต เป็นประดุจหัวฝี

๙. สลฺลโต เป็นประดุจศรปักอก

๑๐. อฆโต เป็นสิ่งหาคุณมิได้

๑๑. อตาณโต เป็นสิ่งที่พ้นจากการต้านทาน

๑๒. อเลณโต เป็นสิ่งที่พ้นจากการป้องกัน

๑๓. อสรณโต เป็นสิ่งที่พึ่งไม่ได้

๑๔. อาทีนวโต เป็นสิ่งที่มีแต่โทษ

๑๕. อฆมูลโต เป็นมูลแห่งความทุกข์

๑๖. วธกโต เป็นประดุจเพชฌฆาต

๑๗. สาสวโต เป็นไปเพื่ออาสวะ

๑๘. มารามิสโต เป็นเหยื่อแห่งมาร

๑๙. ชาติธมฺมโต เป็นสิ่งที่ให้เกิด

๒๐. ชราธมฺมโต เป็นสิ่งที่ทำให้แก่

๒๑. พยาธิธมฺมโต เป็นสิ่งที่ทำให้เจ็บไข้ได้ป่วย

๒๒. โสกธมฺมโต เป็นสิ่งที่ทำให้เศร้าโศก

๒๓. ปริเทวธมฺมโต เป็นสิ่งที่ทำให้บ่นพร่ำรำพัน

๒๔. อุปายาสธมฺมโต เป็นสิ่งที่ทำให้คับแค้นใจ

๒๕. สงฺกิเลสิกธมฺมโต เป็นสิ่งที่เศร้าหมอง

รวม ๒๕ ประการ ๕ ขันธ์ ก็เป็น ๑๒๕


หน้า ๘๑

อนัตตลักษณะ ๕

๑. อนตฺตโต ไม่ใช่ตัวตน

๒. ปรโต ไม่ใช่เรา เป็นสิ่งอื่น

๓. ริตฺตโต ว่างเปล่าจากตัวเรา

๔. ตุจฺฉโต ว่างเปล่าจากแก่นสาร

๕. สุญฺญโต ว่างเปล่าจากสัตว์จากบุคคล

รวม ๕ ประการ ๕ ขันธ์ ก็เป็น ๒๕

รวมทั้งหมดเป็น ๔๐ ประการ ๕ ขันธ์ ก็เป็น ๒๐๐

ไตรลักษณ์นี้เป็นลักษณะสามัญหรืออาการตามปกติตามธรรมดาของรูปนามที่เป็นสังขาร ดังนั้นก่อนที่จะเห็นไตรลักษณ์ จะต้องรู้จักรูปธรรมและนามธรรมเสียก่อน เพราะรูปธรรมนามธรรมนี่แหละเป็นสิ่งเริ่มต้นแห่งการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน รูปนามที่เป็นกัมมัฏฐานในการเจริญวิปัสสนานั้น เมื่อกล่าวโดยพิสดารแล้วเรียกว่า วิปัสสนาภูมิ คือ พื้นเพในการเจริญวิปัสสนาภาวนา


หน้า ๘๒

วิปัสสนาภูมิ

วิปัสสนาภูมิ คือ พื้นเพในการเจริญวิปัสสนาภาวนานั้น มี ๖ ได้แก่

๑.ขันธ์ ๕ ๒.อายตนะ ๑๒ ๓.ธาตุ ๑๘

๔.อินทรีย ๒๒ ๕.ปฏิจจสมุปปาท ๑๒ ๖.อริยสัจจ ๔

แต่ข้อ๑ ถึงข้อ ๔ และข้อ ๖ รวม ๕ ข้อนี้ ได้แสดงไว้แล้วในคู่มือปริจเฉทที่ ๗ ส่วนข้อ ๕ ปฏิจจสมุปปาทนั้น ก็ได้กล่าวไว้ในคู่มือปริจเฉทที่ ๘ แล้ว จึงไม่ต้องกล่าวซ้ำในที่นี้อีก

วิปัสสนาภูมิ ๖ นี้ เมื่อย่อลงก็ได้แก่ รูปนาม เท่านี้เอง ชั้นต้นต้องพิจารณาให้เห็นรูปนามก่อน แล้วกำหนดดูจนเห็นปัจจัยที่ให้เกิดรูปนาม ต่อจากนั้นจึงเพ่งให้เห็นแจ้งไตรลักษณ์ว่า รูปนามมีลักษณะที่ไม่เที่ยง ทนอยู่ไม่ได้ บังคับบัญชาว่ากล่าวให้เป็นไปตามใจชอบก็ไม่ได้ เมื่อเพ่งจนเห็นไตรลักษณ์ ก็จะได้ละความเห็นผิด เข้าใจผิด จำผิด ว่ารูปนามเป็นของเที่ยง เป็นสุข เป็นตัวตน ที่พึงบังคับบัญชาได้ ตลอดจนว่าเป็นสิ่งที่สวยงาม การเห็นผิด เข้าใจผิด จำผิดนี้เรียกว่า วิปัลลาสธรรม คือเป็นสิ่งที่วิปลาสคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง


วิปัลลาสธรรม

วิปัลลาสธรรม หรือ วิปลาสธรรม คือ เห็นวิปลาสคลาดเคลื่อนไปจากสภาพแห่งความเป็นจริง ซึ่งสภาพแห่งความเป็นจริงนั้น สิ่งทั้งหลาย เป็นอสุภะ ไม่สวยไม่งาม เป็นทุกขะ ไม่สุขไม่สบาย เป็นอนิจจะ ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตนที่จะพึงบังคับบัญชาว่ากล่าวให้เป็นไปตามใจชอบได้แต่ที่ทำให้เกิดวิปลาสไปโดย

ทิฏฐิวิปลาส วิปลาสไปเพราะเห็นผิด

จิตตวิปลาส วิปลาสไปเพราะเข้าใจผิด

สัญญาวิปลาส วิปลาสเพราะจำผิด

ทิฏฐิวิปลาส วิปลาสไปเพราะเห็นผิด ๔ ประการ คือ เห็นผิดว่าเป็นของสวยของงาม ว่าเป็นสุขสบาย ว่าเป็นของเที่ยงยั่งยืน ว่าเป็นตัวเป็นตน

จิตตวิปลาส วิปลาสไปเพราะเข้าใจผิด ๔ ประการ คือ เข้าใจผิดว่าสวยว่างาม ว่าสุขสบาย ว่าเที่ยงยั่งยืน ว่าเป็นตัวเป็นตน


หน้า ๘๓

สัญญาวิปลาส วิปลาสไปเพราะจำผิด ๔ ประการ คือ จำผิดว่าสวยว่างาม ว่าสุขสบาย ว่าเที่ยงยั่งยืน ว่าเป็นตัวเป็นตน

ดังนั้น จึงเป็นวิปลาสธรรม ๑๒ ประการด้วยกัน

ความกระทำในใจโดยแยบคายว่า สิ่งทั้งหลาย เป็นอสุภะ ล้วนแต่ไม่สวยไม่งาม สิ่งทั้งหลาย เป็นทุกข์ ล้วนแต่ไม่สุขไม่สบาย สิ่งทั้งหลาย เป็นอนิจจัง ล้วนแต่ไม่เที่ยงไม่ยั่งยืน สิ่งทั้งหลาย เป็นอนัตตา ล้วนแต่ไม่ใช่ตัวตนที่จะพึงบังคับบัญชาว่ากล่าวให้เป็นไปตามใจชอบได้ การทำใจโดยแยบคาย เช่นนี้เรียกว่า โยนิโสมนสิการ

โยนิโสมนสิการ ๔ อย่างนี้ เป็นธรรมที่ตัด ทิฏฐิวิปัลลาส จิตตวิปัลลาส และสัญญาวิปัลลาส เมื่อตัด วิปัลลาสธรรมเหล่านี้ได้ ก็เป็นประโยชน์อันยิ่งใหญ่ เป็นไปเพื่อพระนิพพาน เหตุนี้ พระพุทธองค์จึงได้ตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายว่า โยนิโสมนสิกาโร ภิกฺขเว มหโต อตฺถาย สํวตฺตติ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความกระทำในใจโดยแยบคาย ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์อันใหญ่หลวง

และทรงแสดงว่า เป็นไปเพื่อปราบวิจิกิจฉา ความสงสัยที่ยังไม่เกิดขึ้น ก็ไม่ให้เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้วย่อมอันตรธานไป

ว่าเป็นธรรมที่สกัดกั้นอกุสลธรรมที่ยังไม่เกิดขึ้น ไม่ให้มีโอกาสเกิดขึ้นได้ ส่วนที่เกิดแล้วก็ย่อมอันตรธานไป

ว่าเป็นธรรมที่ยังกุสลธรรมทั้งหลายที่ยังไม่เกิดขึ้น ให้ได้เกิดขึ้น กุสลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ก็ให้ตั้งมั่นและเจริญยิ่งขึ้น

ว่าเป็นไปเพื่อทำ สัมมาทิฏฐิที่ยังไม่เกิดขึ้น ให้เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้ว ก็ให้เจริญมั่นคงยิ่งขึ้น ว่าเป็นธรรมที่ยังโพชฌงค์ อันเป็นองค์เครื่องตรัสรู้ ที่ยังไม่เกิดขึ้นให้ได้เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้ว ก็ให้ได้ถึงซึ่งความบริบูรณ์

ว่าเป็นไปเพื่อความตั้งมั่นแห่งพระสัทธรรม เพื่อความไม่ลืมเลือน เพื่อความไม่เสื่อมสูญอันตรธานไป

ถ้าหากมีความประมาท ขาดโยนิโสมนสิการ เป็นอโยนิโสมนสิการ ก็ยังให้ วิปัลลาสธรรม ๑๒ ประการนี้เกิดขึ้น เป็นเหตุให้ไม่รู้ความจริงของรูปของนามว่า เป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน ลักษณะที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน ๓ อย่างนี้แหละที่เรียกว่า ไตรลักษณ์ แต่บุคคลทั่ว ๆ ไปไม่ใคร่แจ้งในไตรลักษณ์ เพราะว่า มีสิ่งที่ปิดบังไตรลักษณ์อยู่ มัวแต่เพลิดเพลินในสิ่งที่ปิดบังนั้นเสีย จึงทำให้ไม่ได้มองและมองไม่เห็นไตรลักษณ์


หน้า ๘๔

สิ่งที่ปิดบังไตรลักษณ์

ที่เกิดวิปลาส คือ มีความเห็นผิด เข้าใจผิด จำผิดขึ้นก็เพราะไม่แจ้งในไตรลักษณ์ ที่ไม่แจ้งในไตรลักษณ์ ก็เพราะมีสิ่งที่ปิดบังไตรลักษณ์อยู่ สิ่งที่ปิดบังไตรลักษณ์ คือ

๑. สันตติ ปิดบัง อนิจจัง สันตติ คือ ความสืบต่อของรูปนามที่เกิดขึ้นติดต่อกันอย่างรวดเร็วเหลือเกิน จึงทำให้ไม่เห็นความเกิดขึ้นและความดับไปของนามและของรูป ทำนองเดียวกับที่เห็นแสงไฟที่ธูป ซึ่งแกว่งหมุนเป็นวงกลมอย่างเร็ว ๆ ในที่มืด ๆ จึงทำให้เห็นไปว่าแสงไฟนั้นติดกันเป็นพืด เป็นวงกลมไปเลย ฉะนั้น เมื่อไม่เห็นความเกิดดับ ก็ทำให้เข้าใจผิดไปว่ารูปนามนี้ไม่มีการเกิดดับ เป็นของเที่ยง เป็นสุข เป็นตัวตนเราเขา เป็นของสวยงามน่าชื่นชมยินดี ต่อเมื่อได้กำหนดจนเกิดปัญญาเห็นความดับไปของนามของรูปอย่างชัดเจนแจ่มแจ้งแล้ว จึงจะทำลายความวิปลาสที่เห็นว่าเที่ยงว่ายั่งยืน และประหาณ มานะได้

๒. อิริยาบถ ปิดบังทุกข์ อันความทุกขเวทนาทั้งหลาย ตามปกติเป็นส่วนมากนั้นเกิดจากอิริยาบถ เช่น นั่งมากก็เมื่อยเกิดทุกขเวทนาขึ้นมาแล้วทนอยู่ไม่ได้ เดินมากก็เมื่อยทนไม่ได้ ยืนมากก็ทนไม่ไหว แม้แต่นอนมากก็ลำบากทนอยู่ไม่ได้นานเหมือนกัน อิริยาบถเก่าเป็นทุกข์นั้นย่อมรู้เห็นกันทั่วไปได้โดยง่าย เมื่อนั่งนานก็เมื่อยทนไม่ได้จึงลุกเดิน ก็นึกว่าการเดินนั้นเป็นสุขสบายเพราะหายเมื่อย เดินนานหน่อยก็เหนื่อยทนไม่ได้อีก จึงนอน ก็นึกว่าการนอนนั้นเป็นสุขสบายเพราะหายเหนื่อย คือเห็นว่าอิริยาบถที่เปลี่ยนใหม่นั้นเป็นสุข เพราะขณะที่เปลี่ยนใหม่ ๆ นี้ ทุกขเวทนายังไม่ทันเกิด แท้จริงอิริยาบถเก่าเป็นทุกข์ อิริยาบถที่เปลี่ยนใหม่ก็จะเป็นทุกข์อีกเหมือนกัน รวมความว่า หนีทุกข์เก่าไปสู่ทุกข์ใหม่นั้นเอง อิริยาบถเก่านั้นเห็นทุกข์ได้ง่าย เพราะ
ทุกขเวทนากำลังมีอยู่ แต่อิริยาบถใหม่ก็ไม่สามารถพ้นทุกข์ไปได้ จะต้องสำแดงให้ทุกข์ปรากฏขึ้นมาอย่างแน่นอนไม่เร็วก็ช้า

อิริยาบถเก่าที่กำลังมีทุกข์เวทนาอยู่ เป็นที่ตั้งแห่ง โทมนัส อิริยาบถใหม่ที่นึกว่าเป็นสุขนั้นก็เป็นที่ตั้งแห่งตัณหา คือ อภิชฌา แต่ว่าการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานนั้น เพื่อกำจัดอภิชฌา และโทมนัส ทั้งสองอย่างที่กล่าวมานี้ เป็นการกล่าวถึงการเห็นทุกขเวทนา ซึ่งผู้ที่เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานย่อมจะเห็นทุกขเวทนาก่อนเป็นเบื้องต้น เพราะทุกขเวทนาเป็นของหยาบ เห็นได้ง่าย ขั้นที่สอง จึงจะเห็นสังขารทุกข์ที่จะต้องถูกเบียดเบียนโดยความเกิดดับอยู่เป็นนิจ ต่อไปก็เห็น ทุกขลักษณะ คือ ความเกิดดับเป็นขั้นที่สาม และจะปรากฏทุกขสัจจเป็นขั้นสุดท้าย


หน้า ๘๕

ทุกขเวทนา เห็นได้ในอิริยาบถเก่า เห็นสังขารทุกขได้ในอิริยาบถใหม่ เห็นทุกขลักษณะได้เมื่อกำหนดนามรูปจนสันตติขาด และจะเห็นทุกขสัจจ ได้ในสังขารุ เบกขาญาณที่แก่กล้า มีกำลังพอที่จะอนุโลมให้เห็น อริยสัจจ ทั้ง ๔ ได้ เมื่อเห็นทุกข์ ก็ทำลายวิปัลลาสธรรมที่เห็นว่าสุขว่าสบายนั้นได้ และประหาณตัณหาลงได้

๓. ฆนสัญญา ปิดบังอนัตตา ฆนสัญญา คือ ความสำคัญว่าเป็นก้อน เป็นแท่ง ความสำคัญว่าเป็นก้อนเป็นแท่งนั้น เป็นสิ่งที่ทำให้เห็นว่าเป็นตัวเป็นตน เป็นคนเป็นสัตว์ ที่ว่าเป็นคนก็สำคัญเอาหมดทั้งก้อนหมดทั้งแท่งนี้ว่าเป็นคน ถ้าย่อยก้อนนี้แท่งนี้ออกไปแล้ว ก็จะมีแต่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เท่านั้นเอง หาสิ่งที่เป็นคนเป็นตนเป็นตัวนั้นไม่มีเลย ถ้ายังถือทั้งก้อนทั้งแท่งว่าเป็นคนอยู่ ก็ย่อมจะเข้าใจผิดไปว่าเป็นของเที่ยง เพราะยั่งยืนอยู่นับสิบ ๆ ปี เป็นสุข เป็นสาระ สวยงามน่ารักน่าใคร่ เมื่อเห็นอนัตตา ก็ทำลายวิปลาสว่า เป็นตัวเป็นตนบังคับบัญชานั้นได้ และประหาณทิฏฐิลงได้

การทำลายสิ่งที่ปกปิดไตรลักษณ์ เพื่อให้เห็นไตรลักษณ์นั้น มีวิธีเดียว คือ การกำหนดเพ่งรูปนามตามวิธีที่เรียกว่า เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน ที่กำลังศึกษาอยู่บัดนี้


อนุปัสสนา

อนุปัสสนา แปลว่า ตามเห็น ตามดูให้เห็นแจ้ง หรือดูบ่อย ๆ ซึ่งก็มี ๓ อย่างเหมือนกัน ดังมีคาถาที่ ๑๖ แสดงว่า


๑๖. อนิจฺจานุปสฺสนา จ ตโต ทุกฺขานุปสฺสนา
อนตฺตานุปสฺสนา ติ ติสฺโส อนุปสฺสนา ฯ


แต่นั้นพึงทราบ อนุปัสสนา ๓ คือ อนิจจานุปัสสนา ทุกขานุปัสสนา อนัตตานุปัสสนา

มีความหมายว่า พระโยคาวจร ผู้เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน มีความเพียร หมั่นตั้งสติ มีสมาธิมั่นคง ไม่เผลอ บังเกิดปัญญา เห็นแจ้งรูปธรรม นามธรรม มีความเกิดดับเป็นลักษณะ ปรากฏให้เห็นตามความเป็นจริงแห่งสภาวธรรมว่า

เป็น อนิจจัง ไม่เที่ยง จึงต้องดับไป ๆ

เป็น ทุกขัง ทนอยู่ไม่ได้ จึงต้องดับไป ๆ

เป็น อนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้ จึงต้องดับไป ๆ

อยู่ทุกขณะ ต่อแต่นี้ไปพระโยคาวจรพึงพิจารณาด้วยปัญญา ตามเห็นอย่างใดอย่างหนึ่งใน ๓ อย่าง คือ


หน้า ๘๖

๑. อนิจจานุปัสสนา ตามเห็นรูปธรรมนามธรรมที่เกิดดับอยู่ทุกขณะ ว่าไม่เที่ยง เหมาะใจในการดูอนิจจัง เพราะบุญญาธิการแต่ปางก่อนแรงด้วย สีล

๒. ทุกขานุปัสสนา ตามเห็นรูปธรรมนามธรรม ที่เกิดดับอยู่ทุกขณะ ว่าทนอยู่ไม่ได้ เหมาะใจในการดูทุกขัง เพราะบุญญาธิการแต่ปางก่อนแรงด้วย สมาธิ

๓. อนัตตานุปัสสนา ตามเห็นรูปธรรมนามธรรม ที่เกิดดับอยู่ทุกขณะว่า บังคับบัญชาไม่ได้ เหมาะใจในการดูอนัตตา เพราะบุญญาธิการแต่ปางก่อนแรงด้วย ปัญญา

การกำหนดจนเห็นไตรลักษณ์นี้ ย่อมเห็นแต่อย่างใดอย่างหนึ่ง เพียงอย่างเดียวเท่านั้น ไม่ใช่ว่าจะเห็นทั้ง ๓ อย่าง เมื่อเห็นอย่างใดก็ได้ชื่อว่า เห็นแจ้งทั้ง ๓ อย่าง เพราะทั้ง ๓ อย่างนี้มีลักษณะที่สมคล้อยกัน กล่าวคือ

เพราะไม่เที่ยง จึงทนอยู่ไม่ได้ ที่ทนอยู่ไม่ได้ก็เพราะไม่เที่ยง ถ้าเที่ยงก็ทนอยู่ได้ ถ้าทนอยู่ได้ก็ถือว่าเที่ยงได้ ที่ไม่เที่ยงทนอยู่ไม่ได้ ก็เพราะบังคับบัญชาว่ากล่าวไม่ได้ ถ้าบังคับบัญชาว่ากล่าวได้ ก็จะบังคับบัญชาให้เที่ยงให้ทนอยู่ได้

เมื่อเห็นลักษณะใด ก็ตามดูลักษณะนั้นเรื่อยไป และนับตั้งแต่ได้เห็น ไตรลักษณ์ แห่งรูปนามเป็นต้นไป ได้ชื่อว่ามีปัญญาถึงขั้น วิปัสสนาญาณ แล้ว


วิปัสสนาญาณ

วิปัสสนาญาณ คือ ปัญญาที่กำหนดดูจนรู้แจ้ง ไตรลักษณ์ มีจำนวน ๑๐ ญาณ (ในจำนวนญาณทั้งหมด ๑๖ ญาณ) ดังมีคาถาที่ ๑๗ ที่ ๑๘ แสดงว่า


๑๗. กลาปโต สมฺมสน อุทยพฺพยทสฺสนํ
ภงฺคญฺญาณํ ภยญฺญาณํ ตถาทีน วนิพฺพิทา ฯ


๑๘. มุญฺจิตุกมฺยตาญาณํ ปฏิสงฺขา นุปสฺสนา
สงฺขารุเปกฺขานุโลม มิจฺจานุกฺกมโต ฐิตา
ทเสมานิ วิปสฺสนา ญาณานีติ ปเวทิยา ฯ


หน้า ๘๗

สัมมสนญาณ อุทยัพพยญาณ ภังคญาณ ภยญาณ อาทีนวญาณ นิพพิทาญาณ มุญจิตุกมยตาญาณ ปฏิสังขาญาณ สังขารุเบกขาญาณ และ อนุโลมญาณ ตั้งอยู่แล้วโดยลำดับกันดังนี้ พึงทราบว่าทั้ง ๑๐ ญาณนี้ชื่อว่า วิปัสสนาญาณ

มีความหมายว่า พระโยคีผู้เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน จนมีวิปัสสนาญาณเกิดขึ้น ย่อมเป็นไปตามลำดับแห่งวิปัสสนาญาณ มีจำนวน ๑๐ ญาณ มีรายชื่อของแต่ละญาณดังที่กล่าวข้างบนนี้

แต่อีกนัยหนึ่ง ก็แสดงว่า วิปัสสนาญาณ มีเพียง ๙ โดยไม่นับสัมมสนญาณด้วย หากนับตั้งแต่อุทยัพพยญาณ เป็นต้นไป จนถึงอนุโลมญาณ ดังจะเห็นได้ในคาถาที่ ๒๗ ต่อไปข้างหน้า


วิโมกข และวิโมกขมุข

วิโมกข มีวิเคราะห์ศัพท์ว่า ปฏิปกฺขโต วิมุจฺจตีติ วิโมกฺโข ได้รอดพ้นจากกิเลส ซึ่งเป็นปฏิปักษ์
ฉะนั้นจึงเรียกว่า วิโมกข เลยแปลกันให้เข้าใจง่าย ๆ ว่า หลุดพ้น ขาดจากความพัวพันแห่งโลก วิโมกข ก็มี ๓ เช่นเดียวกัน ดังมีคาถาที่ ๑๙ แสดงว่า


๑๙. สุญฺญโต อนิมิตฺโต จ ตถาปฺปณิหิโตปิ จ
ตโย เม วิโมกฺเข วตฺตา ติสฺโส จ อนุปสฺสนา
วิโมกฺขตฺตยวิโมกฺข มุกฺขตฺเตย หิ สญฺฐิตา ฯ


วิโมกข ๓ ประการเหล่านี้ คือ สุญญตวิโมกข อนิมิตตวิโมกข อัปปณิหิตวิโมกข อันพระพุทธองค์ทรงตรัสแล้ว ส่วนอนุปัสสนา ๓ อย่างนั้น ตั้งอยู่แล้วใน วิโมกขมุข ๓ คือ วิโมกข ๓ นั้นแล

มีความหมายว่า เมื่อกำหนดจนเกิดปัญญารู้เห็นว่า รูปนามนี้เป็น อนิจจัง ก็ให้ตามเห็นอนิจจัง นั้น การตามเห็น อนิจจัง นี้เรียกว่า อนิจจานุปัสสนา อนิจจานุปัสสนานี้แหละ ที่ได้ชื่อว่า วิโมกขมุข คือ บ่ายโฉมหน้าในการหลุดพ้นด้วยการตามเห็น อนิจจัง และเพราะว่าได้บ่ายโฉมหน้า เพื่อให้หลุดพ้นด้วยการตามเห็น อนิจจัง อันไม่มีนิมิตเครื่องหมาย จึงได้ชื่อว่า อนิมิตตวิโมกขมุข เมื่อบ่ายโฉมหน้าตามเห็น อนิจจัง จนถึงซึ่งความหลุดพ้นก็ได้ชื่อว่า อนิมิตตวิโมกข คือ พ้นด้วยการดับอนิจจัง ปราศจากนิมิตเครื่องหมายใด ๆ


หน้า ๘๘

เมื่อกำหนดจนเกิดปัญญา รู้เห็นว่ารูปนามนี้เป็นทุกขัง ก็ให้ตามเห็นทุกขังนั้น การตามเห็นทุกขังนี้เรียกว่า ทุกขานุปัสสนา ทุกขานุปัสสนานี้แหละที่ได้ชื่อว่า วิโมกขมุข คือบ่ายโฉมหน้าในการหลุดพ้นด้วยการตามเห็นทุกขัง และเพราะว่าได้บ่ายโฉมหน้าเพื่อให้หลุดพ้นด้วยการตามเห็น ทุกขัง อันหาเป็นปณิธิที่ตั้งแห่งตัณหาไม่ได้ จึงได้ชื่อว่า อัปปณิหิตวิโมกขมุข ครั้นถึงซึ่งความหลุดพ้นก็ได้ชื่อว่า อัปปณิหิตวิโมกข คือพ้นด้วยการดับทุกข์ ว่างจากกิเลส

ในทำนองเดียวกัน เมื่อกำหนดจนเกิดปัญญารู้เห็นว่า รูปนามนี้เป็น อนัตตา ก็ให้ตามเห็นอนัตตานั้น การตามเห็น อนัตตา นี้เรียกว่า อนัตตานุปัสสนา อนัตตานุปัสสนานี่แหละที่ได้ชื่อว่าวิโมกขมุข คือ บ่ายโฉมหน้าในการหลุดพ้น ด้วยการตามเห็น อนัตตา การบ่ายโฉมหน้าเพื่อให้หลุดพ้น ด้วยการตามเห็น อนัตตา อันเป็นความว่างเปล่าจากตัวตน จึงได้ชื่อว่า สุญญตวิโมกขมุข ครั้นถึงซึ่งความหลุดพ้น ก็ได้ชื่อว่า สุญญตวิโมกข เป็นการพ้นด้วยการดับสูญแห่งอัตตา


การเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน

ได้กล่าวความที่ควรทราบเป็นเบื้องต้น สำหรับการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน หรือการเจริญวิปัสสนาภาวนามาพอควรแล้ว บัดนี้จะได้ กล่าวถึงหลักการ ในการเจริญวิปัสสนา อย่างกว้างๆ แต่โดยย่อ ตามนัยแห่งปริยัติ ไม่ใช่เป็นการกล่าวโดยละเอียด เหมือนกับการ กล่าวถึงวิธีการ อย่างถ้วนถี่ ตามนัยแห่งการปฏิบัติ โดยตรง ผู้ประสงค์จะทราบวิธีการปฏิบัติอย่างพิสดาร จะต้องหาความรู้เป็นพิเศษอีกต่างหาก จากคู่มือเล่มนี้ เพราะหนังสือคู่มือเล่มนี้จะกล่าวถึงหลักการแต่โดยย่อเท่านั้น การเจริญวิปัสสนาภาวนา ต้องเริ่มต้นตั้งแต่
สีลวิสุทธิ อันเป็นวิสุทธิมัคค ลำดับที่ ๑ เป็นต้นไป


สีลวิสุทธิ และ จิตตวิสุทธิ


๒๐. ปริสุทฺธิมฺหิ สีลสฺมิ ฐิโต การกปุคฺคโล
สมถ วิปสฺสนํ วา ภาวยนฺโต ยถารหํ
อุปจารํ อปฺปนํ วา อุปฺปา เทตฺวา สมาหิโต ฯ


หน้า ๘๙

การกะบุคคล ผู้ตั้งอยู่ในสีลอันบริสุทธิแล้ว เจริญอยู่ซึ่ง สมถะ และ วิปัสสนากัมมัฏฐาน ตามสมควร ยังอุปจารสมาธิ หรืออัปปนาสมาธิให้บังเกิดขึ้นแล้ว เป็นผู้มีจิตมั่นคง (จิตตวิสุทธิ)

มีความหมายว่า การกะ แปลว่า ผู้กระทำ บุคคลผู้กระทำความเพียรเพื่อ บริสุทธิหมดจดจากกิเลส คือ พระโยคี หรือ พระโยคาวจร ไปสู่สปายสถาน ที่ปฏิบัติอันเป็นที่สบาย มีอุตุดินฟ้าอากาศเหมาะสม เป็นอารามที่รื่นรมย์ บริบูรณ์ด้วยพืชพันธ์ธัญญาหาร ไม่ฝืดเคือง มีกัลยาณมิตร และผู้อุปถัมภ์ ตลอดธรรมอันเป็น สปายะ เหมาะแก่การปฏิบัติอันเป็นไปด้วย กถาวัตถุ สิ่งที่ควรพูด

เมื่อเข้าสู่สปายสถานแล้ว น้อมตนหาอาจารย์ผู้เป็นกัลยาณมิตร มอบกายถวายอัตตภาพให้เป็นผู้ควรแก่การอบรมสั่งสอน ต่อจากนั้นก็เป็นหน้าที่ของกัลยาณมิตร จะพึงให้การอบรม โดยมุ่งหวังให้ถึงความบริสุทธิหมดจดจากกิเลส และดับทุกข์โดยสิ้นเชิงเป็นประการสำคัญเบื้องต้น พระโยคี พึงตั้งอยู่ในวิสุทธิมัคค ลำดับที่ ๑ คือ สีลวิสุทธิ ความบริสุทธิแห่งสีล

สีลสมฺปนฺโนติ จาตุปาริสุทฺธิสีล สมฺปทายสมฺปนฺโน (วิสุทธิมัคค มหาฎีกา) บุคคลที่สมบูรณ์ด้วยจตุปาริสุทธิสีลนั้น ชื่อว่าถึงพร้อมด้วยสีล

จตุปาริสุทธิสีล สีลที่บริสุทธิ ๔ ประการนั้น ได้แก่

๑. ปาฏิโมกฺขสํวรสีล การระวังรักษา กาย วาจา ตามปาฏิโมกข โดยการสมาทาน แล้วตั้งอยู่ในวิรัติ เจตนางดเว้น ไม่ล่วงสีล ๕ สีล ๘ สำหรับฆราวาส ถ้าเป็นบรรพชิต ก็ให้ตั้งอยู่ในสีล ๑๐ หรือ สีล ๒๒๗ ตามควรแก่ฐานะ

๒. อินฺทริยสํวรสีล พึงสำรวมระวังอินทรียทั้ง ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เว้นกั้นไม่ให้ บาป อกุสลเกิดขึ้นได้

๓. อาชีวปาริสุทฺธิสีล รักษากาย วาจา เว้นจากการทำการพูดเนื่องด้วยมิจฉาชีพ เลี้ยงชีวิต
มีความเป็นอยู่ ด้วยความบริสุทธิ

ขณะพูดให้มีสติรู้ทันทุกคำพูด ขณะทำการงานมี เดิน ยืน นั่ง นอน คู้ เหยียด เคลื่อนไหวกายให้มีสติรู้ทันทุกอิริยาบถน้อยใหญ่ ขณะเลี้ยงชีพมีความเป็นอยู่ด้วย การรับประทานอาหาร สวมเครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น ก็ให้มีสติรู้ทันทุกขณะ

๔. ปจฺจยนิสฺสิตสีล บ้างก็เรียกว่า ปจฺจยสนฺนิสฺสิตสีล เว้นจากการอาศัยปัจจัยที่ผิด คือ ไม่ได้พิจารณาก่อนบริโภคปัจจัย ๔ ที่ตนอาศัย มี อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค เป็นการเว้นจากการบริโภคด้วย ตัณหา และอวิชชา


หน้า ๙0

ในการสำรวมระวังรักษาสีลให้บริสุทธินี้ ในวิสุทธิมัคคท่านได้กล่าว เตือนสติผู้รักษาสีลให้ระวังสีล ประดุจ

กิกี ว อณฺฑํ เหมือน นกกระต้อยตีวิต ระวังไข่

จมรี ว พาลธิ เหมือน จามรี ระวังขนหาง

ปิยํ ว ปุตฺตํ เหมือน มารดา ระวังบุตรสุดสวาท

นยนํ ว เอกํ เหมือน คนตาบอดข้างเดียว ระวังนัยน์ตาอีกข้างหนึ่ง

เมื่อมีสีลบริสุทธิบริบูรณ์ดีแล้ว ชื่อว่ามีรากฐานมั่นคงที่จะทำสมาธิเพื่อชำระใจให้บริสุทธิอีกต่อไป
แต่ถ้าสีลยังไม่บริสุทธิ มีขาด ด่างพร้อย ทะลุอยู่ ก็ยากที่จะทำให้บังเกิดมีสมาธิขึ้นมาได้

อนึ่ง สมาธิที่เกิดจากสีลบริสุทธินี้ มีกำลังมาก ดังปรากฏในปรินิพพานสูตร แสดงว่า พระบรมศาสดา
ได้ตรัสไว้ว่า

สีลปริภาวิโต สมาธิ มหปฺผโล โหติ มหานิสํโส

สมาธิปริภาวิตา ปญฺญา มหปฺผลา โหติ มหานิสํสา

ปญฺญาปริภาวิตํ จิตฺตํ สมฺมเทว อาสเวหิ วิมุจฺจติ

สมาธิที่เจริญไว้ด้วยสีล ย่อมมีกำลังมากและมีผลานิสงส์มาก ปัญญาที่ได้เจริญไว้ด้วยสมาธินั้น ย่อมมีกำลังมาก มีอานิสงส์มาก จิตใจที่ได้เจริญไว้ด้วยปัญญานั้น ย่อมหลุดพ้นจาก อาสวะ ทั้ง ๔ ได้โดยตนเอง


สีลวิสุทธิ นี้เป็นวิสุทธิมัคคลำดับต้นแห่ง วิสุทธิ ๗ ต่อไปก็เป็นจิตตวิสุทธิ ดังมีบาลีว่า

อุปจารสมาธิ อปฺปนาสมาธิ เจติ ทุวิโธปิสมาธิ จิตฺตวิสุทฺธินาม 

สมาธิ ทั้ง ๒ อย่าง คือ อุปจารสมาธิ
อัปปนาสมาธิ นี้ชื่อว่า จิตตวิสุทธิ

มีความหมายว่า จิตตวิสุทธิในทางสมถภาวนา หมายถึง อุปจารสมาธิ คือ สมาธิที่แน่วแน่จวนจะหรือใกล้จะได้ฌานเข้าไปแล้ว ตลอดจนถึง อัปปนาสมาธิ คือ สมาธิที่แนบแน่นอย่างแน่วแน่จนได้ฌานนั้นด้วย

ส่วนในทาง วิปัสสนาภาวนา นับตั้งแต่ ขณิกสมาธิ ที่เป็นบาทของวิปัสสนา คือ มีสติรู้ทันปัจจุบันแห่งรูปนาม ไม่เผลอไปจากปัจจุบันธรรม ดังนั้น โลภ โกรธ หลง ก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ เมื่อรู้ทันปัจจุบันอยู่ทุกขณะอย่างมั่นคง
เช่นนี้เรียกว่า ขณิกสมาธิ ขณะนี้จิตใจก็บริสุทธิจากกิเลส จึงได้ชื่อว่า จิตตวิสุทธิ เช่นเดียวกัน

จิตตวิสุทธิ นี้เป็นวิสุทธิมัคคลำดับที่ ๒


หน้า ๙๑

ทิฏฐิวิสุทธิ

ทิฏฐิวิสุทธิ เป็นวิสุทธิมัคคลำดับที่ ๓ ถ้ากล่าวโดยโสฬสญาณแล้ว ทิฏฐิ วิสุทธิ ก็ได้แก่ ญาณต้น ที่มีชื่อว่า นามรูปปริจเฉทญาณ เป็นญาณที่ ๑ ในจำนวนญาณทั้งหมดซึ่งมี ๑๖ ญาณ มีคาถาที่ ๒๑ แสดงว่า


๒๑. ปญฺญาย ภาวนาโยคํ กุรุมาโน ตทุตฺตริ
สมฺมเทว นามรูปํ ปริคฺคหํ ลกฺขณาทิโต
สงฺขารมตฺตโต ทิสฺวา ฐิโต ทิฏฺฐิวิสุทฺธิยํ ฯ


ประกอบความพากเพียร ในการเจริญปัญญาให้ยิ่งขึ้นไปกว่านั้น (ยิ่งไปกว่า สีลวิสุทธิ จิตตวิสุทธิ) กำหนดจนเห็นขึ้นมาเองแห่งลักษณะเป็นต้น ของรูปนามทั้งสองโดยชอบ คือเห็นสักแต่ว่าเป็นสังขารธรรมดังนี้ ได้ชื่อว่าตั้งอยู่แล้วในทิฏฐิวิสุทธิ

มีความหมายว่า

๑. พระโยคีที่เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน จนถึง สีลวิสุทธิ และจิตตวิสุทธิแล้ว ต่อจากนั้น ก็เป็นกำลังที่จะให้ถึง ทิฏฐิวิสุทธิ ความบริสุทธิแห่งทิฏฐิ ซึ่งเป็นลำดับที่ ๓ แห่งวิสุทธิมัคค และเป็นกำลังที่จะส่งให้ถึง นามรูปปริจเฉทญาณ คือ เห็นแจ้งในรูปและนาม ซึ่งเป็นญาณที่ ๑ แห่ง โสฬสญาณ

๒. ที่ว่าเห็นแจ้งในรูปและนามนั้น มีบาลีว่า ลกฺขณ รส ปจฺจุปฏฺฐาน ปทฏฺฐาน วเสน นามรูปปริคฺคโห ทิฏฺฐิวิสุทฺธินาม การกำหนดรู้รูปนามด้วยสามารถ แห่งลักษณะ รส ปัจจุปัฏฐาน ปทัฏฐาน นั้นชื่อว่า ทิฏฐิวิสุทธิ คือจะต้องเห็นแจ้งในลักขณาทิจตุกะแห่งรูปนาม จึงจะได้ชื่อว่า เห็นแจ้งในรูปนาม

ลักขณาทิจตุกะ ของรูป (ตามนัยแห่งปฏิจจสมุปปาท)

(๑) รุปฺปนลกฺขณํ มีการสลาย แปรปรวน เป็นลักษณะ

(๒) วิกิรณรสํ มีการแยกออกจากกันได้ (กับจิต) เป็นกิจ


หน้า ๙๒

(๓) อพฺยากตปจฺจุปฏฺฐานํ มีความเป็นอพยากตธรรม เป็นอาการปรากฏ

(๔) วิญฺญาณปทฏฺฐานํ มีวิญญาณ เป็นเหตุใกล้

ลักขณาทิจตุกะของนามจิต (ตามนัยแห่งปฏิจจสมุปปาท)

(๑) วิชฺชานนลกฺขณํ มีการรู้อารมณ์ เป็นลักษณะ

(๒) ปุพฺพงฺคมรสํ เป็นประธานแก่เจตสิกและรูป เป็นกิจ

(๓) ปฏิสนฺธิปจฺจุปฏฺฐานํ มีการสืบต่อระหว่างภพเก่ากับภพใหม่ เป็นอาการปรากฏ

(๔) สงฺขารปทฏฺฐานํ มีสังขาร ๓ เป็นเหตุใกล้

(วา) วตฺถารมฺมณํ ปทฏฺฐานํ หรือ มีวัตถุกับอารมณ์ เป็นเหตุใกล้

ลักขณาทิจตุกะของนามเจตสิก (ตามนัยแห่งปฏิจจสมุปปาท)

(๑) นมนลกฺขณํ มีการน้อมไปสู่อารมณ์ เป็นลักษณะ

(๒) สมฺปโยครสํ มีการประกอบกับจิต และประกอบกันเองโดยอาการ เอกุปฺปาท เป็นต้น เป็นกิจ

(๓) อวินิพฺโภคปจฺจุปฏฺฐานํ มีการไม่แยกออกจากจิต เป็นอาการปรากฏ

(๔) วิญฺญาณปทฏฺฐานํ มีวิญญาณ เป็นเหตุใกล้

๓. ที่ว่ากำหนดรู้รูปนามด้วยสามารถแห่งลักขณาทิจตุกะนั้น แม้จะรู้ไม่ครบหมดทั้ง ๔ ประการก็ตาม เพียงแต่รู้อย่างใดใน ๔ ประการนั้นสักอย่างเดียว ก็ได้ชื่อว่า รู้แล้ว

แต่ว่าในลักขณาทิจตุกะนี้ ปัจจุปัฏฐาน คือ อาการปรากฏ หรือผลปรากฏ เป็นการที่สำคัญกว่าเพื่อน จึงเป็นประการที่ควรจักต้องรู้โดยแท้

๔. ก่อนอื่น ต้องทำความเข้าใจไว้อย่างแน่นอนว่า การเจริญวิปัสสนาภาวนา นั้นต้องมี ปรมัตถอารมณ์ เป็นกัมมัฏฐาน จะมีอารมณ์เป็นบัญญัติหรือเอาบัญญัติมาเป็นอารมณ์ในการเจริญวิปัสสนา หาได้ไม่

ปรมัตถอารมณ์ ที่จะต้องพิจารณาให้เห็นแจ้งเป็นประเดิมเริ่มแรกก็คือ รูปนาม การที่จะให้เห็นแจ้งในรูปนาม ก็ต้องดำเนินการตามนัยแห่ง สติปัฏฐาน วิธีเดียว จะดำเนินการอย่างอื่นใดให้ปรากฏรูปนาม ตามสภาพแห่งความเป็นจริงนั้น หาได้ไม่


หน้า ๙๓

สติปัฏฐานนั้นก็ได้จำแนกพิจารณาไว้เป็น ๔ ประการ คือ

ก. กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน สติตั้งมั่นในการพิจารณาเนือง ๆ ซึ่งกาย อันหมายถึงที่ประชุมแห่งรูป คือ รูปขันธ์ แจกแจงได้เป็น ๑๔ บัพพะ

ข. เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน สติตั้งมั่นในการพิจารณาเนือง ๆ ซึ่งเวทนา อันหมายถึง ความรู้สึกเป็นทุกข์เป็นสุข คือ เวทนาขันธ์ แจกแจงได้เป็น ๙ บัพพะ

ค. จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน สติตั้งมั่นในการพิจารณาเนือง ๆ ซึ่งจิต อันหมายเฉพาะความรับรู้อารมณ์ที่เป็นโลกีย คือ วิญญาณขันธ์ แจกแจงได้เป็น ๑๖ บัพพะ

ง. ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน สติตั้งมั่นในการพิจารณาเนือง ๆ ซึ่งธรรม อันหมายรวมทั้งรูปทั้งนาม
แจกแจงได้เป็น ๕ บัพพะ คือ ขันธ์ ๕ , นิวรณ์ ๕, อายตนะ ๑๒, โพชฌงค์ ๗, อริยสัจจ ๔

มีรายละเอียดพอประมาณ แจ้งอยู่แล้วในคู่มือการศึกษา ปริจเฉทที่ ๗ ตอน สติปัฏฐาน ขอให้ทบทวนดูที่นั่นด้วย

๕. ในชั้นต้นต้องพิจารณา กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือ ให้มีสติตั้งมั่นในการพิจารณารูปก่อน กำหนดดูทั้งรูปที่เกิดจากอิริยาบถใหญ่ อันได้แก่ เดิน ยืน นั่ง นอน และอิริยาบถย่อย อันได้แก่ การเคลื่อนไหวกายทำการงานต่าง ๆ ทุกอย่างที่ให้ดูรูปเหล่านี้ก่อน ก็เพราะรูปเหล่านี้เป็นของหยาบ เห็นได้ง่ายกว่ารูปอื่น ๆ

การดูก็จะต้องดูด้วยความมีสติสัมปชัญญะ คือ ให้รู้ตัวอยู่ทุกขณะจิตว่า ขณะนี้กำลังดูรูปอะไร อย่าให้เผลอไปนึกคิดอะไรอื่นเสีย

อิริยาบถใหญ่ คือ อิริยาบถบัพพะ อิริยาบถย่อย คือ สัมปชัญญบัพพะ เหล่านี้เป็นรูปทั้งนั้น จิตที่รู้อาการต่าง ๆ แห่งอิริยาบถเหล่านี้เป็นนาม

๖. ในขณะที่กำลังกำหนด กำลังพิจารณาอิริยาบถต่าง ๆ เหล่านี้อยู่ อาจเกิด เวทนา ปรากฏขึ้นมา เช่น นั่งนานไปหน่อยก็เมื่อย หรือมีตัวแมลงมากัดต่อยเจ็บปวด ทำให้เกิดทุกขเวทนา ก็ให้มากำหนดในเวทนาที่กำลังปรากฏอยู่ อันเป็นการพิจารณาเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน

เวทนาที่กำลังปรากฏอยู่นั้นเป็นนาม(นามเจตสิก), จิตที่รู้เวทนานั้นก็เป็นนาม (นามจิต), หทยวัตถุอันเป็นที่อาศัยให้จิตเจตสิกเกิดนั้นเป็นรูป ถ้าเวทนานั้นปรากฏเกิดที่กาย กายที่เวทนาเกิดนั้นก็เป็นรูป


หน้า ๙๔

๗. ในขณะที่กำหนดอิริยาบถต่าง ๆ อยู่นั้น อาจมีรูปารมณ์มาปรากฏเฉพาะหน้า ก็ให้มากำหนดในการเห็น อันเป็นการพิจารณา จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน

การกำหนดการเห็นนั้น ให้รู้แค่เห็น อันเป็นปรมัตถเท่านั้น ไม่ให้คิดเลยไปว่า รูปที่เห็นนั้นเป็นอะไร อันจะเป็นบัญญัติไป เพราะการเจริญวิปัสสนาภาวนาเพื่อให้เห็นแจ้งรูปนามอันเป็นปรมัตถ ไม่ได้มีความประสงค์จะให้รู้บัญญัติ ดังที่ได้กล่าวแล้วในข้อ ๔ ข้างต้นนี้

สิ่งที่เห็นนั้นเป็นรูปและเป็นธรรมภายนอก มากระทบประสาทตาอันเป็นรูปเหมือนกัน แต่เป็นธรรมภายใน จึงทำให้เกิดการเห็นขึ้น การเห็น คือ จักขุวิญญาณนี้เป็นนาม จิตที่รู้ว่าเห็นก็เป็นนาม

๘. ถ้ามีเสียงมาปรากฏเฉพาะหน้า ก็ให้กำหนดในการได้ยิน และให้รู้แค่ได้ยินเสียงเท่านั้น ไม่ให้คิดรู้เลยไปว่า เสียงนั้นเป็นเสียงอะไร พูดเรื่องอะไร ทั้งนี้เพื่อจะได้เกิดปัญญาให้รู้ว่า เสียงเป็นรูปภายนอกมากระทบประสาทหู อันเป็นรูปภายใน จึงทำให้ได้ยิน คือ เกิดโสตวิญญาณ อันเป็นนาม จิตที่รู้ว่าได้ยินก็เป็นนาม

๙. ถ้ามี คันธารมณ์ รสารมณ์ โผฏฐัพพารมณ์ มาปรากฏเฉพาะหน้า ก็ให้กำหนด ฆานวิญญาณ
ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ ตามควรแก่กรณี ทำนองเดียวกับ รูปารมณ์ สัททารมณ์ ที่กล่าวมาแล้วนั้น

๑๐. มีข้อที่ควรกล่าวตรงนี้ เช่น การกำหนดทางกายทวารนั้น ถ้ากำหนด พิจารณา กายวิญญาณก็เป็นจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน กายวิญญาณเป็นนาม กายปสาท ที่เป็นที่ตั้งเป็นที่เกิดแห่งกายวิญญาณนั้นเป็นรูป

ถ้ากำหนดพิจารณาทุกข์สุขที่เกิดพร้อมกับกายวิญญาณนั้น ก็เป็นเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน เวทนาเป็นนาม กายปสาทอันเป็นที่อาศัยเกิดแห่งเวทนานี้ ก็เป็นรูป

ถ้ากำหนดพิจารณาสิ่งที่มากระทบ คือ โผฏฐัพพารมณ์ อันได้แก่ เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ซึ่งเป็นรูปขันธ์ ก็เป็นธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน โผฏฐัพพารมณ์ที่มา กระทบก็ดี กายปสาทที่รับกระทบก็ดี เป็นรูป จิตที่รู้กระทบนั้นเป็นนาม

ถ้ากำหนดพิจารณาการกระทบถูกต้อง คือ ผัสสะ ก็เป็นธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ผัสสก็ดี จิตที่เกิดพร้อมกับผัสสะก็ดี เป็นนาม กายปสาทที่เป็นที่อาศัยที่เกิดแห่งกายวิญญาณและเจตสิกนี้เป็นรูป


หน้า ๙๕

๑๑. บางทีในเวลาที่กำหนดพิจารณาอิริยาบถอยู่ จิตอาจเลื่อนลอยไปคิดอะไรอื่นที่ไม่ใช่อิริยาบถที่กำหนด ซึ่งเรียกว่าฟุ้งไปก็ดี หรือว่าเกิดท้อใจน้อยใจ ที่ได้พยายามกำหนดมาเป็นหนักหนา ก็ยังไม่ได้เห็นธรรมอะไรสักอย่าง อันเป็นการเกิดโทสะขึ้นมาก็ดี หรืออยากรู้อยากเห็นธรรมอย่างนั้นอย่างนี้ อันเป็นโลภะก็ดี

ถ้ากำหนด จิตที่ฟุ้ง จิตที่เป็นโทสะ จิตที่มีโลภะ ก็เป็นจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ถ้ากำหนดดู ความฟุ้ง ความไม่พอใจ ความอยากได้ ก็เป็นธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน

จิตฟุ้ง โทสจิต โลภจิต เป็นนาม (นามจิต) ความฟุ้ง ความไม่พอใจ ความอยากได้เป็นนาม (นามเจตสิก) หทยวัตถุอันเป็นที่อาศัยให้เกิด จิตเจตสิก เหล่านี้นั้น เป็นรูป

๑๒. อาจกล่าวได้ว่า อันการกำหนดพิจารณากาย พิจารณาเวทนา พิจารณาจิต ก็ได้ชื่อว่าพิจารณาธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ไปด้วยในตัว เพราะกายหมายถึงรูป รูปก็เป็นธรรม เวทนาก็เป็นธรรม จิตก็เป็นธรรม ล้วนแต่เป็นธรรมทั้งนั้น ไม่พ้นไปจากธรรมเลย

๑๓. การที่ให้รู้ตัวทุกขณะจิตว่าขณะนี้กำลังดูรูปอะไรอยู่ ดูนามอะไรอยู่ ก็เพื่อให้จิตใจจดจ่อตั้งสติอย่างมั่นคง
ในการพิจารณารูปนามเหล่านั้น จะได้ไม่แส่ไปคิดเรื่อง โลภ โกรธ หลง อันรวมเรียกสั้น ๆ ว่าจะได้ไม่เกิดอภิชฌาและโทมนัส เพราะการเจริญสติปัฏฐาน ก็เพื่อปิดกั้น หรือทำลาย อภิชฌา และโทมนัส นี่เอง ดังนั้นการกำหนดดูรูปนามก็จะต้องดูด้วยความ ไม่ยินดี และไม่ยินร้ายด้วย ถ้าเกิดความยินดีมีความปรารถนาว่าคงเกิดผลอย่างนั้นอย่างนี้มาให้เห็นก็ดี เกิดความยินดีติดใจในรูปนามนั้นก็ดี ก็เป็นอภิชฌา แต่ถ้าเกิดความน้อยใจขึ้นมา ว่าได้กำหนดดูอยู่นานแล้ว ก็ไม่ปรากฏธรรมอะไรขึ้นมาให้เห็นเสียบ้างเลยก็ดี เกิดความไม่ชอบใจในรูปในนามนั้นก็ดี ก็เป็นโทมนัส อันไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ของการเจริญสติปัฏฐาน

๑๔. ครั้นสติตั้งมั่นในการพิจารณารูปนามดังกล่าวแล้ว ก็จะเกิดปัญญาขึ้นมาเองว่า รูปเป็นอย่างไร มีลักษณะอย่างใด และนามที่น้อมไปรู้รูปนั้นเป็นอย่างไร มีลักษณะอย่างใด เป็นการเห็นอย่างถูกต้องตรงตามความเป็นจริงแห่งสภาพของรูปธรรมนามธรรม ว่าเป็นคนละสิ่งคนละส่วน หาใช่เป็นสิ่งเดียวกันไม่ โดยไม่ได้คิดเอา เดาเอา อนุมานเอาเอง แต่เป็นการเห็นอย่างแจ้งประจักษ์

๑๕. เมื่อเห็นประจักษ์ในรูปนาม ก็ทำให้คลายความเห็นผิดอันติดสันดานมาสิ้นเอนกอนันตชาติในสังสารวัฏฏ ว่าเป็นตัวเป็นตนเป็นเราเป็นเขาลงได้ เห็นเช่นนี้ได้ชื่อว่า ทิฏฐิวิสุทธิ เป็นความเห็นอันบริสุทธิถูกต้อง จัดเป็นญาณต้น คือ นามรูปปริจเฉทญาณ แห่งโสฬสญาณ


หน้า ๙๖

๑๖. ที่เห็นได้ถึงเช่นนี้ไม่ใช่ง่ายเลย เพราะจิตใจที่ยังไม่ได้ฝึกอบรมนั้น มักจะมีอาการ ๓ อย่าง คือ

ก. ประเปรียว ชอบเที่ยว ไม่อยู่นิ่ง

ข. เบื่ออารมณ์ง่าย ใคร่แต่อารมณ์ใหม่ ๆ เสมอ

ค. บังคับไม่ได้ ยิ่งบังคับยิ่งฝ่าฝืน

แต่ก็ไม่เหลือวิสัย ถ้าได้ตั้งใจฝึกฝนอบรมจริง ขนาดเนื้อจะเหือด เลือดจะแห้ง เหลือแต่หนัง เอ็น กระดูก ก็ไม่ยอมท้อถอย

อนึ่ง ทิฏฐิวิสุทธิ องค์ธรรมได้แก่ ปัญญา ที่เรียกว่า ภาวนามยปัญญา เพราะเป็นปัญญาที่เกิดจาก วิปัสสนาภาวนา ซึ่งสามารถละ สักกายทิฏฐิ ความเห็นผิดว่าเป็นตัวเป็นตนเสียได้


ปัญญา

ปัญญา มีลักษณะรู้ชัดรู้แจ้ง ซึ่งสภาวแห่งรูปธรรมนามธรรม มีอรรถาธิบายกว้างขวางมาก แจกแจงได้เป็นหลายนัยหลายกระบวน ในวิสุทธิมัคคอรรถกถา ก็จำแนกเป็น ๖ หมวด รวม ๓๑ อย่าง ที่เรียกว่า ปัญญา ๓๑ ทัส แต่ในที่นี้จะแสดงแต่นัยเดียวที่เกี่ยวแก่เรื่องนี้ว่า ปัญญามีอยู่ ๓ อย่าง คือ สุตามยปัญญา จินตามยปัญญา และภาวนามยปัญญา เท่านั้น

สุตามยปัญญา เป็นความรู้ที่เกิดจากการเรียน บ้างก็เรียกว่า อุคคหโกสัลลญาณ แปลว่า ความรู้ที่ฉลาดจากการเรียน ซึ่งต้องอาศัยธรรม ๕ ประการ คือ สัทธา ความเชื่อ, อโรคิกะ ความไม่มีโรค, อสาเฐยยะ ความไม่โอ้อวด, วิริยรัมภะ ความเพียร และ ปัญญา ความรู้

จินตามยปัญญา เป็นความรู้ที่เกิดจากความตรึกนึกคิด ความพินิจ ไตร่ตรอง

ภาวนามยปัญญา เป็นความรู้ที่เกิดจากการอบรมให้มีขึ้นและให้เจริญขึ้นด้วย ได้แก่ ปัญญาที่เกิดจากสมถภาวนา และวิปัสสนาภาวนา


กังขาวิตรณวิสุทธิ

กังขาวิตรณวิสุทธิ เป็นวิสุทธิมัคค ลำดับที่ ๔ และเป็นญาณที่ ๒ แห่งโสฬสญาณ มีชื่อว่า
ปัจจยปริคคหญาณ มีคาถาที่ ๒๒ แสดงว่า


หน้า ๙๗

๒๒. เตสํ ว นามรูปานํ ปจฺจยํ ปริคฺคญฺหิยํ
ปจฺจยํ สมฺปสฺสิตฺวาน นามรูปสฺส ตตโต
นามรูปสฺสิตํ กงฺขํ วิตริตฺวา ติกาลิกํ ฯ


เมื่อกำหนดจับปัจจัยแห่งนามและรูปเหล่านั้น และพิจารณาเห็นปัจจัยแห่งนามและรูปโดยกว้าง ชอบแล้ว จึงข้ามพ้นความสงสัย อันอาศัยนามและรูปที่เป็นไปในกาลทั้ง ๓

มีความหมายว่า เมื่อพระโยคีได้เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานถึง ทิฏฐิวิสุทธิ คือถึง นามรูปปริจเฉทญาณ เห็นแจ้งในรูปธรรมนามธรรมตามความเป็นจริง แล้วตั้งอยู่ในวิสุทธินั้น โดยไม่เสื่อมถอย อันตรายต่าง ๆ มี นิวรณ์ และนิมิตร้ายทั้งหลายไม่อาจกล้ำกรายได้ เพราะอำนาจที่มีอินทรียและพละแก่กล้า คือ

สัทธา เชื่อต่อการปฏิบัติแน่นอน

วิริยะ พากเพียรปฏิบัติวิปัสสนายิ่งขึ้น

สติ ระลึกทันต่อปัจจุบันแห่งรูปนามทุกขณะ

สมาธิ มั่นคง ไม่เผลอจากรูปนาม

ปัญญา รู้เห็นรูปนามแจ่มชัดยิ่งขึ้น

ด้วยกำลังอันยิ่งใหญ่แห่งธรรม ๕ ประการนี้ จึงยังให้พระโยคีแจ้งในปัจจัยที่เกิดรูปนาม คือแจ้งว่า

ปัจจัยที่ให้เกิดรูปนั้นได้แก่ กรรม จิต อุตุ อาหาร

ปัจจัยที่ให้เกิดนามนั้นได้แก่ อารมณ์ วัตถุ มนสิการ

อีกนัยหนึ่งแสดงโดยละเอียดออกไปตามนัยแห่งปฏิจจสมุปปาทว่า

ปัจจัยให้เกิดรูปนั้นได้แก่ อวิชชา ตัณหา กรรม และ อาหาร ปัจจัยที่ให้เกิดจิตนั้นได้แก่ อวิชชา ตัณหา กรรม และนามรูป (นามรูปในที่นี้ หมายถึงเจตสิกกับกัมมชรูป เท่านั้น)

ปัจจัยที่ให้เกิดเจตสิก นั้นได้แก่ อวิชชา ตัณหา กรรม และ ผัสสะ


หน้า ๙๘

เมื่อรู้เช่นนี้แล้ว ก็หมดสิ้นความสงสัยในกาลทั้ง ๓ คือ รู้ว่ารูปนามปัจจุบันนี้ มีความหมายเป็นอยู่อย่างนี้ อดีตที่ล่วงมาแล้ว กี่ภพกี่ชาติก็เป็นมาอย่างนี้ ต่อไปในอนาคตอีกกี่ภพกี่ชาติ ก็จักต้องเป็นไปอย่างนี้อีก
รวมหมดความสงสัย ๑๖ ประการ คือ

ก. ความสงสัยในอดีตกาล ๕ ได้แก่

๑. อโหสิ นุโข อหํ อตีตมทฺธานํ เราได้เคยเกิดหรือ

๒. น นุโข อโหสิ อตีตมทฺธานํ เราไม่เคยเกิดหรือ

๓. กิ นุโข อโหสิ อตีตมทฺธานํ เราได้เกิดเป็นชาติใด

๔. กถํ นุโข อโหสิ อตีตมทฺธานํ เราได้เกิดเป็นประการใด

๕. กิ หุตฺวา กิ อโหสิ อตีตมทฺธานํ เราได้เกิดเป็นใคร แล้วเกิดต่อเป็นใคร

ข. ความสงสัยในอนาคตกาล ๕ ได้แก่

๑. อโหสิ นุโข อหํ อนาคตมทฺธานํ เราจะได้เกิดหรือ

๒. น นุโข อโหสิ อนาคตมทฺธานํ เราจะไม่ได้เกิดหรือ

๓. กิ นุโข อโหสิ อนาคตมทฺธานํ เราจะได้เกิดชาติใด

๔. กถํ นุโข อโหสิ อนาคตมทฺธานํ เราจะได้เกิดด้วยประการใด

๕. กิ หุตฺวา กิ อโหสิ อนาคตมทฺธานํ เราจะเกิดเป็นใคร แล้วเกิดต่อใครเป็นใครอีก

ค. ความสงสัยในปัจจุบันกาล ๖ ได้แก่

๑. อหํ นุโข อสฺสมิ เรานี้เป็นตัวเราหรือ

๒. โน นุโขสฺมิ เรานี้ไม่ใช่ตัวเราหรือ

๓. กิ นุโขสฺมิ เรานี้เป็นอย่างไรเล่า

๔. กถํ นุโขสฺมิ เรานี้เป็นประการใด

๕. อยํ นุโข สตฺโต กุโต อาคโต เรานี้เป็นสัตว์หรือ

๖. โส กุหิ คามี ภวิสฺสติ เรามาจากไหน แล้วจะไปไหนอีกเล่า

ความสงสัย ๑๖ ประการนี้ เป็นการแสดงตามนัยแห่งพระสูตร ส่วนตามนัยแห่งพระอภิธรรมนั้นแสดงว่า
พระโยคีผู้ที่ถึงแล้ว ซึ่งกังขาวิตรณวิสุทธิ คือ ปัจจยปริคคหญาณ ย่อมพ้นจากความสงสัย ๘ ประการ คือ

๑. ความสงสัยในพระพุทธเจ้า คือ สงสัยในพระพุทธคุณ ๙ ประการ มีรายละเอียดแจ้งอยู่แล้วที่
พุทธานุสสติ ข้างต้นนี้

๒. ความสงสัยในพระธรรมเจ้า คือ สงสัยในพระธรรมคุณ ๖ ประการ มีรายละเอียดแจ้งอยู่แล้วที่ ธัมมานุสสติ ข้างต้นนี้

๓. ความสงสัยในพระสงฆ์เจ้า คือ สงสัยในพระสังฆคุณ ๙ ประการ มีรายละเอียดแจ้งอยู่แล้วที่
สังฆานุสสติ ข้างต้นนี้


หน้า ๙๙

๔. ความสงสัยในการศึกษา ในข้อปฏิบัติแห่งพระพุทธศาสนา คือ สีล สมาธิ ปัญญา

๕. ความสงสัยในอดีตกาลแต่ชาติปางก่อน

๖. ความสงสัยในอนาคตกาล ที่จะมีมาในชาติหน้า

๗. ความสงสัยในปัจจุบันกาลในชาตินี้

๘. ความสงสัยในปฏิจจสมุปปาท คือ ธรรมที่เป็นเหตุให้เกิดผลต่อเนื่องกันโดยไม่ขาดสาย ซึ่งทำให้ต้องวนเวียนอยู่ในสังสารวัฏฏ

สรุปความแล้ว แม้จะมีความสงสัยเอนกประการก็ตาม แต่เมื่อถึงกังขาวิตรณวิสุทธิแล้ว แจ้งใน
ปัจจยปริคคหญาณแล้ว ก็พ้นจากการสงสัย ๒ ประการ คือ สงสัยในพระพุทธศาสนา และสงสัยในปัจจัยแห่งรูปนาม

ปัจจยปริคคหญาณ สามารถละ อเหตุกทิฏฐิ ความเห็นผิดว่าไม่มีเหตุ ละ วิสมเหตุกทิฏฐิ เห็นผิดโดยยึดถือเหตุที่ไม่เหมาะ ไม่สมควรและละ กังขามลทิฏฐิ มลทิน หรือความหม่นหมองอันเกิดจากความสงสัยเหล่านี้เสียได้

ผู้ที่ข้ามพ้นความสงสัย คือได้ปฏิบัติจนได้แจ้ง กังขาวิตรณวิสุทธิ เป็นวิสุทธิ ที่ ๔ ในวิสุทธิทั้ง ๗ ซึ่งตรงกับ ปัจจยปริคคหญาณ อันเป็นญาณ ที่ ๒ แห่งโสฬสญาณนี้แล้ว ผู้นั้นได้ชื่อว่าเป็น จูฬโสดาบัน ดังที่ วิสุทธิมัคค
ภาค ๓ หน้า ๒๒๙ บรรทัดที่ ๑๗ แสดงไว้ว่า


อิมินา ปน ญาเณน สมนฺนาคโต วิปสฺสโก พุทฺธสาสเน ลทฺธสฺสาโส ลทฺธปติฏโฐ นิยตคติโก จูฬโสตาปนฺโน นาม โหติ ฯ

ผู้เจริญวิปัสสนาถึงญาณที่ ๒ นี้แล้ว ได้ความเบาใจ ได้ที่พึ่งที่อาศัยในพระพุทธศาสนา มีคติอันเที่ยง ชื่อว่า จูฬโสดาบัน


มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ

มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ เป็นวิสุทธิมัคค อันดับที่ ๕ ตรงกับ โสฬสญาณที่ ๓ และที่ ๔ ที่ชื่อว่าสัมมสนญาณและอุทยัพพยญาณ ดังมีคาถาที่ ๒๓ แสดงว่า


๒๓. ตโต เตเสฺวว ธมฺเมสุ สมฺมสํ ลกฺขณตฺตยํ
เตสุ ปจฺจย วเสน เจว ขณวเสน จ
อุทยพฺพย ญาเณน สมฺปสฺสํ อุทยพฺพยํ ฯ


หน้า ๑00

แต่นั้นพิจารณาอยู่ซึ่งพระไตรลักษณ์ในธรรมทั้งหลายเหล่านั้นแหละ แต่คำนึงเห็นทั้งความเกิดทั้งความดับในธรรมเหล่านั้นด้วยอุทยัพพยญาณ ด้วยสามารถแห่งปัจจัย และด้วยสามารถแห่งขณะจิต

มีความหมายว่า เมื่อพระโยคีผู้ประกอบความเพียร เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน จนถึงปัจจยปริคคหญาณ เห็นปัจจัยแห่งรูปนามดังกล่าวแล้ว โดยไม่เสื่อมถอย ต่อจากนั้นด้วยอำนาจแห่งอินทรียและพละเป็นปัจจัยส่งให้ก้าวขึ้นสู่ สัมมสนญาณ เห็นรูปนามโดยความเป็นไตรลักษณ์ คือ เป็นอนิจจัง เพราะอรรถว่าไม่เที่ยง ตั้งอยู่ไม่ได้ ต้องสิ้นไป ไม่ยั่งยืน ไม่มั่นคง, เป็นทุกข์ เพราะอรรถว่า ทนอยู่ไม่ได้ ต้องแตกดับไป, เป็นอนัตตา เพราะอรรถว่า ไม่เป็นไปตามอำนาจผู้ใด บังคับบัญชาไม่ได้ ไม่เป็นแก่นสาร

แม้สัมมสนญาณ จะเห็นไตรลักษณ์ก็ดี แต่การเห็นในญาณนี้ยังนับว่าหยาบอยู่ ยังไม่แน่ชัดทีเดียว เพราะต่อเมื่อเห็นรูปนามใหม่เกิดขึ้นมาแล้ว จึงได้เกิดปัญญารู้ขึ้นมาว่ารูปนามเก่านั้นดับไปแล้ว เรียกว่า สันตติยังไม่ขาด คือในขณะที่รูปนามดับไป ก็ไม่ทันได้เห็นในขณะที่ดับไปในทันทีที่ดับนั้น ต่อเมื่อมีรูปนามเกิดมาสืบต่ออีกใหม่นั้นปราฏแล้ว จึงจะรู้ว่ารูปนามเก่าดับไปแล้ว อันเป็นความรู้ที่ยังอิงอาศัย จินตามยปัญญาอยู่

สัมมสนญาณนี้สงเคราะห์ลงใน มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ ซึ่งเป็น วิสุทธิมัคค ลำดับที่ ๕

อนึ่ง ในการพิจารณาไตรลักษณ์นี้ มีวิธีพิจารณาอยู่ ๔ แบบ ชื่อ กลาปสัมมสนนัย อัทธาสัมมสนนัย สันตติสัมมสนนัย และ ขณะสัมมสนนัย

๑. พิจารณารูปนามโดยความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา โดย กลาปสัมมสนนัย นั้นเป็นการพิจารณาทั้งกลุ่มทั้งก้อน จับเอาโดยส่วนรวม เช่นถ้าพิจารณาเป็นขันธ์ ก็กำหนดให้รู้ในขันธ์ ๕ ไปจนไตรลักษณ์ปรากฏ

ถ้าพิจารณา อายตนะ ก็กำหนดรู้ใน อายตนะ ๑๒

ถ้าพิจารณา ธาตุ ก็กำหนดรู้ใน ธาตุ ๑๘

ถ้าพิจารณา ทวาร ก็กำหนดรู้ใน ทวารทั้ง ๖

หรือ พิจารณาอารมณ์ ๖ วิญญาณ ๖ ผัสสะ ๖ เวทนา ๖ สัญญา ๖ เจตนา ๖ ตัณหา ๖ วิตก ๖ วิจาร ๖ หรือ ๓๒ โกฏฐาส หรือ โลกียอินทรีย ๑๙ หรือ ธาตุทั้ง ๓ คือ กามธาตุ รูปธาตุ อรูปธาตุ หรือภพทั้ง ๙ อย่างใดอย่างหนึ่งจนไตรลักษณ์ปรากฏ

ปัญญาของพระโยคีที่เกิดขึ้นในขณะที่พิจารณาอยู่ในกลาปสัมมสนนัย นี่แหละ ชื่อว่า สัมมสนญาณ
การพิจารณาแบบนี้ เป็นวิธีที่ง่ายที่สุด


หน้า ๑0

๒. พิจารณารูปนาม โดยความเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา โดย อัทธาสัมมสนนัย เป็นการกำหนดรู้รูปนามที่เกิดขึ้นในภพก่อนว่า รูปนามที่เคยเกิดในภพก่อนนั้น เดี๋ยวนี้ก็ไม่มีแล้ว ล้วนเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

รูปนามที่กำลังเกิดอยู่ในภพนี้ ก็ไม่ไปเกิดในภพหน้า ย่อมดับไปในภพนี้เท่านั้น ล้วนแต่เป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

รูปนามที่จะเกิดในภพหน้า ก็ย่อมดับอยู่ในภพหน้านั้น ไม่ได้ติดตามไปในภพต่อ ๆ ไปอีก ล้วนแต่เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เช่นเดียวกันทั้งสิ้น

ปัญญาของพระโยคีที่เกิดขึ้นในขณะพิจารณาอยู่ใน อัทธาสัมมสนนัยนี้ ชื่อว่า สัมมสนญาณ การพิจารณาแบบนี้ เป็นวิธีที่ละเอียดกว่าแบบ กลาปสัมมสนนัย


๓. พิจารณารูปนามโดยความเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา โดย สันตติสัมมสนนัย เป็นการกำหนดรูปนามที่เกิดติดต่อกันเป็นระยะ ๆ เช่น

รูปที่เกิดอยู่ในขณะนอน เมื่อลุกขึ้นนั่ง รูปเหล่านั้นก็หาได้ติดตามมาด้วยไม่ ย่อมดับไปในขณะที่นอนนั้นเอง

รูปที่เกิดอยู่ในขณะนั่ง เมื่อยืนขึ้นแล้ว รูปนั้นก็ไม่ได้ตามมา คงดับไปในขณะนั่งนั้นเอง

รูปที่เกิดอยู่ในขณะยืน เมื่อเดินแล้ว รูปนั้นก็ไม่ได้ตามมา คงดับไปในขณะยืนนั่นเอง ซึ่งล้วนแต่เป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นต้น

ฝ่ายเวทนา ในขณะที่กำลังสบายอยู่ แล้วความไม่สบายเกิดขึ้น ความรู้สึกสบายนั้นก็ดับไป ไม่ได้ตามมา เมื่อมีความรู้สึกว่าไม่สบายอยู่ ครั้นเปลี่ยนเป็นสบายขึ้นมาอีก ความรู้สึกไม่สบายก็ดับไปในขณะนั้นเอง ไม่ได้ตามมาล้วนแต่เป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อย่างนี้ เป็นต้น

ฝ่ายสัญญา ความจำในขณะที่เห็นรูปารมณ์อยู่ ครั้นได้ยินเกิดขึ้น ก็มาจำในเสียงนั้น ความจำในรูปารมณ์ก็ดับไป และเมื่อมีการได้กลิ่นเกิดขึ้น ความจำในสัททารมณ์ก็ดับไป มาจำกลิ่นนั้นเสีย ล้วนแต่เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

ฝ่ายสังขาร ในขณะที่พอใจชอบใจอยู่ เมื่อมีความไม่พอใจเกิดขึ้น ความชอบใจพอใจนั้นก็ดับไป หรือกำลังมีความไม่ชอบใจอยู่ กลับมีความเมตตากรุณาขึ้น ความไม่ชอบใจนั้นก็ดับไป ซึ่งล้วนแต่เป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

ฝ่ายวิญญาณ ในขณะที่รู้รูปารมณ์อยู่ มีความรู้ในสัททารมณ์เกิดขึ้น ความรู้ในรูปารมณ์นั้นก็ดับไป และขณะที่รู้สัททารมณ์อยู่นั้น หากว่ามีความรู้ในคันธารมณ์เกิดขึ้น ความรู้ในสัททารมณ์นั้นก็ดับไป ล้วนแต่เป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

ปัญญาของพระโยคีที่เกิดขึ้นในขณะพิจารณาอยู่ใน สันตติสัมมสนนัยนี้ ชื่อว่า สัมมสนญาณ การพิจารณาแบบนี้เป็นวิธีที่ละเอียดกว่า อัทธาสัมมสนนัยขึ้นไปอีก


หน้า ๑

๔. พิจารณารูปนามโดยความเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา โดย ขณะสัมมสนนัย เป็นการพิจารณาความเกิดขึ้นและดับไปของรูปหนึ่งต่ออีกรูปหนึ่ง การเกิดขึ้นและดับไปของจิตดวงหนึ่งต่อจิตอีกดวงหนึ่ง อย่างไม่ขาดสาย ซึ่งล้วนแต่เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ด้วยกันทั้งสิ้น

ปัญญาของพระโยคีที่เกิดขึ้นในขณะพิจารณาอยู่ใน ขณะสัมมสนนัยนี้ ชื่อว่า สัมมสนญาณ เช่นเดียวกัน การพิจารณาแบบนี้เป็นวิธีที่ละเอียดที่สุดแล้ว สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแต่พระองค์เดียวเท่านั้น จึงสามารถพิจารณาได้

การเห็นไตรลักษณ์นั้น ย่อมประจักษ์ในขณะที่ รูปนามดับ เพราะว่าดับไป จึงเป็นอนิจจัง ไม่เที่ยง ถ้าเที่ยงอยู่ก็ไม่ดับ เพราะว่าดับไปจึงเป็นทุกข์ ทนอยู่ไม่ได้ ถ้าทนอยู่ได้ก็ไม่ดับ และเพราะว่าดับไปจึงเป็นอนัตตา บังคับบัญชาให้คงอยู่ก็ไม่ได้ ถ้าบังคับบัญชาได้ ก็ไม่ให้ดับไปได้ แต่ว่า สัมมสนญาณนี้ เห็นความเกิดของรูปนามที่ เกิดใหม่ ขึ้นมาแทนแล้ว จึงได้รู้ว่ารูปนามเก่านั้นดับไปแล้ว เป็นการรู้ได้โดยอนุโลมด้วยอาศัยจินตามยปัญญาเข้ามาช่วย ไม่ได้ประจักษ์ในขณะที่ดับ ดังนั้นจึงกล่าวว่า สัมมสนญาณ เป็นญาณ ที่ยกรูปนามขึ้นสู่ไตรลักษณ์

สัมมสนญาณนี้ สามารถละ สมูหัคคาหะ การยึดเรายึดเขาเสียได้


ตั้งแต่ นามรูปปริจเฉทญาณ ญาณที่ ๑ ปัจจยปริคคหญาณ ญาณที่ ๒, จนถึงสัมมสนญาณ ญาณที่ ๓, นี้ ล้วนแต่ยังเป็นญาณที่ ต้องอาศัย จินตามยปัญญา เข้าช่วยอยู่ทั้ง ๓ ญาณ และนับแต่ อุทยัพพยญาณ เป็นต่อไป ไม่ต้องอาศัย จินตามยปัญญา เข้ามาช่วยอีกเลย


หน้า ๑

 

เมื่อพระโยคี กำหนดพิจารณาจนถึง สัมมสนญาณ ที่สงเคราะห์ใน มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ อันเป็นวิสุทธิมัคคลำดับที่ ๕ แล้ว และตั้งมั่นในการพิจารณาเห็นรูปนามที่เกิดใหม่ ซึ่งทำให้เกิดปัญญา รู้เห็นว่ารูปนามเก่านั้นดับไปแล้ว ที่เรียกว่า สันตติยังไม่ขาด นั้นต่อไปโดยไม่ท้อถอยด้วยอำนาจแห่งอินทรียและพละก็จะเป็นปัจจัยให้เห็นชัดขึ้น จนเห็นใน ขณะที่ดับ โดยรูปนามใหม่ยังไม่ทันเกิดขึ้นมาแทน และเห็นใน ขณะที่เกิด ของรูปนามใหม่นั้นด้วย อันเป็นการเห็นทั้งความดับของรูปนามเก่า และเห็นความเกิดของรูปนามใหม่ จึงเรียกว่า เห็นทั้งความเกิดและความดับ เห็นอย่างนี้เรียกว่าเห็นอย่าง สันตติขาด ได้ชื่อว่าเป็น อุทยัพพยญาณ เป็นญาณที่ประจักษ์แจ้งไตรลักษณ์โดยชัดเจน


อุทยัพพยญาณ ญาณที่เห็นไตรลักษณ์ คือเห็นทั้งการเกิดการดับนั้น ยังจำแนกได้เป็น ๒ มีชื่อว่า
ตรุณอุทยัพพยญาณ เป็นอุทยัพพยญาณ ที่ยังอ่อนอยู่ และ พลวอุทยัพพยญาณ เป็นอุทยัพพยญาณที่แก่กล้า มีสติระลึกรู้เฉพาะรูปธรรมนามธรรม ไม่เลยถึงบัญญัติ รู้แต่ปรมัตถล้วน ๆ อุทยัพพยญาณที่ยังอ่อนอยู่ นี่แหละที่ถึงคราวที่บังเกิด วิปัสสนูปกิเลส


วิปัสสนูปกิเลส

วิปัสสนูปกิเลส เป็นเครื่องเศร้าหมองของวิปัสสนา และเป็นสหชาตธรรมของวิปัสสนาด้วย เพราะผู้เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน จนเกิดญาณแก่กล้าถึงตรุณอุทยัพพยญาณแล้ว เป็นที่แน่นอนที่ต้องเกิดวิปัสสนูปกิเลส อันเป็น อมัคค ไม่ใช่ทางที่ให้ถึงความบริสุทธิหมดจด วิปัสสนูปกิเลสนั้นมี ๑๐ อย่าง
ดังมีคาถาที่ ๒๔ แสดงว่า


๒๔. โอภาโส ปีติ ปสฺสทฺธิ อธิโมกโข จ ปคฺคโห
สุขํ ญาณนุปฏฺฐาน มุเปกฺขา จ นิกนฺติ จ ฯ

โอภาส ปีติ ปัสสัทธิ อธิโมกข ปัคคหะ สุข ญาณ อุปัฏฐาน อุเบกขา นิกันติ

มีความหมายว่า เครื่องเศร้าหมองของวิปัสสนา ที่ชื่อว่า วิปัสสนูปกิเลส ซึ่งมีจำนวน ๑๐ ประการ ได้แก่

๑. โอภาส มีแสงสว่างรุ่งโรจน์แรงกล้า สว่างกว่าแต่กาลก่อน

๒. ปีติ อิ่มใจเป็นอย่างยิ่งกว่าที่ได้เคยพบเห็นมา

๓. ปัสสัทธิ จิตสงบเยือกเย็นมาก

๔. อธิโมกข น้อมใจเชื่อ อย่างเลื่อมใสเด็ดขาด ปัญญาก็เกิดได้ยาก


หน้า ๑0

๕. ปัคคหะ พากเพียรอย่างแรงกล้า

๖. สุข มีความสุขสบายเหลือเกิน ชวนให้ติดสุขเสีย

๗. ญาณ มีปัญญามากไป จะทำให้เสียปัจจุบัน

๘. อุปัฏฐาน ตั้งมั่นในอารมณ์รูปนามจนเกินไป ทำให้ปรากฏนิมิตต่าง ๆ

๙. อุเบกขา วางเฉยมาก เป็นเหตุให้หย่อนความเพียร

๑๐. นิกันติ ชอบใจติดใจในกิเลส ๙ อย่างข้างบนนั้น


วิปัสสนูปกิเลส ๙ ประการ ตั้งแต่ โอภาส ถึง อุเบกขานั้น แม้ว่าจะเกิดปรากฏขึ้นมาแล้ว ถ้านิกันติยังไม่เข้าร่วมด้วย คือ ไม่ชอบใจ ติดใจ เพลิดเพลินไปด้วย ก็ไม่เป็นอุปกิเลสของวิปัสสนา ต่อเมื่อใด

มี นิกันติ เข้าไปชอบใจติดใจ โอภาส ก็ดี

มี นิกันติ เข้าไปชอบใจติดใจ ปีติ ก็ดี

มี นิกันติ เข้าไปชอบใจติดใจ ปัสสัทธิ ก็ดี

มี นิกันติ เข้าไปชอบใจติดใจ อธิโมกข ก็ดี

มี นิกันติ เข้าไปชอบใจติดใจ ปัคคหะ ก็ดี

มี นิกันติ เข้าไปชอบใจติดใจ สุข ก็ดี

มี นิกันติ เข้าไปชอบใจติดใจ ญาณ ก็ดี

มี นิกันติ เข้าไปชอบใจติดใจ อุปัฏฐาน ก็ดี

มี นิกันติ เข้าไปชอบใจติดใจ อุเบกขา ก็ดี

เมื่อนั้นจึงนับว่าองค์ประกอบทั้ง ๙ นี้เป็น วิปัสสนูปกิเลส ทำให้วิปัสสนาเศร้าหมอง ยินดีพอใจอยู่เพียงแค่นี้ โดยเข้าใจเสียว่าตนเองสำเร็จมัคคผลแล้ว เป็นปัจจัยให้เกิดกิเลส เป็นที่อาศัยแห่งคาหธรรม คือ ตัณหา มานะ ทิฏฐิ และเป็นช่องให้อกุสลธรรมเหล่าอื่นเกิดขึ้นอีกมากมาย ผู้มีปัญญาย่อมพิจารณาองค์ประกอบของวิปัสสนูปกิเลสทั้ง ๙ และองค์วิปัสสนูปกิเลสแท้ ๆ อีก ๑ คือ นิกันติว่าสักแต่เกิดขึ้นแล้วดับไป เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เช่นนี้แล้ว วิปัสสนาก็ไม่เศร้าหมอง แต่จะเจริญขึ้นตามลำดับ


๒๕. อิจฺเจวํ ทสุปเกฺลสา ปริปนฺถ ปริคฺคหา
อมคฺคา ว อิเมธมฺมา ธมฺมสฺส ปริปนฺติกา ฯ


อุปกิเลส ๑๐ ประการ ดังบรรยายมาฉะนี้ กำหนดถือว่า เป็นอันตราย ธรรมเหล่านี้เป็นอันตรายแห่งวิปัสสนาธรรม เป็นอมัคค มิใช่ทางเลย


หน้า ๑0

มีความหมายว่า วิปัสสนูปกิเลส ที่ได้กล่าวมาแล้วนี้เป็นอันตรายของวิปัสสนาโดยแท้ แต่จะบังคับบัญชามิให้เกิดขึ้นก็ไม่ได้ เมื่อเจริญถึงตรุณอุทยัพพยญาณ วิปัสสนูปกิเลสย่อมเกิดขึ้นตามธรรมชาติคู่กับวิปัสสนา จะเรียกว่าเป็นสหายของวิปัสสนาก็ได้ แต่ว่า วิปัสสนูปกิเลสจะไม่เกิดแก่บุคคล ๓ จำพวก คือ

๑. พระอริยบุคคล เพราะได้เคยดำเนินในทางที่ถูกแล้ว

๒. ผู้ปฏิบัติผิดจากทางวิปัสสนา

๓. ผู้มีความเพียรอ่อน เพราะความเพียรที่แรงกล้าเท่านั้นจึงจะเป็น วิปัสสนูปกิเลส

เมื่อวิปัสสนูปกิเลสเกิดขึ้น พระโยคีผู้ที่ไม่ประกอบด้วยสปาย ๗ (โดยเฉพาะในที่นี้หมายถึง กัลยาณมิตร คืออาจารย์ผู้อุปถัมภ์) แล้ว ก็ยากที่จะล่วงพ้นไปได้ เพราะชอบใจ ติดใจ เพลิดเพลินในวิปัสสนูปกิเลสนี้เสีย อุปมาเหมือนการเดินทางไกลและกันดาร เมื่อเดินไปพบศาลาพักร้อนข้างทาง ก็แวะเข้าไปพักผ่อนหลับนอนเสีย ไม่เดินทางต่อไป ก็ไม่บรรลุถึงจุดหมายปลายทาง ด้วยเหตุนี้วิปัสสนูปกิเลสจึงเป็นเครื่องเศร้าหมอง เป็นอันตราย เป็นอมัคค คือ มิใช่ทางแห่งวิปัสสนา ส่วนทางของวิปัสสนานั้นคือ การเห็นแจ้งในรูปธรรมกับนามธรรมโดยลักษณะทั้ง ๓ คือ ไตรลักษณ์ เห็นแต่เกิดขึ้นแล้วดับไปในอุทยัพพยญาณนั้น จึงจะพ้นอำนาจของวิปัสสนูปกิเลส


๒๖. สมฺมวีถิ ปฏิปนฺนํ ตตโต ญาณทสฺสนํ
มคฺโค ธมฺมา ธิกมาย มคฺคามคฺค วินิจฺฉยํ ฯ


ความรู้ความเห็นโดยปัญญาอันกว้างขวาง ดำเนินขึ้นสู่วิถีโดยชอบเป็นทางเพื่อบรรลุธรรม ชื่อว่าการวินิจฉัยว่า ทางหรือมิใช่ทาง (คือมัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ)

มีความหมายว่า เมื่อพระโยคีผู้เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานจนเกิดญาณแก่กล้า เป็นพลววิปัสสนาในอุทยัพพยญาณแล้ว พ้นจากอำนาจของวิปัสสนูปกิเลส ไม่ติดไม่ข้องอยู่เลย เพราะมาวินิจฉัยดูว่ามิใช่ทางเลย เป็นสังขารธรรมที่เกิดขึ้น แทรกแซงให้วิปัสสนาเศร้าหมองเท่านั้น เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปเป็นธรรมดาดังนี้ เป็นอันว่าถึง มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ เป็นความบริสุทธิในข้อที่รู้ว่าทางหรือมิใช่ทาง อุปมาเหมือนผู้เดินทางมาถึงทาง ๒ แพร่ง วินิจฉัยแล้วรู้ว่า ทางนี้เป็นทางที่ถูก ปลอดภัย ควรเดิน ทางนั้นเป็นทางที่ผิด มีอันตราย ไม่ควรเดิน จึงมุ่งหน้าไปตามทางที่ถูกต้อง คือ พิจารณาไตรลักษณ์แห่งรูปนาม โดยการกำหนดเพ่งความเกิดดับด้วยความพาก เพียรต่อไป


หน้า ๑

สรุป ในอุทยัพพยญาณนี้ คงได้ความว่า จำแนกอุทยัพพยญาณได้เป็น ๒ คือ ตรุณอุทยัพพยญาณ และพลวอุทยัพพยญาณ ตรุณอุทยัพพยญาณนี้แหละที่วิปัสสนูปกิเลสเกิด ตรุณอุทยัพพยญาณ ที่ยังมีวิปัสสนูปกิเลสเกิดปะปนอยู่ด้วยนั้น เรียกว่า มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ คือ กำลังอยู่ในระหว่างวินิจฉัยว่า ทางหรือมิใช่ทางกันแน่ กล่าวอย่างสามัญก็ว่ายังอยู่ในระหว่างลูกผีลูกคน ต่อเมื่อวินิจฉัยได้เด็ดขาดแล้วว่า วิปัสสนูปกิเลสเป็น อมัคค หาใช่ทางไม่ ก็เจริญอุทยัพพยญาณต่อไป อุทยัพพยญาณที่ไม่มีวิปัสสนูปกิเลสเกิดปะปนด้วยนั้น ชื่อว่า
พลวอุทยัพพยญาณ เป็นอุทยัพพยญาณที่พ้นจากอำนาจแห่งวิปัสสนูปกิเลสแล้วเช่นนี้ จึงเป็น
ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ ซึ่งจะได้กล่าวต่อไป


ตรุณอุทยัพพยญาณ บ้างก็เรียกว่า มัคคามัคคววัตถานญาณ นี้สามารถละ อมัคเคมัคคสัญญา สัญญาที่เข้าใจผิดนั้นได้

พลวอุทยัพพยญาณ บ้างก็เรียกว่า อุทยญาณ คือ ญาณที่เจริญขึ้น ญาณนี้สามารถละ อุจเฉททิฏฐิ ความเห็นผิดว่าตายแล้วสูญนั้นเสียได้


ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ

ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ เป็นวิสุทธิมัคคลำดับที่ ๖ ซึ่งตรงกับโสฬสญาณถึง ๙ ญาณ คือตั้งแต่ พลวอุทยัพพยญาณ ที่ปราศจากวิปัสสนูปกิเลสรบกวนแล้ว ไปจนถึง อนุโลมญาณ มีคาถาที่ ๒๗ แสดงว่า


๒๗. ปริปนฺถ วิมุตฺโต ว อุทยพฺพยญาณโต
ปฏฺฐาย ยาวานุโลมา นวญาณานิ ภาวิย
ฐิโต ปฏิปทาญาณ ทสฺสนสฺมิ วิสุทฺธิยํ ฯ


การกะบุคคล พ้นแล้วจากอันตราย เจริญวิปัสสนาญาณทั้ง ๙ จำเดิมแต่อุทยัพพยญาณไปตลอดถึงอนุโลมญาณ ชื่อว่าตั้งอยู่แล้วใน ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ

มีความหมายว่า บุคคลผู้กระทำความเพียรเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานโดยไม่ท้อถอย ไม่ยึดถือนิมิตต่าง ๆ พ้นแล้วจากนิวรณ์ทั้ง ๕ และปราศจากวิปัสสนูปกิเลสทั้ง ๑๐ ประการ อันเป็นอันตรายของวิปัสสนานั้นมารบกวน เมื่อนั้นวิปัสสนาญาณ ก็จะเจริญแก่กล้าขึ้นในวิปัสสนาญาณทั้ง ๙ อันได้แก่ อุทยัพพยญาณ ภังคญาณ ภยญาณ อาทีนวญาณ นิพพิทาญาณ มุญจิตุกมยตาญาณ ปฏิสังขาญาณ สังขารุเบกขาญาณ และอนุโลมญาณ ตามลำดับ
ซึ่งญาณทั้ง ๙ นี้ เมื่อกล่าวโดยวิสุทธิทั้ง ๗ แล้ว เรียกว่า ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ อันเป็นวิสุทธิลำดับที่ ๖ เป็นความบริสุทธิหมดจดโดยมีปัญญารู้ว่า การปฏิบัติดังนี้เป็นทางที่จะดำเนินไปให้บรรลุถึง ญาณทัสสน วิสุทธิแล้ว ความหมายของแต่ละญาณแห่งวิปัสสนาญาณทั้ง ๙ นั้น มีดังนี้


หน้า ๑

อุทยัพพยญาณ


อุทยัพพยญาณ เป็นญาณที่ ๔ แห่งโสฬสญาณ และเมื่อนับว่า วิปัสสนาญาณ มี ๙ ตามนัยแห่งคาถาที่ ๒๗ ข้างบนนี้แล้ว ก็เป็นญาณที่ ๑ แห่งวิปัสสนาญาณ ๙ อันเป็นญาณที่แจ้งไตรลักษณ์ ด้วยการพิจารณาจนเห็นความเกิดดับของรูปนาม

เมื่อเห็นอนิจจัง เพราะรูปนามนี้ดับไป ๆ สันตติก็ไม่สามารถที่จะปิดบังไว้ให้คงเห็นเป็นนิจจังไปได้ ดังนั้นจึงประหาณมานะเสียได้

เมื่อเห็นทุกขัง เพราะรูปนามนี้ดับไป ๆ อิริยาบถก็ไม่สามารถที่จะปิดบังไว้ให้คงเห็นเป็นสุขไปได้ ดังนั้นจึงประหาณตัณหาเสียได้

เมื่อเห็นอนัตตา เพราะรูปนามนี้ดับไป ๆ ฆนสัญญาก็ไม่สามารถที่จะปิดบังไว้ให้คงเห็นเป็นอัตตาไปได้ ดังนั้นจึงประหาณทิฏฐิเสียได้

อุทยัพพยญาณ นี้เท่ากับอารมณ์ ๓ ญาณข้างต้นรวมกันมาเป็นปัจจัย ให้เกิด อุทยัพพยญาณ กล่าวคือ

นามรูปปริจเฉทญาณ เป็นญาณที่ให้เกิดปัญญาเห็นรูปและนาม ว่าเป็นคนละสิ่งคนละส่วน

ปัจจยปริคคหญาณ เป็นญาณที่ให้เกิดปัญญาเห็นปัจจัยที่ให้เกิดรูปและเกิดนาม

สัมมสนญาณ เป็นญาณที่ เห็นการเกิดของรูปนาม จึงได้เกิดปัญญารู้ขึ้นมาว่ารูปนามก่อนนี้นั้นได้ดับไปแล้ว

ครั้นถึง อุทยัพพยญาณนี้ จึงทำให้เกิดปัญญาเห็นแจ้งทั้งความเกิดและความดับ ของรูปนาม

และต่อไปก็จะเป็นภังคญาณ เป็นญาณที่ เห็นแต่ความดับของรูปนามแต่ถ่าย เดียว


หน้า ๑

ภังคญาณ


ภังคญาณ เป็นญาณที่ ๕ แห่งโสฬสญาณ เป็นญาณที่ ๒ แห่งวิปัสสนาญาณ ๙ และเป็น
ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ อันเป็นวิสุทธิลำดับที่ ๖ ในวิสุทธิทั้ง ๗

ภังคญาณนี้เห็นแต่ความดับถ่ายเดียว ความดับแห่งรูปนาม เป็นที่น่าหวาดกลัวและสะเทือนใจซึ่งผิดกับความเกิด เพราะความเกิดนั้นนอกจากไม่เป็นที่น่าหวาดกลัวแล้ว ยังก่อให้เกิดกิเลส เช่น ตัณหา เป็นต้นด้วยซ้ำไป

การเห็น ก็เห็นความดับของรูปธรรมนามธรรม ทั้งที่เป็นภายในทั้งที่เป็นภายนอกด้วยกล่าวคือ รูปที่เป็นอารมณ์ซึ่งเป็นธรรมภายนอกนั้นก็ดับไป ๆ รูปที่รับอารมณ์ที่มากระทบ มีจักขุปสาท เป็นต้น ซึ่งเป็นธรรมภายในนั้นก็ดับไป ๆ นามคือ จิตเจตสิกที่ธรรมภายในอันเป็นตัวรู้ก็ดับไป ๆ เช่นเดียวกัน ล้วนแต่เป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ด้วยกันทั้งนั้น

ความดับเป็นสิ่งสะเทือนใจ จึงทำให้จิตใจจดจ่อเห็นแต่ความดับชัดขึ้นเด่นขึ้นทุกที จนเกิดปัญญารู้เห็นว่ารูปนามนี้ไม่เป็นแก่นสาร หาสาระมิได้ ทำให้คลายความกำหนัด คลายความยึดมั่น ดังที่ในวิสุทธิมัคคได้แสดงอานิสงส์แห่งภังคญาณนี้ไว้ถึง ๘ ประการ คือ

๑. ภวทิฏฺฐิปฺปหานํ สละละเสียได้ซึ่งสัสสตทิฏฐิ คลายความใคร่ในภพ คือ ขันธ์

๒. ชีวิตนิกนฺติปริจฺจาโค สละละเสียได้ซึ่งความยินดีในชีวิต คลายความใคร่ในชีวิต

๓. สทา ยุตตฺปยุตฺตตา มีความเพียรบำเพ็ญกัมมัฏฐาน สิ้นกาลเป็นนิจ

๔. วิสุทฺธาชีวิตา ประพฤติเลี้ยงชีวิตด้วยความบริสุทธิ ปราศจากโทษ

๕. อุสฺสุกฺกปฺปหานํ สละละเสียซึ่งความขวนขวายในการแสวงหาเครื่อง อุปโภค บริโภค และ
บริขารต่าง ๆ โดยตั้งอยู่ในความมักน้อย

๖. วิคตภยตา ปราศจากความหวาดกลัว บมิได้สะดุ้งตกใจกลัวต่อภยันตรายต่าง ๆ

๗. ขนฺติโสรจฺจปฏิลาโภ มีความอดทน อดกลั้น และว่าง่ายสอนง่าย บมิได้กระด้างกระเดื่อง

๘. อรติรติสหนตา อดกลั้นได้ซึ่งความกระสันและความยินดี บมิได้ลุอำนาจแห่งความกระสันและความยินดี

ภังคญาณ ที่เห็นแต่ความดับของรูปนามนี้ สามารถละ สัสสตทิฏฐิ ที่มีความเห็นผิดว่า สัตว์บุคคลทั้งหลาย มีความเที่ยงไม่ผันแปรเป็นอย่างอื่นเลย


ภยตูปัฏฐานญาณ

ภยตูปัฏฐานญาณ นี้มักจะเรียกสั้น ๆ ว่า ภยญาณ เป็นญาณที่ ๖ แห่งโสฬสญาณ เป็นญาณที่ ๓ แห่งวิปัสสนาญาณ ๙ และเป็นวิสุทธิมัคค ลำดับที่ ๖ ที่ชื่อว่า ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ แห่งวิสุทธิทั้ง ๗


หน้า ๑0

ภยญาณ เป็นญาณที่ได้รับอารมณ์ สืบเนื่องมาจากภังคญาณ ที่เห็นรูปนามดับไป ๆ ไม่เป็นแก่นสาร หาสาระมิได้ ก็เลยเกิดมีความรู้สึกขึ้นมาว่า สังขารรูปนามนี้เป็นภัยอย่างแน่นอน เพราะสิ่งใดที่น่ากลัว น่าหวาดเสียว สิ่งนั้นย่อมเป็นอันตราย เป็นทุกข์ เป็นภัย เมื่อมีความรู้สึกเช่นนี้จับจิตจับใจโดยอำนาจแห่งภาวนา ก็ทำให้มองเห็นภัยในความเกิดขึ้นของสังขารร่างกาย อันมีรูปมีนามนี้ ที่เป็นไปในกำเนิด ๔, ในคติ ๕, ในวิญญาณฐีติ ๗ และในสัตตาวาส ๙ เหล่านั้นว่าล้วนแต่น่ากลัว น่าหวาดเสียว เต็มไปด้วยอันตรายและภัยพิบัติ สังขารทั้งหลายที่เป็นมาแล้วในอดีต ที่กำลังเป็นอยู่ในปัจจุบัน แม้แต่ที่จะเป็นไปในอนาคต ก็ต้องมีความย่อยยับดับไปอย่างนี้เหมือนกัน ที่รู้ดังนี้เป็นการรู้ตามความเป็นจริงแห่งสภาวธรรม ด้วยภาวนามยปัญญา ขณะที่รู้ดังนี้อยู่ตราบใด ตัณหา คือตัว สมุทัย ก็จะเกิดร่วมด้วยไม่ได้ เป็นการทำให้ตัณหานั้นหยุดชะงักอยู่ ไม่กำเริบขึ้นมาได้ตราบนั้น แต่ว่าความยินร้าย ความกลัว คือ โทสะ อาจอาศัยแอบแฝงเกิดขึ้นได้

ภยญาณ หรือภยตูปัฏฐานญาณ ซึ่งเป็นญาณที่เห็นว่ารูปนามนี้เป็นภัย จึงละ สภเยอภยสัญญา สัญญาที่ไม่แจ้งในภัยนั้นได้


อาทีนวญาณ

อาทีนวญาณ เป็นญาณที่ ๗ แห่งโสฬสญาณ เป็นญาณที่ ๔ แห่งวิปัสสนาญาณ ๙ และอยู่ ใน
ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ อันเป็นวิสุทธิมัคคลำดับที่ ๖ แห่ง วิสุทธิ ๗

ญาณนี้ได้อารมณ์ต่อเนื่องมาจาก ภยญาณ ที่เห็นรูปนามเป็นภัย จึงเกิดปัญญาเห็นว่า รูปนาม คือสังขารนี้เป็นโทษ ซึ่งสิ่งใดที่เป็นภัยสิ่งนั้นย่อมเป็นโทษ นี่เป็นไปอย่างธรรมดาตามธรรมชาติ การเห็นโทษในที่นี้เห็นถึง ๕ ประการ คือ

๑. เห็นความเกิดขึ้นของสังขารที่ตนปฏิสนธิมา ว่าเป็นโทษ

๒. เห็นความเป็นไปของสังขารในระหว่างที่ตั้งอยู่ในภพ และคติที่ตนได้นั้น ว่าล้วนแต่เป็นโทษ

๓. เห็นกรรมที่เป็นปัจจัยให้เกิดขึ้นมานั้นเป็นโทษ มิใช่คุณ

๔. เห็นความเสื่อมความสิ้นไปของสังขาร ว่าเป็นโทษ

๕. เห็นว่าการที่จะต้องไปเกิดอีกนั้น เป็นโทษ


หน้า ๑๑0

ด้วยอำนาจของปัญญาที่ค่อย ๆ แก่กล้าขึ้นมาเป็นลำดับ จึงทำให้เห็นว่า รูปนามสังขารนี้เป็นโทษ เป็นสิ่งที่ร้ายที่ชั่ว ไม่ใช่เป็นสิ่งที่น่าชื่นชมยินดีเลย แม้แต่ สติ และปัญญา ที่ทำให้เห็นเช่นว่านี้ ก็ยังถือว่า ญาณคือปัญญา ก็เพียงสักแต่ว่ารู้ สติที่ระลึกก็เพียงแต่อาศัยระลึก ไม่อิงอาศัย ตัณหา ความอยาก ไม่อิงอาศัย ทิฏฐิ ความเห็นผิด มาปรุงแต่งให้เกิดความยินดีในสติปัญญาที่ทำให้รู้แจ้งถึงปานนี้ ไม่ถือว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งในสังขารนี้เป็นคุณเลย ล้วนแต่เป็นโทษทั้งนั้น

เมื่อเห็นโทษของสังขาร ก็ทำให้เกิดปัญญาขึ้นมาว่า ถ้าไม่มีความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ไม่มีขันธ์ อายตนะ ธาตุ ไม่มีรูปนาม ไม่มีสังขารเลย ก็จะปลอดภัย ไม่มีโทษ ปัญญาที่คิดจะให้พ้นจากทุกข์โทษภัยทั้งหลายนี้แหละ คือ อาทีนวญาณ เป็นปัญญาที่ริเริ่มจะให้พ้นทุกข์ บ่ายหน้าไปหาสันติสุข น้อมใจไปสู่พระนิพพาน ซึ่งจะไม่ต้องกลับมาวนเวียนในสังสารวัฏฏอีก

อารมณ์ของอาทีนวญาณนี้ จึงแยกได้เป็น ๒ นัย นัยหนึ่งเห็นโทษของสังขาร อันเป็นธรรมในสังสารวัฏฏ อีกนัยหนึ่งเห็นคุณของพระนิพพาน อันเป็นธรรมที่พ้นจากสังสารวัฏฏ อารมณ์ทั้ง ๒ นี้จะว่าต่างกันเป็นข้าศึกกันก็ได้ เพราะเมื่อเห็นโทษของสังขารมากเท่าใด ก็พอใจในการที่จะพ้นโทษมากเท่านั้น หรือเห็นคุณในการพ้นโทษมากเท่าใด ก็ยิ่งมีความอยากที่จะจากสังขารที่มีโทษมากเท่านั้น แต่จะว่าอารมณ์ทั้ง ๒ นี้เหมือนกันและช่วยอุปการะแก่กันก็ได้ เพราะความมุ่งหมายของอารมณ์ทั้ง ๒ นี้ มุ่งไปสู่ความพ้นจากสังสารวัฏฏเหมือนกัน และต่างก็เป็นปัจจัยอุปการะ
ให้เกิดปัญญาแก่กล้า จนนำออกจากสังสารวัฏฏได้เช่นเดียวกัน

ที่คิดจะพ้นทุกข์ ก็เพราะเห็นทุกข์เห็นโทษของสังขาร ถ้าหากว่ายังเห็นสังขารรูปนามทั้งหลายเป็นของดี เป็นของสวยงาม เป็นของเที่ยง เป็นสุข เป็นตัวตนอยู่ ก็จะติดอยู่ในตัณหา ติดอยู่ในกองทุกข์ ซึ่งจะนำไปสู่สังสารทุกข์
อีกไม่มีที่สิ้นสุด จะพ้นทุกข์ได้ก็ต่อเมื่อใช้ปัญญาพิจารณาทุกข์ให้เห็นทุกข์ แล้วอาศัยทุกข์นั้นแหละไต่ไปตามความทุกข์ ไม่ใช่เพ่งสุข อาศัยสุข ดำเนินไปตามทางที่สุขสบาย ซึ่งกลับจะติดแน่นอยู่ในสุข ไม่มีวันที่จะพ้นทุกข์ไปได้เลย

อาทีนวญาณ ปัญญาที่เห็นว่ารูปนามนี้ล้วนแต่เป็นโทษนั้น สามารถละ อัสสาทสัญญา สัญญาที่ชื่นชมยินดีนั้นได้


หน้า ๑๑๑

นิพพิทาญาณ

นิพพิทาญาณ เป็นญาณที่ ๘ แห่งโสฬสญาณ เป็นญาณที่ ๕ แห่งวิปัสสนาญาณ ๙ และอยู่ใน
ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ ซึ่งเป็นวิสุทธิมัคค ลำดับที่ ๖ แห่งวิสุทธิ ๗

เมื่อเห็นรูปนามเป็นภัยและเป็นโทษด้วยประการต่าง ๆ ทั้งพิจารณาเห็นซ้ำเห็นซากอยู่อย่างนี้ ก็ยิ่งเห็นภัย เห็นโทษชัดขึ้น ก็เป็นธรรมดาที่จะต้องเกิดความเบื่อหน่ายต่อรูปนามทั้งปวง

การเบื่อหน่ายต่อรูปนาม มีชื่อว่า นิพพิทาญาณ นี้เป็นการเบื่อหน่ายอันเกิดจากปัญญาที่เห็นแจ้งถึงภัยและโทษ ของสังขารรูปนามทั้งปวง มิใช่เบื่อหน่ายในอารมณ์อันไม่เป็นที่น่ารักที่น่าชื่นชมยินดี หรืออารมณ์ที่ไม่ชอบใจ อันเนื่องด้วยโทสะ เพราะความเบื่อหน่ายอันเนื่องจากโทสะนั้นเป็นการเลือกเบื่อหน่าย สิ่งใดที่ไม่ชอบก็เบื่อหน่าย แต่สิ่งใดที่ยังชอบอยู่ก็ไม่เบื่อหน่าย เวลาอิ่มก็เบื่อหน่าย แต่เวลาหิวก็ไม่เบื่อหน่าย เช่นนี้เป็นต้น แต่ว่าการเบื่อหน่ายด้วยปัญญา เป็นการเบื่อหน่ายต่อสิ่งทั้งปวง ไม่ใช่เลือกเบื่อบ้างไม่เบื่อบ้าง เหมือนอย่างเนื่องด้วยโทสะ นิพพิทาญาณนี้เบื่อหน่ายต่อสังขารรูปนามในทุก ๆ ภูมิ ไม่ใช่เลือกเบื่อหน่ายเฉพาะอบายภูมิ แต่ภูมิในสวรรค์
ไม่เบื่อหน่าย ที่เบื่อหน่ายสังขารรูปนามในทุก ๆ ภูมิ ก็เพราะสังขารรูปนามไม่ว่าจะอยู่ในภูมิไหน ก็เป็นภัยเป็นโทษทั้งนั้น

เมื่อเบื่อหน่ายในรูปนาม จึงปลงใจขะมักเขม้นในการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน ซึ่งเป็นเครื่องนำออกจากสังสารทุกข์ มุ่งไปสู่สันติสุข คือพระนิพพาน

นิพพิทาญาณ ปัญญาที่เบื่อหน่ายต่อสังขารรูปนามนี้ สามารถละ อภิรติสัญญา สัญญาที่เพลิดเพลินเสียได้

อนึ่ง ภยญาณ ปัญญาที่เห็นสังขารรูปนามว่าเป็นภัย อาทีนวญาณ ปัญญาที่เห็นสังขารรูปนามว่าเป็นโทษ และ นิพพิทาญาณ ปัญญาที่เห็นสังขารรูปนามว่าเป็นสิ่งที่น่าเบื่อหน่าย รวม ๓ ญาณนี้ เป็นสภาพเดียวกัน เป็นอรรถอันเดียวกัน คือ

เป็นภัย ก็เพราะไม่ดี ชั่ว มีโทษ ควรเบื่อหน่าย

เป็นโทษ ก็เพราะไม่ดี ชั่ว มีภัย ควรเบื่อหน่าย

ที่เบื่อหน่าย ก็เพราะไม่ดี ชั่ว มีภัย มีโทษ

ดังมีบาลีว่า ยาจ ภย ตุปฏฺฐานปญฺญา ยญฺจ อาทีนวญาณํ ยาจ นิพฺพิทา อิเม ธมฺมา เอกตฺถา พยญฺชนเมวนามํ

ภยญาณที่ได้เห็นเป็นภัยก็ดี อาทีนวญาณที่ได้เห็นเป็นโทษก็ดี นิพพิทาญาณที่เบื่อหน่ายก็ดี รวม ๓ ประการนี้ เป็นสภาพเดียวกัน เป็นอรรถเดียวกัน ต่างกันแต่ชื่อพยัญชนะเท่านั้น


หน้า ๑๑๒

มุญจิตุกมยตาญาณ

มุญจิตุกมยตาญาณ เป็นญาณที่ ๙ แห่งโสฬสญาณ เป็นญาณที่ ๖ แห่งวิปัสสนาญาณ ๙ และอยู่ใน ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ ซึ่งเป็นวิสุทธิมัคคลำดับที่ ๖ แห่งวิสุทธิ ๗

โยคีบุคคลผู้เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน จนเกิดปัญญาถึงกับมีความเบื่อหน่ายต่อรูปธรรมนามธรรมอันเป็นสังขารธรรม ตั้งหน้าเจริญภาวนาต่อไปโดยปราศจากความท้อถอย มีความเบื่อหน่ายในรูปนามยิ่งขึ้น ก็เกิดความมุ่งหมาย ที่จะให้พ้นสิ่งที่ไม่ดี สิ่งที่ชั่ว เป็นภัย เป็นโทษ น่าเบื่อหน่าย คือสังขารรูปนาม ที่มุ่งจะให้พ้นจากสังขารรูปนาม ที่จะหนีจากสังขารรูปนามนี่แหละเรียกว่า มุญจิตุกมยตาญาณ

การพ้นจากรูปนาม การหนีจากรูปนาม ก็คือ การพ้นจากทุกข์โทษภัยนั่นเอง เป็นความมุ่งมั่นที่จะพ้นอย่างแรงกล้า อันเกิดจากปัญญาที่เรียกว่า ภาวนามยปัญญา ไม่ใช่นึกจะพ้นอย่างเลื่อนลอย โดยไม่ได้มีการเจริญภาวนาแต่อย่างใด

มุญจิตุกมยตาญาณ ปัญญาที่ใคร่จะหนีจากรูปนามนี้สามารถละ อมุญจิตุกามภาวะ การติดการข้องอยู่ในกามภาวะได้


ปฏิสังขาญาณ

ปฏิสังขาญาณ เป็นญาณที่ ๑๐ แห่งโสฬสญาณ เป็นญาณที่ ๗ แห่งวิปัสสนาญาณ ๙ และอยู่ใน
ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ ซึ่งเป็นวิสุทธิมัคคลำดับที่ ๖ แห่งวิสุทธิ ๗

ญาณที่แล้ว คือ มุญจิตุกมยตาญาณ เป็นญาณที่ ปรารถนาจะพ้น จากสังขารรูปนาม ส่วนญาณนี้เป็นญาณที่ หาอุบายให้พ้น จากรูปนาม หาทางหนีให้พ้นจากสังขาร

เมื่อปรารถนาจะพ้นจากสังขารรูปนาม ก็พยายามเจริญภาวนาโดยไม่ยั้งหยุด ด้วยการเพ่งไตรลักษณ์ เพ่งความเกิดดับของรูปนาม ก็จะเกิดปัญญาแจ้งขึ้นมาเองว่า จะต้องหาอุบายอย่างใดอย่างหนึ่ง และดำเนินการตามอุบายนั้น จึงจะพ้นได้ ปัญญานี่แหละเรียกว่า ปฏิสังขาญาณ ปฏิสังขา มาจากคำว่า ปฏิสังขรณ์ แปลว่า การซ่อมแซม การตกแต่ง คือตกแต่งซ่อมแซม
ความปรารถนาที่จะพ้นจากสังขารรูปนามนั้นให้สมบูรณ์ จนเป็นผลขึ้นมา ถึงกระนั้นในขณะนี้ก็ยังมองไม่เห็นอุบายที่จะทำให้พ้นจากรูปนาม คงเห็นแต่เพียง อนิจจลักษณะ ๑๐ ทุกขลักษณะ ๒๕ อนัตตาลักษณะ ๕ รวม ๔๐ ประการที่ได้กล่าวแล้วข้างต้นนั้น อย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้นเอง แม้จะยังไม่เห็นอุบายแต่ก็ไม่วายที่จะไตร่ตรองมองหาอุบายอยู่

ปฏิสังขาญาณ ปัญญาที่ไตร่ตรองมองหาอุบายให้พ้นจากรูปนามนี้สามารถละ อปฏิสังขาน การยึดโดยไม่ไตร่ตรองนั้นได้


หน้า ๑๑๓

สังขารุเบกขาญาณ

สังขารุเบกขาญาณ เป็นญาณที่ ๑๑ แห่งโสฬสญาณ เป็นญาณที่ ๘ แห่งวิปัสสนาญาณ ๙ และอยู่ใน ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ ซึ่งเป็นวิสุทธิมัคคลำดับที่ ๖ แห่งวิสุทธิ ๗

สังขารุเบกขาญาณ เป็นความวางเฉยต่อสังขาร โดยประจักษ์แจ้งความเกิดดับของรูปนามในขณะเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน องค์ธรรมได้แก่ ปัญญาเจตสิก ที่ในมหากุสลญาณสัมปยุตตจิต หาใช่ อุเบกขา เวทนาเจตสิก ไม่ สังขารุเบกขาญาณนี้อาจเกิดพร้อมกับเวทนาที่เป็นโสมนัสก็ได้ หรือเกิดพร้อมกับเวทนาที่เป็นอุเบกขาก็ได้

ที่ว่า ญาณนี้วางเฉยต่อสังขารรูปนามนั้น มีคำอธิบายเป็น ๒ นัย นัยหนึ่งนั้นว่า เพราะมีความปรารถนาที่จะหนีให้พ้นจากรูปนาม ไตร่ตรองมองหาอุบายที่จะให้พ้นจากรูปนาม ก็เกิดปัญญารู้เห็นขึ้นมาว่า รูปนามนี้เป็นวิบากที่เกิดมาจากเหตุจากปัจจัย ต่อเมื่อทำให้เหตุปัจจัยหมดสิ้นไปเสียก่อน รูปนามอันเป็นวิบากจึงจะไม่เกิดขึ้น แต่ว่า ณ บัดนี้มีรูปนามอยู่แล้ว จะเบื่อหน่ายอยากหนีสักเพียงไรก็ยังหนีไม่พ้นจำต้องวางเฉย อย่างที่เรียกว่า หวานอมขมกลืน ไม่ยินดียินร้าย คือ ไม่มีอภิชฌาและโทมนัสในสังขารรูปนาม แต่ก็ไม่ละเลยในการพยายามต่อการเพ่ง ความเกิดดับ
ของรูปนาม ซึ่งมาถึงตอนนี้ ไตรลักษณ์คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ปรากฏชัดมาก

อีกนัยหนึ่ง ก็มีเนื้อความทำนองเดียวกัน ต่างกันที่โวหารเท่านั้น คือกล่าวว่า ปัญญาที่ได้พิจารณาเห็นความจริงมาแล้วแต่ในญาณต้น ๆ นั้น มีกำลังแก่กล้าขึ้น เห็นความไม่เป็นสาระ ไม่เป็นแก่นสาร ว่างเปล่าจากตัวตน โดยอาการ ๑๒ คือ

๑. เห็นเบ็ญจขันธ์นี้มิใช่สัตว์ ๒. มิใช่บุคคล

๓. มิใช่ชีวะ ๔. มิใช่อัตตะ

๕. ไม่มีตัวตน ๖. ไม่ใช่เรา

๗. มิใช่ของเรา ๘. มิใช่ของผู้อื่น

๙. มิใช่หญิง ๑๐. มิใช่ชาย

๑๑. มิใช่สิ่งที่ยั่งยืน ๑๒. มิใช่สิ่งที่ควรชื่นชมยินดี

เหตุนี้จึงวางเฉยต่อรูปนาม


หน้า ๑๑๔

รวมความว่า เมื่อประจักษ์เห็นปานนี้ จึงไม่มีความยินดียินร้าย ต่อสังขารรูปนาม ตลอดจน คาหธรรม คือ ตัณหา มานะ ทิฏฐิ ซึ่งตามนัยแห่ง อนัตตลักขณสูตร แสดงว่า

เอตํ มม นั่นเป็นของเรา ด้วยอำนาจแห่ง ตัณหา

เอโส หมสฺมิ นั้นเป็นของเรา ด้วยอำนาจแห่งมานะ

เอโส เม อตฺตา นั้นเป็นตัวเป็นตนของเรา ด้วยอำนาจแห่งทิฏฐิ

ซึ่งอาศัยเกิดขึ้นตามทวารทั้ง ๖ อารมณ์ทั้ง ๖ และวิญญาณทั้ง ๖ เหล่านี้ก็เกิดขึ้นไม่ได้ เพราะด้วยอำนาจแห่งปัญญาที่ทำให้เกิดรู้แจ้งขึ้นมาว่า

เนตํ มม นี่ไม่ใช่ของเรา

เนโส หมสฺมิ นี่ไม่ใช่เรา

นเอโส เม อตฺตา นี่ไม่ใช่ตัวตนของเรา

ดังนี้ กิเลสจึงไม่มีกำลังพอที่จะเหนี่ยวรั้งจิตใจให้กลับมาชื่นชมยินดีในสังขารรูปนาม อันจะต้องวนเวียนอยู่ในสังสารวัฏฏนี้อีก มีใจดิ่งไปสู่นิพพานที่สงบสงัดปราศจากนิมิตทั้งหลาย

สังขารุเบกขาญาณ ปัญญาที่วางเฉยต่อสังขารนี้ สามารถละ อนุเปกขณะ การยึดถือโดยไม่วางเฉยเสียได้

อนึ่ง มุญจิตุกมยตาญาณ ปัญญาที่ใคร่หนีจากรูปนาม ปฏิสังขาญาณ ปัญญาที่ไตร่ตรองมองหาอุบายหนีจากรูปนาม และสังขารุเบกขาญาณ ปัญญาที่วางเฉยต่อรูปนาม รวม ๓ ญาณนี้ พยัญชนะต่างกันจริง แต่ว่า อรรถเหมือนกัน คือ จะหนีจากรูปนาม ดังมีบาลีว่า

ยาจ มุญฺจิตุกมฺยตา ยาจ ปฏิสงฺขานุปสฺสนา ยาจ สงฺขารุเปกฺขา อิเม ธมฺมา เอกตฺถา
พยญฺชนเมวนานํ

มุญจิตุกมยตาญาณ ปฏิสังขาญาณ และสังขารุเบกขาญาณ ทั้ง ๓ ญาณนี้ มีอรรถเดียวกัน แต่ชื่อ พยัญชนะนั้นต่างกัน


หน้า ๑๑๕

อนุโลมญาณ

อนุโลมญาณ เป็นญาณที่ ๑๒ แห่งโสฬสญาณ เป็นญาณที่ ๙ คือ ญาณสุดท้ายแห่งวิปัสสนาญาณ ๙ และเป็นญาณสุดท้ายของปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ อันเป็นลำดับที่ ๖ แห่งวิสุทธิ ๗

เมื่อครุ่นคิดจะหนี หาอุบายหนี เมื่อหนียังไม่พ้น ก็เฉยอยู่ก่อน แต่ยังเพ่งความเกิดดับ โดยไม่ลดละ ก็จะถึงอนุโลมญาณนี้โดยเกิดปัญญาขึ้นมาเองว่า ต้องอนุโลม คือ ต้องคล้อยตาม อริยสัจจ จึงจะหนีพ้น

ก็อริยสัจ คือ ทุกขสัจจ สมุทยสัจจ นิโรธสัจจ และมัคคสัจจ นั้น มีญาณกำกับไว้ สัจจละ ๓ ญาณ ได้แก่ สัจจญาณ กิจจญาณ และ กตญาณ

สัจจญาณ ได้แก่ ปัญญาที่รู้แจ้งว่า ทุกข์ คือรูปนามที่เป็นโลกีย สมุทัย คือ ตัณหา นิโรธ คือ นิพพาน และมัคค คือ อริยมัคคมีองค์ ๘ รู้อย่างนี้ เป็นการรู้ตามความเป็นจริง จึงได้เรียกว่า สัจจญาณ

กิจจญาณ ได้แก่ ปัญญาที่รู้แจ้งว่า ทุกข์พึงกำหนดรู้ สมุทัยพึงละ นิโรธพึงทำให้แจ้ง มัคคพึงเจริญ รู้อย่างนี้เป็นการรู้ตามหน้าที่การงาน จึงได้เรียกว่ากิจจญาณ

กตญาณ ได้แก่ ปัญญาที่รู้แจ้งว่า ทุกข์ที่พึงกำหนดรู้นั้นก็ได้กำหนดจนรู้แล้ว สมุทัยที่พึงละนั้นก็ได้ละแล้ว นิโรธที่พึงทำให้แจ้งนั้นก็ได้แจ้งแล้ว และมัคคที่พึงเจริญนั้น ก็ได้เจริญจนเป็นสมังคีแล้ว รู้อย่างนี้เป็นการรู้ตามการกระทำจึงได้เรียกว่า กตญาณ

ทุกขสัจจ ได้แก่ รูปนาม ดังนั้นปัญญาที่เห็นแจ้งในรูปนาม ก็ได้ชื่อว่า กำหนดรู้ทุกข์แล้ว ในขณะที่กำหนดดูรูปนามอยู่ ขณะนั้นตัณหาก็ไม่มีมาเกิดร่วมด้วย ก็ได้ชื่อว่า ละสมุทัยแล้ว เพราะตัณหานั้นละได้ด้วยการเห็นทุกข์ ยิ่งเห็นรูปนามเป็นทุกข์มากเพียงใด ก็ละตัณหาได้มากเพียงนั้น ละตัณหาได้มากเท่าใด ก็ใกล้ที่จะแจ้ง นิโรธมาก
ยิ่งขึ้นเท่านั้น เพราะนิโรธเป็นธรรมที่ดับตัณหา ครั้นตัณหาดับสิ้นเมื่อใด เมื่อนั้นก็แจ้งนิโรธ ขณะที่ทำกิจเพื่อแจ้งนิโรธ ขณะนั้นก็ทำกิจให้มัคคสัจจเจริญขึ้นด้วย เพราะว่ามัคคสัจจเป็นมรรคาที่ให้ถึงนิโรธ แจ้งนิโรธขณะใด ขณะนั้นมัคคสัจจก็สมบูรณ์อย่างพร้อมเพรียง หรือจะกล่าวว่า มัคคสัจจเป็นสมังคีเมื่อใด เมื่อนั้นก็แจ้งนิโรธ กล่าวอย่าง
ย่อที่สุดก็ว่า เห็นทุกข์ ตัณหาก็ดับ นิโรธก็แจ้ง มัคคก็เป็นสมังคี


หน้า ๑๑๖

ในญาณทั้ง ๓ คือ สัจจญาณ กิจจญาณ และกตญาณ นั้น สัจจญาณ และกิจจญาณเป็นญาณในโลกีย ส่วน กตญาณ เป็นญาณในโลกุตตร โลกียญาณทั้ง ๒ สมบูรณ์มาแต่สังขารุเบกขาญาณแล้ว

ดังนั้น อนุโลมญาณนี้จึงกล่าวว่าเป็นปัญญาที่แจ้งในการคล้อยตาม อนุโลมตามอริยสัจจ และเป็นญาณที่สามารถละ สัจจปฏิโลมคาหะ การยึดโดยไม่คล้อยตามสัจจะนั้นเสียได้


๒๘. เอวํ ปฏิปชฺชนฺตสฺส สมฺมา ธมฺเม
วิปสฺสโต วิปสฺสนา ปริปากํ อาคมฺม ตสฺส โยคิโน ฯ


๒๙. ทุเว ตีณิ วิปสฺสนา จิตฺตานิ ปิ ติลกฺขเณ
ยํ กิญฺเจวา นิจฺจตาทิ อารพฺภ ปน ลกฺขณํ
ปริกมฺโม ปจารานุ โลมนาเมน วุตฺตเร ฯ


ก็เมื่อพระโยคีนั้น ปฏิบัติอยู่อย่างนี้ อาศัยความสุกรอบแห่งวิปัสสนา เห็นแจ้งธรรมทั้งหลายโดยชอบ แม้จิตอันสัมปยุตตด้วย วิปัสสนาทั้งหลาย ย่อมปรารถซึ่งลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่ง มีอนิจจลักษณะเป็นต้น ในพระไตรลักษณ์ เป็นไป ๒-๓ ขณะ โดยชื่อว่า บริกรรม อุปจาระ และ อนุโลม

มีความหมายว่า เมื่อพระโยคีผู้ประกอบความเพียร เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน ตั้งอยู่แล้วในวิปัสสนาญาณทั้งปวง ที่กล่าวมาโดยบริบูรณ์ ถึงแล้วซึ่งความแห้งไปแห่งยาง คือ ตัณหามีผลอันไพบูลย์ รอบรู้ในสภาวรูปธรรม นามธรรมโดยถูกต้อง มีความสุกรอบ ดุจผลไม้ที่สุกงอมใกล้จะหล่นจากขั้วฉะนั้น จิตมหากุสลที่ประกอบด้วย วิปัสสนาญาณ ย่อมแจ้งเฉพาะรูปธรรมนามธรรมที่ดับไป ๆ มีลักษณะเป็นอนิจจัง ตั้งอยู่ไม่ได้บ้าง เห็นรูปนาม ดับไป ๆ เป็นทุกขัง ทนอยู่ไม่ได้บ้าง เป็นรูปนามดับไป ๆ เป็นอนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้บ้าง อย่างใดอย่างหนึ่งมาเป็นอารมณ์ตามควรแก่บารมีที่ได้สร้างสมมาแต่ปางก่อน ถ้าบุญญาธิการแต่ปางก่อนแรงด้วยสีล ย่อมประจักษ์อนิจจัง แรงด้วยสมาธิย่อมประจักษ์ทุกขัง และแรงด้วยปัญญา ย่อมประจักษ์อนัตตา ดังที่กล่าวแล้วแต่ต้นตอน อนุปัสสนา

เมื่อ วิปัสสนาญาณตั้งอยู่แก่กล้าฉะนี้แล้ว ด้วยอำนาจแห่งอินทรียและพละ ก็จะส่งให้ขึ้นสู่อนุโลมญาณตามกำลังแห่งอริยสัจจ คือจะไปจากข้าศึกอย่างจริงจังเด็ดขาด เป็นความจริงที่ประเสริฐยอดเยี่ยมในวิปัสสนากัมมัฏฐาน ด้วยอาการที่ก้าวขึ้นสู่ มัคควิถี อันเป็นวิถีจิตทางมโนทวาร มีมโนทวาราวัชชนจิตเป็นจิตนำวิถีเป็นดวงแรก เกิดขึ้นขณะหนึ่ง เพื่อเป็นปัจจัยให้เกิดชวนจิต ต่อจากนั้น ถ้าเป็น มันทบุคคล ผู้มีปัญญารู้ช้า


หน้า ๑๑๗

ชวนจิตดวงที่ ๑ ก็เกิดขึ้น เป็นจิตมหากุสลญาณสัมปยุตต ดวงใดดวงหนึ่งในจำนวน ๔ ดวง จะเป็นโสมนัสเวทนาหรืออุเบกขาเวทนาก็ตาม เห็นรูปนามดับไปๆ เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เรียกจิตดวงนี้ว่า
บริกรรมชวนะ ครั้นบริกรรมชวนจิตดับไปแล้ว

ชวนจิตดวงที่ ๒ ก็เกิดขึ้น เป็นอย่างเดียวกับชวนจิตดวงที่ ๑ แต่เรียกจิตดวงนี้ว่า อุปจารชวนะ เมื่ออุปจารชวนจิตดับไปแล้ว

ชวนจิตดวงที่ ๓ ก็เกิดขึ้น เป็นอย่างเดียวกับชวนจิตดวงที่ ๒ และดวงที่ ๑ นั้น เรียกจิตดวงนี้ว่า
อนุโลมชวนะ อนุโลมจิต หรือ อนุโลมชวนจิต

เมื่ออนุโลมจิตดับไปแล้ว ชวนจิตที่เกิดต่อ ๆ ไปอีก ๔ ขณะ ก็เป็น โคตรภู มัคค ผล ซึ่งจะกล่าวต่อไปข้างหน้า

ชวนจิต ๓ ดวง คือ บริกรรมชวนะ อุปจารชวนะ และอนุโลมชวนะนี่แหละที่เรียกว่า อนุโลมญาณ อนุโลมญาณนี้บ้างก็เรียกว่า สัจจานุโลมิกญาณ แปลว่า ญาณที่อนุโลมตามอริยสัจจ

แต่ถ้าโยคีนั้นเป็น ติกขบุคคล คือ ผู้มีปัญญาไว ก็ไม่มีบริกรรมชวนะ คงมีแต่อุปจารชวนะ และ
อนุโลมชวนะรวม ๒ ขณะ เท่านั้น


วุฏฐานคามินี


๓๐. วิปสฺสนา สิกฺขปฺปตฺตา สานุโลมา อุเปกฺขนา
วุฏฺฐานคามินี นาม วิปสฺสนาติ วุจฺจติ ฯ


วิปัสสนาที่ถึงแล้วซึ่งความเป็นยอด เป็นไปกับด้วยอนุโลมญาณ วางเฉยในสังขารนั้น เรียกชื่อว่า
วุฏฺฐานคามินี

คำว่า วุฏฐานคามินี แปลว่า เป็นที่ตั้งของการออก เป็นเครื่องออก เป็นทางออก คือออกจากวิปัสสนาญาณ
อันหมายไปถึง ออกจากกิเลส ออกจากทุกข์ ออกจากสังขารวัฏฏ ออกจากสังสารทุกข์ด้วย

และที่ว่า ถึงแล้วซึ่งความเป็นยอดนั้น หมายความว่า ถึงที่สุดแห่งวิปัสสนาญาณ คือปัญญาที่เห็นการเกิดดับของรูปนามแต่เพียงแค่นี้ ผละออกจากการเห็นรูปนามเกิดดับในตอนนี้ ทิ้งอารมณ์ไตรลักษณ์ที่ญาณนี้แหละ เพราะญาณต่อไป คือโคตรภูญาณนั้นมีพระนิพพานเป็นอารมณ์แล้ว


หน้า ๑๑๘

สังขารุเบกขาญาณ และอนุโลมญาณ รวมทั้ง ๒ ญาณนี่แหละ เป็นวิปัสสนาที่ถึงแล้วซึ่งความเป็นยอด จึงมีชื่อว่า วุฏฐานคามินี เป็นเครื่องออก เป็นที่ตั้งแห่งการออกจากทุกข์ ดังมีบาลีกล่าวว่า

ยา สิขาปตฺตา สา สานุโลมา สงฺขารุเปกฺขา วุฏฺฐานคามินิวิปสฺสนาติ จ ปวุจฺจติ ฯ

สังขารุเบกขาญาณอันใด เข้าถึงกำลังอันยอดยิ่ง สังขารุเบกขาญาณ พร้อมทั้งอนุโลมญาณอันนั้น ท่านเรียกว่า วุฏฐานคามินีวิปัสสนา


ตโต ปรํ โคตฺรภุจิตฺตํ นิพฺพานมาลมฺพิตฺวา ปุถุชนโคตฺตม ภิภวนฺติ อริยโคตฺตมพิสมฺโภนฺตญฺจ ปวตฺตติ ฯ

ต่อจาก อนุโลมญาณไป โคตรภูมิ ซึ่งกระทำนิพพานให้เป็นอารมณ์ และครอบงำเสียซึ่งโคตรปุถุชน ยังจิตให้ไปสู่ความเป็น อริยะ ย่อมเกิดขึ้น


ญาณทัสสนวิสุทธิ

กล่าวมาถึงเพียงนี้แล้ว วิสุทธิ ๗ ก็เหลือเพียง ๑ คือ ญาณทัสสนวิสุทธิ โสฬสญาณ ก็เหลืออีก ๔ คือ
โคตรภูญาณ มัคคญาณ ผลญาณ และปัจจเวกขณญาณ

โคตรภูญาณ เป็นญาณที่ ๑๓ แห่งโสฬสญาณนั้น ตั้งอยู่ระหว่างปฏิปทาญาณ ทัสสนวิสุทธิกับญาณทัสสนวิสุทธิ แต่สงเคราะห์เข้าในปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ อันเป็นวิสุทธิที่ ๖ เพราะโคตรภูญาณนี้ แม้ว่าโคตรภูจิตจะมี พระนิพพาน ซึ่งเป็นโลกุตตรธรรม เป็นอารมณ์ก็จริง แต่ว่าจิตยังเป็นโลกียจิตอยู่

มัคคญาณ เป็นญาณที่ ๑๔ แห่งโสฬสญาณ ญาณเดียวเท่านี้ที่เรียกว่าเป็น ญาณทัสสนวิสุทธิ โดยแท้ ไม่ได้เป็นโดยปริยายหรือโดยอนุโลม ดังมีคาถาแสดงไว้โดยชัดแจ้ง ซึ่งจะได้กล่าวต่อไปข้างหน้าอีก

ผลญาณ ญาณที่ ๑๕ แห่งโสฬสญาณ นั้น แม้ว่าผลจิตจะเป็นโลกุตตรจิต มีอารมณ์เป็นโลกุตตรธรรม คือ มีพระนิพพานเป็นอารมณ์ ถึงกระนั้นก็ยังจัดว่าเป็นญาณทัสสนวิสุทธิ โดยอนุโลมโดยปริยายเท่านั้น หาใช่โดยตรงโดยแท้ไม่

ส่วน ปัจจเวกขณญาณ อันเป็นญาณที่ ๑๖ คือ ญาณสุดท้ายแห่งโสฬสญาณนั้น จิตก็เป็นโลกีย แต่ว่าปัญญาได้ผ่านความรู้มาจาก มัคค ผล นิพพาน คือผ่านโลกุตตรธรรมมาแล้ว จึงสงเคราะห์เป็นญาณทัสสนวิสุทธินี้ด้วย


หน้า ๑๑๙

โคตรภูญาณ


๓๑. โคตฺรภูจิตฺตํ นิพฺพานํ อาลมฺพิตฺวา ตโต ปรํ
ปุถุชฺชนโคตฺตํ อภิ ภวนฺตํ อริยตฺตนํ
สมฺโพชฺฌาวหนํ อภิ สมฺโภนฺตญฺจ ปวตฺตติ


เบื้องหน้าแต่นั้น โคตรภูจิตจึงหน่วงเอาพระนิพพานเป็นอารมณ์ ครอบงำเสียซึ่งโคตรปุถุชน บรรลุถึงความเป็นพระอริยบุคคล อันนำมาซึ่งความตรัสรู้ มัคค ผล นิพพาน

มีความหมายว่า เมื่อจิตของพระโยคีตั้งอยู่แล้วในอนุโลมญาณ ต่อจากนั้นก็ก้าวขึ้นสู่โคตรภูญาณ ทำหน้าที่โอนจากโคตรปุถุชน ที่หนาแน่นไปด้วยกิเลส ไปสู่โคตรอริยชนที่ห่างไกลจากกิเลส กล่าวโดยวิถีจิต เมื่ออนุโลมชวนะ ซึ่งมีไตรลักษณ์ คือความเกิดดับแห่งรูปนามเป็นอารมณ์นั้นดับไปแล้ว ก็เป็นปัจจัยให้เกิดโคตรภูจิต ยึดหน่วงพระนิพพานเป็นอารมณ์ นำมาซึ่งปัญญาที่รู้ยิ่งในสันติลักษณะ คือ พระนิพพาน ตามลำดับแห่งวิถีจิตที่ชื่อว่า มัคควิถี ดังภาพนี้


มัคควิถี ของ มันทบุคคล ผู้รู้ช้า




กามชวนะ
มหากุสลญาณสัมปยุตต ๔

อัปปนาชวนะ
โลกุตตรจิต ๘


มโน

บริ อุป อนุ โค

มัคค ผล ผล

 

มโน บริ อุป อนุ มีไตรลักษณ์แห่งรูปนามเป็นอารมณ์
โค มัคค ผล ผล มีนิพพานเป็นอารมณ์




อนุโลมญาณ

โคตรภูญาณ

มัคคญาณ

ผลญาณ


มโน

บริ อุป อนุ

โค

มัคค

ผล ผล


หน้า ๑๒

มัคควิถีของติกขบุคคล ผู้มีปัญญาไว




กามชวนะ
มหากุสลญาณสัมปยุตต ๔

อัปปนาชวนะ
โลกุตตรจิต ๘


มโน

อุป อนุ โค

มัคค ผล ผล ผล

 

มโน อุป อนุ มีไตรลักษณ์แห่งรูปนาม
โค มัคค ผล ผล ผลมีนิพพานเป็นอารมณ์ เป็นอารมณ์




อนุโลมญาณ

โคตรภูญาณ

มัคคญาณ

ผลญาณ


มโน

อุป อนุ

โค

มัคค

ผล ผล ผล

 

อักษรย่อ =ภวังคจลนะ, =ภวังคุปัจเฉทะ, มโน=มโนทวาราวัชชนะ, บริ=บริกรรม, อุป=อุปจาระ, อนุ=อนุโลม, =โคตรภู, =ภวังค


โคตรภูจิต แม้ว่าจะมีพระนิพพานเป็นอารมณ์ แต่ก็ยังปราบกิเลสให้เป็นสมุจเฉทไม่ได้ เพราะจิตยังเป็นโลกียจิตอยู่ หาใช่โลกุตตรจิตไม่ เหตุนี้จึงเรียกโคตรภูจิตว่าเป็น เอกวุฏฐาน คือ ออกได้แต่ส่วนเดียว ออกจากอารมณ์ที่เป็