<<    >>

คู่มือพระอภิธัมมัตถสังคหะ ปริจเฉทที่ ๕

วิถีมุตตสังคหวิภาค

หน้า ๑

คู่มือการศึกษา

วิถีมุตตสังคหวิภาค

พระอภิธัมมัตถสังคหะ

ปริจเฉทที่ ๕

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส


ความเบื้องต้น


พระอภิธรรมมัตถสังคหะ ปริจเฉทที่ ๕ ชื่อว่า วิถีมุตตสังคหะวิภาค คำว่า วิถีมุตต แปลว่า พ้นวิถี นอกวิถี หรือไม่อยู่ในวิถี, สังคหะ แปลว่า สงเคราะห์ หรือรวบรวม วิภาค แปลว่า ส่วน,  

ดังนั้นวิถีมุตตสังคหะวิภาค จึงแปลว่า ส่วนที่ รวบรวมการแสดงจิตที่พ้นวิถี


มีคาถาสังคหะเป็นคาถาที่ ๑ แสดงว่า


๑. วิถีจิตฺตวเสเนวํ ปวตฺติยมุทีริโต
ปวตฺติสงฺคโห นาม สนฺธิยนฺทานิ วุจฺจติ ฯ


แปลความว่า ความเป็นไปของจิตในปวัตติกาล ที่ชื่อว่า ปวัตติสังคหะ นั้น ได้กล่าวตามที่ พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสแล้ว บัดนี้ข้าพเจ้าผู้มีชื่อว่า อนุรุทธาจารย์ จะได้กล่าว ในปฏิสนธิกาลต่อไป


อธิบาย

จิตทั้งหมดมี ๘๙ ดวงนั้น เมื่อกล่าวโดยวิถีก็แบ่งได้เป็น ๒ พวก คือ เป็นจิต ในวิถีพวกหนึ่ง และเป็นจิตที่พ้นวิถีอีกพวกหนึ่ง
จิตในวิถีมีจำนวน ๘๐ ดวง ก็แบ่งได้เป็น ๒ พวกเหมือนกัน คือ เป็นจิต ในวิถีแน่นอน (เอกนฺต) พวกหนึ่งและเป็นจิตในวิถีที่ไม่แน่นอน (อเนกนฺต) คือ บางทีก็อยู่ในวิถี บางทีก็พ้นวิถี แล้วแต่กิจการงานที่จิตนั้นกระทำ อีกพวกหนึ่ง


หน้า ๒

จิตในวิถีที่แน่นอน (เอกนฺต) นั้นมี ๗๐ ดวง ได้แก่
อกุสลจิต ๑๒
อเหตุกจิต ๑๖ (เว้นอุเบกขาสันตีรณจิต ๒)
มหากุสล ๘
มหากิริยา ๘
มหัคคตกุสล ๙
มหัคคตกิริยา ๙
โลกุตตรจิต ๘
จิตในวิถีที่ไม่แน่นอน (อเนกนฺต) นั้นมี ๑๐ ดวง ได้แก่
อุเบกขาสันตีรณจิต ๒
มหาวิบาก ๘


ส่วนจิตที่พ้นวิถีจำนวน ๑๙ ดวง ก็แบ่งได้เป็น ๒ พวกอีกเหมือนกัน คือ เป็นจิตที่พ้นวิถีแน่นอน (เอกนฺต) พวกหนึ่ง และเป็นจิตพ้นวิถีที่ไม่แน่นอน (อเนกนฺต) คือ บางทีก็พ้นวิถี บางทีก็อยู่ในวิถี แล้วแต่กิจการงานที่จิตนั้นกระทำ อีกพวกหนึ่ง
จิตที่พ้นวิถีแน่นอน (เอกนฺต) นั้นมี ๙ ดวง ได้แก่
มหัคคตวิบาก ๙
จิตพ้นวิถีที่ไม่แน่นอน (อเนกนฺต) นั้นมี ๑๐ ดวง ได้แก่
อุเบกขาสันตีรณจิต ๒
มหาวิบาก ๘
ทั้งนี้ได้แสดงแล้วในปริจเฉทที่ ๔ วิถีสังคหวิภาค ที่นำมากล่าวซ้ำในที่นี้อีก นั้น เพื่อเป็นการทบทวนความจำ ก่อนที่จะได้เริ่มศึกษาในปริจเฉทที่ ๕ วิถีมุตต สังคหวิภาค นี้ต่อไป


วิถีมุตตสังคหวิภาค แสดงธรรม ๔ หมวด

วิถีมุตตสังคหวิภาคนี้ รวบรวมการแสดงจิตที่พ้นวิถี ตลอดจนธรรมที่เกี่ยว เนื่องกับจิตที่พ้นวิถีนั้นด้วย ดังนั้นท่านจึงแสดงธรรมเหล่านั้นรวมเป็น ๔ หมวด ด้วยกัน และแต่ละหมวดก็จำแนกออกเป็นหมวดละ ๔ พวก คือ


หน้า ๓

หมวดที่ ๑ ภูมิจตุกะ แบ่งภูมิ เป็น ๔ พวก ได้แก่
ก. อบายภูมิ
ข. กามสุคติภูมิ
ค. รูปาวจรภูมิ
ง. อรูปาวจรภูมิ

 
หมวดที่ ๒ ปฏิสนธิจตุกะ การแบ่งปฏิสนธิ เป็น ๔ พวก ได้แก่
ก. อบายปฏิสนธิ
ข. กามสุคติปฏิสนธิ
ค. รูปาวจรปฏิสนธิ
ง. อรูปาวจรปฏิสนธิ

 
หมวดที่ ๓ กัมมจตุกะ แบ่งกรรม เป็น ๔ พวก ได้แก่
ก. ชนกาทิกิจจ กิจการงานของกรรม
ข. ปากทาน ลำดับการให้ผลของกรรม
ค. ปากกาล กำหนดเวลาที่ให้ผลของกรรม
ง. ปากฐาน ฐานที่ตั้งแห่งผลของกรรม(ที่ตั้งแห่งวิบากจิต)

 
หมวดที่ ๔ มรณจตุกะ แบ่งการมรณะ เป็น ๔ พวก ได้แก่
ก. อายุกขยมรณะ ตายโดยสิ้นอายุ
ข. กัมมักขยมรณะ ตายโดยหมดกรรม
ค. อุภยักขยมรณะ ตายโดยสิ้นทั้งอายุหมดทั้งกรรม
ง. อุปัจเฉทกมรณะ ตายโดยอุบัติเหตุ


หมวดที่ ๑ ภูมิจตุกะ ก. อบายภูมิ

อบายภูมิ มาจากคำว่า อป (ปราศจาก) + อย (กุสลธรรม) + ภูมิ (ที่อยู่ที่อาศัย) ดังนั้นอบายภูมิจึงแปลว่า
ที่อยู่ที่อาศัยที่ปราศจากกุสลธรรม มีความหมายว่า สัตว์ ในอบายภูมินั้น มีโอกาสกระทำกุสลได้น้อยเหลือเกินจนแทบจะกล่าวได้ว่า ไม่มีโอกาสทำกุสล


หน้า ๔

อีกนัยหนึ่ง อบายภูมินี้ บางทีก็เรียกว่า ทุคคติภูมิ มาจากคำว่า ทุ (ชั่ว-ไม่ดี) + คติ(เกิด) + ภูมิ (ที่อยู่ที่อาศัย) ดังนั้นทุคคติภูมิจึงแปลว่าเกิดในที่ที่ไม่ดี ที่ที่ชั่ว ลำบาก ทนได้ยาก
ใน เนตติอรรถกถา แสดงไว้ว่า นรก เปรต อสุรกาย เรียกว่าเป็นทุคคติ โดยตรง ส่วนสัตว์เดรัจฉาน ที่เรียกว่าเป็นทุคคตินั้น เป็นการเรียกได้โดยอ้อม เพราะ สัตว์ดิรัจฉานบางจำพวก เช่น พระยานาค พระยาช้างฉัททันต์ เป็นต้น ล้วนแต่มี ความสุข บางทีก็มีฤทธิด้วย
อบายภูมินี้มี ๔ ภูมิ ด้วยกันคือ
๑. นิรยภูมิ ภูมิของสัตว์นรก
๒. ดิรัจฉานภูมิ ภูมิของสัตว์ดิรัจฉาน
๓. เปรตภูมิ ภูมิของเปรต
๔. อสุรกายภูมิ ภูมิของอสุรกาย


๑. ภูมิของสัตว์นรก

นรก หมายความว่า เดือดร้อน ไม่มีความสุข เพราะต้องถูกทรมานอยู่เป็นนิจ ภูมิของสัตว์นรกนี้ชื่อ นิรยภูมิ เป็นภูมิที่สัตว์ต้องถูกทรมานจนหาความสุขไม่ได้เลย
นรกขุมใหญ่ ๆ เรียกว่า มหานรก นั้น มี ๘ ขุม คือ
๑. สัญชีวะนรก เป็นที่อยู่ของสัตว์ที่ต้องถูกประหารด้วยดาบฟาดฟันให้ตาย แล้วก็กลับเป็นขึ้นมาอีก และถูกฟันให้ตายอีก เป็นเช่นนี้ตลอดเวลา
๒. กาฬสุตตะนรก เป็นที่อยู่ของสัตว์ที่ต้องถูกตีเส้น ด้วยเชือกดำทำด้วย เหล็กแล้วก็ถาก หรือตัดออกด้วยเครื่องประหารมีขวาน มีด เลื่อยเป็นต้น อยู่เสมอ
๓. สังฆาตะนรก เป็นที่อยู่ของสัตว์ที่ถูกภูเขาเหล็กที่สูงใหญ่ มีเปลวไฟอัน ลุกโพลง บดให้ละเอียดเป็นจุณไป
๔. โรรุวนรก บ้างก็เรียกว่า จูฬโรรุวะนรก หรือธูมะโรรุวะนรก เป็นที่อยู่ของ สัตว์ที่ต้องถูกทรมานด้วยควันไฟ ให้เข้าไปสู่ทวารทั้ง ๙ ทำให้ร้องด้วยเสียงอันดัง
๕. มหาโรรุวะนรก บางทีก็เรียกว่า ชาลโรรุวนรก เป็นที่อยู่ของสัตว์ที่ต้อง ถูกไฟเผาตามทวารทั้ง ๙ ทำให้ต้องร้องครวญครางด้วยเสียงอันดังมาก


หน้า ๕

๖. ตาปนนรก บางทีก็เรียกว่า จูฬตาปนะนรก เป็นที่อยู่ของสัตว์ที่ต้องถูก ตรึงด้วยหลาวเหล็กอันร้อนแดง และถูกไฟเผาอีกด้วย
๗. มหาตาปนะนรก บางทีก็เรียกว่า ปตาปนะนรก เป็นที่อยู่ของสัตว์ที่ต้อง ไต่ขึ้นไปบนภูเขาเหล็กที่กำลังร้อนแดง แล้วตกลงไปสู่หลาวที่อยู่ข้างล่าง ทั้งถูกไฟเผาอีกด้วย
๘. อเวจีนรก บางทีก็เรียก อวีจินรก เป็นที่อยู่ของสัตว์ที่ต้องถูกตรึงอยู่ด้วย หลาวเหล็กอันร้อนแดงทั้ง ๔ ด้าน และต้องถูกไฟเผาอยู่ตลอดเวลาอีกด้วย
มหานรกทั้ง ๘ ขุมนี้แต่ละขุมตั้งอยู่ห่างกัน ๑๕,๐๐๐ โยชน์ และแต่ละขุมก็มี ประตูทั้ง ๔ ทิศ ทิศละ ๑ ประตู รวม ๘ ขุมเป็น ๓๒ ประตูแต่ละประตูมีพระยา ยมราชประจำอยู่ประตูละ ๑ จึงมีพระยายมราช รวม ๓๒
เมื่อสัตว์นรกได้เสวยทุกข์อยู่ในมหานรกตามควรแก่กรรมแล้ว ก็ยังไม่พ้นจาก นรก ต้องมาเสวยทุกข์ในอุสสทะนรก หรือจูฬนรก คือนรกขุมย่อยต่อไปอีก จนกว่า จะหมดกรรม
อุสสทะนรก หรือ จูฬนรก คือนรกขุมย่อยนั้น ตั้งอยู่ตามประตูของมหานรก ทุกประตู ประตูละ ๔ ขุมย่อยประตู มี ๓๒ ประตู ดังนั้นอุสสทะนรก จึงมีรวม ๑๒๘ ขุมย่อย
อุสสทะนรก ๔ ขุม คือ
๑. คูถะนรก เป็นนรกขุมย่อยที่เต็มไปด้วยอุจจาระอันเน่าเหม็น
๒. กุกกุละนรก เป็นนรกขุมย่อยที่เป็นหลุมขี้เถ้า
๓. สิมพลีวนะนรก เป็นนรกขุมย่อยที่เป็นป่าไม้งิ้ว
อสิปัตตะวนะนรก เป็นนรกขุมย่อยที่เป็นป่าไม้ใบดาบ
ป่าไม้ทั้ง ๒ นี้ รวมนับเป็นนรกขุมเดียวกัน
๔. เวตตรณีนรก เป็นนรกขุมย่อยที่เป็นแม่น้ำเค็มอันเต็มไปด้วยหนามหวาย

อนึ่งในคัมภีร์โลกบัญญัตติปกรณ์แสดงว่าอุสสทะนรก หรือจูฬนรกนี้มี ๘ ขุม อันเป็นการแยกโดยละเอียดพิสดาร
ออกไป เมื่อคำนวณตามนัยนี้ ประตูแห่งมหานรก มีรวมทั้งหมด ๓๒ ประตู แต่ละประตูมีอุสสทะนรก (อย่างพิสดาร)
ประตูละ ๘ ขุมย่อย ดังนั้นจึงมีอุสสทะนรก รวม ๒๕๖ ขุมด้วยกัน


หน้า ๖

อุสสทะนรก ตามคัมภีร์โลกบัญญัตติปกรณ์ ๘ ขุมนั้น คือ
๑. อังคารกาสุนีรย เป็นนรกขุมย่อยที่เป็น ถ่านเพลิง
๒. โลหรสะนิยะ เป็นนรกขุมย่อยที่เป็น น้ำเหล็ก
๓. กุกกุละนิรยะ เป็นนรกขุมย่อยที่เป็น ขี้เถ้า
๔. อัคคิสโมทกะนิรยะ เป็นนรกขุมย่อยที่เป็น น้ำร้อน
๕. โลหกุมภีนิรยะ เป็นนรกขุมย่อยที่เป็น น้ำทองแดง
๖. คูถะนิรย เป็นนรกขุมย่อยที่เป็น อุจจาระเน่า
๗. สิมพลีวนะนิรย เป็นนรกขุมย่อยที่เป็น ป่าไม้งิ้ว
๘. เวตตรณีนิรย เป็นนรกขุมย่อยที่เป็น แม่น้ำเค็มที่มีหนามหวาย


โทษที่ให้ไปนรก
๑. ฆ่ามนุษย์ ไป สัญชีวะนรก กาฬสุตตะนรก
๒. ฆ่าสัตว์ ไป สังฆาตะนรก จูฬโรรุวะนรก
๓. ลักทรัพย์ ไป มหาโรรุวนรก
๔. เผาบ้านเรือน ไป จูฬตาปนะนรก
๕. มิจฉาทิฏฐิ ไป มหาตาปนะนรก
๖. อนันตริยกรรม ไป อเวจีนรก


๒. ภูมิของสัตว์ดิรัจฉาน

ภูมิของสัตว์ดิรัจฉาน มีชื่อว่า ดิรัจฉานภูมิ สัตว์ดิรัจฉาน มีความหมายว่า เป็น สัตว์ที่ไปโดยส่วนขวาง หรือ อีกนัยหนึ่งว่า เป็นสัตว์ที่เป็นไปขวางจากมัคคผล
ดิรัจฉานนี้ จัดเป็นภูมิหนึ่งต่างหากก็จริง แต่ว่าไม่มีที่อยู่ที่อาศัยของตนเอง เป็นส่วนเป็นสัดโดยเฉพาะ คงอาศัยอยู่ในมนุษย์โลก ส่วนในเทวโลกและพรหมโลก นั้น ไม่มีสัตว์ดิรัจฉานไปอยู่ร่วมด้วยเลย
สัตว์ดิรัจฉาน มีสัญญาที่ปรากฏหรือมีความเป็นอยู่และเป็นไปเพียง ๓ อย่าง เท่านั้น คือ
๑. กามสัญญา รู้เสวยกามคุณ
๒. โคจรสัญญา รู้จักกิน (รวมทั้งรู้จักนอนด้วย)


หน้า ๗

๓. มรณสัญญา รู้จักกลัวตาย
ส่วนอีกอย่างหนึ่ง คือ ธัมมสัญญา ความรู้จักผิดชอบ ชั่ว ดี หรือรู้จักกุสล อกุสลนั้น สัตว์ดิรัจฉานทั้งหลายไม่มี เว้นแต่สัตว์ดิรัจฉานบางจำพวก เช่น โพธิสัตว์ จึงมี ธัมมสัญญา ปรากฏได้
สัตว์ดิรัจฉานมีจำนวนมากมายเหลือประมาณ มากกว่ามนุษย์มากกว่ามากนัก อยู่บนบกเหมือนมนุษย์ก็มี อยู่ในน้ำก็มี และมีมากกว่าอยู่บนบกหลายเท่า รูปร่างก็ แตกต่างกันจนสุดจะพรรณนา ส่วนขนาดใหญ่โตมากก็มี เล็กจนแทบจะมองไม่เห็นก็มี ในที่สุดท่านจึงแยกประเภทของสัตว์ดิรัจฉานออกเป็น ๔ อย่างเท่านั้น คือ
๑. อปทติรจฺฉาน จำพวกดิรัจฉานที่ไม่มีขาเลยเช่น ปลา งู ไส้เดือน เป็นต้น
๒. ทฺวิปทติรจฺฉาน จำพวกดิรัจฉานที่มี ๒ ขา ได้แก่ นก เป็ด ไก่ เป็นต้น
๓. จตุปฺปทติรจฺฉาน จำพวกดิรัจฉานที่มี ๔ ขา ได้แก่ ช้าง ม้า โค กระบือ เป็นต้น
๔. พทุปฺปทติรจฺฉาน จำพวกดิรัจฉานที่มีขามาก ได้แก่ กุ้ง ปู แมลงมุม ตะขาบ กิ้งกือ เป็นต้น
อนึ่งบรรดาพระโพธิสัตว์ทั้งหลาย นับตั้งแต่ได้รับพุทธพยากรณ์ เป็นต้นไป แม้จะต้องไปเกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉาน ก็จะไม่เกิดเป็นสัตว์ที่เล็กกว่า นกกระจาบ และ ไม่เกิดเป็นสัตว์ที่ใหญ่กว่าช้าง
สัตว์ดิรัจฉานที่อดอยากก็มี ที่อ้วนพีก็มีมาก ที่เดือดร้อนน้อยก็มีความสุขมากก็มี เหมือนกันแต่มีจำนวนน้อย ส่วนมากมักจะเดือดร้อนมาก มีความสุขน้อยเหลือเกิน
สัตว์ดิรัจานมีโอกาสทำกุสลบ้าง แต่มีโอกาสก่ออกุสลได้มากมายเหลือเกิน ส่วน สัตว์นรกแทบจะไม่มีโอกาสทำกุสลเลย แต่ก็ยากที่จะมีโอกาสก่ออกุสลเหมือนกัน เพราะมัวแต่ถูกทรมานอยู่

 

๓. ภูมิของเปรต

ภูมิของเปรตมีชื่อว่า เปตภูมิ สัตว์ที่ชื่อว่าเปรตนั้นเป็นสัตว์ที่มีความเดือดร้อน เพราะมีความเป็นอยู่อย่างหิวโหยอดอยาก ซึ่งต่างกับสัตว์นรก ที่มีความเดือดร้อน เหมือนกัน แต่ว่าเดือดร้อนเพราะถูกทรมาน


หน้า ๘

เปรต ส่วนมากอยู่ที่ป่า วิชฌาฏวี มี มหิทธิกเปรต เป็นเจ้าปกครอง ดูแลเปรตทั้งหลาย แต่ว่าเปรตที่ไม่มีที่อยู่ที่อาศัยโดยเฉพาะ เที่ยวอยู่ทั่ว ๆ ไป เช่น ตามป่า ตามภูเขา เหว เกาะ ทะเล ป่าช้า ก็มีมากเหมือนกัน
เปรตมีหลายจำพวก เล็กก็มี ใหญ่ก็มี และสามารถเนรมิตให้เป็น อิฏฐารมณ์ และอนิฏฐารมณ์ได้ ฝ่ายอิฏฐารมณ์ก็เนรมิตให้เห็นเป็นเทวดา เป็นมนุษย์ เป็นดาบส พระ เณร ชี เป็นต้น ฝ่ายอนิฏฐารมณ์ก็ให้เห็นเป็นสัตว์ต่าง ๆ ทำท่าทางหรือ มีรูปร่างอันน่าเกลียดน่ากลัว


เปรต ๔ จำพวก
ในเปตวัตถุอรรถกถา แสดงเปรต ๔ จำพวก คือ
๑. ปรทัตตุปชีวิกเปรต เป็นเปรตที่เลี้ยงชีวิตอยู่โดยอาศัยอาหารที่ผู้อื่นให้โดย การเซ่นไหว้ เป็นต้น
๒. ขุปปีปาสิกเปรต เป็นเปรตที่อดอยาก หิวข้าว หิวน้ำ อยู่เป็นนิจ
๓. นิชฌามตัณหิกเปรต เป็นเปรตที่ถูกไฟเผาให้เร่าร้อนอยู่เสมอ
๔. กาลกัญจิกเปรต เป็นเปรตในจำพวกอสุรกาย หรือ เป็นชื่อของอสุราที่ เป็นเปรต
เปรตที่สามารถจะได้รับส่วนกุสลที่มีผู้อุทิศให้นั้น ได้แก่ ปรทัตตุปชีวิกเปรต จำพวกเดียวเท่านั้น เพราะเปรตจำพวกนี้โดยมากอยู่ในบริเวณใกล้ ๆ กับมนุษย์ ถึงกระนั้นก็จะ ต้องรู้ ว่าเขาแผ่ส่วนกุสลให้ จึงจะสามารถรับได้ด้วยการ อนุโมทนา ถ้าไม่รู้ไม่ได้อนุโมทนา ก็ไม่ได้รับส่วนกุสลนั้นเหมือนกัน
ในอปาทานอรรถกถา สุตตนิบาตอรรถกถา และพุทธวังสะอรรถกถาแสดงว่า บรรดาพระโพธิสัตว์ทั้งหลาย นับตั้งแต่ได้รับพุทธพยากรณ์ เป็นต้นไป จะไม่เกิดเป็น ขุปปีปาสิกเปรต นิชฌามตัณหิกเปรต หรือ กาลกัญจิกเปรต ถ้าจะต้องไปเกิดเป็น เปรต ก็จะเกิดเป็นปรทัตตุปชีวิกเปรต ประเภทเดียวเท่านั้น


หน้า ๙

เปรต ๑๒ จำพวก
ในคัมภีร์โลกบัญญัตติปกรณ์ และ ฉคติทีปนีปกรณ์ แสดง เปรต ๑๒ จำพวก คือ
๑. วันตาสเปรต เปรตที่กินน้ำลาย เสมหะ อาเจียร เป็นอาหาร
๒. กุณปาสเปรต เปรตที่กินซากศพคน หรือสัตว์ เป็นอาหาร
๓. คูถขาทกเปรต เปรตที่กินอุจจาระต่าง ๆ เป็นอาหาร
๔. อัคคิชาลมุขเปรต เปรตที่มีเปลวไฟลุกอยู่ในปากเสมอ
๕. สุจิมุขเปรต เปรตที่มีปากเท่ารูเข็ม
๖. ตัณหัฏฏิตเปรต เปรตที่ถูกตัณหาเบียดเบียฬให้หิวข้าวหิวน้ำอยู่เสมอ
๗. สุนิชฌามกเปรต เปรตที่มีตัวดำเหมือนตอไม้ที่เผา
๘. สุตตังคเปรต เปรตที่มีเล็บมือเล็บเท้ายาวคมเหมือนมีด
๙. ปัพพตังคเปรต เปรตที่มีร่างกายสูงใหญ่เท่าภูเขา
๑๐. อชครังคเปรต เปรตที่มีร่างกายเหมือนงูเหลือม
๑๑. เวมานิกเปรต เปรตที่ต้องเสวยทุกข์ในเวลากลางวัน แต่กลางคืนได้ ไปเสวยสุขในวิมาน
๑๒. มหิทธิกเปรต เปรตที่มีฤทธิ์มาก


เปรต ๒๑ จำพวก
ในวินัยและลักขณสังยุตตพระบาลีแสดงเปรต ๒๑ จำพวก คือ
๑. อัฏฐีสังขสิกเปรต เปรตที่มีกระดูกติดกันเป็นท่อน ๆ แต่ไม่มีเนื้อ
๒. มังสเปสิกเปรต เปรตที่มีเนื้อเป็นชิ้น ๆ แต่ไม่มีกระดูก
๓. มังสปิณฑเปรต เปรตที่มีเนื้อเป็นก้อน
๔. นิจฉวิปริสเปรต เปรตที่ไม่มีหนัง
๕. อสิโลมเปรต เปรตที่มีขนเป็นพระขรรค์
๖. สัตติโลมเปรต เปรตที่มีขนเป็นหอก
๗. อุสุโลมเปรต เปรตที่มีขนเป็นลูกธนู
๘. สูจิโลมเปรต เปรตที่มีขนเป็นเข็ม
๙. ทุติยสูจิโลมเปรต เปรตที่มีขนเป็นเข็มชนิดที่ ๒
๑๐. กุมภัณฑเปรต เปรตที่มีอัณฑะใหญ่โตมาก
๑๑. คูถกูปนิมุคคเปรต เปรตที่จมอยู่ในอุจจาระ


หน้า ๑๐

๑๒. คูถขาทกเปรต เปรตที่กินอุจจาระ
๑๓. นิจฉวิตกิเปรต เปรตหญิงที่ไม่มีหนัง
๑๔. ทุคคันธเปรต เปรตที่มีกลิ่นเหม็นเน่า
๑๕. โอคิลินีเปรต เปรตที่มีร่างกายเป็นถ่านไฟ
๑๖. อลิสเปรต เปรตที่ไม่มีศีรษะ
๑๗. ภิกขุเปรต เปรตที่มีรูปร่างสัณฐานเหมือน พระ
๑๘. ภิกขุณีเปรต เปรตที่มีรูปร่างสัณฐานเหมือน ภิกษุณี
๑๙. สิกขมานเปรต เปรตที่มีรูปร่างสัณฐานเหมือน สิกขมานา (สามเณรีที่ได้รับการอบรมเป็นเวลา ๒ ปี เพื่อบวชเป็นภิกษุณี)
๒๐. สามเณรเปรต เปรตที่มีรูปร่างสัณฐานเหมือน สามเณร
๒๑. สามเณรีเปรต เปรตที่มีรูปร่างสัณฐานเหมือน สามเณรี

 

๔. ภูมิของอสุรกาย

ภูมิของอสุรกาย มีชื่อว่า อสุรภูมิ หรือ อสุรกายภูมิ อสุรกายเป็นหมู่สัตว์ จำพวกหนึ่ง ซึ่งไม่สว่างรุ่งโรจน์โดยความเป็นอิสสระ และสนุกรื่นเริง
คำว่า " สว่างรุ่งโรจน์ " ไม่ได้หมายถึง รัศมีสีแสงที่ออกจากร่างกาย แต่หมาย ความว่า " มีความเป็นอยู่อย่างฝืดเคือง เครื่องบริโภคก็แร้นแค้น เครื่องอุปโภคก็ขาด แคลน " ทุกข์ยากลำบากกายเช่นนี้ ใจคอก็ไม่สนุกสนานรื่นเริง เข้าทำนองที่ว่า หน้าชื่นอกตรม
หมู่สัตว์ที่เป็นอสุรา ที่เรียกว่า อสุรกาย นั้น มี ๓ อย่าง คือ
ก. เทวอสุรา ได้แก่ อสุรกายที่เป็นเทวดา
ข. เปตติอสุรา ได้แก่ อสุรกายที่เป็นพวกเปรต
ค. นิรยอสุรา ได้แก่ อสุรกายที่เป็นสัตว์นรก


เทวอสุรกาย มี ๖ คือ

 

๑. เวปจิตตอสุรกาย
๒. ราหุอสุรกาย

๓. สุพลิอสุรกาย
๔. ปหารอสุรกาย
๕. สัมพรตีอสุรกาย

ที่เรียกว่า อสุรกาย เพราะเป็นปฏิปักษ์ต่อ
เทวดาชั้นดาวดึงส์ เทวอสุรกายทั้ง ๕ นี้ อยู่
ใต้ภูเขาสิเนรุ แต่สงเคราะห์เข้าในจำพวก
เทวดาชั้นดาวดึงส์

๖. วินิปาติกอสุรกาย มีรูปร่างก็เล็กกว่า อำนาจก็น้อยกว่าเทวดาชั้นดาว ดึงส์ ที่อยู่ก็อาศัยอยู่ในมนุษย์โลก
เช่น ตามป่า ตามเขา ตามต้นไม้ และตามศาลที่ เขาปลูกไว้ สงเคราะห์เข้าในจำพวกเทวดาชั้นจาตุมมหาราชิกา


หน้า ๑๑

เปตติอสุรกายมี ๓ คือ
๑. กาลกัญจิกเปรตอสุรกาย มีร่างกายใหญ่โต แต่ไม่ใคร่มีแรง เพราะมีเลือด เนื้อน้อย มีสีสรรคล้ายใบไม้แห้ง ตาโปนออกมาคล้ายกับตาของปู มีปากเท่ารูเข็ม และตั้งอยู่กลางศีรษะ ที่เรียกเปรตจำพวกนี้ว่าอสรุกาย เพราะไม่สว่างรุ่งโรจน์
๒. เวมานิกเปรตอสุรกาย เสวยทุกข์ในเวลากลางวัน แต่กลางคืนได้เสวยสุข เหมือนกับความสุขในชั้นดาวดึงส์ และเพราะเหตุว่าเปรตจำพวกนี้ได้เสวยสุขในเวลา กลางคืนเหมือนกับเทวดาชั้นดาวดึงส์นี้แหละ จึงได้เรียกว่า อสุรา
๓. อาวุธิกเปรตอสุรกาย เป็นจำพวกเปรตที่ประหัตประหารซึ่งกันและกัน ด้วยอาวุธต่าง ๆ ที่เรียกเปรตจำพวกนี้ว่าเป็นอสุรกาย เพราะมีความเป็นอยู่ตรงข้าม กับเทวดาชั้นดาวดึงส์ กล่าวคือ เทวดาชั้นดาวดึงส์มีความรักใคร่ซึ่งกันและกัน ส่วน อาวุธิกเปรตนี้ มีแต่การประหัตประหารซึ่งกันและกัน

 

นิรยอสุรกาย มี ๑ เท่านั้น
นิรยอสุรกาย มีอย่างเดียว เป็นสัตว์นรกจำพวกหนึ่ง ซึ่งมีความเป็นอยู่ เหมือนค้างคาว เกาะอยู่ตามขอบจักรวาล หิวกระหายเป็นกำลัง เกาะไปพลาง ไต่ไป พลาง ไปพบพวกเดียวกัน โผเข้าไปจะจิกกินเป็นอาหาร ก็พลัดตกลงไปในน้ำกรด ข้างล่างละลายไปทันทีแล้วเกิดขึ้นมาใหม่ ตกตายไปอีกวนเวียนอยู่อย่างนี้ จนกว่าจะหมดกรรม
ที่เรียกสัตว์นรกจำพวกนี้เป็นอสุรกาย ก็เพราะว่ามีอารมณ์ตรงกันข้ามกับ เทวดาชั้นดาวดึงส์ กล่าวคือ เทวดาชั้นดาวดึงส์มีอารมณ์ล้วนแต่ที่เป็นอิฏฐารมณ์ ส่วนนิรยอสุรกายนี้มีแต่อนิฏฐารมณ์ทั้งสิ้น
รวมความว่า อสุรภูมิ หรืออสุรกายภูมินี้ ถ้าจะสงเคราะห์ก็สงเคราะห์เข้าใน เปตภูมิ แต่เป็นเปรตจำพวกที่มีความเป็นอยู่เป็นพิเศษ เปรตพิเศษนี่แหละที่เรียกว่า อสุรกาย


หน้า ๑๒

 

หมวดที่ ๑ ภูมิจตุกะ ข. กามสุคติภูมิ

กามสุคติภูมิ มีความหมายว่า ไปเกิดที่ดี แต่ยังข้องอยู่ในกามคุณ ทั้ง ๕ คือ ยังติดใจในรูป เสียง กลิ่น รส และการสัมผัสถูกต้อง
กามสุคติภูมิ มี ๗ ภูมิ คือ มนุษย์ ๑ ภูมิ เทวดา ๖ ภูมิ

 

มนุษยภูมิ

มนุษยภูมิ คือ ที่เกิด ที่อยู่ ที่อาศัยของมนุษย์ มีอยู่ ๔ ทวีป คือ
๑. บุพพวิเทหทวีป อยู่ทางทิศ ตะวันออก ของภูเขาสิเนรุ
๒. อปรโคยานทวีป อยู่ทางทิศ ตะวันตก ของภูเขาสิเนรุ
๓. ชมพูทวีป อยู่ทางทิศ ใต้ ของภูเขาสิเนรุ
๔. อุตตรกุรุทวีป อยู่ทางทิศ เหนือ ของภูเขาสิเนรุ


มนุษย์ กล่าวโดยมุขยนัย นัยโดยตรงแล้ว ก็ได้แก่ คนที่อยู่ในชมพูทวีป คือ ที่ที่เราท่านอยู่กัน ณ บัดนี้ แต่ถ้ากล่าวโดย สทิสูปจารนัย นัยโดยอ้อมแล้ว ก็ใช้ เรียกคนที่อยู่ในทวีปทั้ง ๓ ด้วย เพราะคนในทวีปทั้ง ๓ นั้น มีรูปพรรณสัณฐาน เหมือน ๆ กันกับคนที่อยู่ในชมพูทวีปนี้

 
คำว่า มนุษย์ ซึ่งหมายถึง คน หรือ เหล่าคน นั้น เขียนตามแบบบาลี เป็น มนุสฺส มาจาก มน (ใจ) +
อุสฺส (สูง) จึงรวมความหมายว่า ผู้มีใจสูง คือ รู้ผิดชอบ ชั่วดี รู้บาปรู้บุญ รู้จักมีเมตตากรุณา เป็นต้น
ความหมายของมนุษย์มีแสดงไว้หลายนัย คือ
๑. มนุษย์มีใจรุ่งเรืองและกล้าแข็ง
๒. มนุษย์เข้าใจในสิ่งที่เป็นเหตุอันควรและไม่ควร
๓. มนุษย์เข้าใจในสิ่งที่มีประโยชน์และไม่มีประโยชน์
๔. มนุษย์เข้าใจในสิ่งที่เป็นกุสลและอกุสล
๕. มนุษย์เป็นลูกของเจ้ามนุ
ที่ว่า มนุษย์เป็นลูกของเจ้ามนุ นั้น มีความหมายดังนี้ คือ ในสมัยต้นกัปป์ ประชาชนได้เลือกพระโพธิสัตว์ ซึ่งขณะนั้นเป็นมนุษย์มีชื่อว่า มนุ ให้ขึ้นครองราชเป็นพระเจ้าแผ่นดินปกครองประเทศ และถวายพระนามว่า พระเจ้ามหาสัมมตะ พระเจ้ามหาสัมมตะทรงวางระเบียบแบบแผนกฏข้อบังคับอย่างเที่ยงธรรม เพื่อให้ประชาชนประพฤติปฏิบัติตามประชาชนต่างก็มิได้ฝ่าฝืนเลย คงกระทำตามนั้นทุกประการ เหมือนหนึ่งว่า บุตรที่ดีทั้งหลายได้ประพฤติตามโอวาทของบิดา เหตุนี้จึงเรียกว่า มนุสส หมายถึงว่า เป็นลูกของพระเจ้ามนุ


หน้า ๑๓

มนุษย์ในชมพูทวีป มีคุณลักษณะพิเศษกว่าอีก ๓ ทวีป คือ
ก. สูรภาว มีจิตใจกล้าแข็งในการบำเพ็ญ ทาน ศีล ภาวนา
ข. สติมันต มีสติตั้งมั่นในคุณพระรัตนตรัย
ค. พรหมจริยวาส ประพฤติพรหมจรรย์ คือ อุปสมบทได้

อนึ่งมนุษย์ที่มีสภาพแตกต่างกันนั้น มูลปัณณาสก์ มัชฌิมนิกาย แสดงไว้ว่า
ฆ่าสัตว์ ไม่มีความกรุณา เป็นเหตุให้ อายุสั้น
ไม่ฆ่าสัตว์ มีความกรุณา เป็นเหตุให้ อายุยืน
เบียดเบียนสัตว์ เป็นเหตุให้ มีโรคมาก
ไม่เบียดเบียนสัตว์ เป็นเหตุให้ มีโรคน้อย
มักโกรธ มีความคับแค้นใจมาก เป็นเหตุให้ ผิวพรรณทราม
ไม่โกรธ ไม่มีความคับแค้นใจ เป็นเหตุให้ ผิวพรรณผุดผ่อง
มีใจประกอบด้วยความริษยาผู้อื่น เป็นเหตุให้ มีอานุภาพน้อย
มีใจไม่ริษยาผู้อื่น เป็นเหตุให้ มีอานุภาพมาก
ไม่บริจาคทาน เป็นเหตุให้ ยากจน อนาถา
บริจาคทาน เป็นเหตุให้ มีโภคสมบัติมาก
กระด้าง ถือตัว เป็นเหตุให้ เกิดในสกุลต่ำ
ไม่กระด้าง ไม่ถือตัว เป็นเหตุให้ เกิดในสกุลสูง
ไม่อยากรู้ ไม่ไต่ถามผู้มีปัญญา เป็นเหตุให้ มีปัญญาน้อย
อยากรู้ หมั่นไต่ถามผู้มีปัญญา เป็นเหตุให้ มีปัญญามาก

 

เทวดาภูมิ

เทวะ แปลว่า ผู้ที่เพลิดเพลินยิ่งในกามคุณทั้ง ๕ เทวะมี ๓ คือ
๑. อุปปัตติเทวะ ได้แก่ เทวดาโดยกำเนิด
๒. สมมติเทวะ ได้แก่ เทวดาโดยสมมติ เช่น พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระราชโอรส พระราชธิดา
เป็นต้น
๓. วิสุทธิเทวะ ได้แก่ เทวดาที่บริสุทธิ์หมดจดจากกิเลสทั้งปวง หมายถึง พระอรหันต์โดยเฉพาะเท่านั้น


หน้า ๑๔

อนึ่งเทวะที่แปลว่า ผู้ที่เพลิดเพลินอยู่ในกามคุณทั้ง ๕ นั้น ใช้เป็นคำแปลโดย เฉพาะแก่อุปปัตติเทวะเท่านั้น จะนำไปใช้กับ สมมติเทวะ และวิสุทธิเทวะไม่ได้
อุปปัตติเทวะมี ๖ ชั้น
๑. จาตุมมหาราชิกา ๒. ดาวดึงส์
๓. ยามา ๔. ดุสิต
๕. นิมมานรดี ๖. ปรนิมมิตวสวัตตี


๑. จาตุมมหาราชิกาภูมิ
จาตุมมหาราช แปลว่า เทวดา ๔ องค์ ผู้เป็นเจ้าใหญ่ยิ่ง
จาตุมมหาราชิกา หมายถึงว่าเทวดาทั้งหลายผู้มีหน้าที่ปฏิบัติรับใช้ท้าวมหาราช ทั้ง ๔ กล่าวคือ เทวดาในชั้นจาตุมมหาราชิกาภูมินี้ เป็นบริวารอยู่ใต้อำนาจของท้าว มหาราชทั้ง ๔ เพราะเหตุว่ามามีกำเนิดในสถานที่ที่ท้าวมหาราชทั้ง ๔ ปกครองอยู่
ท้าวมหาราชทั้ง ๔ คือ
๑. ท้าวธตรัฏฐะ อยู่ทางทิศตะวันออกของภูเขาสิเนรุเป็นผู้ปกครองคันธัพพ เทวดาทั้งหมด
๒. ท้าววิรุฬหกะ อยู่ทางทิศใต้ของภูเขาสิเนรุ เป็นผู้ปกครองกุมภัณฑเทวดา ทั้งหมด
๓. ท้าววิรูปักขะ อยู่ทางทิศตะวันตกของภูเขาสิเนรุ เป็นผู้ปกครองนาคะ เทวดาทั้งหมด
๔. ท้าวกุเวระ หรือ ท้าวเวสสุวรรณ อยู่ทางทิศเหนือของภูเขาสิเนรุ เป็นผู้ปกครองยักขะเทวดาทั้งหมด เทวดาที่อยู่ภายใต้การปกครองของท้าวจาตุมมหาราช คือ
๑. ปัพพัฏฐเทวดา เทวดาที่ อาศัยภูเขาอยู่
๒. อากาสัฏฐเทวดา เทวดาที่ อาศัยอยู่ในอากาศ
๓. ขิฑฑาปโทสิกเทวดา เทวดาที่ มีความเพลิดเพลินในการเล่นกีฬา จนลืมบริโภคอาหารแล้วตาย
๔. มโนปโทสิกเทวดา เทวดาที่ ตายเพราะความโกรธ
๕. สีตวลาหกเทวดา เทวดาที่ ทำให้อากาศเย็นเกิดขึ้น
๖. อุณหวลาหกเทวดา เทวดาที่ ทำให้อากาศร้อนเกิดขึ้น
๗. จันทิมเทวปุตตเทวดา เทวดาที่ อยู่ในพระจันทร์
๘. สุริยเทวปุตตเทวดา เทวดาที่ อยู่ในพระอาทิตย์


หน้า ๑๕

ท้าวมหาราชทั้ง ๔ องค์นี้ เป็นผู้รักษามนุษย์โลกด้วย ฉะนั้นจึงเรียกว่า ท้าว จตุโลกบาล บางทีก็เลยเรียกท้าวจตุโลกบาลนี้ว่า อินทะ ยมะ วรุณะ กุเวระ
เทวดาชั้นจาตุมมหาราชิกานี้ มีที่อยู่ตอนกลางเขาสิเนรุ ตลอดลงมาถึงพื้นดิน ที่มนุษย์อยู่ เรียกชื่อตามที่อยู่ที่อาศัยดังนี้
ก. ที่อยู่บนพื้นแผ่นดิน เรียกว่า ภุมมัฏฐเทวดา
ข. ที่อยู่บนต้นไม้ เรียกว่า รุกขัฏฐะเทวดา
ค. ที่อยู่ในอากาศ(มีวิมานอยู่) เรียกว่า อากาสัฏฐะเทวดา
เทวดาในจาตุมมหาราชิกาภูมิ ที่มีใจโหดร้ายก็มีถึง ๔ จำพวก คือ
๑. คันธัพโพ คันธัพพี ได้แก่ เทวดาคันธัพพะ ที่ถือกำเนิดภายในต้นไม้ที่มี กลิ่นหอม เราเรียกกันว่า นางไม้หรือ แม่ย่านาง ชอบรบกวนให้เกิดอุปสรรคต่าง ๆ เช่น ให้เกิดเจ็บป่วย หรือทำอันตรายแก่ทรัพย์สมบัติ ของผู้ที่นำไม้นั้นมาใช้สอย หรือมาปลูกบ้านเรือน เทวดาจำพวกนี้อยู่ในความปกครองของท้าวธตรัฏฐะคันธัพพเทวดานี้ สิงอยู่ในต้นไม้นั้นตลอดไป แม้ว่าใครจะตัดฟันไปทำเรือ แพ บ้านเรือน หรือเครื่องใช้ไม้สอยอย่างใด ๆ ก็คงสิงอยู่ในไม้นั้น ซึ่งผิดกับรุกขะเทวดา ที่อาศัยอยู่ตามต้นไม้เหมือนกัน แต่ถ้าต้นไม้นั้นตาย หรือถูกตัดฟันก็ย้ายจากต้นนั้น ไปต้นอื่น
๒. กุมภัณโฑ กุมภัณฑี ได้แก่ เทวดากุมภัณฑ์ ที่เราเรียกกันว่ารากษส เป็น เทวดาที่รักษาสมบัติต่าง ๆ มีแก้วมณีเป็นต้น และรักษาป่า ภูเขา แม่น้ำ ถ้ามีผู้ล่วง ล้ำก้ำเกิน ก็ให้โทษต่าง ๆ เทวดาจำพวกนี้อยู่ในความปกครองของท้าววิรุฬหกะ
๓. นาโค นาคี ได้แก่ เทวดานาค มีวิชาเกี่ยวแก่เวทย์มนต์คาถาต่าง ๆ ขณะ ท่องเที่ยวมาในมนุษย์โลก บางทีก็เนรมิตเป็นคน หรือเป็นสัตว์ เช่น เสือ ราชสีห์ เป็นต้น โดยเฉพาะ ชอบลงโทษพวกสัตว์นรก เทวดาจำพวกนี้อยู่ในความปกครอง ของท้าววิรูปักขะ
๔. ยักโข ยักขินี ได้แก่ เทวดายักษ์ พอใจเบียดเบียนสัตว์นรก เทวดา จำพวกนี้อยู่ในความปกครองของ
ท้าวกุเวระ หรือท้าวเวสสุวรรณ


หน้า ๑๖

๒. ดาวดึงส์
ดาวดึงส์ภูมิ หรือ ตาวติงสาภูมิ มีความหมาย ๒ นัย นัยหนึ่งว่า เป็นที่เกิด ของบุคคล ๓๓ คน คือ เกิดเป็นพระอินทร์ ๑ เกิดเป็นเทวดาผู้เป็นใหญ่อีก ๓๒
ส่วนความหมายอีกนัยหนึ่ง เป็นพื้นแผ่นดินที่ปรากฏขึ้นในโลก เป็นครั้งแรก ก่อนพื้นดินส่วนอื่น เพราะภูมินี้อยู่บนยอดเขาสิเนรุ
ในดาวดึงส์ภูมิ ทิศตะวันออก มีสวน นันทะวัน
ทิศตะวันตก มีสวน จิตรลดาวัน
ทิศเหนือ มีสวน มิสสกวัน
ทิศใต้ มีสวน ผารุสกวัน
ทิศตะวันออกเฉียงเหนือมี ๒ ส่วน ส่วนหนึ่งชื่อ " ปุณฑริกะ "มีต้น ปาริฉัตตก์ ที่ใหญ่โตมาก ใต้ร่มปาริฉัตตก์มีแท่น ปัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ แท่นนี้ เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จไปเทศนาโปรดพระพุทธมารดา ก็ใช้เป็นที่ประทับแสดงพระ ธรรมเทศนา มีศาลา สุธัมมา เป็นที่ประชุมฟังธรรม มีเจดีย์แก้วมรกต ชื่อว่า พระจุฬามณี บรรจุพระเขี้ยวแก้ว (ข้างขวา) กับบรรจุพระเกศา(ที่ทรงตัดออกตอน เสด็จออกทรงผนวช) อีกส่วนหนึ่งชื่อ สวนมหาวัน มีสระชื่อ สุนันทา สวนนี้เป็นที่ ประทับสำราญพระอิริยาบถของท้าวสักกเทวราช
ที่ศาลาสุธัมมา ตามปกติมีพรหมชื่อ สนังกุมาระ เป็นผู้เสด็จลงมาแสดงธรรม แต่ในบางโอกาส ท้าวสักกเทวราช หรือเทวดาองค์อื่นที่ทรงความรู้ในธรรมดี ก็เป็น ผู้แสดง
เทวดาตั้งแต่ชั้นดาวดึงส์นี้ขึ้นไปปฏิสนธิด้วยโอปปาติกกำเนิดอย่างเดียวเท่านั้น
เทวดาชั้นเดียวกัน ย่อมเห็นซึ่งกันและกันได้ และเห็นผู้ที่อยู่ชั้นต่ำกว่าตนได้ ด้วย แต่ไม่สามารถจะเห็นผู้ที่อยู่ในชั้นที่สูงกว่าตนได้
ท้าวสักกเทวราช หรือท้าวโกสีย์อัมรินทร์ ซึ่งเรียกกันสั้น ๆ ว่า พระอินทร์นี้ อยู่ในชั้นดาวดึงส์ แต่เป็นผู้ปกครอง
เทพยดาทั้งในชั้นดาวดึงส์ และชั้นจาตุมมหาราชิกาด้วย บางทีก็เรียก ท้าวสหัสสนัย คือ ท้าวพันตา เพราะจักขุดีมาก เห็นได้ชัดเจน และเห็นได้ไกลมาก เท่ากับดวงตาตั้งพันดวง


หน้า ๑๗

พระอินทร์องค์ปัจจุบันนี้ สำเร็จเป็นพระโสดาบันแล้ว เมื่อจุติจากเทวโลก ก็จะมาบังเกิดเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ์ในมนุษย์โลก และจะได้สำเร็จเป็นพระสกทาคามี จุติจากมนุษย์โลก จะไปบังเกิดในชั้นดาวดึงส์อีก คราวนี้ได้สำเร็จเป็นพระอนาคามี จุติทีนี้ก็จะไปบังเกิดในชั้นสุทธาวาส ตั้งแต่ชั้นอวิหา เป็นต้นไปตามลำดับจนถึงชั้น อกนิฏฐา และสำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้วปรินิพพานในชั้นนั้น
เทวดาในดาวดึงส์ภูมินี้มี ๒ พวก คือ ภุมมัฏฐเทวดา อาศัยพื้นแผ่นดินอยู่ และ อากาสัฏฐเทวดา มีวิมานลอยอยู่ในอากาศเป็นที่อยู่


๓. ยามาภูมิ
ยามาภูมิ มีท้าวสุยามะเทวราชเป็นผู้ปกครอง เทวดาทั้งหลายที่อยู่ในชั้นนี้ ก็ เรียกว่า ยามา หรือ ยามะ ดังนั้นภูมินี้จึงมีชื่อว่า ยามา
เป็นภูมิที่ปราศจากความลำบาก ถึงซึ่งความสุขอันเป็นทิพย์ วิมาน และทิพย์ สมบัติก็ปราณีตมาก
ภูมินี้อยู่ในอากาศ สูงกว่ายอดเขาสิเนรุ ๔๒,๐๐๐ โยชน์ ขอกล่าวเสียตรงนี้ว่า ภูมิของเทวดาทุก ๆ ชั้น มีระยะห่างกันชั้นละ ๔๒,๐๐๐ โยชน์ เหมือนกันทุกชั้น
เทวดาที่อยู่ในยามาภูมินี้ เป็นจำพวกอากาสัฏฐเทวดาจำพวกเดียว เพราะมี วิมานลอยอยู่ในอากาศเป็นที่อยู่
เทวดาที่อยู่ในภูมิที่สูงขึ้นไปกว่าชั้นนี้ ก็ล้วนแต่เป็น อากาสัฏฐเทวดาทั้งสิ้น


๔. ดุสิตาภูมิ
ดุสิตาภูมิ มีท้าวสันตุสิตตะเทวราช เป็นผู้ปกครอง เป็นภูมิของอากาสัฏฐ เทวดา ที่ชื่อว่า ดุสิตา ดังนั้นภูมินี้ จึงชื่อว่า ตุสิตาภูมิ หรือดุสิตาภูมิ หรือ ดุสิตภูมิ
เป็นภูมิที่ปราศจากความร้อนใจ มีแต่ความชุ่มชื่นอยู่เป็นนิจ ในทิพย์สมบัติอัน เป็นศิริมงคลของตน
เป็นภูมิที่ประเสริฐกว่าเทวดาภูมิชั้นอื่น ๆ เพราะว่า พระโพธิสัตว์ทุก ๆ พระองค์ก่อนที่จะมาบังเกิดในมนุษย์โลก และได้สำเร็จอนุตตระสัมมาสัมโพธิญาณ เป็นภพสุดท้าย ตลอดจนผู้ที่จะได้มาตรัสรู้เป็นพระอัครสาวก ก็ย่อมบังเกิดในชั้น ดุสิตนี้ก่อนทั้งนั้น


หน้า ๑๘

๕. นิมมานรตีภูมิ
นิมมานรตีภูมิ มีท้าวสุนิมมิตตะเทวราช เป็นผู้ปกครอง เป็นภูมิของอากาสัฏฐ เทวดาที่ชื่อว่า นิมมานรตี ดังนั้นภูมินี้จึงชื่อว่า นิมมานรตีภูมิ
เทวดาในชั้นนี้ มีความสุขความเพลิดเพลินในกามคุณทั้ง ๕ ที่ตนเนรมิตขึ้น ตามความพอใจของตนเองทุกประการ เมื่อได้เพลิดเพลินในกามคุณนั้นสมใจแล้ว สิ่งที่เนรมิต คือนิมิตนั้นก็จะปลาสนาการไป

 

๖. ปรนิมมิตวสวัตตีภูมิ
ปรนิมมิตวสวัตติภูมิ มีท้าวปรนิมมิตตะเทวราช อีกนัยหนึ่งว่า ท้าววสวัตตี เทวราช เป็นผู้ปกครองอากาสัฏฐเทวดาทั้งหลายในชั้นนั้น
เทพยดาในชั้นนี้ มีความสุขความเพลิดเพลินในกามคุณทั้ง ๕ เป็นอย่างยิ่ง โดยที่ตนไม่ต้องเนรมิตขึ้นเอง แต่มีเทวดาองค์อื่นคอยเนรมิตให้สมตามความ ปรารถนาทุกประการ


ควรคารวะเทวดา

เทวดาเป็นวัตถุอันควรเคารพบูชา
ในพระอภิธรรมแสดงว่า เทวดาเป็น ๑ ใน ๑๐ แห่งธรรมที่เป็นเครื่องระลึก ของสติ ซึ่งมีชื่อว่า เทวตานุสฺสติ ทั้งนี้เพราะเทวดาบังเกิดขึ้นโดยอานิสงส์ของ สัปปุริสธรรม ๗ ประการ ได้แก่ สัทธา สีล จาคะ สุตะ ปัญญา หิริ โอตตัปปะ เมื่อมีสติระลึกอยู่ในอารมณ์อย่างนี้ ย่อมเป็นกุสล ได้ความปิติอิ่มเอิบ จิตใจก็ไม่ แกว่งไกวไปในราคะ โทสะ โมหะ อันเป็นสิ่งที่ทำให้เศร้าหมองและเร่าร้อน
ในอังคุตตรบาลีแสดงว่า การเคารพเทพยเจ้าที่สิงสถิตย์อยู่ในบ้าน ในเรือน ในหมู่บ้าน ย่อมเกิดมงคลแก่ผู้แสดง
ในมหาปรินิพพานสูตรแสดงว่า การเคารพต่อเจ้าที่เจ้าทาง ย่อมได้รับการคุ้ม ครองผลประโยชน์ให้
ในรัตนสูตรแสดงว่า บุคคลผู้บูชาสักการะปวงเทพยดานั้น ย่อมได้รับเมตตา จิตเป็นการตอบแทน


หน้า ๑๙

ในมหาปรินิพพานสูตรอีกตอนหนึ่งว่า บุคคลใดขาดคารวะต่อเจ้าที่เจ้าทาง ย่อมได้ประสบภัยที่จะมีมาโดยไม่รู้ตัว
ในเปตวัตถุพระบาลีแสดงว่า ท้าวมหาราชทั้ง ๔ องค์ เป็นผู้รักษาคุ้มครอง มนุษย์โลก ผู้ใดทำการบูชาท่าน ย่อมไม่เสียผลในการบูชา โดยจะได้รับความสุข ความสบายเป็นเครื่องตอบแทน


หมวดที่ ๑ ภูมิจตุกะ ค. รูปาวจรภูมิ

รูปาวจรภูมิ กล่าวโดยธัมมาธิฏฐาน ก็เป็นภูมิของรูปาวจรวิบากอันเป็นผล โดยตรงของรูปาวจรกุสล กล่าวโดยบุคคลาธิฏฐานก็เป็นที่เกิด ที่อยู่อาศัยของ รูปพรหม คือ พรหมที่มีรูป
พรหม คือ ผู้ที่มีความเจริญด้วยคุณพิเศษ มีฌาน เป็นต้น ที่มีคำ " เป็นต้น "อยู่ด้วยก็เพราะพรหมภูมิบางภูมิ จะต้องได้มัคคผลด้วย จึงจะไปเกิดไปอยู่ในพรหมภูมิ ชั้นนั้น ๆ ได้
รูปาวจรวิบากมีเพียง ๕ ดวง แต่มีรูปาวจรภูมิถึง ๑๖ ภูมิ ดังมีรายละเอียด ต่อไปนี้


ปฐมฌานภูมิ มี ๓ ภูมิ
๑. ปาริสัชชาภูมิ เป็นที่อยู่ของพรหมบริษัท คือ พรหมสามัญธรรมดา ไม่มี คุณวุฒิ หรืออำนาจอะไรเป็น
พิเศษ เป็นเพียงบริวารของมหาพรหมเท่านั้น
๒. ปุโรหิตาภูมิ เป็นที่อยู่ของพรหมปุโรหิต คือพรหมที่เป็นที่ปรึกษาของ มหาพรหม
๓. มหาพรหมมาภูมิ เป็นที่อยู่ของพรหมที่มีความยิ่งใหญ่ในปฐมฌานภูมิ คือ พรหมที่เป็นชั้นหัวหน้า ปฐมฌานภูมิทั้ง ๓ ภูมินี้ เป็นที่ปฏิสนธิของปฐมฌานวิบาก ๑ ดวง คือ เป็นที่เกิด ที่อยู่ของพรหมที่ได้
ปฐมฌาน อันเป็นผลของปฐมฌานกุสล
ภูมิทั้ง ๓ นี้ เป็นชั้นเดียวกัน อยู่ในระดับเดียวกัน ไม่สูง ไม่ต่ำ กว่ากัน แต่ที่ จัดเป็น ๓ ภูมิ ก็จัดไปตาม
ตำแหน่งของพรหมเหล่านั้น และก็อาศัยเรียกชื่อภูมิไป ตามตำแหน่งนั้น ๆ ด้วย อีกนัยหนึ่งแสดงว่า ที่จัดเป็น ๓ ภูมิ ก็เพราะการเข้าถึงฌานจิตนั้นยิ่งหย่อน กว่ากันกล่าวคือ ผู้เข้าถึงปฐมฌานอย่างแก่กล้าเรียกว่า ชั้นปณีต(อย่างประณีต) ก็ไป เกิดอยู่ในมหาพรหมมาภูมิ อย่างกลางเรียกว่าชั้นมัชฌิม ก็ไปปุโรหิตตาภูมิอย่างอ่อน หน่อย เรียกว่า ชั้นหีนะ (อย่างต่ำ) ก็ไปปริสัชชาภูมิ


หน้า ๒๐

อีกประการหนึ่ง ภูมิทั้ง ๓ นี้ แม้ว่าจะเป็นชั้นเดียวกัน แต่อายุของพรหมทั้ง ๓ ภูมินี้ ก็ไม่เท่ากัน กล่าวคือ อายุของพรหมบริษัท ๑ ใน ๓ ของมหากัปป์ อายุ ของพรหมปุโรหิต ๑ ใน ๒ ของมหากัปป์ อายุของมหาพรหม ๑ มหากัปป์ เหตุที่ อายุต่างกันดังนี้ จึงจัดเป็น ๓ ภูมิ ตามอายุ (เรื่องอายุจะได้กล่าวต่อไปข้างหน้า)


ทุติยฌานภูมิ มี ๓ ภูมิ
๔. ปริตตาภาภูมิ เป็นพรหมบริษัทในชั้นที่ ๒ นี้
๕. อัปปมาณาภาภูมิ เป็นพรหมปุโรหิตในชั้นที่ ๒ นี้
๖. อาภัสสราภูมิ เป็นท้าวมหาพรหมในชั้นที่ ๒ นี้
ทุติยฌานภูมิ ทั้ง ๓ ภูมินี้ เป็นที่ปฏิสนธิของรูปาวจรวิบาก ๒ ดวง คือ
เป็นที่ปฏิสนธิของทุติยฌานวิบาก ๑ ดวง คือ เป็นที่เกิดที่อยู่ของพรหมที่ได้ ทุติยฌาน อันเป็นผลของทุติยฌานกุสล และเป็นที่ปฏิสนธิของตติยฌานวิบาก ๑ ดวง คือ เป็นที่เกิด ที่อยู่ของพรหมที่ได้ ตติยฌาน อันเป็นผลของตติยฌานกุสล
ที่ทุติยฌานวิบาก ๑ ดวง และตติยฌานวิบาก ๑ ดวง ไปปฏิสนธิใน ทุติยฌานภูมิภูมิเดียวกันนี้ มีอธิบายว่า
เพียงแต่ละวิตกได้ ก้าวล่วงวิตกได้ก็ปฏิสนธิ ในทุติยฌานภูมิได้แล้ว แม้จะละวิจารได้อีก ก็ไม่เกิดอำนาจพิเศษอย่างใด ที่จะส่งผล ให้ปฏิสนธิในตติยฌานภูมิได้ เพราะการที่จะไปปฏิสนธิในตติยฌานภูมิได้ ก็ด้วย อำนาจแห่งความก้าวล่วงปิติได้แล้ว ถ้ายังมีปิติอยู่ยังติดอกติดใจในความอิ่มเอม เปรมใจอยู่ เป็นไม่สามารถที่จะเข้าถึงชั้นตติยฌานภูมินั้นได้
ภูมิทั้ง ๓ นี้ เป็นชั้นเดียวกันอยู่ในระดับเดียวกัน ไม่สูง ไม่ต่ำ กว่ากัน และที่ จัดเป็น ๓ ภูมิ ก็มีเหตุผลอย่างเดียวกับปฐมฌานภูมินั่นเอง


หน้า ๒๑

ตติยฌานภูมิ มี ๓ ภูมิ
๗. ปริตตสุภาภูมิ เป็นพรหมบริษัทในชั้นที่ ๓ นี้
๘. อัปปมาณสุภาภูมิ เป็นพรหมปุโรหิตในชั้นที่ ๓ นี้
๙. สุภกิณหา หรือสุภากิณณาภูมิ เป็นมหาพรหมในชั้นที่ ๓ นี้
ภูมิทั้ง ๓ นี้ เป็นที่ปฏิสนธิจิตของจตุตถฌานวิบาก ๑ ดวง คือ เป็นที่เกิด ที่อยู่ของพรหมที่ได้จตุตถฌาน อันเป็นผลของจตุตถฌานกุสล
ทั้ง ๓ ภูมินี้เป็นชั้นเดียวกัน อยู่ในระดับเดียวกันไม่สูงไม่ต่ำกว่ากัน และที่จัด เป็น ๓ ภูมิ ก็มีเหตุผลอย่าง
เดียวกับทุติยฌานภูมินั่นเอง


จตุตถฌานภูมิ มี ๗ ภูมิ
๑๐. เวหัปผลาภูมิ เป็นที่ปฏิสนธิของปัญจมฌานวิบาก หรือเป็นที่เกิด ที่อยู่ ของพรหมที่ได้ปัญจมฌาน อันเป็นผลของปัญจมฌานกุสล
๑๑. อสัญญสัตตภูมิ เป็นที่ปฏิสนธิของปัญจมฌานวิบาก หรือเป็นที่เกิด ที่อยู่ ของพรหมที่ได้ปัญจมฌาน อันเป็นผลของปัญจมฌานกุสล ที่เจริญสัญญาวิราคะ ภาวนา ต่อไปอีกโสดหนึ่งด้วย
ภูมิที่ ๑๐ และ ๑๑ รวม ๒ ภูมินี้เป็นชั้นเดียวกัน อยู่ในระดับเดียวกัน ไม่สูง ไม่ต่ำกว่ากัน และ อายุก็เท่ากันด้วย

๑๒. อวิหาภูมิ
๑๓. อตัปปาภูมิ
๑๔. สุทัสสาภูมิ
๑๕. สุทัสสีภูมิ
๑๖. อกนิฏฐาภูมิ

ทั้ง ๕ ภูมินี้ คือ สุทธาวาสภูมิ
เป็นคนละชั้นกันทั้ง ๕ ภูมิและอยู่สูงต่ำกว่ากัน
ตามลำดับ ทั้ง ๕ ชั้น

ผู้ที่จะไปปฏิสนธิในสุทธาวาสภูมิได้นั้น จะต้องเป็นปัญจมฌานลาภีอนาคามิผล บุคคล คือ พระอนาคามีที่ได้ปัญจมฌานด้วย เพราะว่าสุทธาวาสภูมินี้เป็นที่อยู่ของ ผู้ที่มีจิตใจผุดผ่อง ไม่ข้องอยู่ในกามคุณทั้ง ๕ อย่างเด็ดขาด


หน้า ๒๒

ดังนั้นบุคคลที่จะอยู่ในสุทธาวาสภูมิได้จึงมีเพียง ๓ บุคคลเท่านั้นคือ อนาคามิ ผลบุคคล ๑, อรหัตตมัคคบุคคล ๑ และอรหัตตผลบุคคล ๑ เท่านี้เอง (ข้อสำคัญ ๓ บุคคลนี้ต้องได้ถึงปัญจมฌานด้วย)
อนาคามิผลบุคคลเกิดขึ้นได้ในสุทธาวาสภูมิด้วยอำนาจปฏิสนธิ ส่วนอรหัตต มัคคบุคคล และอรหัตตผลบุคคล เกิดขึ้นได้ในสุทธาวาสภูมินั้น ไม่ใช่เกิดขึ้นได้ด้วย อำนาจปฏิสนธิ แต่เกิดขึ้นได้ด้วยอำนาจวิปัสสนาภาวนาในปวัตติกาล
ที่สุทธาวาสภูมิ นั้นเอง เพราะปัญจมฌานลาภีอนาคามิผลบุคคลที่ไปปฏิสนธิในสุทธาวาสภูมิแล้ว ก็ ต้องเจริญภาวนาจนสำเร็จเป็นพระอรหันต์ และปรินิพพานในสุทธาวาสนั้นแหละ
ปัญจมฌานลาภีอนาคามิผลบุคคลที่เป็นมนุษย์ หรือเทวดา หรือพรหม ก็ตาม เมื่อจุติแล้วจะปฏิสนธิในสุทธาวาสชั้นใด ก็ย่อมแล้วแต่อินทรีย์ที่ได้เพียรบำเพ็ญ ภาวนามา ถ้าการที่เพียรบำเพ็ญภาวนามานั้น
มีกำลังนำด้วย สัทธา ก็ปฏิสนธิใน อวิหาภูมิ
มีกำลังนำด้วย วิริยะ ก็ปฏิสนธิใน อตัปปาภูมิ
มีกำลังนำด้วย สติ ก็ปฏิสนธิใน สุทัสสาภูมิ
มีกำลังนำด้วย สมาธิ ก็ปฏิสนธิใน สุทัสสีภูมิ
มีกำลังนำด้วย ปัญญา ก็ปฏิสนธิใน อกนิฏฐาภูมิ
ตามที่ได้แสดงมาแล้วนี้คงจะเห็นได้แล้วว่า รูปาวจรวิบากจิต ๕ ดวง ปฏิสนธิ ได้ในรูปพรหมถึง ๑๖ ภูมิ พรหม ๑๖ ภูมินี้ แบ่งเป็นชั้นก็ได้ ๙ ชั้น แต่ละชั้น ก็อยู่สูงกว่ากันชั้นละ ๕,๕๐๘,๐๐๐ โยชน์ เท่า ๆ กัน ทุกชั้นตามลำดับ
ในรูปพรหมภูมิ หรือในรูปภูมินี้ มีทิพย์สมบัติเช่นเดียวกับเทวภูมิ กล่าวคือ ในเทวภูมิมี วิมาน มีอาภรณ์พรรณ อันเป็นเครื่องทรงต่าง ๆ มีสวนไม้ใบ ไม้ดอก มีสระโบกขรณีและมีต้นกัลปพฤกษ์ ที่ให้เกิดเป็นสุทธาโภชน์ในรูปพรหมก็มี เช่นกัน เว้นแต่ต้นกัลปพฤกษ์ที่ให้เกิดเป็นสุทธาโภชน์นั้นไม่มี เพราะพรหมไม่ต้องกินอาหาร

 รูปพรหมทั้งหมดไม่ปรากฏว่าเป็นเพศหญิงหรือเพศชาย แต่รูปพรรณสัณฐาน นั้น มีลักษณะคล้ายผู้ชาย


หน้า ๒๓

อนึ่ง ในพรหมโลกชั้น อกนิฏฐาภูมิ มีปูชนียสถานที่สำคัญอยู่แห่งหนึ่ง ชื่อ ทุสสะเจดีย์ เป็นที่บรรจุเครื่องฉลองพระองค์ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ใน ขณะที่ยังทรงเป็นพระสิทธัตถะราชกุมารทรง ในเวลาออกจากพระนครไปทรงผนวช ท้าวฆฏิการะพรหม เสด็จลงมาจากอกนิฏฐาภูมิ นำเครื่องบริขารทั้ง ๘ มาถวาย และรับเครื่องฉลองพระองค์ทั้งหมดนั้น ไปบรรจุไว้ในทุสสะเจดีย์ที่กล่าวนี้


สรุปรูปพรหม ๑๖ ภูมิ

๑. ปาริสัชชาภูมิ
๒. ปุโรหิตาภูมิ
๓. มหาพรหมมาภูมิ

ปฐมฌานภูมิ ๓

เป็นที่อยู่ของปฐมฌานวิบาก
คือพรหมที่ได้ ปฐมฌาน

อันเกิดจากปฐมฌานกุสล

๔. ปริตตาภาภูมิ
๕. อัปปมาณาภาภูมิ
๖. อาภัสสราภูมิ

ทุติยฌานภูมิ ๓

เป็นที่อยู่ของทุติยฌานวิบาก
คือพรหมที่ได้ทุติยฌาน

และเป็นที่อยู่ของตติยฌานวิบาก
คือ พรหมที่ได้ตติยฌาน

อันเกิดจากทุติยฌานกุสล



อันเกิดจากตติยฌานกุสล

๗. ปริตตาสุภาภูมิ
๘. อัปปมาณาสุภาภูมิ
๙. สุภกิณหาภูมิ

ตติยฌานภูมิ ๓

เป็นที่อยู่ของจตุตถฌานวิบาก
คือพรหมที่ได้ จตุตถฌาน

อันเกิดจากจตุตถฌานกุสล

๑๐. เวหัปผลาภูมิ

จตุตถฌานภูมิ

เป็นที่อยู่ของปัญจมฌานวิบาก
คือ พรหมที่ได้ปัญจมฌาน

อันเกิดจากปัญจมฌานกุสล

๑๑. อสัญญสัตตภูมิ

จตุตถฌานภูมิ

เป็นที่อยู่ของปัญจมฌานวิบาก
คือพรหมที่ได้ปัญจมฌาน
โดยเจริญสัญญาวิราคะด้วย

อันเกิดจากปัญจมฌานกุสล

๑๒. อวิหาภูมิ
๑๓. อตัปปาภูมิ
๑๔. สุทัสสาภูมิ
๑๕. สุทัสสีภูมิ
๑๖. อกนิฏฐาภูมิ

จตุตถฌานภูมิ
หรือสุทธาวาสภูมิ

เป็นที่อยู่โดยเฉพาะของ
อนาคามิผล ๑ อรหัตตมัคค ๑
อรหัตตผล ๑ ที่ได้ปัญจมฌาน

อันเกิดจากปัญจมฌานกุสล
และอนาคามิมัคค (กุสล)
ด้วยทั้ง ๒ อย่าง


หน้า ๒๔

 

หมวดที่ ๑ ภูมิจตุกะ ง. อรูปาวจรภูมิ

อรูปาวจรภูมิ กล่าวโดยธัมมาธิฏฐาน ก็เป็นภูมิของอรูปาวจรวิบาก อันเป็นผล โดยตรงของอรูปาวจรกุสล กล่าวโดยบุคคลาธิฏฐานก็เป็นที่เกิดที่อยู่ที่อาศัยของอรูป พรหม คือ พรหมที่ไม่มีรูปกายมีแต่นามเท่านั้น อรูปาวจรภูมินี้มักเรียกกันสั้น ๆ ว่า อรูปภูมิ
อรูปาวจรวิบากมี ๔ ดวง และมีอรูปวจรภูมิ ๔ ภูมิเท่ากัน ชื่อของอรูปาวจร วิบาก และชื่อของอรูปาวจรภูมิก็เหมือนกัน ตรงกันตามลำดับ คือ
๑. อากาสานัญจายตนภูมิ ๑ ภูมิ เป็นที่ปฏิสนธิของอากาสานัญจายตนวิบาก ๑ ดวง อันเป็นผลของอากาสานัญจายตนกุสล คือ เป็นที่อยู่ของอรูปพรหมที่ได้ อรูปฌานชั้นต้น
๒. วิญญาณัญจายตนภูมิ ๑ ภูมิ เป็นที่ปฏิสนธิของวิญญาณัญจายตนวิบาก ๑ ดวง อันเป็นผลของวิญญาณัญจายตนกุสล คือเป็นที่อยู่ของอรูปพรหมที่ได้อรูปฌาน ชั้นที่ ๒
๓. อากิญจัญญายตนภูมิ ๑ ภูมิ เป็นที่ปฏิสนธิของอากิญจัญญายตนวิบาก ๑ ดวง อันเป็นผลของอากิญจัญญายตนกุสล คือเป็นที่อยู่ของอรูปพรหม ที่ได้อรูปฌาน ชั้นที่ ๓
๔. เนวสัญญานาสัญญายตนภูมิ ๑ ภูมิ ที่เป็นที่ปฏิสนธิของเนวสัญญานา สัญญายตนวิบาก ๑ ดวง อันเป็นผลของเนวสัญญานาสัญญายตนกุสล คือเป็นที่อยู่ ของอรูปพรหมที่ได้อรูปฌานชั้นสูงสุด
อรูปภูมิทั้ง ๔ นี้ ถึงแม้จะเรียกว่า ภูมิ แต่ก็ไม่มีรูปร่างสัณฐานวิมานพื้นที่ อย่างใดเลย มีแต่อากาศอันว่างเปล่า แม้แต่อรูปพรหมเอง ก็มีแต่นามอย่างเดียว ไม่มีรูปร่างสัณฐานอย่างใดเช่นกัน ดังนั้น วิมาน สวน สระ ต้นไม้ หรือสิ่งที่เป็นรูปทั้งหลาย จึงไม่มีในอรูปภูมินี้เลย


หน้า ๒๕

สรุปภูมิทั้ง ๓๑

กามภูมิ ๑๑ ได้แก่
๑. อบายภูมิ ๔ ได้แก่ นรก , อสุรกาย , เปรต , ดิรัจฉาน
๒. กามสุคติภูมิ ๗ ได้แก่
๒.๑ มนุสสภูมิ ๑
๒.๒ ฉกามาวจรหรือเทวภูมิ ๖ ได้แก่
จาตุมมหาราชิกา , ดาวดึงสา , ยามา , ดุสิตา , นิมมานรตี , ปรนิมมิตวสวัตตี


รูปภูมิ ๑๖ ได้แก่
๑. ปฐมฌานภูมิ ๓ ได้แก่ ปาริสัชชา , ปุโรหิตา , มหาพรหมา
๒. ทุติยฌานภูมิ ๓ ได้แก่ ปริตตาภา , อัปปมาณาภา , อาภัสสรา
๓. ตติยฌานภูมิ ๓ ได้แก่ ปริตตสุภา , อัปปมาณสุภา , สุภกิณหา
๔. จตุตถฌานภูมิ ๗ ได้แก่
๔.๑ อสัญญสัตตา , เวหัปผลา
๔.๒ สุทธาวาส ๕ ได้แก่
อวิหา , อตัปปา , สุทัสสา , สุทัสสี , อกนิฏฐา

อรูปภูมิ ๔ ได้แก่ อากาสานัญจายตน , วิญญาณัญจายตน , อากิญจัญญายตน , เนวสัญญานาสัญญายตน


หน้า ๒๖

 

บุคคลกับภูมิ

บุคคลที่ยังไม่เคยได้มัคคผลเลยเป็นผู้ที่ยังหนาด้วยกิเลสเรียกว่า ปุถุชน บุคคล ผู้ได้เจริญวิปัสสนาภาวนาจนบรรลุมัคคผลแล้ว เป็นผู้ที่ห่างไกลจากกิเลส เรียกว่า อริยะ ปุถุชนมีอยู่ ๔ บุคคล และอริยะมีอยู่ ๘ บุคคลรวมเป็น ๑๒ บุคคล ดังนี้

ปุถุชน ๔ ได้แก่ ทุคคติบุคคล ๑
สุคติบุคคล ๑
ทวิเหตุกบุคคล ๑
ติเหตุกบุคคล ๑


อริยะ ๘ ได้แก่

โสดาปัตติมัคคบุคคล ๑
สกทาคามิมัคคบุคคล ๑
อนาคามิมัคคบุคคล ๑
อรหัตตมัคคบุคคล ๑

มัคคบุคคล ๔

โสดาปัตติผลบุคคล ๑
สกทาคามิผลบุคคล ๑
อนาคามิผลบุคคล ๑
อรหัตตผลบุคคล ๑

ผลบุคคล ๔

 

บุคคลใดเกิดได้ในภูมิไหน และบุคคลใดเกิดไม่ได้ในภูมิไหนนั้น มีคาถาสังคหะเป็นคาถาที่ ๒ และที่ ๓ ว่า แสดงไว้ดังต่อไปนี้


๒. ปุถุชฺชนา น ลพฺภนฺติ สุทฺธาวาเสสุ สพฺพถา
โสตาปนฺนา จ สกทา คามิโนจาปิ ปุคฺคล ฯ


แปลความว่า ปุถุชน โสดาบัน สกทาคามี อนาคามี(มัคค)ไม่เกิดในสุทธาวาส ด้วยประการ ทั้งปวง
มีความหมายว่าปุถุชนทั้ง ๔ บุคคล กับโสดาปัตติมัคคบุคคล ๑ โสดาปัตติผล บุคคล ๑ สกทาคามิมัคคบุคคล ๑ สกทาคามิผลบุคคล ๑ และ อนาคามิมัคคบุคคล ๑ รวมเป็น ๙ บุคคลด้วยกัน ทั้ง ๙ บุคคลนี้ จะเกิดในสุทธาวาสภูมิทั้ง ๕
แม้แต่ ภูมิใดภูมิหนึ่งไม่ได้เลยเป็นอันขาด ด้วยประการทั้งปวง


หน้า ๒๗

ที่ว่าด้วยประการทั้งปวงนั้น หมายความว่า ไม่ว่าการเกิดนั้นจะเป็นด้วยอำนาจ ปฏิสนธิ หรือเกิดด้วยอำนาจแห่งภาวนา ก็เกิดไม่ได้ทั้ง ๒ ประการ
ทั้งนี้เพราะสุทธาวาสภูมิทั้ง ๕ เป็นที่เกิดโดยเฉพาะของอนาคามิผลบุคคล ที่ ได้ปัญจมฌานด้วยนั้นโดยอำนาจแห่งปฏิสนธิ และเป็นที่เกิดอรหัตตมัคคบุคคล อรหัตตผลบุคคล โดยอำนาจแห่งการเจริญภาวนาที่สุทธาวาสภูมินั้น


๓. อริยาโนปลพฺภนฺติ อสญฺญาปายภูมิสุ
เสสฏฺฐาเนสุ ลพฺภนฺติ อริยา นริยาปิ จ ฯ


แปลความว่า พระอริยะไม่เกิดในอสัญญีภพและอบายภูมิเลย ส่วนภูมิที่เหลือนอกนั้นจะเป็น พระอริยะและแม้มิใช่พระอริยะก็เกิดได้
มีความหมายว่า
๑. อริยะทั้ง ๘ บุคคลไม่เกิด(โดยอำนาจภาวนา) ในอสัญญสัตตภูมิ ๑ เพราะ อสัญญสัตตภูมิ๑ เป็นภูมิของบุคคลที่มีแต่รูปร่างกายอย่างเดียวเท่านั้นไม่มีจิต บุคคล ผู้มีจิตใจจึงจะบำเพ็ญเพียรภาวนาธรรมให้แจ้งในอริยะสัจจ ๔ ได้
๒. อริยะบุคคล ๘ ไม่เกิด(โดยอำนาจปฏิสนธิ)ในอสัญญสัตตภูมิ ๑ เพราะพระอริยะไม่เจริญสัญญาวิราคภาวนาที่ปรารถนาจะมีแต่รูปอย่างเดียว โดยไม่ ประสงค์จะมีจิตใจอย่างนั้นไม่
๓. อริยะบุคคล ๘ ไม่เกิด (โดยอำนาจภาวนา) ในอบายภูมิ ๔ เพราะบุคคล ในอบายภูมิ ๔ เป็นบุคคลที่ไร้ปัญญา อันเป็นองค์สำคัญยิ่งในการบำเพ็ญเพียร ภาวนาธรรมให้ถึงมัคคถึงผล
๔. อริยะบุคคล ๘ ไม่เกิด (โดยอำนาจปฏิสนธิ) ในอบายภูมิ ๔ เพราะ อริยะบุคคลเป็นผู้ที่ละแล้วซึ่งกิเลสอันจะส่งผลให้ไปปฏิสนธิในอบาย จึงเป็นผู้ที่ปิด อบายได้แล้ว เป็นผู้ที่พ้นจากอบาย
๕. ส่วนภูมิที่เหลือนอกนั้น อันได้แก่ มนุษย์ ๑ ภูมิ เทวดา ๖ ภูมิ รูปภูมิ ๑๕ ภูมิ (เว้นอสัญญสัตตภูมิ ๑) และอรูปภูมิ ๔ รวม ๒๖ ภูมิ นั้นจะเป็นอริยะ บุคคลก็ดี หรือ แม้มิใช่อริยะบุคคลก็ดี ก็เกิดได้


หน้า ๒๘

๖. ทุคคติบุคคล ๑ เกิดได้ (โดยอำนาจปฏิสนธิอย่างเดียว) ในอบายภูมิ ๔
๗. สุคติอเหตุกบุคคล ๑ เกิดได้ (โดยอำนาจปฏิสนธิอย่างเดียว) ในมนุษย์ ๑ ภูมิ ในเทวดา ชั้นจาตุมมหาราชิกา ๑ ภูมิ ทวิเหตุกบุคคล ๑ เกิดได้ (โดยอำนาจปฏิสนธิอย่างเดียว) ในมนุษย์ภูมิ ๑ ภูมิ ในเทวดา ๖ ภูมิ
๘. ติเหตุกบุคคล ๑ (ที่เป็นปุถุชน) เกิดได้ (โดยอำนาจปฏิสนธิอย่างเดียว) ในมนุษย์ ๑ ภูมิ ในเทวดา ๖ ภูมิ ถ้าเจริญสมถภาวนาได้รูปฌานก็ดี ได้อรูปฌานก็ดี ก็ไปเกิด (โดยอำนาจปฏิสนธิ) ในรูปภูมิ ๑๑ (เว้นสุทธาวาสภูมิ ๕) และอรูปภูมิ ๔ ตามชั้นฌานที่ตนได้
๙. โสดาปัตติมัคคบุคคล ๑ โสดาปัตติผลบุคคล ๑ รวมอริยะ ๒ บุคคลนี้เกิด ได้ (โดยอำนาจภาวนา) ในมนุษย์ ๑ ภูมิ เทวดา ๖ ภูมิ รูปภูมิ ๑๐ (เว้นสุทธาวาส ภูมิ ๕ อสัญญสัตตภูมิ ๑) รวม ๑๗ ภูมิ
หมายความว่า มนุษย์ เทวดาและรูปพรหมที่กล่าวนั้น สามารถเจริญวิปัสสนา ภาวนาให้บรรลุถึงโสดาปัตติมัคค โสดาปัตติผลได้
ที่เว้น สุทธาวาสภูมิ ๕ เพราะเป็นที่เกิด(โดยอำนาจปฏิสนธิ) ของปัญจมฌาน อนาคามิผลบุคคล
และที่ไม่ได้กล่าวถึง อรูปพรหมในข้อนี้ด้วย เพราะในอรูปภูมิทั้ง ๔ นั้น อรูป พรหมที่เป็นปุถุชน คือยังไม่ถึงมัคคถึงผลเลยนั้น ไม่สามารถเริ่มเจริญวิปัสสนาให้ เกิดโสดาปัตติมัคค โสดาปัตติผลได้ ด้วยเหตุว่าการเจริญวิปัสสนาภาวนาให้บรรลุ มัคคผลในชั้นต้นเริ่มแรกนี้ต้องอาศัยพิจารณาทั้งรูปธรรมทั้งนามธรรม แต่อรูปพรหม ไม่มีรูปธรรมให้อาศัยพิจารณาเลย
๑๐. อริยะบุคคลอีก ๖ คือ สกทาคามิมัคคบุคคล สกทาคามิผลบุคคล อนาคามิมัคคบุคคล อนาคามิผลบุคคล อรหัตตมัคคบุคคล และอรหัตตผลบุคคล นั้นเกิดได้ (โดยอำนาจภาวนา) ในมนุษย์ ๑ ภูมิ เทวดา ๖ ภูมิ รูปภูมิ ๑๕ (เว้น อสัญญสัตตภูมิ ๑) และ อรูปภูมิ ๔ รวม ๒๖ ภูมิ
หมายความว่า มนุษย์ เทวดา รูปพรหมและอรูปพรหม สามารถเจริญ วิปัสสนาภาวนา(ต่อ) ให้บรรลุเป็น
อริยะ ๖ นี้อีกได้


หน้า ๒๙

มีข้อสังเกตที่ควรกล่าวอยู่ว่า สุทธาวาสภูมิ ๕ อันเป็นที่เกิด (โดยอำนาจ ปฏิสนธิ) ของปัญจมฌานลาภี
อนาคามิผลบุคคลอยู่แล้ว จึงมีการเจริญวิปัสสนา ภาวนา เพื่อให้บรรลุถึงขั้นอรหัตตมัคค อรหัตตผล เท่านั้น
อนึ่งในข้อ ๑๐ นี้ กล่าวถึงอรูปพรหมด้วยนั้น มีอธิบายว่า มนุษย์ก็ดี เทวดา ก็ดี รูปพรหมก็ดี เจริญสมถภาวนาจนได้อรูปฌานและเจริญวิปัสสนาภาวนาด้วย จน เป็นโสดาบันบุคคลแล้ว เมื่อถึงแก่มรณะก็ไปเกิดเป็นอรูปพรหมที่เป็นพระโสดาบัน โสดาบันบุคคลที่เป็นอรูปพรหมนี้เจริญวิปัสสนาภาวนา(ต่อ) เพื่อให้บรรลุเป็นพระ สกทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์ได้ ในการเจริญวิปัสสนาภาวนาต่อเช่นนี้ เพียงแต่พิจารณานามธรรมอย่างเดียวก็ได้ ไม่จำต้องพิจารณารูปธรรมอีกด้วย เพราะรูปธรรมนั้นได้พิจารณามาแล้ว ตั้งแต่เริ่มต้นนั้น

 ๑๑. โสดาปัตติผลบุคคล ๑ สกทาคามิผลบุคคล ๑ รวมอริยะ ๒ บุคคลนี้ เฉพาะที่เป็นมนุษย์หรือเทวดา เมื่อถึงกาลกิริยาแล้วก็อาจจะมาเกิด (โดยอำนาจ ปฏิสนธิ) ในมนุษย์ ๑ ภูมิ ในเทวดา ๖ ภูมิ อีกได้
แต่ถ้าเป็นผู้ที่ได้ฌานด้วย ก็ไปเกิด (โดยอำนาจปฏิสนธิ) ได้ในรูปภูมิ ๑๐ (เว้นสุทธาวาสภูมิ ๕ อสัญญสัตตภูมิ ๑) และอรูปภูมิ ๔ ตามชั้นฌานที่ตนได้
เฉพาะโสดาปัตติผลบุคคล สกทาคามิผลบุคคล ที่เป็นรูปพรหมหรืออรูปพรหม อยู่แล้ว จะไม่กลับมาเกิดเป็นมนุษย์หรือเทวดาอีกเลย
๑๒. อนาคามิผลบุคคล ๑ เกิดได้(โดยอำนาจปฏิสนธิ) ดังนี้ คือ
อนาคามิผลบุคคลที่เป็นมนุษย์หรือเทวดา แม้ในชาติที่บำเพ็ญเพียรภาวนา ธรรมจนบรรลุเป็นอนาคามิผลบุคคลนั้น จะไม่ได้เจริญสมถภาวนาด้วย คือไม่ได้ทำ ฌานเลยก็ตาม แต่ก่อนที่จุติจิตจะเกิดคือในชวนมรณาสันนวิถี ฌานจิตที่ได้เคยบำเพ็ญมาแล้วแต่ชาติปางก่อนโน้นครั้งหลังที่สุดก็จะเกิดขึ้นก่อน แล้วจุติจิตจึงจะ เกิด เมื่อจุติแล้วก็ต้องปฏิสนธิเป็นพรหมชั้นนั้น ๆ กล่าวอย่างธรรมดาสามัญก็ว่า พระอนาคามีที่เป็นมนุษย์หรือเทวดา เมื่อตายแล้วก็ไปเกิดเป็นพรหมแน่นอนไม่กลับ มาเกิดเป็นมนุษย์หรือเทวดาอีกเลย เพราะพระอนาคามีนั้นประหารกามราคะ และ พยาปาทะได้เด็ดขาดสิ้นเชิงแล้ว
ถ้าอนาคามิผลบุคคลผู้นั้นได้ถึงปัญจมฌานด้วย ก็ไปเกิดในสุทธาวาสภูมิ โดย อำนาจปฏิสนธิแต่อย่างเดียว


หน้า ๓๐

ภูมิกับบุคคล

๑. อบายภูมิ ทั้ง ๔ ภูมิ เป็นที่เกิดของทุคคติบุคคล บุคคลเดียวเท่านั้น
๒. มนุสสภูมิ ๑ และ จาตุมมหาราชิกาภูมิ ๑ รวม ๒ ภูมิ เป็นที่เกิดของ ๑๑ บุคคล (เว้นทุคคติบุคคล ๑)
๓. เทวภูมิ อีก ๕ ภูมิ ได้แก่ ดาวดึงส์, ยามา, ดุสิต, นิมมานรตี และ ปรนิมมิตวสวัตตี เป็นที่เกิดของ ๑๐
บุคคล คือ ทวิเหตุกบุคคล ๑ ติเหตุกปุถุชน ๑ และอริยบุคคล ๘ (เว้นทุคคติบุคคล และ สุคติบุคคล)
๔. รูปภูมิ ๑๐ ภูมิได้แก่ ปฐมฌานภูมิ ๓, ทุติยฌานภูมิ ๓, ตติยฌานภูมิ ๓, และเวหัปผลาภูมิ ๑, เป็นที่เกิดของ ๙ บุคคล คือ ติเหตุกปุถุชน ๑, อริยบุคคล ๘
๕. อสัญญสัตตภูมิ ๑ ภูมิ เป็นที่เกิดของ สุคติอเหตุกบุคคล ๑ คือ มีรูป ปฏิสนธิอย่างเดียว
๖. สุทธาวาสภูมิ ทั้ง ๕ ภูมิเป็นที่เกิดของ ๓ บุคคล คืออนาคามิผลบุคคล ๑ อรหัตตมัคคบุคคล ๑ อรหัตตผลบุคคล ๑
๗. อรูปภูมิ ทั้ง ๔ ภูมิเป็นที่เกิดของ ๘ บุคคลคือติเหตุกปุถุชน ๑ อริยบุคคล ๗ (เว้นโสดาปัตติมัคคบุคคล ๑)


บุคคล ๒๑๔ จำพวก

บุคคล ๒๑๔ จำพวกนี้ เป็นการคิดจากบุคคล ๑๒ ว่าแต่ละภูมิมีบุคคลที่จะ เกิดได้กี่บุคคลหลายภูมิก็นับว่าเป็นบุคคลหลายจำพวก การคิดอาศัยภูมิเป็นหลักแล้ว เอาจำนวนบุคคลที่จะพึงเกิดได้ในภูมินั้นคูณได้เท่าไร ก็เป็นบุคคลเท่านั้นจำพวกคิด ดัง ต่อไปนี้

อบายภูมิทั้ง ๔ ภูมิ

ทุคคติบุคคล ๑

รวม ๑ คน ๔ ภูมิ เป็น ๔ จำพวก

มนุสสภูมิ ๑
จาตุมมหาราชิกา ๑

สุคติอเหตุกบุคคล ๑
ทวิเหตุกบุคคล ๑
ติเหตุกบุคคล ๑
อริยบุคคล ๘

รวม ๑๑ คน ๒ ภูมิเป็น ๒๒ จำพวก


หน้า ๓๑

เทวภูมิอีก ๕ ภูม

ทวิเหตุกบุคคล ๑
ติเหตุกบุคคล ๑
อริยบุคคล ๘

รวม ๑๐ คน ๕ ภูมิเป็น ๕๐ จำพวก

ปฐมฌานภูมิ ๓
ทุติยฌานภูมิ ๓
ตติยฌานภูมิ ๓
เวหัปผลาภูมิ ๑

ติเหตุกบุคคล ๑
อริยบุคคล ๘

รวม ๙ คน ๑๐ ภูมิ เป็น ๙๐ จำพวก

อสัญญสัตตภูมิ ๑

สุคติอเหตุกบุคคล ๑

รวม ๑ คน ๑ ภูมิ เป็น ๑ จำพวก

สุทธาวาสภูมิ ๕

อนาคามิผลบุคคล ๑
อรหัตตมัคคบุคคล ๑
อรหัตตผลบุคคล ๑

รวม ๓ คน ๕ ภูมิ เป็น ๑๕ จำพวก

อรูปภูมิ ๔

ติเหตุกบุคคล ๑
อริยบุคคล ๗
(เว้นโสดาปัตติมัคค ๑)

รวม ๘ คน ๔ ภูมิ เป็น ๓๒ จำพวก

รวมทั้งหมด ๓๑ ภูมิ เป็นที่เกิดของบุคคล ๒๑๔ จำพวก

ข้อสังเกต มนุษย์ที่หนวก บอด บ้า ใบ้กับเทวดาชั้นจาตุมมหาราชิกาบางพวก ที่เรียกว่า สุคติอเหตุกบุคคลนั้น เพราะปฏิสนธิด้วยจิตที่ไม่มีสัมปยุตตเหตุเลย ส่วน อสัญญสัตตพรหมก็เรียกว่า สุคติอเหตุกบุคคล เพราะปฏิสนธิด้วยรูปอย่างเดียว ซึ่ง รูปทั้งหลายนั้นเป็นธรรมที่ไม่มีสัมปยุตตเหตุเหมือนกัน

 

หมวดที่ ๒ ปฏิสนธิจตุกะ

ปฏิสนธิ คือ การสืบต่อภพชาติ หรือการเกิดขึ้นในภพใหม่ชาติใหม่ หมายถึง ว่า เมื่อภพเก่า ชาติเก่าสิ้นสุดลงแล้ว จิต เจตสิก กัมมชรูป ปรากฏขึ้นเป็นครั้ง แรกในภพใดภพหนึ่ง ด้วยอำนาจแห่งการสืบต่อภพเก่ากับภพใหม่ นั่นแหละเรียกว่า ปฏิสนธิ ปฏิสนธินี้มี ๔ พวกด้วยกัน คือ


หน้า ๓๒

๑. อบายปฏิสนธิ คือการปรากฏขึ้นแห่ง จิต เจตสิก และกัมมชรูปเป็นขณะ แรกในอบายภูมิ ๔
๒. กามสุคติปฏิสนธิ คือ จิต เจตสิก และกัมมชรูป ปรากฏขึ้นในขณะแรก ในกามสุคติภูมิ ๗
๓. รูปาวจรปฏิสนธิ คือ จิต เจตสิก และกัมมชรูป ปรากฏขึ้นเป็นขณะแรก ในรูปภูมิ ๑๕ และการปรากฏขึ้นเป็นขณะแรกแห่งกัมมชรูป(อย่างเดียว) ในอสัญญ สัตตภูมิ ๑
๔. อรูปาวจรปฏิสนธิ คือจิตและเจตสิก ปรากฏขึ้นเป็นขณะแรกในอรูปภูมิ ๔

 

หมวดที่ ๒ ปฏิสนธิจตุกะ ก. อบายปฏิสนธิ

อุเบกขาสันตีรณ อกุสลวิบาก ๑ ดวงย่อมเกิดในอบายภูมิทั้ง ๔ เป็นปฏิสนธิ จิตของสัตว์นรก สัตว์ดิรัจฉาน เปรต และอสุรกาย
เมื่อได้ทำหน้าที่ปฏิสนธิในปฏิสนธิกาล คือขณะแรกเกิดแล้ว ต่อจากนั้นก็ทำ หน้าที่ภวังค-(เว้นแต่เวลาที่จิตขึ้นวิถี)-ตลอดทั้งชาติ จนถึงวาระสุดท้ายแห่งภพนั้น ชาตินั้น จึงทำหน้าที่จุติ เป็นอันสิ้นภพนั้นชาตินั้นกันเสียที
ดังนี้จะเห็นได้ว่า เมื่อได้ปฏิสนธิด้วยจิตดวงใดแล้ว จิตดวงนั้นแหละทำหน้าที่ ภวังครักษาภพชาตินั้นไว้และที่จิตดวงนั้นอีกนั่นแหละ ทำหน้าที่จุติหาใช่จิตอื่นใดไม่
ภูมิที่เกิดของสัตว์เหล่านี้เป็นทุคคติภูมิ และปฏิสนธิจิตก็เป็นพวกอเหตุกจิต เหตุนี้จึงเรียกสัตว์เหล่านี้ว่าทุคคติอเหตุกบุคคล แต่ส่วนมากเรียกกันสั้น ๆ ว่าทุคคติ บุคคล


หมวดที่ ๒ ปฏิสนธิจตุกะ ข. กามสุคติปฏิสนธิ

๑. อุเบกขาสันตีรณ กุสลวิบาก ๑ ดวงย่อมเกิดในมนุสสภูมิ ๑ และในจาตุม มหาราชิกาภูมิ ๑
มนุษย์ ผู้ปฏิสนธิด้วยอุเบกขาสันตีรณกุสลวิบากนี้ เป็นผู้มีบุญน้อยจึงพิการ ต่าง ๆ มาแต่กำเนิด ไม่ใช่มาพิการในภายหลัง ความพิการนี้มีถึง ๑๐ ประการ คือ
๑. ชจฺจนฺธ ตาบอด
๒. ชจฺจพธิร หูหนวก
๓. ชจฺจฆานก จมูกเสีย ไม่ได้กลิ่น เพราะไม่มีฆานปสาท


หน้า ๓๓

๔. ชจฺจมูค เป็นใบ้
๕. ชจฺจชฬ โง่เง่าผิดปกติ นับสิบก็ไม่ถูก
๖. ชจฺจุมฺมตฺตก เป็นบ้า
๗. ปณฺฑก พวกบัณเฑาะก์ คือ พวกวิปริตในเรื่องเพศ
๘. อุภโตพยญฺชนก ผู้ปรากฏเป็น ๒ เพศ
๙. นปุํสก ผู้ไม่ปรากฏเพศ
๑๐. มมฺม ผู้ติดอ่าง

ส่วนเทวดาชั้นจาตุมมหาราชิกา ที่ปฏิสนธิด้วยอุเบกขาสันตีรณกุสลวิบาก ก็ เฉพาะพวกเทวดาชั้นต่ำ เป็นพวกภุมมัฏฐเทวดา มีวินิปาติกอสุราบางพวก และตาม อรรถกถาแสดงว่า เวมานิกเปรตบางพวกอีกด้วย
ที่ว่าต้อง " บางพวก " ด้วยก็เพราะว่า เทวดาพวก วินิปาติกอสุรา และเวมานิก เปรต ที่มีปฏิสนธิจิตเป็น
ทวิเหตุกปฏิสนธิ หรือติเหตุกปฏิสนธิก็มี ใช่แต่เท่านั้น วินิ ปาติกอสุรานี้เป็นติเหตุกบุคคล ได้บรรลุมัคคผลก็มีเหมือนกัน
รวมความว่า ผู้ที่ปฏิสนธิด้วยอุเบกขาสันตีรณกุสลวิบากนี้ กล่าวตามนัยแห่ง พระอภิธัมมัตถสังคหะแล้ว มี ๑๑ พวก คือ มนุษย์พิกลพิการ ๑๐ และ วินิปาติก อสุรา ๑ ถ้ากล่าวตามนัยแห่งอรรถกถาแล้ว มี ๑๒ จำพวก โดยนับเวมานิกเปรตเพิ่มเข้าไปอีกด้วย
ภูมิที่เกิดของมนุษย์และเทวดาทั้ง ๑๑ หรือ ๑๒ จำพวกนี้ เป็นสุคติภูมิ แต่ ปฏิสนธิจิตเป็นอเหตุกจิต ดังนั้น จึงเรียกว่า สุคติอเหตุกบุคคล
๒. มหาวิบาก ๘ ดวง ย่อมเกิดในมนุสสภูมิ ๑ เทวภูมิ ๖ รวมเป็น ๗ ภูมิด้วยกัน
บรรดามนุษย์ทั้งหลาย (เว้นผู้ไม่สมประกอบ ๑๐ จำพวก) และเทพยดาทั้ง ปวง (เว้นเทวดาชั้นต่ำ ๒ จำพวก) ล้วนแล้วแต่ปฏิสนธิมาด้วยมหาวิบากดวงใด ดวงหนึ่งในจำนวน ๘ ดวงนั้น และก็จำแนกได้เป็น ๒ ประเภท หรือ ๒ บุคคล ประเภทที่เป็นญาณวิปปยุตต คือ ไม่ประกอบด้วยปัญญา เรียกว่าเป็นทวิเหตุกบุคคล ส่วนประเภทที่เป็นญาณสัมปยุตต คือเป็นผู้ที่มีปัญญา ก็เรียกว่าเป็นติเหตุกบุคคล
อุเบกขาสันตีรณกุสลวิบาก ๑ ดวง มหาวิบาก ๘ ดวง รวมจิต ๙ ดวงนี้ กล่าวในเรื่องปฏิสนธิ ได้ชื่อว่า
กามสุคติปฏิสนธิ และเมื่อรวมอุเบกขาสันตีรณ อกุสลวิบาก ๑ ดวงเข้าอีกด้วยแล้ว ก็ได้ชื่อว่า กามปฏิสนธิ ๑๐


หน้า ๓๔

หมวดที่ ๒ ปฏิสนธิจตุกะ ค. รูปาวจรปฏิสนธิ

๑. รูปาวจรปฐมฌานวิบากจิต ๑ ดวง ย่อมเกิดในปฐมฌานภูมิ ๓ กล่าวคือ ปฐมฌานวิบากเป็นปฏิสนธิจิต ภวังคจิต จุติจิตของรูปพรหมในปฐมฌานภูมิ ๓ ภูมิ
๒. รูปาวจรทุติยฌานวิบากจิต ๑ ดวง และรูปาวจรตติยฌานวิบากจิต ๑ ดวง ย่อมเกิดในทุติยฌานภูมิ ๓ ภูมิ
ทุติยฌานวิบาก กับตติยฌานวิบาก เป็นปฏิสนธิจิต ภวังคจิต จุติจิต ของรูป พรหม ในทุติยฌานภูมิ ๓ ภูมิ
ที่วิบากจิต ๒ ดวงนี้ ไปเกิดในทุติยฌานภูมิร่วมกันนั้น ก็ด้วยเหตุผลดังที่ได้ กล่าวแล้วข้างต้นในรูปภูมิ (หน้า ๓๒)
๓. รูปาวจรจตุตถฌานวิบาก ๑ ดวง ย่อมเกิดในตติยฌานภูมิ ๓ กล่าวคือ จตุตถฌานวิบาก เป็นปฏิสนธิจิต ภวังคจิต จุติจิตของรูปพรหมในตติยฌานภูมิ ๓ภูมิ
๔. รูปาวจรปัญจมฌานวิบาก ๑ ดวง ย่อมเกิดในจตุตถฌานภูมิ ๖ (เว้น อสัญญสัตตภูมิ ๑)
ปัญจมฌานวิบาก เป็นปฏิสนธิจิต ภวังคจิต จุติจิต ของรูปพรหมในจตุตถ ฌานภูมิ ๖ ภูมิ (เว้นอสัญญสัตตภูมิ)
๕. รูปปฏิสนธิอย่างเดียว ย่อมเกิดในอสัญญสัตตภูมิ ๑ กล่าวคือ อสัญญสัตต พรหมมีการปฏิสนธิด้วยรูปเท่านั้นปฏิสนธิจิตไม่มี ทั้งนี้เป็นเพราะอำนาจของปัญจม ฌานกุสล ที่เกี่ยวด้วยสัญญาวิราคภาวนา
รวมรูปาวจรปฏิสนธินี้ มี ปฏิสนธิ ๖ ประการ คือ ปฏิสนธิด้วยรูปาวจรวิบาก จิต ๕ ปฏิสนธิด้วยรูปปฏิสนธิ (กัมมชรูป) ๑


หมวดที่ ๒ ปฏิสนธิจตุกะ ง. อรูปาวจรปฏิสนธิ

๑. อากาสานัญจายตนวิบาก ๑ ดวง ย่อมเกิดในอากาสานัญจายตนภูมิ ๑ โดย ความเป็นปฏิสนธิจิต ภวังคจิต จุติจิต
๒. วิญญานัญจายตนวิบาก ๑ ดวง ย่อมเกิดในวิญญานัญจายตนภูมิ ๑ โดย ความเป็นปฏิสนธิจิต ภวังคจิต จุติจิต


หน้า ๓๕

๓. อากิญจัญญายตนวิบาก ๑ ดวง ย่อมเกิดในอากิญจัญญายตนภูมิ ๑ โดย ความเป็นปฏิสนธิจิต ภวังคจิต จุติจิต
๔. เนวสัญญานาสัญญายตนวิบาก ๑ ดวง ย่อมเกิดในเนวสัญญานาสัญญา ยตนภูมิ ๑ โดยความเป็น
ปฏิสนธิจิต ภวังคจิต จุติจิต

 

สรุปปฏิสนธิ

อุเบกขาสันตีรณ อกุสลวิบากจิต ๑ ดวง ปฏิสนธิใน อบาย ๔ ภูมิ
อุเบกขาสันตีรณ กุสลวิบากจิต ๑ ดวง ปฏิสนธิใน มนุษย์พิการ
เทวดาชั้นต่ำ
มหาวิบากจิต ๘ ดวง ปฏิสนธิใน มนุษย์ ๑ ภูมิ
เทวดา ๖ ภูมิ
รูปาวจร ปฐมฌานวิบากจิต ๑ ดวง ปฏิสนธิใน ปฐมฌานภูมิ ๓ ภูมิ
รูปาวจร ทุติยฌานวิบากจิต ๑ ดวง ปฏิสนธิใน ทุติยฌานภูมิ ๓ ภูมิ
รูปาวจร ตติยฌานวิบากจิต ๑ ดวง ปฏิสนธิใน ทุติยฌานภูมิ ๓ ภูมิ
รูปาวจร จตุตถฌานวิบากจิต ๑ ดวง ปฏิสนธิใน ตติยฌานภูมิ ๓ ภูมิ
รูปาวจร ปัญจมฌานวิบากจิต ๑ ดวง ปฏิสนธิใน จตุตถฌานภูมิ ๖ ภูมิ
กัมมชรูปปฏิสนธิ(รูปปฏิสนธิไม่มีปฏิสนธิวิญญาณ) ปฏิสนธิใน อสัญญสัตตภูมิ ๑ ภูมิ
อรูปาวจรวิบากจิต ๔ ดวง ปฏิสนธิใน อรูปภูมิ ๔ ภูมิ

รวมปฏิสนธิ ๒๐ ( จิตปฏิสนธิ ๑๙ และ รูปปฏิสนธิ ๑ ) ปฏิสนธิใน ๓๑ ภูมิ


กำเนิด ๔

ที่ที่ปฏิสนธิวิญญาณอาศัยเกิด หรือที่ที่สัตว์ทั้งหลายอาศัยเกิดนั้น เรียกว่า กำเนิด หรือ โยนิ
สัตว์ทั้งหลาย หรือปฏิสนธิวิญญาณทั้ง ๑๙ ดวงนั้น มีที่อาศัยเกิด ๔ ประการ เรียกว่า กำเนิด ๔ หรือ โยนิ ๔ คือ


หน้า ๓๖

๑. ชลาพุชกำเนิด ต้องอาศัยเกิดจากท้องมารดา คลอดออกมาเป็นตัวเลย แล้วค่อย ๆ เติบโตขึ้นตามลำดับ สัตว์ที่เป็นชลาพุชกำเนิด คือ
ก. มนุษย์
ข. เทวดาชั้นต่ำ (หมายเฉพาะเทวดาชั้นจาตุมมหาราชิกา ที่มีชื่อว่า วินิ ปาติกอสุรกายและเวมานิกเปรต
อสุรกาย ซึ่งปฏิสนธิด้วยอุเบกขาสันตีรณกุสลวิบาก เท่านั้น และในข้อใดที่ใช้ว่า เทวดาชั้นต่ำ ก็ขอให้พึงเข้าใจตามนี้ด้วย)
ค. สัตว์ดิรัจฉาน
ง. เปรต (เว้นนิชฌามตัณหิกเปรต คือเปรตจำพวกที่ถูกไฟเผาอยู่เสมอ)
จ. อสุรกาย
๒. อัณฑชกำเนิด ต้องอาศัยเกิดจากท้องมารดาเหมือนกัน แต่มีฟองห่อหุ้ม คือเกิดมาเป็นไข่ก่อน แล้วจึงแตกจากไข่มาเป็นตัว และค่อย ๆ เติบโตขึ้นตามลำดับ เหมือนกัน สัตว์ที่เป็นอัณฑชกำเนิด คือ
ก. มนุษย์ (มีมาในธัมมบทว่า พระ ๒ องค์ ที่เรียกกันว่า ทเวพา ติกเถระ ซึ่งเป็นบุตรของ โกตนกินรีนั้น เมื่อเกิดมาทีแรก ออกมาเป็นฟองไข่ก่อน แล้วจึงคลอดออกมาจากฟองไข่นั้นอีกทีหนึ่ง)
ข. เทวดาชั้นต่ำ
ค. สัตว์ดิรัจฉาน
ง. เปรต (เว้นนิชฌามตัณหิกเปรต)
จ. อสุรกาย
ชลาพุชกำเนิด และอัณฑชกำเนิด ทั้ง ๒ ประการนี้ รวมเรียกว่า คัพภเสยยก กำเนิด เพราะต้องอาศัยเกิดในครรภ์มารดาเหมือนกัน ต่างกันแต่เพียงว่า ออกมา เป็นตัวเลย หรือออกมาเป็นฟองก่อน แล้วจึงแตกเป็นตัวภายหลัง
๓. สังเสทชกำเนิด ไม่ได้อาศัยเกิดจากท้องมารดา แต่อาศัยเกิดจากต้นไม้ ดอกไม้ โลหิต หรือที่เปียกชื้นเป็นต้น เกิดมาก็เล็กเป็นทารก แล้วจึงค่อย ๆ เติบโต ขึ้นมา สัตว์ที่เป็นสังเสทชกำเนิด คือ


หน้า ๓๗

ก. มนุษย์ (เช่นนางจิญจมาณวิกา เกิดจากต้นมะขาม, นางเวฬุวดี เกิด จากต้นไผ่, นางปทุมวดี เกิดจาก
ดอกบัว , โอรสของนางปทุมวดี รวม ๔๙๙ องค์ เกิดจากโลหิต เป็นต้น)
ข. เทวดาชั้นต่ำ
ค. สัตว์ดิรัจฉาน
ง. เปรต (เว้นนิชฌามตัณหิกเปรต)
จ. อสรุกาย
๔. โอปปาติกกำเนิด ไม่ได้อาศัยเกิดจากท้องมารดา ไม่ได้อาศัยสิ่งใดเกิด แต่ เกิดโดยโผล่ขึ้นมาและโตใหญ่เต็มที่ในทันทีทันใดนั้นเลย สัตว์ที่เป็นโอปปาติกกำเนิด คือ
ก. มนุษย์ มีในสมัยต้นกัปป์
ข. เทวดาทั้ง ๖ ชั้น (เว้นเทวดาชั้นต่ำ)
ค. พรหมทั้งหมด
ง. สัตว์ดิรัจฉาน
จ. เปรต ( รวมทั้ง นิชฌามตัณหิกเปรตด้วย )
ฉ. อสุรกาย หรือจะกล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ
๕. มนุษย์ ๑ ภูมิ เทวดาชั้นจาตุมมหาราชิกา ๑ ภูมิ (เว้นเทวดาชั้นต่ำ) สัตว์ดิรัจฉาน ๑ ภูมิ, เปรต ๑ ภูมิ (เว้นนิชฌามตัณหิกเปรต), อสุรกาย ๑ ภูมิ รวม ๕ ภูมิ นี้ มีกำเนิดได้ทั้ง ๔ กำเนิด
๖. เทวดาชั้นจาตุมมหาราชิกา ๑ ภูมิ เฉพาะเทวดาชั้นต่ำมีเพียง ๓ กำเนิด คือ ชลาพุชกำเนิด, อัณฑชกำเนิด และสังเสทชกำเนิด (เว้นโอปปาติกกำเนิด)
๗. เทวดาตั้งแต่ชั้นดาวดึงส์ขึ้นไปรวม ๕ ภูมิ รูปพรหมทั้ง ๑๖ ภูมิ และอรูปพรหมทั้ง ๔ ภูมิ
นิชฌามตัณหิกเปรต๑ ภูมิ และสัตว์นรก ๑ ภูมิ มีกำเนิดได้อย่างเดียว คือ โอปปาติกกำเนิด เท่านั้น


หน้า ๓๘

แสดงกำเนิด ภูมิ และปฏิสนธิวิญยาณ ของบุคคล

บุคคล

กำเนิด (โยนิ )

ภูมิ

ปฏิสนธิวิญญาณ

ทุคติบุคคล

 

 

 

สัตว์นรก

โอปปาติกะ

นิรยภูมิ

อุเบกขาสันตีรณ อกุสลวิบาก ๑ ดวง

นิชฌามตุณหิกเปรต

โอปปาติกะ

เปตภูมิ

อุเบกขาสันตีรณ อกุสลวิบาก ๑ ดวง

เปรต

กำเนิดทั้ง ๔

เปตภูมิ

อุเบกขาสันตีรณ อกุสลวิบาก ๑ ดวง

อสุรกาย

กำเนิดทั้ง ๔

อสุรกายภูมิ

อุเบกขาสันตีรณ อกุสลวิบาก ๑ ดวง

สัตว์ดิรัจฉาน

กำเนิดทั้ง ๔

ดิรัจฉานภูมิ

อุเบกขาสันตีรณ อกุสลวิบาก ๑ ดวง

สุคติอเหตุกบุคคล

 

 

 

มนุษย์

กำเนิดทั้ง ๔

มนุสสภูมิ

อุเบกขาสันตีรณ กุสลวิบาก ๑ ดวง

เทวดาชั้นต่ำ

คัพภเสยยกะและสังเสทชะ

จาตุมมหาราชิกาภูมิ ๑

อุเบกขาสันตีรณ กุสลวิบาก ๑ ดวง

อสัญยสัตตพรหม

โอปปาติกะ

อสัญญสัตตภูมิ

ไม่มีปฏิสนธิจิต

ทวิเหตุกบุคคล

 

 

 

มนุษย์

กำเนิดทั้ง ๔

มนุสสภูมิ

มหาวิบากญาณวิปปยุตต ๔ ดวง

จาตุมมหาราชิกา

กำเนิดทั้ง ๔

จาตุมมหาราชิกาภูมิ

มหาวิบากญาณวิปปยุตต ๔ ดวง

ดาวดึงส์ ขึ้นไป

โอปปาติกะ

เทวภูมิ ๕ ชั้น

มหาวิบากญาณวิปปยุตต ๔ ดวง

ติเหตุกบุคคล

 

 

 

มนุษย์

กำเนิดทั้ง ๔

มนุสสภูมิ

มหาวิบากญาณสัมปยุตต ๔ ดวง

จาตุมมหาราชิกา

กำเนิดทั้ง ๔

จาตุมมหาราชิกาภูมิ

มหาวิบากญาณสัมปยุตต ๔ ดวง

ดาวดึงส์ ขึ้นไป

โอปปาติกะ

เทวภูมิ ๕ ชั้น

มหาวิบากญาณสัมปยุตต ๔ ดวง

รูปพรหม

โอปปาติกะ

ปฐมฌานภูมิ ๓
ทุติยฌานภูมิ ๓
ตติยฌานภูมิ ๓
จตุตถฌานภูมิ ๖

ปฐมฌานวิบาก ๑
ทุติยฌานวิบาด ๑ และ ตติยฌานวิบาก ๑
จตุตถฌานวิบาก ๑
ปัญจมฌานวิบาก ๑

อรูปพรหม

โอปปาติกะ

อากาสานัญจายตนภูมิ
วิญญาณัญจายตนภูม
อากิญจัญญายตนภูมิ
เนวสัญญานาสัญญายตนภูมิ

อากาสานัญจายตนวิบาก ๑ วิญญาณัญจายตนวิบาก ๑
อากิญจัญญายตนวิบาก ๑ เนวสัญญานาสัญญายตนวิบาก ๑


หน้า ๓๙

สัตตาวาสภูมิ ๙

สัตตาวาสภูมิ หมายถึง ที่อยู่ ที่อาศัยของสัตว์ โดยจัดเป็นพวก ๆ คือ จำพวก ที่มีรูปร่างสัณฐานเหมือน ๆ กันบ้าง ต่าง-กันบ้าง จำพวกที่มีปฏิสนธิจิตเหมือนกัน บ้าง ต่างกันบ้าง จัดได้เป็น ๙ จำพวก จึงเรียกว่า สัตตาวาสภูมิ ๙ ดังต่อไปนี้ คือ
๑. นานาตฺตกายภูมิ ภูมิเป็นที่เกิดของสัตว์ทั้งหลาย ที่มีรูปร่างสัณฐานต่าง ๆ กัน ๑๔ ภูมิ คือ
กามภูมิ ๑๑
ปฐมฌานภูมิ ๓
(คำว่า นานาตฺต นี้บางแห่งใช้ว่า นานตฺต)
๒. เอกตฺตกายภูมิ มีรูปร่างสัณฐานเหมือน ๆ กัน มี ๑๒ ภูมิ คือ
ทุติยฌานภูมิ ๓
ตติยฌานภูมิ ๓
เวหัปผลาภูมิ ๑
สุทธาวาสภูมิ ๕
๓. นานตฺตสญฺญีภูมิ มีปฏิสนธิจิตต่างกัน มี ๑๐ ภูมิ คือ
กามสุคติภูมิ ๗
ทุติยฌานภูมิ ๓
๔. เอกตฺตสญฺญีภูมิ มีปฏิสนธิจิตอย่างเดียวกัน มี ๑๖ ภูมิ คือ
อบายภูมิ ๔
ปฐมฌานภูมิ ๓
ตติยฌานภูมิ ๓
เวหัปผลาภูมิ ๑
สุทธาวาสภูมิ ๕
๕. อสญฺญีภูมิ ภูมิเป็นที่เกิดของสัตว์ที่ไม่มีนามธรรม มี ๑ ภูมิ คือ
อสัญญ สัตตภูมิ
๖. อากาสานญฺจายตนภูมิ ๑
๗. วิญฺญาณญฺจายตนภูมิ ๑


หน้า ๔๐

๘. อากิญฺจญฺญายตนภูมิ ๑
๙. เนวสญฺญานาสญฺญายตนภูมิ ๑


จัดโดยรูปร่างสัณฐานร่วมกับปฏิสนธิวิญญาณด้วย

๑. นานาตฺตกายนานาตฺตสญฺญี สัตว์ที่มีรูปร่างต่างกัน และมีปฏิสนธิวิญญาณ ก็ต่างกันด้วย มี ๗ ภูมิ คือ กามสุคติภูมิ ๗
๒. นานาตฺตกายเอกตฺตสญฺญี มีรูปร่างต่างกัน แต่มีปฏิสนธิวิญญาณอย่าง เดียวกันมี ๗ ภูมิ คือ
อบายภูมิ ๔ ปฐมฌาน ภูมิ ๓
๓. เอกตฺตกายนานาตฺตสญฺญี มีรูปร่างเหมือนกัน แต่ปฏิสนธิวิญญาณต่าง กันมี ๓ ภูมิ คือ
ทุติยฌานภูมิ ๓
๔. เอกตฺตกายเอกตฺตสญฺญี มีรูปร่างเหมือนกัน และมีปฏิสนธิวิญญาณก็ อย่างเดียวกัน มี ๙ ภูมิ คือ
ตติยฌานภูมิ ๓
เวหัปผลาภูมิ ๑
สุทธาวาสภูมิ ๕

สำหรับอสัญญสัตตภูมิ ๑ ไม่มีนามขันธ์ คือไม่มีปฏิสนธิวิญญาณ และ อรูปภูมิ ๔ ก็ไม่มีรูปขันธ์ คือ ไม่มี
รูปร่างสัณฐาน รวม ๕ ภูมินี้ จึงจัดเป็น นานตฺต หรือ เอกตฺต ไม่ได้


วิญญาณฐีติ ๗

วิญญาณฐีติ หมายถึง ภูมิอันเป็นที่ตั้งแห่งวิญญาณ
๑. นานาตฺตกายนานาตฺตสญฺญีภูมิ สัตว์ที่มีรูปร่างต่างกัน และมีปฏิสนธิ วิญญาณก็ต่างกัน
๒. นานาตฺตกายเอกตฺตสญฺญีภูมิ สัตว์ที่มีรูปร่างต่างกัน แต่มีปฏิสนธิ วิญญาณ อย่างเดียวกัน
๓. เอกตฺตกายนานาตฺตสญฺญีภูมิ สัตว์ที่มีรูปร่างเหมือนกัน แต่มีปฏิสนธิ วิญญาณต่างกัน
๔. เอกตฺตกายเอกตฺตสญฺญีภูมิ สัตว์ที่มีรูปร่างเหมือนกัน และมีปฏิสนธิ วิญญาณก็อย่างเดียวกัน
๕. อากาสานัญจายตนภูมิ
๖. วิญญาณญฺจายตนภูมิ
๗. อากิญจญฺญายตนภูมิ

สำหรับอสัญญสัตตภูมิเป็นภูมิของสัตว์ที่ไม่มีปฏิสนธิวิญญาณ และเนวสัญญานาสัญญายตนภูมิ เป็นภูมิของสัตว์ที่มีปฏิสนธิวิญญาณ คือนามขันธ์ก็จริงอยู่ แต่ว่า นามขันธ์นั้น ไม่ปรากฏชัด จะว่ามีก็ไม่ใช่ จะว่าไม่มีก็ไม่เชิง ทั้ง ๒ ภูมินี้ จึงไม่จัด เข้าในวิญญาณฐีติ ๗ นี้


หน้า ๔๑

จำแนกภพโดยภูมิ

๑. กามภพ ๑๑ ภูมิ =

ปัญจโวการภพ ๑๑ ภูมิ =

สัญญีภพ ๑๑ ภูมิ

๒. รูปภพ ๑๖ ภูมิ =

ปัญจโวการภพ ๑๕ ภูมิ =
เอกโวการภพ ๑ ภูมิ =

สัญญีภพ ๑๕ ภูมิ
อสัญญีภพ ๑ ภูมิ

๓. อรูปภพ ๔ ภูมิ =

จตุโวการภพ ๔ ภูมิ =

สัญญีภพ ๓ ภูมิ
เนวสัญญาฯ ๑ ภูมิ

 

จำแนกภพโดยขันธ์

๔. ปัญจโวการภพ ๒๖ ภูมิ =

กามภพ ๑๑ ภูมิ
รูปภพ ๑๕ ภูมิ

= สัญญีภพ ๒๖ ภูมิ

๕. เอกโวการภพ ๑ ภูมิ =

รูปภพ ๑ ภูมิ =

อสัญญีภพ ๑ ภูมิ

๖. จตุโวการภพ ๔ ภูมิ =

อรูปภพ ๔ ภูมิ =

สัญญีภพ ๓ ภูมิ
เนวสัญญาฯ ๑ ภูมิ


หน้า ๔๒ 

จำแนกภพโดยสัญญา

๗. สัญญีภพ ๒๙ ภูมิ =

ปัญจโวการภพ ๒๖ ภูมิ =
จตุโวการภพ ๓ ภูมิ =

กามภพ ๑๑ ภูมิ และ รูปภพ ๑๕ ภูมิ
อรูปภพ ๓ ภูมิ

๘. อสัญญีภพ ๑ ภูมิ =

เอกโวการภพ ๑ ภูมิ =

รูปภพ ๑ ภูมิ

๙. เนวสัญญานาสัญญาภพ ๑ ภูมิ =

จตุโวการภพ ๑ ภูมิ =

อรูปภพ ๑ ภูมิ

 

อายุของสัตว์

๑. อายุของสัตว์นรก มีแสดงไว้ในชินาลังการฎีกา และในธัมมหทยวิภังค อนุฎีกา เป็นการกำหนดอายุของสัตว์นรกแต่ละขุม แต่อย่างไรก็ดี มีสาธกบาลีแสดง ไว้ในวิภาวนีฎีกาว่า  

อปาเยสุ หิ กมฺมเมว ปมาณํ

แปลเป็นใจความว่า ในอบายภูมิ นั้น อกุสลกรรมนั่นแหละเป็นเครื่องประมาณอายุ หมายความว่า ถ้าอกุสลกรรมนั้น หนักมาก ก็ต้องทนเสวยทุกข์อยู่ถึงอสงขัยปี ถ้าอกุสลกรรมนั้นเบา ก็ต้องเสวยทุกข์ น้อยลงมาตามลำดับ และหากว่าขณะที่กำลังเสวยทุกข์ทรมานอยู่ สัตว์นรกนั้นเกิด ระลึกนึกถึงกุสลที่ตนได้สร้างสมไว้แต่ปางก่อนขึ้นมาได้ ก็สามารถพ้นจากสัตว์นรก ไปบังเกิดเป็นมนุษย์ หรือเทวดาได้ทันทีก็มีมาก เรียกว่าเป็นการจุติจากสัตว์นรก เพราะหมดกรรมในชาตินั้น ไม่ต้องทนทุกข์ทรมานอยู่จนสิ้นอายุขัย
๒. อายุของเปรต ก็ไม่แน่นอนเหมือนสัตว์นรกเช่นเดียวกัน ในเปตวัตถุพระ บาลีก็แสดงไว้ว่า เปรต และ
อสุรกาย ๒ จำพวกนี้ ต้องเสวยกรรมในระยะเวลา อันสั้นก็มีได้
๓. อายุของอสุรกาย ก็ไม่แน่นอนเช่นเดียวกัน ต้องรับกรรมเป็นเวลาช้านาน จนประมาณไม่ได้ก็มี ทนทุกข์อยู่เป็นเวลาไม่นานนักก็มี แล้วแต่กรรมที่ได้ทำมาแต่ ปางก่อน
๔. อายุของสัตว์ดิรัจฉาน บางอย่างก็น้อยนับวัน เช่น ยุงอายุประมาณ ๗ วัน บางอย่างก็นานนับเป็นร้อยปี เช่น เต่า อายุประมาณ ๓๐๐ ปี เป็นต้น แล้วแต่เผ่า พันธุ์ นอกจากนั้นแล้ว สัตว์ดิรัจฉานที่มีอายุยังไม่ถึงที่ควร ก็มีเหตุที่ทำให้ตายได้ หลายประการ เช่น อดอยาก ดินฟ้าอากาศแปรปรวน เป็นโรคระบาด หรือถูกฆ่า เป็นต้น ทั้งนี้ไม่แคล้วไปจากกรรมนั้นเลย
๕. อายุของมนุษย์ กล่าวเฉพาะในชมภูทวีปที่เราท่านอยู่กันนี้ ก็ไม่แน่นอน ในสุตตันตมหาวัคคพระบาลีว่า บุคคลใดมีอายุยืน ย่อมมีอายุถึง ๑๐๐ ปี และเกิน กว่า ๑๐๐ ปีไปเล็กน้อย ก็มีบ้าง แต่ไม่ถึง ๒๐๐ ปี


หน้า ๔๓

และในโลกบัญญัติปกรณ์ก็แสดงว่า อายุขัยของมนุษย์กำหนดร้อยปีนี้ เป็นมา ตั้งแต่สมัยพระเวสสันดร จนถึงสมัยสมเด็จพระสมณโคดมนี้ และนับแต่นั้นมา ๑๐๐ ปี อายุขัยก็ลดลง ๑ ปี ดังนั้นบัดนี้ (พ.ศ.๒๕๓๘) อายุขัยของมนุษย์จึงลดลงเหลือ เพียง ๗๕ ปีเท่านั้น ผู้ที่มีอายุยืนเป็นพิเศษ ก็ไม่เกิน ๒ เท่าอายุขัย คือไม่เกิน ๑๕๐ ปี นอกจากนั้นก็มีอันตรายที่ทำให้ถึงตายไม่น้อยเลย
๖. อายุของเทวดาในจาตุมมหาราชิกาภูมิ เฉพาะวินิปาติกอสุรา, เวมานิก เปรต เป็นภุมมัฏฐเทวดา(คือเทวดาที่อาศัยพื้นแผ่นดินและต้นไม้อยู่)เหล่านี้ จัดเป็น เทวดาชั้นต่ำ มีอายุไม่แน่นอนเหมือนกัน ดังมีบาลีแสดงไว้ว่า ภุมฺมเทวานํปิ กมฺมเมว ปมาณํ แปลเป็นใจความว่า แม้พวกภุมมัฏฐเทวดาทั้งหลาย ก็มีกำหนด อายุไม่แน่นอน กรรมเท่านั้นแหละเป็นประมาณของอายุเทวดาเหล่านั้น
เท่าที่กล่าวมาแล้วทั้ง ๖ ข้อนี้ ล้วนแต่เป็นสัตว์ที่มีอายุไม่แน่นอนทั้งนั้น แล้ว แต่บุญทำกรรมแต่ง

 
๗. เทวดาชั้นจาตุมมหาราชิกาภูมิ (เว้นเทวดาชั้นต่ำที่กล่าวในข้อ ๖) มีอายุ ๕๐๐ ปีทิพย์ เทียบกับปีในมนุษย์ก็เท่ากับ ๙ ล้านปี คิดดังนี้
๑ วันทิพย์ ชั้นจาตุมมหาราชิกา เท่ากับ ๕๐ ปี

มนุษย์ ๓๐ วันทิพย์ เป็น ๑ เดือนทิพย์ ๕๐x๓๐ = ๑,๕๐๐ ปีมนุษย์

๑๒ เดือนทิพย์ เป็น ๑ ปีทิพย์ ๑,๕๐๐x๑๒ = ๑๘,๐๐๐ ปี มนุษย์

ดังนั้น ๕๐๐ ปีทิพย์ จึงเท่ากับ ๑๘,๐๐๐x๕๐๐ = ๙,๐๐๐,๐๐๐ ปี มนุษย์

 
๘. เทวดาชั้นดาวดึงส์ มีอายุ ๑,๐๐๐ ปีทิพย์ ชั้นนี้ ๑ วันทิพย์ เท่ากับ ๑๐๐ ปีมนุษย์

ดังนั้น ๑,๐๐๐ ปีทิพย์เท่ากับ ๓๖ ล้านปีมนุษย์

 
๙. เทวดาชั้นยามา มีอายุ ๒,๐๐๐ ปีทิพย์ ชั้นนี้ ๑ วันทิพย์ เท่ากับ ๒๐๐ ปีมนุษย์

ดังนั้น ๒,๐๐๐ ปีทิพย์จึงเท่ากับ ๑๔๔ ล้านปีมนุษย์

 
๑๐. เทวดาชั้นดุสิต มีอายุ ๔,๐๐๐ ปีทิพย์ ชั้นนี้ ๑ วันทิพย์ เท่ากับ ๔๐๐ ปี มนุษย์

ดังนั้น ๔,๐๐๐ ปีทิพย์จึงเท่ากับ ๕๗๖ ล้านปีมนุษย์

 
๑๑. เทวดาชั้นนิมมานรตี มีอายุ ๘,๐๐๐ ปีทิพย์ ในชั้นนี้ ๑ วันทิพย์ เท่ากับ ๘๐๐ ปี มนุษย์

ดังนั้น ๘,๐๐๐ ปีทิพย์ จึงเท่ากับ ๒,๓๐๔ ล้านปีมนุษย์


หน้า ๔๔

๑๒. เทวดาชั้นปรนิมมิตวสวัตตี มีอายุ ๑๖,๐๐๐ ปีทิพย์

ในชั้นนี้ ๑ วันทิพย์ เท่ากับ ๑,๖๐๐ ปีมนุษย์ ดังนั้น
๑๖,๐๐๐ ปีทิพย์จึงเท่ากับ ๙,๒๑๖ ล้านปีมนุษย์

 
ดังมีคาถาสังคหะเป็นคาถาที่ ๔ แสดงว่า


๔. นวสตญฺเจกวีส วสฺสานํ โกฏิโย ตถา
วสฺสสตสหสฺสานิ สฏฺฐ จ วสวตฺตึสุ ฯ


แปลความว่า เก้าร้อยยี่สิบเอ็ดโกฏกับหกสิบแสนปี (โดยมนุษย์) เป็นประมาณอายุพวกเทพชั้นปรนิมมิตวสวัตตี ๑๖,๐๐๐ ปีทิพย์

 
๑๓. อายุของพรหมนั้น นับเป็นมหากัปป์ ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ยาวนานจน เหลือที่จะคณานับ แต่ก็มีหลักเกณฑ์ที่ควรจะทราบพอเป็นเค้าไว้ดังนี้
กัปป์ ถือเกณฑ์อายุขัยของมนุษย์ ซึ่งเรียกว่า อายุกัปป์ เหตุนั้นอายุของมนุษย์ สมัยหนึ่ง ๆ นั้น จึงเรียกว่า กัปป์ บางทีก็เรียก กัลป์
อันตรกัปป์ ถือเกณฑ์ของอายุมนุษย์ตั้งแต่สมัยที่อายุยืนที่สุด คือ อสงขัยปี แล้วลดน้อยลงมาตามลำดับจนถึง
อายุกัปป์ ๑๐ ปี แล้วกลับค่อย ๆ ขึ้นไปอีกจนถึง อสงขัยปี นับจากอสงขัยปีลงมาจนถึง ๑๐ ปี แล้วนับจาก ๑๐ ปีขึ้นไป
จนถึง อสงขัยปี ลงเที่ยวหนึ่ง และขึ้นอีกเที่ยวหนึ่ง เช่นนี้แหละ เรียกว่า ๑ อันตรกัปป์
ครบ ๖๔ อันตรกัปป์ นับเป็น ๑ อสงขัยกัปป์
ครบ ๔ อสงขัยกัปป์ จึงเป็น ๑ มหากัปป์

 
๑๔. อายุของรูปพรหมในปฐมฌานภูมิ ๓ นั้น ปาริสัชชาพรหม อายุ ๑ ใน ๓ มหากัปป์

ปุโรหิตพรหม อายุกึ่งมหากัปป์ มหาพรหมา มีอายุ ๑ มหากัปป์
๑๕. อายุของรูปพรหมในทุติยฌานภูมิ ๓ นั้น ปริตตาภาพรหม อายุ ๒ มหากัปป์

อัปปมาณาภาพรหม อายุ ๔ มหากัปป์ อาภัสราพรหม อายุ ๘ มหากัปป์
๑๖. อายุของรูปพรหมในตติยฌานภูมิ ๓ นั้น ปริตตสุภาพรหมอายุ ๑๖ มหากัปป์

อัปปมาณสุภาพรหม อายุ ๓๒ มหากัปป์ สุภกิณหาพรหม อายุ ๖๔ มหากัปป์
๑๗. อายุของรูปพรหมในจตุตถฌานภูมิ เฉพาะเวหัปผลาพรหม

และอสัญญ สัตตพรหม มีอายุ ๕๐๐ มหากัปป์ เท่ากันทั้ง ๒ ภูมิ


หน้า ๔๕

๑๘. อายุของพรหมอริยในสุทธาวาสภูมิ คือ
อวิหา ๑,๐๐๐ มหากัปป์
อตัปปา ๒,๐๐๐ มหากัปป์
สุทัสสา ๔,๐๐๐ มหากัปป์
สุทัสสี ๘,๐๐๐ มหากัปป์
อกนิฏฐา ๑๖,๐๐๐ มหากัปป์

 
๑๙. อายุของอรูปพรหม คือ
อากาสานัญจายตนพรหม ๒๐,๐๐๐ มหากัปป์
วิญญาณัญจายตนพรหม ๔๐,๐๐๐ มหากัปป์
อากิญจัญญายตนพรหม ๖๐,๐๐๐ มหากัปป์
เนวสัญญานาสัญญายตนพรหม ๘๔,๐๐๐ มหากัปป์


ปฏิสนธิ ภวังค จุติ เป็นจิตเดียวกัน

คาถาสังคหะที่ ๕ ได้กล่าวไว้ว่า


๕. ปฏิสนฺธิ ภวงฺคญฺเจ ตถา จวนมานสํ
เอกเมว ตเถเวก วิสยญฺเจกชาติยํ ฯ


แปลความว่า ปฏิสนธิจิต ภวังคจิต จุติจิต มีวิสยะ (อารมณ์) อันเดียวกัน และย่อมเป็น อย่างเดียวกันใน
ชาติหนึ่ง ๆ โดยแท้
หมายความว่า ในภพในชาติเดียวกัน บุคคลใดปฏิสนธิมาด้วยจิตดวงใด มี อารมณ์อะไร ภวังคจิตของบุคคล ผู้นั้นก็เป็นจิตดวงนั้น มีอารมณ์อย่างนั้น ตลอดจน จุติจิตของผู้นั้นก็เป็นจิตดวงเดียวกัน มีอารมณ์อย่างเดียวกันกับปฏิสนธิจิตนั่นเอง ไม่ผิดไม่แปลกกันเลย เหมือนกันโดยภูมิ โดยชาติ โดยสัมปยุตต โดยเวทนา โดยสังขาร ด้วยประการทั้งปวง


หมวดที่ ๓ กัมมจตุกะ

กรรม คือ อะไรนั้น มีพุทธพจน์ดังปรากฏในอัฏฐสาลินีอรรถกถาว่า  

เจตนาหํ ภิกฺขเว กมฺมํ วทามิ เจตยิตฺวา
กมฺมํ กโรติ กาเยน วาจาย มนสา
 

แปลเป็น ใจความว่า ภิกษุทั้งหลาย เรา(ตถาคต)กล่าวว่า เจตนานั่นแหละเป็นกรรม
เมื่อมีเจตนาแล้ว บุคคลย่อมทำกรรมโดย ทางกาย ทางวาจา และทางใจ


หน้า ๔๖

หมายความว่า เจตนา คือ ความตั้งใจกระทำที่เกี่ยวด้วย กาย วาจา ใจ ทั้ง ทางดีและทางชั่ว นั่นแหละเป็นตัวกรรม และเจตนาที่เป็นกรรม ก็หมายเฉพาะแต่ กรรมในวัฏฏะ อันได้แก่ เจตนาในอกุสลจิต ๑๒ และในโลกียกุสลจิต ๑๗ รวม เจตนา ๒๙ จัดเป็นกรรม ๒๙ เท่านั้นเอง เว้นเจตนาในโลกุตตรกุสล ๔ คือ เจตนา ในมัคคจิต ๔
ที่เว้น เพราะเจตนาในมัคคกรรม ๔ เป็นกรรมที่ตัดวัฏฏะ ตัดความเวียน ว่ายตายเกิดจึงเหลือกรรม
ในวัฏฏะ
อันทำให้ต้องเวียนว่ายตายเกิดเพียง ๒๙ เท่านั้น
ส่วนเจตนาในวิบากจิต ๓๖ ก็จัดเป็นกรรมไม่ได้ เพราะเจตนาในวิบากจิต เป็นผลของกรรม ไม่ใช่ตัวกรรม และเจตนาในกิริยาจิต ๒๐ ก็ไม่จัดเป็นกรรมในที่นี้ เพราะเจตนาในกิริยาจิตนั้นเป็นจิตที่สักแต่ว่ากระทำ ไม่เป็นบุญเป็นบาป จึงไม่อาจก่อให้เกิดผลอย่างใดขึ้นมาได้ ดังนั้นจึงไม่จัดเป็นกรรมในที่นี้อีกเหมือนกัน

 
กรรมจตุกะนี้ ท่านจัดเป็น ๔ พวก คือ
ก. ชนกาทิกิจจ กิจการงานของกรรม มีชนกกรรม เป็นต้น
ข. ปากทาน ลำดับการให้ผลของกรรม
ค. ปากกาล กำหนดเวลาให้ผลของกรรม
ง. ปากฐาน ฐานที่ให้เกิดผลของกรรม
ชนกาทิกิจจก็ดี ปากทานก็ดี และปากกาลก็ดี รวม ๓ จำพวกนี้ เป็นการ แสดงตาม " สุตตันตนัย " คือตามนัยแห่งพระสูตร อันเป็นการแสดงว่าโดยส่วนมาก เป็นไปอย่างนั้น ไม่จำกัดลงไปแน่นอนว่า จะต้องเป็นอย่างนั้นเสมอไป
ส่วนจำพวก ที่ ๔ คือ ปากฐาน เป็นการแสดงตามอภิธัมมนัย คือตามนัยแห่งพระอภิธรรม อันเป็นการแสดงว่า จะต้องเป็นไปตามหลักนั้น ๆ เสมอไปอย่างแน่นอน


หมวดที่ ๓ กัมมจตุกะ ก. ชนกาทิกิจจ

กิจการงานของกรรม หรือหน้าที่ของกรรมที่จะต้องกระทำอันเรียกว่า ชนกาทิ กิจจนั้น มี ๔ อย่าง คือ
(๑) ชนกกรรม กรรมที่ทำให้เกิด
(๒) อุปถัมภกกรรม กรรมอุดหนุน หรือส่งเสริม
(๓) อุปปีฬกกรรม กรรมที่เบียดเบียน
(๔) อุปฆาตกกรรม กรรมที่ตัดรอน


หน้า ๔๗

๑. ชนกกรรม

ชนกกรรม เป็นกรรมที่มีหน้าที่ทำให้เกิดซึ่งวิบากจิต และกัมมชรูป ทั้งในปฏิสนธิกาล และปวัตติกาล
ก. ทำให้วิบากเกิด และกัมมชรูปเกิดในปฏิสนธิกาล ก็ได้แก่ ทำให้เกิดเป็น สัตว์ดิรัจฉาน เป็นมนุษย์ เป็นเทวดาเป็นต้น ชนกกรรมที่นำปฏิสนธินี้ ส่วนมาก ต้องเป็นกรรมที่ ครบองค์ กล่าวคือ ถ้าเป็นอกุสลกรรมก็ต้องครบองค์แห่งกัมมบถ ถ้าเป็นกุสลกรรมก็ต้องครบองค์ของเจตนา
ข. ทำให้วิบากจิต และกัมมชรูปเกิดในปวัตติกาล ก็ได้แก่ ทำให้เกิดตา หู จมูก และอวัยวะน้อยใหญ่ ตลอดจนการให้เห็น การได้ยิน เป็นต้น กรรมที่นำให้ เกิดในปวัตติกาลนี้ จะเป็นกรรมที่ครบองค์แห่งกัมมบถหรือไม่ก็ตาม ย่อมให้ผลได้ ทั้งนั้น
วิมาน อันเป็นที่อยู่ของเทวดา ของพรหม หรือไฟและเครื่องทรมานพวก สัตว์นรก ก็จัดเป็นกัมมปัจจยอุตุชรูป ที่เกิดจากชนกกรรมด้วยเหมือนกัน
ชนกกรรมที่ทำให้เกิดวิบากจิต และกัมมชรูปนี้ ได้แก่ อกุสลกรรม ๑๒ และ โลกียกุสลกรรม ๑๗


๒. อุปถัมภกกรรม

อุปถัมภกกรรม คำบาลีว่า อุปัตถัมภกกัมม เป็นกรรมที่มีหน้าที่อุดหนุน หรือ ส่งเสริมกุสลกรรม และ
อกุสลกรรม
การอุดหนุน ส่งเสริมนั้น อุดหนุนส่งเสริมทั้งในทางดี และทางชั่ว กล่าวคือ ในทางดีก็ส่งเสริมให้กุสลกรรมส่งผลให้ดียิ่งขึ้น ในทางชั่วก็ส่งเสริมให้อกุสลกรรม ส่งผลให้เลวร้ายต่ำทรามมากลง
อุปถัมภกกรรมนี้ มีอัตถาธิบายอย่างพิศดารมากมาย แต่พอสรุปได้เป็น ๓ ประการ คือ


หน้า ๔๘

(ก) ช่วยอุดหนุนส่งเสริมชนกกรรมที่ยังไม่มีโอกาสให้ผล ให้มีโอกาสส่งผล
(ข) ช่วยอุดหนุนส่งเสริมชนกกรรมที่กำลังให้ผลอยู่นั้น ให้มีกำลังในการให้ ผลนั้นยิ่งขึ้น
(ค) ช่วยอุดหนุนรูปนามที่เป็นวิบากของชนกกรรมให้เจริญ และตั้งอยู่ได้นาน
อุปถัมภกกรรมที่มีหน้าที่อุดหนุนส่งเสริมนี้ ได้แก่ อกุสลกรรม ๑๒ และ มหากุสลกรรม ๘ เท่านั้น
สำหรับมหัคคตกุสลกรรม ๙ นั้น มีหน้าที่เป็นชนกกรรมนำให้ปฏิสนธิเป็น พรหม บุคคลในพรหมภูมิแต่อย่างเดียวเท่านั้น ไม่มีหน้าที่อุปถัมภ์ คือ อุดหนุน ส่งเสริมกรรมอื่น ๆ แต่อย่างใดเลย เมื่อมหัคคตกุสลกรรม ๙ ไม่มีโอกาสได้ส่งผลให้ปฏิสนธิแล้ว ก็เป็นอโหสิกรรมไป ไม่มีฐานะที่จะเป็นอุปถัมภกกรรมได้


๓. อุปปีฬกกรรม

อุปปีฬกกรรม เป็นกรรมที่มีหน้าที่เบียดเบียนกรรมอื่น ๆ และรูปนามที่เกิด จากกรรมอื่น ๆ นั้น มีความ
หมายเป็น ๒ นัย คือ
๑. เป็นกรรมที่เบียดเบียนชนกกรรมอื่น ๆ ที่มีสภาพตรงข้ามกับตน มีชื่อ เรียกว่า กัมมันตรอุปปีฬก
๒. เป็นกรรมที่เบียดเบียนรูปนามที่เกิดจากชนกกรรมนั้น ๆ มีชื่อเรียกว่า กัมมนิพพัตตขันธสันตานอุปปีฬก
การเบียดเบียนนี้ เมื่อสรุปแล้ว ก็มี ๓ ประการ คือ
(ก) เบียดเบียน ขัดขวางชนกกรรม เพื่อไม่ให้มีโอกาสได้ส่งผล
(ข) เบียดเบียนชนกกรรมที่มีโอกาสส่งผลอยู่แล้ว ให้มีกำลังลดน้อยถอยลง ได้ผลไม่เต็มที่
(ค) เบียดเบียน ผลที่ได้รับอยู่ คือ รูปนามที่เกิดจากชนกกรรมนั้นให้เสื่อม ถอย ไม่ให้เจริญต่อไป หรือไม่ให้ตั้งอยู่ได้นาน


หน้า ๔๙

อุปปีฬกกรรมนี้ก็ได้แก่อุปถัมภกกรรมนั่นเอง คืออกุสลกรรมอุดหนุนส่งเสริม อกุสลกรรมให้มีกำลังกล้าแข็งขึ้นเพียงใด ก็ย่อมเป็นการเบียดเบียนกุสลกรรม (อัน มีสภาพตรงกันข้ามกับอกุสลกรรม) นั้น ให้กุสลกรรมมีกำลังลดน้อยถอยลงเพียงนั้น กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ อกุสลกรรมอุปถัมภ์อกุสลกรรมให้ได้ส่งผล ก็เป็นการเบียด เบียนขัดขวางไม่ให้กุสลกรรมได้โอกาสส่งผลไปในตัว ดังนั้น องค์ธรรมของอุปปีฬก กรรม จึงได้แก่ อกุสลกรรม ๑๒ และ มหากุสลกรรม ๘ เหมือนกับของอุปถัมภก กรรม
สำหรับมหัคคตกุสลกรรม ๙ เป็นกรรมที่ไม่นับว่าเป็นอุปปีฬกกรรม ไม่นับว่า เป็นกรรมที่เบียดเบียนขัดขวางอกุสลกรรม แต่จัดเป็นกรรมตัดรอนอกุสลกรรม คือ จัดเป็นอุปฆาตกกรรมเลยทีเดียว ไม่เพียงแต่เบียดเบียนกีดกัน แต่ข่มไว้จนอยู่มือ


๔. อุปฆาตกกรรม

อุปฆาตกกรรม เป็นกรรมที่มีหน้าที่ตัดรอนกรรมอื่น ๆ และวิบากของกรรม อื่นนั้นให้สิ้นลง เป็นการตัดให้ขาดสะบั้นไปเลย
การตัดรอนของอุปฆาตกกรรม เมื่อสรุปแล้วก็มี ๔ ประการ คือ
(ก) กุสลอุปฆาตกกรรม ตัดรอนกุสลชนกกรรม และรูปนามที่เป็นกุสลวิบาก เช่น ผู้เจริญสมถภาวนาจนถึงรูปาวจรปัญจมฌานกุสล เมื่อตายไปก็ไปบังเกิดเป็น จตุตถฌานพรหมตัดรอนไม่ให้ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน มีโอกาสให้ ผล เป็นต้น
(ข) กุสลอุปฆาตกกรรม ตัดรอนอกุสลชนกกรรม และรูปนามที่เป็นอกุสล วิบาก เช่น พระองคุลิมาล ฆ่าคนเป็นจำนวนมากมาย น่าที่จะต้องตกนรกแน่นอน แต่เมื่อได้กลับใจมาเจริญภาวนาจนถึงอรหัตตมัคค อรหัตตผล
ด้วยอำนาจเพียงโสดา ปัตติมัคคจิต ก็เป็นกุสลอุปฆาตกกรรม ตัดรอนอกุสลชนกกรรมเหล่านั้นได้หมดสิ้น ไม่ให้มีโอกาสได้ส่งผลให้ไปตกนรกได้ตลอดไปเลย เป็นต้น
(ค) อกุสลอุปฆาตกกรรม ตัดรอนอกุสลกรรมชนกกรรม และรูปนามที่เป็น อกุสลวิบาก ตัวอย่างเช่น เกิด
เป็นสุนัข ซึ่งเป็นอกุสลวิบากแล้วยังกลับมาถูกรถทับ ตายอีก การถูกรถทับก็เป็นอกุสลกรรมที่ตามมาทัน โดยทำหน้าที่เป็นอุปฆาตกกรรม ทำให้รูปนามขาดสะบั้นไปเลย
(ง) อกุสลอุปฆาตกกรรม ตัดรอนกุสลชนกกรรม และรูปนามที่เป็นกุสล วิบาก เช่น พระเทวทัตเป็นผู้ที่
ได้ฌานอภิญญา แต่ต่อมาได้กระทำโลหิตุปปาท และ สังฆเภทกกรรมอีกด้วยอันเป็นอนันตริยกรรม ดังนั้นอนันตริยกรรม จึงเป็นอุปฆาตก กรรมตัดรอนมหัคคตกุสลกรรมเสียสิ้นเชิง จนต้องไปเกิดในนรก ดังนี้เป็นต้น
อุปฆาตกกรรม อันมีหน้าที่ตัดรอนกรรมอื่น ๆ ให้ขาดสะบั้นไปนั้น ก็ได้แก่ อกุสลกรรม ๑๒ และ กุสลกรรมทั้ง ๒๑


หน้า ๕๐

หมวดที่ ๓ กัมมจตุกะ ข. ปากทาน

ลำดับการให้ผลของกรรมเรียกว่า ปากทาน อันมาจาก คำเต็มว่า ปากทาน ปริยาย ปาก(ปฏิสนธิ) + ทาน
(การให้) + ปริยาย(ลำดับหรือวาระ) มีความหมาย ว่า กรรมที่ให้ผลปฏิสนธิตามลำดับ กล่าวเฉพาะการให้ผลในชาติที่ ๒ คือ ชาติที่ต่อ จากปัจจุบันชาตินี้ เพียงชาติเดียวเท่านั้น
ปากทาน คือ ลำดับการให้ผลของกรรมนั้น มี ๔ อย่าง ได้แก่
(๑) ครุกรรม กรรมหนัก
(๒) อาสันนกรรม กรรมที่กระทำใกล้ตาย
(๓) อาจิณณกรรม กรรมที่กระทำเสมอเป็นเนืองนิจ
(๔) กฏัตตากรรม กรรมเล็กน้อย


๑. ครุกรรม

ครุกรรม คือ กรรมที่หนัก มีความหมายว่า เป็นกรรมที่แรง เป็นกรรมที่มี กำลังมาก ต้องส่งให้ได้รับผลก่อนกรรมอื่น ๆ ทั้งนั้น กล่าวคือ ถ้าเป็นฝ่ายกุสล ก็มี ผลานิสงส์(ผลดี) ให้คุณหนักมาก เป็นฝ่ายอกุสลก็มีอาทีนพะ (ผลชั่ว) ให้โทษหนัก มาก ถึงกับกรรมอื่น ๆ ไม่สามารถที่จะตัดขัดขวาง หรือยับยั้งได้ ครุกรรมเป็นต้อง ให้ผลก่อนกรรมอื่น ๆ และให้ผลในชาติที่ ๒ แน่นอน


กรรมที่จัดเป็นครุกรรมนี้ มีทั้งที่เป็นอกุสลครุกรรม และกุสลครุกรรม คือ
(ก) ทิฏฐิคตสัมปยุตตจิต ๔ ที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจ นิยตมิจฉาทิฏฐิกรรม อันมีอยู่ ๓ คือ นัตถิกทิฏฐิ
เห็นว่าทำอะไรก็ตาม ผลที่ได้รับย่อมไม่มี(ไม่เชื่อผล) ๑, อเหตุกทิฏฐิ เห็นว่า สัตว์ทั้งหลายที่กำลังเป็นไปอยู่นั้น ไม่ได้อาศัยเนื่องกันมาจาก เหตุอย่างใด (ไม่เชื่อเหตุ) ๑, และ อกริยทิฏฐิ เห็นว่าการกระทำต่าง ๆ ของสัตว์ ทั้งหลายนั้น ไม่เป็นบุญเป็นบาปอย่างใดเลย (ไม่เชื่อทั้งเหตุทั้งผล) อีก ๑
(ข) โทสมูลจิต ๒ ที่เป็นปัญจานันตริยกรรม คือฆ่าบิดา ฆ่ามารดา ฆ่า พระอรหันต์ ทำให้พระพุทธเจ้า
ถึงกับห้อพระโลหิตและสังฆเภท สังฆเภทกกรรม หนักกว่าเพื่อน สมมุติว่ามีผู้ทำปัญจานันตริยกรรมครบ ๕ อย่าง
สังฆเภทกกรรม จะเป็นผู้ส่งผลแก่ผู้นั้น ส่วนกรรมที่เหลืออีก ๔ ก็ทำหน้าที่สนับสนุนในการให้ผล ของสังฆเภทกกรรม
(ค) มหัคคตกุสลกรรม ๙ ฌานที่สูงมีคุณธรรมมากกว่าฌานต่ำ ฌานสูงจึงให้ ผล เมื่อฌานสูงให้ผลแล้ว ฌานที่ต่ำก็หมดโอกาสที่จะให้ผล กลายเป็นอโหสิกรรมไป ไม่มีหน้าที่แม้แต่จะอุดหนุนส่งเสริมฌานที่สูงกว่าให้ผลนั้น ดังที่ได้กล่าวแล้วในตอน อุปถัมภกกรรม
อนึ่ง โลกุตตรกุสลกรรม ๔ นั้น ก็เป็นครุกรรมเหมือนกัน แต่ไม่กล่าวในที่นี้ ด้วย เพราะว่าในที่นี้กล่าวเฉพาะกรรมที่ส่งผลให้เกิดในชาติที่ ๒ เท่านั้น โลกุตตร กุสลกรรมไม่มีหน้าที่ให้เกิด มีหน้าที่แต่จะทำลายการเกิดตามควรแก่กำลังของตน


 

หน้า ๕๑

๒. อาสันนกรรม

อาสันนกรรม คือ กรรมที่ได้กระทำในเวลาใกล้จะตาย กระชั้นชิดกับเวลาตาย หมายความว่า ในเวลาใกล้ตายได้กระทำสิ่งที่ดีสิ่งที่ชั่ว หรือแม้แต่ระลึกถึงสิ่งที่ดี สิ่งที่ชั่ว ก็เรียกว่า เป็นอาสันนกรรม มีอำนาจส่งให้ได้รับผลได้ทั้งนั้น
กุสลอาสันนกรรม มีอำนาจส่งให้ได้รับผลที่เป็นสุคติ อกุสลอาสันนกรรมก็มี อำนาจส่งให้ได้รับผลที่เป็นทุคคติ
อาสันนกรรมนี้ จะส่งให้ได้รับผลก่อนตายก็ต่อเมื่อไม่มีครุกรรม หมายความว่า บุคคลใดไม่เคยได้กระทำครุกรรม มีแต่อาสันนกรรมนี้ อาสันนกรรมก็ให้ผลก่อน อาจิณณกรรม และกฏัตตากรรม
อาสันนกรรม ก็ได้แก่ อกุสลกรรม ๑๒ (เว้นนิยตมิจฉาทิฏฐิ และปัญจา นันตริยกรรม) และ มหากุสลกรรม ๘
สำหรับมหัคคตกุสลกรรม ๙ ไม่จัดเข้าเป็นอาสันนกรรม เพราะเป็นครุกรรม แต่ฝ่ายเดียว


หน้า ๕๒

๓. อาจิณณกรรม

อาจิณณกรรม คือ กรรมที่กระทำเสมอเป็นเนืองนิจ เป็นการสั่งสมไว้บ่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นการกระทำทางกาย ทางวาจา หรือแม้แต่ครุ่นคิดทางใจ ทั้งทางที่เป็น กุสล และอกุสล ตลอดจนการกระทำเหล่านั้นจะเป็นอาชีพหรือไม่ก็ตาม ถ้าได้ทำอยู่ เนือง ๆ แล้ว ก็นับว่าเป็นอาจิณณกรรมทั้งนั้น
อาจิณณกรรมนี้ ตามปกติก็ให้ผลในปวัตติกาล เว้นแต่เมื่อบุคคลผู้ใกล้จะตาย ไม่เคยได้กระทำครุกรรม และไม่มีอาสันนกรรมแล้วอาจิณณกรรมนี้จึงจะส่งให้ได้รับ ผลในชาติที่ ๒ ไปเกิดเป็นเทวดา มนุษย์ หรืออบายสัตว์ ตามควรแก่กรรมของตน
กรรมที่ทำเสมอ ๆ คืออาจิณณกรรมนี้ ก็ได้แก่อกุสลกรรม ๑๒ และมหากุสล กรรม ๘ เท่านั้น


๔. กฏัตตากรรม

กฏัตตากรรม คือ กรรมเล็กน้อย มีความหมายถึงกรรม ๒ ประการ คือ
ประการที่ ๑ หมายถึง กรรมที่กระทำในภพนี้ แต่ว่าการกระทำอกุสลกรรม นั้นไม่ครบองค์แห่งกัมมบถ หรือกุสลกรรมนั้นไม่ครบองค์แห่งเจตนา จึงไม่เข้าถึงซึ่ง ความเป็นครุกรรม อาสันนกรรม หรืออาจิณณกรรมอย่างหนึ่งอย่างใด
ประการที่ ๒ หมายถึง กรรมที่ได้กระทำมาแล้วในภพก่อน ๆ ซึ่งได้แก่ อปราปริยเวทนียกรรม อันคอย
ติดตามจะส่งให้ผลเกิดอยู่
เมื่อกรรมทั้ง ๓ ที่กล่าวมาแล้วข้างต้น คือ ครุกรรม อาสันนกรรม อาจิณณ กรรมไม่มีที่จะให้ผลแล้ว ก็กฏัตตากรรมนี้แหละจึงจะเป็นผู้ให้ผลปฏิสนธิเป็นเทวดา มนุษย์ หรืออบายสัตว์ ตามกรรมของตน
สัตว์ทั้งหลายที่จะไม่มีกฏัตตากรรมนั้นหาไม่ได้เลย อย่างไรเสียก็จะต้องมีเป็นแน่ กฏัตตากรรมก็ได้แก่
อกุสลกรรม ๑๒ มหากุสลกรรม ๘


หมวดที่ ๓ กัมมจตุกะ ค. ปากกาล

ปากกาล กำหนดเวลาให้ผลของกรรม หมายความว่ากรรมต่าง ๆ ที่ได้กระทำ นั้นจะสนองผลให้เมื่อใด
จะเป็นในชาตินี้ ชาติหน้า หรือชาติต่อ ๆ ไป คราวหรือ วาระที่กรรมจะให้ผลนั้น จำแนกเป็น ๔ อย่าง คือ


หน้า ๕๓

(๑) ทิฏฐธรรมเวทนียกรรม สนองผลในชาติปัจจุบัน
(๒) อุปปัชชเวทนียกรรม สนองผลในชาติที่ ๒
(๓) อปราปริยเวทนียกรรม สนองผลในชาติที่ ๓ เป็นต้นไป
(๔) อโหสิกรรม เป็นกรรมที่ไม่สนองผล


๑. ทิฏฐธรรมเวทนียกรรม

ทิฏฐธรรมเวทนียกรรม เป็นกรรมที่สนองผลในปัจจุบันชาติ คำว่า ทิฏฐธรรม หมายความว่า ผลที่ได้
ประจักษ์แก่ตน เวทนีย แปลว่า การเสวยต่อผลนั้น รวม หมายความว่า ได้เสวยผลที่ประจักษ์แก่ตนในภพนี้ชาตินี้
การได้เสวยผลของกรรมประจักษ์แก่ตนในภพนี้ในชาติปัจจุบันนี้ ก็คือ กรรม ที่ได้กระทำในภพนี้นั่นแหละให้ผลในปวัตติกาลในชาตินี้นั่นเอง ไม่ติดตามข้ามภพ ข้ามชาติไปให้ผลในชาติที่ ๒ หรือชาติต่อ ๆ ไปได้อีก
เมื่อได้กระทำกรรมลงไปแล้ว และได้ผลภายใน ๗ วัน เรียกว่า ปริปักกทิฏฐ ธรรมเวทนียกรรม แต่ถ้าได้ผลภายหลัง ๗ วันไปแล้วเรียกว่า อปริปักกทิฏฐธรรม เวทนียกรรม
ตัวอย่างเช่น มหาทุคคตะได้ถวายภัตตาหารแก่พระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า และ นายปุณณะกับภริยาซึ่งเป็นคนยากจน ได้ถวายภัตตาหารแก่พระสารีบุตร ต่างก็ ร่ำรวย เป็นเศรษฐีภายใน ๗ วัน
พระเทวทัตที่กระทำโลหิตุปบาท กระทำสังฆเภทกกรรมก็ดี นันทมานพที่ ทำลายพระอุบลวัณณาเถรีผู้เป็นพระอรหันต์ก็ดี โกกาลิกพราหมณ์ที่บริภาษพระอัคร สาวกทั้ง ๒ ก็ดีต่างก็ถูกธรณีสูบ เหล่านี้ล้วนแต่เป็น ปริปักกทิฏฐธรรมเวทนียกรรม ทั้งนั้น
ส่วนอปริปักกทิฏฐธรรมเวทนียกรรมนั้นทางกุสลก็ได้รับผลคือ เกียรติคุณแพร่ หลายมีบุญญาภินิหารและได้รับความยกย่องสรรเสริญ ในทางอกุสลก็ตรงกันข้าม
อนึ่ง ในธรรมบทอรรถกถาแสดงว่า ที่จะได้รับผลสนองเป็นปริปักกทิฏฐธรรม เวทนียกรรมนั้น ต้องถึงพร้อมด้วยสัมปทาทั้ง ๔ คือ


หน้า ๕๔

๑. เจตนาสัมปทา มีเจตนาอันแรงกล้ายิ่งในการทำกุสลนั้น
๒. ปัจจยสัมปทา ปัจจัยที่ทำกุสลนั้นได้มาด้วยความบริสุทธิ์
๓. วัตถุสัมปทา บุคคลที่รับทานนั้นเป็นพระอนาคามีหรือพระอรหันต์
๔. คุณติเรกสัมปทา พระอนาคามี หรือพระอรหันต์ที่รับทานนั้น ถึงพร้อม ด้วยคุณอันพิเศษ คือ เพิ่งออกจากนิโรธสมาบัติ
การได้รับผลในชาตินี้ ที่เรียกว่า ทิฏฐธรรมเวทนียกรรมนี้ ด้วยอำนาจของ เจตนาในกุสลชวนกรรม หรือกุสลชวนกรรมดวงที่ ๑ ในชวนะ ๗ ดวง ของแต่ละ วิถี แต่ว่าถ้าเจตนากรรมในชวนะดวงที่ ๑ ไม่มีโอกาสให้ผลแล้ว ก็เป็นอโหสิกรรม แต่เป็นอำนาจหน้าที่ของเจตนากรรมในชวนะ ดวงที่ ๗ จะให้ผลในชาติที่ ๒ หรือ เป็นหน้าที่ของเจตนากรรมในชวนะดวงที่ ๒ ถึงดวงที่ ๖ จะให้ผลในชาติที่ ๓ เป็นต้นไป ซึ่งมีชื่อเรียกอย่างอื่น ดังจะกล่าวต่อไป


๒. อุปปัชชเวทนียกรรม

อุปปัชชเวทนียกรรม เป็นกรรมที่สนองผลในชาติที่ ๒ คำว่า อุปปัชช หมายความว่า ในชาติที่ ๒ เวทนีย
แปลว่า การเสวยต่อผลนั้น รวมมีความหมาย ว่า ได้เสวยต่อผลนั้นในชาติที่ ๒ (นับจากปัจจุบันชาตินี้เป็นชาติที่ ๑)
เมื่อชาตินี้ได้กระทำกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นกุสลกรรม หรืออกุสล กรรมลงไปแล้ว และเจตนากรรมในชวนะดวงที่ ๑ ก็ไม่มีโอกาสที่จะให้ผลใน ปวัตติกาลในชาตินี้ด้วย จึงเป็นอำนาจหน้าที่ของเจตนากรรมในชวนะดวงที่ ๗ ที่จะ ส่งผลให้ได้รับในชาติที่ ๒ ทั้งในปฏิสนธิกาล และในปวัตติกาลด้วย ในปฏิสนธิกาล ก็ให้ไปเกิดเป็นสุคติบุคคล หรือทุคคติบุคคลในปวัตติกาล (ในชาติที่ ๒ นั้น) ก็ได้ ให้เสวยสุข หรือทุกข์ ตามควรแก่กรรมที่ได้กระทำนั้น


๓. อปราปริยเวทนียกรรม

อปราปริยเวทนียกรรมเป็นกรรมที่สนองผลในชาติที่ ๓ เป็นต้นไปคำว่า อปราปริย หมายความว่าภพอื่นชาติอื่น เวทนีย แปลว่า การเสวยต่อผลนั้น รวมความว่า ได้เสวยต่อผลนั้นในภพอื่น ๆ ชาติอื่น ๆ คือไม่ใช่ชาตินี้ และไม่ใช่ ชาติที่ ๒
เมื่อชาตินี้ได้กระทำกุสลกรรม หรืออกุสลกรรมลงไปแล้ว อำนาจของเจตนา กรรมนั้น ในชวนะดวงที่ ๑ ไม่มีโอกาสให้ผลในปวัตติกาลในชาตินี้ทั้งเจตนากรรม ในชวนะดวงที่ ๗ ก็ไม่มีโอกาสให้ผลในชาติที่ ๒ ด้วย แล้วเจตนากรรมในชวนะ ดวงที่ ๒ ถึงดวงที่ ๖ ย่อมมีอำนาจติดตามจ้องคอยหาโอกาสให้ผลในชาติที่ ๓ และ ชาติต่อ ๆ ไป จนกว่าผู้นั้นจะเข้าสู่พระนิพพาน


หน้า ๕๕

ชวนะดวงที่ ๒ ถึงดวงที่ ๖ รวมชวนะ ๕ ดวง แต่ละวิถีนี้ ถ้าดวงใด ดวงหนึ่งให้ผลปฏิสนธิไปแล้ว เหลือ
ชวนะอีก ๔ ดวงในวิถีเดียวกันนั้น จะให้ ปฏิสนธิอีก ๔ ภพ ๔ ชาตินั้นไม่ได้ แต่ว่ามีอำนาจให้ผลในปวัตติกาลในชาตินั้นได้ กล่าวคือ ในชวนะ ๕ ดวง ในวิถีหนึ่งนั้นให้ผลเป็นปฏิสนธิได้ดวงเดียว จะเป็น ดวงหนึ่งดวงใดก็ตาม ที่เหลืออีก ๔ ดวง ให้ผลในทางสนับสนุนเบียดเบียน หรือตัด รอนปฏิสนธิสัตว์นั้นได้


๔. อโหสิกรรม

อโหสิกรรม เป็นกรรมที่ไม่สนองผล ไม่ให้ผล เลิกให้ผล หมายความว่าเป็น กรรมที่ไม่สามารถจะอำนวยผลได้เพราะ
กรรมนั้นได้ให้ผลแล้ว
กรรมนั้นไม่ก่อให้เกิดผล
กรรมนั้นไม่มีผู้จะรับผล
เหล่านี้แหละ กรรมนั้นจึงได้ชื่อว่า อโหสิกรรม ดังที่ใน ปฏิสัมภิทามัคคบาลี แสดงไว้ว่า
(ก) อโหสิกมฺมํ นาโหสิกมฺมวิปาโก ได้แก่กรรมที่ได้ให้ผลแล้ว เช่น ได้ตก นรกไปแล้ว หรือได้ไปเกิด
ในภูมิสวรรค์นั้น ๆ แล้ว กรรมนั้นก็เป็นอโหสิกรรมไป ข้อนี้หมายถึงอดีต
อนึ่ง กรรมอันเล็กน้อย ย่อมเข้ากับกรรมใหญ่ได้ กรรมใหญ่ก็รับไปเสีย กรรม เล็กน้อยนั้นก็เลิกให้ผล
ไม่ต้องให้ผล เช่น ได้ตติยฌานกุสลกรรม ตติยฌานวิบาก ก็เป็นผู้รับผล ปฐมฌานกุสลกรรม ทุติยฌานกุสลกรรม อันเป็นกรรมเล็กน้อยกว่า ก็เป็นอันไม่ต้องให้ผล จึงเป็นอโหสิกรรมไป กล่าวคือ ปฐมฌานวิบาก ทุติยฌาน วิบากก็ไม่ต้องเกิดขึ้น
(ข) อโหสิกมฺมํ นตฺถิกมฺมวิปาโก ได้แก่ กรรมที่ไม่ก่อให้เกิดผล เช่น กิริยา จิต แม้จะกระทำสักเท่าใด
ก็ตาม ก็เป็นกิริยาไปหมด ไม่เกิดวิบาก ไม่ก่อให้เกิดผลเลย จึงเป็นอโหสิกรรมไป ข้อนี้หมายถึงปัจจุบัน
(ค) อโหสิกมฺมํ นภวิสฺสติกมฺมวิปาโก ได้แก่ผลกรรมในชาติอนาคตไม่มีแล้ว เช่น องคุลีมาลฆ่าคนเป็น
ต้น ผลของกรรมที่ฆ่ามนุษย์นั้นไม่ส่งผลได้ เพราะต่อมา ได้เป็นพระอรหันต์แล้ว ไม่มีภพ ไม่มีชาติ คือไม่ต้องเกิดอีกแล้ว กรรมนั้นก็ไม่มี ผู้รับสนอง จึงเป็นอโหสิกรรมไป ข้อนี้หมายถึงอนาคต


หน้า ๕๖

 

หมวดที่ ๓ กัมมจตุกะ ง. ปากฐาน

ปากฐาน คือ ที่ตั้งแห่งวิบากจิต อันเกิดจากกุสลกรรม และอกุสลกรรม การแสดงปากฐานนี้ เป็นการแสดงตามนัยแห่งพระอภิธรรมโดยตรง ซึ่งจำแนกออก เป็น ๔ อย่าง คือ
(๑) ที่ตั้งแห่งวิบากจิตอันเกิดจาก อกุสลกรรม
(๒) ที่ตั้งแห่งวิบากจิตอันเกิดจาก กามาวจรกุสลกรรม
(๓) ที่ตั้งแห่งวิบากจิตอันเกิดจาก รูปาวจรกุสลกรรม
(๔) ที่ตั้งแห่งวิบากจิตอันเกิดจาก อรูปาวจรกุสลกรรม
ก่อนที่จะแสดงฐานที่ตั้งแห่งวิบากจิต อันเกิดจากกรรม ๔ อย่างดังกล่าวนี้ จะได้แสดงถึงการเกิดขึ้นของ
อกุสลกรรม และกุสลกรรมเหล่านี้เสียก่อน

 

๑. การเกิดขึ้นของอกุสลกรรม

การเกิดขึ้นของอกุสลกรรมนั้น เมื่อกล่าวโดยจิตตุปปาทะ การเกิดขึ้นของจิต แล้วก็มี ๑๒ คือ อกุสลจิต
๑๒ ดวง อันได้แก่ โลภมูลจิต ๘ โทสมูลจิต ๒ และ โมหมูลจิต ๒
เมื่อกล่าวโดยกรรมทวาร ทางที่ให้เกิดกรรมแล้ว ก็มี ๓ คือ กระทำทางกาย ทวาร อันได้แก่ กายวิญญัตติ ก็เรียกว่า กายกรรม หรือ กายทุจริต กระทำทางวจี ทวาร อันได้แก่ วจีวิญญัตติ ก็เรียกว่า วจีกรรม หรือ วจีทุจริต และกระทำทาง มโนทวาร ก็เรียกว่ามโนกรรม หรือ มโนทุจริต
เมื่อกล่าวโดย กรรมบถ ทางของการกระทำแล้วก็มี ๑๐ เรียกว่า อกุสล กรรมบถ ๑๐ หรือ ทุจริต ๑๐ อันได้แก่
๑. ปาณาติบาต การฆ่าสัตว์
๒. อทินนาทาน การลักทรัพย์
๓. กาเมสุมิจฉาจาร การล่วงประเวณี
ทุจริต ๓ ประการนี้ย่อมเกิดทางกายทวารเป็นกายกรรม ๓ หรือกายทุจริต ๓
๔. มุสาวาท พูดปด
๕. ปิสุณาวาจา พูดส่อเสียด
๖. ผรุสวาท พูดคำหยาบ
๗. สัมผัปปลาป พูดจาเพ้อเจ้อไร้สาระ


หน้า ๕๗

ทุจริต ๔ ประการนี้ย่อมเกิดทางวจีทวาร เป็นวจีกรรม ๔ หรือวจีทุจริต ๔
๘. อภิชฌา เพ่งเล็งอยากได้ของเขา
๙. พยาบาท คิดปองร้ายเขา
๑๐. มิจฉาทิฏฐิ มีความเห็นผิด
ทุจริต ๓ ประการนี้ เกิดทางมโนทวาร เป็นมโนกรรม ๓ หรือ มโนทุจริต ๓
อกุสลกรรมบถ ๑๐ หรือทุจริต ๑๐ อันได้แก่ กายกรรม ๓ หรือกายทุจริต ๓ วจีกรรม ๔ หรือวจีทุจริต ๔ และมโนกรรม ๓ หรือมโนทุจริต ๓ นี้ สำหรับ กายทุจริต ๓ วจีทุจริต ๔ รวมเรียกว่า ทุจริต ๗ นั้น ถ้าหากว่า กายปโยคและ วจีปโยคแล้ว ก็นับว่ายังไม่ล่วงกรรมบถ ส่วนมโนทุจริต ๓ นั้น เพียงแต่นึกแต่ คิดเท่านั้น ก็เป็นอันล่วงกรรมบถแล้ว กรรมใดที่ถึงกับล่วงกรรมบถ กรรมนั้นสามารถส่งผลให้เป็นปฏิสนธิได้ แต่ว่า ถ้าไม่ถึงกับล่วงกรรมบถ ก็เพียงแต่ให้ผลในปวัตติกาลเท่านั้น กระทำอย่างไรจึงจะ นับว่าล่วงกรรมบถนั้น ต้องพิจารณาว่าการกระทำนั้นครบองค์แห่งกรรมบถ
หรือไม่ องค์และปโยคของอกุสลกรรมบถ ๑๐ นั้น ดังนี้
๑. ปาณาติบาต มีองค์ ๕
๑. ปาโณ สัตว์นั้นมีชีวิต
๒. ปาณสญฺญิตา รู้ว่าสัตว์นั้นมีชีวิต
๓. วธกจิตฺตํ จิตคิดจะฆ่า
๔. อุปกฺกโม ทำความเพียรเพื่อฆ่า
๕. เตน มรณํ สัตว์ตายเพราะความเพียรนั้น
ปโยค คือ ความเพียรพยายามในการกระทำปาณาติบาตนั้น มี ๖
๑. สาหตฺถิกปโยค สังหารด้วยตนเอง
๒. อาณตฺติกปโยค ใช้ผู้อื่น หรือใช้วาจาสังหาร
๓. นิสฺสคฺคิยปโยค ใช้อาวุธสังหาร
๔. ถาวรปโยค สังหารด้วยหลุมพลาง
๕. วิชฺชามยปโยค สังหารด้วยวิชาคุณ ๖. อิทฺธิมยปโยค สังหารด้วยฤทธิ


หน้า ๕๘

๒. อทินนาทาน มีองค์ ๕
๑. ปรปริคฺคหิตํ ทรัพย์ของผู้อื่น
๒. ปรปริคฺคหิตสญฺญิตา รู้ว่าเป็นของผู้อื่น
๓. เถยฺยจิตฺตํ จิตคิดจะลัก
๔. อุปกฺกโม เพียรเพื่อลัก
๕. เตน หรณํ ได้ทรัพย์มาสำเร็จเพราะความเพียรนั้น
ปโยคของอทินนาทาน มี ๖
๑. สาหตฺถิกปโยค ลักด้วยตนเอง
๒. อาณตฺติกปโยค ใช้ผู้อื่นลัก
๓. นิสฺสคฺคิยปโยค ลักโดยใช้อาวุธ
๔. ถาวรปโยค ลักโดยใช้เครื่องไม่ให้จำหน้าได้
๕. วิชฺชามยปโยค ลักโดยใช้วิชาคุณ เช่น สกดให้เจ้าของหลับ
๖. อิทฺธิมยปโยค ลักด้วยฤทธิ ด้วยเดช เช่น ดำดินไปลัก

๓. กาเมสุมิจฉาจาร มีองค์ ๔
๑. อคมนียวตฺถุ วัตถุที่ไม่ควรไป
๒. ตสฺมึ เสวนจิตฺตํ จิตคิดจะเสพ
๓. เสวนปโยโค เพียรจะเสพ
๔. มคฺเคนมคฺคปฏิปตฺติ อธิวาสนํ พอใจทำมัคคให้ล่วงมัคค
ปโยคของกาเมสุมิจฉาจาร มีอย่างเดียว คือ สาหตฺถิกปโยค คือ กระทำเอง ด้วยความเพียรเพื่อให้ได้เสพรสกามคุณ

๔. มุสาวาท มีองค์ ๔
๑. อตถวตฺถุ เรื่องไม่จริง (วัตถุเทียม)
๒. วิสํวาทนจิตฺตา จิตคิดจะมุสา
๓. ปโยโค ประกอบความเพียร
๔. ปรสฺส ตทตฺถวิชานนํ ผู้ฟังเชื่อตามที่กล่าวนั้น
ปโยคของมุสาวาท มี ๓
๑. สาหตฺถิกปโยค กล่าวเอง
๒. อาณตฺติกปโยค ให้ผู้อื่นกล่าว
๓. ถาวรปโยค กล่าวโดยลายลักษณ์อักษร


หน้า ๕๙

๕. ปิสุณาวาท มีองค์ ๔
๑. ภินฺทิตพฺโพ มีหมู่คณะที่พึงแตกกัน
๒. เภทปุเรกฺขาโร ปรารถนาจะให้แตกกัน
๓. ปโยโค เพียรพยายามให้แตกกัน
๔. ตทตฺถวิชานนํ หมู่คณะนั้นปักใจเชื่อ
ปโยคของปิสุณาวาทนี้มีอย่างเดียวเท่านั้นคือ สาหตฺถิกปโยค กล่าวเอง ทำเอง
ที่ว่ากล่าวเอง หมายถึง กล่าววาจาเป็นวจีทวาร เรียกว่า วจีปโยค ส่วนทำเอง หมายถึง การใช้กิริยาอาการบุ้ยใบ้ให้รู้ โดยไม่ต้องออกเสียงพูด นี่เป็น กายทวาร เรียกว่า กายปโยค

๖. ผรุสวาท มีองค์ ๓
๑. อกฺโกสิตพฺโพ มีผู้อื่นที่พึงด่า
๒. กุปจิตฺตํ มีจิตโกรธเคือง
๓. อกฺโกสมา กล่าวคำหยาบ คำบริภาษ
ปโยค ของผรุสวาทนี้ มีอย่างเดียวเหมือนกัน คือ สาหตฺถิกปโยค กล่าวเอง ทำเอง เป็นได้ทั้งวจีปโยค และกายปโยค ทำนองเดียวกับปิสุณาวาท

๗. สัมผัปปลาป มีองค์ ๒
๑. นิรตฺถกถาปุเรกฺขารตา มุ่งกล่าวคำที่ไร้แก่นสาร ไม่มีประโยชน์
๒. กถนํ กล่าวคำที่ไม่มีประโยชน์นั้น
ปโยคของสัมผัปปลาป ก็ทำนองเดียวกันกับปิสุณาวาท และผรุสวาท ที่กล่าว แล้วข้างต้น

๘. อภิชฌา มีองค์ ๒
๑. ปรภณฺฑํ ทรัพย์ของผู้อื่น
๒. อตฺตโน ปริณามนํ มีความเพ่งเล็งให้ได้มาเป็นของตน
ปโยคของอภิชฌา คือ สาหตฺถิกปโยค คิดเอง นึกเอง


หน้า ๖๐

๙. พยาบาท มีองค์ ๒
๑. ปรสตฺโต มีสัตว์อื่นเพื่อทำลาย
๒. วินาสจินฺตา มีจิตคิดทำลายเพื่อให้สัตว์นั้นประสบความพินาศ
ปโยคของพยาบาท คือ สาหตฺถิกปโยค คิดเอง นึกเอง

๑๐. มิจฉาทิฏฐิ มีองค์ ๒
๑. วตฺถุโน วิปริตฺตา ตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์ที่ผิด
๒. ตถา ภาเวน อุปฏฺฐานํ เชื่อและยินดีพอใจในอารมณ์นั้น
ปโยคของมิจฉาทิฏฐิ คือ สาหตฺถิกปโยค คิดเอง นึกเอง

อนึ่งการเสพสุราเมรัย ไม่ได้จัดเป็นอกุสลกรรมบถอีกข้อหนึ่งโดยเฉพาะ แต่สงเคราะห์เข้าในกาเมสุมิจฉาจาร เพราะเป็นความประพฤติผิดในกามคุณ คือ รสารมณ์เหมือนกัน องค์ของสุรา มี ๔
๑. มทนียํ เป็นน้ำเมา
๒. ปาตุกมฺมยตาจิตฺตํ มีเจตนาจะดื่ม
๓. ตชฺชญฺจ วายามํ กระทำการดื่ม
๔. ปิตญฺจ ปวิสติ น้ำเมานั้น ล่วงลำคอลงไป

เฉพาะอกุสลกรรมบถข้อ ๑๐ มิจฉาทิฏฐิ นั้น มีความหมายดังนี้
มิจฺฉา ปสฺสตีติ มิจฺฉาทิฏฺฐิฯ ธรรมชาติใดที่มีความเห็นวิปริตอันผิดไปจาก ความเป็นจริง นั่นแหละชื่อว่า
มิจฉาทิฏฐิ องค์ธรรมได้แก่ ทิฏฐิเจตสิก
มิจฉาทิฏฐิ มีอยู่หลายประเภท เช่น
สักกายทิฏฐิ ๒๐ มีความยึดมั่นในขันธ์ ๕ อย่างใดอย่างหนึ่งว่าเป็นตัว เป็นตน เป็นเขา เป็นเรา
มิจฉาทิฏฐิ ๖๒ ที่แสดงไว้ในพรหมชาลสูตรแห่งสีลขันธวัคค
นิยตมิจฉาทิฏฐิ ๓ ที่แสดงไว้ใน สามัญญผลสูตร แห่งสีลขันธวัคค
สำหรับมิจฉาทิฏฐิ ที่กล่าวในมโนทุจริตกรรมนี้ มุ่งหมายเฉพาะนิยตมิจฉาทิฏฐิ ทั้ง ๓ ที่สำเร็จเป็นกรรมบถ


หน้า ๖๑

นิยตมิจฉาทิฏฐิ มีชื่อเรียกอีกนัยหนึ่งว่า มิจฉัตตนิยตะนั้น มี ๓ คือ
๑. อเหตุกทิฏฐิ มีความเห็นว่า สัตว์ทั้งหลายที่กำลังเป็นไปอยู่นั้น ไม่ได้อาศัย เนื่องมาจากเหตุแต่อย่างใด (ไม่เชื่อเหตุ อธิจจสมุปปันนิกทิฏฐิ ๒)
๒. นัตถิกทิฏฐิ มีความเห็นว่า การทำอะไร ๆ ก็ตาม ผลที่จะได้รับนั้นย่อม ไม่มี (ไม่เชื่อผล อุจเฉททิฏฐิ ๗)
๓. อกริยทิฏฐิ มีความเห็นว่า การที่สัตว์ทั้งหลายกระทำกิจการต่าง ๆ นั้น ไม่ สำเร็จเป็นบุญ หรือเป็นบาป
แต่อย่างใดเลย (ไม่เชื่อทั้งเหตุทั้งผล สัสสตทิฏฐิ ๔)
มิจฉาทิฏฐิ ๖๒ จำแนกเป็นสาขาใหญ่ ๒ สาขา คือ ปุพพันตกัปปิกทิฏฐิ ๑ และ อปรันตกัปปิกทิฏฐิ ๑
ปุพพันตกัปปิกทิฏฐิ ไม่เชื่อเหตุในอดีต มี ๑๘ คือ
๑. สัสสตทิฏฐิ ๔ เห็นว่า อัตตาและโลกเที่ยง (อกริยทิฏฐิ)
๒. เอกัจจสัสสตเอกัจจอสัสสตทิฏฐิ ๔ เห็นว่า อัตตา และโลกบางอย่างเที่ยง บางอย่างไม่เที่ยง
๓. อันตานันติกทิฏฐิ ๔ เห็นว่าโลกมีที่สุด และไม่มีที่สุด
๔. อมราวิกเขปิกทิฏฐิ ๔ ความเห็นซัดส่าย ไม่ตายตัว จะว่าใช่ก็ไม่เชิง จะว่าไม่ใช่ก็ไม่เชิง
๕. อธิจจสมุปปันนิกทิฏฐิ ๒ เห็นว่า อัตตา และโลกเกิดขึ้นลอย ๆ ไม่มีเหตุ (อเหตุกทิฏฐิ)
อปรันตกัปปิกทิฏฐิ ไม่เชื่อผลในอนาคต มี ๔๔ คือ
๑. สัญญีวาททิฏฐิ ๑๖ เห็นว่า อัตตาไม่เสื่อมสลาย ตายแล้วมีสัญญา
๒. อสัญญีวาททิฏฐิ ๘ เห็นว่า อัตตาไม่เสื่อมสลาย ตายแล้วไม่มีสัญญา
๓. เนวสัญญีนาสัญญีวาททิฏฐิ ๘ เห็นว่า อัตตาไม่เสื่อมสลาย เมื่อตายแล้ว มีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ไม่เชิง
๔. อุจเฉททิฏฐิ ๗ เห็นว่า ตายแล้วสูญ (นัตถิกทิฏฐิ)
๕. ทิฏฐธัมมนิพพานวาททิฏฐิ ๕ เห็นว่า พระนิพพานมีในปัจจุบัน (คือ ๑.ว่ากามคุณ ๕ เป็นพระนิพพาน, ๒.ว่าปฐมฌาน, ๓.ว่าทุติยฌาน, ๔.ว่าตติยฌาน, ๕.ว่าจตุตถฌาน เป็นพระนิพพาน)


หน้า ๖๒

สักกายทิฏฐิ ๒๐

รูปํ อตฺตโต สมนุปฺปสฺสติ

เห็นรูปโดยเป็นตน

รูปํวนฺตํ อตฺตานํ สมนุปฺปสฺสติ

เห็นตนมีรูป

อตฺตนิ รูปํ สมนุปฺปสฺสติ

เห็นรูปในตน

รูปสฺมึ อตฺตานํ สมนุปฺปสฺสติ

เห็นตนในรูป

 

 

เวทนํ อตฺตโต สมนุปฺปสฺสติ

เห็นเวทนาโดยเป็นตน

เวทนาวนฺตํ อตฺตานํ สมนุปฺปสฺสติ

เห็นตนมีเวทนา

อตฺตนิ เวทนํ สมนุปฺปสฺสติ

เห็นเวทนาในตน

เวทนาย อตฺตานํ สมนุปฺปสฺสติ

เห็นตนในเวทนา

 

 

สญฺญํ อตฺตโต สมนุปฺปสฺสติ

เห็นสัญญาโดยเป็นตน

สญฺญาวนฺตํ อตฺตานํ สมนุปฺปสฺสติ

เห็นตนมีสัญญา

อตฺตนิ สญฺญํ สมนุปฺปสฺสติ

เห็นสัญญาในตน

สญฺญาย อตฺตานํ สมนุปฺปสฺสติ

เห็นตนในสัญญา

 

 

สงฺขาเร อตฺตโต สมนุปฺปสฺสติ

เห็นสังขารทั้งหลายโดยเป็นตน

สงฺขารวนฺตํ อตฺตานํ สมนุปฺปสฺสติ

เห็นตนมีสังขาร

อตฺตนิ สงฺขาเร สมนุปฺปสฺสติ

เห็นสังขารทั้งหลายในตน

สงฺขาเรสุ อตฺตานํ สมนุปฺปสฺสติ

เห็นตนในสังขารทั้งหลาย

 

 

วิญฺญาณํ อตฺตโต สมนุปฺปสฺสต

เห็นวิญญาณโดยตนเอง

วิญฺญาณเวนฺตํ อตฺตานํ สมนุปฺปสฺสติ

เห็นตนมีวิญญาณ

อตฺตนิ วิญฺญาณํ สมนุปฺปสฺสติ

เห็นวิญญาณในตน

วิญฺญาณสฺสมึ อตฺตานํ สมนุปฺปสฺสติ

เห็นตนในวิญญาณ

( จูฬเวทลฺลสุตฺต มชฺฌิมนิกาย มูลปณฺณาสก )

 

ผลที่อกุสลกรรมบถ ๑๐ ส่งให้ในปวัตติกาล

ผลในปวัตติกาลของปาณาติบาต มี ๙ ประการ คือ
๑. ทุพพลภาพ ๒. รูปไม่งาม
๓. กำลังกายอ่อนแอ ๔. กำลังกายเฉื่อยชา
๕. เป็นคนขลาด ๖. ฆ่าตนเอง หรือถูกฆ่า
๗. โรคภัยเบียดเบียน ๘. ความพินาศของบริวาร กำลังปัญญาไม่ว่องไว
๙. อายุสั้น


หน้า ๖๓

ผลในปวัตติกาลของอทินนาทาน มี ๖ ประการ คือ
๑. ด้อยทรัพย์ ๒. ยากจน
๓. อดอยาก ๔. ไม่ได้สิ่งที่ตนปรารถนา
๕. พินาศในการค้า ๖. ทรัพย์พินาศเพราะอัคคีภัย อุทกภัย ราชภัย โจรภัยเป็นต้น


ผลในปวัตติกาลของกาเมสุมิจฉาจาร มี ๑๑ ประการ คือ
๑. มีผู้เกลียดชังมาก ๒. มีผู้ปองร้ายมาก
๓. ขัดสนทรัพย์ ๔. ยากจนอดอยาก
๕. เป็นหญิง ๖. เป็นกระเทย
๗. เป็นชายในตระกูลต่ำ ๘. ได้รับความอับอายเป็นอาจิณ
๙. ร่างกายไม่สมประกอบ ๑๐. มากไปด้วยความวิตกห่วงใย
๑๑. พลัดพรากจากผู้ที่ตนรัก


ผลในปวัตติกาลของมุสาวาท มี ๘ ประการ คือ
๑. พูดไม่ชัด ๒. ฟันไม่เป็นระเบียบ
๓. ปากเหม็นมาก ๔. ไอตัวร้อนจัด
๕. ตาไม่อยู่ในระดับปกติ ๖. กล่าววาจาด้วยปลายลิ้น และปลายปาก
๗. ท่าทางไม่สง่าผ่าเผย ๘. จิตไม่เที่ยงคล้ายวิกลจริต


ผลในปวัตติกาลของปิสุณาวาท มี ๔ ประการ คือ
๑. ตำหนิตนเอง ๒. มักจะถูกลือโดยไม่มีความจริง
๓. ถูกบัณฑิตตำหนิติเตียน ๔. แตกมิตรสหาย


หน้า ๖๔

ผลในปวัตติกาลของ ผรุสวาท มี ๔ ประการ คือ
๑. พินาศในทรัพย์ ๒. ได้ยินเสียง เกิดไม่พอใจ
๓. มีกายและวาจาหยาบ ๔. ตายด้วยอาการงงงวย


ผลในปวัตติกาลของสัมผัปปลาป มี ๔ ประการ คือ
๑. เป็นอธัมมวาทบุคคล ๒. ไม่มีผู้เลื่อมใสในคำพูดของตน
๓. ไม่มีอำนาจ ๔. จิตไม่เที่ยง คือ วิกลจริต


ผลในปวัตติกาลของอภิชฌา มี ๔ ประการ คือ
๑. เสื่อมในทรัพย์และคุณงามความดี ๒. ปฏิสนธิในตระกูลต่ำ
๓. มักได้รับคำติเตียน ๔. ขัดสนในลาภสักการะ


ผลในปวัตติกาลของพยาบาท มี ๔ ประการ คือ
๑. มีรูปทราม ๒. มีโรคภัยเบียดเบียน
๓. อายุสั้น ๔. ตายโดยถูกประทุษร้าย


ผลในปวัตติกาลของมิจฉาทิฏฐิ มี ๔ ประการ คือ
๑. ห่างไกลรัศมีแห่งพระธรรม ๒. มีปัญญาทราม
๓. ปฏิสนธิในพวกคนป่าที่ไม่รู้อะไร ๔. เป็นผู้มีฐานะไม่เทียมคน


ผลในปวัตติกาลของการเสพสุราเมรัย มี ๖ ประการ คือ
๑. ทรัพย์ถูกทำลาย ๒. เกิดวิวาทบาดหมาง
๓. เป็นบ่อเกิดของโรค ๔. เสื่อมเกียรติ
๕. หมดยางอาย ๖. ปัญญาเสื่อมถอย


๒. การเกิดขึ้นของกามาวจรกุสลกรรม

การเกิดขึ้นของกามาวจรกุสลกรรมนั้น เมื่อกล่าวโดย จิตตุปปาทะ การเกิด ขึ้นของจิตแล้ว ก็มี ๘ คือ
มหากุสลจิต ๘ ดวง
เมื่อกล่าวโดย กรรมทวาร ทางที่ให้เกิดกรรมแล้ว ก็มี ๓ คือ
กระทำทางกายทวารได้แก่ กายวิญญัตติ ก็เรียกว่า กายกรรม หรือ กายสุจริต มี ๓ ประการ


หน้า ๖๕

การกระทำทางวจีทวารได้แก่ วจีวิญญัตติ ก็เรียกว่า วจีกรรม หรือ วจีสุจริต มี ๔ ประการ
การกระทำทางมโนทวารก็เรียกว่า มโนกรรม หรือ มโนสุจริต มี ๓ ประการ รวมเป็นสุจริต ๑๐ ประการ คือ กายกรรม หรือกายสุจริต ก็ได้แก่ เว้นจากการฆ่าสัตว์ ๑, เว้นจากการ ลักทรัพย์ ๑ และเว้นจากการล่วงประเวณี ๑ วจีกรรม หรือวจีสุจริต ก็ได้แก่ เว้นจากการพูดปด ๑, เว้นจากการพูด ส่อเสียด ๑, เว้นจากการพูดจาหยาบคาย ๑ และเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อไร้สาระ ๑
มโนกรรม หรือมโนสุจริต ก็ได้แก่ ไม่เพ่งเล็งอยากได้ของเขา ๑, ไม่พยาบาท ปองร้ายเขา ๑ และให้มีความเห็นถูกต้อง ๑
การกระทำกามาวจรกุสลกรรมนี้ แม้ว่าจะได้เกิดทั้ง ๓ ทวารก็จริง แต่ว่าส่วนมากเกิดทางมโนกรรมมากกว่าเกิด ทางกายกรรม หรือทางวจีกรรม เป็นต้นว่า เป็น แต่จิตคิดงดเว้นจากกายทุจริต ๓ วจีทุริต ๔ เพียงเท่านั้นก็ได้ชื่อว่า เป็นกุสลกาย กรรม ๓ และกุสลวจีกรรม ๔ แล้ว
การเกิดขึ้นของกามาวจรกุสลกรรม เมื่อกล่าวโดยประเภทของ ทาน สีล ภาวนา แล้วก็มี ๓ เหมือนกัน คือทาน ๑, สีล ๑ และ ภาวนา ๑
การเกิดขึ้นของกามาวจรกุสลกรรม เมื่อกล่าวโดยอำนาจบุญกิริยาวัตถุแล้วก็ มี ๑๐ ประการ บุญกิริยาวัตถุเป็นภาษาบาลีเขียนว่า ปุญฺญกิริยาวตฺถุ แปลว่า ความดีที่ควรกระทำเพราะเป็นเหตุ เป็นที่ตั้งแห่งผลดีให้เกิดขึ้น

 
บุญกิริยาวัตถุ ๑๐คือ

๑. ทาน การให้สิ่งที่เป็นประโยชน์สุขแก่ผู้ที่ได้รับ
๒. สีล การรักษากาย วาจา ให้เป็นปกติ ไม่เป็นการเบียดเบียนผู้อื่น
๓. ภาวนา การอบรมจิตใจให้กุสลอันประเสริฐเกิดขึ้นและให้เจริญยิ่งขึ้นด้วย
๔. อปจายนะ การแสดงคารวะและอ่อนน้อมแก่ผู้ที่เจริญด้วยชาติวุฒิ วัยวุฒิ และคุณวุฒิ


หน้า ๖๖

๕. เวยยาวัจจะ การสงเคราะห์ช่วยเหลือกิจการที่เกี่ยวแก่ ปริยัติ และปฏิบัติ
๖. ปัตติทานะ การอุทิศส่วนกุสลให้บิดา มารดา ครู อาจารย์ ญาติพี่น้อง ตลอดจนสรรพสัตว์ทั้งหลาย
๗. ปัตตานุโมทนา การอนุโมทนารับส่วนบุญที่มีผู้อุทิศให้ ได้แก่ การเห็นดี และคล้อยตามด้วยความอิ่มใจในส่วนบุญที่มีผู้อุทิศให้นั้น
๘. ธัมมสวนะ การตั้งใจสดับตรับฟังพระธรรมเทศนา แม้ฟังการสั่งสอนวิชา ทางโลก ที่ไม่มีโทษ ก็สงเคราะห์เป็นธัมมสวนะ
๙. ธัมมเทสนา การแสดงธรรมแก่ผู้ประสงค์ฟังธรรม แม้การสั่งสอนวิชาทาง โลกที่ไม่มีโทษ ก็สงเคราะห์เป็นธัมมเทสนาเช่นเดียวกัน
๑๐. ทิฏฐุชุกรรม การมีความเห็นถูกต้อง ตามความเป็นจริงอย่างน้อยก็ต้อง ถึงกัมมสกตาปัญญา คือ รู้ว่าสัตว์มีกรรมเป็นของตน ทำดีได้ดี ทำชั่ว ได้ชั่ว ธรรมที่เป็นปัจจัยให้เกิดกัมมสกตาปัญญา คือ
ก. สุตมยปัญญา ปัญญาที่เกิดจาก การศึกษาเล่าเรียน
ข. จินตามยปัญญา ปัญญาที่เกิดจาก การพิจารณาไตร่ตรอง
ค. ภาวนามยปัญญา ปัญญาที่เกิดจาก การเจริญวิปัสสนา
บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ เมื่อสงเคราะห์ลงในประเภททาน สีล ภาวนา แล้วก็ได้ ดังนี้
ปัตติทานะ กับปัตตานุโมทนา สงเคราะห์ใน ทาน ชื่อว่า ทานมัย
อปจายนะ กับ เวยยาวัจจะ สงเคราะห์ลงใน สีล ชื่อว่า สีลมัย
ธัมมสวนะ ธัมมเทสนา และทิฏฐุชุกรรม สงเคราะห์ลงใน ภาวนา ชื่อว่า ภาวนามัย
อีกนัยหนึ่งตามนัยแห่งพุทธภาษิตอรรถกถา แสดงว่า ธัมมสวนะ ธัมมเทสนา สงเคราะห์ลงใน ทานมัยกุสลก็ได้ ดังที่พระพุทธองค์ทรงเทศนาว่า สพฺพทานํ ธมฺมทานํ ชินาติ การให้ธรรมย่อมชำนะการให้ทั้งปวง


หน้า ๖๗

ส่วน ทิฏฐุชุกรรม นั้น มีแสดงไว้ใน สังคีติสูตร แห่งปาถิกวรรคอรรถกถา ว่า ทิฏฐุชุกมฺมํ สพฺเพสํ นิยมลกฺขนํ ทิฏฐุชุกรรมนี้ เป็นเครื่องหมายแห่งความสมบูรณ์ ของบุญกิริยาวัตถุทั้งปวง หมายความว่าสงเคราะห์ทิฏฐุชุกรรมลงใน ทานมัย สีลมัย ได้ทั้งหมด เพราะว่าทิฏฐุชุกรรม ก็คือ ปัญญาที่เห็นตรงตามความเป็นจริง ถ้าการ บริจาคทาน การรักษาสีล การเจริญภาวนา โดยไม่มีทิฏฐุชุกรรมประกอบด้วยแล้ว การให้ผลของ ทาน สีล ภาวนาเหล่านั้นก็ไม่สมบูรณ์ มีการขาดตกบกพร่อง แม้จะ ให้ผลไปเกิดเป็นมนุษย์ หรือเทวดา ก็จะเป็นมนุษย์ เทวดาชั้นต่ำ มีอวัยวะขาดตก บกพร่อง หรือโง่เขลาเบาปัญญา ขาดแคลนทรัพย์ มีความเดือดร้อน ไม่ใคร่มีความ สุขสบาย


๓. การเกิดขึ้นของรูปาวจรกุสลกรรม

การเกิดขึ้นของรูปาวจรกุสลกรรมนั้น เมื่อกล่าวโดยจิตตุปปาทะ การเกิดขึ้น ของจิตแล้วก็มี ๕ คือ
รูปาวจรกุสลจิต ๕ ดวง
เมื่อกล่าวโดย กรรมทวาร ทางที่ให้เกิดกรรมแล้ว รูปาวจรกุสลกรรมนี้เกิด ทางมโนทวาร เป็นมโนกรรมแต่อย่างเดียว จะเกิดทางกายกรรมหรือวจีกรรมไม่ได้ เพราะการเจริญสมถภาวนาไม่ได้ใช้กายวิญญัตติ หรือวจีวิญญัตติแต่อย่างใดเลย
เมื่อกล่าวโดยประเภทแห่ง ทาน สีล ภาวนา แล้ว รูปาวจรกุสลกรรมนี้ เป็น ภาวนามัยแต่อย่างเดียว ไม่เกี่ยวแก่การบริจาคทาน หรือการรักษาสีล เป็นแต่เพ่ง กัมมัฏฐาน จนเกิดฌานจิต
เมื่อกล่าวโดย กัมมัฏฐาน อารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งการเพ่งพินิจแล้ว ก็มี ๒๖ คือ กสิณ ๑๐, อสุภะ ๑๐,
กายคตาสติ ๑, อานาปานสติ ๑ และ พรหมวิหาร ๔
เมื่อกล่าวโดย สมาธิ แล้ว รูปาวจรกุสลกรรมย่อมเข้าถึงซึ่ง อัปปนาสมาธิ (ส่วนกามาวจรกุสลกรรมไม่ถึงอัปปนาสมาธิ เป็นแต่เพียงบริกรรมสมาธิ และอุป จารสมาธิเท่านั้น ไม่สามารถเข้าถึงซึ่งอัปปนาสมาธิ คือฌานสมาบัติได้)
เมื่อกล่าวโดย ประเภทของฌาน แล้ว ก็มี ๕ คือ ปฐมฌานกุสล ทุติยฌาน กุสล ตติยฌานกุสล จตุตถฌานกุสลและ ปัญจมฌานกุสล
เมื่อกล่าวโดย องค์ของฌาน แล้ว มีดังนี้
รูปาวจรกุสล ปฐมฌาน มีองค์ ๕ คือ วิตก วิจาร ปิติ สุข เอกัคคตา
รูปาวจรกุสล ทุติยฌาน มีองค์ ๔ คือ วิจาร ปิติ สุข เอกัคคตา
รูปาวจรกุสล ตติยฌาน มีองค์ ๓ คือ ปิติ สุข เอกัคคตา
รูปาวจรกุสล จตุตถฌาน มีองค์ ๒ คือ สุข เอกัคคตา
รูปาวจรกุสล ปัญจมฌาน มีองค์ ๒ คือ อุเบกขา เอกัคคตา


หน้า ๖๘

๔. การเกิดขึ้นของอรูปาวจรกุสลกรรม

การเกิดขึ้นของอรูปาวจรกุสลกรรมนั้น เมื่อกล่าวโดย จิตตุปปาทะ ก็มี ๔ คือ อรูปาวจรกุสลจิต ๔ ดวง
เมื่อกล่าวโดย กรรมทวาร ก็เกิดทางมโนทวารแต่ทางเดียว
เมื่อกล่าวโดยประเภทแห่ง ทาน สีล ภาวนา ก็เป็นภาวนามัยอย่างเดียว
เมื่อกล่าวโดย กัมมัฏฐาน ก็มี ๔ คือ กสิณุคฆาฏิมากาสบัญญัติ ๑, อากาสา นัญจายตนกุสล ๑,
นัตถิภาวบัญญัติ ๑ และ อากิญจัญญายตนกุสล ๑
เมื่อกล่าวโดย สมาธิ ก็ถึง อัปปนาสมาธิ
เมื่อกล่าวโดย ประเภทของฌาน แล้วก็มี ๔ คือ อากาสานัญจายตนกุสล วิญญาณัญจายตนกุสล
อากิญจัญญายตนกุสล และ เนวสัญญานาสัญญายตนกุสล
เมื่อกล่าวโดย องค์ของฌาน แล้วก็มี ๒ คือ อุเบกขา กับ เอกัคคตา เท่านั้น และเหมือนกันกับองค์ฌานของรูปาวจรกุสลปัญจมฌาน


ที่ตั้งแห่งวิบากจิต (ปากฐาน)

ได้แสดงถึงการเกิดขึ้นของอกุสลกรรม และกุสลกรรมมาแล้วบัดนี้จะได้กล่าว ถึง ปากฐาน โดยตรงต่อไป
ปากฐาน อันแปลว่า ที่ตั้งแห่งวิบากจิต ก็คือ ฐานที่ตั้งแห่งการให้ผลของ กรรม หมายความว่า เมื่อได้กระทำกรรมใด ๆ แล้ว กรรมเหล่านั้นจะส่งผลเมื่อใด ให้เป็นอะไร ที่ไหนบ้าง
ที่ว่าจะส่งผลเมื่อใด หมายว่า จะส่งผลในปฏิสนธิกาล หรือในปวัตติกาล ถ้าส่งผลในปฏิสนธิกาล ก็จะให้ผลในชาติหน้า ชาติต่อไป ไม่ใช่ในชาตินี้ ถ้าส่งผลในปวัตติกาล ก็จะให้ผลในชาตินี้ ซึ่งได้ปฏิสนธิมาแล้วก็ได้ หรือจะให้ผลในชาติหน้า ชาติต่อ ๆ ไป ภายหลังได้ปฏิสนธิแล้วก็ได้ การส่งผลในปฏิสนธิกาล นับว่าสำคัญมาก เพราะเป็นการสืบต่อภพต่อชาติไปอีกตั้งชาติหนึ่งทั้งชาตินั้นทีเดียว ส่วนการส่งผลในปวัตติกาลนั้นเป็นชั่วคราวชั่วขณะ ไม่ใช่ส่งผลอย่างนั้นไปตลอดทั้งชาติ


หน้า ๖๙

ที่ว่าให้เป็นอะไร หมายความว่า ให้ปฏิสนธิเป็นสัตว์ในอบาย หรือ เป็นมนุษย์ เป็นเทวดา อินทร พรหม ในปวัตติกาลก็ให้ได้เห็นสิ่งที่ดี หรือไม่ดี ให้ได้ยินสิ่งที่ดี หรือไม่ดี เป็นต้น ที่ว่า ที่ไหน หมายถึง ภูมิ

 
(๑) อกุสลกรรม ๑๑ (เว้นอุทธัจจจิต) ย่อมส่งผลในปฏิสนธิกาลให้สืบต่อภพ ต่อชาติ โดยให้ไปเกิดในอบายภูมิ ๔ หมายความว่า ที่ต้องปฏิสนธิในอบาย เพราะ ได้กระทำอกุสลกรรม ๑๑ แม้แต่อย่างใดอย่างหนึ่งนั่นเอง
อกุสลกรรมทั้ง ๑๒ ย่อมส่งผลในปวัตติกาล ให้อกุสลวิบากจิต ๗ มีการเห็น สิ่งที่ไม่ดี ได้ยินสิ่งที่ไม่ดี เป็นต้น เกิดขึ้นในกามภูมิ ๑๑ และ รูปภูมิ ๑๕ (เว้น อสัญญสัตต)
ไม่ต้องกล่าวก็ได้ว่า ในรูปภูมิ ๑๕ นั้น อกุสลวิบากจิตเกิดได้เพียง ๔ คือ จักขุวิญญาณจิต โสตวิญญาณจิต สัมปฏิจฉันนจิต และ สันตีรณจิต เท่านั้น ส่วนอีก ๓ คือ ฆานวิญญาณจิต ชิวหาวิญญาณจิต และกายวิญญาณจิต นั้นไม่มี
ในข้อ (๑) นี้มีที่ควรสังเกต คือ อุทธัจจจิตนั้น ไม่สามารถส่งผลในปฏิสนธิ กาลได้ เพียงแต่ส่งผลได้ในปวัตติกาลเท่านั้น ส่วนวิจิกิจฉาจิตนั้น ส่งผลได้ทั้งใน ปฏิสนธิกาล และ ปวัตติกาลด้วย ทั้งนี้มีหลักฐานอธิบายไว้ว่า
ก. กรรมที่จะส่งผลในปฏิสนธิกาลได้นั้น ต้องมีกำลังแรงยิ่งกว่าการส่งผลใน ปวัตติกาล สำหรับอุทธัจจจิต ไม่มีอกุสลเจตสิก เช่น โลภ โทส ทิฏฐิ มานะ อิสสา มัจฉริยะ กุกกุจจะ วิจิกิจฉา ซึ่งมีกำลังเป็นพิเศษ ช่วยส่งเสริมแต่อย่างใดไม่คงมี แต่เพียงโมจตุกะ ๔ ที่เป็นอกุสลเจตสิกสามัญ อันประกอบการงานอกุสลทั่ว ๆ ไป เท่านั้นเอง ดังนั้นอุทธัจจจิตจึงไม่มีกำลังแรงพอที่จะส่งผลในปฏิสนธิกาลได้ ผิดกับ วิจิกิจฉาจิต ซึ่งมีอกุสลเจตสิกที่มีกำลังพิเศษ คือ วิจิกิจฉาเจตสิก ช่วยอุดหนุน ส่งเสริมอยู่ จึงมีกำลังมากพอแก่การส่งผลในปฏิสนธิกาล
ข. ผู้สำเร็จเป็นพระโสดาบัน ย่อมปิดอบายภูมิทั้ง ๔ ได้แน่นอน ก็พระ โสดาบันนั้นหาได้ประหาณอุทธัจจจิตไม่ จึงแสดงว่าอุทธัจจจิตนี้ไม่สามารถส่งผลให้ ปฏิสนธิได้ เพราะถ้าอุทธัจจจิตมีอำนาจส่งผลในปฏิสนธิกาลได้แล้ว ก็จะต้องไป เกิดในอบายภูมิ ถ้าเป็นเช่นนั้น พระโสดาบันก็ไม่พ้นอบายภูมิ ส่วนวิจิกิจฉานั้น สามารถส่งผลในปฏิสนธิกาลให้ไปเกิดในอบายภูมิได้ ดังนั้นจึงปรากฏว่าโสดาปัตติ มัคคต้องประหาณวิจิกิจฉาจิตได้เป็นสมุจเฉกแล้ว จึงได้ชื่อว่า ผู้นั้นสำเร็จเป็นพระโสดาบัน มิฉะนั้นจะต้องไปเกิดในอบายภูมิอีก


หน้า ๗๐

อนึ่งในตอนนี้ อยากจะกล่าวอย่างธรรมดาสามัญอันเป็นการกล่าวโดยอัตโนมัติ ดังต่อไปนี้
อุทธัจจจิต เป็นจิตที่ซัดส่ายไปในอารมณ์หลายอย่าง ไม่ปักใจลงไปในอารมณ์ ใดอารมณ์หนึ่งอย่างแน่วแน่แต่อย่างเดียว กำลังจึงไม่แรงถึงกับทำให้เกิดเป็นผลขึ้น มาได้โดยสมบูรณ์ เปรียบเหมือนสานตระกร้า ยังไม่เสร็จก็หันไปสานกระจาด ยังไม่ ทันเป็นกระจาดก็หันไปสานกระบุงได้สักพักหนึ่ง ก็ย้ายไปสานปุ้งกี๋ อะไรทำนองนี้ เป็นอันว่ายังไม่ทันเป็นผลสำเร็จสักอย่างเดียว จึงไม่ได้ทั้งตระกร้า กระจาด กระบุง หรือปุ้งกี๋เลยสักอย่างเดียว เพราะว่าซัดส่ายยักย้ายเรื่อยไป กิจการนั้นจึงเกิดผลไม่ สมบูรณ์ฉันใด อุทธัจจจิตก็เป็นฉันนั้น คิดอย่างโน้นหน่อย กลับมาคิดอย่างนี้นิดแล้ว หวนไปคิดอย่างนั้นอีกต่อไป ความคิดนั้นพร่ำเพรื่อเลื่อนลอยไป ไม่มุ่งมั่น เพ่งเล็ง ถึงให้เกิดผลอย่างจริงจัง จึงทำให้ไม่เป็นโล้เป็นพาย ถึงกับให้เกิดเป็นผลอย่าง สมบูรณ์ขึ้นมาได้ เหตุนี้อุทธัจจจิตจึงไม่มีกำลังแรงมากพอที่จะส่งผลให้เป็นถึง ปฏิสนธิไปได้ ได้แต่เพียงให้ผลในปวัตติกาลเท่านั้นเอง
ส่วนวิจิกิจฉาจิต ถึงแม้จะเป็นจิตที่ลังเล สงสัย ไม่แน่ใจที่จะตัดสินเด็ดขาดลง ไปได้ก็จริง แต่ว่าถ้าคิดถึงอารมณ์นั้นขึ้นมาเมื่อใดเป็นลังเลสงสัยอยู่เมื่อนั้น เป็น ความสงสัยอย่างแรงกล้า ปักใจสงสัยอยู่นั้นเอง ไม่ถอนความสงสัยไปได้เลย อีก ประการหนึ่ง ความสงสัยต่าง ๆ ที่เรียกว่า วิจิกิจฉาจิตนี้ ก็เป็นความสงสัยที่ โน้มเอียง ไปในทางดูหมิ่นดูแคลนอยู่ เพราะความปักใจมุ่งมั่น สงสัยแล้วสงสัยอีก ด้วยอาการที่ โน้มเอียงไป ในทางดูแคลน นี่แหละจึงเป็นกำลังแรงถึงกับให้เกิดเป็น ผลสมบูรณ์ขึ้นมาได้ เหตุนี้วิจิกิจฉาจิตจึงมีกำลังแรง สามารถส่งผลให้ได้ทั้งใน ปฏิสนธิกาล และในปวัตติกาล

 
(๒) มหากุสลกรรม ๘ ที่เกิดขึ้นโดยมีบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ เป็นที่ตั้งนั้น ย่อม ส่งผลในปฏิสนธิกาลให้สืบต่อภพต่อชาติ โดยให้เกิดเป็นมนุษย์ ในมนุสสภูมิ ๑ และ เป็นเทวดา ในเทวดาภูมิ ๖
ส่วนในปวัตติกาลนั้น มหากุสลกรรม ๘ ก็ส่งผลให้
ก. อเหตุกกุสลวิบาก ๘ ดวง เกิดขึ้นในกามภูมิ ๑๑ โดยทำหน้าที่ให้ได้เห็น สิ่งที่ดี ให้ได้ยินสิ่งที่ดี เป็นต้น
ข. อเหตุกกุสลวิบาก ๕ ดวง (คือ จักขุวิญญาณ ๑, โสตวิญญาณ ๑, สัมปฏิจฉันนะ ๑ และสันตีรณะ ๒ เฉพาะที่เป็นกุสลวิบาก) เกิดขึ้นในรูปภูมิ ๑๕ (เว้นอสัญญสัตตภูมิ)
ค. มหาวิบาก ๘ ดวง เกิดขึ้นในกามสุคติภูมิ ๗ โดยทำหน้าที่ภวังคกิจ ตทาลัมพนกิจ และจุติกิจ


หน้า ๗๑

(๓) อนึ่ง มหากุสลกรรม ๘ นี้ แม้ในมหากุสลกรรมอย่างเดียวกัน ก็อาจ ให้ผลต่างกันได้ ถ้าหากว่าเจตนาในการกระทำนั้นยิ่งหรือหย่อนกว่ากัน กล่าวคือ บุพพเจตนา ความตั้งใจก่อนกระทำ มุญจเจตนา ความตั้งใจในขณะกระทำ อปรเจตนา ความตั้งใจในเมื่อได้กระทำเสร็จแล้วใหม่ ๆ และ อปราปรเจตนา ความตั้งใจในเมื่อกระทำเสร็จแล้วไปนาน ๆ นั้น เป็นเจตนาที่ดีอยู่ทุกระยะ ก็นับว่าเป็น อุกกัฏฐะ คือ เป็นอย่างอุกฤษณ์เป็นอย่างยิ่ง ถ้าเจตนานั้นหย่อนไปบ้าง ก็เป็น โอมกะ ดังจะปรากฏรายละเอียดในภาพซึ่งจะแสดงในข้อ (๗) ต่อไป

 
(๔) ในมหากุสลกรรม ๘ นั้น กุสลกรรมชนิดที่เป็น ติเหตุกะ และเป็นอย่าง อุกกัฏฐะ ย่อมให้ปฏิสนธิที่เป็นชนิด ติเหตุกะ แล้วทำวิบากจิต ๑๖ เกิดเป็นผลใน ปวัตติกาล ดังมีบาลีในสังคหะแสดงไว้ว่า  

ตตฺถาปิ ติเหตุกมุกฺกฏฺฐ กุสลํ
ติเหตุกํ ปฏิสนฺธิ ทตฺวา ปวตฺเต โสฬสวีปากานิ วิปจฺจติ ฯ

 
(๕) กุสลกรรมชนิดที่เป็น ติเหตุกโอมกะ และชนิดที่เป็นทวิเหตุกะอุกกัฏฐะ ทั้ง ๒ ชนิดนี้นั้น ย่อมให้ปฏิสนธิที่เป็นชนิด ทวิเหตุกะ แล้วทำให้วิบากจิต ๑๒ (เว้นมหาวิบากญาณสัมปยุตตจิต ๔) เกิดเป็นผลในปวัตติกาล ดังมีบาลีในสังคหะ แสดงไว้ว่า ติเหตุกโมมกํ ทฺวิเหตุกมุกฺกฏฺฐญฺจ กุสลํ ทฺวิเหตุกํ ปฏิสนฺธึ ทตฺวา ปวตฺเต ติเหตุกรหิตานิ ทฺวาทสวิปากานิ วิปจฺจติฯ

 
(๖) ส่วนกุสลกรรมชนิดที่เป็น ทวิเหตุกโอมกะ ย่อมให้ปฏิสนธิเป็น อเหตุก กุสลวิบากสันตีรณจิต ๑ ดวง นั่นเอง และทำให้อเหตุกกุสลวิบากจิต ๘ ดวง นั่นแหละเกิดเป็นผลในปวัตติกาล ดังมีบาลีในสังคหะแสดงไว้ว่า ทฺวิเหตุกโมมกํ ปน
กุสลํ อเหตุกเมว ปฏิสนฺธิ เทติ ปวตฺเตจ อเหตุกวิปากาเนว วิปจฺจติฯ

 
(๗) เมื่อสรุปแล้ว แสดงเป็นภาพได้ดังนี้

ติเหตุก คือ ทำกุศลด้วย มหากุศลญาณสัมปยุตตจิต ๔ ดวง

ทวิเหตุก คือ ทำกุศลด้วย มหากุศลญาณวิปปยุตต ๔ ดวง

 

บุพฺพ
เจตนา

มุญฺจ
เจตนา

อปร
เจตนา

อปราปร
เจตนา

ปฏิสนธิเป็น

ติเหตุก
ติเหตุก

อุกกัฏฐุกกัฏฐะ
อุกกัฏโฐมกะ

ดี
ดี

ดี
ดี

ดี
ดี

ดี
ไม่ดี

ปฏิสนธิเป็นไตรเหตุ
ปวัตติได้วิบากจิต ๑๖

ติเหตุก
ติเหตุก

ทวิเหตุก
ทวิเหตุก

โอมกุกกัฏฐะ
โอมโกมกะ

อุกกัฏฐุกกัฏฐะ
อุกกัฏโฐมกะ

ไม่ดี
ไม่ดี

ดี
ดี

ดี
ดี

ดี
ดี

ดี
ไม่ดี

ดี
ดี

ไม่ดี
ไม่ดี

ดี
ไม่ดี

ปฏิสนธิเป็นทวิเหตุ
ปวัตติได้วิบากจิต ๑๒

ทวิเหตุก
ทวิเหตุก

โอมกุกกัฏฐะ
โอมโกมกะ

ไม่ดี
ไม่ดี

ดี
ดี

ดี
ไม่ดี

ไม่ดี
ไม่ดี

ปฏิสนธิเป็นอเหตุก
ปวัตติได้วิบากจิต ๘


หน้า ๗๒

(๘) พระมหาทัตตเถระ ซึ่งได้รับนับถือเป็นเกจิอาจารย์องค์หนึ่ง ได้แสดงมติ เกี่ยวกับอสังขาริกและสสังขาริกไว้ แม้พระอนุรุทธาจารย์จะไม่เห็นพ้องด้วยมตินั้น ถึงกระนั้นท่านก็ยังนำมาแสดงไว้ด้วย ดังปรากฏในคาถาสังคหะที่ ๖ และที่ ๗ ดังนี้


๖. อสงฺขารํ สสงฺขาร วิปากานิ น ปจฺจติ
สสงฺขารมสงฺขาร วิปากานีติ เกจ น ฯ


แปลความว่า กุสลกรรมที่เป็นอสังขาริก ไม่ให้ผลเป็นสสังขาริกวิบาก และกุสลกรรมที่เป็น สสังขาริก ไม่ให้ผลเป็นอสังขาริกวิบากฯ


๗. เตสํ ทฺวาทส ปากานิ ทสฏฺฐ จ ยถากฺกมํ
ยถาวุตฺตานุสาเรน ยถาสมฺภวมุทฺทิเส ฯ


แปลความว่า ตามนัยของเกจิอาจารย์นั้นย่อมเกิดวิบากจิต ๑๒,๑๐ และ ๘ ดวง โดยลำดับ ตามสมควร
มีความหมายตามนัยแห่งเกจิอาจารย์ ดังนี้
ก. ติเหตุกอุกัฏฐกุสลอสังขาริก ๒ ดวง

ให้ผลเกิดขึ้น ๑๒ คือ อเหตุกกุสล วิบาก ๘ มหาวิบากอสังขาริก ๔
ข. ติเหตุกอุกัฏฐกุสลสสังขาริก ๒ ดวง

ให้ผลเกิดขึ้น ๑๒ คือ อเหตุกกุสล วิบาก ๘ มหาวิบากสสังขาริก ๔
ค. ติเหตุกโอมกกุสลอสังขาริก ๒ ดวง และทวิเหตุกอุกกัฏฐกุสลอสังขาริก ๒ ดวง

รวม ๔ ดวงนี้ ให้ผลเกิดขึ้น ๑๐ คือ อเหตุกกุสลวิบาก ๘ มหาวิบากญาณ วิปปยุตตอสังขาริก ๒
ง. ติเหตุกโอมกกุสลสสังขาริก ๒ ดวง และทวิเหตุกอุกกัฏฐกุสลสสังขาริก ๒ ดวง รวม ๔ ดวงนี้ ให้ผลเกิดขึ้น ๑๐ คือ อเหตุกกุสลวิบาก ๘ มหาวิบากญาณ วิปปยุตตสสังขาริก ๒
จ. ทวิเหตุกโอมกกุสลอสังขาริก ๒ ดวงและสสังขาริก ๒ ดวง รวม ๔ ดวง นี้ ให้ผลเกิดขึ้น ๘ คือ อเหตุกกุสลวิบาก ๘
ฉ. เมื่อสรุปตามนัยของเกจิอาจารย์ ดังที่ได้กล่าวมาแล้วนี้ แสดงเป็นภาพได้ ดังนี้ คือ


หน้า ๗๓

ติเหตุกอุกกัฏฐ

อสังขาริก ๒
สสังขาริก ๒

ได้มหาวิบาก
ได้มหาวิบาก

อสังขาริก ๔ อเหตุกกุสลวิบาก ๘
สสังขาริก ๔ อเหตุกกุสลวิบาก ๘

ติเหตุกโอมกะ

อสังขาริก ๒
สสังขาริก ๒

ได้มหาวิบาก
ญาณวิปปยุตต

อสังขาริก ๒ อเหตุกกุสลวิบาก ๘
สสังขาริก ๒ อเหตุกกุสลวิบาก ๘

ทวิเหตุกอุกกัฏฐะ

อสังขาริก ๒
สสังขาริก ๒

ได้มหาวิบาก
ญาณวิปปยุตต

อสังขาริก ๒ อเหตุกกุสลวิบาก ๘
สสังขาริก ๒ อเหตุกกุสลวิบาก ๘

ทวิเหตุกโอมกะ

อสังขาริก ๒
สสังขาริก ๒

ได้อเหตุกกุสลวิบาก ๘
ได้อเหตุกกุสลวิบาก ๘

 

 

(๙) ฐานที่ตั้งแห่งผลของมหัคคตกุสลกรรมนั้น มีคาถาสังคหะอันเป็นคาถาที่ ๘ แสดงว่า


๘. อิตฺถํ มหคฺคตํ ปุญฺญํ ยถา ภูมิ ววตฺถิตํ
ชเนติ สทิสํ ปากํ ปฏิสนฺธิปฺปวตฺติยํ ฯ


แปลความว่า มหัคคตกุสลกรรมย่อมให้เกิดวิบาก กำหนดตามภูมิเหมือนกันทั้งในปฏิสนธิ กาล และปวัตติกาลฯ
มีความหมายว่า กุสลที่เจริญรูปฌาน อรูปฌานนั้น ย่อมส่งผลให้เกิด มหัคคต วิบากตามภูมิตามชั้น และเป็นวิบากที่เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นในปฏิสนธิกาล หรือ ในปวัตติกาล

 
(๑๐) รูปาวจรกุสลกรรม ย่อมส่งผลในปฏิสนธิกาล ให้สืบต่อภพต่อชาติเป็น รูปพรหมบุคคลในรูปภูมิ ๑๖ ตามภูมิ ตามชั้นแห่งรูปฌานที่ตนได้ด้วยรูปาวจรวิบากและในปวัตติกาล ก็รูปาวจรวิบากนั่นแหละ เกิดขึ้นรักษาภพรักษาชาติ คือทำ หน้าที่ ภวังค ต่อไปก็ทำหน้าที่ จุติ อีกด้วย รูปาวจรกุสลกรรมชั้นใด ส่งผลให้เกิดรูปาวจรวิบากชั้นไหนนั้น ได้แสดงแล้ว ข้างต้นตอนปฏิสนธิจตุกะ

 
(๑๑) อรูปาวจรกุสลกรรม ก็ย่อมส่งผลทั้งในปฏิสนธิกาล และในปวัตติกาล ให้เกิดอรูปาวจรวิบากตามภูมิตามลำดับ ดังที่ได้แสดงแล้วข้างต้นตอนปฏิสนธิจตุกะ นั้นเช่นเดียวกัน จึงไม่ต้องกล่าวซ้ำในที่นี้อีก


หน้า ๗๔

 

หมวดที่ ๔ มรณจตุกะ

มรณะ แปลว่า จุติ หรือ ดับ หรือ ตาย จำแนกได้เป็น ๓ ประเภท คือ
๑. ขณิกมรณะ การดับของรูปนามตามนัยของอุปปาทะ ฐีติ ภังคะ
๒. สมมติมรณะ การดับ การตายของคน ของสัตว์ อันเป็นโวหารของโลกที่ ใช้กันทั่ว ๆ ไป อยู่เสมอ
๓. สมุจเฉทมรณะ การปรินิพพานของพระอรหันต์
มรณะจตุกะ ที่จะกล่าวในหมวดนี้ กล่าวถึง สมมติมรณะ และ สมุจเฉท มรณะ รวม ๒ ประเภทเท่านั้น ส่วนขณิกมรณะไม่เกี่ยวข้องที่จะต้องพูดถึงในที่นี้
สมมติมรณะของคนและสัตว์ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ความตายของคนและสัตว์ นั้น หมายถึง การสิ้นไปแห่ง อนุบาลธรรม ๓ ประการ คือ
๑. ความสิ้นไป หมดไปแห่งอายุ คือ กัมมชรูป
๒. ความสิ้นไป หมดไปแห่งอุสมาเตโช ซึ่งเป็นธาตุไฟที่ยังความอบอุ่นให้แก่ ร่างกาย
๓. ความสิ้นไป หมดไปแห่งวิญญาณ คือ ภวังคจิต (เฉพาะข้อนี้ ต้องเว้น อสัญญสัตต เพราะไม่มีวิญญาณ) มรณุปปัตติ ความตายที่อุบัติขึ้นนั้นมี ๔ ประการดังนั้นจึงชื่อว่า มรณจตุกะ ความตาย ๔ ประการนั้น ได้แก่
(๑) อายุกขยมรณะ ตายเพราะสิ้นอายุ
(๒) กัมมักขยมรณะ ตายเพราะสิ้นกรรม
(๓) อุภยักขยมรณะตายเพราะสิ้นทั้ง ๒อย่าง (คือสิ้นทั้งอายุและสิ้นทั้งกรรม)
(๔) อุปัจเฉทกมรณะ ตายโดยยังไม่ทันสิ้นอายุ และสิ้นกรรม
อายุกขยมรณะตายเพราะสิ้นอายุ ๑, กัมมักขยมรณะตายเพราะสิ้นกรรม ๑ และอุภยักขยมรณะตายเพราะสิ้นทั้ง
อายุสิ้นทั้งกรรม ๑ มรณะทั้ง ๓ อย่างนี้เรียกว่า กาลมรณะ คือ ถึงกาลเวลาที่ควรตาย
ส่วนอุปัจเฉทกมรณะ ตายโดยยังไม่ทันสิ้นอายุและสิ้นกรรมนั้น เรียกว่า อกาลมรณะ คือยังไม่ถึงกาลเวลาที่ควรตาย แต่มาตายลงเพราะภัยเพราะอันตราย อย่างใดอย่างหนึ่ง


หน้า ๗๕

๑. อายุกขยมรณะ

การตายเพราะสิ้นอายุนั้น หมายถึง ตายเมื่อแก่ คือ ถึงซึ่งความชราแล้วจึง ตาย เพราะสังขารร่างกายได้ดำรงคงอยู่มานานพอควรแล้ว ก็ย่อมเสื่อมโทรมลงจน ถึงวาระที่แตกดับทำลายไป
ในสมัยพุทธกาล คนเรามีอายุ ๑๐๐ ปี โดยประมาณ นับแต่สมเด็จพระสัมมา สัมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธ์เข้าสู่ปรินิพพานแล้ว อายุคนก็ลดน้อยลงในอัตรา ๑๐๐ ต่อ ๑ คือ กาลเวลาล่วงไป ๑๐๐ ปี อายุขัย หรืออายุกัปป์ของคนเราก็ลดน้อยลงไป ๑ ปี จนถึงบัดนี้กาลเวลาได้ล่วงเลย ๑๐๐ ปี ไปถึง ๒๕ รอบแล้ว อายุขัย อายุกัปป์ ก็ลดลง ๒๕ ปี ดังนั้นอายุขัยของคนในปัจจุบันจึงประมาณ ๗๕ ปีเท่านั้น ถ้าผู้ใด อยู่ถึง ๗๕ ปี แม้จะน้อยไปหน่อย หรือมากไปสักนิดแล้วจึงตาย ดังนี้เรียกว่าตาย เพราะสิ้นอายุ
อีกนัยหนึ่งท่านกล่าวว่า การตายของปุถุชนทั้งหลาย ตลอดจนการตายของ พระเสกขบุคคล นั่นแหละ จึงเรียกว่า อายุกขยมรณะ ตายเพราะสิ้นอายุ


๒. กัมมักขยมรณะ

ตายเพราะสิ้นกรรม หมายถึงว่า ผู้ที่ตายนั้นอายุยังน้อย ยังเป็นเด็ก เป็นหนุ่ม เป็นสาวอยู่ ยังไม่ถึงอายุขัยก็มาตายลงเป็นอันหมดกรรมที่จะต้องได้รับในชาตินี้ แต่เพียงเท่านี้ ดังที่กล่าวกันธรรมดาสามัญว่า หมดเวรหมดกรรมกันเสียที หรือว่า ผู้ที่ตายนั้นมีอายุมากมายจนแก่หง่อมหนักหนาจึงได้ตาย การที่ได้อยู่จนถึงกับแก่ หง่อม งก ๆ เงิ่น ๆ หลง ๆ ลืม ๆ เช่นนี้ ก็เพราะยังไม่หมดกรรมที่ตนจะต้องได้รับ ในชาตินี้ (แม้จะหมดอายุขัยแล้วก็ตาม) จึงต้องทนทุกข์อยู่ไปจนกว่าจะตาย ที่เรียก กันว่า หมดบุญ ก็คือสิ้นกรรม นั่นเอง
อีกนัยหนึ่ง ท่านกล่าวว่า พระอรหันต์ทั้งหลายที่เข้าสู่ปรินิพพานนั่นแหละ เป็นการตายอย่าง กัมมักขยมรณะโดยตรง เพราะท่านสิ้นกรรมหมดกรรมโดยแท้ เป็น การสิ้นกรรมหมดกรรมอย่างเด็ดขาด เป็นสมุจเฉทจริงๆ ไม่เหมือนกับที่กล่าว ในวรรคต้นอันเป็นการสิ้นกรรมหมดกรรมเฉพาะภพนั้นชาตินั้นแต่ชาติเดียว อันเป็น การกล่าวได้โดยปริยาย หาใช่หมดกรรมสิ้นกรรมโดยแท้ไม่


๓. อุภยักขยมรณะ

ตายเพราะสิ้นทั้งอายุ และสิ้นทั้งกรรม หมายถึงว่า ไม่ได้ตายแต่เด็กแต่เล็ก ต่อเมื่อถึงอายุขัยจึงตาย ประจวบกับหมดกรรมด้วยพอดี ไม่ต้องทรมานรับกรรม ใช้ กรรมจนแก่หง่อมดังกล่าวแล้วในข้อต้น ดังนี้แหละ ที่เรียกว่าอุภยักขยมรณะ


หน้า ๗๖

อีกนัยหนึ่ง ท่านกล่าวว่า การปรินิพพานของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และการปรินิพพานของ พระปัจเจกพุทธเจ้า ๒ พระองค์เท่านี้แหละ จึงจะเรียกได้ ว่าเป็น อุภยักขยมรณะ เพราะท่านต้องอยู่จนถึงอายุขัย (ที่มีเงื่อนไข) แม้ใครจะประทุษร้ายอย่างใด ก็ไม่ทำให้ตายได้ และท่านเป็นผู้ที่หมดกรรมแล้วโดยสิ้นเชิง


๔. อุปัจเฉทกมรณะ

ตายโดยยังไม่ทันสิ้นอายุและสิ้นกรรม เพราะมีภัย มีอันตรายอย่างหนึ่งอย่างใด มารบกวนตัดรอนทอนอายุให้ขาดลงไป ภัยหรืออันตรายที่มาทำให้ถึงตาย เช่น ศัตราวุธ ถูกวางยาเบื่อ ถูกสัตว์อื่นทำร้าย ถูกรถทับ ไฟครอก จมน้ำ อดน้ำอดข้าว เป็นโรค ตลอดจนตายด้วยแรงโลภะ แรงโทสะ เหล่านี้เป็นต้น ไม่ได้ตายอย่างปกติ ธรรมดาสามัญเหมือน ๓ อย่างตรงข้างต้นนั้น จึงได้เรียกว่าเป็นอุปัจเฉทกมรณะ ซึ่งจัดเป็นอกาลมรณะ เพราะว่าถ้าหากว่าไม่ได้รับภยันตรายเช่นนั้น อาจจะยังไม่ถึง แก่มรณะก็ได้
ก่อนที่สัตว์จะถึงแก่มรณะ ไม่ว่าจะมรณะอย่างใดอย่างหนึ่งใน ๔ อย่าง ที่กล่าวแล้วนี้ จะต้องมีมรณาสันนวิถีเกิดขึ้น ทุกตัวสัตว์ เว้นอสัญญสัตตพรหม แต่อย่างเดียวเท่านั้น ที่ก่อนจุติไม่มีมรณาสันนวิถี เพราะอสัญญสัตตพรหม ไม่มีจิต จึงไม่มีวิถีจิต


มรณาสันนวิถี

วิถีจิตสุดท้ายที่สัตว์จะถึงแก่มรณะนั้น เรียกว่า มรณาสันนวิถี เมื่อสุดมรณา สันนวิถีแล้ว จุติจิตก็เกิดขึ้นแน่นอน สัตว์นั้นก็ถึงแก่มรณะ จุติจิตเป็นจิตดวงสุดท้าย ของภพนั้นชาตินั้น เป็นอันสิ้นภพสิ้นชาติในภพนั้นชาตินั้น กันเสียที ต่อจากจุติจิต คือเมื่อจุติจิตดับลงไปแล้ว ปฏิสนธิจิตก็เกิดติดต่อกันในทันที ทันใด โดยไม่มีจิตอื่นใดมาเกิดคั่นในระหว่างนั้นเลย ปฏิสนธิจิตเป็นจิตดวงแรกที่ เกิดสืบต่อก่อภพใหม่ ชาติใหม่ต่อไปอีก (เว้นจุติจิตของพระอรหันต์ จึงไม่มีปฏิสนธิ จิตมาสืบต่อ เพราะพระอรหันต์ไม่ต้องเกิดต่อไปอีกแล้ว)
มรณาสันนวิถี มีได้ทั้งทางปัญจทวารและมโนทวาร กล่าวคือ ถ้ามีรูป เสียง กลิ่น รส การสัมผัสถูกต้องเป็นอารมณ์ มรณาสันนวิถีนั้น ก็เรียกว่า มรณาสันนวิถี ทาง จักขุทวาร โสตทวาร ฆานทวาร เป็นต้น ตามควรแก่อารมณ์ที่มาปรากฏนั้น ถ้ามีความคิดนึกทางใจก็เรียกว่า มรณาสันนวิถีทางมโนทวาร


หน้า ๗๗

มรณาสันนวิถี ไม่ว่าจะเกิดทางปัญจทวาร หรือทางมโนทวารก็ตาม วิถีนั้นมี ชวนะเพียง ๕ ขณะเท่านั้น เพราะจิตใจที่กำลังอ่อนเต็มที จะขาดใจอยู่แล้ว มรณา สันนวิถีมี ๔ อย่าง คือ
ก. มรณาสันนวิถี ที่จุติจิตเกิดขึ้นในที่สุดแห่ง ชวนะ
ข. มรณาสันนวิถี ที่จุติจิตเกิดขึ้นในที่สุดแห่ง ชวนะ ภวังค
ค. มรณาสันนวิถี ที่จุติจิตเกิดขึ้นในที่สุดแห่ง ชวนะ ตทาลัมพนะ
ง. มรณาสันนวิถี ที่จุติจิตเกิดขึ้นในที่สุดแห่ง ชวนะ ตทาลัมพนะ ภวังคะ
มรณาสันนวิถีทางปัญจทวาร แต่ละทวารมี ๔ วิถี ดังนี้
ภ ตี ตี ตี น ท ป วิ สํ สัน วุ ช ช ช ช ช จุติ ปฏิ ภ
ภ ตี ตี ตี น ท ป วิ สํ สัน วุ ช ช ช ช ช ภ จุติ ปฏิ ภ
ภ ตี น ท ป วิ สํ สัน วุ ช ช ช ช ช ต ต จุติ ปฏิ ภ
ภ ตี น ท ป วิ สํ สัน วุ ช ช ช ช ช ต ต ภ จุติ ปฏิ ภ
มรณาสันนวิถีทางมโนทวาร มี ๔ วิถี เช่นเดียวกัน
ภ น ท มโน ช ช ช ช ช จุติ ปฏิ ภ
ภ น ท มโน ช ช ช ช ช ภ จุติ ปฏิ ภ
ภ น ท มโน ช ช ช ช ช ต ต จุติ ปฏิ ภ
ภ น ท มโน ช ช ช ช ช ต ต ภ จุติ ปฏิ ภ


อารมณ์ของสัตว์ที่มรณะ

อารมณ์ของสัตว์ที่มรณะหมายถึงอารมณ์ของชวนะจิต ๕ ขณะในมรณาสันนวิถี ในกาลแห่งสัตว์อันใกล้มรณะนั้น จะต้องมีอารมณ์อันมีชื่อเรียกเป็นพิเศษโดย เฉพาะว่า กรรมอารมณ์ กรรมนิมิตอารมณ์ หรือคตินิมิตอารมณ์ อย่างใด อย่างหนึ่งมาปรากฏแก่ชวนะจิตในมรณาสันนวิถี อารมณ์นี้จะต้องเกิดทั่วทุกคนทุก ตัวสัตว์ เว้นแต่ อสัญญสัตตพรหม และพระอรหันต์
ที่เว้น อสัญญสัตตพรหม เพราะอสัญญสัตตพรหมไม่มีจิต จึงไม่มีอารมณ์ ส่วนที่เว้นพระอรหันต์ด้วยนั้น เพราะพระอรหันต์ไม่ต้องไปเกิดอีกแล้ว จึงไม่มี อารมณ์ที่มีชื่อเฉพาะ ๓ อย่างนี้ อันเป็นเครื่องหมายแห่งการเกิด


หน้า ๗๘

ชวนะจิตในมรณาสันนวิถี (บางทีก็เรียกกันสั้น ๆ ว่า มรณาสันนชวนะ) แต่ ชาติก่อนมีสิ่งใดเป็นอารมณ์ จิตที่เป็นปฏิสนธิและภวังค ตลอดจนจุติจิตในปัจจุบัน ชาตินี้ ก็ถือเอาสิ่งนั้นเป็นอารมณ์ ปฏิสนธิจิต ภวังคจิต และจุติจิตในภพเดียวกัน ในชาติเดียวกันในบุคคลเดียวกัน เป็นจิตดวงเดียวกันและมีอารมณ์ อย่างเดียวกันด้วย


กรรมอารมณ์

กรรมอารมณ์ที่เป็นฝ่ายกุสล คือ ตนได้ให้ทาน รักษาศีล ฟังธรรม หรือเจริญ ภาวนามานั้น เคยทำอย่างไร ก็นึกก็คิดเหมือนอย่างที่ทำอยู่อย่างนั้น มรณาสันน ชวนะก็ถือเอาเป็นอารมณ์
ที่เป็นฝ่ายอกุสล คือ ตนเคยฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ฉ้อ ชิง เฆี่ยนตี จำจองสัตว์ อย่างไร ก็นึกก็คิดเหมือนอย่างที่ได้ทำอยู่อย่างนั้น มรณาสันนชวนะก็น้อมเอามา เป็นอารมณ์
กรรมอารมณ์นี้ ปรากฏทางมโนทวารทางเดียว ไม่ปรากฏทางทวารทั้ง ๕ เพราะกรรมอารมณ์นี้ นึกถึง คิดถึง การกระทำในอดีต เป็นอดีตอารมณ์ เป็น กรรมในอดีตที่ตนได้ทำแล้วอย่างไรก็หน่วงโน้มนำใจให้คิด ให้นึกเหมือนดังที่ได้ทำ อยู่อย่างนั้น เป็นแต่นึก เป็นแต่คิด ไม่ถึงกับมีเป็นภาพ เป็นนิมิตมาปรากฏ เมื่อมีกรรมอารมณ์เป็นกุสล ก็จะต้องไปสู่สุคคติ ถ้าหากว่ามีกรรมอารมณ์เป็น อกุสล ก็จะต้องไปสู่ทุคคติ


กรรมนิมิตอารมณ์

กรรมนิมิตอารมณ์ หมายถึง เครื่องมือ เครื่องใช้ที่ตนได้ใช้ในการกระทำกรรม นั้น ๆ
ที่เป็นฝ่ายกุสลก็เห็นเครื่องที่ตนได้ทำกุสล เช่น เห็นโบสถ์ เห็นพระพุทธรูปที่ ตนสร้าง เห็นพระที่ตนบวชให้ เห็นเครื่องสักการะที่ตนใช้บูชา เห็นผ้าผ่อนที่ตนให้ ทาน เหล่านี้เป็นต้น มรณาสันนชวนะก็หน่วงเอามาเป็นอารมณ์
ที่เป็นฝ่ายอกุสล เช่น เห็นแห อวน หอก ดาบ มีด ไม้ ปืน เครื่องเบียด เบียนสัตว์ ที่ตนเคยใช้ในการทำบาป เป็นต้น มรณาสันนชวนะก็น้อมมาเป็นอารมณ์
ทั้งนี้ ถ้าเป็นแต่เพียงคิด เพียงแต่นึกถึงเครื่องมือ เครื่องใช้นั้น ๆ ก็ปรากฏ ทางมโนทวาร เป็นอดีตอารมณ์ แต่ถ้าได้เห็นด้วยนัยน์ตาจริง ๆ ด้วย ได้ยินทางหู จริง ๆ ด้วย ได้กลิ่นทางจมูกจริง ๆ ด้วย ก็เป็นทางปัญจทวาร และเป็นปัจจุบัน อารมณ์ด้วย
เมื่อมีกรรมนิมิตอารมณ์เป็นกุสล ก็นำไปสู่สุคคติ แต่ถ้าหากว่ามีกรรมนิมิต อารมณ์เป็นอกุสล ย่อมนำไปสู่ทุคคติ


หน้า ๗๙

คตินิมิตอารมณ์

คตินิมิตอารมณ์ คือ นึกเห็นเครื่องหมายที่จะนำไปสู่สุคติ หรือทุคคติ
ถ้าจะไปสู่สุคคติ ก็จะปรากฏเป็นวิมาน เป็นปราสาททิพยสมบัติ เป็นนางเทพ อัปสร เป็นรั้ววัง เป็นวัดวาอาราม เป็นภิกษุสามเณร เป็นครรภ์มารดา เป็นต้น ล้วนแต่เป็นสิ่งที่ดี
ถ้าจะไปสู่ทุคคติ ก็จะปรากฏเป็นเปลวไฟ เป็นเหว เป็นถ้ำอันมืดมัว เป็นนาย นิรยบาล เป็นสุนัข แร้ง กา จะมาเบียดเบียนทำร้ายตนเป็นต้น ล้วนแต่เป็นสิ่งที่ เลวร้าย
ทั้งนี้ปรากฏทางมโนทวารแต่ทางเดียว คือ เห็นทางใจ และจัดเป็นปัจจุบัน อารมณ์ เพราะกำลังนึกเห็นอยู่
อารมณ์ของกามาวจรปฏิสนธิ คือ จะไปเกิดในกามภูมินั้น มรณาสันนชวนะ จะมีกรรมอารมณ์ หรือ กรรมนิมิต
อารมณ์ หรือคตินิมิตอารมณ์ อย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ได้ และอารมณ์เหล่านั้นล้วนแต่เป็นกามธรรม คือ กามอารมณ์ทั้งสิ้น อารมณ์ของรูปาวจรปฏิสนธิ คือ จะไปเกิดในรูปาวจรภูมิเป็นรูปพรหมนั้น มรณาสันนชวนะมีเฉพาะกรรมนิมิต
อารมณ์แต่อย่างเดียวเท่านั้น โดยมีบัญญัติธรรม เป็นอารมณ์ กล่าวคือ ตนได้ฌานด้วยอารมณ์กัมมัฏฐานใด มรณาสันนชวนะ ก็มี กัมมัฏฐานนั้นแหละเป็นอารมณ์

 
อารมณ์ของอรูปาวจรปฏิสนธิ คือ จะไปเกิดในอรูปาวจรภูมิ เป็นอรูปพรหม นั้น มรณาสันนชวนะก็มีเฉพาะกรรมนิมิตอารมณ์แต่อย่างเดียวเหมือนกัน โดยมี บัญญัติธรรม หรือมหัคคตธรรมเป็นอารมณ์ ตามควรแก่อรูปฌานที่ตนได้


จุติ แล้ว ปฏิสนธิ

สัตว์ที่จุติแล้วปฏิสนธิ เป็นอสัญญสัตตพรหม ซึ่งมีแต่รูปไม่มีนามจิต และ นามเจตสิกด้วยเลย เพราะเหตุนี้ อสัญญีสัตว์จึงชื่อว่า รูปปฏิสนธิ


หน้า ๘๐

สัตว์ที่จุติแล้วปฏิสนธิเป็นอรูปพรหม ซึ่งมีแต่นามจิต และนามเจตสิกเท่านั้น ไม่มีรูปด้วยเลย เพราะเหตุนี้อรูปสัตว์ จึงชื่อว่า อรูปปฏิสนธิ
สัตว์ที่จุติแล้วปฏิสนธิเป็นสัตว์อย่างอื่น ไม่ใช่เป็นอสัญญีสัตว์ หรืออรูปสัตว์ แล้วก็เป็นสัตว์ที่มีทั้งรูปทั้งนาม ดังนี้จึงชื่อว่า รูปารูปปฏิสนธิ
สัตว์ใดจุติแล้วปฏิสนธิเป็นอะไร มีคาถาสังคหะเป็นคาถาที่ ๙ และที่ ๑๐ แสดงว่า


๙. อารุปฺปจุติยา โหนฺติ เหฏฺฐิมารุปฺปวชฺชิตา
ปรมารุปฺปสนฺธิ จ ตถา กามติเหตุกา ฯ


แปลความว่า อรูปพรหมจุติ ย่อมไม่ปฏิสนธิในอรูปภูมิชั้นที่ต่ำกว่าเดิม แต่ถ้าปฏิสนธิใน กามภูมิ ต้องเป็นไตรเหตุฯ


๑๐. รูปาวจรจุติยา อเหตุรหิตา สิยุํ
สพฺพา กามติเหตุมฺหา กาเมเสฺวว ปเนตรา ฯ


แปลความว่า รูปพรหมจุติ ถ้าปฏิสนธิในกามภูมิ ก็เป็นไตรเหตุ หรือทวิเหตุ ไม่เป็นอเหตุก สัตว์ และอบายสัตว์


อธิบาย

๑. อรูปพรหมจุติ ย่อมได้ปฏิสนธิจิต ๘ ดวง คือ
ก. เกิดในอรูปพรหมอีก (ปฏิสนธิด้วยอรูปวิบาก ๔) ย่อมเกิดในอรูปพรหม ชั้นนั้นหรือชั้นที่สูงกว่า ไม่ปฏิสนธิในชั้นที่ต่ำกว่า เพราะเป็นธรรมดาของอรูปพรหม ที่ย่อมเว้นหรือหน่ายจากฌานเบื้องต่ำ
ข. เกิดในกามภูมิย่อมเกิดเป็นไตรเหตุ ที่เรียกว่ากามติเหตุกปฏิสนธิ (ปฏิสนธิ ด้วยมหาวิบากญาณสัมปยุตต ๔) อนึ่งอรูปพรหมที่เป็นพระอริยนั้น จะไม่กลับมาเกิดในกามภูมิอีกเลย และ เฉพาะเนวสัญญานาสัญญายตนพรหมที่เป็นพระอริยนั้น ก็จะไม่ไปเกิดในภูมิอื่นเลย จะต้องสำเร็จเป็นพระอรหันต์ และปรินิพพานในเนวสัญญานาสัญญายตนภูมินั่นเอง


๒. รูปพรหมจุติ แบ่งได้เป็น ๓ จำพวก คือ
จำพวกที่ ๑ เป็นพระอนาคามีที่เป็นรูปพรหมในสุทธาวาสภูมิ ๕ พระ อนาคามีในสุทธาวาสภูมินี้ ถ้าไม่สำเร็จเป็นพระอรหันต์และปรินิพพานในชั้นนั้นแล้ว เมื่อจุติก็ต้องปฏิสนธิในสุทธาวาสภูมิชั้นที่สูงกว่าตามลำดับไป จนกว่าจะปรินิพพาน ไม่มีการเกิดซ้ำชั้นเลย


หน้า ๘๑

จำพวกที่ ๒ เป็นรูปพรหมใน ๑๐ ภูมิ คือ เว้นสุทธาวาสภูมิ ๕ และอสัญญ สัตตภูมิ ๑, รูปพรหม ๑๐ ภูมินี้ ย่อมได้ปฏิสนธิจิต ๑๗ ดวง คือ
ก. เกิดในอรูปพรหม (ปฏิสนธิด้วย อรูปาวจรวิบาก ๔)
ข. เกิดในรูปพรหมอีก (ปฏิสนธิด้วย รูปาวจรวิบาก ๕)
ค. เกิดในกามสุคติภูมิ ๗ (ปฏิสนธิด้วยมหาวิบาก ๘) ย่อมเกิดเป็นไตรเหตุ บ้าง ทวิเหตุบ้าง แต่ไม่เกิด
เป็นอเหตุกสัตว์
อนึ่งรูปพรหมที่เป็นพระอริยนั้น จะไม่มาเกิดในกามภูมิอีกเลย และไม่เกิดใน รูปพรหมชั้นที่ต่ำกว่าด้วย
สำหรับพระอริยที่เป็นรูปพรหมในชั้นเวหัปผลาภูมิ เมื่อยังไม่สำเร็จเป็นพระอรหันต์ก็ไม่เกิดย้ายไปภูมิอื่น ต้องเกิดซ้ำ
อยู่ในชั้นเวหัปผลาภูมินั้น จนกว่าจะสำเร็จเป็นพระอรหันต์ และปรินิพพานในเวหัปผลาภูมินั้นเอง
จำพวกที่ ๓ เป็นอสัญญสัตตพรหม เมื่อจุติแล้วย่อมไปเกิดแต่ในกามสุคติภูมิ ๗ เท่านั้น เป็นไตรเหตุบ้าง เป็นทวิเหตุบ้าง

 
๓. เทวดาและมนุษย์จุตินั้น ปฏิสนธิไม่เที่ยง บางทีก็ไปเกิดในอบายภูมิบ้าง ในมนุษย์บ้าง ในเทวดาบ้าง ในรูปพรหมบ้าง ในอรูปพรหมบ้างตามควรแก่บาป และ บุญ
เป็นอันว่า กามสุคติบุคคลจุตินั้น ย่อมได้ปฏิสนธิทั้ง ๒๐* เกิดได้ทั้ง ๓๑ ภูมิ

 
๔. อบายสัตว์จุติ ย่อมได้ปฏิสนธิจิต ๑๐ ดวง คือ ไปเกิดในอบายอีกบ้าง ในมนุษย์บ้าง ในเทวดาบ้าง แต่ไม่สามารถไปเกิดในพรหมโลกชั้นหนึ่งชั้นใดเลย


คาถาสังคหะส่งท้าย


๑๑. ปฏิสนฺธิภวงฺควิถิโย จุติ เจห ตถา ภวนฺตเร
ปุน สนฺธิภวงฺคมิจฺจยํ ปริวตฺตติ จิตฺตสนฺตติ ฯ


แปลความว่า ปฏิสนธิจิต ภวังคจิต วิถีจิต และจุติจิต ในภพนี้ ชาตินี้ สืบเนื่องกันฉันใด ในภพหน้า ชาติหน้า ก็เป็นเหมือนกันฉันนั้นอีก


๑๒. ปฏิสงฺขาย ปเนตมทฺธุวํ อธิคนฺตฺวา ปทมจฺจุตมฺพุธา
สุสมุจฺฉินฺนสิเนหพนฺธนา สมเมสฺสนฺติ จิราย สุพฺพตา ฯ


แปลความว่า บัณฑิตทั้งหลาย พิจารณาเห็นสังขารนี้ว่า ไม่ยั่งยืน เพียรให้ถึงซึ่ง ธรรมอัน ไม่จุติ ตัดขาดจากความเยื่อใยที่ผูกมัดอยู่เสียได้จนหมดสิ้นแล้ว ก็ไม่ต้องสืบต่อภพ ใหม่ชาติใหม่อีก ได้แต่เสวย วิมุตติสุข อันประเสริฐกว่าสุขทั้งปวง  


* หมายเหตุ ปฏิสนธิ ๒๐ คือ อุเบกขาสันตีรณจิต ๒ มหาวิบากจิต ๘ มหัคคตวิบากจิต ๙ และรูปปฏิสนธิ ๑



หน้า ๘๒

 

อวสานคาถา


อิจฺจานุรุทฺธรจิเต อภิธมฺมตฺถสงฺคเห
ปญฺจโม ปริจฺเฉโทยํ สมาเสเนว นิฏฺฐิโต ฯ


นี้ปริจเฉทที่ ๕ ( ชื่อ วิถีมุตตสังคหวิภาค ) ในปกรณ์อันรวบรวมซึ่งอรรถแห่งพระอภิธรรม ที่พระอนุรุทธาจารย์ รจนาไว้ จบแล้วโดยย่อ เพียงเท่านี้แล

<<    >>