<<<                 >>>

หลักสูตร เรียนพระอภิธรรมทางอินเตอร์เนต

 

ตอนที่ ๑ สาระน่ารู้เกี่ยวกับพระอภิธรรม

 

คำนำ

 

เมื่อกล่าวถึงคำว่า พระอภิธรรม ก็มักจะถูกถามเสมอว่า
พระอภิธรรม คืออะไร
พระอภิธรรม เรียนเกี่ยวกับอะไร
ใครเป็นผู้แต่งพระอภิธรรม
เรียนพระอภิธรรมแล้ว ได้ประโยชน์อะไร
          คนส่วนใหญ่จะเข้าใจแต่เพียงว่า พระอภิธรรมเป็นบทสวด ในงานศพที่ไม่ค่อยจะมีใครฟังรู้เรื่อง แม้แต่ผู้สวดเองหลายท่านก็ไม่รู้ความหมาย
          
          พระอภิธรรม เป็นธรรมะชั้นสูงที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับปรมัตถธรรม ๔ ประการ อันได้แก่ จิต เจตสิก รูป และนิพพาน พระอภิธรรมเปรียบเสมือน แก่นแท้ของพระพุทธศาสนา มีเนื้อหาสุขุมล้ำลึก อันนำไปสู่ความรู้ความเข้าใจในเรื่องธรรมชาติ ของชีวิต เรื่องของกรร มและการส่งผลของ กรรม เรื่องภพภูมิต่างๆ เรื่องของการเวียนว่ายตายเกิด และเรื่องของการปฏิบัติเพื่อให้พ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด ซึ่งเป็นจุดหมายอันสูงสุดในพระพุทธศาสนา
          
          วิชาการทั้งหลายทางโลก ที่เราได้เคยเรียน เคยฟังและเคยอ่านกันมา มิใช่แต่เพียงในภพนี้เท่านั้น ในภพก่อนๆ ที่เราเวียนว่ายตายเกิดกันมาจน นับไม่ถ้วนนั้น เราก็คงได้เคยเรียน เคยฟัง และเคยอ่านกันมามากแล้ว แต่ก็ไม่เห็นว่า จะทำให้เราพ้นจากความทุกข์ พ้นจากความลำบาก หรือพ้น จากกิเลสไปได้เลย นี่ก็แสดงให้เห็นว่า วิชาการต่างๆ เหล่านั้นไม่ได้ทำให้ เราเกิดปัญญาอันถูกต้องอย่างแท้จริง แต่เป็นเพียงแค่ความรู้ทางโลกเพื่อ ใช้ในการดำรงชีพไปภพหนึ่ง ชาติหนึ่ง เท่านั้นเอง
          
          เพื่อให้เกิดความรู้ และความเข้าใจในเบื้องต้น เกี่ยวกับประวัติความ เป็นมา และเนื้อหาของ พระอภิธรรม อันจะนำไปสู่การศึกษา ที่ละเอียดลึกซึ้ง และการปฏิบัติเพื่อให้เกิดปัญญารู้แจ้ง ในสภาวธรรมตามความเป็นจริงต่อไป ข้าพเจ้าจึงได้รวบรวม และเรียบเรียง สาระน่ารู้เกี่ยวกับพระอภิธรรม นี้ขึ้น
          
          บุญกุศลอันเกิดขึ้นจากการรวบรวม และเรียบเรียงจนสำเร็จเป็น หนังสือเล่มนี้ ข้าพเจ้าขอบูชาแด่พระรัตนตรัย พระอรรถกถาจารย์ และ ปรมาจารย์ทั้งหลายที่ได้สืบสาน มรดกธรรมอันล้ำค่านี้ไว้ จนตกทอดมาถึง ปัจจุบัน
          
          และขอความสันติสุข ความเป็นผู้มีปัญญารู้แจ้ง ในหลักธรรมคำสอน ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จงบังเกิดแก่สรรพสัตว์ทั้งหลายที่ กำลังเวียนว่ายอยู่ใน ๓๑ ภพภูมิโดยทั่วกันเทอญ
          
วิศิษฐ์ ชัยสุวรรณ  
   

พระอภิธรรม คืออะไร

 

           หลังจากที่ สมเด็จพระสมณโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ตรัสรู้แล้ว พระองค์ได้ทรงแสดงธรรม โปรดเวไนยสัตว์ เป็นเวลายาวนานถึง ๔๕ พรรษา คำสอนที่พระพุทธองค์ ทรงแสดงไว้ทั้งหมดรวบรวมได้ ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ เรียกว่า พระไตรปิฎก ซึ่งบรรจุคำสอน และเรื่องราวของ พระพุทธศาสนาไว้โดยละเอียด

 

      พระไตรปิฎก แบ่งออกเป็น ๓ ปิฎกหรือ ๓ หมวด ด้วยกันคือ
๑. พระวินัยปิฎก
๒. พระสุตตันตปิฎก
๓. พระอภิธรรมปิฎก
          
          พระวินัยปิฎก หรือเรียกสั้นๆ ว่า พระวินัย เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า เกี่ยวกับศีลหรือสิกขาบท (บทบัญญัติ) ตลอดจนพิธีกรรม และ ธรรมเนียมของสงฆ์ อันเป็นกฎระเบียบที่พระภิกษุสงฆ์ และพระภิกษุณี สงฆ์จะต้องปฏิบัติ รวมถึงพุทธประวัติบางตอน และประวัติการทำสังคายนา มีทั้งสิ้น ๒๑,๐๐๐ พระธรรมขันธ์
          
      พระธรรมขันธ์ แบ่งออกเป็น ๕ คัมภีร์ เรียกโดยย่อว่า อา. ปา. มะ. จุ. ปะ. (หัวใจพระวินัย) ได้แก่
๑. คัมภีร์อาทิกัมมิกะ ว่าด้วยอาบัติปาราชิก สังฆาทิเสส อนิยต และต้นบัญญัติในสิกขาบทต่างๆ
๒. คัมภีร์ปาจิตตีย์ ว่าด้วยอาบัติปาจิตตีย์ ซึ่งเป็นอาบัติอย่างเบา
๓. คัมภีร์มหาวรรค ว่าด้วยพุทธประวัติตอนปฐมโพธิกาล และพิธีกรรมทาง พระวินัย
๔. คัมภีร์จุลวรรค ว่าด้วยพิธีกรรมทางพระวินัยต่อจากมหาวรรค ตลอดจนความเป็นมาของภิกษุณี และประวัติการทำสังคายนา
๕. คัมภีร์ปริวาร ว่าด้วยข้อเบ็ดเตล็ดทางพระวินัย พระสุตตันตปิฎก หรือเรียกสั้นๆ ว่า พระสูตร เป็นหมวดที่ประมวล พระธรรมเทศนา คำบรรยายธรรม และเรื่องเล่าต่างๆ อันยักเยื้องตามบุคคล และโอกาส เป็นธรรมที่แสดงโดยใช้สมมุติโวหาร คือยกสัตว์ บุคคล กษัตริย์ เทวดา เป็นต้น มาแสดง มีคำสอนทั้งสิ้น ๒๑,๐๐๐ พระธรรมขันธ์
          
      พระธรรมขันธ์ แบ่งออก เป็น ๕ นิกาย เรียกโดยย่อว่า ที. มะ. สัง. อัง. ขุ. (หัวใจพระสูตร) ได้แก่
๑. ทีฆนิกาย ประกอบด้วย พระสูตรขนาดยาว จำนวน ๓๔ สูตร
๒. มัชฌิมนิกาย ประกอบด้วย พระสูตรขนาดปานกลางจำนวน ๑๕๒ สูตร
๓. สังยุตตนิกาย ประกอบด้วย พระสูตรที่จัดเป็นหมวดหมู่ เรียกว่า สังยุตต์ มีชื่อตามเนื้อหา เช่น เกี่ยวกับแคว้นโกสล เรียกว่า โกสลสังยุตต์ เกี่ยวกับมรรคเรียกว่า มรรคสังยุตต์ มีจำนวน ๗,๗๖๒ สูตร
๔. อังคุตตรนิกาย ประกอบด้วย พระสูตรที่จัดหมวดหมู่ตามจำนวนข้อของ หลักธรรม เรียกว่า นิบาต เช่น เอกนิบาต ว่าด้วยหลักธรรมที่มีหัวข้อเดียว จนถึงหลักธรรมที่มี ๑๑ หัวข้อที่เรียกว่า เอกาทสกนิบาต ในนิกายนี้มีจำนวนพระสูตร ๙,๕๕๗ สูตร
๕. ขุททกนิกาย ประกอบด้วยภาษิตเบ็ดเตล็ด ประวัติและนิทานต่างๆ นอกเหนือจากที่จัดไว้ ในนิกายทั้ง ๔ ข้างต้น
          
      ขุททกนิกาย แบ่งออกเป็นหมวดได้ ๑๕ หมวด คือ
 ๑) ขุททกปาฐะ แสดงบทสวดเล็กๆ น้อยๆ โดยมากเป็นบทสวดสั้นๆ
 ๒) ธรรมบท แสดงคาถาพุทธภาษิต ประมาณ ๓๐๐ คาถา
 ๓) อุทาน แสดงพระพุทธดำรัสที่เปล่งอุทาน เป็นภาษิตโดยมีเนื้อเรื่องประกอบ ตามสมควร
 ๔) อิติวุตตก แสดงคำอ้างอิงว่า พระพุทธเจ้าตรัสไว้อย่างนั้นอย่างนี้
 ๕) สุตตนิบาต เป็นหมวดที่รวบรวม พระสูตรเบ็ดเตล็ดไว้ด้วยกัน
 ๖) วิมานวัตถุ แสดงเรื่องราวของผู้ได้วิมาน และแสดงเหตุที่ทำให้ได้วิมานไว้ด้วย
 ๗) เปรตวัตถุ แสดงเรื่องราวของเปรต ที่ได้ทำบาปกรรมไว้
 ๘) เถรคาถา แสดงภาษิตต่างๆ ของพระอรหันตสาวก
 ๙) เถรีคาถา แสดงภาษิตต่างๆ ของพระอรหันตสาวิกา
๑๐) ชาดก เป็นหมวดที่ประมวลคาถาธรรมภาษิต เกี่ยวกับเรื่องราวในอดีตชาติ ของพระพุทธองค์
๑๑) นิทเทส เป็นหมวดที่ว่าด้วยเรื่องของนิทเทส (การชี้แจง, การแสดง, การจำแนก) แบ่งเป็นมหานิทเทส และจุลนิทเทส
๑๒) ปฏิสัมภิทามรรค กล่าวถึงการปฏิบัติ เพื่อเข้าถึงความมีปัญญาอันประเสริฐ
๑๓) อปทาน หมวดนี้จะกล่าวถึง อัตตชีวประวัติของพระพุทธองคŒ และพระอรหันตสาวกและอรหันตสาวิกา
๑๔) พุทธวงศ์ แสดงประวัติของอดีตพระพุทธเจ้า ๒๔ พระองค์
๑๕) จริยาปิฎก แสดงเรื่องราวการบำเพ็ญบารมีของพระพุทธเจ้า
          
          พระอภิธรรมปิฎก หรือเรียกสั้นๆ ว่า พระอภิธรรม เป็นหมวดที่ ประมวลพุทธพจน์อันเกี่ยวกับหลักธรรมที่เป็นวิชาการว่าด้วยเรื่องของ ปรมัตถธรรม๑ ล้วนๆ ยกตัวอย่างเช่นเมื่อกล่าวถึงบุคคลใด บุคคลหนึ่ง ทางพระอภิธรรมถือว่าบุคคลนั้นไม่มี มีแต่สิ่งซึ่งเป็นที่ประชุมรวมกันของ จิต เจตสิก รูป เท่านั้น ดังนั้น ธรรมะในหมวดนี้จึงไม่มีเรื่องราว ของบุคคล เหตุการณ์ หรือสถานที่ซึ่งเป็นสิ่งสมมุติเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเลย
          
      พระอภิธรรมปิฎก มีอยู่ทั้งสิ้น ๔๒,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ แบ่งออกเป็น ๗ คัมภีร์ เรียกโดยย่อว่า สัง. วิ. ธา. ปุ. กะ. ยะ. ปะ. (หัวใจพระอภิธรรม) ได้แก่
๑. คัมภีร์ธัมมสังคณี
          ว่าด้วยธรรมะที่ประมวลไว้เป็นหมวดเป็นกลุ่ม เรียกว่า กัณฑ์ มีทั้งหมด ๔ กัณฑ์ คือ
 ๑) จิตตวิภัตติกัณฑ์ แสดงการจำแนกจิตและเจตสิก เป็นต้น
 ๒) รูปวิภัตติกัณฑ์ แสดงการจำแนกรูป เป็นต้น
 ๓) นิกเขปราสิกัณฑ์ แสดงคำอ้างอิงว่า พระพุทธเจ้าตรัสไว้อย่างนั้นอย่างนี้
 ๔) อัตถุทธารกัณฑ์ แสดงการจำแนกเนื้อความตามแม่บทของ ปรมัตถธรรม
๒. คัมภีร์วิภังค์
          ว่าด้วยการจำแนกมาติกาในคัมภีร์ธัมมสังคณี ทั้งติกมาติกา ๒๒ หมวด และทุกมาติกา ๑๐๐ หมวด โดยแบ่งเป็น ๑๘ วิภังค์ เช่น ขันธวิภังค์ จำแนกขันธ์, ๒ อายตนวิภังค์ จำแนกอายตนะ, ธาตุวิภังค์ จำแนกธาตุ, สัจจวิภังค์ จำแนกสัจจะ, อินทริยวิภังค์ จำแนกอินทรีย์, ปฏิจจสมุปบาทวิภังค์ จำแนกปฏิจจสมุปบาท, สติปัฏฐานวิภังค์ จำแนกสติปัฏฐาน เป็นต้น
๓. คัมภีร์ธาตุกถา
          ว่าด้วยคำอธิบายเรื่องขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ และธาตุ ๑๘ โดยนำมาติกาของคัมภีร์นี้จำนวน ๑๐๕ บท และมาติกาจาก คัมภีร์ธัมมสังคณีจำนวน ๒๖๖ บท (ติกมาติกา ๖๖ บท ใน ๒๒ หมวด และทุกมาติกา ๒๐๐ บท ใน ๑๐๐ หมวด) มาแสดงด้วยนัยต่างๆ (จำนวน ๑๔ นัย) เพื่อหาคำตอบว่าสภาวธรรมบทนั้นๆ สงเคราะห์เข้าได้กับ ขันธ์เท่าไร เข้าได้กับอายตนะเท่าไร และเข้าได้กับธาตุเท่าไร เข้าไม่ได้ กับขันธ์เท่าไร เข้าไม่ได้กับอายตนะเท่าไร และเข้าไม่ได้กับธาตุเท่าไร
๔. คัมภีร์ปุคคลบัญญัติ
          ว่าด้วยการบัญญัติ (การประกาศ แสดง หรือชี้แจง) ในเรื่อง ๖ เรื่อง คือ (๑) ขันธบัญญัติ การบัญญัติเรื่องขันธ์ (๒) อายตน บัญญัติ การบัญญัติเรื่องอายตนะ (๓) ธาตุบัญญัติ การบัญญัติเรื่องธาตุ (๔) สัจจบัญญัติ การบัญญัติเรื่องสัจจะ (๕) อินทริยบัญญัติ การบัญญัติ เรื่องอินทรีย์ (๖) ปุคคลบัญญัติ การบัญญัติเรื่องบุคคล
 
๕. คัมภีร์กถาวัตถุ
          ว่าด้วยการโต้วาทะเพื่อชี้แจงแสดงเหตุผลให้เห็นว่าวาทกถา (ความเห็น) ของฝ่ายปรวาที (พวกภิกษุในนิกายที่แตกไปจาก เถรวาท ในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช) จำนวน ๒๒๖ กถา ล้วนผิด พลาดคลาดเคลื่อนจากพระพุทธพจน์ดั้งเดิมที่ภิกษุฝ่ายเถรวาทยึดถือ ปฏิบัติอยู่ วิธีการโต้วาทะใช้หลักตรรกศาสตร์ที่น่าสนใจมาก นับเป็น พุทธตรรกศาสตร์ที่สมบูรณ์แบบที่สุด ซึ่งมีในคัมภีร์นี้เท่านั้น
๖. คัมภีร์ยมก
          ว่าด้วยการปุจฉา-วิสัชนา สภาวธรรม ๑๐ หมวด ด้วย วิธีการยมก คือการถาม-ตอบ เป็นคู่ๆ ซึ่งเป็นวิธีการเฉพาะ ของคัมภีร์ยมก สภาวธรรม ๑๐ หมวด ได้แก่ (๑) หมวดมูล (สภาวธรรมที่เป็น เหตุ) (๒) หมวดขันธ์ (๓) หมวดอายตนะ (๔) หมวดธาตุ (๕) หมวด สัจจะ (๖) หมวดสังขาร (๗) หมวดอนุสัย (๘) หมวดจิต (๙) หมวด สภาวธรรมในกุสลติกะ เรียกสั้นๆ ว่า หมวดธรรม (๑๐) หมวดอินทรีย์ สภาวธรรม ๑๐ หมวดนี้ทำให้แบ่งเนื้อหา ของคัมภีร์ยมกออกเป็น ๑๐ ยมก เรียกชื่อตามหมวดสภาวธรรม ที่เป็นเนื้อหา คือ (๑) มูลยมก (๒) ขันธยมก (๓) อายตนยมก (๔) ธาตุยมก (๕) สัจจยมก (๖) สังขาร ยมก (๗) อนุสยยมก (๘) จิตตยมก (๙) ธัมมยมก (๑๐) อินทริยยมก
๗. คัมภีร์ปัฏฐาน
          ว่าด้วยการจำแนกสภาวธรรมแม่บท หรือ มาติกา ทั้ง ๒๖๖ บท (๑๒๒ หมวด) ในคัมภีร์ธัมมสังคณี โดยอำนาจปัจจัย๒๔ ประการ ๓ มี เหตุปัจจัย เป็นต้น เพื่อให้เห็นว่าสภาวธรรมทั้งหลาย ปรากฏเกิดขึ้น ตามเหตุ ตามปัจจัยทั้งสิ้น มิได้เกิดจากการบงการของ ผู้ใด แต่เป็นไปตามกฎของธรรมชาติ ที่เรียกว่า จิตตนิยาม กรรมนิยาม และธรรมนิยาม
          
          สรุปแล้ว พระอภิธรรมก็คือธรรมะหมวดที่ ๓ ในพระไตรปิฎกที่ สอนให้รู้จักธรรมชาติอันแท้จริง ที่มีอยู่ในตัวเราและสัตว์ทั้งหลาย อันได้แก่ จิต เจตสิก รูป และรู้จักพระนิพพาน ซึ่งเป็นจุดหมาย อันสูงสุดในพระพุทธศาสนา
          
          ธรรมชาติทั้ง ๔ คือ จิต เจตสิก รูป นิพพานนี้รวมเรียกว่า ปรมัตถธรรม หากแปลตามศัพท์ คำว่า อภิธัมม หรือ อภิธรรม แปลว่าธรรมอัน ประเสริฐ, ธรรมอันยิ่ง, ธรรมที่มีอยู่แท้จริงปราศจากสมมุติ
          
          เนื้อความในพระอภิธรรมเกือบทั้งหมด จะกล่าวถึงปรมัตถธรรม ล้วนๆ โดยไม่มี บัญญัติธรรม (สมมุติโวหาร) เข้ามาเกี่ยวข้อง ดังนั้นจึงควร ทำความเข้าใจไว้ในเบื้องต้นก่อนว่า ปรมัตถธรรม และ บัญญัติธรรม นั้น ต่างกันอย่างไร

 

 

 

ความหมายของ ปรมัตธรรม

 

ปรมัตถธรรม คือ ธรรมชาติที่เป็นความจริงแท้แน่นอน ที่ดำรง ลักษณะเฉพาะของตนไว้โดยไม่ผันแปรเปลี่ยนแปลง เป็นธรรมที่ปฏิเสธ ความเป็นสัตว์ ความเป็นบุคคล ความเป็นตัวตนโดยสิ้นเชิง
      ปรมัตถธรรม มี ๔ ประการ คือ
๑. จิต
๒. เจตสิก
๓. รูป
๔. นิพพาน
          ซึ่งมีความหมายโดยย่อดังนี้
          
          จิต คือธรรมชาติที่ทำหน้าที่เห็น, ได้ยิน, รับกลิ่น, รับรส, รู้สัมผัส ถูกต้อง ตลอดจนธรรมชาติที่ทำให้เกิดการคิด นึก สภาวะของจิตมีทั้งหมด ๘๙ หรือ ๑๒๑ อย่าง (โดยพิสดาร) แต่เมื่อกล่าวโดยลักษณะแล้วมีเพียง ๑ เท่านั้น คือ รู้อารมณ์ (อารมณ์ในที่นี้หมายถึง รูป, เสียง, กลิ่น, รส, สิ่งต่าง ๆ และเรื่องราวต่างๆ ที่จิตไปรับรู้)
          
          จิตเป็นนามธรรม และมีชื่อเรียกหลายชื่อ เช่น วิญญาณ, มโน, มนัส, มนินทรีย์, มโนธาตุ, มโนวิญญาณธาตุ และ มนายตนะ เป็นต้น
          
          เจตสิก คือ ธรรมชาติที่ประกอบกับจิต ปรุงแต่งจิต ทำให้เกิดความ รู้สึก นึก คิด ที่แตกต่างกัน ทั้งทางที่ดีและไม่ดี มีทั้งหมด ๕๒ ลักษณะ เจตสิกเป็นนามธรรม ที่เกิดร่วมกับจิต คือเกิดพร้อมกับจิต ดับพร้อมกับจิต รู้อารมณ์เดียวกันกับจิต และอาศัยที่เกิดที่เดียวกันกับจิต สภาพของจิต เป็นเพียงประธานในการรู้อารมณ์ แต่การที่จิตโกรธ หรือจิตโลภ เป็นเพราะ มีเจตสิกเข้าประกอบปรุงแต่ง ให้เกิดความโกรธ หรือความโลภนั่นเอง จิต เปรียบเสมือนเม็ดยา เจตสิกเปรียบเสมือนตัวยา ที่อยู่ในเม็ดยา จิตเกิดโดย ไม่มีเจตสิกไม่ได้ และเจตสิกเกิด โดยไม่มีจิตก็ไม่ได้เช่นกัน
          
          เนื่องจาก จิต และ เจตสิก เป็นสิ่งที่ต้องเกิดร่วมกันตลอดเวลา ดังนั้น การอธิบายบางแห่งในหนังสือเล่มนี้ จึงเขียนว่า " จิต + เจตสิก " เพื่อให้ระลึก ไว้อยู่เสมอว่าจิตและเจตสิกนั้น เป็นธรรมชาติที่ต้องเกิดร่วมกัน ต้องอิง อาศัยซึ่งกันและกัน และไม่สามารถแยกออกจากกันได้
          
          รูป คือ ธรรมชาติที่แตกดับ ย่อยยับ สลายไปด้วยความเย็นและ ความร้อน ในร่างกายของคนเราและสัตว์ทั้งหลายนั้น มีรูปประชุมกันอยู่ ทั้งหมด ๒๘ ชนิด และรูปที่ประชุมกันอยู่นี้ แต่ละรูปต่างก็แตกดับย่อยยับ สลายไปตลอดเวลา หาความเที่ยงแท้ถาวรไม่ได้เลย
          
        นิพพาน เป็นธรรมชาติที่พ้นจากกิเลสเครื่องร้อยรัด พ้นจากการ เวียนว่ายตายเกิด นิพพานโดยปริยายมี ๒ ลักษณะ คือ
๑. สอุปาทิเสสนิพพาน คือ นิพพานที่ยังเป็นไปกับขันธ์ ๕ หมายถึง การที่ประหาณกิเลสได้หมดสิ้นแล้ว (กิเลสนิพพาน) แต่ขันธ์ ๕ ยังมีการเกิดดับสืบต่ออยู่ (ยังมีชีวิตอยู่)
๒. อนุปาทิเสสนิพพาน คือ นิพพานที่ปราศจากขันธ์ ๕ ได้แก่ นิพพานของพระอรหันต์ (ผู้หมดจดจากกิเลส) และสิ้นชีวิตไปแล้ว (คือ กิเลสก็ไม่เหลือ ขันธ์ ๕ ก็ไม่เหลือ) หรือที่เรียกว่า ปรินิพพาน (ปริ = ทั้งหมด) เมื่อ ปรินิพพานแล้ว จิต+เจตสิก และรูปจะหยุดการสืบต่อ และดับลงโดยสิ้นเชิง (คือเมื่อปรินิพพานไปแล้ว ก็จะไม่มีการเกิดอีก หรือไม่มีภพชาติต่อไปอีก)
          
          นิพพาน เป็นจุดหมายสูงสุด ในพระพุทธศาสนา ที่พุทธศาสนิกชน ทั้งหลายจะต้องพยายามเข้าถึง ให้จงได้จึงจะได้ชื่อว่า เป็นพุทธสาวก เป็น อริยบุคคล และเป็นทายาทผู้รับมรดกธรรม ในพุทธศาสนานี้

 

 

ความหมายของบัญญัติธรรม

 

บัญญัติธรรม คือ สิ่งที่มนุษย์บัญญัติขึ้น เพื่อสื่อสารให้เข้าใจความหมายซึ่งกันและกัน เช่น ชื่อ นายมี นางมา สีเขียว สีแดง ทิศเหนือ ทิศใต้ วันจันทร์ วันอังคาร เดือน ๘ เดือน ๑๐ ปีชวด ปีฉลู เวลาเช้า เวลาเย็น เวลา ๒๔.๐๐ น. พลเอก อธิบดี รัฐมนตรี เหรียญ ๕๐ สตางค์ ธนบัตร ๑๐๐ บาท ระยะทาง ๑ กิโลเมตร น้ำหนัก ๑ กิโลกรัม เนื้อที่ ๑ ไร่ ล้วนเป็นสิ่งสมมุติทั้งสิ้น สิ่งเหล่านี้ท่านเรียกว่า บัญญัติธรรม
          
          แม้แต่ ต้นไม้ ภูเขา แม่น้ำ ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ หนังสือ ปากกา นาฬิกา บ้าน โต๊ะ เก้าอี้ แก้วน้ำ ช้อน ชาม พัดลม วิทยุ เกวียน เรือ รถยนต์ คน และสัตว์ทั้งหลาย ฯลฯ ก็จัดเป็นบัญญัติธรรม เช่นกัน

 

ปรมัตถธรรมเป็นธรรมที่อยู่เหนือสมมุติบัญญัติ

 

หากไม่มีมนุษย์เกิดขึ้นในโลกนี้ ความหมายของสิ่งต่างๆ ที่มนุษย์บัญญัติขึ้นว่า เป็นนั่นเป็นนี่ มีชื่อเรียกอย่างนั้นอย่างนี้ ก็ย่อมไม่เกิดขึ้นเช่นกัน แม้แต่ ต้นไม้ ภูเขา แม่น้ำ พื้นดิน ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ฯลฯ ก็เป็นเพียงธรรมชาติ ที่ปราศจากความหมาย ปราศจากชื่อ คือเป็นแต่เพียงสภาวะ ที่เกิดจากการประชุมกัน ของมหาภูตรูปทั้ง ๔๔ อันเป็นรูปธรรม (รูป) ที่ปราศจากนามธรรม (จิต+เจตสิก) ซึ่งเป็นสภาวะปรมัตถ์ (ปรมัตถธรรม) ที่พ้นจากสมมุติบัญญัติ โดยสิ้นเชิง
          
          ส่วนมนุษย์และสัตว์ทั้งหลายนั้น หากกล่าวในแง่ปรมัตถธรรมแล้ว ถือว่าไม่มีตัวตน ไม่มี นายมี ไม่มี นางมา มีแต่รูปธรรม (รูป) และนามธรรม (จิต+เจตสิก) มาประชุมกันเท่านั้น
          
          ดังนั้น ไม่ว่าตัวเราหรือผู้อื่น ซึ่งรวมถึงสัตว์ทั้งหลายด้วยนั้น เมื่อกล่าวในแง่ปรมัตถธรรม หรือธาตุแท้ตามธรรมชาติแล้ว จะมีส่วนประกอบอยู่ ๓ ส่วนเท่านั้น คือ
๑. จิต คือ ธรรมชาติที่รู้อารมณ์
๒. เจตสิก คือ ธรรมชาติที่ประกอบปรุงแต่งจิตมี ๕๒ ลักษณะ
๓. รูป คือ องค์ประกอบ ๒๘ ชนิดที่รวมกันขึ้นเป็นกาย
          
จะเห็นได้ว่า คนเราทุกคนและสัตว์ทั้งหลายนั้น มีส่วนประกอบเหมือนกันคือ
          เราก็มี จิต เจตสิก รูป เขาก็มี จิต เจตสิก รูป สัตว์ทั้งหลายก็มี จิต เจตสิก รูป
จะมีความแตกต่างกัน ก็ตรงที่รูปร่าง หน้าตาผิวพรรณ ซึ่งถูกจำแนกให้ แตกต่างกันด้วย อำนาจของกรรม ที่กระทำไว้ในอดีต
          
จิต + เจตสิก และรูป มีลักษณะสามัญตามธรรมชาติ (สามัญลักษณะ) อยู่ ๓ ประการคือ
๑. อนิจจลักษณะ คือมีลักษณะที่ไม่เที่ยงไม่คงที่ ต้องเปลี่ยนแปลงอยู่ ตลอดเวลา
๒. ทุกขลักษณะ คือมีลักษณะที่ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ เกิดขึ้นแล้ว ต้องดับไปอยู่ตลอดเวลา
๓. อนัตตลักษณะ คือมีลักษณะที่มิใช่ตัว มิใช่ตน ไม่สามารถบังคับบัญชาได้
          สามัญลักษณะทั้ง ๓ นี้ เป็นสิ่งจริงแท้แน่นอน เป็นกฎธรรมชาติ เรียกว่า ไตรลักษณ์
          
          โดยสรุปแล้ว จิต + เจตสิก และรูป ที่ประกอบขึ้นเป็นบุคคล หรือเป็นสัตว์ใดๆ ก็ตามนั้น แท้จริงแล้ว ไม่ได้มีแก่นสารอะไรเลย เป็นเพียงการ ประชุมกันของส่วนประกอบ ที่มีความไม่เที่ยง เกิดดับ เกิดดับสืบต่อกันอย่าง รวดเร็ว (ชั่วลัดนิ้วมือ จิตมีการเกิดดับ แสนโกฏิขณะ หรือหนึ่งล้านล้านครั้ง) เป็นสภาพที่หาเจ้าของมิได้ ไม่เป็นของใคร ไม่มีใครเป็นเจ้าของ ไม่เป็นไปตามความปรารถนา ไม่ขึ้นต่อการบังคับบัญชาของผู้ใด ว่างเปล่าจากความเป็นคนนั้นคนนี้ ว่างเปล่าจากความเป็นตัวตน ว่างเปล่าจากความเป็นนั่น เป็นนี่ตามที่สมมุติกันขึ้นมา แต่เป็นสภาวธรรม อันเป็นไปตามเหตุ ตามปัจจัย ขึ้นกับเหตุ ขึ้นกับปัจจัย พระพุทธเจ้าจะอุบัติขึ้นหรือไม่ก็ตาม ปรมัตถธรรมเหล่านี้ ก็คงมีอยู่ตามธรรมชาติ พระพุทธองค์ เป็นแต่เพียงผู้ทรงค้นพบ และนำมาเปิดเผย ให้เราทั้งหลายได้ทราบเท่านั้น

          (หากต้องการทราบ เนื้อหาอันลึกซึ้งของปรมัตถธรรม ทั้ง ๔ ก็ต้องศึกษาพระอภิธรรม โดยละเอียดต่อไป)

 

ประวัติพระอภิธรรม

 

ในสัปดาห์ที่ ๔ หลังจากที่พระพุทธองค์ได้ตรัสรู้แล้ว พระองค์ทรง พิจารณารายละเอียด เกี่ยวกับพระอภิธรรม ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับ ปรมัตถธรรม (จิต เจตสิก รูป นิพพาน) อันเป็นแก่นของธรรมะ ในพระพุทธศาสนา อยู่ตลอด ๗ วัน ในขณะที่ทรงพิจารณา เรื่องของเหตุ เรื่องของปัจจัย ในปรมัตถธรรม อันเป็นที่มาของคัมภีร์ปัฏฐานอยู่นั้น ก็ปรากฏฉัพพรรณรังสี (รัศมี ๖ ประการ) มีสีเขียว สีเหลือง สีแดง สีขาว สีม่วง และสีเลื่อมพราย เหมือนแก้วผลึก แผ่ออกจากพระวรกาย อย่างน่าอัศจรรย์
          
          ในช่วง ๖ พรรษาแรก ของการประกาศศาสนา พระพุทธองค์ยังมิได้ ทรงตรัสสอนพระอภิธรรมแก่ผู้ใด เพราะพระอภิธรรม เป็นธรรมะที่เกี่ยวข้อง กับปรมัตถธรรมล้วนๆ ยากแก่การที่จะอธิบาย ให้เข้าใจได้โดยง่าย บุคคลที่ จะรับอรรถรส ของพระอภิธรรมได้นั้น ต้องเป็นบุคคลที่ประกอบด้วย ศรัทธาอันมั่นคง และได้เคยสั่งสมบารมี อันเกี่ยวกับปัญญาในเรื่องนี้ มาบ้างแล้วแต่กาลก่อน แต่ในช่วงต้น ของการประกาศศาสนานั้น คนส่วนใหญ่ยังมีศรัทธา และมีความเชื่อ ในพระพุทธศาสนาน้อย ยังไม่พร้อมที่จะรับคำสอน เกี่ยวกับปรมัตถธรรม ซึ่งเป็นธรรมะอันลึกซึ้งได้ พระองค์จึงยังไม่ทรงแสดงให้ ทราบเพราะถ้าทรงแสดงไปแล้ว ความสงสัยไม่เข้าใจ หรือความไม่เชื่อย่อมจะ เกิดแก่ชนเหล่านั้น เมื่อมีความสงสัยไม่เข้าใจ หรือไม่เชื่อแล้ว ก็จะเป็นเหตุให้เกิดการดูหมิ่น ดูแคลนต่อพระอภิธรรมได้ ซึ่งจะเป็นผลร้ายมากกว่าผลดี
          
          ล่วงมาถึงพรรษาที่ ๗ พระพุทธองค์จึงได้ทรงแสดงพระอภิธรรม เป็นครั้งแรก โดยเสด็จขึ้นไปจำพรรษา บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพื่อทดแทนคุณ ของพระมารดา ด้วยการแสดงพระอภิธรรม เทศนาโปรดพุทธมารดา ซึ่งได้ สิ้นพระชนม์ไปตั้งแต่ประสูติพระองค์ได้ ๗ วัน และได้อุบัติเป็นเทพบุตร อยู่บนสวรรค์ชั้นดุสิต มีพระนามว่า สันดุสิตเทพบุตร ในการแสดงธรรมครั้งนี้ได้มีเทวดาและพรหม จากหมื่นจักรวาลจำนวนหลายแสนโกฏิ มาร่วมฟังธรรมด้วย โดยมีสันดุสิตเทพบุตรเป็นประธาน ณ ที่นั้น พระพุทธองค์ทรงแสดงพระอภิธรรม แก่เหล่าเทวดาและพรหมด้วย วิตถารนัย คือ แสดงโดยละเอียดพิสดาร ตลอดพรรษากาล คือ ๓ เดือนเต็ม
          
          สำหรับในโลกมนุษย์นั้น พระองค์ได้ทรงแสดงแก่ พระสารีบุตรเป็นองค์ แรก คือในระหว่างที่ทรงแสดงธรรมอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์นั้น พอได้เวลาบิณฑบาต พระองค์ก็ทรงเนรมิตพุทธนิมิตขึ้น แสดงธรรมแทนพระองค์ แล้วพระองค์ก็เสด็จไปบิณฑบาต ในหมู่ชนชาวอุตตรกุรุ เมื่อบิณฑบาตเสร็จแล้ว ก็เสด็จไปยังป่าไม้จันทน์ ซึ่งอยู่ในบริเวณป่าหิมวันต์ ใกล้กับสระ อโนดาต เพื่อเสวยพระกระยาหาร โดยมีพระสารีบุตรเถระ มาเฝ้าทุกวัน หลังจากที่ทรงเสวยแล้ว ก็ทรงสรุปเนื้อหาของพระอภิธรรม ที่พระองค์ได้ทรงแสดงแก่เหล่าเทวดา และพรหม ให้พระสารีบุตรฟังวันต่อวัน ๕ เสร็จ แล้วพระองค์จึงเสด็จกลับขึ้นสู่ดาวดึงส์เทวโลก เพื่อแสดงธรรมต่อไป ทรง กระทำเช่นนี้ทุกวันตลอด ๓ เดือน เมื่อการแสดงพระอภิธรรมบนเทวโลก จบสมบูรณ์แล้ว การแสดงพระอภิธรรมแก่พระสารีบุตร ก็จบสมบูรณ์ด้วยเช่นกัน เมื่อจบพระอภิธรรมเทศนาเทวดา และพรหม ๘๐๐,๐๐๐ โกฏิได้ บรรลุธรรม และสันดุสิตเทพบุตร(พุทธมารดา) ได้สำเร็จเป็นพระโสดาบันบุคคล
          
          เมื่อพระสารีบุตร ได้ฟังพระอภิธรรมจากพระบรมศาสดาแล้ว ก็นำมาสอนให้แก่ภิกษุ ๕๐๐ รูป ซึ่งเป็นศิษย์ของท่าน โดยสอนตามพระพุทธองค์ วันต่อวัน และจบบริบูรณ์ ในเวลา ๓ เดือนเช่นกัน การสอนพระอภิธรรมของพระสารีบุตร ที่สอนแก่ภิกษุ ๕๐๐ รูปนี้ เป็นการสอนชนิดไม่ย่อเกินไป ไม่พิสดารเกินไป เรียกว่า นาติวิตถารนาติสังเขปนัย
          
          ภิกษุทั้ง ๕๐๐ รูปนี้ เคยมีอุปนิสัยมาแล้วในชาติก่อน คือในสมัย ศาสนาของพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า ภิกษุทั้ง ๕๐๐ รูปนี้เป็นค้างคาว อาศัยอยู่ในถ้ำแห่งหนึ่ง ขณะนั้นมีภิกษุผู้ทรงพระอภิธรรม ๒ รูปที่อาศัย อยู่ในถ้ำนั้นเช่นกัน กำลังสวดสาธยายพระอภิธรรมอยู่ เมื่อค้างคาวทั้ง ๕๐๐ ตัวได้ยินเสียงพระสวดสาธยาย พระอภิธรรมก็รู้เพียงว่า เป็นพระธรรม เท่านั้นหาได้รู้ความหมายใดๆ ไม่ แต่ก็พากันตั้งใจฟัง ตั้งแต่ต้นจนจบ เมื่อสิ้น จากชาติที่เป็นค้างคาวแล้ว ก็ได้ไปเกิดอยู่ในเทวโลกเหมือนกันทั้งหมด จนกระทั่งศาสนาของ พระสมณโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้าอุบัติขึ้น จึงได้จุติจาก เทวโลกมาเกิดเป็นมนุษย์และได้บวชเป็นภิกษุ ในศาสนานี้ตลอดจนได้เรียน พระอภิธรรม จากพระสารีบุตรดังกล่าวแล้ว นับแต่นั้นมาการสาธยาย ท่องจำและการถ่ายทอดความรู้ เรื่องพระอภิธรรมก็ได้แพร่ขยายออกไป อย่างกว้างขวาง
          
          ภายหลังที่พระพุทธองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว ในวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ หลังจากถวายพระเพลิงได้ ๕๒ วัน ท่านมหากัสสปเถระ พระ อุบาลีเถระ พระอานนทเถระ พร้อมด้วยพระอรหันต์รวมทั้งสิ้น ๕๐๐ องค์ ซึ่งล้วนเป็นปฏิสัมภิทัปปัตตะ ๖ ฉฬภิญญะ ๗ และเตวิชชะ ๘ ได้ช่วยกันทำ สังคายนาพระธรรมวินัย ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ และได้กล่าวยกย่อง พระอภิธรรมว่าเป็นหมวดธรรมที่สำคัญมาก ของพระพุทธศาสนา การทำสังคายนาครั้งนี้ มีพระเจ้าอชาตศัตรูเป็นศาสนูปถัมภก

 

พระอภิธัมมัตถสังคหะ คืออะไร

 

ต่อมาประมาณปี พ.ศ. ๑๒๐๙ มีพระเถระผู้ทรงความรู้ ในพระไตรปิฎกท่านหนึ่งมีนามว่า พระอนุรุทธเถระ (พระอนุรุทธาจารย์) ท่านเป็นชาว กาวิลกัญจิ แขวงเมืองมัทราช ภาคใต้ของประเทศอินเดีย ท่านได้มาศึกษาพระอภิธรรม อยู่ที่สำนักวัดตุมูลโสมาราม เมืองอนุราธบุรี ประเทศลังกา จนมีความแตกฉาน และได้รับยกย่องว่าเป็นปราชญ์ ทางพระอภิธรรมท่านหนึ่ง ต่อมาท่านได้รับอาราธนา จากนัมพะอุบาสกผู้เป็นทายก ให้ช่วยเรียบเรียงพระอภิธรรมปิฎก ซึ่งเป็นคัมภีร์ที่ละเอียด ลึกซึ้งมากนั้น ให้สั้นและง่าย เพื่อสะดวกแก่การศึกษา และจดจำ ด้วยความมุ่งหมายที่จะให้เป็นประโยชน์ แก่นักศึกษาพระอภิธรรมทั้งหลายในอนาคต พระอนุรุทธาจารย์ ได้อาศัยพระอภิธรรมปิฎก ทั้ง ๗ คัมภีร์มาเป็นหลัก ในการเรียบเรียงพระอภิธรรมฉบับย่อ และเรียกชื่อคัมภีร์นี้ว่า พระอภิธัมมัตถสังคหะ
          
อภิธัมมัตถสังคหะ แยกออกเป็น อภิ + ธัมมะ + อัตถะ + สัง + คหะ
อภิ = อันประเสริฐยิ่ง
ธัมมะ = สภาพที่ทรงไว้ไม่มีการผิดแปลกแปรผัน
อัตถะ = เนื้อความ
สัง = โดยย่อ
คหะ = รวบรวม
 
          อภิธัมมัตถสังคหะ จึงหมายถึง คัมภีร์ซึ่งรวบรวมเนื้อความ ของพระอภิธรรมทั้ง ๗ คัมภีร์ ไว้โดยย่อ อันเปรียบเสมือนแบบเรียนเร็ว พระอภิธรรม แบ่งเป็น ๙ ปริจเฉท (๙ ตอน) แต่ละปริจเฉท มีเนื้อหาโดยสรุปดังนี้
ปริจเฉทที่ ๑ จิตตสังคหวิภาค
  แสดงเรื่อง ธรรมชาติของจิต ประเภทของจิต ทั้งโดยย่อ และโดยพิสดาร ทำให้เข้าใจถึงจิตประเภทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกุศลจิต อกุศลจิต วิบากจิต กิริยาจิต มหัคคตจิต และโลกุตตรจิต
ปริจเฉทที่ ๒ เจตสิกสังคหวิภาค
  แสดงเรื่องเจตสิก คือ ธรรมชาติที่ประกอบกับจิต เพื่อปรุงแต่งจิต มีทั้งหมด ๕๒ ลักษณะ แบ่งเป็น เจตสิกที่ประกอบกับจิต ได้ทุกประเภท เจตสิกฝ่ายกุศล และเจตสิกฝ่ายอกุศล
ปริจเฉทที่ ๓ ปกิณณกสังคหวิภาค
  แสดงการนำจิตและเจตสิก มาสัมพันธ์กับธรรม ๖ หมวด ได้แก่ ความ รู้สึกของจิต (เวทนา) เหตุแห่งความดีความชั่ว (เหตุ) หน้าที่ของจิต (กิจ) ทางรับรู้ของจิต (ทวาร) สิ่งที่จิตรู้ (อารมณ์) และที่ตั้งที่อาศัยของจิต (วัตถุ)
ปริจเฉทที่ ๔ วิถีสังคหวิภาค
  แสดงวิถีจิต อันได้แก่กระบวนการทำงานของจิต ที่เกิดทางตา ทาง หู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เมื่อได้ศึกษาปริจเฉทนี้แล้ว จะทำให้ รู้กระบวนการทำงาน ของจิตทุกประเภท บุญบาปไม่ได้เกิดที่ไหน เกิดที่วิถีจิตนี้เอง ก่อนที่จะเกิดจิตบุญ หรือจิตบาป มีจิตขณะหนึ่งเกิดก่อน คอยเปิด ประตูให้เกิดจิตบุญ หรือจิตบาป จิตดวงนี้เกี่ยวข้องกับ การวางใจอย่างแยบคาย (โยนิโสมนสิการ) หรือ การวางใจอย่างไม่แยบคาย (อโยนิโสมนสิการ) หากเราได้เข้าใจ ก็จะมีประโยชน์ในการป้องกัน มิให้จิตบาปเกิดขึ้นได้
ปริจเฉทที่ ๕ วิถีมุตตสังคหวิภาค
  แสดงถึงการทำงานของจิตขณะใกล้ตาย ขณะตาย (จุติ) และขณะเกิดใหม่ (ปฏิสนธิ) กล่าวถึงเหตุแห่งการตาย การเกิดของสัตว์ในภพภูมิต่างๆ โดยแบ่งได้ถึง ๓๑ ภพภูมิ (มนุษยภูมิเป็นเพียง ๑ ใน ๓๑ ภูมิ) ขณะเวลาใกล้จะตาย ภาวะจิตเป็นอย่างไร ควรวางใจอย่างไร จึงจะไปเกิดในภพภูมิที่ดี พระพุทธองค์ทรงอธิบายไว้ อย่างชัดเจนว่า ตายแล้วต้องเกิดทันที มิใช่ ตายแล้ววิญญาณ (จิต) ต้องเร่ร่อนเพื่อไปหาที่เกิดใหม่ และยังได้อธิบาย เรื่องของกรรม ลำดับแห่งการให้ผลของกรรม ไว้อย่างละเอียดลึกซึ้งอีกด้วย
ปริจเฉทที่ ๖ รูปสังคหวิภาค และนิพพาน
  เมื่อได้ศึกษาทำความเข้าใจ เรื่องจิต และเจตสิก อันเป็นนามธรรม มาแล้ว ในปริจเฉทที่ ๖ นี้ พระอนุรุทธาจารย์ ได้แสดงองค์ประกอบที่สำคัญ อีกอย่างหนึ่งของมนุษย์ และสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย นั่นก็คือเรื่องของรูป ร่างกาย (รูปธรรม) โดยแบ่งรายละเอียด ออกเป็นรูปต่างๆ ได้ ๒๘ ชนิด และอธิบายถึงสมุฏฐาน (เหตุ) ในการเกิดรูปต่างๆ ไว้อย่างละเอียดพิสดาร
  ในตอนท้าย ได้กล่าวถึงเรื่องพระนิพพานว่า มีสภาวะอย่างไร อันจะ ทำให้เข้าใจ เรื่องของพระนิพพาน ได้อย่างถูกต้องชัดเจน
ปริจเฉทที่ ๗ สมุจจยสังคหวิภาค
  เมื่อได้ศึกษาปรมัตถธรรม ๔ อัน ได้แก่ จิต เจตสิก รูป นิพพาน มาจากปริจเฉทที่ ๑ ถึง ๖ แล้ว ในปริจเฉทนี้ จะแสดงธรรมที่เป็นฝ่ายกุศล ซึ่งให้ผลเป็นความสุข และธรรมที่เป็นฝ่ายอกุศล ซึ่งให้ผลเป็นความทุกข์ ในสภาวะความเป็นจริงแล้ว กุศลจิต (จิตบุญ) และอกุศลจิต (จิตบาป) จะเกิดสลับสับเปลี่ยนกันอยู่ตลอดเวลา ส่วนจะเกิดจิตชนิดไหน มากน้อยเพียงใดนั้น ย่อมขึ้นอยู่กับคุณธรรม และจริยธรรมของแต่ละบุคคล คนเราทั่วไปมักไม่เข้าใจ และไม่รู้จักกับกุศล และอกุศลเหล่านี้ จึงทำให้ชีวิตตกอยู่ใน วัฏฏทุกข์ไม่รู้จักจบสิ้น ในปริจเฉทที่ ๗ นี้ได้แสดงธรรม ที่ควรรู้ที่สำคัญๆ ได้แก่ อุปาทานขันธ์ (ขันธ์ที่ถูกอุปาทาน ยึดมั่นอย่างเหนียวแน่น), อายตนะ ๑๒ (สิ่งเชื่อมต่อเพื่อให้รู้อารมณ์), ธาตุ ๑๘ (ธรรมชาติที่ทรงไว้ซึ่งสภาพ ของตน), อริยสัจ ๔ (ความจริงของพระอริยะ) และโพธิปักขิยธรรม (ธรรมที่เกื้อกูลการตรัสรู้, ธรรมที่เกื้อหนุนแก่อริยมรรค) มี ๓๗ ประการ คือ สติปัฏฐาน ๔, สัมมัปปธาน ๔, อิทธิบาท ๔, อินทรีย์ ๕, พละ ๕, โพชฌงค์ ๗ และมรรคมีองค์ ๘
ปริจเฉทที่ ๘ ปัจจยสังคหวิภาค
  ในปริจเฉทนี้ ท่านได้แสดงเรื่องปฏิจจสมุปบาท (เหตุและผลที่ทำให้มีการเวียนว่ายตายเกิด ในสังสารวัฏฏ์) และปัจจัยสนับสนุน ๒๔ ปัจจัย ในตอนท้าย ยังได้แสดงความหมายของบัญญัติธรรม ซึ่งเป็นธรรม ที่ไม่ใช่เป็นความจริงแท้ แต่เป็นจริงตามสมมุติ (สมมุติสัจจะหรือสมมุติโวหาร) ตามกติกาของชาวโลก
ปริจเฉทที่ ๙ กัมมัฏฐานสังคหวิภาค
  ในปริจเฉทนี้ ท่านกล่าวถึง ความแตกต่างของ สมถกรรมฐาน และ วิปัสสนากรรมฐาน เพื่อให้เห็นว่าสมถกรรมฐาน หรือการทำสมาธินั้น เป็นการปฏิบัติ เพื่อให้จิตเกิดความสงบ และเกิดอภิญญา (เกิดอิทธิฤทธิ์ต่างๆ) เท่านั้น ซึ่งไม่ใช่จุดมุ่งหมายสูงสุด ในพระพุทธศาสนา เพราะผลของการทำ สมาธิหรือสมถกรรมฐานนั้น เป็นการข่มกิเลสไว้ชั่วขณะ เท่านั้น ไม่สามารถ ทำลายกิเลสได้ ถึงแม้จะเจริญสมถกรรมฐาน ถึงขั้นอรูปฌานจนได้เสวยสุข อยู่ในอรูปพรหมภูมิเป็นเวลาอันยาวนาน แต่ในที่สุดก็ต้องกลับมาเวียนว่าย ตายเกิดไม่รู้จักจบจักสิ้น
          
          จุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา คือการเจริญวิปัสสนากรรม ฐาน เพื่อให้เกิดปัญญารู้แจ้ง ในสภาวธรรมตามความเป็นจริง ว่า จิต + เจตสิก และรูป ซึ่งเป็นองค์ประกอบของชีวิต ต่างก็มีการเกิดขึ้น - ตั้งอยู่ - ดับไป - เกิดขึ้น - ตั้งอยู่ - ดับไป ต่อเนื่องกันไปอย่างรวดเร็วอยู่ตลอดเวลา เป็นสภาพที่ไม่เที่ยง ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ ไม่ใช่ตัวตนอะไรของใคร ไม่มีใครเป็นเจ้าของ ไม่สามารถที่จะบังคับบัญชาได้ ว่างเปล่าจากความเป็นตัวตน ปัญญาที่ประจักษ์แจ้ง ในสภาวธรรมตามความเป็นจริงเช่นนี้ เมื่อมีกำลังแก่กล้า ก็จะสามารถประหาณกิเลส และเข้าถึงพระนิพพานได้ในที่สุด

การสวดพระอภิธรรมในงานศพ

 

ทุกท่านคงจะพบคำว่า สวดพระอภิธรรม หรือ ตั้งศพสวดพระอภิธรรม ในบัตรเชิญ หรือในหน้าหนังสือพิมพ์ เพื่อเชิญไปร่วมงานบำเพ็ญกุศล แด่ท่านผู้วายชนม์อยู่บ่อยๆ ที่ว่า สวดพระอภิธรรม นั้น เมื่อท่านอ่านมาถึง ตรงนี้ย่อมทราบดีแล้วว่าหมายถึงอะไร
          
          ตามหลักฐานของท่านผู้รู้ กล่าวว่ามีการนำเอาพระอภิธรรมมาสวด ในพิธีศพของพุทธศาสนิกชนชาวไทย ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา และท่านได้ ให้ความเห็นไว้ว่า การบำเพ็ญกุศลในงานศพ เพื่ออุทิศให้ผู้วายชนม์นั้น เป็น เรื่องเกี่ยวกับความรัก ความกตัญญูต่อผู้วายชนม์ ซึ่งจากไปไม่มีวันกลับ การที่พุทธศาสนิกชนชาวไทย นำเอาคัมภีร์พระอภิธรรมเข้ามา เกี่ยวข้องกับ ประเพณีนี้นั้นตามข้อสันนิษฐาน คงจะเกิดจากเหตุผลประการต่างๆ ดังนี้
          
          ประการแรก เป็นเพราะ พระอภิธรรม ไม่กล่าวถึงสัตว์ ไม่กล่าวถึง บุคคล ไม่มีตัวตน เรา เขา แต่ทรงจำแนกธรรม ออกเป็นกุศล อกุศล และ อัพยากฤต (ธรรมที่ไม่ใช่กุศลและไม่ใช่อกุศล) ทรงกระจายสรีระกายซึ่งเป็น กลุ่มก้อนออกเป็นขันธ์ ๕ บ้าง อายตนะ ๑๒ บ้าง ธาตุ ๑๘ บ้าง อินทรีย์ ๒๒ บ้าง อันเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ซึ่งต้องมีการเสื่อมสลายไป ตามสภาวะ มิสามารถตั้งอยู่ได้ตลอดไป การได้ฟังพระอภิธรรม จะทำให้ผู้ฟังน้อมนำมา เปรียบเทียบกับ การจากไปของผู้วายชนม์ ทำให้เห็นสัจจธรรม ที่แท้จริงของชีวิต ท่เป็นโอกาสอันดี ที่ท่านผู้ฟังและท่านผู้ร่วมบำเพ็ญกุศล ในงานศพจะสามารถพิจารณา เห็นความจริงของชีวิต ได้โดยง่าย จึงได้นำเอา พระอภิธรรมมาแสดงให้ฟัง
          
          ประการที่สอง เพราะเห็นว่า ในการตอบแทนพระคุณพุทธมารดา ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ท่านได้เสด็จขึ้นไปทรงแสดงพระอภิธรรม เทศนาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพื่อโปรดพุทธมารดา ซึ่งสิ้นพระชนม์ไปแล้ว ดังนั้น เมื่อบุพการีอันได้แก่ มารดา บิดา ถึงแก่กรรมลง ท่านผู้เป็นบัณฑิต จึงได้นำเอาพระอภิธรรม เข้ามาเกี่ยวข้องในการบำเพ็ญกุศลให้แก่ ผู้วายชนม์ โดยถือว่าเป็นการสนองพระคุณมารดาบิดา ตามแบบอย่างพระจริยวัตร ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ต่อมาแม้ว่าท่านผู้วายชนม์จะ มิใช่มารดาบิดาก็ตาม แต่การนำเอาพระอภิธรรมมาแสดง ในงานศพก็ถือ เป็นประเพณีไปแล้ว
          
          ประการสุดท้าย เพราะเชื่อว่า พระอภิธรรมเป็นคำสอนขั้นสูง ที่มีเนื้อหาละเอียดลึกซึ้งเกี่ยวกับปรมัตถธรรม ๔ ประการ หากนำมาแสดงใน งานบำเพ็ญกุศล ให้แก่ผู้วายชนม์แล้ว ผู้วายชนม์จะได้บุญมาก การสวดพระอภิธรรม ก็คือการนำเอาคำบาลีขึ้นต้นสั้นๆ ในแต่ละ คัมภีร์ ของพระอภิธรรม ๗ คัมภีร์มาเรียงต่อกัน การสวดพระอภิธรรมนี้ บางทีเรียกว่า สวดมาติกา ถ้าเป็นงานพระศพบุคคลสำคัญในราชวงศ์ เรียกว่า พิธีสดับปกรณ์ ซึ่งเพี้ยนมาจากคำว่า สัตตปกรณ์ อันหมายถึง พระอภิธรรม ๗ คัมภีร์นั่นเอง (สัตต = เจ็ด, ปกรณ์ = คัมภีร์, ตำรา)
          

          ต่อมาภายหลังมีผู้รู้ได้นำเอาคาถาในพระอภิธัมมัตถสังคหะ ของพระ อนุรุทธาจารย์ มาสวดเป็นทำนอง สรภัญญะ (คือการสวดเป็นจังหวะสั้น-ยาว) เรียกว่า สวดสังคหะ โดยนำเอาคำบาลีในตอนต้นและตอนท้ายของแต่ละ ปริจเฉท ซึ่งมีทั้งหมด ๙ ปริจเฉทมาเรียงต่อกันเป็นบทสวด

 

ประโยชน์จากการศึกษาพระอภิธรรม

 

ประโยชน์ที่จะได้รับ จากการศึกษาพระอภิธรรม มีอยู่มากมายหลายประการ แต่ที่สำคัญมีโดยสังเขปดังนี้
          
          ๑. การศึกษาพระอภิธรรม จะทำให้เข้าถึงแก่นของพระพุทธศาสนา เพราะพระอภิธรรม เกิดจากพระสัพพัญญุตญาณของพระพุทธองค์ การเข้าถึงพระอภิธรรม จึงเท่ากับเข้าถึงพระปัญญาคุณ ของพระพุทธองค์อย่างแท้จริง
          
          ๒. การศึกษาพระอภิธรรม ก็คือศึกษาธรรมชาติ การทำงานของ กายและใจ ซึ่งเป็นธรรมชาติที่มีอยู่ในตัวเรา และสัตว์ทั้งหลาย เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจ เกี่ยวกับเรื่องจิต (วิญญาณ), เรื่องเจตสิก, เรื่องอำนาจจิต, เรื่องวีถีจิต, เรื่องกรรมและการส่งผลของกรรม, เรื่องการเวียนว่ายตายเกิด, เรื่องสัตว์ในภพภูมิต่างๆ และเรื่องกลไกการทำงานของกิเลส ทำให้รู้ว่าชีวิตของเรา ในชาติปัจจุบันนี้ มาจากไหนและมาได้อย่างไร มีอะไรเป็นเหตุ มีอะไรเป็นปัจจัย เมื่อได้คำตอบชัดเจนดีแล้ว ก็จะรู้ว่าตายแล้วไปไหนและไป ได้อย่างไร อะไรเป็นตัวเชื่อมโยง ระหว่างชาตินี้กับชาติหน้า ทำให้หมดความสงสัยว่า ตายแล้วเกิดอีกหรือไม่ นรก สวรรค์ มีจริงไหม ทำให้มีความเข้าใจเรื่องกรรม และการส่งผลของกรรม(วิบาก) อย่างละเอียดลึกซึ้ง
          
          ๓. ผู้ศึกษาพระอภิธรรม จะเข้าใจเรื่องของปรมัตถธรรม หรือสภาว ธรรมอันจริงแท้ตามธรรมชาติ ในพระอภิธรรม จะแยกสภาวะออกให้เห็นว่า ทุกสิ่งไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลอะไรทั้งนั้น คงมีแต่สภาวธรรม คือ จิต เจตสิก รูป ที่วนเวียนอยู่ในความเกิด แก่ เจ็บ ตาย โดยอาศัยเหตุ อาศัยปัจจัยอุดหนุน ซึ่งกันและกัน เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เกิดขึ้นใหม่แล้วก็ดับ ไปอีก มีสภาพเกิดดับอยู่เช่นนี้ตลอดเวลา นานแสนนานไม่รู้กี่แสนชาติ กี่ ล้านชาติมาแล้ว ที่สืบต่อกันอยู่เช่นนี้ โดยไม่รู้จักจบจักสิ้น แม้ใครจะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม สภาวธรรมทั้ง ๓ นี้ก็ทำงานอยู่เช่นนี้ โดยไม่มีเวลาหยุดพักเลย สภาวธรรมหรือธรรมชาติเหล่านี้ มิใช่เกิดขึ้นจากพระผู้เป็นเจ้า พระพรหม พระอินทร์ หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ใดๆ เป็นผู้บันดาลหรือเป็นผู้สร้าง แต่สภาวธรรมเหล่านี้ เป็นผลอันเกิดมาจากเหตุ คือ กิเลสตัณหานั่นเองที่เป็นผู้สร้าง
          

          ๔. การศึกษาพระอภิธรรม จะทำให้เข้าใจสภาวธรรมอีกประการหนึ่ง อันเป็นจุดมุ่งหมายสูงสุด ในพระพุทธศาสนาที่ต้องการให้เข้าถึง นั่นก็คือ นิพพาน
 

นิพพาน หมายถึง ความหลุดพ้นจากกิเลสตัณหา ผู้ที่ปราศจากกิเลส ตัณหาแล้วนั้น เมื่อสิ้นชีวิตลง ก็จะไม่มีการสืบต่อ ของจิต+เจตสิก และ รูปอีกต่อไป ไม่มีการสืบต่อภพชาติ หยุดการเวียนว่ายตายเกิด พ้นจากทุกข์ทั้งปวงโดยสิ้นเชิง จึงกล่าวว่า นิพพานเป็นธรรมชาติ ที่ปราศจากกิเลส ตัณหา เป็นธรรมชาติที่ดับทุกข์โดยสิ้นเชิง และเป็นธรรมชาติที่พ้นจากขันธŒ ๕ นิพพานมิใช่เป็นแดนสุขาวดี ที่เป็นอมตะ และเพียบพร้อมด้วยความสุขล้วนๆ ตลอดนิรันดร์กาล ตามที่คนส่วนใหญ่เข้าใจ

 
          ๕. การศึกษาพระอภิธรรม จะทำให้เข้าใจคำสอนที่มีคุณค่าสูงสุด ในพระพุทธศาสนา เพราะแค่การให‰ทาน รักษาศีล และการเจริญสมาธิก็ยังมิใช่ คำสอนที่มีค่าสูงสุดในพระพุทธศาสนา เนื่องจากเป็นเหตุ ให้ต้องเกิดมารับ ผลของกุศลเหล่านั้นอีก ท่านเรียกว่า วัฏฏกุศล เพราะกุศลเหล่านี้ยังไม่ทำให้ พ้นไปจากการเวียนว่ายตายเกิด คำสอนที่มีค่าสูงสุดในพระพุทธศาสนา คือ การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ตามแนวมหาสติปัฏฐาน ๔ เพื่อให้เห็นว่า ทั้งนามธรรม (จิต + เจตสิก) และรูปธรรม (รูป) มีสภาพที่ไม่เที่ยง ทนอยู่ไม่ ได้ ไม่ใช่ตัวตน บังคับบัญชาไม่ได้ มีการเกิดดับ ๆ ตลอดเวลา หาแก่นสาร หาตัวตน หาเจ้าของไม่ได้เลย เมื่อมีปัญญาเห็นแจ้ง ในสภาวธรรมตามความเป็นจริงเช่นนี้แล้ว ก็จะนำไปสู่การประหาณกิเลส และเข้าถึงพระนิพพาน ได้ในที่สุด
          
          ๖. การศึกษาพระอภิธรรม จะทำให้เข้าใจเรื่องอารมณ์ของวิปัสสนา ซึ่งต้องมีนามธรรม (จิต + เจตสิก )และรูปธรรม (รูป) เป็นอารมณ์ เมื่อกำหนดอารมณ์ ในการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานได้ถูกต้อง การปฏิบัติก็ย่อมได้ผล ตามที่ต้องการ
          
          ๗. การศึกษาพระอภิธรรม เป็นการสั่งสมปัญญาบารมีที่ประเสริฐที่สุด ไม่มีวิทยาการใดๆ ในโลกที่ศึกษาแล้ว จะทำให้เกิดปัญญารู้แจ้งโลกได้เท่ากับ การศึกษาพระอภิธรรม
          
          ๘. การศึกษาพระอภิธรรม เป็นการช่วยกันรักษา หลักธรรมคำสอน ของพระพุทธองค์ไว้ ให้อนุชนรุ่นหลัง และเป็นการช่วยสืบต่อพระพุทธศาสนา ให้มั่นคงถาวรตลอดไป

 

ประวัติความเป็นมาของ อภิธรรมโชติกะวิทยาลัย

 

เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๙๔ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสภมหาเถระ) ขณะดำรงสมณศักดิ์ที่พระพิมลธรรม สังฆมนตรีว่าการองค์การปกครอง นายกสภามหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้เดินทางไปดูกิจการ การเผยแผ่พระพุทธศาสนา ที่ประเทศพม่า ได้เห็นการศึกษาพระอภิธรรม ในประเทศ พม่ายังคงความละเอียดลึกซึ้ง และมีการเรียนการสอนกันอย่างแพร่หลาย ขณะที่ในประเทศไทย หาผู้ที่มีความรู้เรื่องนี้ได้ยาก ท่านจึงได้ติดต่อกับ รัฐบาลพม่า เพื่อขออาราธนา พระสัทธัมมโชติกเถระ ธัมมาจริยะ พระเถระ ระดับบัณฑิต ผู้มีความรู้แตกฉาน ในพระพุทธศาสนา เพื่อมาเผยแผ่ พระอภิธรรมปิฎกในประเทศไทย พระสัทธัมมโชติกเถระ ได้เข้ามาวางหลักสูตร การศึกษาพระอภิธรรมปิฎก และได้แปลตำรับตำราเป็นภาษาไทย ไว้ให้ศึกษาเล่าเรียน สืบต่อกันมาจนทุกวันนี้
          
          ในปีพุทธศักราช ๒๕๑๕ อภิธรรมโชติกะวิทยาลัย ได้ถูกก่อตั้งขึ้นที่ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ กรุงเทพมหานคร เพื่อเป็นศูนย์กลางการศึกษา พระอภิธรรมในพระสังฆราชูปถัมภ์ มีสมเด็จพระสังฆราชทรงเป็น ประธานอำนวยการ จัดการศึกษา โดยได้รับความอุปถัมภ์ จากอธิบดีสงฆ์ พระเถรานุเถระวัดมหาธาตุ มูลนิธิสัทธัมมโชติกะ และผู้มีจิตศรัทธาทั่วไป จนกระทั่งปีพุทธศักราช ๒๕๒๔ โดยเมตตาธรรม และมองการณ์ไกล ของเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ ที่หวังความเจริญก้าวหน้า ของอภิธรรมโชติกะวิทยาลัย จึงได้ประกาศให้ อภิธรรมโชติกะวิทยาลัย เป็นหน่วยงานหนึ่ง ของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในสังกัดสำนัก ส่งเสริมพระพุทธศาสนา และบริการสังคม โดยมีวัตถุประสงค์ดังนี้
          
๑. เพื่อให้พุทธบริษัทมีความรู้ความเข้าใจในพระอภิธรรมปิฎก อย่างถูกต้อง
๒. เพื่อรักษาพระปริยัติในส่วนของพระอภิธรรมปิฎก ให้ดำรงมั่นคงสืบต่อไป
๓. เพื่อให้ผู้ศึกษามีความเข้าใจในปรมัตถธรรมอันเป็นสภาวะที่เกื้อกูล แก่การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน
๔. เพื่อให้ผู้ศึกษามีความรู้มีความเข้าใจ สามารถเชื่อมโยงเนื้อหาธรรมะ ในพระอภิธรรมปิฎก พระสุตตันตปิฎก และพระวินัยปิฎก ให้สอดคล้องสัมพันธ์กันได้เป็นอย่างดี
๕. เพื่อให้ผู้ศึกษาสามารถนำความรู้ที่ได้รับ มาใช้ในการดำเนินชีวิต เพื่อประโยชน์และความสุข ทั้งแก่ตนเองและผู้อื่นด้วย

 

สำนักเรียนสาขาของอภิธรรมโชติกะวิทยาลัย

 

 ภาคกลาง
๑. วัดกลาง ต.โคกคราม อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี ๗๒๑๕๐
๒. วัดจากแดง ต.ทรงคนอง อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ ๑๐๑๓๐
๓. วัดเจริญธรรมาราม อ.สายไหม ข.บางเขน กรุงเทพฯ ๑๐๒๒๐
๔. วัดสุวรรณประสิทธิ์ อ.คลองกลุ่ม ข.บึงกุ่ม กรุงเทพฯ ๑๐๒๓๐
๕. วัดป่าธรรมโสภณ ต.ทะเลชุบศร อ.เมือง จ.ลพบุรี ๑๕๐๐๐
๖. วัดมหาธาตุวรวิหาร ต.หน้าเมือง อ.เมือง จ.ราชบุรี ๗๐๐๐๐
๗. วัดมเหยงค์ ต.หันตรา อ.พระนครฯ จ.พระนครศรีอยุธยา ๑๓๐๐๐
๘. สำนักสงฆ์สวนธรรมจักร ต.ตลิ่งชัน อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี ๗๒๒๓๐
๙. วัดอุดมมงคล ต.ปากแพรก อ.เมือง จ.กาญจนบุรี ๗๑๐๐๐
๙. วัดเขาสมโภชน์ ต.บัวชุม อ.ชัยบาดาล จ.ลพบุรี ๑๕๑๓๐
๑๐. วัดสามชุก ต.สามชุก อ.สามชุก จ.สุพรรณบุรี ๗๒๑๓๐
๑๑. ห้องเรียนวัดสามพระยา เขตพระนคร กรุงเทพฯ ๑๐๒๐๐
          
          ภาคเหนือ
๑. วัดพรหมจริยาวาส ต.ปากน้ำโพ อ.เมือง จ.นครสวรรค์ ๖๐๐๐๐
๒. วัดเมืองมาง ต.หายยา อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ๕๐๑๐๐
๓. วัดถ้ำพระธาตุเมืองเทพ ต.ทัพหลวง อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี ๖๑๑๔๐
๔. วัดสระโบสถ์ ต.ดอนคา อ.ท่าตะโก จ.นครสวรรค์ ๖๐๑๖๐
๕. วัดร่ำเปิง (ตโปทาราม) ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ๕๐๒๐๐
๖. วัดพระธาตุแช่แห้ง ต.ม่วงตึด กิ่ง อ.ภูเพียง จ.น่าน ๕๕๐๐๐
๗. ห้องเรียนวัดพระธาตุศรีจอมทอง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ (สาขาวัดร่ำเปิง)
          
          ภาคใต้
๑. วัดคุณชี ต.ตลาดเหนือ อ.เมือง จ.ภูเก็ต
          
          ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
๑. วัดพรมศิลาแตล ต.แตล อ.ศรีขรภูมิ จ.สุรินทร์ ๓๒๑๑๐
๒. วัดมหาวนาราม ต.ในเมือง อ.เมือง จ.อุบลราชธานี ๓๔๐๐๐
๓. วัดสะแกแสง ต.พะงาด อ.ขามสะแกแสง จ.นครราชสีมา ๓๐๒๙๐
๔. วัดอุดมไพรสณฑ์ ต.รอบเมือง อ.เมือง จ.ร้อยเอ็ด ๕๔๐๐๐
๕. วัดสว่างมีชัย ต.สมสนุก อ.ปากคาด จ.หนองคาย ๔๓๑๙๐
          
          ภาคตะวันออก
๑. วัดเกาะแก้วคลองหลวง ต.ไร่หลักทอง อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี ๒๐๑๔๐
๒. วัดเก่าโบราณ ต.เหมือง อ.เมือง จ.ชลบุรี ๒๐๑๓๐
๓. วัดเขาบ่อน้ำซับ ต.ห้างสูง อ.หนองใหญ่ จ.ชลบุรี ๒๐๑๙๐
๔. วัดเขาพุทธโคดม ต.สุรศักดิ์ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ๒๐๑๑๐
๕. วัดนาพร้าวเก่า ต.สุรศักดิ์ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ๒๐๑๑๐
๖. วัดหินโค้ง ต.หนองบัว อ.บ้านค่าย จ.ระยอง ๒๑๑๒๐
๗. วัดพนมพนาวาส ต.คลองขุด อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา ๒๔๑๔๐
๘. วัดสุนีย์ศรัทธาธรรม ต.พิมพา อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา ๒๔๑๔๐
๙. วัดหนองลำดวนพรมศรี ต.ท่าบุญมี อ.เกาะจันทร์ จ.ชลบุรี ๒๐๒๔๐
          
     ศูนย์การศึกษาพระพุทธศาสนาทางไกลของอภิธรรมโชติกะวิทยาลัย
ทำการสอนพระอภิธรรมทางไปรษณีย์ และอินเตอร์เน็ต (E-learning)
สำนักงานตั้งอยู่ที่ มูลนิธิเผยแผ่พระสัทธรรม
๕/๑๐๘-๙ ซอยอุดมทรัพย์ ถนนบรมราชชนนี
แขวงอรุณอมรินทร์ เขตบางกอกน้อย
กรุงเทพมหานคร ๑๐๗๐๐
โทร. ๐-๒๘๘๔-๕๐๙๑-๒
http://www.buddhism-online.org
email: elearn@mcu.ac.th

<<<                 >>>