<<<               >>>

หลักสูตร เรียนพระอภิธรรมทางอินเตอร์เนต

 

ตอนที่ ๔ เรื่องเจตสิก

เจตสิก ๕๒

 

เจตสิก คืออะไร ?
          เจตสิก เป็นธรรมชาติอย่างหนึ่ง ที่เกิดขึ้นในจิตใจของคนเรา ที่ช่วยตัดสินใจ หรือปรุงแต่งจิตใจ ในการทำบุญและทำบาป ซึ่งธรรมชาตินี้ เกิดพร้อมกับจิต ดับพร้อมกับจิต มีอารมณ์เดียวกันกับจิต อาศัยวัตถุ เดียวกันกับจิต เหมือนกระแสไฟและแสงสว่าง ที่ต้องอาศัยหลอดไฟเกิดขึ้น
          
ตัวอย่าง นาย ก. และ นางสาว ข. เป็นพี่น้องกัน
นางสาว ข. เป็นคนมีจิตใจ เมตตากรุณา รักสัตว์ เอื้ออาร ีต่อบุคคลทั่วไป ทำแต่ความดี อยู่เสมอ ๆ
ส่วน นาย ก.นั้น มีอุปนิสัยใจคอ ตรงกันข้ามกับ นางสาว ข. ชอบยิงนก ตกปลา ชอบความรื่นเริง บันเทิงใจ ไม่สนใจเรื่องบุญ เรื่องกุศลเลย
          เมื่อพิจารณาดูจิตใจ ของพี่น้องทั้งสองคนแล้ว จะพบว่า จิตใจของคนทั้งสอง ต่างก็ถูกปรุงแต่ง จากธรรมชาติอย่างหนึ่ง คือ เจตสิก นั่นเอง แต่เป็นเจตสิกคนละฝ่าย นางสาว ข. มีเจตสิกฝ่ายดีเข้าปรุงแต่งจิตใจ ทำให้เป็นคนใจบุญ สุนทาน ส่วน นาย ก. ถูกเจตสิกฝ่ายไม่ดีปรุงแต่งจิตใจ ทำให้เห็นดีเห็น ชอบสนุกเพลิดเพลิน ไปในทางฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ทำความเดือดร้อนให้กับ คนอื่นสัตว์อื่น
          
       เจตสิก มีลักษณะพิเศษ ๔ อย่าง คือ
1 เกิดพร้อมกับจิต
2 ดับพร้อมกับจิต
3 มีอารมณ์เดียวกันกับจิต
4 อาศัยวัตถุอันเดียวกันกับจิต
          
การทำงานของเจตสิก
          จิต กับ เจตสิก เป็นนามธรรมเหมือนกัน จึงเข้าประกอบกันได้สนิท เหมือนน้ำกับน้ำตาล หรือ น้ำกับสีพลาสติก โดยจิตเป็นธรรมชาติที่รู้อารมณ์ และเจตสิกเป็นธรรมชาติที่ปรุงแต่งจิต ให้รู้อารมณ์เป็นไปต่าง ๆ ตามลักษณะของเจตสิก เช่นจิตเห็นพระธุดงค์กำลังเดินบิณฑบาต เจตสิกก็ปรุงแต่งจิตให้อยากทำบุญใส่บาตร กับพระธุดงค์องค์นั้นเป็นต้น ในการนี้จึงนับว่าจิต (เห็น) เป็นใหญ่เป็นประธาน เจตสิกที่คิดจะทำบุญใส่บาตร จึงได้อิงอาศัยจิตเกิดขึ้น
          
จำนวนเจตสิก
เจตสิก มีจำนวน ๕๒ ดวง แบ่งออกเป็น ๓ กลุ่ม คือ
๑. เข้าปรุงแต่ง จิตใจของคนทั่วไป .................. มี ๑๓ ดวง
๒. เข้าปรุงแต่ง จิตใจเฉพาะคนที่ทำบาป .................. มี ๑๔ ดวง
๓. เข้าปรุงแต่ง จิตใจเฉพาะคนที่ทำบุญ .................. มี ๒๕ ดวง
          
แสดงภาพประกอบเจตสิก ๕๒

อัญญสมานาเจตสิก

 

คำอธิบายเจตสิกแต่ละดวง
 

 

เจตสิกกลุ่มแรก
พวกที่ ๑ การเข้าปรุงแต่งจิตใจของคนทั่วไป (สัพพจิตตสาธารณเจตสิก ๗ ดวง)
          ๑) ผัสสเจตสิก เป็นธรรมชาติที่กระทบกับ สิ่งที่มาปรากฏ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจ คือ รับภาพให้มากระทบกับตา รับเสียงให้มากระทบกับหู รับกลิ่นให้มากระทบกับจมูก รับรสให้มากระทบกับลิ้น รับความเย็น-ร้อน อ่อน-แข็ง หย่อน-ตึง ให้มากระทบกับกาย และเรื่องราว ที่ผ่านมาหรือเรื่องราวที่ยังไม่เกิด ให้มากระทบทางใจ แล้วจิตก็จะรับรู้สิ่งที่มากระทบนั้น ๆ ทำให้เกิดความพอใจ ไม่พอใจ หรือรู้สึกเฉย ๆ ดังภาพ
โดยมีผัสสเจตสิกเป็นตัวประสาน
          
          ๒) เวทนาเจตสิก คือ ความรู้สึกของคนและสัตว์ทั่วๆ ไป ซึ่งจะมีความรู้สึกอยู่ ๓ อย่างคือพอใจ ไม่พอใจ และเฉยๆ เมื่อถูกด่าก็รู้สึกไม่พอใจ เมื่อถูกชมก็จะรู้สึกพอใจ ถ้าไปด่าหรือชมคนอื่นก็จะรู้สึกเฉย ๆ ความพอใจ ไม่พอใจ หรือเฉย ๆ นี้แหละคือเวทนา เจตสิกที่เกิดในจิตใจของคนเรานั่นเอง มิใช่สิ่งอื่นใด
          
          ๓) สัญญาเจตสิก คือ ความจำ เช่นเด็กเล็กจำ ก.ไก่ – ฮ.นกฮูก ได้ จำ A – Z ได้ ผู้ใหญ่ก็จำเรื่องราวต่าง ๆ ได้ คนและสัตว์ต่าง ๆ จะจำใน ๖ สิ่งนี้เท่านั้น คือ จำรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และจำเรื่องราวที่คิดนึกทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคต
          
          ๔) เจตนาเจตสิก เป็นธรรมชาติที่ตั้งใจ หรือความมุ่งหวัง ที่เกิดขึ้นในจิตใจของคนเรา แล้วกระทำออกมาทางกาย วาจา ใจ สำเร็จเป็นบุญบาปที่เรียกว่า กุศลกรรม อกุศลกรรม เมื่อตายไปแล้วก็จะต้องไปเสวยผลของกรรมที่ได้ทำไว้ คือตกนรกบ้าง หรือมาเกิดเป็นมนุษย์บ้าง เจตนาเจตสิกจึงได้ชื่อว่าเป็น กรรม คือ การกระทำดี หรือไม่ดี นั่นเอง
          
          
          ๕) เอกัคคตาเจตสิก เป็นธรรมชาติที่ทำจิตใจ ให้ตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์เดียว เพ่งอยู่ในอารมณ์เดียว ทำให้จิตใจเกิดความสงบเยือกเย็น ไม่ฟุ้งซ่านไปในเรื่องราวต่างๆ ที่เราเรียกว่า สมาธิ เช่นในขณะที่อ่านหนังสือ ถ้ามีจิตแน่วแน่หรือมีสมาธิในการอ่าน จิตใจไม่ซัดส่ายไปคิดเรื่องอื่น จะทำให้เข้าใจ ในเนื้อหาสาระในหนังสือโดยตลอด เด็กหรือนักศึกษา ถ้าได้รู้จักการฝึกสมาธิแล้ว จะทำให้เรียนหนังสือได้เก่ง การฝึกจิตให้สงบเกิดสมาธินี้ชื่อว่า เป็นกรรมฐานอย่างหนึ่งที่เรียกว่า สมถกรรมฐาน ซึ่งมีการฝึกถึง ๔๐ วิธี ด้วยกัน รายละเอียดจะได้ศึกษากันต่อไป
 
          ๖) ชีวิตินทรียเจตสิก เป็นธรรมชาติที่หล่อเลี้ยงรักษานามธรรม คือจิตและเจตสิก ให้มีชีวิตอยู่ และทำงานให้สำเร็จลุล่วงไปได้
คำว่า “ชีวิต” มี ๒ อย่าง คือ ชีวิตนาม และ ชีวิตรูป ชีวิตนามหรือนามชีวิต ได้แก่ ชีวิตินทรียเจตสิกนี้เอง ส่วนชีวิตรูปจะได้ศึกษากันต่อไป ในเรื่องของรูปปรมัตถ์
          
          ๗) มนสิการเจตสิก เป็นธรรมชาติที่น้อมจิตใจไปสู่อารมณ์ เช่น ขณะที่ดูทีวี ดูหนังดูละคร มนสิการเจตสิก ก็จะน้อมจิตให้จดจ่อ กับภาพกับเสียงบนจอทีวีอยู่เสมอตลอดเวลา ทำให้เกิดความสนุกสนาน เพลิดเพลิน นอกจากจะทำให้จิตใจน้อม ไปสู่การดูการฟังแล้ว ยังทำให้จิตใจน้อมไปสู่ การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การสัมผัสถูกต้อง และการคิดนึกเรื่องราวต่าง ๆ ด้วย
          
บทสรุป
สัพพจิตตสาธารณเจตสิก ๗
          เจตสิกทั้ง ๗ ดวงนี้ เป็นเจตสิกที่เกิดดับ ทำงานร่วมกับจิตใจของคน และสัตว์ทั้งหลาย ตลอดเวลาทั้งในเวลาหลับและตื่น จึงได้ชื่อว่า สัพพจิตตสาธารณเจตสิก คือเกิดขึ้นกับจิตทั่วไปทุกดวง
๑. ผัสส คือ การกระทบอารมณ์
เวทนา คือ การเสวยอารมณ์
๓. สัญญา คือ ความจำหมายอารมณ์
๔. เจตนา คือ การแสวงหาอารมณ์
๕. เอกัคคตา คือ ความตั้งมั่นในอารมณ์เดียว
๖. ชีวิตินทรีย์ คือ การรักษาธรรมที่เกิดร่วมกับตน
๗. มนสิการ คือ การใส่ใจในอารมณ์
 
 

ปกิณณกเจตสิก

 

พวกที่ ๒ เข้าปรุงแต่งจิตใจในคนบางคน (ปกิณณกเจตสิก ๖ ดวง)

 

        แต่ละดวงมีลักษณะดังนี้
          ๑) วิตกเจตสิก เป็นธรรมชาติที่ยกจิตขึ้นสู่ความคิดนึก หรือตรึกไปในเรื่องราวต่าง ๆ เป็นเรื่องราวที่ผ่านมาแล้วบ้าง เรื่องราวที่ยังไม่เกิดขึ้นบ้าง เช่น ไปดูภาพยนตร์ เรื่องที่สนุกสนานแล้ว นำมาเล่าสู่กันฟัง ผู้เล่าก็ยกจิตเล่าไปตาม เรื่องราว ผู้ฟังก็ยกจิต ฟังตามเรื่องราวที่เล่า ทำให้เกิดความสนุก สนานไปด้วยไม่ง่วงเหงาหาวนอน
อุปมาเหมือนกับบุรุษไปรษณีย์ ที่นำจดหมายเรื่องโน้นเรื่องนี้ มาส่งทำให้จิต ได้นึกคิดต่อ วิตกเจตสิก นี้เมื่อยกจิต ขึ้นสู่เรื่องราวบ่อย ๆ จะไม่เกิดอาการง่วง คนที่นอนไม่หลับก็คือคนที่หยุดคิดไม่ได้ จิตจึงไม่ง่วงไม่หลับ ถ้าจะให้หลับ ก็คือเลิกคิด หยุดคิดให้เป็นแล้ว จะหลับง่ายตามตั้งใจ
          
          ๒) วิจารเจตสิก เป็นธรรมชาติที่ประคับประคองจิต ไว้ในเรื่องราวหรืออารมณ์ต่างๆ ตามที่ต้องการมิให้ไปที่อื่น การทำงานของวิตกเจตสิก และวิจารเจตสิกนี้ ใกล้ชิดกันมาก เหมือนกับนกที่บินถลาอยู่กลางอากาศ เมื่อกระพือปีกแล้วจะร่อนถลาไป วิตกเจตสิกเหมือนกับ การกระพือปีกของนก วิจารเจตสิกเหมือนกับการร่อนถลาไปของนก ซึ่งจะเห็นว่าการร่อนถลาไปของนก คือวิจารเจตสิกนั้น มีความสุขุมกว่าการกระพือปีก คือวิตกเจตสิก ทั้งสองนี้จะทำงานร่วมกันเสมอสำหรับบุคคลที่ยังไม่ถึงฌาน ถ้าเป็นจิตของผู้ถึงฌานที่ ๑ และฌานที่ ๒ แล้ว เจตสิกทั้งสองนี้ จะแยกออกจากกัน นอกจากนี้ วิจารเจตสิก ยังเป็นปรปักษธรรมกับวิจิกิจฉาเจตสิกที่อยู่ ในนิวรณธรรม
          
          ๓) อธิโมกขเจตสิก เป็นธรรมชาติที่ช่วยในการตัดสินใจ ไม่เกิดการลังเลสามารถตัดสินใจได้ เด็ดขาดไม่ว่าการตัดสินใจนั้น จะถูกหรือผิดก็ตาม
เหมือนกับการขับรถไปถึงทางแยก ที่ไม่มีเครื่องหมายบอกไว้ ข้างหน้าว่าจะไปไหน คนขับก็จะต้องตัดสินใจทันทีว่า จะไปทางซ้ายหรือทางขวา คนที่มีอธิโมกขเจตสิกอยู่ในใจ จะเป็นคนที่กล้าได้กล้าเสีย ตัดสินใจได้เด็ดขาด จึงเป็นคนที่ตรงกันข้ามกับคนขี้ขลาด ที่ไม่กล้าตัดสินใจ (วิจิกิจฉา) จะทำอะไรสักอย่างหนึ่งก็คิดแล้วคิดอีกตัดสินใจไม่ได้
          
          ๔) วิริยเจตสิก เป็นธรรมชาติที่เพียรพยายาม เมื่อเกิดขึ้นกับคนใด ก็จะทำให้จิตใจของคนนั้น มีความอดทนต่อสู้กับความยากลำบาก มีความอุตสาหะพากเพียร ไม่รู้สึกท้อถอยในการงาน ขยันหมั่นเพียร ในการทำบุญตักบาตร รักษาศีล เจริญภาวนา ถ้าเป็นคนพื้นเพที่มีจิตใจต่ำ ก็จะขยันไปในทางความชั่วทำบาปอกุศล สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่นร่ำไป
          
          ในบางครั้งจิตของคนเรา ก็เกิดความเบื่อหน่ายท้อถอย ในการที่จะทำความดี เพราะเข้าใจว่าทำดีแล้วไม่ได้ดี วิธีที่จะปลุกใจขึ้นมา ให้ทำความดีต่อไปนั้น เขาให้พิจารณาถึง สังเวควัตถุ ๘ประการ ให้นึกถึงความทุกข์ ที่รออยู่ข้างหน้ามากมาย ถ้าเราไม่ทำความดี ก็ไม่สามารถจะหลีกเลี่ยงได้เลย คือ ทุกข์ที่เกิดจากการเกิด แก่ เจ็บ ตาย ทุกข์ที่จะต้องไปอยู่ในอบายภูมิทั้งสี่
คือ นรก เปรต อสุรกาย และสัตว์เดรัจฉาน เมื่อเราเห็นทุกข์โทษของสิ่งเหล่านี้ เราก็จะเกิดวิริยะ เพียรพยายามขึ้นมาเอง ในเรื่องที่เกี่ยวกับการงาน การเดินทาง และเรื่องอาหารการรับประทาน ให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี
 
          ๕) ปีติเจตสิก คือความปลาบปลื้ม หรือความอิ่มใจในอารมณ์ จะเกิดขึ้นในขณะที่ เราทำบุญทำกุศล นั่งสมาธิเจริญฌาน หรือแม้แต่ในขณะที่ เรายินดีพอใจสิ่งใดสิ่งหนึ่งมาก ๆ ปีตินี้ก็เกิดขึ้นได้
ลักษณะของปีติเจตสิก มี ๕ ประการ คือ
(๑) ปลาบปลื้มใจเล็กน้อยพอรู้สึกขนลุก
(๒) ปลาบปลื้มใจเป็นขณะๆ ซึ่งเกิดขึ้นบ่อย ๆ
(๓) ปลาบปลื้มใจจนตัวโยกตัวโคลง
(๔) ปลาบปลื้มใจจนถึงกับตัวลอย
(๕) ปลาบปลื้มใจจนอิ่มเอิบซาบซ่านไปทั่วกายและใจ
          
          ปีติเจตสิกนี้ เป็นองค์ประกอบของฌานที่ ๑ ถึงฌานที่ ๓ ด้วย คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา รายละเอียดจะได้ศึกษากันต่อไป
          
          ๖) ฉันทเจตสิก มีความพอใจในขณะที่เห็นของสวย ๆ เสียงเพราะ ๆ กลิ่นหอม ๆ รสอาหาร ที่อร่อย ๆ เป็นต้น เมื่อสิ่งเหล่านี้หมดไป ย่อมจะเสาะแสวงหามาอีก บางทีก็ได้มาในทางที่ไม่ถูกต้องเป็นทุจริตคือ ทำบาปอกุศลกรรมบ้าง บางทีก็ได้มาด้วยวิธีที่ถูกต้องเป็นสุจริต จะเห็นได้ว่าความต้องการของ ฉันทเจตสิก กับ โลภเจตสิก นั้นใกล้เคียงกันมาก แต่ความต้องการที่เป็นฉันทเจตสิก กับ ความต้องการของโลภเจตสิก ไม่เหมือนกัน คือ
ความต้องการของโลภเจตสิกนั้น ย่อมยึดและติดใจอยู่ในอารมณ์นั้นๆ
ส่วนความต้องการของฉันทเจตสิก ไม่ยึดและติดใจในอารมณ์ เหมือนการรับประทานขนม กับ การรับประทานยา เมื่อหายจากโรคแล้ว ก็คงไม่ติดใจในรสของยาอีก ที่ต้องการยา เพื่อรักษาให้หายจากโรคเท่านั้น เปรียบได้กับฉันทเจตสิกนั่นเอง
 
 
สรุป ปกิณณกเจตสิก ๖
เจตสิก วิตก วิจาร อธิโมกข์ วิริยะ ปีติ ฉันทะ
จำนวนจิตที่เจตสิกเข้าประกอบได้ ๕๕ ๖๖ ๑๑๐ ๑๐๕ ๕๑ ๑๐๑
 
        ภาพแสดงอัญญสมานาเจตสิก ๑๓
 

อกุศลเจตสิก

 

๒. เจตสิกฝ่ายไม่ดี (อกุศลเจตสิก ๑๔)
          
          อกุศลเจตสิก เป็นเจตสิกที่ชั่ว ที่บาป ที่หยาบ ที่ไม่งาม ที่ไม่ฉลาด อกุศลเจตสิกนี้เมื่อเข้าประกอบกับจิตแล้ว ก็ทำให้จิตเศร้าหมอง เร่าร้อน และทำให้เสียศีลธรรม
          
          อกุศลเจตสิก ประกอบกับอกุศลจิต ๑๒ ดวงเท่านั้น ไม่ประกอบกับจิตอย่างอื่นเลย ขณะที่อกุศลเจตสิกเข้าปรุงแต่งจิตใจ จะทำให้จิตใจผู้นั้นเป็นคนใจบาปหยาบช้า ทำแต่ความชั่วความทุจริตทางกาย ทางวาจา และทางใจ สร้างความเดือดร้อนวุ่นวายแก่ตนเองและสังคม เมื่อตายลงย่อมไปสู่ทุคติ คืออบายภูมิ ๔ ได้แก่นรก เปรต อสุรกายและเดรัจฉาน
 
          อกุศลเจตสิก แบ่งออกเป็น ๕ กลุ่ม คือ
                              กลุ่มของความมัวเมาลุ่มหลง (ไม่รู้ความจริง)
                              กลุ่มของความโลภ
                              กลุ่มของความโกรธ
                              กลุ่มของความหดหู่ท้อถอย และ
                              กลุ่มของความลังเลสงสัย

โมจตุกเจตสิก

 

๑. กลุ่มของความมัวเมาลุ่มหลง โมจตุกเจตสิก(ไม่รู้ความจริง)
          
          เจตสิกกลุ่มนี้ เมื่อได้ประกอบ หรือสิงสู่จิตใจของผู้ใด จะทำให้ผู้นั้นขาดสติสัมปชัญญะ ทำอะไรผิดพลาดไปหมด เห็นกงจักรเป็นดอกบัว เห็นชั่วกลายเป็นดี คิด ทำ พูดในสิ่งที่ชั่วร้าย มองโลกในแง่ร้าย หาความสุขไม่ได้ เมื่อตายลงย่อมเข้าถึงอบายภูมิทั้ง ๔ หรือเข้าถึงความเป็นเดรัจฉาน ได้แก่ความหลงผิดไม่รู้ความจริง ความไม่ละอายต่อบาป ความไม่เกรงกลัวต่อบาป และฟุ้งซ่านรำคาญใจ ในความชั่วที่ได้กระทำไปแล้ว และความดีที่ไม่ได้ทำ ได้แก่
          
          ๑) โมหเจตสิก คือ ความหลง ทำให้ไม่รู้ความจริงของสภาวธรรม ไม่รู้เรื่องทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ การดับทุกข์ หนทางที่จะดับทุกข์ เป็นต้น
          
          ๒) อหิริกเจตสิก คือ ความไม่ละอายต่อบาป ไม่ละอายต่อการทำอกุศล เนื่องจากไม่เคารพในตนเอง ในวัย ในเพศ หรือในตระกูลของตน เป็นต้น จึงเกิดการทำชั่วโดยไม่ละอายต่อบาป
          
          ๓) อโนตตัปปเจตสิก คือ ความไม่สะดุ้งกลัวต่อบาป ไม่สะดุ้งกลัวต่อการทำอกุศลกรรม ไม่มีความเกลียดต่อบาป อันเนื่องมาจากในจิตใจนั้น ขาดความเคารพต่อผู้อื่น ไม่มีความเกรงใจผู้อื่น จึงสร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่นโดยง่าย
          
          ๔) อุทธัจจเจตสิก คือ ความฟุ้งซ่าน ไม่มีความสงบใจ คิดนึกไปในเรื่องราวต่าง ๆ มากมายจนทำให้นอนไม่หลับ เนื่องจากขาดความฉลาด ที่จะผูกจิตใจของตนไว้กับท่าทางการนอน หรือลมหายใจ หรือผูกไว้กับการภาวนา พุท หายใจเข้า โธ หายใจออก

โลติกเจตสิก

 

๒. กลุ่มของความโลภ (ความอยากได้)
          
          เป็นเรื่องของความอยากได้ เมื่อเจตสิกกลุ่มนี้ ประกอบอยู่ในจิตของผู้ใด จะทำให้ผู้นั้นเต็มไปด้วย ความโลภ มีความอยากได้ไม่มีที่สิ้นสุด ทำให้นิ่งเฉยอยู่ไม่ได้ จะต้องกระเสือกกระสน หาสิ่งที่มาสนองความต้องการ ทางตาในสิ่งที่สวยงาม สนองความต้องการทางหู คือเสียงที่มีความไพเราะเสนาะหู กลิ่นที่หอม ๆ แม้จะต้องหามา ด้วยราคาแพงก็ไม่รู้สึกเสียดาย สนองความต้องการทางลิ้น คือรสอาหารที่เลอเลิศ แม้จะต้องเสียเวลาและเงินทอง ก็ลงทุนเดินทางไป เพื่อความอร่อยเพียงมื้อเดียว หรือแสวงหาสัมผัสอันอ่อนนุ่มถูกใจ ถ้าสังเกตดูจะพบว่าสิ่งเหล่านี้ เป็นเครื่องทำให้จิตใจ มีความกระวนกระวาย ความสงบเยือกเย็น ก็จะไม่เกิดขึ้นในจิตใจเลย เมื่อผู้นั้นสะสม ความต้องการไว้มาก ๆ ตายไปย่อมเป็นเปรตหิวโหย มีความอยากไม่มีที่สิ้นสุด เจตสิกกลุ่มนี้มี ๓ คือ
          
          ๑) โลภเจตสิก คือ ภาวะของจิตใจที่เกิดความรัก ความอยากได้ ความติดใจในของสวย ๆ งาม ๆ
เช่น ความรักของชายหนุ่มหญิงสาว มีความรัก ความพอใจในความสวยงาม ของเรือนร่าง ในน้ำเสียง เป็นต้น โดยทั่วไปก็ได้แก่ความยินดีพอใจใน รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส นั่นเอง
บางทีเราก็เรียกว่าตัณหา (ความต้องการ) ราคะ (ความกำหนัด) กามะ (ความใคร่) นันทะ (ความเพลิดเพลิน) เป็นต้น ซึ่งล้วนเป็นกิเลส ทำให้จิตใจและร่างกาย กระวนกระวายกระสับกระส่าย หาความสงบไม่ได้
เมื่อตายลงในขณะที่มีความรู้สึกเช่นนี้ ก็ต้องไปเกิดเป็นเปรต ตกอยู่ในภาวะอดอยากหิวโหย
 
          ๒) ทิฏฐิเจตสิก คือ ภาวะของจิตใจที่เห็นผิดไปจากความจริง เห็นว่าบุญบาปไม่มี ทำบุญทำบาป ไม่มีผลไม่ต้องรับผล ไม่อยากพบเห็น แม้ท่านจะเป็นพระอริยบุคคล ทิฏฐิเจตสิกนี้ มีความละเอียดละออมาก ปุถุชนทั่วไป มีความเห็นผิดจากความเป็นจริงทุกคน โดยเข้าใจว่ า เป็นตัวเป็นตนมีเรามีเขา เรียกว่า ทิฏฐิสามัญ นอกจาก นี้ยังมีความเห็นผิดพิเศษอีกชนิดหนึ่งเรียกว่า นิยตมิจฉาทิฏฐิ เมื่อใครเห็นผิด และปฏิบัติตนเผยแผ่ความเห็นผิดของตนแล้ว เมื่อตายไปต้องตกนรกแน่นอน รายละเอียดเรื่องทิฏฐิมีมาก จะได้ศึกษากันในโอกาสต่อไป
          
          ๓) มานเจตสิก คือ ความถือตน ความทะนงตน มักจะเอาตนเอง เข้าไปเปรียบเทียบกับคนอื่น เสมอว่า ตนมีชาติ โคตร สกุล ทรัพย์ สมบัติ ศิลปวิทยา การงานหรือความฉลาด ที่เหนือกว่าคนอื่นบ้าง เสมอกับคนอื่นบ้าง หรือต่ำกว่าคนอื่นบ้าง ทำให้จิตใจว้าวุ่นขาดความสงบ ไม่เป็นที่ตั้งของกุศล เมื่อเกิดในภพใหม่ชาติใหม่ จะเกิดในตระกูลที่ต่ำต้อย เช่น ขอทาน จงรู้ได้เลยว่าในอดีตนั้น เขาเป็นคนเหย่อหยิ่งทะนงตน ลบหลู่ดูถูกเหยียดหยามคนอื่นไว้ ไม่นึกถึงบุญคุณคนที่เคยช่วยเหลือมา จึงตกอยู่ในสภาพเช่นนี้
 

โทจตุกเจตสิก

 

๓. กลุ่มของความโกรธ เจตสิกกลุ่มนี้มี ๔ คือ
          
          ๑) โทสเจตสิก คือ ความโกรธ ความไม่พอใจ ความคับแค้นใจ ที่อยู่ในจิตใจของคนเรา ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐีมีเงิน คนยากจนเข็ญใจ หรือว่าจะอยู่ในฐานะอย่างไร ก็ตามเมื่อถูกความโกรธเข้าครอบงำจิตใจแล้ว ย่อมจะกลายเป็นคนหยาบช้า กักขฬะขาดความเมตตาปรานี มีความดุร้ายเหมือนอสรพิษ มีความกระสับกระส่ายเหมือนคนที่ถูกยาพิษ
          
          เหตุที่ทำให้เกิดความโกรธขึ้นได้นี้ มีหลายประการด้วยกัน เช่น นายดำและนายแดง เป็นพี่น้องกันแต่มาขัดใจกัน เพราะนายดำเป็นคนไม่ดี ชอบเล่นการพนัน และได้โกงมรดกส่วนแบ่งของนายแดง และน้อง ๆ ไปเป็นจำนวนมาก จนสุดท้ายก็หมดตัวเพราะการพนัน ญาติ ๆ กลับมาขอให้นายแดงช่วยเหลือเกื้อกูลนายดำ เพราะเห็นแก่ความเป็นพี่เป็นน้อง ทำให้นายแดงพลอยโกรธญาติ คนที่มาพูดขอให้ช่วยไปด้วย ชี้ให้เห็นว่าความโกรธความไม่พอใจนั้น เกิดจากมีคนมาทำความเสื่อมเสียให้ กำลังทำความเสื่อมเสียให้ หรือจะทำความเสื่อมเสียให้แก่เรา แก่คนที่รัก หรือเกื้อหนุนคนที่เราเกลียด หรือแม้แต่สิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น การเดินสะดุดขาเก้าอี้ก็เป็นเหตุให้เราโกรธได้เช่นกัน
          ความโกรธจึงเป็นความชั่วร้ายที่เกิดทางจิตใจ ถ้าละความโกรธได้ ก็จะมีชีวิตอยู่ด้วยความผาสุก ผู้ใดสะสมความโกรธบ่อย จะทำให้ขาดความสุขในชีวิต เกิดโรคภัยไข้เจ็บมาเบียดเบียน เมื่อตายลงย่อมไปเสวยผลของความโกรธในนรก
          
          ๒) อิสสาเจตสิก เป็นเจตสิกตัวที่ ๒ ในกลุ่มของความโกรธ เป็นเรื่องของจิตใจที่มีความริษยา ไม่ยินดีในการได้ลาภ ได้ยศของคนอื่น เห็นคนอื่นเขาได้ดียิ่งร้อนใจ ที่เรียกว่า ไฟริษยา นั่นแหละ ชีวิตจะขาดความสุข เป็นตัวผูกหรือเครื่องผูกสัตว์ที่เรียกว่า อิสสาสังโยชน์ ทำให้ต้องเวียนเกิดเวียนตาย ในภพน้อยภพใหญ่ในวัฏฏสงสารอันยาวนาน
          
          ๓) มัจฉริยเจตสิก คือ ความตระหนี่เหนียวแน่น หวงแหนในทรัพย์และความดีของตน ไม่ยอมเสียสละให้แก่ผู้อื่น ซึ่งมีหลายอย่างด้วยกันคือ การตระหนี่หวงแหนที่อยู่อาศัย ที่หลับนอน เช่น มีญาติเดินทาง มาจากต่างจังหวัด ขอพักอาศัยสัก ๒-๓ วัน ก็ไม่ให้อาศัย การหวงลาภที่ได้มาไม่ยอมแบ่งปัน เช่น วันปีใหม่ บางคนได้ของขวัญมาเยอะ แต่เก็บไว้คนเดียวแทนที่จะแบ่งปันให้คนอื่นบ้าง การตระหนี่ในตระกูล ไม่ยอมให้คนอื่นร่วมใช้ กลัวคนอื่นจะมาทำให้ตระกูลตกต่ำไป
การตระหนี่ในวรรณะคือความงาม ต้องการให้ตนงามเพียงคนเดียว ไม่ยินดีในความงามของคนอื่น รวมถึงการตระหนี่ในธรรมด้วย โดยไม่ต้องการให้คนอื่นรู้ตามที่ตนรู้ ซึ่งล้วนแต่ทำให้จิตใจเร่าร้อน เพราะกลัวคนอื่นจะมาเบียดเบียนในทรัพย์ และคุณความดีของตน แม้เป็นเศรษฐีร่ำรวยเงินทอง ต้องขึ้นไปหุงข้าวมธุปายาสบนยอดปราสาท เพราะกลัวคนอื่นเห็นเข้าจะมาขอกิน
          
          ๔) กุกกุจจเจตสิก คือ ความเดือดร้อนใจในบาปที่ตนได้ทำไว้ และความดีที่คิดว่า จะทำแต่ยังไม่ได้ทำ รวมทั้งการคิดที่ว่า สิ่งนี้ควรทำแต่ไม่ทำ สิ่งนี้ไม่ควรทำแต่ได้ทำไปแล้ว เหมือนกันกับคนที่บนตัวเองว่าจะบวช แต่ก็ยังไม่มีโอกาสจะบวช จึงคิดเดือดร้อนใจกลัวภัยต่าง ๆ จะมาถึงตน เป็นต้น
 

ถีทุกเจตสิก

 

๔. กลุ่มของความหดหู่ท้อถอย (ถีทุกเจตสิก) เจตสิกกลุ่มนี้มี ๒ คือ
          
          ๑) ถีนเจตสิก เป็นเจตสิกที่เกิดขึ้นแล้ว ทำให้จิตใจหดหู่ท้อถอย ไม่อยากจะทำคุณงามความดี หรือเพียรพยายามต่อไป เวลาอ่านหนังสือหรือปฏิบัติธรรมอยู่ จะเกิดความเบื่อหน่ายขึ้นมา บอกไม่ถูกว่าเพราะอะไร เช่นบางคนตั้งใจเข้าปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ๑ สัปดาห์ แต่พอปฏิบัติได้เพียง ๓ วัน ก็เกิดความท้อแท้เบื่อหน่าย จนทนไม่ไหวต้องออกจากกรรมฐาน เป็นต้น ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะถูก ถีนเจตสิก เข้าปรุงแต่งจิตใจ ทำให้เกิดความท้อแท้ขึ้นมานั่นเอง
          
          ๒) มิทธเจตสิก คือ เจตสิกที่ทำให้จิตใจง่วงซึม ท้อถอยจากความตั้งใจ อยากที่จะนอนหรือนั่งสัปหงก โงกง่วง สมองไม่ปลอดโปร่งคิดอะไรไม่ออก จึงเป็นสิ่งที่กางกั้นกุศลธรรมทั้งหลาย ไม่ให้เกิดขึ้นในจิตใจ เหมือนกับทำนบกั้นน้ำไว้ ทำให้พืชไร่ไม่ได้รับความชุ่มชื้นจากน้ำ
          เจตสิก ๒ ดวงนี้ เป็นเจตสิกที่ขัดขวางต่อความเจริญก้าวหน้า ในด้านความคิดและการกระทำทั้งปวง จะเกิดพร้อมกันเสมอ ในคนที่มีจิตใจไม่เข้มแข็ง (สังขาริกจิต) ถ้าไม่เกิดก็ไม่เกิดด้วยกัน เหมือนดวงไฟกับ แสงสว่าง เมื่อดวงไฟหรี่แสงสว่างก็จะลดน้อยลงไปพร้อม ๆ กัน

วิจิกิจฉาเจตสิก

 

๕. กลุ่มของความลังเลสงสัย วิจิกิจฉาเจตสิก เจตสิกกลุ่มนี้มี ๑ ดวง คือ
          
          วิจิกิจฉาเจตสิก คือ ความสงสัย ความลังเลไม่แน่ใจ จนไม่กล้าตัดสินใจในสิ่งที่เผชิญหน้าอยู่ เป็นเจตสิกที่ไม่มีกลุ่มมีเพียงดวงเดียวเท่านั้น เมื่อเกิดขึ้นกับจิตใจของคนเราแล้ว สามารถจะทำให้จิตใจเกิดความลังเลสงสัยว่า พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ชาตินี้ ชาติหน้า จะมีจริงหรือ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการทำความดี ทั้งหลาย ทำให้ความดีที่กระทำอยู่ เกิดความชะงักงันไม่ก้าวหน้าต่อไป จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ เราควรจะได้มีความรู้ความเข้าใจ ในสภาพธรรมที่กำลังเกิดขึ้นนี้ให้ดีว่า สิ่งนี้คือ มารของความดี มารของมรรคผลนิพพาน

โสภณเจตสิก

 

๓. เจตสิกฝ่ายดี (ชื่อว่า โสภณเจตสิก)
          
          โสภณเจตสิก มี ๒๕ ดวง เป็นเจตสิกฝ่ายดีงาม จะเข้าประกอบจิตปรุงแต่งจิตเฉพาะจิตที่เป็นกุศล เท่านั้น หรือเกิดขึ้นในขณะที่จิตใจของคนที่ทำดี พูดดี คิดดี มีการทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนา เป็นต้น เป็นผลทำให้ชีวิตของผู้นั้นเจริญก้าวหน้า มีความสุขความสมหวังติดตามมา แบ่งออกเป็น ๔ ประเภท คือ
โสภณเจตสิก แบ่งออกเป็น ๔ ประเภท คือ
๑. โสภณสาธารณเจตสิก ๑๙ ดวง
๒. วิรตีเจตสิก ดวง
๓. อัปปมัญญาเจตสิก ดวง
๔. ปัญญินทรียเจตสิก ดวง
รวมเป็น ๒๕ ดวง (ดูภาพข้างบนประกอบ)
          
๑. โสภณสาธารณเจตสิก ๑๙ ดวง
          
          โสภณสาธารณเจตสิกทั้ง ๑๙ ดวงนี้ จะเข้าประกอบจิตใจ ในการทำความดีทุกประเภท เกิดขึ้นได้ในจิตใจของคนทั่วไป ขณะที่ทำคุณงามความดี เช่น ขณะที่ทำทาน รักษาศีล เจริญสมถวิปัสสนาหรือพูดง่าย ๆ ว่า เกิดขึ้นกับโสภณจิต ๕๙ ดวง หรือ ๙๑ ดวง ซึ่งเราได้ศึกษามาแล้ว คือกามาวจรโสภณจิต ๒๔ ดวง (การทำบุญทั่วไป) มหัคคตจิต ๒๗ ดวง (การทำรูปฌานและอรูปฌาน) โลกุตตรจิต ๘ ดวง หรือ ๔๐ ดวง (การตัดกิเลสได้โดยเด็ดขาด) ถ้ายังจำไม่ได้ต้องไปทบทวนดูอีกครั้ง เพื่อความเข้าใจ
          
โสภณสาธารณเจตสิก ๑๙ ดวง มีชื่อและความหมาย ดังนี้
  ชื่อ ความหมาย
๑. สัทธา ความเลื่อมใสต่อกุศล
๒. สติ การระลึกได้ในอารมณ์ที่เป็นกุศล
๓. หิริ ความละอายต่อบาป
๔. โอตตัปปะ การสะดุ้งกลัวต่อบาป
๕. อโลภะ ความไม่อยากได้
๖. อโทสะ ความไม่โกรธ
๗. ตัตตรมัชฌัตตตา ความเป็นกลางในกุศล
๘. กายปัสสัทธิ เจตสิกสงบ
ขณะทำกุศล
๙. จิตตปัสสัทธิ จิตสงบ
"
๑๐. กายลหุตา เจตสิกเบา
"
๑๑. จิตตลหุตา จิตเบา
"
๑๒. กายมุทุตา เจตสิกอ่อนโยน
"
๑๓. จิตตมุทุตา จิตอ่อนโยน
"
๑๔. กายกัมมัญญตา เจตสิกเหมาะสม
"
๑๕. จิตตกัมมัญญตา จิตเหมาะสม
"
๑๖. กายปาคุญญตา เจตสิกคล่องแคล่ว
"
๑๗. จิตตปาคุญญตา จิตคล่องแคล่ว
"
๑๘. กายุชุกตา เจตสิกซื่อตรง
"
๑๙. จิตตุชุกตา จิตซื่อตรง
"
 
 

วีรตีเจตสิก

๒. เจตสิกฝ่ายดีใช้ในการรักษาศีล
          
          เรียกว่า วิรตีเจตสิก จะประกอบกับจิตของคน ในขณะรักษาศีล เป็นสภาวธรรมที่ปรุงแต่งจิตให้ งดเว้นจากการทำบาปมี ๓ ลักษณะด้วยกัน บางคนเว้นจากการทำบาป โดยอัธยาศัย มีจิตเมตตาต่อสัตว์ ทั้งหลายเป็นนิสัยประจำตน บางคนเว้นจากการทำบาปเป็นวัน ๆ เช่น การสมาทานศีล ๕ ศีล ๘ ในวันพระ เป็นต้น และลักษณะที่ ๓ เป็นการเว้นจากการทำบาปโดยเด็ดขาด ไม่ทำทุจริตทางกายวาจาเลย ได้แก่ จิตของพระอริยบุคคล
วิรตีเจตสิก มี ๓ ดวง คือ
๑) สัมมาวาจาเจตสิก ได้แก่ การตั้งใจงดเว้นจากการทำบาปทางวาจา คือไม่พูดเท็จ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดคำหยาบ และไม่พูดเพ้อเจ้อ เรียกว่า วจีทุจริต ๔ ซึ่งไม่เกี่ยวกับการงานที่เป็นอาชีพ
๒) สัมมากัมมันตเจตสิก ได้แก่ การตั้งใจงดเว้นจากการทำบาปทางกาย คือการฆ่าสัตว์ การลักทรัพย์ การประพฤติผิดในกาม เรียกว่า กายทุจริต ๓ ที่ไม่เกี่ยวกับการงานที่เป็นอาชีพ
๓) สัมมาอาชีวเจตสิก ได้แก่ การงดเว้นจากกายทุจริต ๓ และวจีทุจริต ๔ ที่เกี่ยวกับอาชีพ ในการรักษาศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ หรือ ศีล ๒๒๗ จะต้องมีเจตสิก ๓ ดวงนี้เข้าปรุงแต่งจิตใจเสมอ ถ้าเป็นบุคคลธรรมดา (โลกียบุคคล) จะเข้าประกอบกับจิตไม่พร้อมกันและไม่แน่นอน แต่ถ้าประกอบกับจิตของพระอริยบุคคล (โลกุตตรบุคคล) แล้ว จะเข้าประกอบพร้อมกันเรียกว่า เป็นองค์ของมรรค
          
          การงดเว้นจากการทำบาปนี้ ชื่อว่าเป็นการเจริญกุศล ย่อมจะทำให้ผู้ปฏิบัติได้เกิดเป็นมนุษย์หรือ เกิดเป็นเทวดา หรือเป็นเหตุให้เข้าถึงนิพพานในที่สุด ย่อมเป็นที่รักที่พอใจของบุคคลทั่วไป จะมีความสุขสวัสดี ทั้งยามหลับและยามตื่น
          

อัปปมัญญาเจตสิก

 

๓. เจตสิกฝ่ายดีใช้ในการเจริญพรหมวิหาร
          
เจตสิกฝ่ายดี เรียกว่า อัปปมัญญาเจตสิก มี ๒ ดวง คือ
๑) กรุณาเจตสิก ได้แก่ ความสงสารที่เกิดขึ้นในจิตใจของคนเรา เมื่อเห็นคนอื่น หรือสัตว์อื่นกำลังได้รับความทุกข์ หรือจะได้รับความทุกข์ ในกาลข้างหน้า ความรู้สึกเช่นนี้เรียกว่า มีความทุกข์ของสัตว์เป็นอารมณ์ (ทุกขิตสัตว์)
๒) มุทิตาเจตสิก ได้แก่ ความรู้สึกยินดีที่เกิดขึ้นในจิตใจ เมื่อได้เห็นคนอื่นหรือสัตว์อื่น กำลังได้รับความสุขอยู่ โดยปรารถนาให้เขาเหล่านั้น มีความสุขยิ่ง ๆ ขึ้น อย่าได้พลัดพรากจากความสุขนั้น ๆ เลย ความรู้สึกเช่นนี้เรียกว่า มีความสุขของสัตว์เป็นอารมณ์ (สุขิตสัตว์)
          
          ในชีวิตประจำวันของเรา ถ้าได้เห็นคนยากจน หรือคนขอทาน กำลังได้รับความทุกข์ หรือได้รับความอดอยากอยู่ จิตใจเราเกิดความสงสาร ปรารถนาต้องการให้เขาพ้นจากความทุกข์ ขณะนั้นกุศลจิต คือกรุณาเจตสิกได้เกิดขึ้นแล้วในจิตใจ ความสงบเยือกเย็นเป็นสุขย่อมเกิดขึ้น ถ้าได้พบกับบุคคล ที่ประสบกับความสุขความสมหวังในชีวิต และจิตใจพลอยแสดงความยินดี ชื่นชมที่เขาได้รับความสุขสมหวังนั้น ปรารถนาให้เขาได้รับความสุขยิ่ง ๆ ขึ้นไปอย่าได้พลัดพรากจากความสุขนั้น ๆ เลย นี้ชื่อว่า มุทิตาเจตสิก ได้เกิดขึ้นในจิตใจของเรา ทำกรุณาและมุทิตาให้เกิดขึ้นบ่อย ๆ ก็ได้ชื่อว่าเป็นผู้เจริญในพรหมวิหารธรรม จิตใจจะมีความอ่อนโยนเป็นสมาธิ ถ้าทำให้มากขึ้น อาจถึงฌานได้ ผู้เจริญอยู่ในพรหมวิหารธรรม จะทำให้มีความสุขปราศจากทุกข์และศัตรู มีความสุขทั้งในยามตื่นและหลับ ทำให้เป็นผู้ฝันดี มีเทวดารักษา เป็นที่รักของมนุษย์และอมนุษย์ ไฟ ยาพิษ และอาวุธไม่กล้ำกรายมาถึง ทำให้สีหน้าผ่องใสเมื่อใกล้ตายก็มีจิตผ่องใส เข้าถึงสุคติภพ

ปัญญินทรียเจตสิก

๔. ปัญญินทรียเจตสิก
          
          เป็นเจตสิกที่มีความสำคัญมาก เมื่อเข้าปรุงแต่งจิตแล้ว จะทำให้จิตนั้นรู้ และเข้าใจในเหตุผล สภาพความเป็นจริงของรูปนาม ทำให้เห็นความเป็นไปของรูปนามว่า รูปนามนั้น ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และไม่ใช่ตัวตน ที่จะบังคับบัญชาสั่งการ ให้เป็นไปตามความปรารถนาได้ ตลอดจนรู้แจ้งในอริยสัจ
          
ปัญญามี ๓ ประเภท คือ
๑) ปัญญาที่รู้เรื่องกรรม เรียกว่า กัมมัสสกตาปัญญา รู้ว่าสัตว์ทั้งหลายนั้นมีกรรมเป็นของตน มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นกำเนิด คนหรือสัตว์ทั้งหลายที่ทำกรรมดีกรรมชั่วก็ตาม ย่อมจะต้องได้รับผลของกรรมนั้น แน่นอนทั้งนั้น เช่น ผู้ที่ฆ่าทำร้ายบุคคลอื่น ก็ย่อมจะต้องถูกฆ่า ถูกทำร้ายจากคนอื่นเช่นเดียวกัน บุคคลใดที่ลักขโมยทำลายทรัพย์เขา ทรัพย์ที่ได้มา ก็ย่อมจะได้รับความวิบัติเช่นเดียวกัน ดูได้จากเหตุการณ์ในชีวิตประจำวัน แต่ละวันของคนเรา ถ้าเข้าใจในเหตุผล หรือมีความรู้เรื่องกรรมแล้ว ย่อมจะเห็นได้ชัดเจนถึงผลของกรรมแต่ละคนได้ดี
๒) ปัญญาที่รู้เรื่องวิปัสสนาเรียกว่า วิปัสสนาปัญญา จะเกิดขึ้นกับผู้ที่ได้เข้าปฏิบัติธรรม กำหนดในสติปัฏฐานทั้ง ๔ เป็นอารมณ์ จะมีความเข้าใจชัด ในเรื่องของรูปนาม (ขันธ์ อายตนะ ธาตุ อินทรีย์ สัจจะ ปฏิจจสมุปบาท) ว่า มีลักษณะเปลี่ยนแปลง ไม่มั่นคง และบังคับบัญชาไม่ได้ ตกอยู่ในกฎของ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นั่นเอง
๓) ปัญญาที่รู้ในอริยสัจ ๔ เรียกว่า โลกุตตรปัญญา เมื่อเกิดขึ้นแล้ว จะทำให้จิตรู้แจ้งแทงตลอด ในความเป็นจริง คืออริยสัจ ๔ ได้แก่ ทุกขสัจ รู้แจ้งว่ารูปนามเป็นทุกข์ มีความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ไม่สามารถจะทนอยู่ในสภาพเดิมได้ การเกิดนั้นเป็นทุกข์ การแก่เจ็บตายก็เป็นทุกข์ เป็นต้น สมุทัยสัจ รู้แจ้งในเหตุให้เกิดทุกข์ ได้แก่ ตัวโลภเจตสิก หรือ ตัณหา คือ ความพอใจยินดีติดอยู่ในกามคุณอารมณ์ ทำให้ต้องเวียนเกิดเวียนตายอีก หาที่สิ้นสุดไม่ได้ นิโรธสัจ ปัญญาที่เข้าถึงซึ่งความดับทุกข์ คือนิพพาน เป็นการดับสนิทของตัณหา อันเป็นเหตุทำให้เกิดทุกข์ และการเวียนเกิดเวียนตาย มรรคสัจ การรู้แจ้งทางเดินให้ถึงซึ่งนิพพาน ได้แก่ มรรคมีองค์ ๘ มีสัมมาทิฏฐิ เป็นต้น
          
 
การจำแนกปัญญา
          
โลกียปัญญา ปัญญาที่ยังข้องอยู่ในโลกทั้ง ๓ คือ กามโลก รูปโลก และอรูปโลก
โลกุตตรปัญญา ปัญญาที่รู้แจ้งแทงตลอดในอริยสัจ ๔
สุตมยปัญญา ปัญญาที่เกิดจากการศึกษาเล่าเรียน พระธรรมวินัย หรือพระไตรปิฎก
จินตามยปัญญา ปัญญาที่เกิดจากการนำเอาสิ่งที่ศึกษามาแล้ว มาคิดพิจารณาเหตุผลตามความเป็นจริง
ภาวนามยปัญญา ปัญญาที่เกิดจากการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน
กัมมัสสกตาปัญญา ปัญญาที่รู้ว่าสัตว์ทั้งหลาย มีกรรมเป็นของตนเอง
วิปัสสนาปัญญา ปัญญาที่รู้รูปนามขันธ์ ๕ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และไม่ใช่ตัวตน
          
 
กัมมัสสกตาปัญญา เรียกว่า ทสวัตถุสัมมาทิฏฐิ ๑๐ คือ
ห็นตรงตามความเป็นจริงในเรื่องของกรรม
๑. เห็นว่า บุญทาน ที่ทำย่อมมีผลดี
๒. " การบูชา ที่ทำย่อมมีผลดี
๓. " การบวงสรวง ที่ทำย่อมมีผลดี
๔. " การทำดีทำชั่วย่อมมีผลทั้งทางตรงและทางอ้อม
๕. " โลกนี้มี ผู้ที่จะมาเกิดในโลกนี้มี
๖. " โลกหน้ามี ผู้ที่จะไปเกิดในโลกหน้ามี
๗. " มารดามี ผู้ทำดีทำชั่วต่อมารดาย่อมจะได้รับผล
๘. " บิดามี ผู้ทำดีทำชั่วต่อบิดาย่อมจะได้รับผล
๙. " สัตว์ที่ปรากฏกายโตทันที (โอปปาติกกำเนิด คือ สัตว์นรก เปรต อสุรกาย เทวดา พรหม) มี
๑๐. " ผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ รู้แจ้งเห็นจริงด้วยตนเอง และสอนผู้อื่นให้รู้ตามได้มี

<<<               >>>