<<<               >>>

หลักสูตร เรียนพระอภิธรรมทางอินเตอร์เนต

 

ตอนที่ ๒ ชีวิต, ขันธ์ ๕, รูปนาม, จิต

ชีวิตคืออะไร

 

ตามหลักวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นวิทยาการทางโลกนั้น สิ่งมีชีวิตหมายถึง สิ่งที่เจริญเติบโตได้ กินอาหารได้ เคลื่อนไหวได้ และสืบพันธุ์ได้ ซึ่งนอกจากจะหมายถึง มนุษย์และสัตว์ทั้งหลายแล้ว ยังหมายถึงพืชอีกด้วย แต่ในพระอภิธรรมนั้น ให้คำจำกัดความของชีวิตไว้ว่า ชีวิต คือความเป็นอยู่ของร่างกาย จิตและเจตสิก โดยอาศัยกรรมเป็นผู้นำเกิด และตามรักษาดำรงชีวิตและกระทำการต่าง ๆ ได้โดยอาศัยจิต และเจตสิกเป็นผู้กำกับ
          
          ส่วนต่างๆที่ประกอบขึ้นเป็นร่างกายนั้น ในทางธรรมเรียกว่า รูปธรรมเป็นธรรมชาติที่ไม่มีความรู้สึก นึกคิดใด ๆ ทั้งสิ้น เปรียบได้ดั่งท่อนไม้ หรือเรียกสั้น ๆ ว่า รูป
          
          ส่วน จิตและเจตสิก เป็น นามธรรม เรียกสั้น ๆ ว่า นาม เป็นธรรมชาติที่รับรู้สิ่งต่างๆ และสามารถคิดนึกเรื่องราวต่าง ๆ ได้
          
          ดังนั้น ตัวเราหรือสัตว์ทั้งหลาย จึงมีส่วนประกอบอยู่ ๓ ส่วน ได้แก่ กาย จิต และเจตสิก ซึ่งในทางธรรมเรียกว่า รูป กับ นาม แต่เนื่องจากพืชทั้งหลายไม่ได้เกิดมาจากกรรม ไม่มีจิตและเจตสิกในการรับรู้ คิดนึกเรื่องราวต่าง ๆ ดังนั้นคำว่า “ชีวิต” ในพระอภิธรรมจึงหมายถึง มนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย เท่านั้น
          
          คำว่า “สัตว์” ในที่นี้มิได้ หมายถึงเฉพาะสัตว์เดรัจฉานเท่านั้น แต่หมายถึง สิ่งมีชีวิตทั้งหมด ที่ยังเวียนว่ายตายเกิดใน ๓๑ ภพภูมิ ดังนั้น มนุษย์จึงถือว่าเป็นสัตว์ประเภทหนึ่งด้วย
          
          สัตว์ทั้งหลายในจักรวาลนี้ ล้วนประกอบด้วยธรรมชาติ ๓ อย่าง คือ รูป จิตและเจตสิก ที่สำคัญผิดคิดว่าเป็น “เรา” เป็น “ตัวตนของเรา” แท้ที่จริงแล้ว มีแต่รูปกับนามเท่านั้น ที่เกิดขึ้นและดับไปอย่างรวดเร็ว ไม่มีส่วนไหนเลย ที่เป็น “ตัวตนของเรา” แม้จะรวมกันเข้าแล้วก็ยังไม่ “เรา” อีกเช่นเคย แม้คนที่ไม่เคยได้ยินได้ฟังเรื่องเช่นนี้มาก่อน ไม่เคยรู้จักพระพุทธศาสนามาก่อน หรือผู้ที่นับถือศาสนาใด ๆ ก็ตาม ทุกคนล้วนประกอบด้วยรูป จิตและเจตสิกที่มีการเกิดดับ อย่างรวดเร็วอยู่ตลอดเวลา เหมือนกันทั้งสิ้น เพราะสัตว์ทั้งหลาย ไม่รู้ธรรมชาติที่เป็นจริงนี้ จึงทำให้ยึด รูป-นาม ขันธ์ ๕ ว่าเป็นตัวตนของเรา โดยมีกิเลสตัณหา เป็นผู้บงการให้กระทำกรรมต่าง ๆ ทั้งที่เป็นบุญและเป็นบาป แล้ววิบากที่เป็นผลของกรรมนั้น ก็จะส่งผลให้ต้องเวียนเกิดเวียนตาย ในสังสารวัฏอย่างไม่มีที่สิ้นสุด
          

          การศึกษาพระอภิธรรม ก็คือการศึกษาเรื่องของตัวเรา และสัตว์ทั้งหลายนั่นเอง เพราะเนื้อหาของพระอภิธรรม จะกล่าวถึงธรรมชาติอันแท้จริง ที่มีอยู่ในตัวเราและสัตว์ทั้งหลาย อันได้แก่ รูป จิตและเจตสิกโดยละเอียด ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมาก สำหรับการปฏิบัติ เพื่อให้เข้าถึง ซึ่งความหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวง เมื่อเราได้เห็นแจ้งสภาวธรรม ที่เป็นความจริงตามธรรมชาติแล้ว ความหลงผิด (อวิชชา) และกิเลสทั้งหลาย ก็จะถูกทำลายลง เป็นเหตุให้พ้นจากการเวียนเกิดเวียนตายได้ในที่สุด

 

รูปนามกับขันธ์ ๕ สัมพันธ์กันอย่างไร

 

 คำว่า ขันธ์ แปลว่า กอง, พวก, หมวด, หมู่
      ดังนั้น ขันธ์ ๕ จึงหมายถึงสภาวธรรม ๕ อย่าง ซึ่งประกอบด้วย
๑. รูปขันธ์ คือ อวัยวะน้อยใหญ่ หรือกลุ่มรูป ที่มีอยู่ในร่างกายทั้งหมด
๒. เวทนาขันธ์ คือ ความรู้สึก เป็นสุข เป็นทุกข์ ดีใจ เสียใจ หรือเฉย ๆ
๓. สัญญาขันธ์ คือ ธรรมชาติที่มีหน้าที่ในการจำ หรือเป็นหน่วยความจำของจิตนั่นเอง
๔. สังขารขันธ์ คือ ธรรมชาติที่ปรุงแต่งจิตให้มีลักษณะต่าง ๆ เป็นกุศลบ้าง เป็นอกุศลบ้าง เปรียบดังสีต่าง ๆ ที่หยดลงไปในแก้วน้ำ เป็นเหตุให้น้ำในแก้ว เปลี่ยนไปตามสีที่หยด
๕. วิญญาณขันธ์ หรือ         จิต คือ ธรรมชาติที่รับรู้สิ่งต่าง ๆ ที่มาปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ อีกทั้งเป็นธรรมชาติที่ทำให้เกิดความรู้สึกนึกคิดต่าง ๆ
          
          การเกิดขึ้นของจิต (วิญญาณขันธ์) จะเกิดขึ้นโดยไม่มีเจตสิก (เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์) นั้นไม่ได้ ลำพังจิตอย่างเดียว ไม่สามารถรับรู้หรือนึกคิดอะไรได้เลย จิตเปรียบเสมือนนาฬิกา เจตสิกเปรียบเสมือน ชิ้นส่วนและเฟืองจักรต่าง ๆ ที่ทำให้นาฬิกาทำงานได้ จิตและเจตสิก จะแยกจากกันไม่ได้ ต้องเกิดร่วมกันอิงอาศัยกัน จิตแต่ละดวงที่เกิดขึ้น จะต้องมีเจตสิกประกอบปรุงแต่งด้วยเสมอ
          
          สรุปแล้ว ขันธ์ ๕ (เบญจขันธ์) ก็คือ รูป จิตและเจตสิก หรือ รูปกับนาม นั่นเอง

 

จิตคืออะไร

 

           จิต คือธรรมชาติที่รู้อารมณ์ หรือธรรมชาติที่ทำหน้าที่ เห็น ได้ยิน รู้กลิ่น รู้รส รู้สึกต่อการสัมผัสถูกต้องทางกาย และรู้สึกนึกคิดทางใจ จิตนี้ไม่ว่าจะเกิดแก่สัตว์เดรัจฉาน มนุษย์ เทวดา หรือพรหมก็ตาม ย่อมมีการรู้อารมณ์เป็นลักษณะ เหมือนกันทั้งสิ้น
          
          จิต เป็นธรรมชาติชนิดหนึ่งที่มองไม่เห็น สัมผัสด้วยกายไม่ได้ ไม่มีรูปร่างสัณฐาน สีสัน วรรณะใด ๆ แต่เป็นธรรมชาติชนิดหนึ่งที่มีอยู่จริงๆ เป็นปรากฏการณ์ของธรรมชาติฝ่ายนามธรรม ที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับ ไปอย่างรวดเร็ว โดยอาศัยเหตุอาศัยปัจจัยต่าง ๆ ทำให้เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปตามกฎของธรรมชาติ
          
          อำนาจของจิตมีอยู่มากมาย เช่น มีอำนาจในการกระทำ การพูด การคิด การสั่งสมกรรมดี กรรมชั่ว นอกจากนี้ยังมีอำนาจในการสร้างฤทธิ์ ทำสมาธิ ทำฌาน ทำอภิญญา และอื่น ๆ ให้เกิดขึ้นได้อย่างมหัศจรรย์
          
          จิต จะเกิดดับอย่างรวดเร็วมาก ชั่วเวลาลัดนิ้วมือเดียว จิตจะมีการเกิดดับถึงแสนโกฏิขณะ คือ ๑,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ ครั้ง (หนึ่งล้านล้านครั้ง) จึงเป็นการยากที่บุคคลจะรู้เท่าทันได้
          
สถานที่เกิดของจิต มีอยู่ด้วยกัน ๖ แห่ง คือ
. ที่ตา
เพื่อทำหน้าที่เห็นรูป
ที่ปรากฏทางตา
จิตนี้มีชื่อว่า จักขุวิญญาณ (จักขุ = ตา)
. ที่หู
เพื่อทำหน้าที่ได้ยินเสียง
ที่ปรากฏทางหู
" โสตวิญญาณ (โสต = หู)
. ที่จมูก
เพื่อทำหน้าที่รู้กลิ่น
ที่ปรากฏทางจมูก
" ฆานวิญญาน (ฆาน = จมูก)
. ที่ลิ้น
เพื่อทำหน้าที่รู้รส
ที่ปรากฏทางลิ้น
" ชิวหาวิญญาณ (ชิวหา = ลิ้น)
. ที่กาย
เพื่อทำหน้าที่รับความรู้สึก
ต่อการสัมผัสถูกต้องทางกาย
" กายวิญญาณ  
. ที่ใจ
เพื่อทำหน้าที่ รู้สึก
นึก คิด ทางใจ
" มโนวิญญาณ (มโน = ใจ)
          

          ดังนั้น จิต หรือ วิญญาณ จึงหมายถึงสิ่งเดียวกัน นอกจากนี้ จิต ยังมีชื่อเรียกอีกหลายชื่อ เช่น หทัย, ปัญฑระ, มโน, มนัส, มนินทรีย์, มโนธาตุ, มโนวิญญาณธาตุ, วิญญาณขันธ์, มนายตนะ เป็นต้น จึงขอให้เข้าใจว่า แม้จะเรียกชื่ออย่างไรก็ตาม ชื่อเหล่านั้นก็คือ จิต นั่นเอง

 

จิตกับอารมณ์

 

 จิต เป็นธรรมชาติชนิดหนึ่งที่รู้อารมณ์
  อารมณ์ เป็นธรรมชาติที่ถูกจิตรู้ ถ้าจิตรู้สิ่งใด สิ่งนั้นคืออารมณ์
          หากกล่าวโดยสรุปก็คือ จิต เป็นผู้รู้   อารมณ์ เป็นสิ่งที่ถูกรู้
          
          คำว่า “อารมณ์” ในที่นี้หมายถึง เครื่องยึดหน่วงจิต อันได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส ฯลฯ ตลอดจนเรื่องราวต่าง ๆ ที่คิดนึก มิได้มีความหมายดังที่ใช้กันทั่วไป เช่น อารมณ์ดี อารมณ์เสีย หรือมิได้หมายถึงสภาพนิสัยใจคอ เช่น อารมณ์เย็น อารมณ์ร้อน อารมณ์โรแมนติก อารมณ์ขัน เป็นต้น
          
          จิตที่เกิดแต่ละขณะ จะรับอารมณ์ได้เพียงอย่างเดียวเท่านั้น เช่น ในขณะที่เราดูโทรทัศน์ จิตที่เห็นภาพทางตา กับจิตที่ได้ยินเสียงทางหู เป็นคนละขณะกัน ขณะที่เห็นภาพ ก็จะไม่ได้ยินเสียง ขณะที่ได้ยินเสียงก็จะ ไม่เห็นภาพ แต่เพราะจิตเกิดดับสลับกันเร็วมาก จึงทำให้เราแยกไม่ออก และเข้าใจผิดว่า การเห็นและการได้ยินนั้นเกิดขึ้นพร้อม ๆ กัน จริง ๆ แล้วจิตแต่ละขณะ จะรับอารมณ์ได้เพียงอย่างเดียวเท่านั้น
          เพื่อความชัดเจน ในเรื่องจิตกับอารมณ์ ขอให้พิจารณาการรับอารมณ์ของจิต ทางทวาร หรือประตู หรือช่องทางที่จิต
       จิต ออกมารับอารมณ์ทั้ง ๖ ช่องทาง ดังนี้
ทางตา จิตทำหน้าที่เห็น สิ่งที่เห็น คืออารมณ์ของจิต
ทางหู จิตทำหน้าที่ได้ยิน เสียงที่ได้ยิน คืออารมณ์ของจิต
ทางจมูก จิตทำหน้าที่รู้กลิ่น กลิ่นที่ได้รับ คืออารมณ์ของจิต
ทางลิ้น จิตทำหน้าที่รู้รส คืออารมณ์ของจิต
ทางกาย จิตทำหน้าที่รู้การสัมผัสถูกต้อง สภาพเย็นร้อน อ่อนแข็ง หย่อนตึง ที่สัมผัสถูกต้อง คืออารมณ์ของจิต
ทางใจ จิตทำหน้าที่รู้สึก, คิด, นึก สิ่งต่างๆ เรื่องราวต่าง ๆ ที่รู้สึก คิด
 
          จิตจะว่างจากอารมณ์ไม่ได้ เมื่อจิตเกิดขึ้นทุกครั้ง จะต้องมีอารมณ์ให้รู้เสมอ จิตคือตัวรู้ อารมณ์คือตัวถูกรู้ ถ้าไม่มีตัวถูกรู้ ตัวรู้ก็ย่อมไม่เกิดขึ้น ดังนั้น เมื่อมีการรู้ ก็ย่อมจะต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ อยู่ควบคู่กันด้วยเสมอไป
          
จิตและอารมณ์ที่เกิดขึ้นแต่ละทวาร มีชื่อเรียกโดยเฉพาะ ดังนี้
ทวารทั้ง ๖ ชื่อของจิตที่เกิด
ทางแต่ละทวาร
ชื่อของอารมณ์ที่ปรากฏทางแต่ละทวาร
จักขุทวาร = ตา จักขุวิญญาณ รูปารมณ์ = สิ่งที่เห็น
โสตทวาร = หู โสตวิญญาณ สัททารมณ์ = เสียงที่ได้ยิน
ฆานทวาร = จมูก

ฆานวิญญาณ

คันธารมณ์ = กลิ่นที่ได้รับ
ชิวหาทวาร = ลิ้น ชิวหาวิญญาณ รสารมณ์ = รสที่ได้รับ
กายทวาร = กาย กายวิญญาณ โผฏฐัพพารมณ์ = สภาพเย็นร้อน อ่อนแข็ง หย่อนตึง ที่สัมผัสถูกต้อง
มโนทวาร = ใจ มโนวิญญาณ ธัมมารมณ์ = สิ่งต่าง ๆ หรือ เรื่องราว ต่าง ๆ ที่ปรากฏทางใจ
          
          
รูปแสดงความสัมพันธ์ระหว่าง อารมณ์ ๖ ทวาร ๖ วิญญาณ ๖
          
          สภาพรู้ทั้งหลายมี จิต เป็นผู้รู้ แต่ปุถุชนทั่วไปจะเข้าใจผิดว่า เราเห็น,เราได้ยิน,เรารู้กลิ่น,เรารู้รส, เราเย็น, เราร้อน, เรารู้สึก, เราคิดนึก ทั้ง ๆ ที่จริงแล้ว สภาพรู้ทั้งหลายนี้เป็นจิต ไม่ใช่เรา เป็นเพียงสภาวธรรม ที่เกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็ว หาแก่นสาร หาเจ้าของ หาตัวตนมิได้เลย มีแต่ “จิต” กับ “อารมณ์” เท่านั้น ที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่แล้วก็ดับไป เพราะไม่รู้ความจริงเช่นนี้ จึงหลงผิดคิดว่าเป็นเรามาตลอดเวลา ตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตาย และเพราะมีเรานี่แหละ จึงได้มีแต่ความทุกข์อยู่ตลอด เพราะมี “เรา” นี่แหละจึงมีความรู้สึก เหมือนกับแบกโลกไว้ทั้งโลก ถ้าเอา “เรา” ออกเสียได้ก็จะรู้สึก เหมือนกับว่ากำลังยืนอยู่เหนือโลก

 

ลักษณะของจิต และการทำงานของจิต

 

จิตมีลักษณะสามัญตามธรรมชาติ (สามัญลักษณะ) อยู่ ๓ ประการ คือ
๑. อนิจจลักษณะ คือ มีลักษณะที่ไม่เที่ยง ไม่คงที่ ต้องเปลี่ยนแปลง (เกิด-ดับ) อยู่ตลอดเวลา
๒. ทุกขลักษณะ คือ มีลักษณะที่ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ (เกิดขึ้นแล้วต้องดับไป)
๓. อนัตตลักษณะ คือ มีลักษณะที่มิใช่ตัว มิใช่ตน ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของผู้ใด จะบังคับให้หยุดการเกิดดับก็ไม่ได้
          
          สามัญลักษณะทั้ง ๓ นี้ เป็นสิ่งจริงแท้แน่นอน เป็นกฎธรรมชาติที่เรียกว่า ไตรลักษณ์ รูปธรรม และนามธรรมทั้งหลายอันได้แก่ รูป จิตและเจตสิก ย่อมจะต้องมีลักษณะเช่นนี้เหมือนกันทั้งหมด
          
          นอกจากจิตจะมีลักษณะสามัญตามที่กล่าวมาแล้ว
จิตยังมีลักษณะพิเศษเฉพาะตัว (วิเสสลักษณะ) อีก ๔ ประการ คือ
๑. มีการรู้อารมณ์ เป็นลักษณะ
๒. เป็นประธานในธรรมทั้งปวง เป็นกิจ
๓. มีการเกิดดับสืบต่อกันอย่างไม่ขาดสาย เป็นผล
๔. มีอดีตกรรม ทวาร อารมณ์และเจตสิก เป็นเหตุให้จิตเกิดขึ้น
          
          การทำงานของจิตจะเกิดดับสืบต่อกันไปอย่างไม่ขาดสาย ในพระสูตรตอนหนึ่ง พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้มีใจความว่า ยากที่จะนำสิ่งอื่น ๆ ทั้งหลายในโลก มาเปรียบเทียบกับความเกิดดับอันรวดเร็วของจิต เพราะจิตเกิดดับ ๆ รวดเร็วกว่าสิ่งใด ๆ ในโลก เพียงชั่วลัดนิ้วมือเดียว จิตจะเกิดดับถึงแสนโกฏิขณะ หรือ   ๑,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ ดวง (หนึ่งล้านล้านดวง)
          
          ที่ว่า จิตมีการเกิดดับสืบต่ออย่างไม่ขาดสาย เพราะจิตดวงที่ ๑ เกิดขึ้นแล้วดับไป ต่อจากนั้นจิตดวงที่ ๒ ก็จะเกิดขึ้นติดต่อกันแล้วก็ดับไปอีก เป็นเช่นนี้ต่อเนื่องกันไปเรื่อย ๆ ดังในภาพ

(ความจริงจิตเป็นนามธรรมไม่มีรูปร่างสัณฐาน ที่เขียนเป็นดวงกลม ๆ นั้น เป็นการสมมุติเพื่อให้เข้าใจง่ายเท่านั้น)

 

          ภาวะที่จิตเกิดดับสืบต่อกันเป็นกระแสนี้ท่านเรียกว่า สันตติ ซึ่งสามารถเปรียบเทียบได้กับกระแสน้ำ ที่ประกอบไปด้วยอณูของน้ำเล็กๆ เรียงติดต่อกันเป็นสาย ขณะที่กระแสจิตไม่ออกมารับรู้เรื่องราว (อารมณ์) ทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ จิตในขณะนั้นมีชื่อเรียกว่า ภวังคจิต ซึ่งเป็นจิตที่ทำหน้าที่รักษารูปนาม ในภพปัจจุบันไว้มิให้แตกทำลายไป จนกว่าจะสิ้นอายุจากภพนี้ แม้ในขณะหลับสนิท (ไม่มีการฝัน) หรือสลบไป ก็จะมีภวังคจิต เกิดดับสืบเนื่องกันตลอดเวลา อารมณ์ของภวังคจิต เป็นอารมณ์ที่สืบเนื่องมาจากเหตุปัจจัยในอดีตภพ
          
          เมื่อใดก็ตามที่จิตออกมารับรู้เรื่องราวทางประตู (ทวาร) ทั้ง ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ เมื่อนั้นจิตจะขึ้นสู่วิถีซึ่งเรียกว่า วิถีจิต และเมื่อสิ้นสุดแต่ละวิถี ก็จะมีภวังคจิตที่คอยรักษาภพชาติเกิดคั่นอยู่ทุกครั้ง แต่เราจะไม่รู้สึกตัว เพราะการเปลี่ยนแปลงกลับไปกลับมานั้น เกิดขึ้นรวดเร็วมาก แม้แต่แสงไฟจากหลอดไฟฟ้า ที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้มีการกระพริบ (เกิด-ดับ) ตามความถี่ของไฟฟ้ากระแสสลับ ด้วยความเร็วเพียง ๕๐ ครั้งต่อวินาทีเท่านั้น เราก็ยังไม่สามารถสังเกตเห็น การกระพริบของแสงไฟได้เลย ดังนั้น จิตซึ่งมีการเกิดดับอย่างรวดเร็วถึงประมาณ ๑ ล้าน ๆ ครั้งต่อวินาที * จึงไม่น่าสงสัยว่าทำไมเราถึงไม่สามารถที่จะรู้สึกได้

          * อนุมานว่าการลัดนิ้วมือ (การงอนิ้วเข้ามาหาฝ่ามือ) ใช้เวลาประมาณ ๑ วินาที

 

บุญบาปเกิดขึ้นได้อย่างไร

 

ตามธรรมชาติของจิต เมื่อมีอารมณ์มาปรากฏทางทวารใด จิตหรือวิญญาณจะเกิดขึ้นเพื่อรับอารมณ์ทางทวารนั้น เช่น เมื่อมีเสียงมาปรากฏทางหู โสตวิญญาณวิถีจะเกิดขึ้นเพื่อรับรู้เสียงนั้น โสตวิญญาณจะเกิดดับเร็วมากเป็นจำนวนนับครั้งไม่ถ้วน สลับกับมโนวิญญาณวิถีที่เกิดขึ้นทางใจ เพื่อตีความหมายของเสียงที่กำลังปรากฏอยู่ เมื่อรู้ความหมายว่าเป็นเสียงชมเชยก็จะมีความยินดีพอใจ แต่หากเป็นเสียงด่าก็จะเกิดโทสะ ถ้ามีสติยับยั้งไว้ได้ก็ดีไป แต่เมื่อใดที่ขาดสติก็จะเกิดการตอบโต้ทางกาย (กายกรรม) เช่น ไปชกหน้าผู้ที่กำลังด่าเรา หรือทางวาจา (วจีกรรม) เช่น ด่าตอบไปทันที ซึ่งเป็นการสร้างกรรมใหม่ที่จะต้องได้รับผลของกรรม (วิบาก) ในอนาคตต่อไป
          
          ใจจะเป็นผู้สั่งให้เกิดการกระทำทางกายและทางวาจา ทั้งที่เป็นบุญ (กุศลกรรม) และที่เป็นบาป (อกุศลกรรม) บางครั้งก็เพียงแต่คิดไว้ในใจ (มโนกรรม) โดยที่ไม่ได้แสดงออกทางกาย หรือ ทางวาจาเลยก็มี การแสดงออกทางกายและทางวาจาที่เป็นบุญ เรียกว่า กายสุจริต วจีสุจริต ส่วนการแสดงออกทางกายและทางวาจาที่เป็นบาป เรียกว่า กายทุจริต วจีทุจริต
          
          กรรมที่ทำด้วยเจตนาดีมีจิตสะอาดผ่องใส ผลลัพธ์จะออกมาเป็นความสุขท่านเรียกว่า บุญ ส่วนกรรมที่ทำด้วยเจตนาไม่ดี มีจิตเศร้าหมอง และจะส่งผลออกมาเป็นความทุกข์ ท่านเรียกว่า บาป กรรมที่กระทำไว้แล้ว ไม่ว่าดีหรือชั่วย่อมไม่สูญหายไปไหน เพราะกรรมสามารถติดตามไปให้ผลได้ทั้งในชาตินี้แล้ชาติหน้า
          
          ปัญหาที่น่าสงสัยคือ เราสั่งสมกรรมไว้ได้อย่างไร มีใครจดบันทึกบัญชีกรรมของเราไว้ เหมือนบัญชีเงินฝากในธนาคารหรือไม่ คำตอบก็คือบุญบาปที่เราทำไว้ ไม่ต้องมีใครมาติดตามจดบันทึกไว้ เพราะจิตมีอำนาจวิเศษอย่างหนึ่งในการสั่งสมบุญและบาป เมื่อเราได้กระทำกรรมใด ๆ ลงไปไม่ว่าจะดีหรือชั่ว แม้จะนานสักเพียงใดก็ตาม จะกี่ภพกี่ชาติก็ตาม ผู้กระทำย่อมจะต้องได้รับผลของบุญ และบาปเมื่อกรรมมีโอกาสส่งผล ถึงแม้จิตจะเกิดดับอยู่ตลอดเวลาก็ตาม แต่ผลกรรมที่ได้กระทำไว้ ไม่ว่าจะเป็นบุญ หรือเป็นบาป ก็จะไม่สูญหายไป พร้อมกับการดับของจิตแต่ละดวง ทั้งนี้ เพราะจิตดวงใหม่ ่มีเหตุปัจจัยมาจากจิตดวงเดิม และจิตดวงใหม่ที่เกิดขึ้นมานั้น ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้แก่จิตดวงต่อไปเช่นกัน
          

          การที่จะเกิดมาเป็นมนุษย์ได้นั้น จะต้องอาศัยผลของบุญกุศลในอดีต ครั้นหมดเหตุหมดปัจจัยของบุญกุศลก็ต้องตายไปจากโลกมนุษย์ เมื่อตายไปแล้วก็ต้องเกิดอีก การเกิดใหม่ก็ต้องอาศัยเหตุปัจจัยชุดใหม่ทำให้ชีวิตเกิดขึ้นมาใหม่อีก สุดแล้วแต่เหตุปัจจัยใหม่นี้จะเป็นกุศลหรืออกุศล ถ้าเป็นกุศลก็จะปฏิสนธิ (เกิด) ในสุคติภูมิ คือเกิดเป็นมนุษย์หรือเทวดา ถ้าเป็นอกุศลก็จะปฏิสนธิในอบายภูมิ คือ เกิดเป็นสัตวนรก เปรต อสุรกาย หรือสัตว์เดรัจฉาน แล้วแต่เวรกรรมของตน เพราะชีวิตของคนเราและสัตว์ทั้งหลาย ต้องเวียนเกิดเวียนตายตามอำนาจของกรรมและกิเลส อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

ที่เกิดของจิต

 

เปลวเทียน ต้องอาศัยไส้เทียนในการลุกไหม้ฉันใด จิตจะเกิดขึ้นได้ ก็ต้องมีที่ตั้งให้อาศัยเกิดฉันนั้น
ที่ตั้งให้อาศัยเกิดของจิตมี ๖ แห่ง ได้แก่
๑. ประสาทตา
๒. ประสาทหู
๓. ประสาทจมูก
๔. ประสาทลิ้น
๕. ประสาทกาย
๖. หทยวัตถุรูป
          
ประสาทตา (จักขุปสาท) เป็นที่ตั้งของจิตเห็น (จักขุวิญญาณ) ประสาทตานี้ มิได้หมายถึง ดวงตาหรือลูกตาทั้งลูก แต่หมายเฉพาะประสาทตาหรือแก้วตาที่อยู่กลางตาดำ โตประมาณเท่ากับศีรษะของเหา เป็นเยื่อบางดุจปุยนุ่น ที่ชุ่มด้วยน้ำมันซ้อนกันอยู่ ๗ ชั้น มีความสามารถในการรับคลื่นแสง (รูปารมณ์) ที่มากระทบ
ปสาทหู (โสตปสาท) เป็นที่ตั้งของจิตได้ยิน (โสตวิญญาณ) อยู่ภายในช่องหู มีลักษณะเป็นวงกลมคล้ายวงแหวน และขนมีอันละเอียดอ่อนสีแดงปรากฏอยู่โดยรอบ มีความสามารถในการรับเสียง (สัททารมณ์) ที่มากระทบ
ประสาทจมูก (ฆานปสาท) เป็นที่ตั้งของจิตดมกลิ่น (ฆานวิญญาณ) อยู่ภายในช่องจมูก มีลักษณะคล้ายกีบเท้าแพะ มีความสามารถในการรับกลิ่น (คันธารมณ์) ที่มากระทบ
ประสาทลิ้น (ชิวหาปสาท) เป็นที่ตั้งหรือที่อาศัยเกิดของจิตลิ้มรส (ชิวหาวิญญาณ) อยู่ตรงกลางลิ้น มีลักษณะเหมือนปลายกลีบดอกบัวเรียงรายซ้อนกันเป็นชั้น ๆ มีความสามารถในการรับรส (รสารมณ์) ที่มากระทบ
ประสาทกาย (กายปสาท) เป็นที่ตั้งของจิตที่รับสัมผัสทางกาย (กายวิญญาณ) ประสาทกายนี้จะเกิดอยู่ทั่วร่างกาย ยกเว้นที่เส้นผม ขน เล็บ ฟัน กระดูก และบริเวณที่มีหนังหนาด้าน มีลักษณะคล้ายสำลีที่แผ่บาง ๆ ชุบน้ำมันจนชุ่มซ้อนกันหลาย ๆ ชั้น มีความสามารถในการนรับความรู้สึกเย็นร้อน อ่อนแข็ง หย่อนตึง (โผฏฐัพพารมณ์) ที่มากระทบ
หทยวัตถุรูป เป็นที่ตั้งหรือที่อาศัยเกิดของมโนวิญญาณ อันได้แก่ จิตที่ไม่ได้อาศัยปสาทรูปทั้ง ๕ ข้างต้น เป็นที่เกิดอยู่ภายในช่องเนื้อหัวใจ ซึ่งมีลักษณะเหมือนบ่อ มีโลหิตอันเป็นน้ำหล่อเลี้ยงหัวใจบรรจุอยู่ประมาณ ๑ ซองมือ มีสัณฐานโตประมาณเท่าเมล็ดในดอกบุนนาค เป็นรูปอันเป็นที่อาศัยเกิดของมโนวิญญาณ
          
          ปสาทรูปทั้ง ๕ อันได้แก่ จักขุปสาทรูป, โสตปสาทรูป, ฆานปสาทรูป, ชิวหาปสาทรูป, กายปสาทรูป นอกจากจะเป็นที่อาศัยเกิดของจิตแล้ว ยังทำหน้าที่เป็นประตู (ทวาร) สำหรับรับอารมณ์ที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น และกาย อีกด้วย ดังนั้น จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า จักขุทวาร, โสตทวาร, ฆานทวาร, ชิวหาทวาร และกายทวาร ส่วนหทยวัตถุรูป ซึ่งเป็นที่อาศัยเกิดของ มโนวิญญาณ นั้น ไม่ได้ทำหน้าที่เป็นมโนทวารด้วย เพราะองค์ธรรมของมโนทวาร คือ ภวังคจิต ไม่ใช่หทยวัตถุรูป

 

อำนาจของจิต

 

          จิต หรือ วิญญาณ นี้ นอกจากจะเป็นธรรมชาติที่รู้อารมณ์ ตามที่ทราบแล้ว ยังทำหน้าที่เป็นประธานในธรรมทั้งปวง คือ การงานต่าง ๆ ทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ ไม่ว่าจะเป็นบุญ (กุศลกรรม) หรือเป็นบาป (อกุศลกรรม) จะสำเร็จได้ก็ด้วยจิตทั้งสิ้น ดังในธรรมบทที่แสดงไว้ว่า มโนปุพฺพงฺคมา ธมฺมา มโนเสฎฺฐา มโนมยา ซึ่งมีความหมายว่า ธรรมทั้งหลายมีจิตเป็นใหญ่ มีจิตเป็นหัวหน้า สำเร็จได้ด้วยจิต
          
          จิต นี้ แม้จะเป็นนามธรรมที่ไม่มีรูปร่างตัวตน และแสดงความรู้สึก อยู่ภายในเท่านั้นก็จริง แต่ก็มีอำนาจวิเศษอย่างน่าอัศจรรย์ และวิจิตรพิสดารยิ่งนัก กล่าวคือ
          
          ๑. มีอำนาจในการกระทำ ไม่ว่าจะเป็นการทำงาน ของอวัยวะน้อยใหญ่ในร่างกาย การพูด การเคลื่อนไหว การกระทำต่าง ๆ ตลอดจนการคิดก็เกิดขึ้นด้วยจิตทั้งสิ้น สรรพสิ่งต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นรถ เรือ เครื่องบิน ยานอวกาศ อาวุธยุทโธปกรณ์ อุปกรณ์สื่อสาร เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์อำนวยความสะดวกต่าง ๆ สิ่งก่อสร้าง ภาพวาด วิทยาการและเทคโนโลยีต่าง ๆ ฯลฯ ก็ล้วนมีจิตเป็นผู้คิดขึ้นมาทั้งสิ้น
          
          ๒. มีอำนาจด้วยตนเอง คือ มีอำนาจในการทำบุญ ทำบาป ทำสมาธิถึงขั้นฌานสมาบัติ มีอำนาจในการแสดงอิทธิฤทธิ์ต่าง ๆ (อภิญญา) ตลอดจนมีอำนาจในการทำลายอนุสัยกิเลส ที่เป็นเหตุให้มีการเวียนว่ายตายเกิด อย่างไม่รู้จักจบจักสิ้น
          
          ๓. มีอำนาจในการสั่งสมกรรม เพราะจิตเป็นต้นเหตุ ให้มีการทำบาป ทำบุญ ทำฌาน ทำอภิญญา ทำวิปัสสนากรรมฐาน กรรมทั้งหลายที่ได้กระทำลงไปแล้ว ไม่ว่าจะดีหรือชั่ว จะถูกเก็บบันทึกเอาไว้ด้วยอำนาจของจิต
          
          ๔. มีอำนาจในการรักษาวิบาก (ผลของกรรม) กรรมทั้งหลายที่ได้กระทำลงไปแล้ว ทั้งที่เป็นกุศลและอกุศล แม้จะนานเท่าไรก็ตาม กี่ภพกี่ชาติก็ตาม ย่อมติดตามส่งผลตลอดไป จนกว่าจะปรินิพพาน
          
          ๕. มีอำนาจในการสั่งสมสันดานของตนเอง การกระทำใด ๆ หากกระทำอยู่บ่อย ๆ กระทำอยู่เสมอ ๆ ก็จะฝังในจิตติดเป็นสันดาน และคิดจะทำเช่นนั้นเรื่อยไป เช่น คบคนพาลก็จะกลายเป็นคนพาล คบบัณฑิตก็จะเป็นบัณฑิต ทั้งนี้ เป็นเพราะอำนาจในการสั่งสมสันดานของจิตนั่นเอง
          
          ๖. มีอำนาจในการรับอารมณ์ต่าง ๆ ที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ ไม่ว่าจะเป็นอดีตอารมณ์ อนาคตอารมณ์ หรือปัจจุบันอารมณ์ และไม่ว่าจะเป็นบัญญัติอารมณ์ หรือ ปรมัตถอารมณ์ จิตก็สามารถรับได้ทั้งสิ้น
          
          แม้จิตจะเกิดดับอยู่ตลอดเวลาก็ตาม แต่ บาป บุญ ที่ทำไว้ และอนุสัยกิเลสที่นอนเนื่อง อยู่ในขันธสันดาน จะไม่สูญหายไป พร้อมกับการดับของจิตแต่ละดวง ทั้งนี้ เพราะจิตดวงใหม่ มีเหตุมีปัจจัยมาจากจิตดวงเดิม และจิตดวงใหม่ ที่เกิดขึ้นก็เป็นเหตุเป็นปัจจัย ให้แก่จิตดวงต่อไป เพื่อสืบต่อ บาป บุญ และกิเลสที่สั่งสมไว้ไป จนกว่าจะปรินิพพาน

 

<<<               >>>